bloggang.com mainmenu search
++ลับแล แก่งคอย++
ผู้เขียน อุทิศ เหมะมูล

"ลับแล แก่งคอย" เป็นนวนิยายไทยเล่มแรกที่ถูกเลือกหยิบขึ้นมาอ่านหลังจากห่างหายจากการอ่านวรรณกรรมนวนิยายไทยเป็นเวลามากกว่าสิบปี!!! นวนิยายไทยเล่มสุดท้ายที่ได้อ่านเป็นวรรณกรรมของ ว.วินิจฉัยกุล หลังจากนั้นตลอดเวลามากกว่าสิบปีก็วนเวียนอยู่กับวรรณกรรมต่างชาติ และวรรณกรรมแปล ถ้าจะมีการอ่านหนังสือของนักเขียนไทยสักคน ก็จะเป็นแนวรวมบทความหรือสารคดี ไม่ใช่นวนิยาย ส่วนเหตุผลที่ทำให้เกิดความรู้สึกอยากอ่านนวนิยายไทยขึ้นมาอีกครั้งนึง ก็เพียงเพราะต้องการขยายขอบเขตการอ่านให้กว้างขึ้นเท่านั้นเอง และ "ลับแล แก่งคอย" ก็เป็นนวนิยายที่ถูกเลือกด้วยว่าเป็นวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลซีไรต์และเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2552 ต้องขอขอบคุณทั้งสองรางวัลมา ณ ที่นี่ด้วยที่นำพาวรรณกรรมเรื่องนี้ให้ตกมาถึงมือเรา



"ลับแล แก่งคอย" เป็นวรรณกรรมไทยแท้ๆ ที่มีกลิ่นอายของความเป็นไทยอยู่อย่างครบถ้วน ทั้งวิถีชีวิตของผู้คน ชนบท บ้านเรือน สัมมาอาชีพ ความเชื่อ วัฒนธรรม และภาษาถิ่น หากคนต่างชาติได้มาอ่านก็คงจะตื่นตาตื่นใจไปกับวิถีชีวิตของคนไทยที่ยากจะหยั่งถึง แต่หากคนไทยได้มาอ่านแล้วนั้น ก็คงจะซาบซึ้งเข้าอกเข้าใจไปกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตัวละครที่โลดแล่นอยู่ในนวนิยายเรื่องนี้ ในบางครั้งก็ชวนให้หวนระลึกถึงวิถีชีวิตและความเชื่อต่างๆที่ฝังรากอยู่ในสังคมไทย ซึ่งอาจจะเลือนรางไปบ้างท่ามกลางสังคมเมืองที่แปรเปลี่ยนรวดเร็วด้วยความเจริญทางวัตถุเช่นปัจจุบัน น่าแปลกซึ่งความคิดเช่นนี้สามารถเชื่อมโยงกับคำนำผู้เขียนได้ แม้จะสื่อกันคนละประเด็นก็ตาม

"...โลกกว้างขึ้น สิ่งเร้าหลากหลายแสดงตัวให้เราจับจ้องสนใจจนลานตา เรามีโอกาสมากพอที่จะรู้จักทุกสิ่ง แต่ไม่มีเวลาที่จะรู้ใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงพอ"

นี่คือคำพูดซึ่งผู้เขียนฝากไว้ในหน้าคำนำ โดยกล่าวถึงวัฒนธรรมการมองนั้นดูจะมีอิทธิพลมากกว่าวัฒนธรรมการอ่านในยุคปัจจุบัน การอ่าน "ลับแล แก่งคอย" สำหรับเรานั้นเป็นเสมือนการเรียกคืนวิถีชีิวิต ความเชื่่อและศรัทธาแบบไทยๆที่เคยฝังรากหยั่งลึก จนเราเกือบจะลืมไปแล้วว่าเคยมีสิ่งเหล่านี้อยู่ท่ามกลางการใช้ชีวิตในสังคมเมืองที่ยึดมั่นถือมั่นกับความเป็นเหตุเป็นผลทางวิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริง 

"ลับแล แก่งคอย" กล่าวถึงครอบครัวหนึ่ง โดยบอกเล่าเรื่องราวย้อนกลับไปตั้งแต่รุ่นปู่ย่า เรื่อยมาถึงรุ่นพ่อแม่ พี่ชาย ผ่านการบอกเล่าของเด็กชายลับแล ลับแลเกิดมาในครอบครัวต่างจังหวัด พ่อแม่ปู่ย่าก็เป็นคนต่างจังหวัด และนี่จึงเป็นที่มาของฉากหลังวิถีชีวิตผู้คนในชนบทที่คนเมืองหลวงอาจมองเห็นเป็นเรื่องห่างไกลและหลงลืม

"ลับแล แก่งคอย" ไม่ใช่นวนิยายธรรมดาที่เล่าเรื่องไปเรื่อยๆอย่างสนุกสนานจนจบ ความสนุกสนานในการดำเนินเรื่องทั้งหมดนั้นมีอยู่อย่างล้นเหลือในนวนิยายเรื่องนี้ซึ่งทำให้นวนิยายเล่มหนาสามารถอ่านจบได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่แท้ที่สุดแล้ว ความสนุกสนานในการดำเนินเรื่องจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งนั่น เป็นเพียงสิ่งหลอกล่อให้ผู้อ่านอย่างเราตายใจหลงคิดว่านั่นคือทั้งหมดของนวนิยายเล่มนี้ แต่แท้จริงแล้ว "ลับแล แก่งคอย" มีอะไรมากกว่านั้น รวมทั้งข้อคิดที่แฝงไว้ในวรรณกรรมเรื่องนี้

การที่เราหวนระลึกและยิ้มรับกับความเชื่อและศรัทธาในสิ่งที่ยากจะอธิบายของคนไทยคงจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้เขียนตั้งใจเอาไว้ แต่เราว่าความเชื่อและศรัทธาของชาวบ้านในแบบไทยๆ บางครั้งมันก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งแม้มันจะไม่ได้ถูกต้องตามหลักเหตุและผลก็ตาม 

ส่วนความจริงก็คือความจริง และความเชื่อก็คือความเชื่อ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกตีความในด้านไหน เราจะเลือกตีความสิ่งๆหนึ่งตามความจริงที่เป็นอยู่ หรือเราจะตีความไปตามความเชื่อของเราเองด้วยเหตุที่มันฝังรากลึกอยู่ในวิถีชีวิตของเรา หรือเพราะเราไม่อยากยอมรับความเป็นจริง และในบางครั้ง คนเราก็จำเป็นต้องเลือกทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับความคิดของตัวเองเพื่อไหลไปตามครรลองความเชื่อของคนหมู่มาก เมื่ออ่าน "ลับแล แก่งคอย" จบแล้วรู้สึกนึกถึงภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่งซื่งเราชอบมาก "15 ค่ำเดือน 11"  โดยเฉพาะประโยคเด็ด "เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ" จะว่าไปแล้วทั้งสองเรื่องมีกลิ่นอายในความเป็นไทยแท้ และมีประเด็นเรื่องความเชื่ออยู่ด้วยเหมือนๆกัน

"...ทุกหนึ่งคำถามล้วนมีความตายอยู่ในหนึ่งคำตอบ ความตายของความจริงกับความลวง เราเลือกให้บางอย่างตาย และเลือกให้บางอย่างดำรงอยู่ต่อไป" จากส่วนหนึ่งของลับแล แก่งคอย
Create Date :28 พฤษภาคม 2555 Last Update :28 พฤษภาคม 2555 1:03:24 น. Counter : Pageviews. Comments :25