wwangkanon is Behind the Lens. His blog is for sharing experience also your sharing space.
 
พฤษภาคม 2553
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
31 พฤษภาคม 2553

9 days in Myanmar, 3rd Chapter(2/3) "First Step to Myanmar-First day in Yangon"

9 days in Myanmar, 3rd Chapter(2/3) "First Step to Myanmar-First day in Yangon"
2/3 ครับ

หลังจากท้องอิ่มมีแรงแล้วเราก็เดินหาร้านขายตั๋วรถประจำทางกันต่อ
เราเป็นประเภทต้องรู้พรุ่งนี้ก่อนถึงจะสบายใจน่ะครับ
เราเดินหาจนทั่วก็ไม่เจอร้านขายตั๋วรถทัวร์ซักร้าน แต่เราเจอห้องแถวสองห้อง เขียนว่าเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
เราเลยลองเข้าไปถามดู เจ้าหน้าที่เป็นคนแขกผู้หญิงวัยกลางคน บอกเราว่าถ้าต้องการซื้อตั๋วรถทัวร์ต้องไปที่หน้าสถานีรถไฟนู่นน่ะครับ
แต่เธอก็ใจดีให้แผนที่เรามาด้วย แล้วก็บอกตำแหน่งที่เราอยู่กับสถานีรถไปให้ ร้านขายตั๋วมีอยู่หลายร้าน อยู่ติดกลับสนามกีฬาตรงข้ามสถานีรถไฟแหล่ะครับ หลังจากได้ไอเท็มสำคัญคือแผนที่มาแล้ว เราก็กล่าวขอบคุณเขาแล้วก็ออกมา

เราตกลงกันว่าจะเดินเที่ยวสุเลพญาก่อนที่จะไปจองตั๋วกัน
ไหนๆก็มาถึงทีนี่แล้ว
เราก็เดินกลับออกมาด้านหน้าของสวนนั้น แล้วอ้อมไป จากที่ดูโกเกชั้นแล้ว
ถ้าได้เข้าไปในสวนแล้วถ่ายภาพจากด้านในสวนไปหาหมู่ตึกเก่าบริเวณนั้นแล้ว น่าจะสวย
ก็เลยหาทางเข้า จนในที่สุดก็เจอทางเข้า แต่ต้องเสียตังค์ครับ
แต่ทำไงได้มาถึงแล้ว ยังไงก็คงไม่แพงไปกว่าค่าเครื่องหรอก
เราเข้าไป แต่ก็ได้ผิดหวัง เพราะว่าในสวนไม่ได้จัด หรือดูแลอย่างดี ไม่ค่อยคุ้มกับเงินที่จ่ายไปแน่นอนครับ
แต่ไหนๆก็เข้ามาแล้ว ชักภาพซักหน่อย แต่ก็ไม่ได้ภาพอย่างที่คาดเอาไว้ครับ เพราะสายไฟรอบๆ สวนเยอะมากๆ
ลองถามตัวเองซักนิดถ้าคิดจะเข้าไป ผมฟันธงเลยครับ ไม่คุ้มครับ





เสร็จแล้วเราก็ได้ข้ามไปชมความงานของสุเลพญากันสักที
คราแรกเราเห็นสุเลพญาแต่ไกล จึงดูไม่ใหญ่มาก

แต่ใกล้ๆ ก็เหมือนกับเอาวัดใหญ่มากๆ ที่มีเจดีย์อยู่ตรงกลางมาวางแทนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแหล่ะครับ
รอบวัดก็มีรถวิ่งรอบๆ เป็นวงเวียนน่ะครับ ส่วนบริเวณรอบๆ ก็มีทั้งอาคารเก่าที่เป็นหน่วยงานของทางการ แล้วก็ย่านการค้าต่างๆมากมายครับ






เราเดินข้ามสะพานมาลอยมาเข้าบริเวณวัดบริเวณชั้นบนครับ
มีคนวิ่งมาบอกเราว่าต้องจ่ายเงินค่าบำรุงวัดด้วย แล้วก็เดินนำเราไปที่ทางเข้าอีกด้านหนึงเพื่อไปชำระเงินอีกประตูหนึ่ง
หลังจากชำระเงินแล้วเราก็ได้เดินเที่ยวในวัดกัน ดูในรูปเลยครับ
เจดีย์ก็เป็นอย่างที่เห็นครับ องค์สีทองขนาดใหญ่ ตั้วอยู่ตรงกลางวัด มีวิหารสร้างล้อมรอบ
ในวิหารรายรอบก็มีพระพุทธรูป และรูปปั้นนัตที่ชาวพม่านับถือกัน อยู่มากมาย
นัตคืออะไร นัตคือวิญญาณที่ได้รับการนับถือเสทือนเป็นเทพเจ้าครับ มีหลายองค์ด้วยกัน
ผมหันไปถามเพื่อน wiki แล้วได้คำตอบมาดังนี้ครับ

นัต (พม่า: ?; MLCTS: nat; อังกฤษ: nat; IPA: [na?]) ออกเสียง น่ะต์ หมายถึงผีของชาวพม่า เป็นความเชื่อพื้นเมืองที่มีมาก่อนที่พุทธศาสนาจะเข้ามาในพม่า นัตเป็นผีบรรพบุรุษ ลักษณะกึ่งผีกึ่งเทวดา คล้ายเทพารักษ์ คอยดูแลคุ้ม

ครองสถานที่ที่ตนเมื่อครั้งยังมีชีวิตมีความสัมพันธ์อยู่ โดยอาจจะมีศาลลักษณะคล้ายศาลเพียงตาตั้งบูชาอยู่ในสถานที่นั้น ๆ
เมื่อพระเจ้าอโนรธามังช่อ แห่งราชวงศ์พุกาม นำศาสนาพุทธนิกายเถรวาทจากมอญเข้าสู่พม่า ในพุทธศตวรรษที่ 18 ความเชื่อเรื่องนัตจึงถูกผสมผสานเข้ากับศาสนาพุทธ นัตถูกยกระดับให้เป็นนัตหลวง คือ นัตระดับประเทศ โดยพระองค์ได้ทำการตั้งศาลนัตหลวง

ขึ้นที่เขาโปปา หรือเรียกว่า มหาคีรีนัต 1,300 เมตร ใกล้เมืองพุกาม มีทั้งหมด 37 องค์ โดยองค์สำคัญคือ นัตตัจจาเมง (หรือ นัตสักรา หรือ พระอินทร์), นัตพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้, นัตโยนบะเยง (นัตพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์) เป็นต้น
โดยบุคคลที่จะได้รับการรับถือเป็นนัตนั้น ต้องมาจากสาเหตุการตายที่ไม่ใช่การตายธรรมดา กล่าวโดยง่ายคือ ตายโหง (ตายด้วยโรคปัจจุบันที่ไม่ใช่ด้วยโรคชรา) หรือ ตายห่า (อหิวาตกโรค) นั่นเอง เพราะเชื่อว่าจะมีฤทธานุภาพสูงกว่าผีทั่ว ๆ ไป

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือเที่ยวเมืองพม่า กล่าวว่ามีผีนัตถึง 39 ตน เรียกว่า นัตมิน (กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียกว่า แน็ตมิน) หรือ ผีหลวง และมีตำราว่าด้วยเรื่องผี ชื่อว่ามหาคีตะเมคะนี (Maha

Gita Megani) ซึ่งอยู่ในคัมภีร์โลกาพยุหะ อันเป็นตำราประเพณีของพม่า ซึ่งเซอร์ยอช สก็อต เป็นผู้เรียบเรียงหนังสือภิธานเมืองพม่าเหนือ หรือ Upper Burma Gasetteer มีรายชื่อเมืองและประวัติของผีหลวงทั้ง 39 ตน บอกถึง

ธรรมเนียมลงลงผีซึ่งส่วนใหญ่คนทรงจะเป็นผู้หญิง และผีนัติแต่ละตนจะมีการขับร้อง การฟ้อนรำ เครื่องดนตรี และเพลงเฉพาะตน โดยในวัดมหาธาตุชเวซิกอง เมืองพุกาม มีการสร้างผีนัตที่ทำจากไม้ ขนาดเท่าหุ่นกระบอกที่มีครบอยู่ 37 ตนเพียงแห่งเดียว ซึ่งแต่

ละตัวต่างแต่งตัวด้วยอาภรณ์หลากสี ตั้งอยู่บนฐานชุกชีในวิหารยาวประมาณ 4 ห้อง มีเพียงรูปเดียวที่มีขนาดเท่าคนจริงสวมเครื่องทรงกษัตริย์ซึ่งคือพระอินทร์ผู้เป็นหัวหน้าแห่งผีนัตทั้งปวง

ในหนังสือเที่ยวเมืองพม่า ของไพรัตน์ สูงกิจบูลย์ได้มีการกล่าวถึงผีนัตว่ามีเพียง 37 ตน โดยในช่วงสมัยอาณาจักรพุกาม เหลือผีนัตอยู่เพียง 22 ตน ต่อมาได้เพิ่มขึ้นในสมัยพระเจ้าอโนรธาอีก 15 ตน โดยมีรายนามดังต่อไปนี้[2]

รายชื่อผีนัตเดิม
1. ตะจามิน (พระอินทร์) ถือเป็นเจ้าแห่งผีนัตทั้งปวง
2. งะตินเด หรือ มินมหาคีรีนัต
3. ชเวเมี้ยตนา หรือ เจ้านางหน้าทอง
4. เจ้านางสีข้างทอง
5. นางงามสามเวลา
6. เจ้านางผิวขลุ่ย
7. เจ้าสีน้ำตาลแห่งทิศใต้
8. เจ้าสีขาวแห่งทิศเหนือ
9. เจ้าฉัตรขาว
10. พระมารดาหลวงของเจ้าฉัตรขาว
11. เจ้าแห่งปะเยมมา
12. เจ้านางทองคำ
13. ชายชราต้นกล้วยเดี่ยว
14. เจ้าสิทธู
15. เจ้าชิงช้าหนุ่ม
16. เจ้าจ่อส่วยผู้กล้าหาญ
17. แม่ทัพใหญ่แห่งอังวะ
18. นักเรียนนายทหารหลวง
19. เจ้าเทพทองน้อย
20. ปู่เจ้าแห่งมัณฑะเลย์
21. นางขาโก่ง
22. จ้าเทพทองใหญ่
23. มารดานักเรียนนายทหารหลวง

รายชื่อผีนัตเพิ่มเติม
24. เจ้าแห่งชาติ 5 เชือก
25. จอมกษัตริย์เจ้าแห่งความยุติธรรม
26. หม่องโปตู
27. ราชินีแห่งวังตะวันตก
28. เจ้าอ่องปินเล เจ้าแห่งช้างเผือก
29. นางตัวงอ
30. นอระธาทอง
31. เจ้าอองดิน
32. เจ้าขาวน้อย
33. เจ้าเณร
34. พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้
35. เจ้านางแห่งทิศเหนือ
36. เจ้ามินกาวง์แห่งตาวน์งู (ตองอู)
37. ราชเลขาธิการหลวง
38. โยนบะเยง (กษัตริย์แห่งเชียงใหม่)
39. ผู้กล้าหาญ

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้กล่าวเกี่ยวกับอิทธิฤทธิปาฏิหาริย์ของผีนัต ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้ามินดง เนื่องจากพระเจ้ามินดงได้ทรงมีพระดำริให้ทำการรื้อศาลผีนัตแห่งหนึ่งทำให้พระองค์ประชวร ดังมีข้อความดังนี้
"...ครั้งหนึ่งในรัชกาลพระเจ้ามินดง ผีแน็ตที่ศาลแห่งหนึ่งดุร้าย ทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้คนจนร้อนถึงพระเจ้ามินดง จึงโปรดให้ทำพิธีส่งวิญญาณด้วยประการอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยตรัสว่าผีแน็ตไปปฏิสนธิแล้ว ให้รื้อศาลเสียเถิดคนจะได้หายครั่นคร้าม
...อยู่ต่อมาพระเจ้ามินดงประชวร มีอาการให้จุกแดกเป็นกำลัง หมอหลวงถวายพระโอสถเสวยก็ไม่หาย พวกเข้าเฝ้าปรึกษากันเห็นว่า คงเป็นด้วยถูกผีแน็ตที่ดำรัสสั่งให้รื้อศาลกระทำร้าย ด้วยยังมิได้ไปเกิดใหม่ดังพระราชบริหาร จึงให้ทำศาลขึ้นอย่างเดิม พระเจ้า

มินดงก็หายประชวร..."

ส่วนใหญ่จะเจอท่านอยู่เกือบทุกวัดที่เราไปครับ
บางที่มีครบทุกองค์ บางที่มีแค่บางองค์ครับ
ที่คนไทยรู้จักกันก็คงเป็นพระเจ้าทันใจ ที่คนไทยนิยมไปไหว้ขอพรกัน ซึ่งผมจะไปวันพรุ่งนี้ครับ

ว่าเรื่องนัตจบกันแล้วเราก็มาดูเรื่องพระเจดีย์ สุเลพญากันต่อครับ
สุเลพญาเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมตั้งแต่องค์ระฆังขึ้นไปจนถึงชั้นบาตรคว่ำ สะท้อนอิทธิพลของพราหมณ์ที่ปนอยู่กับพุทธ ซึ่งตามตำนานกล่าวไว้ว่า มีพระสองรูป คือพระโสณะ กับพระอุตตระ มาจากอินเดียเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา และหลังจากประชุมสังคายนา

พระไตรปิฎกครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ.313 พระทั้งสองรูปก็ได้สร้างเจดีย์สำหรับบรรจุพระเกศธาตุที่อันเชิญมาจากอินเดียขึ้นที่เชิงเขาสิงคุตตระ มีชื่อเรียกเป็นภาษามอญว่า “ไจ้โต้ก” แปลว่า เจดีย์บรรจุพระเกศธาตุ

ปัจจุบัน ชาวพม่าถือว่าเป็นพระเจดีย์ทองที่สวยที่สุดในพม่า และเป็นศูนย์กลางของกรุงย่างกุ้งเนื่องจากในช่วงเวลาที่อังกฤษใช้ย่างกุ้งเป็นศูนย์ศูนย์กลางการปกครองพม่า ใน ฐานะเมืองขึ้น ได้มีการพัฒนากรุงย่างกุ้งโดยสร้างถนนหนทางตามระบบ “ Block

System ”โดยใช้สุเลเจดีย์เป็นจุดเริ่มต้นสร้างถนนสายหลักพุ่งออกไปทุกทิศทาง รอบ ๆ สุเลเจดีย์จึงเป็นที่ตั้งสถานที่ราชการ ศาลยุติธรรม ศาลาว่าการกรุงย่างกุ้ง และกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ มาจนถึงปัจจุบัน

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระนิพนธ์ว่า ชาวพม่าเรียกสุเลเจดีย์ว่า “ชเวสุเล” (Shwe Sule) หมายถึง “ จุลเจดีย์ทองคำ ” เพราะคำว่า “สุเล” เพี้ยนมาจาก “จุละ” คือเป็นเจดีย์ทององค์เล็ก ประดิษฐานเคียงข้าง “เชเวดากอง”

ซึ่งเป็น “มหาเจดีย์” หรือเจดีย์ทององค์ใหญ่ สุเลเจดีย์เป็นพุทธศิลป์แบบพระสถูปแปดเหลี่ยม ที่มีทรวดทรงงดงาม ชาวพม่าถือ สุเลเจดีย์เป็น “หัวใจ” ของเมืองหลวงย่างกุ้ง ส่วนเจดีย์ชเวดากองเป็น “หัวใจ” ของชนชาติพม่าทั้งมวล อย่างไรก็ตาม ดร.สุเนตร

ชุติณธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญพม่าศึกษา ให้ข้อมูลว่า “สุเล” เป็นชื่อของ “นัต” หรือภูติผีวิญญาณ 1ใน 37 ตนที่ชาวพม่านับถือคู่เคียงกับพุทธศาสนา เนื่องจากเป็น “นัต” ที่ช่วยปกป้องคุ้มครองแผ่นดินพม่าไว้ ตามตำนานแล้ว สุเลเป็นยักษ์ตนหนึ่งที่สักการะ

บูชาและเชื่อฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า และนำทางนายวานิชสองพี่น้องให้นำพระเกศาพระพุทธเจ้ามาบรรจุในเจดีย์ชเวดากอง ชาวพม่าจึงสร้างสุเลเจดีย์ขึ้นเป็นอนุสรณ์สถานแด่คุณความดีของยักษ์สุเล ซึ่งถือเป็นนัตตนหนึ่งในจิตวิญญาณของชนชาติพม่า
ปัจจุบันสูง 157 ฟุต







จากสุเลพญา เราเดินกันต่อเพื่อจะไปจองตั๋วรถทัวร์ที่ติดกับสนามกีฬา ตรงข้ามกับสถานีรถไฟ
เราเดินจากวงเวียนสุเลพญา
ผ่านหมู่ตึกสไตล์ตะวันตก ระหว่างทางเราผ่านห้างสรรพสินค้า ย่านนั้นก็คงคล้ายๆกับแถวสยามบ้านเรา คนเยอะมากๆ
มีรถประจำทางเยอะเหมือนกัน ตามป้ายรถเมลล์ ก็มีที่นั่งรอรถคล้ายๆ บ้านเรา แต่ป้ายโฆษณาจะเป็นโฆษณาพวก ชาแกแฟเยอะมาก
บ้านเขากินชากาแฟกันเยอะจริงๆ อาจจะรับวัฒนธรรมมาจากชาวอังกฤษสมัยที่เป็นอาณานิคม
คนที่รอรถประจำทางกันอยู่ก็ ส่วนใหญ่ก็จะแต่งตัวเป็นเทรนเดียวกันเกือบหมด แทบจะไม่มีใครแปลกแตกต่างออกไปเลย คือถ้าเป็นผู้ชายก็จะใส่เสื้อเชิ๊ตกับสะโหร่ง
ส่วนผู้หญิงก็จะใส่เสื้อเรียบร้อยกับผ้าถุง แต่การนุ่งผ้าถุงของสาวชาวพม่านี่สวยนะครับ
เขาจะนุ่งเข้ารูปเห็นสัดส่วนองค์เอวเลยที่เดียว สวยแบบเรียบร้อยครับ
อีกแฟชั่นหนึงที่เราเห็นได้ในชีวิตทั่วๆไป ทั้งนักเรียน นักศึกษา พนักงาน office ก็คือ ปิ่นโตครับ
ผู้คนส่วนใหญ่ยังต้องเตรียมอาหารออกไปเวลาไปทำงานหรือไปเรียนกันอยู่ครับ
มีคราหนึงผมนั่งรถผ่านชุมชนแถวๆหน้าโรงเรียนตอนที่โรงเรียนเลิกพอดี โอโห น่าจะมีไม่ต่ำกว่าสองร้อยเถาครับ
ผมว่าประเทศนี่ ต้องเป็นประเทศที่มีปื่นโตเยอะติดอันดับโลกแน่ๆ







เดินๆ เดิน เดินๆ เดิน แล้วในที่สุดเราก็มองเห็นทางรถไฟ
มองย้อนกลับไปก็เจอสถานี
ตรงข้ามสถานีก็เจอสิ่งที่เราตามหาครับ ร้านขายตั๋วรถทัวร์
ร้านจะอยู่ตรงข้ามกับ สถานีรถไฟจริงๆครับ สถานีรถไฟโดดเด่นเป็นสง่าครับหาไม่ยาก

จุดหมายต่อไปของเราก็คือเมืองพุกาม ที่นี้ก็แค่หาร้านแล้วก็ซื้อ แล้วก็จะได้ไปเที่ยวกันต่อ
เราเดินดู แต่ไม่เจอป้ายภาษาอังกฤษเลยสักร้าน เอาล่ะสิ ที่นี่คงต้องลองสุ่มเข้าไปถามหาดูว่าห้องไหนเขาขายตั๋วไปพุกาม
อ้อลืมบอกกันไป เขาขายตั๋วกันเป็นห้องๆ นะครับ ห้องใครห้องมัน ไม่เหมือนที่หมอชิตนะครับ ห้องเขาจะเหมือนห้องแถวมากกว่าครับ
เราสุ่มไปเจ้าแรก หน้าแตกครับ เขาไม่ได้ขายตั๋วไปพุกามครับ แต่เขาก็ยังใจดีออกมาชี้ให้ว่าห้องไหนขาย
เราขอบคุณเขาแล้วเดินไปยังเป้าหมายต่อไป แต่คำตอบที่เราได้ไม่ต่างไปจากที่ได้จากโรงแรมครับ
คือตั๋วเต็มหมด ทุกบริษัทด้วยครับ เธอพยายามโทรถามอีกหลายๆที่ให้เรา ก็ไม่มีเลย
ตอนนั้นมึนเลยครับ เอาไงดีเนี่ย แล้วก็มีน้องเขาก็แนะนำสิ่งที่เรามองข้ามไปมา ไปมัณฑะเลย์แทนไหม
มัณฑะเลย์ก็อยู่ในแผนเราอยู่แล้วครับ เพียงแต่เราวางแผนจะไปพุกามก่อนเท่านั้น แล้วค่อยไปมัณฑะเลย์
แล้วถ้าเราแค่สลับแผนกันล่ะ ก็เป็นไปได้นี่ น้องเขาบอกว่ารถจากมัณฑะเลย์ไปพุกามมีเยอะ ไปเที่ยวมัณฑะเลย์แล้วค่อยไปหาตั๋วไปพุกามเอาที่หลัง
เอาไงดีหล่ะครับ ก็ต้องไปล่ะ ดีกว่าติดแหงกอยู่ที่ย่างกุ้ง
เราได้ตั๋วไปมัณฑะเลย์ วันรุ่งขึ้นออกจากย่างกุ้ง7.30 pm (ที่นู่นเขาใช้ am-pmกันนะครับ) ถึงมัณฑะเลย์ 7.00 amครับ
ยี่ห้อ ก็ Mandalay May Express ครับผม ราคา 12000 จ็าดต่อคนครับ

ตั๋วรถด้านหน้าและด้านหลังครับผม





ต่อที่
9 days in Myanmar, 3rd Chapter(3/3) "First Step to Myanmar-First day in Yangon"
เลยนะครับ
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=wwangkanon-chiangmai&month=05-2010&date=31&group=1&gblog=9



Create Date : 31 พฤษภาคม 2553
Last Update : 6 มิถุนายน 2553 19:44:22 น. 2 comments
Counter : 3184 Pageviews.  

 
ว้าว บ้านนี้ เที่ยวอย่างมีคุณค่าจริงๆ เนื้อหาเพียบบบบ


โดย: Ezy-SeaHill วันที่: 8 มิถุนายน 2553 เวลา:8:31:29 น.  

 
ยังไม่จบครับ ยังเหลืออีกหลายตอนเลยครับ


โดย: Behind the lens (Behind the lens ) วันที่: 11 มิถุนายน 2553 เวลา:16:27:12 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Behind the lens
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




นาฬิกา
[Add Behind the lens's blog to your web]