space
space
space
 
พฤษภาคม 2564
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
space
space
14 พฤษภาคม 2564
space
space
space

ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลที่คอนโด, ติดตั้ง solar cell ที่คอนโด
มันเป็นเรื่องช่วยไม่ได้จริง ๆ ที่ดันไม่มีเงินจะซื้อบ้าน มีแต่คอนโด และดันอยากจะใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ซะอีกนะ

จะเป็นการโง่ไปไหมที่จะไม่เก็บเกี่ยวพลังงานฟรี ๆ ที่ธรรมชาติสาดส่องมายังหลังคา ให้ที่เราบ่นร้อน ร้อนอิ๋บอ๋ายทุกวัน พลังงานที่ไม่ต้องเดินสายส่ง ไม่ต้องมีท่อน้ำมันส่ง เค้าส่งให้ถึงหลังคาบ้านทุกวัน ทุกวัน จะทิ้งไปทำไม

จะบ่นร้อนไปทำไมในเมื่อเราสามารถที่จะเปลี่ยนเค้าเป็นไฟฟ้า เป็นพลังงานความร้อนได้ไม่ยากเย็น แค่ลงทุนหน่อยนึง (จริง ๆ ก็ไม่หน่อย อ่านต่อไปแล้วจะต๊กกะใจ) ทุกวันนี้กลายเป็นว่ายิ่งร้อน ยิ่งประหยัด

เรื่องนี้เริ่มตั้งแต่ปีคศ. 2008 เลยทีเดียว หลังจากกลับมาตั้งรกรากที่เมืองไทย ปลงตกแล้วว่าคงจะไม่ได้กลับไปเมกาอีกแน่นอน ตอนนั้นขออาศัยนอนอยู่บ้านปะป๊ามะม๊ามาตั้งหลายเดือน อยู่ไกลจากที่ทำงาน เดินทางลำบาก สุดท้ายก็คิดว่าพอจะมีเงินหาซื้อที่อยู่ของเราเอง ก็มาตกลงปลงใจซื้อคอนโดหลังนี้ เป็นที่โชคดีเหลือเกินว่าห้องที่เราซื้อเป็นห้องที่ไม่มีใครเอา ทั้งที่อาคารคอนโดนี้สร้างมาตั้งหลายปีแล้วล่ะ (สร้างเสร็จปีค.ศ. 2001) และห้องนี้ที่เรามาซื้อไว้ก็เป็นชั้นบนสุดอยู่ใต้หลังคาคอนโดพอดี

คิดว่าในความเป็นจริงส่วนหลังคาคอนโดน่าจะเป็นกรรมสิทธิ์ของนิติบุคคล ลูกบ้านไม่น่าจะมีส่วนในการจับจองหรือดัดแปลงใด ๆ ตอนนั้นจำได้ว่าเคยเสนอกรรมการให้เค้าติดตั้งแผงโซล่าร์ทั้งหลังคา แล้วติดต่อยื่นเรื่องขายไฟฟ้าไป ปรากฎคอนโดไม่สนใจไม่อยากลงทุน

หลังคาเป็นกรรมสิทธิ์ของนิติบุคคล แต่เวลาหลังคารั่วซึม มีน้ำหยด กลายเป็นลูกบ้านที่อยู่ใต้หลังคานั่นแหละต้องรับกรรมไป อันนี้เป็นสัจธรรมที่เราพบเพราะที่ห้องที่เราอยู่ก็มีน้ำหยดลงมาที่ห้องทำงานจนฝ้าเละ จนถึงทุกวันนี้ คอนโดยังจัดการอะไรให้ไม่ได้ เราก็จัดการไม่ได้ เพราะซ่อมเท่าไหร่ ปะยังไง ยังไง มันก็ไม่เวิ๊ค เรื่องน้ำรั่วน้ำซึมนี่ต้องขอยอมแพ้ ยกให้เค้าไป สรุปว่าทุกวันนี้อยู่กับมันโดยการทำทางรองน้ำหยดให้ไปรวมที่ถาด แล้วมีระบบสูบน้ำจากถาดทิ้งไป  อันนี้เรื่องมันยาวเขียนได้อีกบล็อก เด้วนอกประเด็น กลับมาเรื่องโซล่าร์ต่อ

เอาเป็นว่าหลังคาเป็นของคอนโด แต่ปัญหาเกี่ยวกับหลังคาเป็นของผู้อยู่อาศัยที่อยู่ใต้หลังคาส่วนนั้น  สรุปว่าคอนโดไม่อยากติดตั้งโซล่าร์  แต่เจ้าของห้องชุดต้องการ เจ้าของห้องชุดก็เลยขีดเส้นพื้นที่หลังคาที่ตัวเองอยู่แล้วก็ติดตั้งทั้งแผงโซล่าร์ไฟฟ้าและแผงโซล่าร์ต้มน้ำ ตอนนั้นจำได้ว่ามีการขออนุญาตไปทางการไฟฟ้าเพื่อให้เป็นการทำการต่อเชื่อมแบบถูกต้อง  ทางการไฟฟ้าตอบมาว่าไม่อนุญาตสำหรับอาคารชุดนิติบุคคล จ๋อยไปเลย

เมื่อตอนซื้อห้องชุดนี้ปี 2007 เนื่องจากต้องจ่ายเงินซื้อห้องชุดนี้ประมาณ 5 ล้าน และก็ต้องตกแต่ง (อย่างบ้าเลือด) รวมค่าเครื่องไฟฟ้าใช้สอยและเฟอร์นิเจอร์อีก 5 ล้าน รวมกันเป็น 10 ล้าน ทำให้งบประมาณที่จะติดตั้งโซล่าร์มีจำกัด กว่าจะนู่นนี่ วางแผนเรื่องเงิน เซ็นสัญญาซื้อ เข้าพื้นที่ลงมือตกแต่งจริงก็ปาเข้าไปปี 2008

และเมื่อปี 2008 ราคาแผงยังสูงอยู่มาก ก็เลยวางแผนว่าเราจะติดแผงไปก่อนแค่ 2 kW แต่ติดตั้งเครื่อง inverter 4 kW รอไว้เลย อีกหน่อยก็แค่เพิ่มแผงตอนมีตังค์แล้ว คิดไว้แบบนั้น ส่วนโซล่าร์ทำน้ำอุ่นเลือกยี่ห้อ SolaHart ไป หลังจากเลือกอยู่หลายเจ้า ไม่ได้สนับสนุนผลิตภัณฑ์ของคนไทยเท่าไหร่ เพราะรู้สึกมั่นใจกับ SolaHart มากกว่า และก็เป็นจริง เนื่องจากตั้งแต่ติดตั้งมายังไม่เคยต้องไปยุ่งอะไรกับเค้าอีกเลย นี่ผ่านมาขึ้นปีที่ 14 น้ำยังร้อนดีเหมือนเดิม สิ่งที่สังเกตเห็นอย่างเดียวคือตรา SolarHart บนถังน้ำที่อยู่เหนือแผงมันโดนแดดเลียจนซีดมองเกือบไม่เห็นแระ ตอนนั้นจ่ายไป 81,000 บาท (SolaHart 181J) ใช้มาได้ขนาดนี้ คุ้มมากๆ no maintenance ใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าใครใช้ไฟฟ้าต้มน้ำอุ่นอาบทุกวัน ค่าไฟน่าจะเซฟไปได้เยอะเลย ของเรามีการเดินท่อทองแดงไว้ทั่วบ้าน(คอนโด) น้ำอุ่นไปถึงทุกจุดเหมือนๆ บ้านในเมืองหนาว ใช้ยิ่งกว่าคุ้ม

กลับมาเรื่องโซล่าร์ไฟฟ้า ตอนปีแรกเราลงทุนไปทั้งหมด 542,218.22 ได้แผง 120W ของ Sharp -made in Thailand (แผงละ 19,200 บาท)  จำนวน 16 แผง คิดเป็น 1.92 kW ค่า inverter (on-grid) ของ Leonics ราคา 84,000 ค่า off-grid inverter ก็ของ leonics ราคา 36,500 บาท ที่เหลือเป็นค่าแบต (กรด-ตะกั่ว) ค่าติดตั้ง ค่าคอม (ติดตั้ง 10,000 ค่าคอม 40,000) ก็ถือว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างแพงสำหรับตอนโน้น เสียดายว่าไม่ได้เลือกใช้ของดี ๆ หรือไม่รู้ว่าเป็นเพราะตอนนั้นตัวเลือกมีไม่เยอะ ไม่เหมือนสมัยนี้ 

ในรายการทั้งหมดที่จ่ายเงินไป ณ ปัจจุบัน ยังคงเหลือแต่แผงเท่านั้นที่ยังอยู่ ส่วนเครื่อง inverter ทั้งออฟกริด ออนกริดของ Leonics นี่ไม่อยู่แล้ว แบตกรด-ตะกั่วนี่เปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ

ระบบดั้งเดิม Leonics + Sharp panels ก็ทำงานในช่วงแรกได้ดีระดับหนึ่ง อาการปัญหาแรกที่เจอก็คือแบตเตอรี่ตาย คือสำรองไฟฟ้าไม่ได้อีกต่อไป จาก 2008 ถึงปัจจุบัน แบตนี่เปลี่ยนไปหลายรอบมาก เรื่องแบตเด้วจะขอแยกบล็อกอีกอันนึง

ขออนุญาตกล่าวเรื่องออนกริด ออฟกริดนิดนึง  สมัยก่อนต้องเลือกว่าจะติดตั้งโซล่าร์แบบใด  ระบบออนกริดคือระบบที่ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ ต้องขออนุญาตการไฟฟ้าเพื่อส่งไฟฟ้าที่ผลิตได้แล้วใช้ไม่หมดส่งขึ้นกริดให้การไฟฟ้าไป สำหรับในประเทศไทย ถ้ามีการอนุญาตแล้ว ทางการไฟฟ้าจะมาติดตั้งมิเตอร์ขายไฟต่างหากแยกกัน ส่วนราคาขายขึ้นอยู่กับตกลงกัน ตอนนี้เท่าที่ทราบคือขายขาดทุน (ผลิตขายได้ต่ำกว่าราคาที่ซื้อจากการไฟฟ้า)  ส่วนระบบออฟกริดคือระบบที่ใช้แบตเตอรี่ โดยมีการเก็บสำรองไฟฟ้าไว้ที่บ้าน/คอนโดเอง ถ้าออกแบบระบบให้ใหญ่พอกับปริมาณการใช้ไฟ จะสามารถตัดขาดจากระบบกริดได้เลย  ในปัจจุบันมีระบบ hybrid คือทำได้ทั้งสองอย่างไม่ต้องแยกกัน บังเอิญว่าสมัยปี 2008 ยังไม่มีระบบนี้แพร่หลาย

ที่คอนโดจำได้ว่าตอนนั้นมีปัญหาไฟดับบ่อย (ตอนนี้ก็ยังมีอยู่เนือง ๆ แต่ไม่บ่อยมาก) โดยส่วนตัวรู้สึกต้องการอยากมีไฟสำรองไว้ใช้งานกรณีไฟดับ ก็เลยตัดสินใจว่าจะมีทั้งสองระบบ คือส่วนหนึ่งก็ออนกริดป้อนไฟคืนไป แต่อีกส่วนนึงก็เก็บสำรองใส่แบตไว้เผื่อกรณีไฟดับ ที่ไม่ได้สำเหนียกตอนนู้นก็คือเรื่องแบตเตอรี่นี่แหละที่จะทำให้บานปลายและนำมาซึ่งความปวดหัว

ปรากฎว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือแบตเสื่อมก่อน อันนี้เริ่มสังเกตได้ตั้งแต่ปีที่สอง และมันก็เสื่อมขึ้นเรื่อย ๆ แบตรุ่นแรกที่ใช้เป็นยี่ห้อ Leoch (ก็ของ Leonics นั่นแหละ) เป็นแบบ VRLA (Valved regulated lead acid) คือไม่ต้องเติมน้ำ พอถึงปี 2010 เค้าก็เดี้ยง จำไม่ได้ว่าเคลมประกันเปลี่ยนหรือต้องจ่ายซื้อใหม่ มันมีป้ายแปะไว้อยู่ว่ามีการเปลี่ยนแบตตอน April 2010 และจะหมดประกัน July 2013 คิดว่ามันก็เสื่อมลงเรื่อย ๆ แต่คงไม่ได้เคลมประกันตอน 2013 ลากใช้ยาวมาถึง 2015 แล้วก็ตายสนิทแน่นอน หลายปีมาแล้ว ถึงตอนนั้นเราก็เปลี่ยนไปใช้แบตกรดตะกั่วยี่ห้อ Volta 100 Ah ซึ่งถูกกว่า (ลูกละ 5,300 บาท 4 ลูก เป็นมูลค่า 21,200) ห่วยกว่า เป็นแบบเติมน้ำ อันนี้อยู่ได้ต่อมาอีกไม่ถึง 2 ปีก็ตายสนิทเหมือนกัน จำได้ว่าน้ำกรดดำปี๋ (ธาตุตะกั่วกัดกร่อนออกมา) ปัญหาที่น่ากลัวอีกอันคือ H2 gas ใช่แล้วคับ hydrogen gas แบบที่เอาไปเติมจรวดนั่นแหละ หรือในรถ hydrogen fuel cell ของโตโยต้า เปรียบเสมือนหนึ่งเรามีลูกระเบิดขนาดย่อม ๆ อยู่ในห้องอาคารชุดคอนโดดี ๆ นี่เอง

ต่อเรื่องแบตก่อนจะได้จบ สรุปว่าปี 2017 ก็เปลี่ยนแบตอีก เรียกว่าต้องเปลี่ยนทุก ๆ 2 ปี ก็ยังอุตส่าห์มีศรัทธากับแบตกรดตะกั่วอยู่ (ตอนนี้แบตลิเธียมมันยังมาไม่ถึงดีอะนะ -ราคาแพงมาก หายาก) แต่คราวนี้ยอมกัดฟันลงทุนซื้อ Trojan battery ยี่ห้อชั้นดีจากเมกา (มีคนขายในไทยด้วย เค้าเอาไว้ใส่ในรถกอล์ฟกันอะ) หวังว่ามันจะอยู่ได้นานเพราะลูกละ 15,000 บาท ซื้อ 4 ลูกหมดไป 6 หมื่นบาท เทียบกับตอนสองปีก่อน Volta (21,200 บาท) แพงกว่า 3 เท่า แต่รอบนี้ได้ประจุเยอะข้ึน (225Ah) ส่วน Leoch VRLA ตอนนั้นเปิดบิลมาเมื่อปี 2007 ลูกละ 9250 (9250*4 = 37,000 บาท) ตอนแบต Trojan นี่อุตส่าห์ซื้อระบบเติมน้ำกลั่นอย่างดี เป็นสายต่อเชื่อมทุกเซลแล้วเราก็บีบลูกยางสูบน้ำเติมเข้าไปอย่างเดียว สะดวกในการเติมมาก นั่นเฝ้าดูแลเติมน้ำมิได้ขาด ส่วนก๊าซ H2 ก็ต้องติดตั้งพัดลมและระบบดูดเอาไปปล่อยนอกห้อง ป้องกันระเบิดนาปาล์มในอาคารชุด เด้วเป็นข่าว สรุปว่าน้องโทรจันราคา 6 หมื่น อยู่มาได้ถึงปี 2020 นี่แหละ 3 ปี ดีกว่าแบตกระจอกนิดเดียว ทั้ง ๆ ที่ราคาแพงกว่า 3 เท่า นี่ขนาดนั่งประคบประหงมเติมน้ำให้อย่างดี มีตารางจดวันที่เติมน้ำทุกอย่าง (หลัง ๆ เค้าจะกินน้ำเยอะขึ้น ปล่อยกรดไฮโดรเจนเยอะขึ้น)   สรุปว่ารอบนี้ พอกันทีกับแบตกรดตะกั่ว ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ว่าจะซื้อของดี ของเลว ของถูกอย่างไร มันก็ใช้ได้ไม่เกิน 2-3 ปีอย่างเก่ง และยังต้องมานั่งเติมน้ำ นั่งระวังก๊าซไฮโดรเจน ฯลฯ  ตอนนี้เราเปลี่ยนมาใช้ Lithium titanate battery ซึ่งเด้วจะเขียนบล็อกหน้า (ขออนุญาตเขียนเป็นภาษาอังกฤษ เพราะสัญญากับ Mr. Jason ไว้)  เอาเป็นว่าตอนนี้ LTO (Lithium titante battery) มีความสุขอย่างที่สุด ไม่ต้องเติมน้ำกลั่น ไม่ต้องระวังไฮโดรเจนบอมบ์

ย้อนกลับมาเรื่องแผงกับ inverter ต่อนะคับ หลังจากอยู่มาได้หลายปี (8 ปี) ในระหว่างนี้เราก็พบว่า Leonic Apollo S216C ซึ่งเป็น inverter ระบบออฟกริดของเรานี่มันห่วยสิ้นดี   inverter off grid นี่มีหน้าที่แค่เอาไว้ชาร์จไฟแบต และก็ดึงไฟจากแบตมาเปลี่ยนเป็น AC 230V จ่ายให้ใช้ในบ้านสำหรับกรณีไฟดับ คือทำตัวเป็น UPS (Uninteruptible power supply) ดี ๆ นี่เอง  ที่ว่า Leonics ห่วยเพราะว่ามีหลายต่อหลายครั้งที่เราพบว่าเค้ามีการดับตัวเองวูบไปแล้วไม่ยอมติดตัวเองขึ้นมา คือส่วนหนึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับแบตที่เสื่อมด้วย กล่าวคือ กรณีไฟกริด (ของการไฟฟ้า) ดับปุ๊บ เค้าก็จะต้องตัดมาใช้ไฟจ่ายจากแบตจนกระทั่งไฟกริดมาแล้วก็ตัดกลับมาไฟกริดแล้วก็ทำการชาร์จแบตให้เราเต็มไว้   เราพบว่าเค้ามีการไม่ตัดกลับไปที่ไฟกริด อาจจะเป็นไปได้ว่าส่วนนึงเกิดจากภาวะแบตเสื่อม พอไฟดับเค้าสำรองไฟให้ แต่สุดท้ายแบตหมด แล้วเค้าก็ดับตัวเองดื้อ ๆ แต่พอไฟกริดของการไฟฟ้ามา เค้าไม่ยอมติดตัวเองขึ้นมาทำงาน ต้องมีคนไปกดเปิดถึงจะติดขึ้นมา ถ้าเราอยู่บ้าน อยู่เมืองไทย ก็อาจจะโอเค กลับมาบ้านเจอเค้าดับ ก็กดให้เค้าเปิดขึ้นมา  คราวนี้ในวงของที่จ่ายไฟฟ้าสำรองไปมันก็จะมีตู้เย็นที่เราเสียบไว้เพราะเราอยากให้ไฟตู้เย็นจ่ายสม่ำเสมอไม่โดนตัดไฟเวลาไฟดับ ปรากฎว่าเมื่อประมาณปี 2012 ไปทัศนศึกษาที่แคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมัน แล้วก็มีเหตุการณ์ไฟดับดับแล้วมันก็ไม่ติดตัวเองขึ้นมา (ตอนไฟกริดมา) ผลคือตู้เย็นเน่า กลิ่นไอติมบูดเหม็นไปหมด  ตอนนั้นเราจำได้เลยว่าเจ้า Leonic ออฟกริดนี่จะต้องกำจัดทิ้งละ คือตัวเองทำหน้าที่เป็นระบบสำรองไฟแต่ดันดับซะเอง แล้วตื่นเองไม่เป็น ต้องรอคนมากดเปิดใหม่ ไม่ควรจะออกแบบมาเยี่ยงนี้ มันไม่น่าจะให้อภัย คือถ้าแบตมันเสื่อม ก็โอเค แบตจ่ายไฟไม่ได้ พอไฟกริดมา กรุณาตื่นขึ้นมาทำงานด้วยสิ

ก็เลยสรุปว่าปี 2015 เปลี่ยนแบตใหม่ แล้วก็เปลี่ยนเอา Leonic off grid ออก แล้วก็ถือโอกาสติดแผงเพิ่มให้เต็มพื้นทีตามที่เคยตั้งใจไว้ ตอนนี้เราได้ตัว inverter ของจีนยี่ห้อ Powerstar มาแทน (นึกว่าจะดี) แผงที่ติดใหม่รอบนี้เป็นแผงของจีนยี่ห้อ Schutten แผงนึงเรตไว้ที่ 295W ราคาแผงละ 8,500 บาท จำนวน 8 แผง (เดิมของ Sharp 120W ราคา 19,200) จะเห็นว่าราคาถูกเกินครึ่งและประสิทธิภาพแผงก็ดีขึ้น (แต่พื้นที่แผงเค้าก็ใหญ่กว่า เอาเป็นว่าถ้าเทียบเรตติ้งเดียวกันก็ถือว่าถูกลงเกินครึ่ง) แผงใหม่มาทบแผงเก่า (295*8 + 120*16  = 4.280 kW) ซึ่งก็เต็มประสิทธิภาพของ Leonic on-grid inverter 4 kW พอดี (ตอนนี้ของ Leonic ตัวออฟกริดกำจัดทิ้งไปแล้ว -เอาไปบริจาคน่ะ ส่วนของออนกริดยังไม่ได้กำจัด)  ปรากฎว่าคุณ Leonic on-grid inverter เนี่ย เรตไว้ที่ 4 kW ตอนที่มีแผงแค่ 2 kW ช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาเค้าก็โอเคดีอยู่ แต่ตอนนี้พอติดแผงเพิ่มเต็มที่เป็น 4 kW ต้องทำงานเต็มประสิทธิภาพก็เกิดปรากฎการณ์เครื่องบินลง กล่าวคือ มีเสียงพัดลมดังราวกับเครื่องบินไอพ่นกำลังจะร่อนลง ดังมาก มากจากตู้ที่เค้าอยู่ ตอนกลางวัน แดดจัด ๆ ตอนที่แสงพระอาทิตย์ลงมาแรง ๆ เนี่ยแหละ  หลังจากพยายามทนอยู่กับมันได้ไม่ถึงเดือน (นี่ขนาดไม่ค่อยได้อยู่บ้านตอนกลางวันเท่าไหร่นะ) ก็เลยมีเหตุให้ต้องกำจัดคุณ Leonic on-grid ต่อไป  ถึงตอนนี้เราก็รู้แล้วว่า กรุณาอย่าซื้อยี่ห้อนี้อีก ที่แสบกว่าก็คือคุณวิศวกรที่เคยดูงานติดตั้งให้เราคิดค่าคอมเราไป 4 หมื่น ตอนนี้เค้าไม่อยู่บริษัทนี้แล้ว เราก็ไม่รู้จะติดต่อรับบริการจากใคร  โทรไปก็ให้ฝากข้อความ คงจะจูบลายี่ห้อนี้ชั่วชีวิต

ก็เลยต้องวางแผนวางระบบใหม่ คราวนี้เราก็จะต้องถอย inverter ใหม่ ส่วนน้องจีน Powerstar นั้นก็ต้องไปเหมือนกัน (บริจาคไปตจว) เพราะเกิดอาการเดียวกับคุณ leonic ออฟกริด กล่าวคือฉันจะมีการดับเวลาแบตหมดหรือเวลาฉันอยากดับและตื่นเองไม่เป็นต้องมีคนกดปุ่มเปิด ทำให้เป็นระบบสำรองไฟที่ไม่เวิ๊ค ตอนนั้นก็ไปเจอยี่ห้อ SMA ของเยอรมัน ก็เกือบจะจัดไปทั้ง SunnyBoy (on-grid) และ Island (off-grid) ปรากฎว่าปัญหาของ SMA เค้าคือตัว off grid (SMA-Island) เค้าจะไม่สำรองไฟให้ได้ทันทีกรณีไฟดับ คือไม่สามารถทำตัวเป็น uninteruptible power supply ได้ เค้าจะขอเวลาประมาณ 15-20 seconds ถึงจะดึงไฟสำรองขึ้นมาให้ได้ ซึ่งเราไม่โอเค สรุปก็เลยได้ SMA Sunnyboy 5.0 kWh มาเป็นตัว on-grid  และก็ไปสอยระบบ Schneider Conext มาเป็นตัวออฟกริด และก็ต้องซื้อแผงเพิ่มอีก เพราะตอนนี้จะอัพเป็น 5 kW ซึ่งเต็มพื้นที่หลังคาแล้ว

SMA SunnyBoy 5000TL ตัวละ 73,500 (ปี 2015) แต่ตัวนี้น่ารักมาก คุ้ม ใช้งานถึงป่านนี้ (2021) ไม่เคยส่งเสียงพัดลมดัง (เพราะไม่มีพัดลม) เงียบฉี่ แอบวัดอุณหภูมิพบว่าตัวอุ่น ๆ ประมาณ 50+ องศาเซลเซียสเวลาทำงานหนัก เค้าบอกว่าเค้าอยู่ได้ เค้ามีครีบระบายความร้อน (แบบ passive) ด้านหลัง แต่เราก็ไม่อยากให้เค้าร้อนไป เลยจัดพัดลมแบบ cross flow blower เป่าให้ (มี sensor เมื่อไหร่ตัวอุ่นเกิน 45 องศาปุ๊บ พัดลมเป่าให้) ที่เจ๋งสุด ๆ (สำหรับปี 2015) ก็คือเค้ามีการเชื่อมต่อ wifi และทำให้เราสามารถดูการผลิตไฟได้ (เด้วนี้มียี่ห้อจีนเยอะแยะเลยเหมือนไปก๊อปเค้ามา ทำได้กันหมดแล้ว ราคาถูกกว่ากันครึ่งครึ่ง) 

ส่วนน้องชะนี (Schneider) นั้นเค้ามากันทั้งหมดหลายชิ้น  อุปกรณ์ชิ้นใหญ่สุดคือ Schneider Conext SW4024E (63,001.6 THB) ตัวนี้เป็น inverter สำหรับ off grid คือมีหน้าที่แปลงไฟ DC จากแบตขึ้นมาเป็น AC230V และสามารถใช้ไฟ DC จากแผงโดยตรงหรือใช้ AC 230V แปลงเป็น DC (24V) ชาร์จแบตด้วยไฟ AC ได้ เป็นตัวจ่ายไฟแบบ UPS เวลาไฟกริดดับด้วย (เหตุผลที่ซื้อ Schneider - ไม่งั้นเค้าก็ถอย SMA-Island มาแล้ว)  อีกตัวคือน้องชะนีน้อย Schneider XW MPPT 60/150  (17,515.9 THB) ตัวนี้เป็น DC solar charger  รับไฟตรงจากแผงโซล่าร์ส่งไปชาร์จแบตหรือป้อนชะนีใหญ่แปลงเป็น AC 230V ส่วนที่เหลือจะเป็น accessories เช่น Conext battery monitor (THB 11,791), Schneider Conext SW SCP (THB 7,629) และ Conext combox (THB 13,610)  สรุปรวม ๆ ของ Schneider ทั้งหมดรวมเป็น 113,548 บาท   จริง ๆ แล้วถ้าเป็น hybrid inverter ที่ทำงานเหมาหมดทุกอย่าง จะไม่ต้องมีจุกจิกเยอะขนาดนี้ นี่บังเอิญว่าสองระบบ คนละยี่ห้อ ไม่คุยกัน เลยเวิ่นเว้อมาก

รอบนี้เราก็ต้องถอยแผงโซล่าร์เพิ่มอีก 8 แผง เป็นแผงของจีนอีกแระ ยี่ห้อ Great Solar 300W แผงละ 7,800 บาท 8 แผง คิดเป็น 62,400 บาท มีค่าติดตั้ง ค่าตู้คอนซูมเมอร์อีกจิปาถะ เอาโดยสรุปก่อนว่าเราหมดค่าโซล่าร์เซล so far ดังนี้
1) รอบแรกสุดปี 2008 แผงโซล่าร์ยี่ห้อ Sharp รวม 1.92 kW เครื่องแปลง Leonics รวมค่าติดตั้งค่าคอม แบต ทุกอย่าง 542,218.22 บาท
2) รอบสอง Feb 2015 เพิ่มแผง Schutten 295W*8 (2.36 kW) เปลี่ยนแบตเสื่อมเป็น Volta 100Ah + ค่าแรงทุกอย่าง  81,800 บาท
3) รอบสามกำจัด Leonics ได้ SMA, น้องจีน (ออฟกริด) Powerstar ค่าติดตั้ง ค่าเดินทาง ค่าสายไฟ ทุกอย่าง 95,900 บาท
4) รอบที่สี่กำจัดน้องจีน (Powerstar - off grid) ติดตั้งระบบ Schneider เพิ่มแผงอีก 2.4 kW (Great solar 300W *8) รวมเป็น 254,548 บาท

ถึงตอนนี้ก็เข้ามาปลายปี 2016  รวมค่าใช้จ่ายที่กล่าวไปข้างต้น เป็นเงิน 974,466.22 บาท 

ระบบ Schneider ไม่ทำให้เราประทับใจเหมือนของ SMA เท่าไหร่ การเชื่อมต่อ online เค้ามีปัญหามากทำยากซับซ้อน เค้าจะคุยกับระบบ PC เท่านั้นไม่ยุ่งกับคอมยี่ห้อผลไม้ซึ่งก่อปัญหาให้เราเยอะมาก เพราะที่บ้านไม่มี PC แล้ว แล้วก็ตั้งแต่ติดตั้งเค้ามีความงอแงเป็นระยะ ๆ มี errors codes ขึ้นบ่อยครั้ง ต้องมีการเคลมตัวใหม่ โชคดีที่คุณวิศวกรที่เค้าขายให้เราเค้าเข้ามาดูแลอย่างดีมาตลอด หลังจากเคลมตัวใหม่ไปสองรอบ ก็ยังมีปัญหา สุดท้ายเค้าต้องให้ฝรั่ง e-mail เข้ามาดูระบบ ฝรั่งเห็นตู้ระบบโซล่าร์เรา ต๊กกะใจร้องกรี๊ด พอเห็นแบตกรดตะกั่ววางไว้ข้างล่างใต้เครื่อง และก็พาลมาว่าสายไฟจากแบตมาเครื่อง Conext เค้ามันเล็กเกินไป เค้าสั่งมาให้เปลี่ยนเป็นสายขนาด 120 มม2  ไปหาซื้อที่ไหนก็ไม่มี สายบ้าอะไรใหญ่ขนาดนั้น หาได้ใหญ่สุดแค่ 70 มม2 พอดีตอนนี้ (เดือนมี.ค. 2017) แบต Volta ก็ตายพอดี น้ำกรดดำปี๋  ก็เลยควักกระเป๋าซื้อแบตที่ดีที่สุดของเมกายี่ห้อ Trojan 225Ah (J185H-AC) ราคาลูกละ 15,000 จำนวน 4 ลูก รวม VAT กลายเป็น 64,200 บาท แล้วก็ค่าแรง ค่าสายไฟ 70 มม2 อีก รวมเป็น 69,200 บาท ตอนนี้ยอดรวมใหม่กลายเป็น 1,043,666.22 บาท  ขยี้ตาด้วยความไม่อยากเชื่อ นี่เราจ่ายเงินไป 1 ล้านกว่าบาทแล้วนะเนี่ย ถ้าเอาค่าไฟที่ผลิตได้มาหัก รับรองว่ายังไงยังไง ก็ไม่มีทางคุ้ม คงคืนทุนที่สัก 100 ปี  ต้องกล่าวโทษเรื่องแบตเตอรี่และระบบออฟกริดที่มันไม่เวิ๊คตั้งแต่แรก  นี่ถ้าติดตั้ง SMA ตั้งแต่แรกก็คงตัดปัญหาไปได้เยอะ

หลังจากเปลี่ยนสายไฟเป็นเส้นเบ้อเริ่ม 70 มม2 (สายเส้นเนี้ย ใหญ่ที่สุดในบ้านแระ ใหญ่กว่าเส้น main ที่เอาไฟ AC230V 100A เข้าบ้านซะอีก) น้องชะนีเค้าก็ยังมีงองแงเล็กน้อย คือมีรายการ ฟิวส์ขาดบ้าง (ฟิวส์ของระบบ MPPT solar charger) ครั้งสุดท้ายที่เคลมเครื่องใหม่คือเมื่อ April 2018 มีรายการขึ้นเตือนว่า AC undervoltage คือแทนที่คุณ Conext เค้าจะ invert ไฟออกมาให้เป็น AC 230V เค้าออกมาให้ได้แค่ 45V สรุปว่าได้เคลมอีกเครื่อง (ถ้าจำไม่ผิด อันนี้น่าจะเป็นเครื่องที่ 4) ตอนนั้นจำความรู้สึกได้ว่าถ้ายังต้องเคลมอีก สงสัยจะต้องโละระบบชะนีทิ้งทั้งหมดและไปใช้ SMA Island จริง ๆ แระ ปรากฎหลังจากเคลมรอบนี้ (ตั้งแต่ July 2018) เค้าก็ยังอยู่ดีมาถึงตอนนี้ คือถ้าไม่ใช่เรื่อง errors ทั้งหลายที่ส่งผลให้ต้องเคลมเครื่องใหม่ก็ถือว่า Schneider Conext ดีกว่า Leonics และ Powerstar off grid inverter ที่ผ่านมา อย่างน้อยที่สุดเค้าไม่ดับตัวเองไปแล้วเงียบไม่ติดขึ้นมาเอง ตัวเครื่องเค้าจริง ๆ ใช้ไฟตรงจากแบตเตอรี่ (DC 24V) ตราบใดที่ยังมีไฟแบตเหลือ ไม่ใช่เกลี้ยงจนเหลือ 0 (เค้าจะรู้จักตัดตัวเองไปเข้า standby mode เวลาแบตอ่อน) เค้าก็จะติดตัวเองขึ้นมาได้เองถ้าไฟกริดมา แต่ความที่เราก็เบื่อต้องเคลมเครื่องอยู่เรื่อย ๆ แล้วก็ไม่ไว้ใจระบบ backup ในบ้าน ตอนหลังก็เลยติดตั้ง automatic transfer switch สำหรับสายไฟระบบสำรองในบ้านซะเลย กล่าวคือถ้าระบบทำงานเป็นปกติ สายไฟระบบสำรองก็จะรับไฟจากระบบสำรอง  แต่ถ้าเมื่อไหรระบบจ่ายไฟสำรองไม่ทำงาน เค้าจะตัดสวิทซ์กลับไปหาไฟกริดทันที  ถ้าไฟสำรองมาถึงจะตัดกลับมาหาไฟสำรองอีกครั้ง หากไฟสำรองไม่มาก้อใช้ไฟกริดไปเรื่อยๆ 

นึกว่าแบต Trojan จะอยู่ได้นาน ที่ไหนได้ มาถึงกลางปี 2020 ก็เดี้ยงซะแล้ว เหมือนเดิม น้ำกรดดำปี๋ สรุปว่าแบตแพง 4 ลูกนี้ อยู่ได้จาก March 2017- July 2020 คิดเป็น 3 ปีกับอีก 4 เดือน ต้องหักกลบลบหนี้กับความทรมานที่ต้องมานั่งเติมน้ำเป็นบ้าเป็นหลัง (ทุก ๆ 1-2 สัปดาห์) โดยเฉพาะช่วงปีหลัง ๆ นี่เค้าจะกินน้ำกลั่นจุมาก ต้องเติมบ่อยจนน่าเบื่อ เวลาชาร์จทีก็อุณหภูมิแบตก็จะอุ่นขึ้นมาแบบน่ากลัว (ชาร์จไม่มีประสิทธิภาพ สูญเสียไปเป็นความร้อนเยอะ) แถม hydrogen gas ก็ฟุ้งกระจายเต็มไปหมด พัดลมระบายดูดออกไม่ทัน เรียกว่าหมดความสุขในการเป็นเจ้าของ ตอนนี้เราก็เลยตัดสินใจว่าจะสอย lithium battery แระ  เด้วจะขออนุญาตไปเขียนต่างหากอีก blog นึง ตอนแรกคุณเทพ (คนติดตั้งแผงโซล่าร์ให้เรา)เค้าไปประกอบ Lithium battery (ประกอบเองเลย) มาให้เราเป็น Lithium titanate 48 ลูก ลูกละ 40Ah ต่อขึ้นมาเป็นระบบ 24V (ต่อขนาน 4 ก้อนและอนุกรมขึ้นมา 12 ชุด) คิดเป็นกำลังไฟ 4.4 kWh หรือ 4.4 ยูนิต ตอนนั้นคุณเทพเปิดบิลมา 87,745 บาท แยกเป็นค่า LTO ลูกละ 1,450 บาท (48 ลูก) เท่ากับ 69,600 บาท ค่า Copper busbar (กว้าง 4 นิ้ว หนา 1/4") 14,145 บาท ค่าติดตั้งค่าประกอบอีก 4000 บาท

ปรากฎแบตของคุณเทพมันห่วย ใช้ได้ไม่กี่วันก็มีปัญหา เริ่มแรกก็คือมีกลิ่น กลิ่นหวาน ๆ เอียน ๆ เหมือน melon ต่อมาก็พบว่ามีน้ำอิเล็คโตรไลท์ไหลออกมา สรุปว่าต้องให้อีตาเทพเอาคืนไป (ได้เงินค่าแบตคืนมา 60,000 แต่ค่าบัสบาร์ทองแดงไม่ได้คืน และตอนนี้ไม่ได้ใช้ด้วย)  ตอนหลังนี่เราจัดการสั่ง LTO เองจากเมืองจีน เพิ่มจำนวนจาก 48 ลูกเป็น 120 ลูก  รอบนี้เราประกอบเองทำเอง (เห็นตัวอย่างคุณเทพทำได้ เราทำเองมั่ง) หมดเวลาไปเกือบ ๆ อีก 3 เดือน เหนื่อยมากถึงมากที่สุด อดหลับอดนอน ลองผิดลองถูก แต่ก็ได้ผลงานเป็นที่ภูมิใจมาก ตอนนี้ก็เวิ้คดีแระ สรุปว่าเราจัด LTO ขนานกัน 10 ลูก อนุกรม 12 ชุดขึ้นมาเป็นระบบ 24V (27.6V) คิดเป็น 12.42 kWh หรือ 12 ยูนิต ไฟสำรอง หมดเงินไปอีก รอบนี้ ค่าแบตทั้งหมด 167,887.56  ค่าบัสบาร์ทองแดง 32,645 บาท ค่ากล่องอะคริลิกครอบ 3,359.8 สรุปค่าใช้จ่ายเรื่องโซล่าร์และแบตทั้งหมด so far กลายเป็น 1,275,306.28 บาท ในจำนวนนี้หมดไปกับค่าแบตทั้งหมดถึง 328,885.06 บาท  ที่นี้ถ้าย้อนกลับไป แอบคิดว่าถ้าตอนนั้นเราไม่โง่ซื้อ Leonics กับ Powerstar ซื้อ SMA+Schneider ตั้งแต่แรก ก็จะหักออกไปได้อีก 145,256 บาท ทำให้ยอดจริง ๆ จะเหลือ 801,165.22 บาท ถ้าตอนนู้นมี LTO battery แล้ว ก้อคงเซฟค่าแบตกรดตะกั่วที่เปลี่ยนหลายรอบออกไปได้เป็นแสน ยอดรวมจริงอาจจะเหลือแค่ 6-7 แสนทีเดียว

ในความเป็นจริง เราก็คงไม่รู้ว่าของมันจะดีหรือมันจะห่วย บางทีก็จนกว่าจะได้ลองใช้ดู ดังนั้นที่เสียไปแล้วมันก็จะเป็นค่าเรียนรู้ หรือถ้าจะพูดให้เจ็บ ๆ ก็คือ ค่าโง่ นั่นเอง  บางอย่าง ณ ตอนเวลานู้น มันก็ยังไม่มีหรือยังไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น Lithium Titnate battery เด้วขอไปเขียนอีกบล็อกนึงแล้วกันนะ


เมื่อปี 2008 ยังไม่มีโดรนถ่ายรูป ตอนนั้นเราก็ไม่กล้าปีนหลังคา ได้แต่ยืนถ่ายตรงระเบียงเลยเห็นแผงไม่ชัด (รูป A) 2008 เห็นแท๊งน้ำอุ่นของ SolaHart ชัด ตอนนั้นโลโก้ยี่ห้อสียังสดอยู่เลย และก็เห็นแแต่ขอบแผงโซล่าร์ ตอนนั้นก็ไม่กล้าปีนหลังคาถ่ายด้วย  รูป B) นี่คือเดือนกพ. 2015 ตอนนั้นมีการติดแผงเพิ่มไปแล้ว 8 แผง ได้ระบบ 4 kW มาแต่น้องลีโอนิคส์ พัดลมเสียงดังมาก ทนไม่ได้ ก็เลยอัพเกรดเป็น SMA-Sunnyboy 5 kW ก็เลยต้องติดแผงเพิ่มให้ครบ ก็เลยเห็นแผงเพิ่มมาอีก 8 แผง (รูป C, D) จะเห็นว่าส่วนของแผงแถวล่างบดบังรางน้ำของหลังคาคอนโดส่วนหนึ่ง แล้วก็มีปลายยื่นออกมาจากขอบหลังคา  อันนี้ต่อว่าคุณเทพแล้วเค้าบอกว่าหลังคาคอนโดเราเอียง ช่วยไม่ได้ จริง ๆ มันไม่ได้เอียงหรอก มันเป็นรูปแบบของหลังคาคอนโดเค้า ตอนติดทีแรก โดยคุณวิชิตจากลีโอนิกส์ วางแนวไม่ตรงแกนกลางตึกคอนโดเอง



แสดงฉลากติดแผงของแต่ละยี่ห้อมาให้ดูเรียงจากเก่าไปใหม่  แผงรุ่นแรกของเรายี่ห้อ Sharp เป็นแผง made in Thailand นี่เอง ขนาดแผงเค้าเล็กหน่อย (กว้าง 66.2 ซม. ยาว 149.9 ซม. = พื้นที่ 0.992 ตรม.)  แผงนึงเค้าเบ่งออกมาได้แค่ 120W เทียบกับแผงจีนรุ่นหลังที่ติดตั้งปี 2016 แผงขนาดประมาณ 1*2 ม. (พื้นที่ 2 ตรม.) แต่เบ่งออกมาได้ 295W (Schutten - 300W (Great solar) คือพูดง่าย ๆ แรงกว่าและราคาถูกลงเกินครึ่ง ก็ถือว่าราคาถูกลงเกิน 40%  ยิ่งในปัจจุบัน ยิ่งน่าจะถูกลงไปอีกและประสิทธิภาพก็น่าจะดีกว่าเดิมได้อีก




รูปซ้ายมือสุดเป็นระบบ Leonics ตัวใหญ่สุดที่อยู่ซ้ายบนเป็นตัว on grid  ตัวล่างอยู่ขวามือเป็นตัว off grid ติดตั้งซะตั้งแต่ตอนตกแต่งภายในยังไม่เสร็จ ในรูปแรกจะเห็นมีถุงคลุมอยู่ ตอนนั้นเค้ายังไม่ได้ทำ built-in เป็นตู้เลย ตอนหลังเค้าก็ถูกล้อมเข้าไปเห็นตู้ built in  รูปกลางจะเป็นช่วงอัพเกรดแล้ว มีการโละ Leonics ทิ้งไปทั้งหมดเปลี่ยนตัว on grid เป็น SMA sunnyBoy (เราเรียกน้องบอย) ตัวสีแดงสดใสนั่นแหละ น้องบอยไม่มีพัดลม ไม่เคยส่งเสียงดังเลย  ส่วนตัวออฟกริด กลายเป็นน้องจีน (Powerstar) ตัวยาว ๆ ในแนวนอน ที่มาแทนที่เดิมของตัวออฟกริดของ leonics (รูปกลาง) ส่วนแบตตอนนี้ก็เป็น Volta  น้องจีนเป็นระบบ 12V สายแบตมันเล็กเกินไปอย่างมาก ไม่รู้คุณเทพสเปคมาได้ไง  อย่างไรก็ตาม รูปขวาสุดคือรูปในปัจจุบัน น้องจีนหายไป กลายเป็นระบบ Schneider มาแทน ตู้เหล็กโผล่มาอีก 2 ตู้ ตู้นี้แน่นไปหมด คุณเทพที่มาติดให้บ่นว่าตู้อึดอัดมาก ในรูปที่ถ่ายด้านบนของตู้นี้มา มันไม่เห็นแบตซึ่งอยู่ด้านล่าง




อันนี้เป็นส่วนล่างของตู้ซึ่งปกติเอาไว้วางแบต  รูปแรกคือแบต Leoch VRLA ชุดสอง ใช้ต่อจากชุดแรกนับมาได้จาก 2010-2015  ในรูปจะเห็นถ้วยน้ำแล้วก็มีด  เข้าใจว่ามีการงัดแงะแบตเพื่อเติมน้ำ แสดงให้เห็นว่าตอนนั้นเราช่างไม่รู้อะไรซะเลย แบตแบบ VRLA มันไม่ต้องเติมน้ำ มันเติมไม่ได้ เค้าออกแบบมาไม่ให้เติมน้ำ ตอนใช้ระบบ leonics เค้าเป็นระบบ 48V ข้อดีก็คือสายไฟไม่ต้องอ้วนมาก เพราะมันดึงไฟจาก 48V DC to 230V AC   แต่ตอนเปลี่ยนเป็นน้องจีน Powerstar + แบต Volta น้องจีนเค้าเป็นระบบ 12V จริง ๆ แล้วสายไฟต้องเส้นใหญ่กว่านี้มาก ๆ มาก ๆ จะเห็นว่าแบต Volta (รูป B) นี่ใหญ่เทอะทะ (อ้างว่าแผ่นธาตุตะกั่วหนา ชิ...) มันวางอยู่ด้านล่างไม่หมด 4 ลูก เลยต้องปีนขึ้นมาวางบนชั้น  Volta ก็ห่วยกว่าของเดิมอีก ต้องมานั่งเติมน้ำกลั่นและอยู่ได้แค่ 2 ปี สมราคาเค้าล่ะ แล้วก็เปลี่ยนใหม่เป็น Trojan (รูป C) ขนาดเค้ากะทัดรัดกว่า ลูกนึงหนักเกือบ 50 kg มีระบบ Flow-rite watering system อย่างดี เติมน้ำได้สะดวกกว่ามานั่งหยอดทีละเซลล์ แต่กระนั้นก็ตาม 3 ปีกว่าๆ ก็เสื่อม น้ำกรดดำเหมือนกัน ต้องโละออก (รปภ.เอาไปขายซากได้เกือบ 4 พัน ดีใจเหมือนถูกหวย)  รูป D คือ Lithium Titanate battery (LTO) ที่ประกอบเอง เป็นอีกผลงานที่ภูมิใจ และจะต้องมาเขียนอีกบล็อกตะหาก  เอารูปให้ใคร ๆ ดู เค้าเห็นว่ามันเหมือนระเบิด จริง ๆ แล้วเค้าเป็นแบตเตอรี่ที่ปลอดภัยมากที่สุดชนิดหนึ่งทีเดียว  LTO นี่ดีมากเลย ไม่ต้องเติมน้ำ ไม่ปล่อยกรด H2 (เค้าปล่อยก๊าซ หอม ๆ หวาน ๆ เราเรียกก๊าซเมล่อน จะได้กลิ่นเวลาแบตมันเจ๊งแล้ว ถ้าแบตทำงานดีมันไม่ได้กลิ่น แต่บังเอิญเครื่องจับก๊าซของคุณหมูเค้าจะจับได้อ่อน ๆ เราก็เอาไว้ดูเล่น ๆ เป็นตัวพิสูจน์ว่าแบตยังไม่รั่วออกมา)


 


Create Date : 14 พฤษภาคม 2564
Last Update : 17 มิถุนายน 2564 7:13:30 น. 1 comments
Counter : 4951 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณ**mp5**, คุณnewyorknurse


 
แวะมาเยี่ยมและส่งกำลังใจครับ


โดย: **mp5** วันที่: 14 พฤษภาคม 2564 เวลา:13:33:17 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

gollygui
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]






space
space
[Add gollygui's blog to your web]
space
space
space
space
space