"Baania.com ง่ายครบ จบเว็บเดียว"

Baania
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Baania.com ง่ายครบ จบเว็บเดียว
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Baania's blog to your web]
Links
 

 
EIC แนะกลยุทธ์ธุรกิจโรงแรมฝ่ามรสุม COVID-19

 
  • สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยที่ท่องเที่ยวภายในประเทศหดตัวลงอย่างมาก จากการที่หลายประเทศได้ดำเนินมาตรการห้ามประชาชนเดินทางเข้า-ออกประเทศ ความกังวลของนักท่องเที่ยว
    ต่อการระบาดของโรค COVID-19 รวมถึงการที่สายการบินจำนวนมากหยุดทำการบินชั่วคราวโดยเฉพาะในเดือนมีนาคมต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 2 ก่อนที่จำนวนนักท่องเที่ยว
    จะเริ่มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในช่วงที่เหลือของปี 2020 หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั่วโลกเริ่มคลี่คลายแต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติตราบที่ยังไม่มีวัคซีน
  • จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยที่หดตัวลง ทำให้ EIC คาดว่าค่าห้องพักเฉลี่ย
    ต่อห้องพักที่ขายได้ (RevPAR) ของธุรกิจโรงแรมไทยจะลดลง 55-65% ในปี 2020
    ซึ่งจะทำให้โรงแรมเกือบทุกแห่งประสบกับภาวะขาดทุนจากการดำเนินงาน
  • 3 กลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับธุรกิจโรงแรมในภาวะที่จำนวนนักท่องเที่ยวหดตัวลงอย่างมาก ได้แก่ 1) การเพิ่มรายได้จากช่องทางอื่น 2) การลดค่าใช้จ่าย และ 3) การชะลอค่าใช้จ่ายออกไป นอกจากนี้ ภายหลังจากที่โรค COVID-19 หยุดแพร่ระบาด ผู้ประกอบการอาจเพิ่มช่องทางการหารายได้จากส่วนบริการอื่น ๆ ของโรงแรมเพื่อลดการพึ่งพารายได้
    ค่าห้องพักในกรณีที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหดตัวลงอีกในอนาคต
 

 
สถานการณ์ของโรค COVID-19 ที่แพร่ระบาดทั่วโลกทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยในปี 2020 หดตัวลงอย่างมาก
โดยตั้งแต่ที่โรค COVID-19 เริ่มแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์จนรัฐบาลจีนต้องดำเนินมาตรการไม่อนุญาตให้บริษัทนำเที่ยวสัญชาติจีนนำนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์จีนเดินทางออกนอกประเทศตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2020 เป็นต้นมา จำนวนผู้โดยสารต่างชาติ
ขาเข้าผ่านสนามบินหลัก 5 แห่งของไทย[1] ก็หดตัวลงในทันที โดยมีอัตราการหดตัวที่ระดับประมาณ 45-50%YOY ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนที่จำนวนผู้โดยสารต่างชาติฯ จะหดตัวลงรุนแรงขึ้นอีกครั้งหลังจากที่สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 เริ่มขยายวงกว้างขึ้นในประเทศหรือภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกนอกเหนือจากจีน อาทิ เกาหลีใต้ อิหร่าน
กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์
การแพร่ระบาดในจีนลดความรุนแรงลงมาก (รูปที่ 1) ในขณะที่สถานการณ์การระบาดในไทยเริ่มเร่งตัวขึ้นในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2020 เรื่อยมา ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับ
ผู้ติดเชื้อ กลุ่มผู้ติดเชื้อจากสถานบันเทิงและสนามมวย



ในกรณีฐาน (base case) EIC คาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปี 2020 จะหดตัวลง 67%YOY จาก 39.8 ล้านคนในปี 2019 เหลือเพียง 13.1 ล้านคน
จากการที่รัฐบาลของหลายประเทศดำเนินมาตรการห้ามประชาชนของตนเองเดินทางออกนอกประเทศ การยกเลิกเที่ยวบินจำนวนมากของสายการบินทั่วโลก และความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ตราบที่ยังไม่มีการผลิตยาต้านไวรัสหรือวัคซีนเพื่อทำการรักษาและป้องกันโรคอย่างเฉพาะเจาะจง นอกจากนี้ สภาวะศรษฐกิจที่โลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวต่างชาติ และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในท้ายที่สุด
โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจเลือกเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของตนเอง หรือในประเทศละแวกใกล้เคียงภายในภูมิภาคของตนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางลง



นอกจากนี้ EIC ยังคาดว่าจำนวนทริปค้างคืนภายในประเทศของนักท่องเที่ยวไทยจะหดตัวลง 35%YOY จากจำนวน 130
ล้านทริปในปี 2019 มาอยู่ที่ 85 ล้านทริปในปี 2020 จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ภายในประเทศซึ่งทำให้ประชาชนงดเว้นกิจกรรมการท่องเที่ยว สังสรรค์และสันทนาการ รวมถึงการหยุดชะงักของสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน เช่น การเลิกจ้าง การให้หยุดงานชั่วคราวโดยไม่จ่ายค่าจ้าง และการลดค่าจ้างลงชั่วคราว ซึ่งต่างก็ทำให้รายได้ของคนไทยลดลงและทำให้การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศลดลงในที่สุด (รูปที่ 3)



ทั้งนี้จำนวนทริปค้างคืนของนักท่องเที่ยวไทยที่หดตัวลงจะส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่หวังจะพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวไทยเพื่อประคับประคองธุรกิจในช่วงที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวลงอย่างรุนแรงดังเช่นในปัจจุบัน

จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หดตัวลง ทำให้ EIC คาดว่าค่าห้องพักเฉลี่ยต่อห้องพักที่ขายได้ (Revenue per Available Room, RevPAR) เฉลี่ยของธุรกิจโรงแรมไทยจะลดลง 55-65%YOY ในปี 2020
โดยคาดว่าอัตราการเข้าพัก (Occupancy rate) เฉลี่ยทั่วประเทศของปี 2020 จะลดลงราว 35-40% ในขณะที่ค่าห้องพักเฉลี่ย (Average room rate) จะลดลง 20-25% ซึ่งจะทำให้โรงแรมเกือบทุกแห่งประสบกับสภาวะขาดทุนจากการดำเนินงานและอาจมีโรงแรมบางแห่งจำเป็นต้องปิดกิจการ โดยเฉพาะโรงแรมขนาดกลาง-เล็กที่มีเงินทุนไม่มากนักและไม่สามารถทนต่อสภาวะขาดสภาพคล่องติดต่อกันได้ยาวนานหลายเดือน นอกจากนี้ โรงแรมบางแห่งอาจเลือกที่จะหยุดให้บริการชั่วคราวเพื่อลดค่าใช้จ่ายและผลขาดทุนจากการดำเนินงานให้น้อยที่สุดในสภาวะที่รายได้ค่าห้องพัก (room revenue) และรายได้จากบริการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ห้องพัก (non-room revenue) เช่น ภัตตาคาร ห้องประชุมสัมมนา ห้องจัดเลี้ยง สปา ฟิตเนสเซ็นเตอร์ ฯลฯ มีการหดตัวลงอย่างมากจนไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพิ่มเติมจากการเปิดให้บริการ
ในปัจจุบัน โรงแรมหลายแห่ง ได้รักษาสภาพคล่องและสภาพการดำเนินงานของธุรกิจระหว่างรอให้จำนวนนักท่องเที่ยวและผู้เข้าพักกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ผ่าน 3 แนวทางหลัก ดังนี้
  1. การสร้างรายได้และสภาพคล่องจากการบริการที่มีอยู่ในโรงแรม เช่น
    • การลดค่าห้องพักลงอย่างมากเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยในช่วงก่อนที่โรค COVID-19 จะระบาดในไทย
    • การให้บริการอาหารแบบสั่งกลับบ้านและบริการ food delivery
    • การให้บริการห้องพักและบริการอื่น ๆ ที่จำเป็นแก่ประชาชนทั่วไปที่ต้องการแยกอยู่อาศัยจากครอบครัวเพื่อกักกันโรคโดยคิดค่าห้องพักเป็นรายสัปดาห์
    • การให้บริการห้องพักแก่ผู้ป่วยโรค COVID-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงตามโครงการของกระทรวงสาธารณสุข
  2. การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น
    • การปิดพื้นที่ให้บริการบางส่วนหรือหยุดให้บริการชั่วคราวเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงานต่าง ๆ
  3. การชะลอค่าใช้จ่ายบางประเภทออกไป เช่น
    • การยกเลิกการจ้างบริษัทที่ปรึกษาภายนอก
    • การเจรจาขอยืดเวลาการผ่อนชำระสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์
นอกจากนี้ ธุรกิจโรงแรมที่มีการสำรองเงินทุนหรือสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อาจเร่งดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาโรงแรมในช่วงที่ผู้ใช้บริการมีจำนวนน้อย ซึ่งทำให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสในการปิดห้องพักหรือพื้นที่บางส่วนเพื่อปรับปรุงโรงแรมลดต่ำลงกว่าในสภาวะปกติ รวมถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในช่วงหลังจากที่การระบาดของโรค COVID-19 บรรเทาความรุนแรงลงและจำนวน
ผู้เข้าพักเริ่มฟื้นตัวขึ้น

นอกเหนือจากผลกระทบจากโรค COVID-19 แล้ว ธุรกิจโรงแรมของไทยจะยังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากปริมาณห้องพักใหม่ที่จะเร่งตัวในอนาคต
จากข้อมูลพื้นที่อนุญาตก่อสร้างอาคารประเภทโรงแรมและรีสอร์ต[2] ทั่วประเทศของสำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร พบว่าพื้นที่อนุญาตก่อสร้างอาคารประเภทโรงแรมและรีสอร์ตทั่วประเทศในปี 2019 เพิ่มขึ้น 12%YOY จากระดับประมาณ 2.1 ล้านตารางเมตรในปี 2018 มาอยู่ที่ 2.4 ล้านตารางเมตรในปี 2019 ซึ่งถือระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2011 และถือเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยพื้นที่อนุญาตก่อสร้างฯ ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาตใต้และภาคตะวันออก
ซึ่งสอดคล้องกับตำแหน่งที่ตั้งของเมืองท่องเที่ยวหลักของไทย (รูปที่ 4)
 

 
ทั้งนี้หากพิจารณาข้อมูลพื้นที่อนุญาตก่อสร้างฯ เป็นรายจังหวัดจะพบว่า จ.ภูเก็ตมีพื้นที่อนุญาตก่อสร้างฯ สูงที่สุดในปี 2019 และมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นผลจากการที่กฎหมายผังเมืองรวม จ.ภูเก็ต ฉบับใหม่ (อยู่ระหว่างกระบวนการร่าง) มีแนวโน้มที่จะนำหลักเกณฑ์อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (Floor area ratio, FAR) มาบังคับใช้เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดในการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารเนื่องจากกฎหมายผังเมืองรวม จ.ภูเก็ต ฉบับปัจจุบันมีการกำหนดเพียงความสูงของอาคารเท่านั้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงมีการเร่งยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคารประเภทโรงแรมและรีสอร์ตตามกฎหมายผังเมืองฉบับปัจจุบันไว้ก่อน แล้วรอติดตามแนวโน้มของกฎหมายผังเมืองรวม จ.ภูเก็ต ฉบับใหม่ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงปี 2021-2022 (พ.ศ. 2564-2565) โดยใบอนุญาตก่อสร้างอาคารจะมีอายุ 2 ปีนับจากวันที่ราชการออกให้ และสามารถต่ออายุได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี รวมมีอายุทั้งหมด 6 ปี
อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวและผู้เข้าพักทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่หดตัวลงอย่างมากจากสถานการณ์
การระบาดของโรค COVID-19 อาจทำให้โรงแรมที่วางแผนเปิดให้บริการในปี 2020-2021 มีเวลาปรับแผนการก่อสร้าง
การออกแบบตกแต่งภายใน หรือการเลื่อนกำหนดการเปิดให้บริการออกไปเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานและติดตามสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอีกครั้ง
 
เมืองท่องเที่ยว พื้นที่อนุญาตก่อสร้างอาคารประเภทโรงแรมและรีสอร์ต (ตร.ม.) อัตราการขยายตัวปี 2019 (%YOY)
2017 2018 2019
ภูเก็ต 274,765 484,679 728,653 50%
กรุงเทพฯ 478,202 586,219 247,677 -58%
ชลบุรี 315,383 192,708 220,483 14%
ประจวบคีรีขันธ์ 100,875 72,127 103,486 43%
กระบี่ 31,281 36,318 53,624 48%
เชียงใหม่ 158,695 102,505 50,935 -50%
สุราษฏร์ธานี - 17,211 18,058 5%
พังงา 6,032 16,354 14,905 -9%
จังหวัดอื่น ๆ 557,876 627,778 957,711 53%
รวม 1,923,109 2,135,899 2,395,532 12%

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ ปริมาณห้องพักหรือที่พักแรมประเภทอื่นที่นำเสนอทางเลือกใหม่ ๆ ในการพักแรม เช่น บ้านพักแบบ pool villa ที่สามารถรองรับผู้เข้าพักได้เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงห้องพักที่ให้เช่าผ่านแพลตฟอร์ม Vacation rentals เช่น Airbnb ก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องในเมืองท่องเที่ยวหลักเกือบทุกแห่งของไทยและเข้ามาแข่งขันกับธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตทั่วไปมากขึ้น (รูปที่ 5) ซึ่งห้องพักทั้งสองประเภทดังกล่าวกำลังได้รับความนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่และกลุ่มครอบครัว เนื่องจากห้องพักประเภทนี้มักมีราคาต่อหัวที่ต่ำกว่าหรือใกล้เคียงกับโรงแรมหรือรีสอร์ตทั่วไป และมีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างเข้าพักร่วมกันอย่างเป็นส่วนตัว ทั้งนี้โดยสัดส่วนจำนวนห้องพักประเภทนี้ต่อจำนวนห้องพักทั้งหมดในสูงถึง 20-25% ในบางเมืองของแหล่งท่องเที่ยว


 
ตารางสรุปประเด็นที่สำคัญรายจังหวัด/แหล่งท่องเที่ยว
เมืองท่องเที่ยว สรุปประเด็นที่สำคัญ
กรุงเทพฯ
  • จำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวชะลอลง ในขณะที่ปริมาณห้องพักใหม่เร่งขึ้น ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยเริ่มไม่ขยายตัวในปี 2019 หลังจากที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันมาเป็นระยะเวลาหลายปี
เชียงใหม่
  • ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายนของทุกปีจะกระทบกับธุรกิจโรงแรมของเชียงใหม่ในระยะยาว
  • กฎหมายผังเมืองรวม จ.เชียงใหม่ฉบับใหม่ (คาดว่าจะบังคับใช้ปี 2021-22) อาจเอื้อให้การพัฒนาธุรกิจโรงแรมทำได้สะดวกมากขึ้นกว่าในปัจจุบันที่ จ.เชียงใหม่มีกฎหมายผังเมืองซ้ำซ้อนกันหลายฉบับ
พัทยา
  • พัทยาจะได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่จะหดตัวลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ตกต่ำลงอย่างมาก ดังที่เคยเกิดขึ้นในปี 2015 แต่จะมีนักท่องเที่ยวอินเดีย
    เข้ามาชดเชย
  • มีการลงทุนโรงแรมขนาดใหญ่หลายแห่งเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มประชุม-สัมมนา (MICE) ที่คาดว่าจะมีจำนวนมากขึ้นจากโครงการ EEC
ภูเก็ต
  • แนวโน้มของกฎหมายผังเมืองรวม จ.ภูเก็ต ฉบับใหม่ที่จะเข้มงวดต่อการสร้างอาคารมากขึ้นทำให้ผู้ประกอบการเร่งยื่นขออนุญาตก่อสร้างโรงแรม รวมถึงเร่งการลงทุนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ภูเก็ตมีปริมาณห้องพักใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2020-2021
หัวหิน
  • ธุรกิจโรงแรมในหัวหินเผชิญกับการแข่งขันจากที่พักแรมรูปแบบอื่น ๆ ทั้งบ้านพักประเภท pool villa และห้องชุดที่ให้เช่าผ่านแพลตฟอร์ม vacation rentals ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก
  • การเพิ่มอัตราการเข้าพักในช่วงวันธรรมดาทำได้ลำบาก เนื่องจากกลุ่มผู้เข้าพักส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยซึ่งส่วนใหญ่นิยมท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
กระบี่
  • จากกฎหมายผังเมืองรวม จ.กระบี่ฉบับล่าสุดที่มีการบังคับใช้ในช่วงปลายปี 2016 ซึ่งมีการจำกัดความสูงอาคารในพื้นที่ส่วนใหญ่ ทำให้ จ.กระบี่มีปริมาณห้องพักใหม่น้อยในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติยังขยายตัวได้ ส่งผลดีต่อธุรกิจโรงแรมใน จ.กระบี่
พังงา
  • ผู้ประกอบการควรติดตามสภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปภายหลังจากโรค COVID-19
    ที่อาจเข้ามาซ้ำเติมสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของยุโรปจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ - จีน
เกาะสมุย
  • โรค COVID-19 ที่กำลังแพร่ระบาดได้เข้ามาซ้ำเติมสภาวะธุรกิจโรงแรมบนเกาะสมุยที่กำลังชะลอตัวจากประเด็นสงครามการค้าและการแข่งขันจากแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ในต่างประเทศ
  • ผู้ประกอบการควรติดตามสภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปภายหลังจากโรค COVID-19
    ที่อาจเข้ามาซ้ำเติมสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของยุโรปจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ - จีน
 
EIC มองว่าธุรกิจโรงแรมควรปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจหลังจากที่เหตุการณ์การระบาดของโรค COVID-19 บรรเทาลง
โดยเฉพาะในแง่การกระจายรายได้ เพื่อให้ธุรกิจมีการดำเนินงานที่ยืดหยุ่นและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต ทั้งนี้ผู้ประกอบการอาจพิจารณาถึงการเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวไทยเพื่อให้ธุรกิจมีความพร้อมเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่อาจกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งไม่อาจ
คาดเดาได้ล่วงหน้า โดยอาจดำเนินกิจกรรมการตลาดผ่านช่องทางดิจิทัล สื่อโซเชียลมีเดีย รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโรงแรมอาจมองถึงการกระจายรายได้โดยการสร้างรายได้จากส่วนบริการอื่น  ๆ
ภายในโรงแรม (non-room revenue) เช่น การให้บริการอาหารแบบ food delivery และ catering แก่องค์กรภายนอก รวมถึงการเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกสามารถสมัครสมาชิกสปาและฟิตเนสเซ็นเตอร์เพื่อสร้างรายได้ประจำมากขึ้น
สอดรับกับเทรนด์ wellness lifestyle ของคนรุ่นใหม่
ภายหลังจากที่การระบาดของโรค COVID-19 บรรเทาลงและการจองห้องพักเริ่มกลับมาอีกครั้ง ผู้ประกอบการควรทำความสะอาดพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในโรงแรม พร้อมทั้งสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายและผู้ที่จองห้องพักเกี่ยวกับการทำความสะอาดของโรงแรม รวมถึงกลไกและมาตรฐานการดูแลสุขลักษณะที่เหมาะสมในการให้บริการ เช่น การบริการห้องอาหาร กิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อให้ผู้เข้าพักมั่นใจว่าโรงแรมมีความสะอาดและเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับโรงแรม
บทวิเคราะห์จาก... https://www.scbeic.com/th/detail/product/6759
 
 
ผู้เขียนบทวิเคราะห์ : ปุลวัชร ปิติไกรศร (pullawat.pitigraisorn@scb.co.th)
นักวิเคราะห์
   Economic Intelligence Center (EIC)
   ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
EIC Online: https://www.scbeic.com  
Line: @scbeic

Disclaimer: The information contained in this report has been obtained from sources believed to be reliable. However, neither we nor any of our respective affiliates, employees or representatives make any representation or warranty, express or implied, as to the accuracy or completeness of any of the information contained in this report, and we and our respective affiliates, employees or representatives expressly disclaim any and all liability relating to or resulting from the use of this report or such information by the recipient or other persons in whatever manner. Any opinions presented herein represent our subjective views and our current estimates and judgments based on various assumptions that may be subject to change without notice, and may not prove to be correct. This report is for the recipient’s information only. It does not represent or constitute any advice, offer, recommendation, or solicitation by us and should not be relied upon as such. We, or any of our associates, may also have an interest in the companies mentioned herein.
 
[1] สนามบินหลัก 5 แห่งของไทยประกอบด้วยสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่และหาดใหญ่ ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารต่างชาติ
ขาเข้ารวมคิดเป็นสัดส่วน 85% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงปี 2015-2018
[2] อาคารประเภทโรงแรมและรีสอร์ตนั้นรวมถึงอาคารเพื่อประกอบกิจการ Service Apartment และอาคารชุดที่เปิดจำหน่ายห้องชุดให้กับผู้ซื้อแล้วนำกลับมาปล่อยในลักษณะเดียวกับอาคารประเภทโรงแรมและรีสอร์ต (Hotel branded residence)



Create Date : 27 เมษายน 2563
Last Update : 27 เมษายน 2563 10:55:36 น. 0 comments
Counter : 1059 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.