bloggang.com mainmenu search
จากการที่ลงเรียนวิชาการฝึกปฎิบัติเสริมทักษะการผลิต พืช วิชานี้มีงานให้นักศึกษาได้ทำรายงานการทดลองครับ โดยให้ทดลองเปรียบเทียบปัจจัยอะไรก็ได้ในการปลูกพืช


ผมเลือกการใช้ ไคโตซาน


ทำไมถึงเลือกตัวนี้
เพราะผมใช้สารตัวนี้ผสมกับปุ๋ยให้ กล้วยไม้มาเป็นเวลานานแล้ว เห็นว่าผลที่ได้นั้นมันดูดี แต่เนื่องจากไม่เคยรู้เลยว่าผลนั้นดีจริงๆหรือไม่ เป็นอุปทานหรือเปล่า เนื่องจากไม่สามารถหาอะไรมาวัดหรือเปรียบเทียบได้
จึงได้ใช้โอกาสนี้ ทดลองหาผลเปรียบเทียบซะเลย


Chitosan ไคโตซาน คือ สารโพลิเมอร์ชีวภาพที่สกัดจากไคติน ซึ่งเป็นโครงสร้างของเปลือกกุ้ง กระดองปู แกนปลาหมึก และผนังเซลของเห็ด ราบางชนิด ไคติน-ไคโตซาน จัดเป็นโคโพลิเมอร์ที่อยู่ร่วมกันในธรรมชาติ มีปริมาณของไคตินมากเป็นอันดับสองรองจากเซลลูโลส ไคติน-ไคโตซาน มีสมบัติพื้นฐานที่เข้ากับธรรมชาติได้ดี ย่อยสลายง่าย ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งไคติน-ไคโตซาน มีหมู่อะมิโนที่แสดงสมบัติพิเศษหลายประการที่ต่างจากเซลลูโลส เช่น การละลายได้ในกรดอินทรีย์เจือจาง การจับกับอิออนของโลหะได้ดี และการมีฤทธิ์ทางชีวภาพ ปัจจุบันมีการนำสารไคติน-ไคโตซาน มาประยุกต์ใช้จริงทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ทางการแพทย์และเภสัชกรรม
ในภาคการเกษตรเริ่มมีการใช้ไคโตซานกันมากขึ้น จึงอยากมีการทดสอบว่า เมื่อนำไคโตซานมาใช้ร่วมกับปุ๋ย ในการปลูกผักจะทำให้ผลผลิตที่ได้ดีขึ้นหรือไม่

วัตถุประสงค์

1 เพื่อทดสอบเปรียบเทียบระหว่างการใช้ไคโตซานผสมกับปุ๋ย กับ การใช้ปุ๋ยเพียงอย่างเดียว
2 เพื่อหาตัวช่วยในการผลิตพืชผักให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น
3 เพื่อหาทางลดการใช้ปุ๋ยเคมี

อุปกรณ์

1 กระถางขนาด 6 นิ้ว 2 ใบ
2 เครื่องปลูกประกอบด้วย กาบมะพร้าวสับ ขุยมะพร้าว ปุ๋ยคอก
3 เมล็ดพันธุ์ผักกวางตุ้ง
4 ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0
5 สารสกัดไคโตซาน
6 กระป๋องฉีดปุ๋ยเคมี

วิธีการ

1 ผสมเครื่องปลูกใส่ในกระถางขนาด 6 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่ม
2 หยอดเมล็ดพันธุ์ผักกวางตุ้ง กระถางละ 3 เมล็ด
3 แยกเป็นกระถาง A และ B
4 วางกระถางทั้ง 2 ใบ บริเวณที่ได้รับแสงแดด
5 ให้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ในอัตราส่วน 1/2 ช้อนชาต่อน้ำ 1 ลิตร ในกระถาง A
6 ให้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ในอัตราส่วน 1/2 ช้อนชาต่อน้ำ 1 ลิตร ผสมกับไคโตซาน ในอัตราส่วน 1 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร ในกระถาง B
7 ให้ปุ๋ยโดยการฉีดพ่นให้ทางใบ
8 จดบันทึกการปลูกและการให้ปุ๋ย

ผลการทดลอง

ผลจากการให้ปุ๋ยผสมไคโตซานเปรียบเทียบกับต้นที่ให้ปุ๋ยอย่างเดียว พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แยกได้ดังนี้
1 สีของใบ ต้นที่ให้ไคโตซาน ใบจะเขียวเข้มกว่าต้นที่ให้แต่ปุ๋ยเพียงอย่างเดียว
2 ความหนาของใบ ต้นที่ให้ไคโตซาน จากการสัมผัสพบว่าใบจะมีความหน้ามากกว่า
3 ขนาดลำต้น ของต้นที่ให้ไคโตซาน จะหนาอวบกว่าต้นที่ให้ปุ๋ยอย่างเดียว
4 ขนาดของใบ วัดความแตกต่างได้ดังนี้

4.1 โคนก้านใบ – ปลายใบ
ต้น A = 8 เซ็นติเมตร
ต้น B = 9 เซ็นติเมตร

4.2 โคนใบ – ปลายใบ
ต้น A = 4 เซ็นติเมตร
ต้น B = 5.5 เซ็นติเมตร

4.3 ความกว้างใบ
ต้น A = 2.7 เซ็นติเมตร
ต้น B = 4 เซ็นติเมตร


Create Date :04 เมษายน 2553 Last Update :29 สิงหาคม 2553 16:23:44 น. Counter : Pageviews. Comments :4