bloggang.com mainmenu search

ที่ไหนที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใบหญ้าก็จะมีสีเขียวฉะอุ่มสบายตา เคยฉุกคิดไหมครับว่าแล้วทำไมเกือบทั้งหมดถึงเลือกจะเป็นสีเขียว?

หลายๆคนที่ยังจำได้ก็จะอาจจะหัวเราะว่า โธ่! ก็ใบไม้มีคลอโรฟีลไง... คลอโรฟีลมันสีเขียวใบไม้ก็เลยมีสีเขียว... นั่นสิแล้วมันไม่มีเหตุผลเลยเหรอว่าทำไมต้องเป็นสีเขียว?

ย้อนกลับไปก่อนว่าไอ้เจ้าสารสีเขียวที่ชื่อคลอโรฟีลนี่ ใบไม้ทั้งหลายมีไว้เพื่ออะไร? คลอโรฟีลในใบไม้มีไว้เพื่อสร้างอาหารโดยการสังเคราะห์แสงครับ การสังเคราะห์แสงถ้ารวบรัดอธิบายง่ายๆก็คือการดูดซับพลังงานจากแสงอาทิตย์เพื่อสร้างอาหาร

เวลาเราเห็นสิ่งต่างๆมีสีสันอย่างที่มันเป็นก็เพราะมันดูดซับแสงสีในบางช่วงคลื่นและสะท้อนบางช่วงคลื่นออกมา เช่นลูกบอลสีแดงก็ดูดซับแสงสีอื่นๆไว้แล้วสะท้องแสงสีแดงออกมา วัตถุสีขาวสะท้อนแสงทั้งหมดไม่ดูดซับอะไรไว้เลย วัตถุสีดำดูดซับแสงทุกสีไว้ ไม่มีอะไรสะท้อนกลับอออกมา ในกรณีของใบไม้ เลือกที่จะดูดซับพลังงานจากแสงสีอื่นๆไว้ เช่นสีม่วง สีน้ำเงิน(ซึ่งมีพลังงานสูง แต่ทะลุผ่านบรรยากาศมาได้น้อย) สีแดง(ซึ่งพลังงานต่ำ แต่ทะลุผ่านบรรยากาศเข้ามาได้เยอะ) และสะท้อนแสงสีเขียวทิ้งไป ดังนั้นเราจึงเห็นใบไม้เป็นสีเขียว... คำถามคือ ถ้าแบบนั้นทำไมใบไม้เลือกจะสะท้อนแสงสีเขียวทิ้งไปล่ะ? ทำไมใบไม้ไม่เลือกจะมีสีดำ จะได้ใช้พลังงานจากแสงได้ครบทั้งหมด?

คำถามนี้ยังไม่มีใครทราบคำตอบที่แท้จริงครับ แต่มีหลายๆทฤษฎีเช่น ถ้าใบไม้มีสีดำ มันจะดูดซับเอาพลังงานจากแสงอาทิตย์ไว้มากจนมันร้อนจัด และมีปัญหาตามมามากมาย แต่ก็มีข้อแย้งว่า ในเขตร้อน ต้นไม้หลายๆชนิดก็มีวิธีรับมือกับความร้อนได้ดี เรื่องใบไม้สีดำสร้างปัญหาความร้อน น่าจะไม่ใช่สาเหตุที่ใบไม้เลือกจะไม่มีสีดำ

มีนักชีววิทยาบางท่านให้ความเห็นว่า สาเหตุที่ใบไม้มีสีเขียว และไม่มีสีดำก็เพราะ การนำสารอื่นที่ทำหน้าที่ได้ดีกว่าคลอโรฟีลมาใช้อาจจะเป็นเรื่องยาก ใบไม้ไม่สามารถร่วมมือกับสารอื่นได้ง่ายแบบคลอโรฟีล อีกทั้งการวิวัฒนาการนั้นต่างกับการออกแบบ การวิวัฒนาการไม่ได้ตั้งเป้าหมาย แต่เป็นการ "เหลือรอด" และ "ล้มตาย" ดังนั้นเมื่อต้นไม้ที่นำคลอโรฟีลมาร่วมงานด้วยได้ก็รอดมาถึงวันนี้ ง่ายๆแบบนั้นแหละครับ

นักวิชาการบางท่านให้ข้อคิดเห็นว่า ต้นไม้ทุกวันนี้อาจะได้รับคลอโรฟีลในยุคเริ่มต้นจากฝุ่นละอองดาวซึ่งตกลงมายังโลกของเราครับ ฝุ่นละอองดาวสีเขียวเหล่านี้มีอยู่มากมายในอวกาศ มันจึงอาจจะมีอยู่มากมายบนโลกสมัยนั้น และมีโอกาสมากกว่าสารอื่นๆที่จะได้จับคู่ร่วมมือกับต้นตระกูลของพืชในยุคนั้นนั่นเองครับ

By ษัษฐา ศุขสวัสดิ ณ อยุธยา

//campus.sanook.com/1370712

Create Date :10 กุมภาพันธ์ 2557 Last Update :10 กุมภาพันธ์ 2557 16:40:49 น. Counter : 1243 Pageviews. Comments :0