พฤศจิกายน 2553
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
17 พฤศจิกายน 2553
 
 
ใส่ใจบัญชี แม้ไม่มีหุ้น

ครับบล็อกนี้ผมไม่ได้เขียนนะครับ ผมเอามาจากที่มาด้านล่างนะครับ
ผมไปเจอพอดีและน่าสนใจครับเลยนำมาลงและเผยแพร่ต่อ
แต่ประเด็นหลักๆคือบางครั้ง ผมเจอข้อมูลดีๆแต่ไม่มีเวลาอ่านครับ
เลยอยากนำมลงบล็อกตัวเองจะได้อ่านและหาอ่านได้สะดวกขึ้น
ผู้อ่านท่านใดจะแสดงความขอบคุณตามไปที่บล็อกน้นได้เลยนะครับ

ที่มานะครับ //www.soccersuck.com/soccer/viewtopic.php?t=349546

กระทู้เดิมตั้งโดยคุณ Extream Aggressor

ใส่ใจบัญชี แม้ไม่มีหุ้น

หลังจากเราเปิดบัญชี แล้ว แต่ยังไม่คิดจะซื้อหุ้น หรือ ซื้อหุ้นแล้วเก็บยาว
ก็แล้วแต่ มีข้อควรระวังนิดหน่อยครับ บางคนซื้อหุ้นพื้นฐานดีเก็บไว้
คิดว่า เราได้ของดีมาแล้ว เก็บไว้กินปันผลดีกว่า แล้วก็ไม่สนใจมันอีกเลย
พองานยุ่งหน่อย ก็ลืม วันดีคืนดี จะขายหุ้น ...

หุ้นหมดซะงั้น .....

แน่นอนว่า ถ้าไม่มีหลักฐานการส่งคำสั่ง และ การโอนเงินเข้าบัญชีของเรา
บริษัทหลักทรัพย์ หรือ โบรกเกอร์ ต้องชดใช้คืนให้เรา แต่มันทำให้เรา
เสียโอกาส และเสียเวลาโดยใช่เหตุ ดังนั้น วันนี้ เรามาใส่ใจบัญชีกันเถอะ
แม้ว่าจะไม่ซื้อขายก็ตาม

.......................................................................................................

เอกสารสำคัญ เมื่อเปิดบัญชี

อย่างแรกที่เราจะได้รับ คือ จดหมาย 2 ฉบับ

ฉบับแรก เป็นจดหมายแจ้งการเปิดบัญชีของเรา กับบริษัท เป็นการเริ่ม
ธุรกรรม และนิติกรรมของเรากับโบรกฯ และแจ้งเลขที่บัญชี

ฉบับที่สอง เป็นจดหมายแจ้งรหัสผ่านเข้าระบบซื้อขาย

ทั้งสองฉบับต้องส่งแยกกัน ถ้าส่งรวมกัน บริษัทนั้นมีปัญหา

.....................................................................................................

หลังจากได้รับ เลขที่บัญชี และ รหัสผ่าน แล้ว เราจะเริ่มซื้อขายได้ทันที
ไม่ต้องรอให้ ธนาคารอนุมัติรายการหักเงินอัตโนมัติ ระหว่างนี้
จะใช้การชำระเงินด้วยวิธีอื่นไปพลางๆ ก่อน
หลังจากธนาคารอนุมัติการหักบัญชีระบบจะตัด และจ่ายเงิน
เข้าบัญชีธนาคารของเราอัตโนมัติ

การเริ่มต้นซื้อขายครั้งแรก ถ้าเป็น Cash Balance เราก็จะต้องฝากเงิน
และแจ้งการฝากเงินต่อโบรกฯ ก่อน ระบบจึงให้อำนาจซื้อกับท่าน

แต่ถ้าเป็นบัญชีแบบมีวงเงิน บริษัทจะเรียกหลักประกัน 15% ของวงเงิน
โดยจะเป็นเงินสด หรือ โอนหุ้นเข้าไปวางเป็นหลักประกันก็ได้
ทรัพย์สินที่ปลอดภาระ ของเราในบัญชีบริษัท เรียกว่า Good Assets

.......................................................................................................

เอกสารสำคัญ แปลว่า สำคัญ นะครับ

เอกสารสำคัญที่สุดในการทำธุรกรรมการเงินทุกประเภท คือ

บัตรประจำตัวประชาชน และ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน

ในธุรกรรมการเงินต่างๆ แม้จะใช้สำเนาบัตรฯ เป็นหลักฐาน แต่
สถาบันการเงิน มีระเบียบข้อบังคับ ให้ขอเรียกดูบัตรตัวจริงทุกครั้ง
ก่อนทำธุรกรรมทางการเงิน แต่โดยทั่วไป ก็จะอลุ้มอล่วย หรือหย่อนยาน

ลูกค้าเองมักจะ ขี้เกียจวุ่นวาย เลยให้สำเนาบัตรฯ กับเจ้าหน้าที่บริษัท
เป็นจำนวนมากๆ โดยไม่มีการเซ็นกำกับ ลงวันที่ หรือขีดคร่อม และระบุ
วัตถุประสงค์ เช่น

"ขอรับรองสำเนาถูกต้อง และใ้ช้เพื่อเปิดบัญชีกับ ...เท่านั้น"

ซึ่งสำเนาบัตรประชาชนเปล่าๆ 1 ใบ มีค่าเท่ากับ
ทรัพย์สินทั้งหมด ในสถาบันการเงิน ของท่านนะครับ
โปรดให้ความสำคัญกับมันหน่อย

กรณีศึกษา ที่เกิดจากการดำเนินคดี ทั้งทางแพ่ง และอาญา
และเปรียบเทียบปรับ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์
และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แสดงให้เห็นว่า กลโกง และการทุจริต
ในบัญชีลูกค้า เกิดจากปัจจัยสำคัญ ดังต่อไปนี้

........................................................................................................

1 ) บัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เป็นเวลานานๆ

ปกติลูกค้าที่ซื้อขาย บ่อยๆ จะได้รับ ใบยืนยันคำสั่งฯ ซึ่งเปรียบได้กับ
สัญญาจะซื้อจะขาย โดยโบรกฯ จะส่งให้ลูกค้าในวันทำการถัดไป หลังจาก
ลูกค้าซื้อขายแล้ว (วันที่ T+1) ซึ่งเมื่อเราได้รับ และไม่ทักท้วงรายการใน
ใบยืนยันฯ ระบบจะตัดเงิน หรือ จ่ายเงิน ตามข้อมูลในใบยืนยัน
ในวันทำการที่ 3 หลังจากวันที่ ซื้อขาย (T+3)

นอกจากใบยืนยันฯ แล้ว เรายังจะได้ Monthly Statement หรือ รายงานสรุป
ทรัพย์สินที่เราีมีกับบริษัท เป็นประจำทุกเืดือนอีกด้วย

โดยโบรกฯ จะจัดส่งเอกสารเหล่านี้ตามที่อยู่ที่มีการแจ้งไว้ในชุดเปิดบัญชี
ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นที่อยู่เดียวกับทะเบียนบ้านนะครับ ขึ้นกับลูกค้ากำหนด

ที่อยู่ในระบบปฏิบัติการของบริษัทหลักทรัพย์ มี 3 ประเภท คือ

1 . ที่อยู่ปัจจุบัน
2. ที่อยู่ในการจัดส่ง
3. ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน

ซึ่ง 3 ที่อยู่ จะเป็นที่เดียวกัน หรือ ไม่ใช่ ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น

ระบบการส่งเอกสารสำคัญของ โบรกฯ มี

1. ไปรษณีย์ไทย
2. เมสเซนเจอร์
3. ลูกค้ามารับเองที่บริษัท / สาขา (กรณีลูกค้ามาที่ห้องค้า)
4. แจ้งความประสงค์ ไม่รับเอกสาร จะตรวจสอบเองผ่านระบบออนไลน์

ปัญหา ก็คือ บัญชีที่ไม่เคลื่อนไหว (คือ ไม่มีการซื้อ ขาย โอน ฝาก ถอน)
โบรกฯ จะพิจารณาจัดส่งรายงานประจำเดือน เพียงแค่ ทุก 6 เดือน
ซึ่ง ก.ล.ต. เห็นควรให้ดำเนินการได้ เนื่องจาก การจัดส่งรายงานของ
ลูกค้าที่ไม่เคลื่อนไหวทุกเดือนนั้น มีต้นทุนสูง

แต่สิ่งนี้ก็ทำให้เกิดช่องโหว่ในการทุจริต เจ้าหน้าที่การตลาด (MKT)
เอาสำเนาลูกค้ามาปลอมลายเซ็น และทำเรื่องของเปลี่ยนที่อยู่ในการ
จัดส่งเอกสาร ให้เป็นที่อยู่ของ MKT เอง ซึ่งลูกค้าก็ไม่แปลกใจเพราะ
บัญชีไม่เคลื่อนไหว เห็นโบรกฯ นานๆ จะส่งรายงานให้ที เลยคิดว่า
โบรกฯ คงเลิกส่งให้ หรือ ลืม หรือ ฯลฯ

โดยไม่ได้เอะใจว่า ตอนนี้บัญชีของตน เคลื่อนไหวอย่างมาก
MKT นำหุ้นในบัญชี โอนไปใ้ห้เพื่อน ญาติของตัวเอง
เอกสารต่างๆ ก็จะจัดส่งไปที่บ้านของ MKT
และลูกค้าจะไม่ทราบเลยว่า ตอนนี้ หุ้นของตนหายไปแล้ว

กรณีดังกล่าวเป็นเคสที่ง่ายที่สุด ยังมีเคสที่ยาก และซับซ้อนกว่านี้
อีกมาก ซึ่งอาจจะมีโอกาสมาเล่าให้ฟัง แต่วันนี้เอาคร่าวๆ ว่า

หน้าที่ของบริษัท ต่อเรา (แม้เราจะไม่ซื้อขาย) คือ
การจัดส่งรายงานประจำเดือน อย่างน้อยที่สุด ทุก 6 เดือน
ถ้าไม่ได้รับ แปลว่า เกิดบางอย่างไม่ชอบมาพากล กับบัญชีของเราครับ

.......................................................................................................

2 ) ไว้ใจ MKT

ส่วนมาก MKT จะมีวาจาศิลป์ เป็นเลิศ (เนื่องจากเป็นนักขาย)
MKT อยู่ได้ด้วยส่วนแบ่งค่าคอมฯ ที่โบรกฯ เก็บจากเรา
ดังนั้น เมื่อเรายิ่งซื้อ ยิ่งขาย ไม่ว่าเราจะขาดทุน หรือกำไร
MKT และ โบรกฯ จะได้เงินเสมอครับ

MKT บางคน ที่มีบัญชีลูกค้าอยู่ในมือ มากๆ อาจจะมองหาวิธี
ที่จะสร้างปริมาณการซื้อขาย ( เรียกภาษาหุ้นว่า วอลุ่ม Volume)
ให้ได้มากๆ โดยการเปลี่ยนแปลงข้อมูลของบัญชีลูกค้าที่ไม่ได้เทรด
นานๆ ให้อยู่ในความควบคุมของตนเอง โดยเฉพาะลูกค้าที่มีวงเงิน
(ผมจึงแนะนำให้เปิดบัญชีแบบ ฝากเงินก่อนซื้อขาย)

โดยจะพยายามเล่นแบบ หักกลบในวันเดียว และ ปลอมลายเซ็นลูกค้า
ขอชำระส่วนต่าง ค่าซื้อ (ลูกค้าจ่ายบริษัท) เป็นการโอนเงินผ่านธนาคาร
แทนการตัด ATS

ผมเคยเห็นการทุจริตแบบเป็นขบวนการ โดยเจ้าหน้าที่แบงก์หละหลวม
ยอมให้ MKT เอาสำเนาบัตร ที่จงใจถ่ายให้ภาพเลือนๆ ไปเปิดบัญชี
ธนาคารเป็นชื่อ ลูกค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดมาก และไม่เกิดขึ้นบ่อย

........................................................................................................

กรณีศึกษา
เป็นชื่อสมมติ
แต่เป็นคดีที่เกิดขึ้นจริง นะครับ

ลูกค้าชื่อ นางรวย
MKT ชื่อ นายกล้า
เพื่อน MKT ชื่อ นส.กวน

นางรวย เป็นคนรวย ชอบซื้อหุ้นทิ้งไว้ในพอร์ตหลายล้านบาท
แต่ไม่ค่อยได้ซื้อขาย บ่อยครั้ง บางครั้งนานเป็นปีๆ
และนางรวยไม่เคยดูหุ้นผ่านระบบออนไลน์ เพราะใช้คอมฯ ไม่เป็น
นางรวยชอบฝาก สำเนาบัตรฯ ไว้กับนายกล้า เนื่องจากเวลามีเปิดจอง
หุ้น IPO นายกล้าสามารถดำเนินการได้ทันที (จองหุ้น IPO ต้องใช้สำเนา
บัตรประชาชน)

นายกล้าเห็นนางรวยไม่ค่อยซื้อขาย จึง ทำเรื่องของเปลี่ยนแปลงที่อยู่
จัดส่งเอกสาร (ซึ่งไม่ต้องใช้สำเนาทะเบียนบ้านประกอบ) แค่มีสำเนาบัตรฯ
และปลอมลายเซ็น ขอเปลี่ยนเป็นที่อยู่ของ นส. กวน ซึ่งเป็นเพื่อน
เพื่อป้องกันการตรวจสอบของฝ่าย กำกับฯ

ขั้นแรก เปลี่ยนแปลงที่อยู่ได้แล้ว
นายกล้า ก็โอนหุ้นของ นางรวย
ไปยังบัญชีของ นส.กวน ที่อีกโบรกฯ หนึ่ง

ใบยืนยันรายการโอนหุ้น ก็ถูกส่งไปที่บ้าน นส. กวน
ใบรายงานสรุปรายเดือน ก็ถูกส่งไปที่้บ้าน นส. กวน

นายกล้า ยังไม่หนำใจ เพราะบัญชีนางรวยมีวงเงินเยอะ
ถ้าเอามาเล่นหุ้นเองได้ นายกล้าจะมี วอลุ่มมากขึ้น
และได้ค่าคอมฯ มากขึ้น

นายกล้าจึงเอาสำเนาบัตรของนางรวย ไปถ่ายเอกสารซ้ำ
ให้ภาพของนางรวยเลือนลาง และให้ นส. กวน ไปเปิดบัญชีเงินฝาก

เจ้าหน้าที่ธนาคารสะเพร่า ไม่ยอมดูรายละเอียดในบัตร
ทั้งๆ ที่นางรวยอายุ 50 กว่า แต่ นส. กวน อายุไม่ถึง 30
แทนที่จะตั้งข้อสังเกต หรือ ขอดูบัตรฯ จริง ก็ไม่ได้ทำ

และดันเิปิดบัญชีให้
เมื่อได้บัญชีเงินฝากมาใหม่ นายกล้า ก็ทำการปลอมลายเซ็น
ขอเปลี่ยนแปลงบัญชีที่ใช้หัก ATS ใหม่ ซึ่งเป็นบัญชี นส. กวน
ในชื่อ นางรวย

ตอนนี้ บัญชีนางรวยถูกควบคุมทุกทาง โดย นายกล้า และ นส.กวน
นายกล้า ใช้บัญชี และวงเงินของนางรวย เล่นหุ้นแบบ หักกลบ
ในแต่ละวัน ซึ่งเงินจะตัด และถอนผ่านบัญชีปลอม ที่ นส.กวนไปเปิดไว้
เอกสารต่างๆ ก็ส่งไปยังที่อยู่ นส. กวน หุ้นทั้งหมด ถูกยักย้ายถ่ายโอน
ไป บัญชี นส.กวน โดยที่นางรวย ไม่รู้ไม่เห็น

กว่าความจะแตก คดีนี้ นางรวย โดนโกงหุ้นไป ปีกว่าๆ
เรียกร้องเอาหุ้นคืนนั้นไม่ยาก แต่กว่าจะได้คืน ต้องเสียเวลา
เสียความรู้สึก ไปหลายๆ เดือน

จึงเป็นอุทาหรณ์ให้คนที่เิปิดบัญชีแล้วชอบทิ้งไว้ ไม่ดู ไม่แล
ได้กลับมาดูแลบัญชีตัวเอง ว่า มีใครทำอะไรกับบัญชีเราหรือไม่

การป้องกันทำได้โดยรักษาเอกสารสำคัญ และสำเนา
ใช้เมื่อจำเป็น ใช้ 1 ใบ ก็ให้ไป 1 ใบ ใช้อะไร ก็ขีดคร่อม
และระบุวัตถุประสงค์ ให้ชัดเจน

การดูแล ก็เข้าระบบ ออนไลน์ ดูพอร์ต ดูรายการย้อนหลังบ่อยๆ
หมั่นเช็ค หมั่นตรวจสอบ มีหุ้นดีในพอร์ต ไม่ได้แปลว่า ไม่ต้องดู
เพราะหุ้นดีไม่กล้ว หุ้นไม่ดีก็ไม่กลัว กลัวแค่ไม่มีหุ้นเหลือในพอร์ต
เท่านั้นเองครับ



Create Date : 17 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2553 13:00:27 น. 0 comments
Counter : 237 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 

จูล่งฝ่าทัพ_รับอาเต๊า
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีครับทุกท่าน ใครที่หลงเข้ามาในกระทู้นี้
ตามมาเพราะการโพสของผม หรืออะไรก็แล้วแต่
ยินดีต้อนรับนะครับ
และขอให้ใช้คำสุภาพในการ ติ ชม ด้วยนะครับ
[Add จูล่งฝ่าทัพ_รับอาเต๊า's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com