bloggang.com mainmenu search

 

เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'


เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมายุ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๘ ที่กำลังจะเวียนมาบรรจบ “เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย”

ผู้ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยองค์ความรู้ต่างๆ มากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นอักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ ศิลปิน นักดนตรี นอกจากนี้ยังทรงเป็นนักอ่าน นักจดบันทึก ที่น่ายกย่องอีกด้วย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก และด้วยพระจริยวัตรที่งดงาม เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ที่ทำให้มีคนสนิทใกล้ชิด ได้กล่าวถึงพระองค์ท่านไว้มากมาย Life on campus จึงได้รวบรวมเรื่องราวต่างๆ แห่งความประทับใจ รวมถึงพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพฯ เจ้าฟ้าหญิงของปวงชนชาวไทย เกี่ยวกับการศึกษามาให้ได้ชมกัน...



เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'


พระราชประวัติการศึกษา

"ข้าพเจ้าสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๖ เหตุผลใหญ่ที่สอบเข้าคณะนี้ ก็คงเหมือนกับคนอื่นๆ คือเป็นคณะที่คะแนนสูงสุด อีกประการหนึ่งในช่วงที่ข้าพเจ้าสอบ ข้าพเจ้าไม่ค่อยสบาย จึงเลือกคณะที่ไม่ต้องสอบหลายวิชา และไม่ต้องสอบวิชาพิเศษ ถ้าสบายดีคงเลือกคณะที่มีวิชาพิเศษเช่น โบราณคดี หรือครุ-พละ เอาไว้ด้วย แต่อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าคงต้องติดอักษรฯ เพราะคะแนนออกมาไม่เลวนัก”

-หนังสืออักษรศาสตรบัณฑิต ๕๐ ปี-

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ พระองค์ทรงเริ่มเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ซึ่งตั้งอยู่ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในแผนกศิลปะและทรงสอบไล่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายด้วยคะแนนสูงสุดของประเทศ

และได้ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสามารถทำคะแนนสอบเอนทรานซ์เป็นอันดับ ๔ ของประเทศ ซึ่งถือเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศ

จนกระทั่ง ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง ด้วยคะแนนเฉลี่ย ๓.๙๘



เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'


พระองค์ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านจารึกภาษาตะวันออก (ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร) ณ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๒

และปริญญาโทจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาภาษาบาลีและสันสกฤต จากภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ และได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๔

หลังจากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยพระองค์ผ่านการสอบคัดเลือกอย่างยอดเยี่ยมด้วยคะแนนเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาผู้เข้าสอบทั้งหมด และทรงเป็นนิสิตปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ รุ่นที่ ๔ พระองค์ทรงสอบผ่านวิทยานิพนธ์อย่างยอดเยี่ยม สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้ทรงสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๙



เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'


สำหรับผลการเรียนเป็นที่น่าพอใจดังที่เราทราบกัน ท่านทรงได้รางวัลเยอะเลย ชั้นปีที่ ๑ ทรงได้รางวัล "ภาษาฝรั่งเศส" ชั้นต่อมาก็ได้ทุนเรียนดีของมหาวิทยาลัยอันถือเป็นเกียรติยศ ชั้นสุดท้ายท่านได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุด คือ ๓.๙๘ ได้รางวัลเหรียญทองซึ่งให้แก่ผู้ที่ได้ที่ ๑ ของภาควิชา

ซึ่งท่านได้เป็นที่ ๑ ของภาควิชาประวัติศาสตร์ และได้เกียรตินิยมอันดับ ๑ ทำให้ทรงได้รับรางวัลอีกสองรางวัลตามมา ซึ่งเป็นรางวัลที่ให้แก่นิสิตอักษรศาสตร์ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์

รางวัลแรกคือ “รางวัลรันซิแมน” เป็นการเขียนเรียงความทางด้านประวัติศาสตร์ รางวัลที่ ๒ คือ “รางวัลสุภาชน์ จันทรโภชน์” อันนี้เป็นทุนของชาวอินเดียที่เคยมาเยี่ยมเยียนที่จุฬาฯ นานมาแล้ว และตั้งทุนให้แก่นิสิตหญิงที่ได้คะแนนเป็นที่ ๑ ของภาควิชาต่าง ๆ



เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'


“เจ้าฟ้าหญิงนิสิตใหม่จุฬาฯ”

“การเรียนปีที่ ๑ เป็นปีที่ข้าพเจ้าคิดว่าเรียนลำบาก แต่ก็ตื่นเต้น ท้าทาย และสนุกสนาน เพราะว่าจะต้องทำความรู้จักกับอาจารย์และเพื่อนใหม่ๆ มากมาย ทั้งเพื่อนในคณะและต่างคณะ ทั้งที่เป็นรุ่นพี่และรุ่นเดียวกัน บางทีก็จำไม่ได้

แต่ก่อนเคยอยู่โรงเรียนจิตรลดาซึ่งมีนักเรียนน้อยรู้จักกันหมดทุกคน นับว่าต้องปรับตัวมากอยู่ มานึกย้อนหลังแล้วรู้สึกว่าครูบาอาจารย์ เพื่อนฝูง เขาก็อดทนกับข้าพเจ้าพอใช้ ข้าพเจ้ามักพูดช้าตะกุกตะกัก เขาก็ยอมฟังดี นานๆ ก็ว่าเอาบ้างว่าพูดแบบนี้น่ารำคาญ ต่อมาข้าพเจ้าพูดดีขึ้นก็ชมเชย ครั้นพูดได้ดีแล้วก็ไม่ยอมหยุดพูด กลายเป็นคนพูดมาก...”

-หนังสืออักษรศาสตรบัณฑิต ๕๐ ปี-

 

เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'


พิธีรับน้องในหอประชุมที่ประทับใจที่สุด เห็นจะเป็นเมื่อครั้งที่สมเด็จพระเทพฯ ซึ่งตอนนั้นดำรงพระยศ เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธร เข้ามาเป็นนิสิตใหม่ของจุฬาฯ คณะอักษรศาสตร์ โดยทรงลงทะเบียน เป็นนิสิตตามระเบียบของมหาวิทยาลัยเลขทะเบียน ๑๖๑๓๘

พระองค์เข้าร่วมกิจกรรมในแบบของ “น้ำใจน้องพี่สีชมพู” ตลอดทางเดินตามถนน ทรงร้องเพลงบูมจุฬาฯ แสดงลิเก ลอดซุ้มจามจุรี ทานขนมที่รุ่นพี่ให้ และมาร่วมในพิธีรับน้องในหอประชุม ซึ่งมีพิธีบายศรีสู่ขวัญ รับน้องใหม่ที่อบอุ่นประทับใจมาก

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเหลือเกิน...วันรับน้องใหม่ชาวจุฬาฯ ขณะนั้นกระผมอยู่ปี ๔ วิศวะ จุฬาฯ เดินไปทางตึกอักษร จึงได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายการรับน้องใหม่แก่พระองค์ด้วย ท่านน่ารักมาก รุ่นพี่ชาวจุฬาฯ ให้ท่าน..บูมจุฬาฯ..ท่านไม่ถือพระองค์เลย บูมจุฬาฯ ได้ครบถ้วน แสดงว่าพระองค์เตรียมการมาดี ทั้งๆ ที่เพิ่งเสด็จเข้ามาสู่พิธีรับน้องใหม่

-เฟซบุ๊ก Chut Damrong-

“จำได้ว่าวันรับน้องต้องกินขนมโก๋ ชวนคลื่นไส้มาก เพราะหวานและฝืดคอ สมเด็จพระเทพฯ ท่านก็เสวยด้วย รุ่นพี่สั่งให้กินเข้าไปอีก กินเข้าไปอีก ถ้าเป็นเวลาอื่นอาจจะอร่อย แต่พอกินมากไปเลยไม่อร่อย เลยรู้สึกไม่ชอบขนมโก๋ไปเลย...”

-คุณพาสินี (สารสิน) ลิ่มอติบูลย์ พระสหายจากโรงเรียนจิตรลดา-

 

เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'

ห้องเรียนสำหรับนิสิตใหม่ คือห้อง ๒๘ บนชั้นสองของตึกอักษรศาสตร์ ๑ นิสิตทุกคนนั่งเรียงตามลำดับตัวอักษร ทูลกระหม่อมประทับนั่งกลางห้อง ร่วมกับ "ส.เสือ" อื่นๆ


“ที่คณะเรานอกจากจะมีสมาชิกที่เป็นคนแล้ว ยังมีหมาอีกหลายตัว เช่น คุณหมี เป็นหมาสีดำตัวใหญ่ เป็นของภารโรง คุณหมีนี้ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นใหญ่เป็นโตมากที่สุดในบรรดาหมาที่คณะ ได้ข่าวว่าเวลานอนก็ต้องนอนกางมุ้ง เวลามีเรียนค่ำๆ คุณหมีไม่ได้เข้ามุ้ง ก็จะถูกยุงกัดมากกว่าคนอื่นและตัวอื่น

มากาเร็ต เป็นหมาเจ้าถิ่น อยู่มานานแค่ไหนไม่มีใครทราบ สีอะไรบอกไม่ได้แน่ สันนิษฐานว่าเคยเป็นสีขาว ขนยาว ส่อว่าเป็นลูกครึ่ง ความที่เธอไม่ยอมอาบน้ำจึงมอมแมม แถมมีกลิ่นแรง

ข้าพเจ้าเคยท้าเพื่อนว่า ใครเอามากาเร็ตไปอาบน้ำได้จะมีรางวัล ปรากฎว่าคนที่พยายามเอารางวัลถูกงับไปตามๆ กัน ไม่มีใครได้รางวัล ที่ข้าพเจ้าต้องเป็นธุระในเรื่องหาคนอาบน้ำให้มากาเร็ต เพราะมากาเร็ต มีความสนใจวิชาที่ข้าพเจ้าเรียน

ถึงชั่วโมงภาษาบาลีและปรัชญากรีก เธอจะมานอนทับบนเท้าของข้าพเจ้า ถ้าขยับหนีก็จะฮื่อใส่ เมื่อหมดชั่วโมงก็จะลุกไปเอง ท่านอาจจะถามว่า ในเมื่อข้าพเจ้าอยากให้มากาเร็ตอาบน้ำ ทำไมไม่อาบให้เสียเอง ต้องสารภาพว่าเคยพยายามแล้ว แต่ไม่สำเร็จ แสดงว่าไม่มีเมตตามหานิยมอะไรเป็นพิเศษ”

“เพื่อนของข้าพเจ้านอกจากสุนัข ยังมีพญานาคที่เป็นคันทวยที่ตึก ๑ เวลาเรียนข้าพเจ้าต้องหาโอกาสมองออกมานอกประตูห้องยิ้มทักทายพญานาค บางทีรู้สึกว่าพญานาคยิ้มตอบด้วย”

-หนังสืออักษรศาสตรบัณฑิต ๕๐ ปี-


เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'


เจ้าฟ้าหญิงผู้ทรงเป็นตัวอย่างแห่ง 'ความเพียร'

“ระหว่างที่เรียนตั้งแต่ปีหนึ่ง ข้าพเจ้าต้องตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปต่างจังหวัด ไม่สามารถอยู่เรียนได้ครบถ้วน

ข้าพเจ้าต้องทำหนังสือราชการขอมหาวิทยาลัย ไม่ให้นับเวลาเรียน ซึ่งเขาก็ไม่นับ ถ้าเขานับข้าพเจ้าก็ต้องออกไปเรียนมหาวิทยาลัยเปิด

วิธีการเรียนของข้าพเจ้าคือ ส่งคนมาอัดเทปไปฟังเวลาอยู่ต่างจังหวัด ข้าพเจ้าส่งการบ้าน รายงาน และเข้าสอบเหมือนนิสิตอื่น ข้าพเจ้าเรียกอาจารย์ที่อยู่ในเทปทั้งหลายว่า เทปาจารย์ อันเป็นคำสมาสของคำว่าเทปกับอาจารย์”

“การเรียนด้วยเทปาจารย์นั้นไม่สนุกเหมือนเรียนกับอาจารย์จริงๆ ถามก็ไม่ได้ ไม่เห็นภาพ ไม่เห็นกระดาน สมัยนั้นวิดีโอยังไม่แพร่หลาย การคมนาคมก็ไม่สะดวกเหมือนในปัจจุบัน กว่าจะได้รับเทปก็หลายวัน

เคราะห์ดีมีพวกเพื่อนช่วยเก็บเอกสาร ช่วยจดให้ เวลากลับกรุงเทพฯ ก็ช่วยสอนช่วยติวให้ อะไรที่ข้าพเจ้าเก่งก็ช่วยทวนและเก็งข้อสอบให้เพื่อนๆ ข้าพเจ้าเคยเก็งข้อสอบอย่างถูกต้อง ทำให้อาจารย์ตกใจนึกว่าข้อสอบรั่ว ข้าพเจ้าเก็งข้อสอบได้แต่ก็ตอบไม่ได้ต้องถามอาจารย์ คิดว่าท่านคงลำบากใจพอใช้เวลาอธิบายให้ข้าพเจ้า”



เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'


"ในด้านการเรียน พระองค์ทรงเลือกวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอก เพราะทรงเห็นว่าวิชาประวัติศาสตร์น่าจะเป็นประโยชน์ในอนาคต และเพราะความสนพระทัยส่วนพระองค์ด้วย

สำหรับวิชาโททรงเลือกภาษาไทยกับบาลีสันสกฤต ขณะนั้นทางคณะให้เลือกได้สองวิชาโท ผมมีโอกาสได้ถวายการสอนพระองค์ท่านวิชาเดียวคือ วิชาภูมิศาสตร์การเกษตร เป็นวิชาเลือก คงสนพระทัยจากการได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบ่อยๆ

ตอนนั้นในฐานะที่เป็นอาจารย์ผู้สอน ยังรู้สึกว่าท่านทรงรู้มากกว่าเราเยอะ เพราะมีโอกาสเสด็จไปทุกแห่งซึ่งบางแห่งเราไม่มีโอกาสไป คงได้แต่ว่าไปตามเนื้อหาวิชา แต่จุดรายละเอียดในพื้นที่ท่านทรงรู้ดีกว่าเรา มีนิสิตลงเรียนเยอะเพราะเป็นทั้งวิชาเลือกและวิชาเอกโท เห็นจะ ๓๐ กว่าคน ความจริงต้องมีการเรียนนอกสถานที่ด้วย แต่พระองค์ไม่ได้เสด็จเพราะทรงมีพระราชภารกิจอย่างอื่น”

-ศ.ดร.ไพฑูรย์ พงศะบุตร คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ พ.ศ.๒๕๑๖-


เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'


“ทรงเป็นผู้เพียรกล้าในการแสวงหาวิชาความรู้ ทรงตักตวงอย่างไม่รู้จักอิ่ม ลำพังการเรียน เฉพาะชั่วโมงที่ลงทะเบียนไว้ก็กินเวลาสัปดาห์ละไม่น้อยอยู่แล้ว และยังจะมีงานที่จะต้องทำมาส่งอาจารย์อีก เพื่อนๆ บ่นกันว่าปีแรกนี้เรียนหนัก เรียนไม่ค่อยรู้เรื่องบ้าง เซ็งบ้าง ตามแต่จะบ่นกันไปกระปอดกระแปด

แต่ทูลกระหม่อมไม่ทรงบ่นเลย มีแต่จะคิดเรียนโน่นเรียนนี่เพิ่มเติมอยู่เสมออย่างไม่ทรงรู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย ทรงสนุกกับการเรียน เรียนวิชาปีหนึ่งแล้วพอว่างก็แอบไปเข้าห้องเรียนชั้นปริญญาโทขอฟังกับเขาด้วย เพราะทางมหาวิทยาลัยไม่ห้ามพวกปริญญาตรีจะเข้าฟังของพวกปริญญาโทก็ไม่มีกฎห้ามแต่อย่างใด”

“สามสิบปีที่สอนมาไม่เคยมีนักศึกษาปริญญาตรีเข้ามาแอบฟังการสอนชั้นปริญญาโทเลย เพิ่งมีคราวนี้แหละ”

-พระอาจารย์ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-

 

เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'


องค์หญิงที่ทรง 'อ่อนน้อมถ่อมตน' ที่สุดในโลก...

ในการวางพระองค์กับอาจารย์นั้น จะทำความเคารพครูบาอาจารย์ก่อนเสมอ อาจารย์ ดร. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา เขียนเล่าไว้ว่า ท่านเคยเดินขึ้นบันได ห้องโถงตึกอักษรศาสตร์ ๑ ขึ้นไปชั้นบน ท่านอาจารย์ศักดิ์ศรีมัวแต่ตามองดูขั้นบันไดทีละขั้น กลัวจะสะดุดหกล้ม ได้ยินเสียงนิสิตหญิงพูดดัง ๆ ว่า

"สวัสดีค่ะ .. อาจารย์" แล้วก็เดินสวนทางลงไป

ท่านอาจารย์ก็ตอบโต้โดยมิได้เงยหน้าขึ้นดู

"ฮื่อ ... สวัสดีจะ"

แต่พอเหลียวกลับไปดูว่าใครเป็นคนทักเมื่อตะกี้นี้ก็ใจหายวาบ เพราะผู้ที่เดินอมยิ้มลงบันไดไปนั้น ก็คือ ...สมเด็จเจ้าฟ้าสิรินธร อาจารย์ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา เล่าว่าโดนเข้าแบบนี้อีก ๒-๓ ครั้ง ตอนขึ้นบันไดเหมือนครั้งแรกไม่มีผิด

เลยทำให้ทูลกระหม่อมทรงสนิทสนมกับอาจารย์ผู้นี้มาก คราวหนึ่งเสด็จกลับจากอีสาน ทรงเข้าห้องช้ากว่าเพื่อนก็ต้องเข้าไปประทับนั่งแถวหน้าสุด ทรงค้นกระเป๋าใบใหม่อยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็หยิบห่อของยู่ยี่ห่อหนึ่งส่งให้อาจารย์ พร้อมกับตรัสว่า

"ของฝากจากอีสานค่ะ"

ของฝากนั้นคือ ขนมตุ้บตั้บ อันมีชื่อเสียงของอีสาน ซึ่งทรงซื้อมาจากอุดรฯ ทำเอาอาจารย์ศักดิ์ศรีตื้นตันใจเป็นล้นพ้น น้ำพระทัยนี้จะตรึงตราอยู่ในใจ อาจารย์ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ 

-อาจารย์ ดร. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา-

 

เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'


เพื่อนผมเคยเล่าให้ฟังว่า สักประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว ขณะที่เขากำลังเดินดูหนังสือในร้านหนังสือดวงกมล ที่สยามสแควร์ ก็มีนิสิตหญิงจุฬาฯ สองสามคนเดินเข้ามาในร้าน นิสิตคนหนึ่งใบหน้าสวยคม จัดว่าสวยน่ารัก แต่ใบหน้าดูคุ้นเหลือเกิน ...ทันใด!!! เขาก็เห็นคนเริ่มไหว้บ้าง ค้อมศีรษะบ้างให้แก่นิสิตคนนั้น แต่ก็มีเสียงเอ่ยขึ้นมาอย่างเกรงใจจากนิสิตคนนั้นว่า

“ไม่เป็นไรค่ะ ขอบคุณค่ะ วันนี้เป็นนิสิต มาหาซื้อหนังสือ เชิญทุกท่านตามสบายค่ะ”

ทุกคำที่เอ่ยจะมี คำว่า “ค่ะ” ตลอดแล้วก็หันไปยิ้มแบบเขินๆ กับเพื่อนที่มาด้วยกิริยาช่างงามน่ารักเหลือเกินเพื่อนผมย้ำ ทันใด นิสิตกลุ่มนั้นก็หันไปเห็นผู้อาวุโสท่านหนึ่ง กำลังเดินดูหนังสืออยู่ในร้านเหมือนกัน จึงเดินเข้าไปหา พร้อมยกมือไหว้ผู้อาวุโสท่านนั้น และนิสิตท่านก็เป็นผู้เอ่ยทักว่า

“สวัสดีค่ะอาจารย์ มาหาซื้อหนังสือเหรอคะ”

ทันใดนั้น ผู้อาวุโสท่านนั้นก็สะดุ้ง กำลังจะก้มและย่อตัวลงในท่าทำความเคารพ แต่ความที่อยู่ในวัยชรา จึงไม่ค่อยถนัด พร้อมกับเอ่ยขึ้นว่า

“อ้าว องค์หญิง กระหม่อมมาหาซื้อหนังสือ พะยะค่ะ”

ในตอนนั้น เพื่อนผมก็จำได้ขึ้นมาว่า นิสิตท่านนั้นก็คือ “สมเด็จพระเทพฯ” นั่นเอง ในตอนนั้นพระเทพฯ ก็ทรงเข้ามาประคองอาจารย์ท่านนั้น พร้อมกับรับสั่ง

“ไม่เป็นไรค่ะ อาจารย์ หนูกับเพื่อน มาหาซื้อหนังสือเหมือนกันค่ะ”

เพื่อนผม บอกว่า ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ผมรักและเทิดทูนเจ้าหญิงองค์น้อยเสมอมาด้วยความที่ท่านไม่ ทรงถือพระองค์ ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ 

-องค์หญิงของเมืองไทย-

 

เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'


“เวลาเสด็จไปใต้ก็มีขนมมาฝากอาจารย์ ฝากเพื่อน ฝากภารโรง ฝากทุกคนเลย คนทำความสะอาดท่านก็ทรงเอาเม็ดแตงโมมาฝาก เพราะท่านโปรดเอาขนมเข้าไปในห้องส่วนพระองค์ ที่คณะจัดถวายเป็นห้องทรงงานและห้องเสวย ท่านก็ว่าบางครั้งได้ทำเปลือกเม็ดแตงโมหรือเศษขนมตกไว้ในห้อง ทรงเกรงใจ พอไปใต้เลยทรงซื้อเม็ดแตงโมมาฝาก"

"สมัยเรียนหนังสือท่านทรงรู้จักนิสิตมาก ทั้งรุ่นเดียวกับท่าน รุ่นพี่ และต่างคณะ ท่านทรงเป็นสมาชิกชมรมดนตรีไทย ชมรมวรรณศิลป์ของคณะ ทำหนังสือ อักษรศาสตรพิจารณ์ ของชมรมวิชาการของคณะอักษรฯ ทำหนังสือ สะพาน ของชมรมนิสิตประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์

ความที่ท่านทรงเป็นสมาชิกชมรมของคณะอักษรศาสตร์และของจุฬาฯ จึงมีเพื่อนมาก ท่านทรงรู้จักนิสิตมากกว่าดิฉันเสียอีก ทรงเรียกเขาว่าพี่ด้วยชื่อเล่น ดิฉันเองยังทูลถามด้วยซ้ำไปว่า ที่รับสั่งเรียกพี่อะไรนั่นน่ะ ชื่อจริงๆ ว่าอะไร

เพราะดิฉันไม่เคยเรียกนิสิตด้วยชื่อเล่น แต่ท่านจะเหมือนนิสิตทั่วไปที่จะเรียกรุ่นพี่ด้วยชื่อเล่น เราก็ถามว่านั่นน่ะใคร ท่านก็จะรับสั่งว่าคนนั้นไง เราก็ถึงบางอ้อ ท่านทรงทำตัวเป็นนิสิตธรรมดา ทรงรู้จักรุ่นพี่ที่เป็นประธานเชียร์ เพราะท่านโปรดเข้าห้องเชียร์”

-ดร.บุษกร (ลายเลิศ) กาญจนจารี พระอาจารย์ที่ปรึกษา- 

 

เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'


"ส่วนที่ประทับใจไม่รู้ลืม คือ ทุกครั้งที่เสด็จฯไปเรียน พระกระเป๋าของพระองค์เปรียบเสมือนของมหัศจรรย์ เพราะมีทุกอย่างในนั้น ไม่ว่าจะกาว กรรไกร ยาดม แม้กระเป๋าจะหนัก แต่พระองค์ก็ทรงถือไปทุกวัน และเพื่อนก็ชอบ เพราะสะดวกเหลือเกิน ไม่มีอะไรก็ทูลขอกันประจำ ทรงโอบอ้อมอารีกับเพื่อนๆ รุ่นพี่ และรุ่นน้อง แม้กระทั่งสุนัขในมหาวิทยาลัยก็ทรงมีพระเมตตา ด้วยน้ำพระทัยนี้ทำให้เพื่อนๆ ทั้งหลายประทับใจ"

"พระอุปนิสัยของพระองค์เป็นสิ่งที่วิเศษมาก ทรงมีพระปรีชามากมายหลายด้าน แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ทรงถ่อมพระองค์ ไม่เคยทรงคิดว่าพระองค์เก่งเลย แต่จะทรงคิดว่า จะต้องค้นหาความรู้ หรือถามไถ่ผู้รู้ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา และอีกสิ่งหนึ่งคือความซื่อสัตย์สุจริต อะไรที่เป็นผลงานของพระองค์ ก็ทรงยอมรับ อะไรที่ไม่ใช่ ก็ทรงแจกแจงอย่างเปิดเผย ซึ่งนี่คือวิสัยที่ดีมากของผู้มีปัญญา"

-ผศ.ดร.สุกัญญา วิชชุกิจ-

 

เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'


'เจ้าฟ้านักการศึกษา' ของปวงชนชาวไทย

พระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระราชทานเนื่องในโอกาสวันไหว้ครู ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๒๖ ว่า

"วิชาการต่างๆ ในสังคมทุกวันนี้ มิได้อยู่นิ่งกับที่ แต่เปลี่ยนแปลงก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลาคนที่เรียนจบสูงๆ ถ้าอยากจะอยู่อย่างก้าวหน้า ควรทำการค้นคว้าศึกษาเล่าเรียนต่อไป แม้จะมิใช่ การศึกษาเล่าเรียนในระบบ

เช่น อาจเข้ารับการอบรมสัมมนา ฟังการอภิปราย หรือชมนิทรรศการว่ามีอะไรใหม่ๆ การฟังข่าวสารจากวิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสารต่างๆ ก็จำเป็น ทำให้เรารู้ว่าวิทยาการ ก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว สิ่งแวดล้อมรอบตัว เรามันไม่อยู่กับที่ เช่น เทคโนโลยีสมัยใหม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา"



เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'


“ในด้านวิชาการนั้น บอกได้ว่าความรู้ทุกอย่างมีประโยชน์และได้ใช้ในการทำงาน ทั้งงานในประเทศและต่างประเทศ บางทีก็นึกเสียใจว่าเวลาเรียนควรตั้งใจมากกว่านี้จะได้ความรู้อีกมาก แม้แต่งานพัฒนา งานเกษตร ก็ใช้พื้นความรู้จากที่เรียนมา

งานสอนหนังสือก็เอาความรู้ไปสอนต่อ เวลาเขียนหนังสือก็ต้องใช้ความรู้หลายสาขาที่เรียนมาเข้าช่วย คนเขามักจะหวังว่าคนจบอักษรฯ จะต้องเขียนหนังสือได้ดี แต่งคำประพันธ์ได้ทุกอย่าง จึงถูกใช้อยู่เรื่อย และต้องทำให้ได้

นอกจากวิชาที่เป็นทฤษฎีแล้ว ครูอาจารย์หลายท่านได้กรุณาอบรมสั่งสอน ชี้แนะข้อคิดที่ดี เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตเป็นอย่างยิ่ง”

-หนังสืออักษรศาสตรบัณฑิต ๕๐ ปี-

 

เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'


พระองค์ทรงเคยเล่าให้พระอาจารย์และนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งฟังถึงสาเหตุที่เลือกเรียนภาษาจีน ว่า “ตอนแรกไม่ได้คิดอยากจะเรียน เพราะคิดว่าภาษาจีนเป็นภาษาที่ยากมาก แต่มาคิดว่าตัวเองเป็นคนเอเชีย ในเอเชียมีประเทศใหญ่อยู่ 2 ประเทศ คือ อินเดียกับจีน การเรียนภาษาอินเดียกับภาษาจีนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก”

-“สมเด็จพระเทพฯ” : ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน-

“สำหรับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย พระองค์ทรงรับสั่งว่าไม่ใช่เพียงเรียนรู้ลึก แต่ต้องรู้กว้าง เพื่อเชื่อมโยงวิชาการต่างๆ ได้ และที่สำคัญต้องมีจริยธรรม วิชาการ และวิชาชีพ

อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงพัฒนาบัณฑิตศึกษาในทุกด้าน โดยทรงส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษได้เรียนบัณฑิตศึกษา เพื่อเป็นนักวิชาการ นักวิจัย นักพัฒนา ทรงพัฒนานักวิจัยและการวิจัยระดับแนวหน้า ทรงบุกเบิกสาขาวิชาใหม่ๆ และสหวิทยาการ ทรงสร้างเครือข่ายนักวิจัยที่มีทั้งรุ่นอาวุโสและรุ่นใหม่ ทั้งภายในและต่างประเทศ และทรงส่งเสริมกิจกรรมทางวิชาการ ทรงติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการอยู่เสมอ”

-คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุตร-

 

เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'



เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'

เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'

เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'

เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'

เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'


เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'


เรื่องเล่าครั้งยังเยาว์ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 'เจ้าฟ้านักการศึกษาของปวงชนชาวไทย'


ที่มาและภาพประกอบ :
-พระอารมณ์ขันของสมเด็จพระเทพรัตนฯ ภาค 1
-เฟซบุ๊กเพจ เรารัก "สมเด็จพระเทพฯ" : Our BeLoved Princess Maha Chakri Sirindhorn,
-สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับ ๓๐ ปีจุฬาฯ เทวาลัย
-เมื่อพระเทพทรงเล่าเรื่องราวสมัยท่านเรียนอยู่ อักษร จุฬาฯ (กระทู้พันทิป 31002007)
-//www.sirindhorn.net/

ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคล
ขอจงทรงพระเกษมสำราญ
พระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง
ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
พระชนมานสืบยืนสี่หมื่นกว่าวัน
พระพุทธเจ้าข้า


ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์

สวัสดิ์สิริชีววารค่ะ

 

Create Date :02 เมษายน 2558 Last Update :2 เมษายน 2558 7:22:16 น. Counter : 4460 Pageviews. Comments :0