บุษบาท่าเรือจ้าง
บุษบาท่าเรือจ้าง


คุณพุ่มผู้แต่งเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ เป็นธิดาของพระยาราชมนตรี(ภู่) ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเรื่องประวัติปรากฏมาว่า เดิมถวายตัวทำราชการฝ่ายใน ได้เป็นตำแหน่งพนักงานพระแสง แต่ต่อมาไม่สบายทูลลากลับออกไปอยู่บ้านบิดาแต่ยังสาว คณพุ่มเห็นจะชอบแต่งกลอนมาก่อนแล้ว แต่มามีชื่อเสียงในการแต่กลอนต่อเมื่อกลับออกมาอยู่นอกวัง ด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ชอบเล่นเพลงยาวและดอกสร้อยสักวากันแพร่หลาย คุณพุ่มอยู่แพที่หน้าบ้านบิดาข้างเหนือท่าพระ มักมีเจ้านาย คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์เป็นต้น และข้าราชการที่สูงศักดิ์ เช่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อยังเป็นหลวงนายสิทธิ แล้วเลื่อนเป็นพระนายไวย ไปติดพันเล่นสักรวากับคุณพุ่มที่แพนั้นมิใคร่ขาด จนเรียกกันว่า "บุษบาท่าเรือจ้าง"(๑) เพราะจอดแพอยู่ใกล้ท่าเรือจ้างที่ท่าพระ และมีเรื่องเกร็ดที่เล่ามาก็หลายอย่าง เช่นว่าครั้งหนึ่งคุณพุ่มเข้าแย่งพระแสงดาบของพระบาทสมเด็จพระปื่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้เสียดังนี้เป็นต้น แสดงว่าคุณพุ่มในสมัยนั้นเป็นคนกล้าทั้งปากทั้งมือ ในข้อปากกล้านั้นยังมีคำอธิษฐานคุณพุ่มแต่งปรากฏอยู่(๒) คือ


คำอธิษฐานคุณพุ่ม

๑. "ขออย่าให้เป็นคนชิดของเจ้าคุณผู้ใหญ่" คือ คนชิดของเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) อธิบายว่า เพราะมักถูกเฆี่ยนหลังลายไม่เว้นตัว

๒. "ขออย่าให้เป็นคนใช้ของเจ้าพระยานคร" คือ คนใช้ของเจ้าพระนคร(น้อย) อธิบายว่า เพราะถูกทำโทษนอกรีตต่างๆ ดังเช่นเรือช้าไป ให้ฝีพายถองเรือเป็นต้น

๓. "ขออย่าให้เป็นคนต้มน้ำร้อนของพระยาศรี" คือ คนต้มน้ำร้อนของพระยาศรีสหเทพ(เพ็ง) อธิบายว่า เพราะพระยาศรีฯนั้นแขกไปหาไม่มีขาด จนคนต้มน้ำร้อนเลี้ยงแขกจะหาเวลาพักมิได้

๔. "ขออย่าให้เป็นมโหรีของพระยาโคราช" อธิบายว่า พระยานครราชสีมาครั้งนั้น อยากเล่นมโหรีให้เหมือนขุนนางผู้ใหญ่ที่ในกรุงเทพฯ มีแต่พวกข่าและลาวเชลยก็เอามาหัดเป็นมโหรีไปตามแกน

๕. "ขออย่าให้เป็นสวาดิของพระองค์ชุมสาย" คือ มหาดเล็กตัวโปรดของกรมขุนราชสีหวิกรม อธิบายว่า ถ้าชอบทรงใช้มหาดเล็กคนไหน คนนั้นมักถูกจำโซ่ตรวนในเวลาใช้ไม่ได้ดังพระหฤทัย

๖. "ขออย่างให้เป็นฝีพายของเจ้าฟ้าอาภรณ์" อธิบายว่า ฝีพายเรือที่นั่งของเจ้าฟ้าอาภรณ์นั้น ต้องขานยาวถี่กว่าเรือลำไหนๆหมด

๗. "ขออย่างให้เป็นละครของแม่น้อยบ้า" คือละครของน้อย ธิดาเจ้าพระยานครราชสีมา(ทองอิน) อธิบายว่า ละครโรงอื่นๆเขาเล่นเอาเงินโรง แต่ละครของน้อยคนนั้นถึงใครจะให้เพียงข้าวปลา หรือที่สุดจนกะปิหอมกระเทียมก็รับเล่น ได้อะไรก็เอาสิ่งนั้นมาแจกเป็นบำเหน็จแก่ตัวละคร

๘. "ขออย่างให้รู้ชาตาเหมือนอาจารย์เซ่ง" อธิบายว่า นายเซ่งคนนั้นเป็นหมอดู ใครไปให้ดูก็มักทายว่าดวงชาตาดี จะถึงได้เป็นกษัตริย์บ้าง ได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่บ้าง ได้เป็นเศรษฐีบ้าง คนก็พากันหลงไปจ้างให้นายเซ่งดูชาตาลงที่สุดนายเซ่งต้องถูกลงพระราชอาญา

๙. "ขออย่าให้เป็นนักเลงอย่างท่านผู้หญิงฟัก" อธิบายว่า ท่านผู้หญิงฟักคนนั้นชอบเล่นเบี้ย มีอุบายนอกรีตอย่างหนึ่ง เวลาเข้าไปอยู่ในบ่อนเบี้ย มักทำกิริยาให้นายบ่อนมัวหลงดูที่ตัวท่ายผู้หญิงฟัก(๓) จนเป็นช่องให้พรรคพวกลักเปิดโปดูได้ กล่าวกันว่าเป็นนักเลงรวยด้วยอุบายอันนั้น

๑๐. "ขออย่าให้เป็นสมปักของพระนายไวย" คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เวลานั้นยังเป็นหัวหมื่นมหาดเล็ก อธิบายว่า เวลาเข้าเฝ้านุ่งผ้าสมปักพื้นเขียวอยู่ผืนเดียวไม่รู้จักเปลี่ยน

๑๑. "ขออย่าให้เป็นดอกไม้ของเจ้าคุณวัง" คือ เจ้าจอมมารดาตานีรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นธิดาเจ้าพระยามหาเสนาฯ(บุนนาค) และเป็นเจ้าจอมมารดากรมหมื่นสุรินทรรักษ์ อธิบายว่า เจ้าคุณวังเป็นช่างดอกไม้ ฝีมือดีอย่างยิ่งในสมัยนั้น ใครจะมีการงานก็มักไปขอดอกไม้ที่เจ้าคุณวัง เจ้าคุณวังต้องร้อยดอกไม้ช่วยงานเขาไม่ขาด จนดอกไม้ในสวนเจ้าคุณวังถูกเด็ดไม่มีโอกาสที่จะบานได้กับต้น

๑๒. "ขออย่าให้เป็นระฆังวัดบวรนิเวศ" อธิบายว่า ระฆังวัดอื่นๆโดยปรกติตีแต่เวลาจวนรุ่งกับจวนค่ำ วันละ ๒ เวลา แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ โปรดให้ตีระฆังเป็นสัญญาอาณัติสงฆ์ในการอย่างอื่น เช่นตีเรียกสงฆ์ลงโบสถ์เช้าค่ำเป็นต้น ระฆังวัดบวรนิเวศในสมัยนั้นจึงต้องตีมากกว่าระฆังวัดอื่นๆ


คำอธิษฐานของคุณพุ่ม ๑๒ ข้อนี้ ล้วนคิดแต่งขึ้นเยาะเล่นโดยอำเภอคะนองใจคะนองปาก เห็นจะสำหรับว่าให้ผู้ที่ชอบพอกันฟังเล่น จึงรู้กันแพร่หลาย

คุณพุ่มกล่าวไว้ในเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติว่า เมื่อรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดจะให้เข้าไปทำราชการในพระบรมบรมมหาราชวังอีก แต่พอใจจะอยู่นอกวังจึงทูลขอตัวเสีย แต่มาชั้นนี้คุณพุ่มอายุล่วงเข้าถึงกลางคน และไม่บริบูรณ์พูนสุขเหมือนเมื่อบิดายังมีชีวิตอยู่ในรัชกาลที่ ๓ คงมีแต่ฝีปากกลอนเป็นสมบัติสิ่งสำคัญสำหรับตัว แต่ก็ยังมีผู้นับหน้าถือตา เวลาเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่เล่นสักรวามักเชิญให้ไปบอกสักรวาเนืองๆ มีเรื่องเล่ากันมาว่า ในการเล่นสักรวาครั้งหนึ่ง กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ (ซึ่งในกระบวนแต่งกลอนนับว่าเป็นเอกพระองค์ ๑) ทรงทราบว่าคุณพุ่มไปบอกสักรวาอยู่ด้วย จึงทรงแต่งสักรวาให้ร้องเย้าคุณพุ่มบท ๑ ว่า

สักรวาวันนี้พี่สังเกต เหมือนพุ่มพวงดวงเนตรของเชษฐา
มิได้เล่นลับลี้หลายปีมา .......

คุณพุ่มได้ยิน รู้ว่าเป็นสำนวนพระนิพนธ์กรมหลวงภูวเนตตรฯก็แต่ตอบทันทีว่า

สักรวาน่าจะโห่ให้เรือล่ม นี่หรือกรมภูวเนตรเศษสวรรค์
เอานายทิมเข้ามาทวนพอควรกัน เหมือนอย่างหั่นใบขี้เหล็กให้เด็กตำ

สักรวาที่อ้าง ๒ บทหาฉบับได้แต่เท่านี้(๔) แต่พอเห็นได้ว่าคุณพุ่มเป็นคนปากกล้าเพียงไร จึงเลยเป็นเรื่องเล่ากันต่อมา

เมื่อรัชกาลที่ ๔ คุณพุ่มได้อาศัยพึ่งพำนักใจ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศและกรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธรทรงอุปการะมาทั้ง ๒ พระองค์ ปรากฏว่าได้ไปขุดสระให้เป็นสาธารณประโยชน์ไว้ที่บางโขมด ในหนทางที่ขึ้นพระพุทธบาทแห่ง ๑ เมื่อฉลองสระ คุณพุ่มได้แต่งเพลงยาวเขียนปิดไว้ที่ศาลาริมสระนั้น มีผู้ลอกคัดไว้ดังนี้


เพลงยาวคุณพุ่ม บวงสรวงฉลองสระบางโขมด

ยอกรประณตก้มเกษ อภิวันท์เทเวศทุกสถาน เสวยสุขในรุกขพิมาน ห้วยละหานชลธีที่ใกล้ไกล ทั้งเทพาอารักษ์ศักดาฤทธิ์ สิงสถิตย์โขดเขินเนินไศล ตั้งแต่พื้นภูมานภาไลย อีกพระไพรเจ้าป่าพนาลี ทุกพระองค์ทรงรับส่วนกุศล ซึ่งมาฉลองมงคลสระศรี ขออาไศรยในทิวาแลราตรี อย่าให้มีโรคันอันตราย เชิญสดับดุริยางค์ที่ขับกล่อม ประนมน้อมจุดธูปเทียนถวาย แม้ผู้ใดบังอาจประมาทกาย ทำหยาบคายเบาจิตต์มิคิดทัน ให้ขุ่นเคืองเบื้องบาทเทวเรศ อย่าถือโทษโปรดเกษกระหม่อมฉัน ช่วยปราบมารอย่าให้พาลมากีดกัน สารพันไพรีอย่าบีฑา เชิญเสด็จมาสดับรับบวงสรวง เอานามพุ่มแทนพวงทิพบุบผา ด้วยจากแดนแสนกันดารดวงมาลา ไม่หันหาบายศรีพลีสังเวย ส่วนกุศลต่างสุคนธรสรื่น อันหอมชื่นไม่สิ้นกลิ่นระเหย ไมตรีจิตต์อุทิศแทนนมเนย บูชาเชยอารักษ์ด้วยภักดี แล้วจะลาไปประนตพระบทเรศ ขอพระเดชคุ้มภัยในวิถี กับศีลทานเมตตาบารมี จงเป็นที่พึ่งทั่วทุกตัวไป ขอฝากน้ำฝากนามตามอักขระ ให้เรียกสระกระสัตรีวารีใส ฤดูแล้งอย่าให้แห้งเช่นแห่งใด ถ้าใครได้วิดวักเหมือนตักเติม ฉันสิ้นชนม์ชลสินธุ์อย่าสิ้นด้วย เทพช่วยบริรักษ์บำรุงเฉลิม ให้สะอาดเอี่ยมตามาตามเดิม จงพูนเพิ่มภิญโญโมทนา ชลธารนี้เป็นทานทั่วพิภพ อยู่ให้ครบห้าพันพระวรรษา แม้นชีวังยังไม่บรรไลยลา จะกลับมาชมอีกให้อิ่มเอย ฯ

สระ สำเร็จเสร็จสร้าง สามปี
น้ำ สะอาดดุจมณี ผ่องแผ้ว
ทำ ไว้หว่างวิถี ทางโกล อุดรแฮ
ทาน นีจงขจัดแร้ว รอดห้วงบ่วงมาร ฯ

ศา ลาท่าหยุดร้อย รับลม เรื่อยแฮ
ลา เลิศดูทรงสม เทริดฟ้า
นา นานิกรชม เชิญชื่น พักพ่อ
รี รักพอผ่อนล้า เลื่อยแล้วจึงจร ฯ

ผู้ใดจรจวบต้อง สุริยง
เชิญหยุดศาลาปลง ปลูกไว้
ผ่อนพักตักเสพสรง น้ำสระ
แล้วช่วยอวยผลให้ แก่ผู้รังสรร ฯ (๕)


เมื่อกรมหมื่นมเหศวรฯ กับกรมหมื่นวิศณุนารถฯ สิ้นพระชนม์แล้ว ถึงตอนปลายรัชกาลที่ ๔ คุณพุ่มอัตคัดขัดสนมาก อาศัยเลี้ยงชีพแต่ด้วยแต่งกลอนขาย ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๔ คนหนึ่ง ชวนให้คุณพุ่มแต่งกลอนชมพระเกียรติยศ คุณพุ่มจึงได้แต่งเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ เพื่อจะแสวงหาบำเหน็จจากผู้ที่จะขอลอกคัดไปอ่าน ความทั้งนี้คุณพุ่มได้บอกไว้ในเพลงยาว ดูราวกับอำนาจกุศลที่แต่เพลงยาวเฉลิมพระเกียรตินี้ ต่อมาไม่ช้าก็เริ่มทรงสักรวาในรัชกาลที่ ๕ คุณพุ่มจึงได้โอกาสเข้ารับราชการอยู่ในสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร เป็นผู้บอกสักวา ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงให้กลับมีความสุขสืบมาจนตลอดอายุ

ครั้งเล่นสักรวาในสระบางปอินเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกระซิบสั่งกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณให้ทรงสักรวาว่าเย้าคุณพุ่ม หมายจะทรงฟังสำนวนกลอนเวลาโกรธจะว่าอย่างไร กรมหลวงบดินทรฯแกล้งอ้างความขึ้นไปถึงครั้งคุณพุ่มชิงพระแสงดาบพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เย้าอยู่หลายบทสักรวา แต่จะเป็นเพราะคุณพุ่มแก่ชราเสียแล้ว หรือเพราะเกรงพระบารมีด้วยเป็นหน้าพระที่นั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งนี้ หาได้โต้ตอบเต็มสำนวนดังแต่ก่อนไม่ บทสักรวาเหล่านั้นปรากฏอยู่ในหนังสือประชุมบทสักราเล่นถวายในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งหอพระสมุดฯพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๑

คุณพุ่มนี้ ไม่ปรากฏว่าได้แต่งหนังสือเป็นเรื่องหนึ่งเรื่องใดไว้ ว่าโดยส่วนเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งหอพระสมุดฯพิมพ์แล้ว กระบวนความแต่งเป็น ๒ ตอน คือแต่งเฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตอน ๑ เฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตอน ๑ ในทางกลอนนับว่าดี แต่ในทางภาษาถ้อยคำมักชอบใช้เป็นกลอนตลาด หรือที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่า "อย่างซึมซาบ" แต่เมื่อพิจารณาดูทั้งเรื่องแล้ว ต้องนับว่าเป็นหนังสือแต่งดี อันสมควรจะพิมพ์รักษาไว้มิให้สูญญเสีย.


....................................................................................................................................................

(๑) มีอยู่ในเพลงยาวสามชาย หอพระสมุดฯพิมพ์แล้ว

(๒) คำอธิษฐาน กรมหลวงประจักรศิลปาคมทรงจำไว้ได้จดประทานมา

(๓) เคยอ่านพบว่า ท่านผู้หญิงฟักแกล้งเปิดหวอให้ดังลั่นบ่อนก็มี---กัมม์

(๔) บทสักรวานี้เจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ จำไว้ได้บ้าง จะหาฉบับให้จบยังไม่ได้

(๕) โคลง ๓ บทนี้ สงสัยว่าเป็นของผู้อื่นแต่ง หาใช่สำนวนของคุณพุ่มไม่

เอามาจาก คุณ กัมม์
//topicstock.pantip.com/library/topicstock/2006/04/K4328524/K4328524.html


ส่วนอีกเรื่องหนึ่งอยู่ในเรื่องคุณพุ่ม (บุษบาท่าเรือจ้าง) กวีหญิงผู้โด่งดังในสมัยรัชกาลที่ ๓

จะว่าไปแล้ว ‘สิทธิสตรี’ โดยเฉพาะสตรีชาวรั้วชาววังจะว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยนั้นก็ว่าได้

อย่างคุณพุ่ม เดิมเป็นชาววังตำแหน่งพนักงานพระแสง ซึ่งมีหน้าที่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน ต้องเป็นคนที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะต้องเชิญพระแสงตามเสด็จแต่บนที่ (ที่พระบรรทม เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘บนที่’) ไปทรงบาตร เมื่อเสด็จกลับขึ้นหอพระต้องคลานผ่าน6เจ้านายฝ่ายใน ซึ่งเฝ้าอยู่ตลอดพระที่นั่งไพศาลทักษิณมาถวายพระแสงให้ทรงถือที่พระทวารา (ในรัชกาลที่ ๔ พระราชทานชื่อพระทวารานี้ว่า ‘เทวราชมเหศร’)

ต่อมาคุณพุ่มกราบถวายบังคมลากลับไปอยู่บ้านบิดา อ้างว่าป่วยไม่สบาย บ้านพระยาราชมนตรี (ทู่) อยู่ตรงท่าช้างวังหลวงในปัจจุบันนี้ คุณพุ่มมีแพอยู่หน้าบ้านทำนองสโมสร ซึ่งมีผู้เข้าใจว่าเป็นบ้านเรือนของคุณพุ่มด้วย แต่ที่จริงแล้วคุณพุ่มไม่ได้นอนในแพนั้น แพเป็นเพียงที่ชุมนุมเล่นสักวาทำนองสโมสรดังกล่าว การเล่นสักวาและแต่งเพลงยาวในสมัยรัชกาลที่ ๓ เฟื่องฟูมาก โดยเฉพาะการชุมนุมที่แพของคุณพุ่มต้องเป็นสังคมชาวราชสำนักที่ ‘ดัง’ มากทีเดียว ถึงอย่างไรก็ต้องถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ชายหนุ่มชั้นสูงที่มาชุมนุมเล่นสักวา ขณะนั้นล้วนแต่กำลังเป็นหนุ่มคะนอง สามพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ ๓ คือ พระองค์เจ้าทินกร (กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์) สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ) พระองค์เจ้านวม (กรมหลวงวงศาธิราชสนิท)

อีกสองท่าน ผู้หนึ่งคือ หลวงนายสิทธิ (ช่วง) (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) บุตรชายใหญ่ของเจ้าพระยาพระคลัง (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ในรัชกาลที่ ๔) อีกผู้หนึ่งคือ พระสุริยภักดี (สนิท) บุตรชายใหญ่ของพระยาศรีพิพัฒน์ (ทัดหรือทัต)-(สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติในรัชกาลที่ ๔)

ใน ๓ พระองค์ และ ๒ ท่าน นี้ พระองค์เจ้าทินกรสูงพระชันษากว่าเพื่อน ประสูติ พ.ศ.๒๓๔๔ ส่วน สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี พระองค์เจ้านวม และหลวงนายสิทธิ ประสูติและเกิดปีเดียวกัน (พ.ศ.๒๓๕๑)

พระสุริยภักดี (สนิท) อายุน้อยที่สุด เกิด พ.ศ.๒๓๕๕

พระสุริยภักดี เมื่อเกิดเรื่องส่งเพลงยาวถึงกันและกันกับเจ้าจอมอิ่ม จนต้องโทษนั้น พ.ศ.๒๔๘๑ อายุเพียง ๒๖-๒๗ ปี ระหว่างเริ่มเป็นหนุ่มคะนองเล่นสักวาในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ อายุคงจะประมาณ ๑๙-๒๐ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี พระองค์เจ้านวม และหลวงนายสิทธิ ก็คงประมาณ ๒๔-๒๕ ส่วนพระองค์เจ้าทินกรพระชันษาสูงกว่าท่านผู้อื่น เห็นจะประมาณ ๓๐

เรื่องพระสุริยภักดี (สนิท) กับเจ้าจอมอิ่มเคยเล่ามาแล้ว

ได้กล่าวถึง ‘สิทธิสตรี’ ในสมัยนั้น นอกจากคุณพุ่มแล้ว แม้สตรีชาวรั้วชาววังท่านอื่น หากจะกราบถวายบังคมลาออกไปอยู่บ้าน หรือไปมีสามีข้างนอก พระเจ้าแผ่นดินท่านก็ไม่ทรงว่า และเมื่อออกไปแล้ว จะไปประพฤติอย่างไรท่านก็ไม่ทรงสนพระทัย แต่สำหรับเรื่องราวนั้นคงจะเข้าพระกรรณอยู่บ้าง

เช่นเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ ซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นเจ้าจอมพระสนมท่านสุดท้าย เพราะหลังจากมีพระองค์เจ้าหญิงประสูติ พ.ศ.๒๓๖๖ คือ พระองค์เจ้าแม้นเขียนแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯก็เสด็จสวรรคต พ.ศ.๒๓๖๗ ถัดมาอีกปีเดียว แต่พระองค์เจ้าแม้นเขียนมิใช่พระราชธิดาองค์สุดท้าย พระราชธิดาองค์สุดท้ายประสูติ พ.ศ.๒๓๖๗ คือพระองค์เจ้ากนิษฐน้อยนารี ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาอัมพาหรืออำภา เป็นพระองค์ที่ ๕ ของเจ้าจอมมารดาอัมพา

เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์นี้ว่ากันว่าอายุเพียง ๑๘-๑๙ ปี รูปร่างหน้าตาสวยสดงดงาม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เสด็จสวรรคตแล้ว ว่ากันว่า กรมหลวงภูวเนตรฯ ทรงส่งเพลงยาวไป ‘เกี้ยว’ เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์จึงออกจากวังหลวงไปอยู่วังกรมหลวงภูวเนตรฯ

การออกจากวังหลวงไปนั้น ไม่ทราบแน่ชัดว่าออกไปเฉยๆ หรือกราบถวายบังคมลา แต่น่าจะเดาว่าในฐานะของเจ้าจอมมารดา มีพระเจ้าลูกเธออยู่ๆ คงจะออกไปเฉยๆ ไม่ได้ เห็นจะต้องมีท้าวนางกราบทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์จึงได้ไปเป็น ‘หม่อม’ ในพระองค์เจ้าทินกร

อยู่ต่อมาพักหนึ่ง เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ก็ออกจากวังพระองค์เจ้าทินกร ย้ายไปอยู่วังกรมหมื่นพิทักษ์เทเวศร์ (พระองค์เจ้ากุญชร กรมพระพิทักษ์เทเวศร์) พระเชษฐาองค์กลาง

ไม่นานนักก็ย้ายไปอยู่วัง กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ (พระองค์เจ้าพนมวัน กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์) พระเชษฐาองค์ใหญ่

ว่ากันว่า เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ ท่านเตร็ดเตร่ไปเรื่อยๆ แม้จะเป็นที่ทราบกันอยู่ แต่เมื่อออกมาจากวังแล้ว ท่านก็มี ‘สิทธิสตรี’ เช่นเดียวกับคุณพุ่ม

ตรงนี้อาจมีผู้ถามว่าแล้วพระสุริยภักดีและเจ้าจอมอิ่มทำไมจึงต้องพระราชอาญาถึงประหารชีวิตทั้งคู่

เพราะมีผู้ฟ้องร้องขึ้นไปกราบบังคมทูล จึงได้โปรดฯให้ลูกขุนพิจารณาโทษ ลูกขุนพร้อมกันตัดสินโทษตามกฎมณเฑียรบาล ซึ่งกำหนดโทษไว้ว่า

‘อนึ่ง ข้าเฝ้าทั้งปวงใช้หนังสือกาพย์ โคลงเข้าวัง สื่อชักคบค้ากำนัลสาวใช้ฝ่ายใน โทษถึงตาย

อนึ่ง ข้าฝ่ายในคบผู้ชายหมู่นอกใช้หนังสือกาพย์โคลงไปมา โทษถึงตาย’

เสมอนางกำนัลสาวใช้ยังโทษถึงตาย นี่เป็นถึงเจ้าจอมในรัชกาลปัจจุบัน

ส่วนเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์นั้น เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ล่วงแล้ว เมื่อออกไปก็ไปอยู่วังเจ้านาย พูดง่ายๆ ว่าถึงจะมีผัวใหม่ ก็ได้เจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ บางทีจะโปรดฯพระราชทานให้ด้วยซ้ำไป เพราะเคยมีปรากฏแล้วเรื่องพระราชทานเจ้าจอมที่ยังสาวและมิได้มีพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลก่อนให้แก่พระบรมวงศ์

เรื่องหญิงตามชายไปโดยสมัครใจ และภายหลัง หญิงเลิกราไปอยู่กับชายอื่นนี้ ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้ทรงประกาศพระราชบัญญัติเรื่องลักพาความตอนหนึ่งว่า

‘...อนึ่ง หญิงซึ่งตามชายไปโดยความสมัครรักใคร่กันเอง บิดามารดามิได้ยอมยกให้ ไม่ได้แต่งมีทุนสินสอดอย่างนี้ ก็เชื่อว่าเป็นหญิงไม่ดี ชายจะถือว่าเป็นเมียไม่ได้ ก็เมื่อไม่สมัครอยู่กับชาย จะหนีกลับมาหาบิดามารดาแลญาติพี่น้องก็ดี จะตามชายอื่นไปก็ดี ชายที่เรียกว่าเป็นผัวนั้น จะตามฟ้องร้องเร่งรัดเอาตัวหรือจะเอาเบี้ยปรับแก่ชายชู้ใหม่ไม่ได้ เพราะมันมาฉันใดให้มันไปฉันนั้น...’

ประกาศฉบับนี้ แม้จะทรงตำหนิผู้หญิงว่าไม่ดี แต่พิจารณาอีกแง่ดูจะเป็นการให้ ‘สิทธิสตรี’ ไม่น้อยทีเดียว

ในสมัยก่อนโน้น คงจะมีการฟ้องร้องเกี่ยวกับลูกหลานหนีตามผู้ชายกันเสมอๆ ประกาศเรื่องเกี่ยวกับการลักพา จึงมีความอีกตอนหนึ่งว่า

‘บุตรหญิงของใครๆ จงระวังรักษาเอง จงหาผัวให้เป็นที่ชอบใจเร็วๆ เถิด ถ้าเกิดเหตุติดตามผู้ชายไป ก็จะต้องคงลงให้ถามตามใจหญิงสมัคร ผู้ลอบลักพาถ้าไม่ได้ขอสมาก็ให้มีเบี้ยละเมิด ของซึ่งหายในเวลาหญิงหนีตามชายไป (ถ้า) เจ้าทรัพย์สาบาลไว้ว่าหายไปเวลานั้น ผู้ลักพาก็ต้องใช้ ต้องเร่งรัดให้ใช้เจ้าของทรัพย์จนเต็ม หรือตามใจเจ้าทรัพย์ จะยอมลดยอมให้บ้าง (แต่) จะให้ว่ายิ่งกว่านี้ไปไม่ได้ เพราะบิดามารดาแลญาติผู้ใหญ่เลี้ยงบุตรหลานไม่ดี...’

เรื่องเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ คงจะ ‘ดัง’ อยู่ไม่น้อย เมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ จึงทรงประกาศ มีพระบรมราชานุญาตให้เจ้าจอมพระสนมในรัชกาลก่อนๆ หรือแม้แต่ในรัชกาลของพระองค์ที่มิได้มีพระองค์เจ้าลูกยาเธอและลูกเธอ กราบถวายบังคมลาออกจากราชการได้ ให้กราบถวายบังคมลาโดยตรง แม้จะออกไป ‘มีลูกมีผัว’ ก็ไม่ทรงหวงห้าม แต่ ‘ห้ามแต่อย่าให้สนสื่อหาชู้หาผัวแต่ตัวยังอยู่ในราชการด้วยอุบายทางใดทางหนึ่งก่อนกราบบังคมทูลพระกรุณาเป็นอันขาดทีเดียว เป็นดังนั้นจะเสียพระราชกำหนดสำหรับแผ่นดินไป...’

เล่าเรื่องเสียยืดยาว เพราะทั้งคุณพุ่มและเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกันกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ เอ่ยพระนามกรมหลวงภูวเนตรฯ ผู้รู้จักท่านคงมีไม่มากนัก นอกเสียจากผู้สนใจเรื่องกวี แต่ถ้าหากบอกว่า ท่านเป็นผู้ทรงนิพนธ์เรื่องแก้วหน้าม้าที่กำลังแข่งกันกระโดดโลดเต้นในจอโทรทัศน์สองช่องอยู่เวลานี้ และเป็นผู้ทรงนิพนธ์เรื่อง พระมณีพิชัย หรือ ส่วนมากเรียกว่า เรื่องนางยอพระกลิ่น (กินแมว) ก็คงจะร้องอ๋อไปตามๆ กัน

.
.





Create Date : 04 พฤษภาคม 2550
Last Update : 6 ธันวาคม 2551 7:07:49 น.
Counter : 1420 Pageviews.

6 comments
  
สภาพโกลาหลบังเกิดในฉับพลัน ที่กองทัพกรุงศรีอยุธยาดาหน้าเข้าปะทะแนวทัพข้าศึก เสียงคมอาวุธปะทะกันดังสลับสลอน เสียงโห่ร้องกึกก้อง ฝีเท้านับหมื่นคู่ย่ำพื้นดินสะเทือน ส่งผงคลีปลิวคลุ้งมืดฟ้ามัวดิน เสียงช้างศึก ม้าศึก เสียงคมอาวุธปะทะเนื้อและเสียงแผดร้องโหยหวน ส่งผลให้ทุ่งกว้างแห่งนั้นกลายเป็นสนามรบอันดุเดือดเลือดพล่าน...
แม้ปรากฏมีอาวุธปืนจากยุโรปถูกนำเข้ามาใช้ตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่สงครามน้อยใหญ่ระหว่างคนไทยและข้าศึก นับตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนใหญ่เป็นการสู้รบแบบประชิดตัว ทั้งสองฝ่ายเข้าฟาดฟันกันด้วยศาสตราวุธนานาชนิด ทั้งทวน ง้าว โล่ หอก...โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดาบเป็นอาวุธที่ใช้อย่างกว้างขวางที่สุด
ในประวัติการสู้รบของคนไทย ดาบเล่มที่ขึ้นชื่อลือชาที่สุด เห็นจะได้แก่"พระแสงดาบคาบค่าย"ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีจอ? ยามกลางคืน พระองค์ทรงคาบพระแสงดาบนำทหารปีนขึ้นระเนียด หมายเข้าตีค่ายพม่าที่ยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา
วีรกรรมอันอาญหาญตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไม่ว่าครั้งทำสงครามยุทธหัตถี ,ทรงพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง, นำทัพตีไทใหญ่เมืองคัง ฯลฯ ล้วนแสดงให้เห็นความเป็นกษัตริย์นักรบที่กล้าหาญ เชี่ยวชาญในยุทธวิธี พระองค์เป็นผู้นำทัพไทยกอบกู้อิสรภาพกรุงศรีอยุธยาให้พ้นจากตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ในรัชสมัยของพระองค์อาณาจักรอยุธยาสามารถแผ่อำนาจและอาณาเขตไปอย่างกว้างขวาง พระองค์จึงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ได้รับการเชิดชู มีพระราชประวัติปรากฏอยู่ในพงศาวดาร จดหมายเหตุ เอกสารประวัติศาสตร์ ตลอดจนตำนาน และเรื่องเล่าต่างๆ จากปากต่อปาก
ขณะเดียวกัน การศึกสงครามนับครั้งไม่ถ้วนตลอดรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และภายหลังจากนั้น ไม่ว่ากับอาณาจักรพม่า และชาติอื่นๆ ทำให้คะเนได้ว่า คนไทยสมัยนั้นต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อการสู้รบตลอดเวลา คงมีสำนักสอนวิชาการต่อสู้ตั้งอยู่ทั่วไปทั้งที่เมืองหลวงและหัวเมืองต่างๆ อาจารย์ผู้มีชื่อเสียงจะมีคนจำนวนมากมาฝากตัวขอเป็นศิษย์ ทำให้วิชาการต่อสู้ของไทย อาทิ มวยไทย ดาบไทย ได้รับการสืบทอดและพัฒนาสืบมา จนกลายเป็นวิชาที่มีเอกลักษณ์และอานุภาพ...
แผ่นป้ายไม้หน้าประตูนั้นปรากฏข้อความว่า"สำนักดาบอาทมาฏนเรศวร" เด็กหนุ่มทยอยมาถึงคนแล้วคนเล่า เปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดทะมัดทะแมงแล้วก็ฉวยดาบหวายลงสู่ลานปูนเพื่อฝึกซ้อม พวกเขาการ์ดดาบ ก้าวย่าง วาดดาบด้วยท่วงท่าและแววตามุ่งมั่น ตามคำแนะนำของครูฝึก
อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นการซ้อมดาบเตรียมรับศึกในสมัยอยุธยา หากนี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาปัจจุบัน ณ.ปี ๒๕๔๖ ในลานปูนของบ้านหลังที่ถูกแวดล้อมด้วยดงตึกของย่านสาธร กรุงเทพมหานคร ผู้ก่อตั้งและสมาชิกของสำนักดาบแห่งนี้กล่าวว่า วิชาดาบของพวกเขา เป็นวิชาดาบของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
"วิชาดาบอาทมาฏเป็นของสมเด็จพระนเรศวรฯ เป็นวิชาที่รวดเร็ว รุนแรง และอันตรายมาก คนที่จะหัดได้ต้องมีจรรยาบรรณ ห้ามไปทะเลาะเบาะแว้งกับใคร เพราะอาจตีเขาตาย โดยเฉพาะวิชาตัดข้อตัดเอ็น ซึ่งเป็นวิชาสูงสุดของอาทมาฏ คือไม่มีการฟันดาบ แต่มุ่งฟันข้อต่อของร่างกาย"ครูมาโนทย์ บุญญมัด--ครูฝึกประจำสำนักกล่าว
ในยุคคอมพิวเตอร์ที่คนยิงกันตายเกลื่อนเมืองเช่นปัจจุบัน การที่คนกลุ่มหนึ่งคร่ำเคร่งฝึกวิชาดาบย่อมเป็นเรื่องน่าสนใจ ที่สำคัญ วิชาดาบที่พวกเขาเชื่อกันว่าเป็นวิชาโบราณ สืบทอดมาจากแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้นจะเป็นอย่างไร...
________________________________________
๑.
กล่าวได้ว่า สำนักดาบอาทมาฏนเรศวรกำเนิดขึ้นได้ เพราะการโคจรมาพบกันของคนสองคน คืออาจารย์ชาติชาย อัชนันท์ และครูมาโนทย์ บุญญมัด เรื่องราวของสำนักดาบแห่งนี้คงไม่สมบูรณ์ หากขาดบันทึกประวัติของบุคคลทั้งสอง
แม้อาจารย์ชาติชายได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อตั้งสำนัก และเป็นเจ้าของสถานที่ แต่ต้นตำรับวิชาดาบอาทมาฏคือครูมาโนทย์ ผู้เกิดและเติบโตในจังหวัดพิษณุโลก --เมืองเดียวกับที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพระราชสมภพ และภายหลังจากที่พระองค์เสด็จกลับ มาจากการเป็นตัวประกัน ของพระเจ้าบุเรงนองที่ประเทศพม่า ก็เสด็จมาครองเมืองนี้ในฐานะพระมหาอุปราช
"ผมเกิดที่จังหวัดพิษณุโลก"ครูมาโนทย์เริ่มต้นเล่าสู่วงสนทนา เขาเป็นคนผิวคล้ำ ปีนี้อายุได้ ๔๔ ปี ตัวไม่ใหญ่แต่คล่องแคล่วแข็งแรง"สมัยเด็กๆ ผมป่วยกระเสาะกระแสะมาตลอด ลุงที่มีความรู้ด้านโหราศาสตร์ ได้แนะนำให้เอาผมไปถวายเป็นลูกบุญธรรม ของท่านเจ้าคุณวรญาณมุนี ซึ่งเป็นรองเจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือที่เรียกว่าวัดใหญ่ คือเอาไปให้พระเลี้ยง ผมได้เข้าไปอาศัยอยู่ในวัด ตั้งแต่นั้นมาก็หายป่วย ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลอีกเลย"
ครูมาโนทย์เล่าถึงที่มาของการเริ่มฝึกวิชาดาบว่า"ผมชอบดาบมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ในงานวัดจะมีขายพวกดาบพลาสติก ผมก็ชอบซื้อแต่ดาบอยู่อย่างงั้น หัดฟันเล่นๆ ไปๆ มาๆ ก็มีคนมาสอนดาบให้ ผมมีโอกาศได้เรียนกับครูดาบหลายท่าน ตั้งแต่ก่อนเรียนดาบสายกรมพละในโรงเรียนอีก"
"แล้วครูผมแต่ละท่านจะมาแปลกๆ บางท่านตกรถไฟมา ไม่มีข้าวกิน มาขอกินข้าว ผมก็เอาข้าวให้กิน เช่นครูธำรงค์ ไม่ยอมบอกนามสกุล บอกแต่ว่ามาจากสำนักดาบพุธไธสวรรค์ มากินนอนและฝึกดาบอยู่กับผมถึง ๓ ปีก็ยังไม่รู้นามสกุลของท่านเลย จนกระทั่งท่านจากไป อีกท่านหนึ่งบอกแต่ชื่อสำนัก แต่ไม่ยอมบอกชื่อตัวท่าน ผมจึงเรียกท่านว่าครูมาตลอด ท่านบอกแต่เพียงเป็นหนึ่งในสี่ศิษย์เอกของท่านปรมาจารย์อารีย์ ผู้ก่อตั้งสำนักดาบศรีอยุธย์ ที่จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนั้นยังมีอีกสองท่านที่ไม่ยอมบอกสำนัก แต่ละท่านได้สั่งสอนผมท่านละหนึ่งปีบ้าง สองปีบ้าง สามปีบ้าง"
ครูมาโนทย์กล่าวว่า แม้ตัวเขาเรียนวิชาดาบมาหลายสำนักแล้ว แต่เมื่อได้เห็นวิชาดาบของครูต่างถิ่นท่านหนึ่ง ก็ถึงกับตื่นเต้นและฉงนสนเท่ห์ นี่คือจุดเริ่มต้นที่เขาได้รู้จักวิชาดาบอาทมาฏ
"ตอนนั้นผมอายุสิบกว่าปี เรียนอยู่ชั้นมัธยมที่โรงเรียนพุทธชินราช และเป็นครูฝึกดาบสายพุทไธสวรรค์ให้กับนักเรียนรุ่นน้อง ก็ได้ข่าวว่ามีครูดาบฝีมือดีจากทางเหนือมาสอนอยู่ที่โรงเรียนเซนต์นิโคลัส เมื่อได้ไปดูท่านฝึกซ้อมแล้วรู้สึกเป็นเรื่องที่แปลกมาก ครูท่านนั้นอายุประมาณ ๔๐ กว่า ท่านใช้วิชาดาบสองมือ ที่สำคัญคือท่านเป็นคนขาเป๋ แต่พอฟันดาบท่านมีความรวดเร็วมาก คู่ฝึกซ้อมที่เป็นคนขาดีจะรับก็รับไม่ทัน หนีก็หนีไม่พ้น จะฟันก็ตามท่านไม่ทัน แล้วท่าดาบของท่านก็แปลกๆ มีการยกแข้งยกขา เหินตัว มีการกระโดด การฉาก ผิดกับวิชาสำนักอื่นที่ผมเรียนมา ซึ่งส่วนมากจะวิ่งตรง ถอยตรง"
"ผมจึงไปฝากตัวเป็นศิษย์ ได้ทราบว่าท่านชื่อครูสุริยา และวิชาดาบสองมือที่ท่านใช้เรียกว่าวิชาดาบอาทมาฏ ผมเรียนดาบกับท่านอยู่สามปี ฝึกซ้อมทั้งกลางวันกลางคืน ระหว่างนั้นครูสุริยาได้เล่าประวัติของวิชาดาบอาทมาฏให้ฟังว่า เดิมวิชานี้เป็นส่วนหนึ่งของตำราพิชัยสงครามซึ่งถูกฉีกออกก่อนสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก นำไปเก็บรักษาไว้ทางภาคเหนือ แล้วส่งมอบให้กับสมเด็จพระนเรศวรฯ เมื่อพระองค์เสด็จกลับจากเป็นตัวประกันที่พม่า มาครองเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระนเรศวรฯได้ใช้วิชานี้ฝึกสอนผู้คนที่ซ่องสุมไว้ เข้าป่าเข้ารกฝึกกัน โดยพระองค์และพระเอกาทศรศทรงเป็นครูฝึกเอง เพื่อเตรียมพร้อมทำสงครามกับพม่า"
โดย: โตมิ IP: 202.57.172.236 วันที่: 4 พฤษภาคม 2550 เวลา:14:31:23 น.
  
ครูมาโนทย์เล่าต่อว่า"คนที่จะเป็นทหารของสมเด็จพระนเรศวรฯได้ต้องเป็นคนที่มีฝีมือ ครูสุริยายังเล่าว่า กองทหารที่ใช้วิชาดาบอาทมาฏ ก็คือกองอาทมาฏ ทหารของกองนี้ยังเป็นคนรักษาเท้าช้างในยามสงคราม ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญมาก เพราะถ้าช้างทรงเจ็บ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่อยู่ข้างบนจะตกที่นั่งลำบาก ดูตอนที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแห่งพม่า มีแต่คนคุมเท้าช้างเท่านั้นที่ตามทัน ที่ครูเล่ามีเท่านี้"
เรื่องเล่าของครูสุริยาจากความทรงจำของครูมาโนทย์นี่เอง เป็นที่มาของความเชื่อและคำกล่าวที่ว่า ดาบอาทมาฏเป็นวิชาของสมเด็จพระนเรศวรฯ
ครูมาโนทย์เล่าว่า เขาเรียนดาบอาทมาฏอยู่ ๓ ปีจึงสำเร็จวิชา ประจวบกับจบการศึกษาชั้นมัธยมปลายในปี ๒๕๒๑ จึงลาครูสุริยาเข้ามาศึกษาต่อมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่กรุงเทพฯ แต่เมื่อกลับไปเยี่ยมบ้านอีกครั้ง ก็ไม่พบครูสุริยาแล้ว
"ครูสุริยาได้หายไปอย่างไร้ร่องรอย ตั้งแต่นั้นมาผมไม่ได้พบท่านอีกเลย"
ขณะเรียนอยู่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ครูมาโนทย์ได้เข้าชมรมกีฬาต่อสู้ป้องกันตัว สำนักดาบเจ้ารามฯ หนึ่งปีต่อมาก็ได้เป็นครูฝึกของสำนัก
"ผมเป็นครูฝึกสำนักดาบเจ้ารามฯ ถึงปี ๒๕๓๘ แต่ไม่เคยนำวิชาดาบอาทมาฏออกมาเผยแพร่เลย เพราะสำนักดาบเจ้ารามฯ มีวิชาดาบของตนเองอยู่แล้ว การนำวิชาอื่นมาสอนเป็นการไม่บังควร และที่สำคัญ วิชาดาบอาทมาฏเป็นวิชาที่อันตรายมาก ถ้าคนสำมะเลเทเมา หรือคนเกกมะเหรกเกเรเอาวิชานี้ไปใช้ คนอื่นจะเดือดร้อน คนฝึกต้องมีคุณธรรมสูง ผมจึงเก็บวิชานี้ไว้กว่า ๒๐ ปี โดยไม่ได้เผยแพร่ กระทั่งปลายปี ๒๕๓๘ อาจารย์ชาติชาย อัชนันท์ ได้ติดต่อเข้ามาเพื่อขอศึกษาวิชานี้ อาจารย์ชาติชายเป็นศิษย์ของท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ปรมาจารย์มวยไชยา ส่วนผมเคยศึกษามวยไชยาจากครูทองหล่อ ยาและ ซึ่งเป็นศิษย์ของปรมาจารย์เขตร จึงถือว่า อาจารย์ชาติชายเป็นรุ่นพี่ทางสายมวย อีกทั้งผมลองสืบประวัติดู พบว่าเป็นคนดี ผมใช้เวลาตรึกตรองอยู่เป็นเดือน จึงตกลงใจถ่ายทอดวิชาดาบอาทมาฏให้อาจารย์ชาติชาย"
คนที่ไม่รู้จักอาจคิดว่าอาจารย์ชาติชาย อัชนันท์ เป็นนายตำรวจหรือทหาร มากกว่าสถานภาพที่แท้จริง คือเป็นนักธุรกิจด้านโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ เพราะชายวัย ๔๕ ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านกฏหมายการคลังและภาษีจากประเทศฝรั่งเศสผู้นี้ เป็นคนร่างใหญ่แข็งแรง ท่วงท่าองอาจผึ่งผาย บุคลลิคลักษณะเช่นนี้ หล่อหลอมมาจากเป็นผู้เคยผ่านการศึกษาศิลปะการต่อสู้นานาชนิด ได้ฝึกซ้อมออกกำลังกายอยู่สม่ำเสมอ
อาจารย์ชาติชายเริ่มเรียนยูโดตั้งแต่อายุสิบกว่าปี ขณะเป็นนักเรียนโรงเรียนอัญสัมชัญ บางรัก ต่อมาได้เรียนวิชามวยไทยสายปรมาจารย์กิมเส็ง ทวีสิทธิ์ แล้วไปฝากตัวเป็นศิษย์เรียนมวยไชยากับปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ศึกษาวิชาดาบและกระบี่กระบองจากอาจารย์สมัย เมศะมาน แห่งสำนักดาบพุทธไธสวรรค์, อาจารย์จำนงค์ บำเพ็ญทรัพย์(ปู่เส็ง) แห่งสำนักดาบบ้านช่างหล่อ เรียนดาบศรีอยุธฯ จากอาจารย์วัลลภิศ สดประเสริฐ เรียนดาบศรีไตรรัตน์ที่เปิดสอนภายในโรงเรียน ทั้งยังศึกษาวิชาการต่อสู้ต่างประเทศอีกหลายแขนง เช่นเรียนเทควันโด้จนได้สายดำ จากอาจารย์คิม เมียง ซู ชาวเกาหลี เรียนมวยจีนของสำนักมวยจีนเสียวลิ้มยี่ และเรียนวิชามวยจีนตระกูลหยางกับอาจารย์คันศร งามพึงพิศ
"ปี ๒๕๒๖ ผมกลับจากฝรั่งเศสมาเยี่ยมบ้าน ได้มีโอกาศเรียนมวยไชยาเพิ่มเติมกับครูทองหล่อ ยาและ หรือครูทอง เชื้อไชยา ศิษย์เอกคนหนึ่งของท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ครูทองมีลูกศิษย์คนหนึ่ง คือครูแปลง( ) ซึ่งสนิทกับผม ช่วงปี ๒๕๓๘ มีอยู่วันหนึ่งครูแปลงก็รำดาบท่าคลุมไตรภพให้ดู ตอนนั้นผมก็ เอ๊ะ! ดาบอะไร ไม่เคยเห็น ครูแปลงเล่าให้ฟังว่า เขาเรียนวิชาดาบนี้มาจากครูคนหนึ่ง ซึ่งเก่งมาก ก็คือครูมาโนทย์ ผมก็เลยให้ครูแปลงไปตาม"อาจารย์ชาติชายเล่า
"พบกันครั้งแรกเป็นการพูดคุยแนะนำตัว อีกวันหนึ่งครูแปลงไม่มาด้วย พอครูมาโนทย์มาถึงบ้านผม ผมถือดาบหวาย พี่โนทย์ถือดาบหวาย ผมก็ตีแกเลย หวดเลย พอหวดปุ๊บเขาก็หวดแขนผม เจ็บ หวดอีกทีเขาก็หวดโดนผมอีก ผมบอกหวดหลายทีแล้วนะ ชักโมโห ก็ไล่ตี เขาก็ยิ้มหัวเราะแบบสบายๆ พอผมหวดไปแรงๆ เขาก็ใช้ลูกไม้สะท้อนบ้าง คลื่นกระทบฝั่งบ้าง เล่นผมซะน่วมเลย วันนั้นเขาทำให้ผมเจ็บตัว แต่ยังไม่ยอมสอนวิชา แล้วเขาก็หายไปตั้งนาน จริงๆ เขาไปสืบประวัติว่าผมเป็นคนยังไง ผมต้องไปตามหาเขา ขอให้สอนวิชาให้"
"ผมเรียนวิชาดาบมาหลายสำนัก พอมาเห็นวิชาดาบอาทมาฏ ผมรู้เลยว่าเป็นวิชาดาบที่ดี เพราะมีทั้งแม่ไม้และลูกไม้ที่แตกออกได้เป็นร้อยๆ พันๆ ท่า แต่ละท่าก็มีชื่อแบบโบราณ แล้วผมเคยเรียนมาว่า โดยทั่วๆ ไปของที่ดีจะมีคำสรุป หรือแก่นของมัน อย่างมวยผมก็เข้าใจถึงแก่น เช่น ป้องปัดปิดเปิด ทุ่มทับจับหัก อย่างดาบอาทมาฏก็มีแก่นวิชาของมัน เช่น ท่าฟันคือท่ารับ ท่ารับคือท่าฟัน แล้วการการ์ดดาบ การรับใน วางขา การลดดาบปัดป้องวนเป็นวง พร้อมรุกรับในเวลาเดียวกัน มันคือเหลี่ยมเดียวกับมวยไชยาที่ผมเรียนมา"
อาจารย์ชาติชายฝึกวิชาดาบอาทมาฏกับครูมาโนทย์ทั้งกลางวันกลางคืนเป็นแรมปี ยิ่งเรียนก็ยิ่งประจักษ์ถึงอานุภาพของวิชานี้ จึงตัดสินใจก่อตั้งสำนักดาบขึ้น เพื่อหวังเผยแพร่และอนุรักษ์วิชาดาบอาทมาฏไม่ให้สูญหาย
จนถึงปัจจุบันอาจารย์ชาติชายและครูมาโนทย์เปิดสำนักสอนดาบได้ปีกว่าแล้ว และหากมองย้อนกลับไป กล่าวได้ว่า เพราะ"ท่าคลุมไตรภพ" ซึ่งเป็นหนึ่งในสามท่าแม่ไม้หลักของวิชาดาบอาทมาฏ ที่ดึงดูดใจอาจารย์ชาติชายตั้งแต่แรกเห็น คือจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสำนักดาบอาทมาฏนเรศวร
________________________________________
๒.
"พุ่งดาบมาเลยครับ"
ครูมาโนทย์ร้องบอกให้พวกเราพุ่งดาบหวายใส่ ขณะเขาวาดดาบท่าคลุมไตรภพไปด้วย ดาบหวายในมือซ้ายขวา วาดประสานเป็นวงรูปเลขแปดอาระบิคแนวตั้ง อย่างต่อเนื่องครั้งแล้วครั้งเล่า
พวกเราคนหนึ่งจดๆ จ้องๆ ในที่สุดดาบหวายในมือเขาถูกพุ่งออกไป แม้ไม่ถึงกับสุดแรงเพราะยังติดด้วยเกรงใจ ทว่าก็ไม่เรียกว่าเบา แต่สุดท้ายมันถูกม่านดาบอันรวดเร็วของครูมาโนทย์ปัดกระเด็นไปอีกทาง
"ท่าคลุมไตรภพมีความหมายตามชื่อของมัน ไตรภพหมายถึงสวรรค์ มนุษย์ นรก เปรียบได้กับส่วนบน กลาง ล่างของร่างกาย หมายความว่าท่านี้สามารถปกคลุม ป้องกันทุกส่วนของร่างกายได้หมด"ครูมาโนทย์กล่าว"สมัยก่อนตอนฝึกกับครูสุริยา ท่านใช้ดาบเหล็กพุ่งใส่ ผมต้องปัดให้ได้ แล้วต้องฝึกในเวลากลางคืน เพื่อฝึกสายตา ให้เห็นแนวดาบ แต่ฝึกเด็กทุกวันนี้ผมใช้ดาบหวาย เพราะเด็กต้องเรียนหนังสือ บาดเจ็บแล้วไม่คุ้มกัน"
ท่าคลุมไตรภพแม้มีความสำคัญ แต่เป็นเพียงส่วนเดียว ของความพลิกแพลงซับซ้อนของวิชาดาบอาทมาฏ อาจารย์ชาติชายนั่นเองเป็นผู้จัดลำดับ และอธิบายโครงสร้างของหลักวิชา เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ
ศิษย์ใหม่ของสำนัก จะได้เรียนหลักวิชาพื้นฐานอย่างท่าการ์ดดาบเป็นอันดับแรก แต่หากศิษย์ผู้นั้นเคยผ่านสำนักดาบอื่นมาบ้าง เขาจะรู้ว่าท่าการ์ดดาบอาทมาฏไม่เหมือนสำนักอื่นใด
โดย: โตมิ IP: 202.57.172.236 วันที่: 4 พฤษภาคม 2550 เวลา:14:32:39 น.
  
การ์ดดาบอาทมาฏเป็นดาบรับใน ขาข้างหนึ่งก้าวมาข้างหน้า งอเข่าเล็กน้อย แขนข้างเดียวกับขาหน้ายื่นมาข้างหน้า กำดาบโดยหันด้านฝ่ามือเข้าในตัว แนวดาบพาบเฉียงสี่สิบห้าองศา พาดผ่านระหว่างคิ้วและดวงตาที่จ้องไปยังคู่ต่อสู้ ดาบอีกข้างถืออยู่แนบด้านข้างตัวในระดับเอว ปลายดาบชี้เฉียงขึ้นเล็กน้อยพุ่งเข้าหาหน้าอกคู่ต่อสู้ และเมื่อเดินการ์ดหรือถอยการ์ด คือเดินมาข้างหน้าหรือถอยหลัง ดาบที่ระดับเอวจะถูกดึงขึ้นมาพาดเฉียงแทนที่อีกข้างที่ถูกดึงลงแนบลำตัว สลับสับเปลี่ยนกัน
เพียงท่าพื้นฐานเช่นท่าการ์ด ก็สามารถชักนำเข้าสู่หัวใจ ของเคล็ดวิชาดาบอาทมาฏที่ว่า"ท่าฟันคือท่ารับ ท่ารับคือท่าฟัน"
"ผมจะแสดงให้ดู"
อาจารย์ชาติชายคว้าดาบหวายสองเล่ม เดินเข้าหาเป้ายางรถยนต์บนเสาไม้กลางลานปูน เขาตั้งการ์ด ดาบหน้าฟาดลงบนยางบังเกิดเสียงดังหนักหน่วง ทว่าสิ่งที่น่าสนใจกว่าความรุนแรงกลับเป็นท่วงท่าเคลื่อนไหว เพราะดาบที่แนบลำตัวได้ถูกดึงขึ้นพาดเฉียงด้านหน้าแทน ส่วนดาบที่ฟาดยางรูดลงไปแนบลำตัวในขณะเดียวกัน อยู่ในท่าป้องกันอันรัดกุม ไม่มีช่องว่างให้โจมตี นี่คือความหมายของการฟันในท่ารับ ในทางกลับกัน หากคู่ต่อสู้ฟันมาก็จะติดดาบหน้าที่พาดขวาง ขณะดาบที่แนบลำตัวพร้อมพุ่งแทงสวนออกไปในฉับพลัน
จากท่าการ์ดดาบ ลำดับต่อไปคือแม่ไม้ทั้ง ๓ ท่า เราได้เห็นท่าคลุมไตรภพไปแล้ว โอกาสต่อมาครูมาโนทย์ได้รำอีกสองท่าให้เราดู ในท่า"ตลบสิงขร" ดาบซ้ายขวาวาดวนในระดับเอวเป็นวงรูปเลขแปดอาระบิคในแนวนอน ขณะท่า"ย้อนฟองสมุทร" ดาบทั้งสองข้างวาดเป็นรูปเลขแปดอาระบิคแนวตั้ง ทว่าต่างจากท่า"คลุมไตรภพ"ตรงที่ ในท่านี้ดาบทั้งสองมือวาดเป็นเลขแปดสองตัวต่อกันจากล่างขึ้นบน ขณะวาดดาบก็มีการโล้ตัวไปข้างหน้าและหลังด้วย
อาจารย์ชาติชายอธิบายว่า"แม่ไม้ทั้งสามท่ามันทำให้แขนได้วาดไป ดาบของเราจะวนอย่างนี้ตลอด เพื่อไม่ให้มีช่องว่าง เราจะไม่หยุดดาบ จะวาดดาบช้าๆ ก็ได้ แต่ต้องเคลื่อนที่ตลอดเวลา ขณะวาดดาบก็พร้อมฟันหรือแทงเขาไปด้วย"
"ดูดีๆ ผมจะทำคลุมไตรภพให้ดู"ครูมาโนทย์ว่า"คู่ต่อสู้เข้ามา ผมจะฟันดื้อๆ อย่างนี้ก็ได้ แล้วกลับมาพร้อมที่จะรับ หรือผมจะแทงเลยก็ได้ เพราะไม่มีการเงื้อ ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นก่อนฟันจะต้องเงื้อดาบ...เรียกว่าเงื้อให้เห็นมาจากบ้าน พอเงื้อดาบคู่ต่อสู้ก็รู้ตัว แต่ของเราวนดาบอยู่ตลอด ไม่มีการเงื้อให้เห็น จะฟันจะแทงก็แตกออกไปจากท่าวนดาบได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ตายตัว"
"ผมเคยเจอคู่ต่อสู้เร็วมาก"อาจารย์ชาติชายยกตัวอย่าง"แต่ผมก็กุ่มเข้าไปเลย คลุมไตรภพเข้าไปเลย พอเขาเงื้อจะฟัน ผมพลิก ตีเลย ปัง! มันก็โดนอยู่แล้ว ผมไม่ต้องคอยรับเลย แต่ผมใช้ท่าแม่ไม้คลุมตัวไว้ก่อน ค่อยทำเขา"
ลำดับต่อจากแม่ไม้ ๓ ท่า ก็คือ ๑๒ ท่าไม้รำ ซึ่งมีชื่อเรียกแบบโบราณ ได้แก่ ท่าไม้รำเสือลากหาง ฟันเงื้อสีดา หงษ์ปีกหัก ท่ายักษ์ พระรามแผลงศร เชิญเทียนตัดเทียน มอญส่องกล้อง ลับหอกลับดาบ ช้างประสานงา กาล้วงไส้ พญาครุฑยุดนาค เรียงหมอน และท่าสอดสร้อยมาลา
ผู้เรียนดาบอาทมาฏจะต้องฝึกรำท่าไม้รำให้ครบทั้ง ๑๒ ท่า เพราะแต่ละท่าได้บรรจุ"ลูกไม้"ต่างๆ เอาไว้ ซึ่งก็คือท่วงท่าที่ใช้ในการต่อสู้จริงๆ ลูกไม้แต่ละท่าต่างก็มีชื่อเรียกเป็นของตัวเอง เช่น เสือทลายห้าง-การฟันดาบคู่ลงมาจากเหนือศรีษะ, เสือลากหาง-การวาดดาบโดยปลายดาบจรดพื้นในแนวข้างลำตัว พร้อมเตะขาไปข้างหน้าเพื่อส่งแรง, ไอยราฟาดงวง-จิกปลายดาบจากด้านบนลงสู่ศรีษะคู่ต่อสู้, ฟันเรียงหมอน-ดาบคู่ฟันกวาดแนวนอน หรือมอญส่องกล้อง-ดาบหนึ่งขวางไว้ด้านบน กันดาบคู่ต่อสู้ฟันลงมา ส่วนดาบอีกข้างแทงย้อนขึ้นสู่ลำตัวคู่ต่อสู้
นอกจากฝึกท่าไม้รำแล้ว ยังต้องฝึกท่าเท้า ได้แก่ท่าเท้า ๔ ทิศ ๘ แฉก คือการหัดพลิกเหลี่ยมสู่ทิศทั้งสี่ และการหัดเคลื่อนตัววนเป็นวน นอกจากนั้นยังต้องฝึกเหยาะย่าง เขย่งก้าวกระโดด ฝึกการเหินตัว ทั้งนี้เพราะท่าเท้าเป็นส่วนสำคัญมากของวิชาดาบอาทมาฏ
"เมื่อฝึกท่าการ์ด ท่าเท้า และฝึกท่าไม้รำแล้ว ก็จะเข้าสู่การฝึกกลยุทธและกลศึก หลายลูกไม้เป็นหนึ่งกลยุทธ หลายกลยุทธเป็นหนึ่งกลศึก"ครูมาโนทย์กล่าว
ส่วนอาจารย์ชาติชาย อธิบายให้เห็นภาพ "วิชาดาบอาทมาฏจะแตกออกจากจุดศูนย์กลางไปรอบวง จากท่าการ์ด สู่ท่าแม่ไม้ สู่ท่าไม้รำ แล้วแตกออกสู่ท่าลูกไม้ เหมือนก้อนหินหล่นสู่ผิวน้ำ เกิดคลื่นวงกลม แผ่ออกจากศูนย์กลางวงแล้ววงเล่า แล้วท่าลูกไม้วงนอกยังสามารถแตกออกไป หรือผสมกับลูกไม้อื่นได้อีกเป็นร้อยๆ พันๆ ท่า ไม่รู้จบ แล้วแต่ความสามารถและไหวพริบปฏิภาณของแต่ละคน"
"คนยิ่งฉลาดเท่าไหร่ก็ยิ่งแตกวงท่าดาบออกไปได้กว้างขึ้น"พี่เป๊ก ศิษย์รุ่นใหญ่ของสำนักสรุป
อาจเปรียบเทียบได้อีกอย่างว่าวิชาดาบอาทมาฏคล้ายดอกไม้ไฟ มันแตกออกจากจุดศูนย์กลางเป็นประกายแสงสี ยิ่งแตกออกไปวงแล้ววงเล่า ก็ยิ่งพร่างพรายลายตา ทว่ายิ่งสวยงามก็ยิ่งอันตราย เพราะมันหมายถึงทางดาบที่ยิ่งพลิกแพลงยากคาดเดา
________________________________________
โดย: โตมิ IP: 202.57.172.236 วันที่: 4 พฤษภาคม 2550 เวลา:14:33:38 น.
  
๓.
ครูมาโนทย์กำลังจะแสดงท่วงท่าพลิกแพลงของดาบอาทมาฏให้เราชม เขายืนประจันหน้ากับศิษย์เอก คราวนี้ทั้งสองใช้ดาบเหล็ก ยืนจดจ้องกันในท่าการ์ด แล้วเข้าสู่ท่าคลุมไตรภพ
ลูกศิษย์เป็นฝ่ายบุกเข้ามาก่อน แทงดาบขวาเข้ามา ครูมาโนทย์รับด้วยลูกไม้ท่าพิรุณร้องไห้ โดยดาบในมือซ้ายพลิกปลายลงพื้น ใช้คมต้านดาบที่แทงมา พร้อมถอยขาขวาไปข้างหลังแล้วพลิกเหลี่ยมกลับตัวไปทางขวา ดาบในมือขวาแทงย้อนกลับมาด้วยท่าไผ่พันลำ เข้าสู่แผ่นหลังอันเป็นจุดอับของคู่ต่อสู้ จากนั้นหมุนตัวทางขวาอีกครึ่งรอบ หันมาประจันกับด้านหลังคู่ต่อสู่ โดยคมดาบขวากดตรงหลังคอเอาไว้ ขาซ้ายยกขึ้นเตรียมเขย่งก้าวกระโดด ปาดดาบขวาเฉือนลง ตามด้วยดาบซ้ายฟันเฉียงจากด้านบนสู่แผลเดิมตรงหลังคอเพื่อเผด็จศึก ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในชั่วพริบตาเดียวเท่านั้น ยังดีที่เป็นเพียงการสาธิต เราจึงไม่ได้เห็นเลือดจากคมดาบ
ครูมาโนทย์ให้ลูกศิษย์แทงมาอีกครั้ง เขาใช้ดาบซ้ายพลิกปลายลงรับดาบขวาที่แทงมา พร้อมพลิกตัวเบี่ยงไปทางขวาคู่ต่อสู้เช่นเดิม แต่คราวนี้แทนที่จะแทงดาบขวาย้อนกลับในท่าไผ่พันลำ กลับพลิกข้อมือให้ปลายดาบซ้ายชี้ขึ้นฟ้า แล้วจิกคมปลายดาบลงกลางหัวคู่ต่อสู้ด้วยลูกไม้ท่าไอยราฟาดงวง
ทั้งหมดคือการพลิกแพลงด้วยท่าต่อท่า แต่ลูกไม้ท่าเดียวกัน ยังสามารถแตกตัวผสมกับท่าอื่นได้อีก อย่างเช่นลูกไม้ท่าฟันเรียงหมอน ที่ดาบซ้ายขวาฟันกวาดตามขวางในแนวขนานกัน
"คนไม่รู้อาจคิดว่า ดาบคู่ท่าฟันเรียงหมอนใช้รับหรือโจมตีด้วยกันเพียงอย่างเดียว ที่จริงดาบหนึ่งใช้รับ ดาบหนึ่งใช้ฟันต่างหาก"ครูมาโนทย์เผยเคล็ดลับ
ในการสาธิตอีกครั้งหนึ่ง คู่ต่อสู้ฟันดาบคู่ลงมาจากด้านบน ครูมาโนทย์ใช้ลูกไม้ท่าฟันเรียงหมอน ดาบบนใช้รับดาบที่ฟันลงมา ขณะดาบล่างฟันปาดกลางลำตัวคู่ต่อสู้
"ดูให้ดี ท่าฟันเรียงหมอนยังสามารถถ่างดาบบนและดาบล่างแยกห่างจากกันได้อีก ขณะดาบบนฟันในแนวปรกติ แต่เราย่อตัว ฟันดาบล่างในระดับเรี่ยพื้นเข้าสู่แนวข้อเท้าคู่ต่อสู้ เรียกว่าฟันด้วยท่าเถรกวาดลาน"
...ในขณะคู่ต่อสู้ฟันจู่โจมเข้าใส่ แทนที่จะถูกบังคับให้เป็นฝ่ายรับ ผู้ใช้วิชาดาบอาทมาฏกลับสามารถตอบโต้กลับไปในคราวเดียว นี่เองคือจุดเด่นที่เป็นหัวใจของวิชานี้
ในฐานะต้นตำรับวิชา ครูมาโนทย์อธิบายว่า"ปรัชญาของวิชาดาบอาทมาฏ นอกจาก ท่าฟันคือท่ารับ ท่ารับคือท่าฟันแล้ว ยังมี ท่ารุกคือท่ารับ ท่ารับก็คือท่ารุก หมายความว่าในทุกท่วงท่าของดาบอาทมาฏ สามารถรับพร้อมรุกในเวลาเดียวกัน ไม่ใช่รับก่อนถึงค่อยรุก และขณะที่รุกเขา ก็ยังมีท่ารับอยู่ในตัว และยังมี เขาฟันเราไม่รับ เขารับเราไม่ฟัน จะฟันต่อเมื่อเขาไม่รับ จะรับต่อเมื่อหลบหลีกไม่พ้น"
แล้วครูมาโนทย์ก็แสดงให้เราเห็นถึงการ"รุกและรับในจังหวะเดียวกัน" เมื่อคู่ต่อสู้ฟันดาบคู่ลงจากด้านบนในท่าเสือทลายห้าง ก็เจอกับลูกไม้มอญส่องกล้อง ดาบมือซ้ายของครูมาโนทย์พาดขวางเหนือศรีษะ สกัดดาบที่ฟันลงมา พร้อมย่อตัวลงต่ำ ดาบมือขวาแทงตรงจากล่างขึ้นบน สู่หน้าอกคู่ต่อสู้ในจังหวะเดียวกัน
"ไหนแทงมาอีกที"เขาบอกลูกศิษย์
ลูกศิษย์แทงมาด้วยดาบซ้าย ครูมาโนทย์ดึงขาซ้ายไปข้างหลังพร้อมเบี่ยงตัวหลบดาบที่พุ่งเข้ามา ขณะดาบในมือขวาฟันจากบนลงล่างด้วยท่านารายณ์ทรงจักร คมดาบมิได้ปะทะดาบที่แทงเข้ามา ทว่าฟันลงบนตำแหน่งข้อมือคู่ต่อสู้! การเผด็จศึกในพริบตานี้แสดงให้เห็นถึง"ท่ารับคือท่ารุก" ซ้ำยังแสดงเคล็ดวิชา"ตัดข้อตัดเอ็น" ซึ่งครูมาโนทย์กล่าวว่าเป็นวิชาขั้นสูงที่อันตรายอย่างยิ่ง
ครูมาโนทย์ยืนประจันกับลูกศิษย์อีกครั้ง พวกเราตั้งใจดูว่าคราวนี้เขาจะทำอะไร ครูมาโนทย์เป็นฝ่ายบุกก่อน ฟันดาบขวาจากมุมบนขวาเฉียงลงในแนวสี่สิบห้าองศา คู่ต่อสู้ยกดาบซ้ายขวางรับ คมดาบยังไม่ทันปะทะกัน ครูมาโนทย์พลันพลิกข้อมือ วกดาบฟันเฉือนลงตามแนวทแยงอีกด้าน คมดาบลากผ่านไหล่ขวาของคู่ต่อสู้เป็นแนวลงมาสู่ชายโครงด้านซ้าย
"เมื่อเราฟัน คู่ต่อสู้จะรับ เราอาศัยการพลิกดาบ แล้วฟันเฉือนในท่าฝานลูกบวบ ซึ่งก็เข้าสู่หลักการ เขารับเราไม่ฟัน จะฟันต่อเมื่อเขาไม่รับ"ครูมาโนทย์อธิบาย
"นอกจากนั้น ดาบอาทมาฏยังมีวิชาขั้นสูง ถือเป็นวิชาลับ จะไม่สอนให้ใครง่ายๆ นอกจากศิษย์เอกที่ไว้ใจได้จริงๆ เพราะเป็นวิชาที่อันตราย คือวิชาตัดข้อตัดเอ็น ๒๗ ท่า กับวิชาหนุมานเชิญธง ๔๘ ท่า วิชานี้จะใช้ในเวลาถูกรุม คือต้องต่อสู้กับคนจำนวนมาก ตั้งแต่ ๓ คน ๕ คน กระทั่ง ๑๐ หรือ ๒๐ คนก็สู้ได้"
ครูมาโนทย์ได้แสดงการต่อสู้กับคู่ต่อสู้จำนวนมากพร้อมๆ กันหน้าพระพักตร์สมเด็จพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ในโอกาสที่พระองค์เสด็จเยี่ยมชมสำนักดาบอาทมาฏนเรศวร เมื่อวันที่........
ยิ่งเรามาเก็บข้อมูลที่สำนักดาบอาทมาฏฯ บ่อยครั้ง ก็ยิ่งเห็นความซับซ้อนพลิกแพลงของวิชาดาบอาทมาฏ ที่อาจารย์ชาติชายและครูมาโนทย์แสดงให้ดู ไม่เพียงแม่ไม้ ลูกไม้ กลยุทธ กลศึก วิชาดาบอาทมาฏยังเต็มไปด้วยกลเม็ด เคล็ดลับ และชั้นเชิงอันแพรวพราว ดังเช่น การเข้าลึกออกเร็ว การกดดาบ-ตามดาบ การกระตุกดาบคู่ต่อสู้ การฟันรูด การใช้ด้ามดาบกระทุ้ง หรือการพลิกข้อมือ การหลอกล่อ หลอกซ้าย-ตีขวา หลอกขวา-ฟันซ้าย หลอกบน-ลงล่าง หลอกล่าง-ขึ้นบน ฯลฯ
หลักวิชาอันซับซ้อนเช่นนี้ เป็นดั่งอาจารย์ชาติชายกล่าวว่า ยิ่งผู้ใช้มีปฏิภาณก็ยิ่งใช้วิชาดาบได้กว้างไกล แต่อีกส่วนที่สำคัญก็คือ อาจารย์ผู้สอนมีหลักการถ่ายทอดวิชาอย่างไร จึงจะทำให้ศิษย์เข้าใจวิชาดาบอาทมาฏอย่างถึงแก่น
ทุกเย็นวันศุกร์ของแต่ละสัปดาห์ ลูกศิษย์ทั้งรุ่นเล็ก-กลาง-ใหญ่ จะทยอยมายังสำนักดาบอาทมาฏนเรศวร ซอยสาธร ๙ กลุ่มหนึ่งมาเรียนมวยไชยาที่อาจารย์ชาติชายสอนอยู่ก่อนแล้ว อีกกลุ่มมาเพื่อเรียนดาบสองมือ
________________________________________
๔.
กระสอบทรายใบใหญ่แขวนบนเสาโลหะแข็งแรงตรงมุมหนึ่งของลานบ้าน พวกเรียนมวยไชยาที่พันมือเสร็จแล้วมายืนรวมกลุ่มกันอยู่ เป็นนักเรียนมัธยมชาย มีทั้งตัวเล็กตัวใหญ่คละรุ่น คนหนึ่งโจนเข้าเตะกระสอบทราย แรงปะทะจากแข้งบังเกิดเสียงดังหนักแน่น
กลุ่มฝึกดาบกำลังวิ่งวอร์มรอบสนามปูน เมื่อครบจำนวนรอบที่กำหนด ครูมาโนทย์ก็บอกให้ศิษย์รุ่นเล็กได้แก่พวกหนุ่มวัยรุ่น ยืนประจำหน้าเป้ายางรถยนต์ที่ตั้งเรียงราย เพื่อฝึกการตีเป้า ขณะศิษย์รุ่นเก่าอย่างพี่หมูและพี่พิเชฐจับคู่ฝึกซ้อมใช้ลูกไม้ต่อสู้กัน
ครูมาโนทย์บอกให้พวกตีเป้าฟันซ้ายขวา เฉียงสี่สิบห้าองศาแบบสะพายแล่ง ๕๐ ครั้ง แล้วเปลี่ยนเป็นฟันกวาดตามแนวขวางแบบฟันเรียงหมอน เสียงทึบจากดาบหวายปะทะเนื้อยางพลันดังเป็นจังหวะพร้อมเพรียง
"เวลาฟันเรียงหมอน ให้ย่อตัว บิดตัว บิดไหล่ด้วย"ครูบอกลูกศิษย์
อาจารย์ชาติชายอธิบายให้เราฟังว่า"การฝึกตียางเป็นการฝึกพื้นฐาน เพื่อให้ได้กำลังแขน ให้ข้อ หัวไหล่ และขาแข็งแรง และเพื่อฝึกความแม่นยำ"
ขั้นตอนการฝึกดาบอาทมาฏ ศิษย์ใหม่จะต้องเริ่มต้นจากฝึกพื้นฐาน นอกจากฝึกตีเป้า ก็ต้องฝึกควงพลอง ๔ ท่าหลัก คือท่าแข่งแสงสูรย์ พิรุณร้องไห้ นารายณ์ทรงจักร และไอยราฟาดงวง เพื่อฝึกกำลังข้อ แขน และเพื่อให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายเคลื่อนไหวอย่างกลมกลืน ไม่สะดุด เพราะระหว่างการควงพลองจะต้องมีการหมุนตัว เอี้ยวตัว เอี้ยวไหล่ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการใช้ท่าการ์ด และท่าเท้า ๔ ทิศ ฉาก ๘ แฉกต่อไป เมื่อผู้ฝึกมีพื้นฐานแน่นแล้ว ก็เริ่มฝึกท่าการ์ด แม่ไม้สามท่า ฝึกท่าเท้า เมื่อชำนาญก็ฝึกท่ารำ และกลยุทธกลศึกในที่สุด
จากการฝึกพื้นฐานสู่การฝึกวิชาขั้นสูง อาจารย์ชาติชายกล่าวว่าสำนักดาบอาทมาฏฯ จะให้ความสำคัญกับการสอน การอธิบายอย่างละเอียด เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจ
"หลักการสอนของที่นี่ ไม่ใช่ให้ทำอย่างเดียว แต่จะสอนด้วยว่าทำไปเพื่ออะไร คือจะอธิบายทุกท่วงท่า ทุกรายละเอียด ว่ากำลังทำอะไรอยู่ เช่นในการรำท่าไม้รำ ไม่ใช้สักแต่รำ-รำ-รำ ไป แต่ไม่รู้ว่าทำไมต้องรำท่านี้ ทำไมต้องทำอย่างนี้ ทำไมต้องเงยหน้า ทำไมต้องหันซ้าย-หันขวา ทำไมต้องมองปลายดาบ เพราะจริงๆ แล้วลักษณะการเคลื่อนอากัปกริยาทุกอย่างมีเหตุมีผลหมด"
"ที่นี่เราเริ่มสอนตั้งแต่ท่าไหว้ครู ในท่าเทพพนม เวลานั่งคุกเข่าต้องแยกส้นเท้า ก็เพื่อเวลาถูกจู่โจมจะได้ดีดตัวหลบหลีกได้รวดเร็ว การเท้าเอวกางข้อศอกสองข้างมันก็อยู่ในท่าปลาหมอยักเงี่ยง ฝึกใช้ศอกปัดป้องการจู่โจม เวลาถวายบังคมจรดมือตรงระหว่างลูกตาเพื่ออะไร...ก็เพื่อกดจุดให้ตาสว่าง แล้วมีการโล้ตัวเพื่ออะไร...ก็เพื่อหัดโล้ตัวหลบอาวุธ"
"อย่างท่วงท่าต่างๆ ในท่าไม้รำ แค่เรื่องการวางขา ก็อธิบายได้เป็นวันๆ เช่นเมื่อยกขา แล้ววาง จะต้องย่อตัว เวลาเขาฟันมา จะได้เด้งตัวหนี อย่างท่าสอดสร้อยมาลา ตอนดึงดาบขึ้นก่อนวนรอบศรีษะ ต้องมองซ้ายขวา ก็เพื่อชำเลืองคู่ต่อสู้ หรือท่าเชิญเทียนตัดเทียน ทำไมให้เดินวนเป็นครึ่งวงกลม คือสอนให้วน สอนให้ฟันปาดดาบ หรือท่าฟันเรียงหมอน ก็สอนให้รู้จักการดึงดาบ ไม่ให้ดาบพันกัน" อาจารย์ชาติชายยกตัวอย่าง
หลังจากได้ความรู้จากอาจารย์ผู้สอนแล้ว เราจะไปคุยกับลูกศิษย์บ้าง ว่าพวกเขาได้อะไรจากการเรียนดาบอาทมาฏ
________________________________________
๕.
"เรียนแล้วเราได้รู้ว่าตีตรงไหนจะเจ็บที่สุด"
เจ้าของคำพูดคือ พงศ์ หรือจุติพงศ์ บุญสูง หนุ่มวัย ๑๗ ปี น้าของพงศ์รู้จักกับอาจารย์ชาติชาย จึงแนะนำให้พงศ์มาเรียนมวยไชยาก่อน เขาเพิ่งหันมาเรียนดาบเมื่อไม่นานมานี้
"ผมเรียนดาบมาได้เดือนกว่าแล้ว ได้ฝึกการตีเป้ายางแบบต่างๆ แล้วก็ได้เรียนท่าแม่ไม้คลุมไตรภพ ตลบสิงขร ย้อนฟองสมุทร" พงศ์กล่าว"เรื่องร่างกายไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ เพราะผมเล่นกีฬาออกกำลังกายเป็นปรกติอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ความมีวินัยเพิ่มขึ้นกว่าเดิม มีความอดทนมากขึ้น"
เมื่อถามว่าชอบการต่อสู้หรือ พงศ์ตอบว่า"ผมไม่ใช่คนที่จะไปวิวาทกับคนอื่น ถ้าเพื่อนหาเรื่อง เราเลือกจะไม่ต่อสู้ดีกว่า เพราะรู้ว่าถ้าเราทำอะไรลงไป เขาเจ็บหนัก"
ขณะพี่พิเชฐ อนันต์ประกฤติ วัย ๔๑ ปี ทำงานรับเหมาก่อสร้าง กล่าวว่า"ตอนเด็กเราอยากเรียนดาบอยู่แล้ว แต่ไม่มีโอกาศ พอดีรู้จักอาจารย์ชาติชายอยู่ก่อน เพราะยิงปืนด้วยกัน แกเล่าให้ฟังเรื่องวิชาดาบ ผมมาดูครูมาโนทย์สอน เลยตกลงใจเรียน เรียนดาบอาทมาฏมาเกือบสองปีแล้ว ท่ารำฝึกไปแล้ว แต่ยังจำได้ไม่ครบทุกท่า มาเรียนแล้วเราได้ออกกำลังกาย และได้ทักษะป้องกันตัวเอง"
ศิษย์สำนักดาบอาทมาฏฯ อีกคนที่เรามีโอกาศได้คุยด้วย คือพี่หมู--ธานินทร์ ปุณเกษม อายุ ๔๕ ปี เจ้าของบริษัทออกแบบตกแต่งภายใน
"ผมรู้จักอาจารย์ชาติชายตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน พอปี ๒๕๔๒ ได้เจอกัน อาจารย์ก็เล่าให้ฟังเรื่องวิชาดาบอาทมาฏ ว่าเป็นวิชาดาบไทยที่ฉลาดมาก เลยสนใจและลองมาดู ตอนแรกกะมาดูเฉยๆ แต่พอได้เริ่มเรียนรู้ขึ้นมาทีละนิด ยิ่งเรียนยิ่งรัก ยิ่งเรียนยิ่งชอบ ในความเป็นดาบที่ฉลาด ไม่เคยเสียเปรียบคู่ต่อสู้"
"ผมทึ่งในปรัชญาการต่อสู้ของวิชาดาบอาทมาฏที่ว่า เขาฟันเราไม่รับ เขารับเราไม่ฟัน เราจะฟันต่อเมื่อเขาไม่รับ เราจะรับต่อเมื่อหลบหลีกไม่ทัน การรับคือการรุก ท่ารุกคือท่ารับ รุกและรับในท่าเดียวกัน ในชีวิตประจำวัน เราเอาปรัชญาพวกนี้มาใช้ได้ ถ้ารู้จักตีความ"
โดย: โตมิ IP: 202.57.172.236 วันที่: 4 พฤษภาคม 2550 เวลา:14:34:24 น.
  
"เหมือนเขาฟันมา ทำไมเราจะต้องรับล่ะ เราหลบหลีก หลอกล่อและหาจุดอ่อน แล้วฟันเขาตรงที่จุดอ่อนก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นในเรื่องธุรกิจ สมมุติคู่แข่งโจมตีเราในเรื่องราคา เราเสนอราคาไป ๑๐๐ บาท เขาเสนอราคามา ๘๐ บาท ถามว่าเราจะลดราคาให้เหลือ ๘๐ บาทหรือ ๗๐ บาทสู้เขาไหม เราไม่จำเป็นต้องลดราคา แต่สามารถหลบเลี่ยงการต่อสู้ราคาไปใช้กลยุทธวิธีอื่น เช่น อาจมีของแถมให้ลูกค้า หรือเพิ่มคุณภาพของสินค้าได้ไหม ส่วนปรัชญาที่ว่า การรับคือการรุก ก็เหมือนคำกล่าวที่ว่า ให้พลิกวิกฤติเป็นโอกาส"
ขณะทางฝั่งเจ้าสำนัก-ผู้ถ่ายทอดวิชา อย่างอาจารย์ชาติชาย กล่าวถึงการฝึกดาบอาทมาฏว่า
"เหตุผลหนึ่งที่ผมเปิดสำนักดาบอาทมาฏนเรศวร เพราะต้องการจะอนุรักษ์ศิลปะการต่อสู้ของไทย แล้วถ้าไปถามคนเล่นศิลปะการต่อสู้ ก็ต้องเรียนทั้งวิชามือเปล่าและอาวุธด้วย มันถึงจะครบเครื่อง เช่น เล่นมวยก็ต้องเล่นดาบ"
"คนที่ฝึกดาบอาทมาฏ นอกจากเป็นการเสริมสร้างร่างกาย เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น และเป็นการฝึกสายตาแล้ว ยังเป็นการฝึกจิตใจ ทำให้เกิดสมาธิ มันทำให้ใจเรานิ่งขึ้น ความกล้าความมั่นใจเพิ่มพูนขึ้น แต่ไม่ใช่กล้าในทางที่เสี่ยงนะ เป็นลักษณะอ่อนนอกแข็งใน รู้จักประเมินสถานการณ์ ว่าควรจะแก้ไขยังไง หากต่อสู้แบบนี้จะเสียเปรียบมากไป ยอมดีกว่า แต่บางครั้งเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องทำ ใช้วิชา มันทำให้มีทางเลือกมากขึ้น"
"แล้วเล่นมวยหรือเล่นดาบ มันต้องมีเจ็บบ้าง เด็กบางคนไม่เคยโดนตี ก็ต้องสอนให้รู้จักอดทนอดกลั้น ให้รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย"
วงสนทนาเริ่มมีคนมาสมทบเพิ่มขึ้น เพราะเป็นช่วงพักการฝึกดาบและมวย การพูดคุยดำเนินไปอย่างออกรสและเป็นกันเอง ด้วยล้วนแต่เป็นคนคุ้นเคย เพราะเจอกันเป็นประจำทุกวันศุกร์
สำนักดาบอาทมาฏนเรศวรจึงไม่เพียงเป็นสถานที่ฝึกสอนวิชามวยและดาบ แต่ยังเป็นที่พบปะสังสรรค์ของบรรดาสมาชิกทั้งรุ่นเล็ก รุ่นกลาง รุ่นใหญ่ ซึ่งขณะนี้มีประมาณ...คน มีทั้งนักเรียนนักศึกษาจากต่างสถาบัน และคนจากหลากอาชีพ แม้ว่าต่างคนต่างมา แต่ทุกคนมีสิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือเป็นผู้รักและสนใจในศิลปะการต่อสู้ หัวข้อการพูดคุยจึงไม่พ้นเป็นเรื่องวิชาการต่อสู้แขนงต่างๆ ไม่ว่าหมัดมวย คาราเต้ ยูโด พูดถึงอาวุธและการใช้อาวุธเหล่านั้น ทั้งมีด ปืน ดาบ ถกกันถึงปืนรุ่นนั้นรุ่นนี้ มีดที่เห็นจากแคตตาล็อค บางครั้งก็ร่วมกันวิเคราะห์กลยุทธ ตำรับพิชัยสงคราม เลยไปถึงหัวข้อทางประวัติศาสตร์ การสงครามของไทยในอดีต รวมถึงพูดคุยเกี่ยวกับวิชาดาบอาทมาฏของพวกเขาเองด้วย
"ที่บอกว่าวิชาดาบอาทมาฏเป็นวิชาดาบของทหารกองอาทมาฏ ซึ่งมีหน้าที่รักษาเท้าช้างพระที่นั่งคชาธารของกษัตริย์ไม่ให้ได้รับอันตราย สิ่งที่ช่วยยืนยันอย่างหนึ่งก็คือเรื่องหลักวิชา อย่างท่าเท้า ๔ ทิศ ๘ แฉก การเคลื่อนที่จะอยู่ในลักษณะวนเป็นวง ฟันแล้วก็จะพลิกเหลี่ยมเข้าสู่ที่เดิม ออกไปได้ก็ไม่ไกล คือจะวนเวียนอยู่ใกล้ๆ เท้าช้าง ต่างจากหลักวิชาสำนักอื่นที่เน้นการเดินตรง ถอยตรง ถ้าเดินฟันไปสิบก้าวก็ไม่รู้ห่างจากเท้าช้างเท่าไหร่ ถอยกลับมาป้องกันคงไม่ทัน วิชาพวกนี้น่าจะเป็นของหน่วยทะลวงฟัน คือลุยอย่างเดียว"เป็นคำกล่าวของครูมาโนทย์
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่ผ่านมาอาจารย์ชาติชาย ได้พยายามค้นคว้าเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ เช่นจาก สาส์นสมเด็จ พบว่าในสมัยโบราณมีหน่วยทหารชื่อกรมอาทมาท สันนิษฐานว่าเป็นกรมทหารมอญ ทำหน้าที่สอดแนม สืบข่าวศึกบริเวณชายแดน แต่ไม่มีบันทึกเรื่องวิชาดาบอาทมาฏ ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์แต่อย่างใด
"ผมอยากเพิ่มเติมอะไรหน่อย"พี่หมูกล่าว"เมื่อเรื่องนี้เผยแพร่ออกไป คงจะมีคนถามว่า คุณแน่ใจได้อย่างไรว่าวิชานี้เป็นของสมเด็จพระนเรศวรฯ คือเราไม่อาจบอกได้อย่างแน่ชัด เพราะไม่มีเอกสารหลักฐานอะไรยืนยัน แต่เราเชื่อเพราะเราศึกษาวิชานี้ เราเห็นจุดดีหลายข้อ เราเชื่อว่าไม่ใช่วิชาธรรมดา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่คนใดคนหนึ่งจะคิดขึ้นมาได้ง่ายๆ เป็นวิชาที่มีที่มาที่ไปแน่นอน เลยอยากถือโอกาศนี้บอกว่า ถ้ามีใครทราบ หรือรู้รายละเอียดเรื่องวิชาดาบอาทมาฏมากกว่าที่เรารู้ กรุณาติดต่อและบอกเรามาด้วย"
คำกล่าวข้างต้น มิใช่ความเห็นของพี่หมูผู้เดียว แต่เป็นความเห็นร่วมกันของอาจารย์ชาติชาย ครูมาโนทย์ และสมาชิกสำนักดาบอาทมาฏนเรศวรทุกคน




กองอาทมาต
เป็นกองทหารหน่วยหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ตามเมืองหน้าด่าน และหัวเมืองสำคัญ ทำหน้าที่พิเศษ เช่น เป็นกองทหารม้า เคลื่อนที่เร็ว จู่โจม และหาข่าว บ้างก็ว่า เป็นกองรบ อันประกอบไปด้วยผู้ที่ชำนาญวิชาอาคม นำหน้า กองทัพ โดยมากจะเป็น ชาวมอญ ซึ่งมีความชำนาญใน อาวุธ ประเภทดาบสองมือเป็นอย่างยิ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ การเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ ได้กล่าวถึงการรบของ กองอาทมาต ไว้เพียง ๒ ครั้ง ดังนี้ พ.ศ. ๒๓๐๒ การรบที่ อ่าวหว้าขาว ประจวบคีรีขันธ์ นั้น ขุนรองปลัดชู ได้นำ กองอาทมาต ๔๐๐ คน เข้าสกัดต้านข้าศึก ที่รุกรานด้วย อาวุธสั้น ถึงขั้นตะลุมบอน แต่ด้วยกำลังพลน้อยและขาดกองหนุน ถูกพม่าใช้กองช้างไล่เหยียบตาย พวกที่เหลือ ก็ถูกต้อนลงทะเล จมน้ำตายไปสิ้น ด้วยเหตุขาดกำลังหนุน พ.ศ. ๒๓๐๙ กองอาทมาต อันนำโดย พระยาพระคลัง เข้าตีค่ายพม่าที่ ปากน้ำพระประสบ จนเกือบจะตีค่ายได้ หากแต่ขาด เครื่องกำบังตนในการประชิดค่าย จึงถอนกำลังกลับ และรุกตีใหม่ แต่เสียรู้กลแกล้งแพ้ของพม่า ถูกข้าศึกโอบล้อม ทัพพระยาพระคลัง ก็แตกถอยร่นกลับมา ดีว่าได้ กองทัพพระยาตาก คุ้มกันด้านหลัง ช่วยรั้งข้าศึกเอาไว้ได้

อาทมาต มิใช่เน้นที่สำนัก หากแต่เน้นที่บุคคลที่มีความสามารถ เพียงผู้ใด มีดีถึงขั้นมาตรฐานที่กำหนด ผู้นั้นย่อมเข้าถึงซึ่งคนดีศรีอยุธยา เข้าสู่ “ กองอาสาอาทมาต ” มีค่าควรคู่กับการปกป้องราชบัลลังก์ อาณาประชาราษฎร์ แลแผ่นดิน ให้อยู่เย็นเป็นสุข ดุจนักรบแห่งเทพจุติ

ดาบอาทมาต หรือ “วิชาอาทมาต” เป็นวิชาแห่งชายชาตรี นับเป็นนักรบที่สูงชั้นกว่า นักรบที่สวมเกราะ เพราะขึ้นชื่อว่าชายชาตรี ย่อมมีดีทั้งนอกแลใน คือมีวิชาการต่อสู้เป็นเลิศ คนเดียวอาจสู้คนได้เป็นร้อย กล่าวว่า ขุนศึกหนึ่งท่านสามารถสู้ศึก ได้เป็นร้อยดูไม่เกินจริงนัก (แม่ทัพจีนยังสู้ได้ตั้งหมื่น) เมื่อเห็นหลักวิชาดาบ ท่าเท้า(สามขุม) กลรบ กลศึก รุกรับรอบตัวจริง ๆ ดาบสองมือ พลิกแพลง ได้รอบตัว ทิ้งกลิ้งทั้งม้วนตัว ใช้ได้ทุกอิริยาบท วิถีดาบหรือแม่ไม้ควงวนเป็นเลข 8 ทั้งแนวตั้ง แนวนอน แนวเฉียง ทำให้เกิดมรรค หรือวิถี แห่งดาบอย่างไม่รู้จบสิ้นเป็นอัศจรรย์

โดย: โตมิ IP: 202.57.172.236 วันที่: 4 พฤษภาคม 2550 เวลา:14:35:43 น.
  
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แม้จะไม่โปรด ‘พวกฝรั่ง’ แต่ก็โปรดที่จะให้เรียนรู้วิชาการของฝรั่งที่ไม่โปรด ‘คบ’ พวกฝรั่ง ก็เพราะทรงเกรงความเอาเปรียบที่มาในแบบมิตร ทรงเกรงว่าอาจเป็นศัตรู แอบแฝงมาในรูปมิตร มิได้เป็นศัตรูสู้กันซึ่งๆหน้าอย่างแบบโบราณเช่นพม่า ญวน ฯลฯ พระองค์ท่านจึงไม่ทรงหวงห้ามการคบฝรั่งของบรรดาพระราชวงศ์และขุนนาง มิหนำซ้ำดูจะทรงสนับสนุนเงียบๆเสียซ้ำไป

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯนั้นไม่โปรดให้พวกฝรั่งที่เข้ามาขอทำสัญญาค้าขายบ้าง ขอเข้ามาทำสัญญาพันธไมตรีบ้าง เข้ามาถึงพระองค์ ด้วยทรงเห็นว่า หากเข้าถึงพระองค์ก็จะมาเอาโน่นเอานี่ หรือพาลหาเหตุต่างๆง่ายๆดังที่ทำกับชาติอื่นๆมาแล้ว จึงทรงเอื้อเฟื้ออยู่แต่ห่างๆ เจ้าพาระยาพระคลัง จึงเป็นเสนาบดีต่างประเทศคนแรกที่เปรียบได้กับรัฐมนตรีต่างประเทศของสมัยนี้ คือ ‘ออกหน้า’ และเป็นผู้เจรจาในพระนามของพระเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาพระคลังเป็นผู้ ‘ออกหน้า’ ทว่า ‘นโยบาย’ เป็นของพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งบางเรื่องบางประการก็ทรงปรึกษาหารือกับเจ้านายและขุนนางสำคัญๆที่พอจะมี ‘หัวฝรั่ง’ ในเวลานั้น

โดย: โตมิ IP: 202.57.172.236 วันที่: 4 พฤษภาคม 2550 เวลา:14:38:26 น.

โตมิโต กูโชว์ดะ
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



ร่างทรงของ "วรรณวรรธน์" โปรดอย่าถามว่าเป็นใครในอดีต รู้แต่ว่าตอนนี้ยังมีลมหายใจอยู่ เท่านั้นก็มากเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งได้รู้จักกันแล้ว
New Comments
พฤษภาคม 2550

 
 
2
3
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
23
24
25
26
27
28
29
30
31