ห้องสมุด Xiengyod
ว่าด้วยเรื่องธงต่างๆ ในเมืองไทยและนานาสาระ

เซียงยอด
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เซียงยอด's blog to your web]
Links
 

 
ธงฉาน

ข้อความทั้งหมดคัดลอกจากเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ
(//www.navy.mi.th/navalmuseum/002_history/html/his_b12_flat_thai.htm)




ธงเกตุ สมัยรัชกาลที่ 4



ธงฉานเริ่มมีใช้ครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในสมัยนั้น ธงประจำเรือหลวงและธงประจำเรือค้าขายของราษฎรใช้ธงชนิดเดียวกันคือธงพื้นแดงมีช้างเผือกอยู่ตรงกลาง ยากแก่การสังเกตว่าเรือใดเป็นเรือหลวง เรือใดเป็นเรือราษฎร์ ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงบัญญัติให้ใช้ธงพื้นสีขาบ ตรงกลางมีรูปช้างเผือก (ตัวเปล่า) หันหน้าเข้าหาเสา ใช้ชักขึ้นที่หน้าเรือหลวงและเรียกธงนี้ว่า “ธงเกตุ”





ธงเกตุ พ.ศ. 2434


พ.ศ. 2434 ธงเกตุเปลี่ยนจากรูปช้างเผือก (ตัวเปล่า) เป็นช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นธงสีขาบหันหน้าเข้าหาเสา สำหรับใช้ชักที่หน้าเรือรบ และเป็นธงสำหรับหมายยศตำแหน่งแม่ทัพเรือด้วย คือ.-
ตำแหน่งที่นายพลเรือเอก ชักขึ้นที่เสาใหญ่
ตำแหน่งที่นายพลเรือโท ชักขึ้นที่เสาหน้า
ตำแหน่งที่นายพลเรือตรี ชักขึ้นที่เสาท้าย





ธงฉาน (พ.ศ. 2434 - 246) และธงนายพลเรือเอก (พ.ศ. 2434 - 2479)



ธงนายพลเรือโท (พ.ศ. 2440 - 2479)



ธงนายพลเรือตรี (พ.ศ. 2440 - 2479)


พ.ศ. 2440 ธงเกตุเปลี่ยนชื่อเป็นธงฉาน มีลักษณะคงเดิม และปรับปรุงการใช้ใหม่ ดังนี้คือ.-

1. สำหรับชักขึ้นที่หน้าเรือหลวงทั้งปวง
2.ชักขึ้นบนเสาใหญ่ เป็นที่หมายว่าเรือนั้นอยู่ในความบังคับบัญชาของนายพลเรือเอก
3.ถ้าธงนี้มีจักรสีขาวอยู่มุมบนข้างหน้าช้างชักขึ้นบนเสาหน้า เป็นที่หมายว่าเรือนั้นอยู่ในความบังคับบัญชาของนายพลเรือโท
4.ถ้าธงนี้ มีจักรสีขาวอยู่ทั้งมุมบนและมุมล่างข้างหน้าช้าง ชักขึ้นบนเสาหลังหรือถ้าเป็นเรือสองเสาชักขึ้นบนเสาหน้า เป็นที่หมายว่าเรือนั้นอยู่ในความบังคับบัญชาของนายพลเรือตรี

พ.ศ. 2453 ธงฉานมีรูปลักษณะคงเดิม แต่เปลี่ยนแปลงการใช้ ดังนี้คือ.-

1. สำหรับใช้ชักที่เสาหน้าเรือหลวงทั้งปวง ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งหรือเรือรบในขณะที่อยู่ในราชการ
2. ถ้าชักขึ้นที่ปลายพรวนเสาหน้าเรือลำใด เป็นเครื่องหมายว่าเรือลำนั้นเป็นเรือยามประจำอ่าว
3. ใช้เป็นธงประจำกอง สำหรับกองทหารเรือในเวลาขึ้นบกด้วย





ธงฉาน พ.ศ. 2460 - ปัจจุบัน


พ.ศ. 2460 ธงฉานได้เปลี่ยนจากพื้นสีขาบ มาเป็นธงชาติตรงกลางมีรูปสมอไขว้กับจักร และมีพระมหามงกุฎอยู่เบื้องบน รูปเหล่านั้นเป็นสีเหลืองสำหรับความหมายแห่งการใช้ยังคงอยู่ตามเดิม

พ.ศ. 2479 ได้มีการตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่ แต่ธงฉานคงมีลักษณะและสัณฐานเช่นเดิม เพียงแต่ปรับปรุงการใช้ขึ้นใหม่ ดังนี้คือ

1.สำหรับใช้ชักที่หน้าเรือรบ และเรือพระที่นั่งในระหว่างเวลาประจำการ
2.ถ้าชักขึ้นที่ปลายพรวนเสาหน้าของเรือลำใดเป็นเครื่องหมายว่าเรือลำนั้นเป็นเรือยามประจำอ่าว
3.ถ้าชักขึ้นที่เสาก๊าฟของเรือลำใด เป็นเครื่องหมายว่าในเรือลำนั้นเป็นที่ตั้งของศาลทหาร ซึ่งดำเนินการพิจารณาคดีอยู่
สำหรับกองทหารฝ่ายบกหรือหน่วยทหารเรือ ที่ไม่มีธงประจำกองในเวลายกพลขึ้นบก เพื่อจะให้มีธงประจำไปกับ กองทหารด้วย ก็ให้ใช้ธงฉานเป็นธงประจำกองทหารเรือ

หลังจาก พ.ศ. 2479 เป็นต้นมา ได้มีการตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่หลายครั้ง แต่สำหรับธงฉานนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง

จนกระทั่งใน พ.ศ. 2522 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติธงฉบับใหม่ ลักษณะธงฉาน ในมาตรา 19 กล่าวว่า ธงฉาน มีลักษณะเช่นเดียวกับธงชาติ แต่ตรงกลางของผืนธงมีรูปจักรแปดแฉก แฉกของจักรเวียนไปทางซ้าย และมีสมอสอดวงจักรภายใต้พระมหามงกุฎ รูปเหล่านี้เป็นสีเหลืองธงนี้เป็นธงที่ใช้ในเรือพระที่นั่งและเรือหลวง หรือเป็นธงสำหรับหน่วยทหารเรือที่ยกพลขึ้นบก ซึ่งหน่วยทหารนั้นไม่ได้รับพระราชทานธงไชยเฉลิมพล




Create Date : 22 เมษายน 2550
Last Update : 1 กรกฎาคม 2551 23:54:44 น. 0 comments
Counter : 3781 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.