e-Marketer ทำอะไรบ้าง
หน้าที่ของ e-Marketer ในการทำการตลาดออนไลน์นั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการหลายคนอาจจะมองข้ามไปคือการจัดให้มีผู้รับผิดชอบงานนี้เต็มเวลา โดยอาจมองว่าตำแหน่งงานนี้ไม่จำเป็น สามารถทำเองก็ได้ เพราะการทำตลาดในปัจจุบัน ผู้ประกอบการก็สามารถทำได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว ประเด็นสำคัญ คือ เราต้องพิจารณาว่าลูกค้าของเราคือใคร ถ้าลูกค้าของเราเป้นผู้ประกอบการ ( หรือเรียกอีกอย่างว่า เราทำธุรกิจแบบ Business to Business หรือ B2B) ซึ่งโดยมากสินค้า/บริการของเราจะถูกนำไปใช้เป็นปัจจัยการผลิต หรือสนับสนุนการทำงานของผู้ประกอบการรายอื่น ธุรกิจในลักษณะนี้มักมีจำนวนคู่ค้าไม่มากนัก (หลักสิบ) กลยุทธ์การเจริญเติบโตของเราเน้นไปที่การเพิ่มยอดขายให้ลูกค้าแต่ละราย ในขณะที่มีการหาลูกค้าใหม่เพิ่มอยู่บ้าง การทำตลาดของเราโดยมาก มักจะเป้นการติดต่อสื่อสารแบบตัวต่อตัว มีการออกเยี่ยม โทรศัพท์ โทรสาร ส่ง e-mail หากัน ดังนั้น รูปแบบการทำ e-Marketing มีเพียงการให้ข้อมูลผ่าน Website และทำจดหมายข่าวอิเลคทรอนิกส์ (e-Newsletter) ก็เพียงพอ อาจไม่จำเป็นต้องมีการจ้างผู้ดูแลการตลาดออนไลน์ หรือ e-Marketer เข้ามาแต่อย่างใด แต่หากเมื่อไรที่ลูกค้าของเราเป็นผู้บริโภคที่ซื้อสินค้า/บริการของเราไปบริโภค ( เป็นธุรกิจแบบ Business to Consumer หรือ B2C ถึงแม้บางกิจการจะไม่ได้ขายให้ผู้บริโภคโดยตรง โดยขายผ่านผู้แทนจำหน่าย ก็ยังถือว่าเป็นธุรกิจแบบ B2C เช่นกัน) การทำ e-Marketing นั้นจะเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก เพราะเราต้องการเข้าถึงผู้บริโภค ด้วยสื่ออิเลคทรินิกส์ต่างๆ ที่หลากหลายขึ้น ซึ่งสรุปงานที่ต้องทำได้ ดังนี้ - ปรับปรุงหน้า Website
ให้มีความสวยงาม สดใหม่ น่าสนใจอยู่เสมอ พร้อมทั้งดูแลฐานข้อมูลสินค้า รูปภาพ ให้มีความถูกต้องเป็นปัจจุบัน รวมถึงการปรับแต่งทำให้ Website ถูก Search พบขึ้นในลำดับต้นๆ ใน Search Engine ชั้นนำอย่าง Google ในคำค้นสำคัญ ( Key Words) ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา หรือที่เรียกกันว่า การทำ Search Engine Optimization - ดูแลฐานข้อมูลสมาชิก
วิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งาน รวมถึงผลิตและจัดส่ง e-Newsletter ให้ลูกค้า โดยอาจเป็นข้อความอย่างเดียวกันส่งถึงสมาชิกทุกราย (General email) หรือข้อความที่ออกแบบเฉพาะบุคคล โดยมีการระบุชื่อ ปรับแต่งเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ หรือประวัติการเข้าชม (Personalized e-mail) ซึ่งแบบหลังนี้จะดึงดูดความสนใจและมีโอกาสทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อสินค้า/บริการได้มากกว่า - ให้ข้อมูล
จุดประเด็น ตอบคำถาม ทำความเข้าใจ แก้ข่าวกับผู้บริโภคในกระดานข่าวอิเล็กทรอนิกส์ (หรือ Web board) ของเราเอง Web board สาธารณะต่างๆ เช่น pantip.com , sanook.com หรือ Website เกี่ยวกับความสนใจเฉพาะด้าน เช่น สุขภาพ ความงาม แฟชั่น อาหารการกิน ท่องเที่ยว แม่และเด็ก ผู้สูงอายุ ฯลฯ - เขียน Blog หรือให้การสนับสนุนผู้เขียน Blog
(Blog เป้นคำผสมเกิดจาก Web+Log ในรูปแบบของ Website ที่บุคคลเขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่ตนเองสนใจ เปิดกว้างให้ใครก็ได้เข้ามาอ่าน) ซึ่ง Blog ของหลายกิจการหรือบุคคลมีอิทธิพลสูงต่อการตัดสินใจใช้สินค้า/บริการของผู้บริโภคคนอื่นๆ - หมั่นอัพเดตข้อมูล ข่าวสาร
บนสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ต่างๆ เช่น Facebook, Twitter , YouTube, Instagram เพื่อเป็นการย้ำเตือน ให้ความรู้ สร้างภาพพจน์กับผู้ติดตาม รวมถึงสามารถทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เล่นเกมส์ แจกของรางวัล หยั่งเสียง ถามความคิดเห็น เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ และเพิ่มยอดติดตามให้สูงขึ้นได้เมื่อผู้ติดตามมีความผูกพันกับแบรนด์มากขึ้น นานขึ้น เมื่อถึงโอกาสที่จะต้องตัดสินใจซื้อก็พิจารณาแบรนด์มากขึ้น นานขึ้น เมื่อถึงโอกาสที่จะต้องตัดสินใจซื้อก็จะพิจารณาแบรนด์ที่คุ้นเคยอยู่ก่อน นอกจากนี้ ความสำคัญของ Social Media เหล่านี้คือการที่ผู้ใช้จะสามารถแชร์ (Share) ข้อมูล ข่าวสารที่ตนเองสนใจ หรือชื่นชอบไปยังเพื่อนในแวดวงได้ครั้งละเป็นร้อยเป็นพันรายในคลิกเดียว - กรอกข้อมูลบริษัท
สินค้า บริการไว้ใน Web Directory ฟรีต่างๆ ( ที่รวบรวมชื่อ ที่อยู่ ชนิดของสินค้า บริการ แบ่งแยกตามประเภท ) หรือไปโพสต์โฆษณาสินค้า/บริการ ลงในหน้า Classified ที่มีผู้เข้าชมจำนวนมาก เช่น Pantipmarket.com, Tarad.com หรือจะเปิดร้านค้าออนไลน์แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายกับ Website อย่าง Weloveshopping.com ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการเปิด สาขา เพิ่มขึ้นในโลกออนไลน์ โดยที่สามารถใส่ลิงค์ ที่อยู่ของ Website หลักของกิจการ เพื่อให้ผู้อ่านตามไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ - สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการหาตลาดต่างประเทศ
ก็ควรไปสมัครสมาชิกของ e-Commerce ชั้นนำอย่าง Thaitrade.com โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ Alibaba.com ที่ผู้ประกอบการสามารถแสดง รูปภาพ อธิบายคุณสมบัติ และพูดคุยกับผู้ซื้อต่างประเทศผ่านโปรแกรม Chat ของ Website นั้นๆ ได้ทันที (โดยมาก Website ประเภทนี้เป็นลักษณะของ B2B แต่เนื่องด้วยการทำตลาดต่างประเทศ ผู้ประกอบการอาจต้องการคู่ค้า หรือผู้นำเข้าประเทศปลายทางให้เป็นผู้ทำตลาดให้) การไปมีข้อมูลในหลายๆ Website จะเพิ่มโอกาสการพบเห็นของลูกค้ามากขึ้นและมีโอกาสถูก Search พบได้ง่ายกว่า แต่อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้สื่อออนไลน์ต่างๆข้างต้นนั้น ควรดูความเข้ากันของสินค้า/บริการกับ Website ที่เราจะไปใช้บริการด้วย โดยเริ่มต้นจากการไปสำรวจก่อนว่าในสื่อต่างๆ เหล่านั้น ส่วนใหญ่เขาลงประกาศสินค้า/บริการประเภทใด ภาพพจน์เป็นอย่างไร กลุ่มและจำนวนผู้เข้าชมเป็นอย่างไร แล้วจึงพิจารณาว่า เราควรไปใช้บริการพื้นที่ของสื่อนั้นๆ หรือไม่ เพราะหากเลือกพื้นที่ผิด ภาพพจน์ของสินค้า/บริการ อาจผิดไปจากเจตนารมณ์ที่ผู้ประกอบการตั้งไว้ก็เป็นได้ จะเห้นได้ว่างานการทำตลาดในช่องทางเหล่านี้ให้ได้ทั่วถึง ต้องการผู้รับผิดชอบเต็มเวลา ดังนั้น ผู้ประกอบการควร ลงทุน จ้าง e-Marketer ซึ่งสามารถทำได้ทั้งการไปจ้างบริษัทรับทำ e-Marketing ( ต้องเลือกให้เป็น มีเกณฑ์ในการส่งมองงานที่ชัดเจนว่า ในแต่ละรอบการทำงานมีการโพสน์จำนวนกี่ครั้ง ที่ไหนบ้าง สร้างผลกระทบอย่างไร มียอดผู้รับรู้แต่ละครั้งหรือรวมทั้งหมดเป้นจำนวนเท่าไหร่ และที่สำคัญต้องมีคนตรวจงาน และสามารถประเมินได้ว่า ควรเพิ่มความเข้มข้น หรือ คงไว้ ลด เลิก การทำ e-Marketing กับผู้ให้บริการรายใด หรือในช่องทางไหนบ้าง ) หรือจะมอบหมายให้สมาชิกรุ่นใหม่ในครอบครัวหรือพนักงานในบริษัทรับผิดชอบงานนี้ หรือจะจ้างพนักงานใหม่เพิ่มขึ้นก็ได้ หากผู้ประกอบการยังมีความกังวลว่าการจ้าง e-Marketing นั้นจะไม่คุ้มค่า ขอให้พิจารณาว่าการจ้าง e-Marketing นั้น เหมือนกับการลงทุนในการทำตลาดอื่นๆ เช่น การโฆษณา การออกบูธ ซึ่งถือเป้นการลงทุนไปก่อน ความคุ้มค่าจะอยู่ที่ว่า เราใช้เครื่องมือหรือบุคลากรได้ดี มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ ด้วยต้นทุนการเข้าถึงผู้บริโภคที่ต่ำกว่าสื่ออื่นๆ ของ e-Marketing ซึ่งสามารถทำได้ทั้งแบบใช้เงิน เช่น ซื้อโฆษณาใน Search Engine อย่าง Google ใน Facebook ใน Website อื่นๆ การจ้างคนเขียน Blog เชียร์สินค้า การจ้างดาราถือสินค้าถ่ายรูปลง Instagram และแบบไม่ใช้เงิน โดยให้ e-Marketing ( เสียค่าใช้จ่ายเพียงเงินเดือน สวัสดิการ เครื่องคอมพิวเตอร์ และค่าอินเตอร์เน็ตเท่านั้น ) ทำการตลาดออนไลน์ในสื่อต่างๆที่กล่าวในข้างต้น ซึ่งหากสามารถทำได้ โดนใจ ผู้บริโภคแล้วละก็ จะเกิดการบอกต่อแบบแพร่ระบาด ( Viral Marketing หรือ แพร่กระจายรวดเร็วราวกับไวรัสได้ในวงกว้างและรวดเร็วกว่าการบอกปากต่อปาก (Word of Mouth) แบบเดิมๆ มาก ) ซึ่งการบอกต่อในลักษณะนี้ มีความน่าเชื่อถือขึ้นอีกระดับ เพราะเป็นการบอกระหว่างผู้บริโภคด้วยกันเอง ซึ่งมักจะเป็นคนรู้จักกัน เพื่อน สมาชิก ในครอบครัว ไม่ใช่ข่าวสารที่คนขายเป็นผู้บอก สุดท้ายนี้ หากตัดสินใจจะจ้าง e-Marketing สักคนแล้ว ควรจะมองหาคนที่มีคุณสมบัติดังนี้คือ ต้องชอบทำงานทางอินเตอร์เน็ต มีพื้นฐานด้านการสื่อสารการตลาดที่ดี โดยเฉพาะการเขียน ใช้ภาษาเดียวกับลุกค้า หูไว ตาไว รู้จักใช้สื่อออนไลน์ต่างๆ ได้เหมาะสม รู้ว่าสื่อไหน จังหวะไหน ควรใช้วิธีการ Hard Sell ( ตรงไป ตรงมา มุ่งเน้นการขาย อธิบายสรรพคุณ กระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจ) หรือ Soft Sell ( มุ่งโน้มน้าว ชักชวน จูงใจ ใช้อารมณ์ ความรู้สึก ไม่เร่งรัดให้เกิดการตัดสินใจซื้อ ) นอกจากนี้ควรมีความสามารถในการถ่าย/แต่งรูปได้บ้าง มีความสร้างสรรค์ ไม่ยึดติดรูปแบบเดิมๆ แต่รู้กาลเทศะ เคารพสิทธิ์ผู้อื่น มีความรู้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และที่สำคัญต้อง ขยัน รับผิดชอบ และสามารถแสดงผลงานให้เห็นเป็นรูปธรรมได้
Create Date : 22 ตุลาคม 2556 |
| |
|
Last Update : 22 ตุลาคม 2556 16:07:26 น. |
| |
Counter : 793 Pageviews. |
| |
|
|