bloggang.com mainmenu search
  คนมีทรัพย์ย่อมได้รับความสุข ปรารถนาในปัจจัย 4 ย่อมได้ การมีทรัพย์คือความมั่งคั่ง ความสมบูรณ์พูนสุขด้วยปัจจัย 4 แต่ต้องรู้จักการใช้สอยทรัพย์สมบัตินั้น กล่าวคือการใช้จ่ายในทรัพย์สินเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์

ถ้ามีทรัพย์ แต่ไม่รู้วิธีในการที่จะใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ ก็หาความสุขไม่ได้ มีแต่ความเดือดร้อน กังวลใจในการรักษาทรัพย์สมบัติที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น อีกทั้งไม่รู้วิธีการบริหารทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ในทางที่ชอบ ทรัพย์สมบัตินอกจากไม่เพิ่มพูนขึ้นแล้ว ยังจะไม่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ อีกด้วย

มีปัญหาว่าจะทำอย่างไร จึงจะมีทรัพย์เพื่อให้เกิดความสุข การที่จะทำให้มีทรัพย์และให้เกิดความสุขนั้น ก็ต้องทำในสิ่งที่ถูกที่ควร และทำในสิ่งที่ชอบ พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงวิธีที่จะให้เกิดทรัพย์อันจะให้เกิดความสุขไว้ เรียกว่า ประโยชน์ในปัจจุบัน 4 ประการ คือ

ประการที่ 1 ขยันทำงาน คนที่ขยันทำงานเท่านั้นจึงจะหาเงินได้ จึงกล่าวไว้ว่า ความยากจนจะไม่มีในหมู่คนขยัน คนที่เกียจคร้านเท่านั้นจะไม่มีทางหาเงินได้ ลักษณะของคนขยันนั้น ท่านแสดงไว้ 3 ประเภท คือ

1.รีบทำธุรการงานที่ต้องทำโดยไม่ปล่อยให้ค้าง คือ ไม่ทิ้งงาน

2.รีบทำงานที่มาถึงมือโดยไม่ปล่อยให้ชักช้า คือ รีบทำทันที

3.ทำงานตามเวลา ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง

ประการที่ 2 รักษาทรัพย์ เมื่อหาทรัพย์มาได้แล้ว ก็ต้องรักษาทรัพย์นั้นไว้ให้ดี ไม่ให้มีอันตราย

อันตรายที่จะให้ทรัพย์ต้องสูญเสียไปนั้น ที่สำคัญที่สุดคือ อบายมุข ทางเสื่อมเสีย พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า อบายมุขนี้เป็นอันตรายแก่ทรัพย์ ถ้าผู้ใดประพฤติอบายมุขแล้ว ทรัพย์ที่หามาได้นั้นจะไม่มีเหลืออยู่เลย

ประการที่ 3 คบคนดี คนที่ดีถ้าเราได้มาเป็นเพื่อน เราก็จะกลายเป็นคนดีไปด้วย ถ้าเราไปคบคนไม่ดี ก็จะกลายเป็นคนที่ไม่ดีไปด้วย

คนที่เสียคน ก็เพราะไปคบคนไม่ดี การคบกันนั้นเป็นเชื้อโรคชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถติดต่อกันง่าย ดังพุทธภาษิตว่า คบคนเช่นไร ย่อมเป็นคนเช่นนั้น คนที่ดี ก็คือคนที่ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ เราคบคนที่มีความประพฤติชอบ ด้วยกาย วาจา ใจ นี่แหละชื่อว่าคบคนดี

ประการที่ 4 ประหยัด การเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ เมื่อหามาได้แล้ว ก็ต้องกิน ต้องใช้ แต่ว่าท่านให้กินให้ใช้อย่างประหยัด

ความเป็นอยู่ของแต่ละครอบครัวนั้นไม่เหมือนกัน บางครอบครัวก็ต้องใช้จ่ายมาก บางครอบครัวก็ใช้จ่ายน้อย อันนี้ขึ้นอยู่กับฐานะของแต่ละครอบครัว

อย่างไรเรียกว่า ประหยัด อย่างไรเรียกว่า ฟุ่มเฟือย โบราณท่านกล่าวว่า ถ้ามีเกินใช้ ได้เกินเสีย เป็นเศรษฐี ถ้าเสียเกินได้ ใช้เกินมี เป็นยาจก หมายความว่า เรามีรายได้มาก แต่เรามีการใช้จ่ายน้อย ทรัพย์ที่หามาได้ก็เหลือ ถ้าเรามีรายได้น้อย แต่มีการใช้จ่ายมาก ทรัพย์ที่หามาได้ก็ไม่พอ ต้องกู้หนี้ยืมเขามาใช้จ่าย ก็กลายเป็นหนี้

เมื่อได้ทราบประโยชน์ในปัจจุบัน นับว่าไม่ขัดสนอับจนในชีวิต ย่อมทำชีวิตเป็นชีวิตที่ดี เป็นชีวิตที่ประเสริฐ เป็นชีวิตที่ไม่สูญเปล่า เป็นชีวิตที่มีความสุขอย่างสมบูรณ์แน่นอน

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
บทความโดย พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
Create Date :24 ตุลาคม 2556 Last Update :24 ตุลาคม 2556 14:02:44 น. Counter : 1932 Pageviews. Comments :1