bloggang.com mainmenu search

เหมาเจ๋อตงหรือตามที่ประชาชนจีนเรียกจนติดปากว่า “ประธานเหมา” เกิดเมื่อ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1893 ในครอบครัวชาวนา ในเสาซัน อำเภอเซียงถัน มณฑลหูหนัน เมื่ออายุได้ 8 ปีเหมาเรียนกับครูที่บิดาจ้างมาสอนที่บ้าน

ปี 1910 เริ่มเข้าเรียนในโรงเรียน จากนั้นไม่นานก็เกิดการปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุนของดร.ซุนยัดเซ็น (การปฏิวัติซินไห่ ปี 1911) ลาออกจากโรงเรียนมาสมัครเข้ากองทหารปฏิวัติ หลังจากนั้นทำงานที่ห้องสมุด ที่นี้ทำให้เขามีโอกาสได้อ่านหนังสือมากขึ้น

ปี 1913 สอบเข้าเรียนวิทยาลัยครูที่หูหนัน เหมาเป็นนักศึกษาที่ขยันเรียน ขณะเดียวกันก็สนใจการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม และได้เข้าร่วมในการต่อสู้การคัดค้านหยวนซื่อข่าย (ประธานาธิบดีเผด็จการสมัยนั้น) และเริ่มได้รับอิทธิพลทางความคิดลัทธิมาร์กซ์

ปี 1920 เป็นครูสอนที่โรงเรียน และเปิดโรงเรียนกลางคืนสอนเยาวชนที่ด้อยโอกาส และจัดตั้งหน่วยลัทธิคอมมิวนิสต์ขึ้น เหมาแต่งงานกับหยางไคฮุ่ย หยางเป็นนักศึกษาหญิงได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวปฏิวัติกับเหมา จนถูกพวกกั๋วหมินตั่งจับกุมและถูกประหารชีวิต ปี 1930

ปี 1921 เหมาเข้าร่วมการประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วประเทศครั้งที่ 1 ที่เซี่ยงไฮ้ เป็นเลขาธิการกรรมการพรรคเขตหูหนัน นำการเคลื่อนไหวในกลุ่มกรรมกร และชาวนาอยู่บ่อยครั้ง ขณะที่เหมาเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการเคลื่อนไหวชาวนาของพรรคได้เสนอแนวทาง “ยืนหยัดการนำของชนชั้นกรรมาชีพต่อการปฏิวัติประชาธิปไตย อาศัยพันธมิตรกรรมกรชาวนาเป็นพื้นฐาน”

ปี 1927 สร้างฐานที่มั่นปฏิวัติแห่งแรกขึ้นที่เขาจิ่งกังซัน จากการรวบรวมกองทหารกรรมกรและชาวนา ต่อมาเหมาได้พัฒนาแนวทางยุทธศาสตร์การปฏิวัติของจีน คือ “ใช้ชนบทล้อมเมือง ยึดอำนาจรัฐด้วยอาวุธ” ชี้นำการปฏิวัติจีนจนได้รับผลสำเร็จ

ปี 1930 -1933 ร่วมกับ จูเต๋อ นำกองทัพแดงต้านการล้อมปราบครั้งใหญ่ของกั๋วหมินตั่ง 4 ครั้ง เมื่ออำนาจการนำกองทัพถูกพวกลัทธิซุ่มเสี่ยงหวังหมิงแย่งชิงไป ทำให้พ่ายแพ้การล้อมปราบครั้งที่ 5 จึงต้องละทิ้งฐานที่มั่น เดินทัพทางไกล 25,000 ลี้ไปทางเหนือใช้เวลา 3 ปี

ปี 1936 ได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการกลางการทหาร (เหมาได้ดำรงตำแหน่งนี้ตลอดจนถึงแก่กรรม)


ปี 1937 - 1945 เหมานำพรรค กองทัพ และประชาชนทำสงครามประชาชนต่อต้านญี่ปุ่นด้วยยุทธวิธี “สงครามยืดเยื้อ” จนได้ชัยชนะ

ปี 1943 เหมาได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ และได้ดำรงตำแหน่งนี้ต่อเนื่องทุกสมัยจนถึงแก่กรรม

ปี 1946 –1948 เหมาได้นำกองทัพปลดแอกและประชาชนจีน ทำสงครามทำลายการรุกโจมตีของฝ่ายเจียงไคเช็ค เขาเป็นผู้บัญชาการสู้รบในยุทธการใหญ่ 3 ครั้งได้รับชัยชนะขั้นเด็ดขาด ทำการรุกไล่ทหารเจียงต่อไปจนสามารถยึดอำนาจรัฐทั่วประเทศ

ปี 1949 วันที่ 1 ตุลาคม ประธานเหมาเจ๋อตงประกาศสถาปนา สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ จตุรัสเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่ง หลังการตั้งประเทศจีนใหม่ เหมาได้นำพรรคและประชาชนปฏิบัติภาระหน้าที่อันหนักหน่วงในการปรับปรุงปฏิรูปด้านต่างๆ อาทิ การปฏิรูปที่ดิน ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประชาชาติ ปรับปรุงให้อุตสาหกรรมและวิสาหกิจที่สำคัญเป็นแบบสังคมนิยม ขณะเดียวกันก็ต้องรับมือกับการคุกคามจากต่างประเทศ ระหว่างต้นทศวรรษที่ 5 จีนต้องทำสงคราม “ต่อต้านอเมริกา หนุนช่วยเกาหลี”

ปี 1954 เหมาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการประชุมสมัชชาผู้แทนประชาชนทั่วประเทศ ครั้งที่ 1

ปี 1966 เนื่องจากการประเมินสถานการณ์การต่อสู้ทางชนชั้นภายในประเทศผิดพลาด เหมาได้เปิดการเคลื่อนไหวปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งต่อมาถูกกลุ่มหลินเปียวและกลุ่มเจียงชิงเข้าควบคุม จนทำให้การเคลื่อนไหวขยายวงกว้าง จนเกินกว่าที่เหมาจะควบคุมได้ สร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนั้นเหมาก็ได้มองเห็นความผิดพลาด และพยายามยับยั้งความเสียหายแต่ก็ไม่เป็นผล การปฏิวัติวัฒนธรรมกินเวลายาวนานถึง 10 ปี

ปี 1976 วันที่ 9 กันยายน 1976 เหมาถึงแก่กรรมที่กรุงปักกิ่ง รวมอายุ 83 ปี มีบุตร 5 คน ชาย 3 หญิง 2

หลังจากเหมาถึงแก่กรรม 5 ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ทำการประเมินผลงานและความผิดพลาดของเหมาอย่างรอบด้าน ได้ข้อสรุปว่า แม้ในบั้นปลายชีวิต เหมาจะได้ทำความผิดพลาดที่ร้ายแรง ในเหตุการณ์เคลื่อนไหวปฏิวัติวัฒนธรรม แต่เมื่อเทียบกับผลงานอันใหญ่หลวง และยาวนานที่ท่านสร้างให้แก่แผ่นดินและประชาชนจีน คุณความดีของท่านมีมากกว่าความผิดพลาด ประธานเหมาเจ๋อตงยังคงเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่และเป็นที่เคารพรักของประชาชนจีน สำหรับทฤษฎีความคิดของเหมาเจ๋อตง ซึ่งผ่านการวิเคราะห์และพัฒนามาจากลัทธิมาร์กซ์บวกกับสภาพที่เป็นจริงของประเทศจีน ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสมเฉพาะกับประเทศจีน และเป็นตัวชี้นำการปฏิวัติของจีนจนได้รับชัยชนะ ซึ่งยังคงเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งที่พรรคยึดถือเป็นความคิดชี้นำต่อมา
Create Date :12 กรกฎาคม 2550 Last Update :17 กรกฎาคม 2550 22:45:09 น. Counter : Pageviews. Comments :3