bloggang.com mainmenu search
"อั้งยี่แห่งเมืองฉะเชิงเทรา"
โดย เชา หมัดทศพีช
13 ตุลาคม 2558
.
บทความนี่เป็นบทความที่ต่อเนื่อง
จากเรื่อง "ข้อสันนิษฐานว่ามวยงิ้ว"
.
การอพยพเข้ามาของชาวจีนใต้
อาทิ ฮกเกี้ยน ฟูเจี้ยน กวางตุ้ง ฮากกา
ไหหลำ แต้จิ๋ว มีอยู่อย่างต่อเนื่อง
จนถึงราวต้นสมัยรัตนโกสินทร์
สาเหตุมาจากสงคราม ความแร้นแค้น
รวมไปถึงการตามล่าของทางการ
(หมายถึงกบฏต่อต้านชิง)
บ้างเข้ามาเป็นกุลี แรงงาน หรือทำงานหนัก
เช่น รับจ้างตักขี้ งานเหมือง
.
ชาวจีนที่อพยพเข้ามาก่อน
จะต้อนรับชาวจีนที่เข้ามาใหม่
หากทราบว่าถ้ามาจากหมู่บ้านเดียวกัน
หรือเมืองเดียวกัน จะหาอาชีพ หรือที่พัก
ให้ผู้มาใหม่ และจะรวมอยู่เป็นสมาคม
พรรค หรือกลุ่ม และมีสัญลักษณ์ร่วมกัน
.
ความเป็นคนเชื้อชาติเดียวกันช่างเหนียวแน่น
.
ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเมืองฉะเชิงเทรา
ปรากฏกบฎอั้งยี่ที่จารึกในประวัติศาสตร์
ของทางราชการ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
.
ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกล่าวถึงมูลเหตุ
การเกิดกบฏอั้งยี่ที่เมืองฉะเชิงเทราว่า
ในงานเทศกาลไหว้เจ้าของชาวจีน
ซึ่งคล้ายกับเทศกาลกินเจของลัทธิเม้งก่า
ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ชาวจีนที่เป็นคนงาน
ของโรงงานหีบอ้อยได้มาเที่ยวดู "งิ้วหีบแดง"
.
งิ้วในยุคนั้ แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ
"งิ้วหีบเขียว" และ "งิ้วหีบแดง"
.
งิ้วหีบเขียว หมายถึง งิ้วที่แสดงบทประโลมโลก
เรื่องความรักระหว่างชายหนุ่มและหญิงสาว
อาทิ นางพญางูขาว ความรักในหอแดง
ซึ่งมักแสดงอยู่ในบางกอก
.
ส่วนงิ้วหีบแดง หมายถึง งิ้วที่แสดงบทบู๊
สงคราม การต่อสู้ของชาวจีน อาทิ
13 นางพยัคฆ์ สามก๊ก ซ้องกั๋ง
(108 วีรบุรษแห่งเขาเหลียงซาน)
ขุนศึกตระกูลหยาง ซึ่งมีการแสดงที่โลดโผน
มีการตีลังกา และการต่อสู้ที่ติดตราตรึงใจ
โดยมากมักแสดงที่เมืองท่าชายฝั่ง
อาทิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ภูเก็ต พัทลุง
มาลายา สงขลา
เหตุเพราะบทบาทตรงกับความต้องการ
ของชาวจีนใต้ อาทิ ฮกเกี้ยน ฟูเจี้ยน
กวางตุ้ง ฮากกาไหหลำ แต้จิ๋วในท้องถิ่น
.
เมื่อคนจีนที่ทำงานโรงหีบอ้อย
เดินผ่านสวนผลไม้ของคนไทย
เพื่อไปดูงิ้วที่แสดงอยู่ที่ศาลเจ้า
ยังอีกฝากหนึ่งของฝั่งคลอง
ได้ถูกสุนัขเฝ้าสวนของคนไทยไล่กัด
จนบาดเจ็บ คนจีนกลุ่มนั้น จึงได้ไล่ตีสุนัข
ทำให้คนไทยไม่พอใจ
.
พอคนจีนเดินข้ามสะพานชักข้ามไปยังฝั่งคลองแล้ว
(สะพานชัก หมายถึง สะพานไม้แบบไม่ถาวร
อาจทำจากไม้ไผ่ หรือไม้กระดาน
สามารถชักมาเก็บได้เมื่อเลิกใช้แล้ว)
คนไทยจึงไปเขยิบสะพานชักให้หมิ่นเหม่
.
เมื่อคนจีนเดินกลับมาจากการดูงิ้ว
และเดินข้ามสะพานนั้น ปรากฏว่า
สะพานลื่นหลุดจากขอบของคลอง
และคนจีนตกสะพานนั้น จึงรู้ได้ทันทีว่า
คนไทยแกล้ง คนจีนกลุ่มนั้นจึงไป
แก้แค้นที่คนไทย ปรากฏว่า
กลุ่มคนไทยซึ่งมีมากกว่ากลับสู้ไม่ได้
.
คนไทยจึงไปฟ้องทางการไทยว่าถูกคนจีนกลุ่มนั้น
รังแก ทางการไทยเห็นว่าเมื่อพวกพ้องถูกรังแก
จึงเข้าปราบปรามคนจีนกลุ่มนั้น แม้คนจีน
จะชี้แจงอย่างไร ทางการไทยก็เข้าข้างคนไทยด้วยกัน
.
เหตุการณ์นี้ลุกลามบาฝนปลายจนเกิดสงคราม
กลางเมืองที่ฉะเชิงเทรา คนจีนเหล่านั้น
จึงรวมตัวกันก่อกบฏ และสามารถยึดเมืองฉะเชิงเทรา
มีพระยาวิเศษฤาชัย เป็นเจ้าเมืองปกครองดูแลได้สำเร็จ
และใช้กำแพงเมืองฉะเชิงเทราไว้เป็นที่มั่น
.
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีพุทธศักราช 2391
ณ เวลานั้นความได้ทราบไปถึงพระกรรณ
ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3
พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้
"สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์"
ซึ่งเพิ่งกลับมาจากปราบกบฏที่กรุงกัมพูชา
ยกพลจากเมืองสมุทรสาครมาปราบปรามพวกอั้งยี่
ทั้งทางน้ำและทางบก ครั้งนั้นฝ่ายอั้งยี่ได้เข้ายึด
วัดเมือง (วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์)
ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งสุมกำลังเพื่อสู้
กับกองทัพที่มาจากบางกอก
แต่สุดท้ายก็ต้องพ่ายแพ้
ทำให้พวกจีนอั้งยี่ถูกฆ่าตาย
และประหารกว่า 3,000 คน
.
เล่ากันว่าการประหารคนจีนในคราวนั้น
สถานที่ประหารชีวิตพวกอั้งยี่ ณ เวลานั้น
ก็คือ บริเวณโคน "ต้นจันทน์" ใหญ่ของวัดเมือง
มีทั้งผู้ก่อการกบฏ และครอบครัวชาวจีนที่ไม่เกี่ยวข้อง
เสี่ยงร่ำไห้ของผู้ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ดังระงม
ในขณะที่ผู้ทำการก่อการกบฏกลับนิ่งเงียบ
วันนั้น มีการประหารคนจีนจำนวนมาก
จนเลือดสาดกระจายเนืองนองไปทั่ว
ส่งกลิ่นเหม็นคาวคลุ้งน่าสะอิดสะเอียน
แม่น้ำบางปะกงแดงฉานไปด้วยเลือด
และศรีษะของผู้ถูกประหารล่องลอยอยู่เต็มแม่น้ำ
.
มีคำถามว่า คนงานจีนที่เข้ายึดเมืองฉะเชิงเทราเหล่านี้
เป็น "คนงานจีนธรรมดา หรือยอดฝีมือ"
ถึงสามารถเอาชนะกองทัพรักษาเมืองฉะเชิงเทราได้
เพราะเท่าที่ทราบชาวจีนที่เข้ามาในเมืองไทย
และก่อตั้งเป็นสมาคมจนถถูกทางการ
กล่าวหาว่าเป็น "กบฏอั้งยี่" นั้น มีอยู่สองกลุ่ม
คือ เทียนตี้หุ่ย หรือพรรคฟ้าดิน (天地, Tiān Dì)
ซึ่งก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยจักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิง
โดยพระสงฆ์และนักพรตห้ารูปจากวัดเส้าหลินใต้
ที่เรียกกันว่า "บุรุษทั้งห้า" (五祖, Wǔ Zǔ)
มีวัตถุประสงค์เพื่อ "โค่นชิงฟื้นหมิง"
(反清復明, Fǎn Qīng Fù Míng)
.
และซันเหอหุ่ย (三合, Sān Hé) - สมาคมเทียนตี้
ซึ่งแตกแขนงไปในประเทศอื่น
แต่ไม่ได้ต้องการ "โค่นชิงฟื้นหมิง"
เดิมมีขึ้นเพื่อสงเคราะห์ชาวจีนในต่างประเทศ
แต่ภายหลังก่อความวุ่นวายในประเทศ
ที่ตนอยู่จนถูกปราบปรามเรื่อยมา
และปัจจุบันกลายเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
ซึ่งยังดำรงอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ
.
ก่อให้เกิดคำถามว่า
อั้งยี่แห่งเมืองฉะเชิงเทรานี้เป็นใคร
.
-จบ-
ภาพประกอบ แท่นที่เชื่อกันว่าเป็นที่ประหารอั้งยี่
ที่วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ (วัดเมือง)
วิธีประหารใช้การนอนคว่ำแล้วดึงหางเปีย
ให้สุด แล้วใช้ดาบฟันคอลงมา
ทำให้ศรีษะขาดโดยง่าย และเลือดพุ่งเนืองนอง

Create Date :23 ตุลาคม 2558 Last Update :23 ตุลาคม 2558 14:39:41 น. Counter : 6742 Pageviews. Comments :72