bloggang.com mainmenu search
“พระพุทธรูปโดนปาดคอ” โศกนาฏกรรมที่เชิงเขาไปรบัด ?
ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร มีพระพุทธรูปนาคปรกองค์หนึ่งมีร่องรอยถูกเลื่อยปาดพระศอ (คอ) เล่ากันมาจากชาวบ้านในพื้นที่ ที่เคยขึ้นไปขุดหาสมบัติโบราณออกไปขายว่า ได้นำลงมาจากซากปราสาทบนเขาพนมไปรบัด อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ 
--------------------------------
*** “พระพุทธรูปนาคปรก” เป็นอิทธิพลสำคัญจากสองคติความเชื่อ ทางฝ่ายเขมรต่ำหรือแคว้นกัมพุชเทศะจะเล่าถึงตำนานเรื่อง “นางนาคโสมะ” ผู้เป็นมารดาแห่งอาณาจักรกัมโพช
ในขณะที่ฝ่ายฝั่งตะวันตก ในวัฒนธรรมทวารวดี-อินเดีย “นาค” ปรากฏตัวในคติความเชื่อทางพุทธศาสนาในศิลปะแคว้นอานธระ-อินเดียใต้ ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 8 - 9 ตามพุทธประวัติครั้งที่พระพุทธเจ้าได้มาประทับใต้ต้นมุจลินทร์ ในช่วงเสวยวิมุติสุขหลังการตรัสรู้ ขณะที่เกิดพายุฝน พญานาคที่ห่วงใยและอยากได้บุญบารมีได้เลื้อยขึ้นมาและปกป้องการบำเพ็ญสมาธิของพระองค์โดยการขนดตัว และแผ่พังพานปรกป้องกันพระองค์ไว้ และความนิยมในการบูชามนุษย์นาค-พญานาค ในฐานะเจ้าแห่งอาณาจักรใต้ปัฐพีในอินเดียใต้
ความลงตัวของ คติความเชื่อเรื่อง “งูใหญ่” หรือ “นาคา” ของสองวัฒนธรรม ในภูมิภาคใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการสร้างรูปศิลปะของพระพุทธเจ้าปางนาคปรก ทั้งในคติเถรวาทและมหายานในวัฒนธรรมเขมรโบราณขึ้นครั้งแรก ๆ ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ช่วงยุคสมัยของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1 (ปราสาทเขาพระวิหาร – ศิลปะพระวิหาร) ผู้ให้การอุปถัมภ์พุทธศาสนามหายานในอาณาจักร
---------------------------
*** พระพุทธรูปนาคปรกจากซากปราสาทบนยอดเขาไปรบัด ประทับนั่งขัดสมาธิราบเป็นหลัก มีขนดนาค 3 ชั้น ลดสอบแคบลงไปส่วนฐานล่าง พระเศียรมีขมวดพระเกศาเป็นก้นหอยนูน ขนาดใหญ่เล็ก เรียงเม็ดขมวดแบบสับหว่าง ส่วนอุษณีษะหรือพระเมาลี มีลักษณะนูนเหมือนมะนาวตัดครึ่งซีก
ลักษณะเด่นของพุทธศิลป์พระพุทธรูปสมัยพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1 คือจะมีมีพระเนตรเปิดกว้าง สลักพระเนตรลึก ไม่เหลือบต่ำ คว้านพระเนตรเป็นช่องเพื่อไว้บรรจุเนื้อของหอยมุกขาวและอัญมณีสีเข้มดำเป็นพระเนตรดำ ช่องพระทาฒิกะ (เครา) และพระมัสสุ (หนวด) สลักเป็นรูปปีกกา พระหนุผ่ากลางเป็นร่องตื้น แบบเดียวกับรูปประติมากรรมทวารบาลสำริด จากปราสาทสระกำแพงใหญ่ นิยมทำจีวรบางแนบพระวรกายจนเหมือนผ้าจีวรบางแนบเนื้อจนมองทะลุ อาจมีแนวเส้นผ่าที่กลางพระอุระบาง ๆ เพื่อทำให้ดูเหมือนผ้าจีวรยับกลาง
นาคปรกจะมี 7 เศียร เศียรนาคตรงกลางหันหน้าตรง ส่วนเศียรนาคด้านข้าง 6 เศียรจะเอียงลู่มองขึ้นไปยังเศียรกลาง ไม่มีรัศมีหรือกระบังหน้าประกอบ 
พระนาคปรกในยุคสมัยพระวิหารนี้ จัดเป็นประติมากรรมที่หาพบได้ยาก เหมือนกับว่าจะสร้างขึ้นไม่มากนักในสมัยของสมัยของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1 เอง จึงจัดว่าเป็นพุทธศิลป์เฉพาะยุคสมัยที่มีความสำคัญ มีความต้องการในตลาดค้าวัตถุโบราณ ส่วนที่มีรอยโดนปาดพระศอนั้น เล่ากันจากชาวบ้านที่เคยขึ้นไปขุดหาสมบัติโบราณออกไปขายว่า เดิมพระนาคปรกองค์นี้ ถูกชะลอยกลงมาจากปราสาทพนมไปรปัด (น่าจะเป็นหมายเลข 1 ยอดเขาทางตะวันตก ที่มีอายุทางศิลปะเดียวกัน ) ในช่วงปี พ.ศ. 2508 เมื่อฝ่ายราชการทราบเรื่อง จึงมีประกาศจากหน่วยปกครองให้ชาวบ้านนำรูปประติมากรรมสำริดหลายชิ้น รวมทั้งพระพุทธรูปนาคปรกที่ขนลงมาจากปราสาทไปรบัด มาคืนให้กับทางราชการ โดยให้นำไปรวมไว้ที่ศาลากลางหมู่บ้าน
แต่ในระหว่างที่นำมารวมไว้ที่ศาลาในคืนหนึ่ง ก็มีความพยายามของชาวบ้านนักขุดบางคนจะเลื่อยตัดพระเศียรออก (เพราะขนย้ายเฉพาะพระเศียรไปขายได้ง่ายและมีราคาสูงกว่า) อย่างใจเย็น แต่โชคดีที่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่มาพบเห็นรอยตัดที่พระศอเสียก่อน ฝ่ายนายอำเภอจึงให้นำพระนาคปรกนี้ออกมาจากศาลากลางหมู่บ้าน ส่งมอบแก่กรมศิลปากรในทันที
*** พระพุทธรูปที่อาจมีใบพระพักตร์ของพระเจ้าสูรยวรรมะเทวะ กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรกัมพุชะเทศะในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นพระพุทธรูป “พระสุคต” (Sugatā) ฉลองพระองค์ ในพระนามภายหลังจากการเสด็จสวรรคตว่า “วฺระบาทบรมนิวฺวานบท” (Nirvanapada) อันมีความหมายว่า “ผู้ถึงแก่บทแห่งพระนิพพานอันยิ่งใหญ่" ยังคงปรากฏรอยการเลื่อยปาดคอองค์พระให้เห็นเป็นอนุสรณ์ของความพยายามในการโจรกรรมโดยผู้คน ในโศกนาฏกรรม ...ที่เชิงเขาไบรบัด
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy 
..........................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆 
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
https://abhinop.blogspot.com
https://abhinop.bloggang.com
..........................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
..........................................................
Create Date :22 กุมภาพันธ์ 2564 Last Update :22 กุมภาพันธ์ 2564 12:17:20 น. Counter : 394 Pageviews. Comments :3