Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2551
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
242526272829 
 
23 กุมภาพันธ์ 2551
 
All Blogs
 
สัมภาษณ์ ไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร (วันที่ 23 กันยายน 2543)

สัมภาษณ์ ไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร (วันที่ 23 กันยายน 2543)

สัมภาษณ์ โดย คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยาน เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

--------------------------------------------------------------------------------


ถาม: ช่วยแนะนำตัวเอง และเล่าให้ฟังว่าเมื่อปี 2519 ทำอะไร และในเหตุการณ์ระหว่างวันที่ 4, 5 และ 6 คุณอยู่ที่ไหนและทำอะไร ?
ไพรัฎฐโชติก์: ผมชื่อไพรัฎฐโชติก์ จันทรขจร ขณะนี้อายุ 40 ปี ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัท แด๊ด ซีเคียวริตี้ส์ ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย เป็นที่ปรึกษาฝ่ายรักษาความปลอดภัยให้ รีเจนท์เฮาส์ ซึ่งอยู่ข้างๆ ตึกเอยูเอ แล้วก็มีธุรกิจส่วนตัวอื่นๆ บ้าง

ถาม: ปี 2519 เป็นนักศึกษาหรือ ?
ไพรัฏฐโชติก์: เป็นนักเรียน อยู่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ชั้นม.ศ. 3

ถาม: ช่วงนั้นทำงานอยู่ศูนย์นักเรียนฯ ด้วยหรือเปล่า ?
ไพรัฎฐ์โชติก์: ไม่ได้ทำครับ แต่มีพี่ชายเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ เลยได้เข้าไปร่วมกิจกรรมกับพี่ชาย เข้าไปช่วยเป็นการ์ด (รักษาความปลอดภัย) ให้กับศูนย์นักเรียนฯ บางทีก็ช่วยทำกับข้าว ไปซื้อกับข้าว อะไรอย่างนี้ ตอนหลังพี่ชายก็เลยดึงมาอยู่หน่วยรักษาความปลอดภัย

ถาม: วันที่ 4 , 5 และ 6 ตุลา คุณอยู่ที่ไหนและทำอะไรบ้าง ?
ไพรัฎฐโชติก์: วันที่ 4 ผมจำไม่ค่อยได้ แต่วันที่ 5 เท่าที่จำได้ก็คือว่า เราย้ายที่ชุมนุมจากสนามหลวงเข้าไปในธรรมศาสตร์

ถาม: ได้ดูการเล่นละครที่มีการแขวนคอหรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ได้ดูครับ

ถาม: ตอนที่ดู อยู่ใกล้กับจุดที่มีการแสดงประมาณกี่เมตร ?
ไพรัฎฐโชติก์: สัก 10 เมตร อยู่ใกล้ๆ เวที

ถาม: ช่วยเล่าให้ฟังว่าละครนั้นมีสาระอะไร แล้วก็เห็นอะไร ?
ไพรัฏฐโชติก์: เท่าที่จำได้ก็คือนักศึกษาที่แต่งตัวเป็นพระ แต่เป็นพระจีวรสีแดง ก็เป็นลักษณะล้อเลียน แล้วก็มีบางคนใส่หมวกถือปืน เป็นปืนเด็กเล่น มีการแขวนคอ ก็ใช้เชือกโยง แต่ก็เป็นลักษณะของอุปกรณ์ที่ทำให้เหมือนว่าโดนแขวนคอ แล้วเนื้อหาก็คือ เพื่อประท้วงที่ฆ่า... ถ้าผมจำไม่ผิดก็คือ ฆ่าพนักงานการไฟฟ้าที่นครปฐม แล้วก็ประท้วงการเข้ามาของถนอม

ถาม: รู้จักคนที่เล่นละครหรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ตอนนั้นไม่รู้จัก

ถาม: วันนี้คุณเอาภาพถ่ายผู้ถูกแขวนคอที่จังหวัดนครปฐมมามอบให้คณะกรรมการฯ ช่วยเล่าให้ฟังว่าภาพ

ถ่ายนี้ได้มาจากไหน ?
ไพรัฎฐโชติก์: ภาพถ่ายนี้ได้มาจากคุณพ่อ คุณพ่อผมเป็นนายตำรวจชื่อ พลตำรวจโท จำรัส จันทรขจร ตอนเหตุการณ์ปี 19 ท่านยศพลตำรวจตรี แล้วท่านมีภาพถ่ายหลักฐานนี้ไว้ ผมเลยขอท่านมา

ถาม: ตำแหน่งของคุณพ่อในขณะนั้น ?
ไพรัฎฐโชติก์: ตอนปี 19 ใช่มั้ยครับ ผมจำได้ไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ คิดว่าเป็นระดับรองผู้บัญชาการ เพราะยศก็พลตำรวจตรีแล้ว

ถาม: อันนี้เป็นภาพถ่ายผู้ถูกแขวนคอที่นครปฐม ภาพถ่ายเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการเล่นละครหรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: เกี่ยวครับ เท่าที่ผมจำได้ก็คือ เราประท้วงว่า เพื่อนเราสองคนเป็นพนักงานการไฟฟ้าที่นครปฐม ไปแจกใบปลิว ติดโปสเตอร์หรืออะไรเนี่ย ก็โดนเจ้าหน้าที่ตำรวจ เท่าที่จำได้นะครับก็คือกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อม แล้วจับแขวนคอ เราก็เลยเอามาเคลื่อนไหว

ถาม: รู้ได้อย่างไรว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ซ้อมแล้วจับแขวนคอ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ตอนนั้นข่าวออกมาอย่างนั้นครับ ข่าวออกมา ตามข่าวหนังสือพิมพ์ แล้วรู้สึกจะจับตำรวจได้กระมังครับ อันนี้ไม่ชัดเจน

ถาม: เคยคุยกับคุณพ่อเรื่องเหตุการณ์แขวนคอนี้หรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ประเด็นเรื่องนี้ ผมยังไม่เคยคุย ในเรื่อง 6 ตุลา

ถาม: เวลาดูละครวันที่ 4 เรื่องละครแขวนคอ เท่าที่คุณเห็นมีการหมิ่นประมาทเจ้าฟ้าชายหรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ไม่มีครับ ไม่มีเลย แล้วผมยังจำได้ว่า อาจารย์ป๋วยก็มาดู อาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนก็มาดู

ถาม: มีตำรวจดูด้วยหรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: มี

ถาม: รู้ได้อย่างไร ?
ไพรัฎฐโชติก์: ก็เห็นยืนอยู่ ตำรวจจราจร ใส่เครื่องแบบ

ถาม: กำลังดูละครนี้ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ครับ

ถาม: คุณพ่อเคยเล่าให้ฟังหรือไม่ว่ามีตำรวจดูละครหรือมีตำรวจสันติบาลมาแซมบ้าง ?
ไพรัฎฐโชติก์: คุณพ่อเคยบอกว่า ทุกครั้งที่มีการชุมนุมก็จะมีเจ้าหน้าที่ของฝ่ายตำรวจสันติบาลเข้าไปดูทุกครั้ง นี่คือวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง


ถาม: เท่าที่ทราบ มีรายงานของตำรวจสันติบาลเกี่ยวกับละครนี้หรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: เท่าที่ผมทราบเขารายงานอยู่ตลอดเวลาว่ามีการเคลื่อนไหวอะไร

ถาม: คุณพ่อบอกให้ฟังหรือไม่ว่ารายงานของสันติบาลพูดถึงการหมิ่นประมาทเจ้าฟ้าชายบ้างหรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: อันนี้ผมไม่ทราบ

ถาม: ในวันที่ 5 ตุลาคม 2519 คุณอยู่ที่ไหน ?
ไพรัฎฐโชติก์: วันที่ 5 ผมอยู่ในธรรมศาสตร์ อยู่สนามหลวงบ้าง ธรรมศาสตร์บ้าง เข้าๆ ออกๆ เดินไปเดินมา

ถาม: เห็นอะไรบ้าง ?
ไพรัฎฐโชติก์: ผมจะจำแม่น เพราะตอนกลางคืนวันที่ 5 เราย้ายเข้ามาธรรมศาสตร์ แล้วเราก็ชุมนุมกันที่กลางสนามฟุตบอล ตอนนั้นผมเข้าไปเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัย พี่ชายให้ไปรักษาการณ์อยู่ตรงตึกอมธ. ตรงบันไดทางขึ้น

ถาม: ตอนนั้นเข้าไปอยู่ในฐานะที่เป็นน้องเป็นพี่ แล้วพี่ชวนไป ?
ไพรัฎฐโชติก์: ผมเข้าไปด้วยจิตสำนึก แล้วพี่ชายก็สนับสนุน ดึงเข้ามาร่วมเพราะ ตอนเหตุการณ์14 ตุลาก็ได้ร่วมเดินขบวน แล้วก็ค่อยๆ เห็นอะไรมากขึ้น ก็เข้ามาร่วมในฝ่ายของประชาชน

ถาม: มีภาพถ่ายที่คุณนำมามอบให้ คือภาพถ่ายการเล่นละครและปราศรัยที่ลานโพธิ์ ทราบหรือไม่ว่าใครถ่ายภาพไว้ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ภาพเหล่านี้ ผมก็ได้รับจากคุณพ่อ ถ้าถามจากท่านก็คือ ตำรวจถ่าย หรือนักข่าวถ่ายแล้วตำรวจไปเอาจากนักข่าว อันนี้ไม่ชัดเจน

ถาม: ในคืนวันที่ 5 ที่คุณรักษาความปลอดภัยอยู่ที่ตึกอมธ. คุณมีปืนติดตัวหรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: มี

ถาม: ปืนอะไร ?
ไพรัฎฐโชติก์: .38

ถาม: จดทะเบียนหรือเปล่า ?
ไพรัฎฐโชติก์: ไม่ได้จดทะเบียน

ถาม: แล้วหน่วยรักษาความปลอดภัยคนอื่นมีปืนบ้างหรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: เท่าที่เห็น พี่ชายผมมี ก็บางคนเท่านั้น ก็เป็นปืนสั้น


ถาม: เป็นปืนสั้นหมดหรือมีปืนยาวบ้าง ?
ไพรัฎฐโชติก์: ที่เห็นก็มีปืนลูกซองยาว ก็เหมือนกับปืนชาวบ้านที่ใช้เฝ้าบ้านทั่วไป

ถาม: ถ้าจะให้ประเมินว่าในธรรมศาสตร์ในคืนวันนั้นมีปืนสักกี่กระบอกพอจะคาดเดาได้หรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: จากความทรงจำ และที่เห็นๆ กันอยู่ น่าจะสัก 10 กระบอก

ถาม: ปืนเหล่านี้มีไว้ทำไม ?
ไพรัฎฐโชติก์: ก็เอาไว้ป้องกันตัวอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมาเท่าที่ได้เข้าร่วมขบวน เราก็โดนทำร้ายรังแกมาตลอด

ถาม: ใครทำร้าย ?
ไพรัฎฐโชติก์: ที่เขาเรียกว่ากระทิงแดง

ถาม: ทำร้ายอย่างไร ?
ไพรัฎฐโชติก์: มีขว้างระเบิดบ้าง เวลาฝ่ายประชาชนจะเคลื่อนไหวคัดค้านอะไรก็ระเบิด แล้วก็เป็นลักษณะคุกคามทุกอย่าง

ถาม: หน่วยรักษาความปลอดภัยเคยคุยกันเรื่องนโยบายการใช้ปืนหรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ตอนนั้นมีแต่ว่าให้ดูแลในเชิงป้องกันตัว ไม่มีลักษณะให้ไปต่อสู้กับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง มีแต่ว่าให้ดูแลประชาชน อย่าให้ประชาชนเป็นอะไรเท่านั้นเอง

ถาม: คุณประจำการอยู่ที่ตึกอมธ. อยู่ตรงนั้นตลอด ?
ไพรัฎฐโชติก์: ผมอยู่ช่วงหัวค่ำ เสร็จแล้วกำลังจะย้ายจุด ก็เกิดเหตุการณ์ตอนกลางคืน ฝ่ายนั้นมาเผาป้าย

ถาม: ประมาณกี่โมงครับ เที่ยงคืนหรือหลังเที่ยงคืน ?
ไพรัฎฐโชติก์: คิดว่าหลังเที่ยงคืน

ถาม: ใครเป็นคนเข้ามาเผาป้าย ?
ไพรัฎฐโชติก์: ตอนนั้นข้างหน้าเริ่มชุลมุน เท่าที่เห็นเป็นพวกกระทิงแดง ผมวิ่งเข้าไปดู มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่แล้วด้วย แต่อยู่ข้างหลังตรงฝั่งสนามหลวง

ถาม: คุณวิ่งเข้าไปดูเหตุการณ์เผาป้าย เข้าไปผ่านทางไหน ?
ไพรัฎฐโชติก์: ตรงเนิน ทางหน้าประตูหอใหญ่ ฝั่งติดกับพิพิธภัณฑ์


ถาม: ตอนที่ยืนดู คุณอยู่ตรงไหน ?
ไพรัฎฐโชติก์: มันเป็นลาน ถ้าจะเข้ามาธรรมศาสตร์ เป็นลานที่จะผ่านหน้าหอใหญ่ ก็มีพวกเราไปตั้งการ์ดอยู่แล้ว เอาพวกโต๊ะ เอาอะไรมาขวางๆ ไว้อยู่แล้ว ผมก็วิ่งไปเสริมตรงนั้น

ถาม: แล้วเห็นอะไร ?
ไพรัฎฐโชติก์: เห็นกระทิงแดงเผาป้าย เผาป้อมยาม

ถาม: เขาปีนเข้ามาหรือเขาโยน ?
ไพรัฎฐโชติก์: มีปีนเข้ามาแล้วก็ดึงป้ายดึงทุกอย่าง ตรงนั้นมันเริ่มสับสนชุลมุนแล้ว

ถาม: แล้วเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ?
ไพรัฎฐโชติก์: เห็นตำรวจ

ถาม: อยู่ข้างหลังกระทิงแดง ?
ไพรัฎฐโชติก์: อยู่ฝั่งสนามหลวง ตำรวจยืนอยู่เฉยๆ

ถาม: ตำรวจยืนเฉยๆ... เห็นตำรวจไปดับไฟหรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ไม่มีครับ

ถาม: ไม่มีตำรวจไปดับไฟ... เห็นตำรวจไปห้ามประชาชนหรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ไม่มีครับ

ถาม: มองเห็นเครื่องแบบของตำรวจหรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: เห็น เพราะไฟตรงถนน และไฟตรงที่เพลิงลุกไหม้ก็สว่าง

ถาม: เป็นเครื่องแบบแบบไหน ?
ไพรัฎฐโชติก์: ตำรวจทั่วไป ที่ทำหน้าที่รักษาการณ์

ถาม: หลังจากที่ไปดูเขาเผาป้าย แล้วทำอะไรต่อ ?
ไพรัฎฐโชติก์: เขาก็ให้ผมไปอยู่จุดเดิม

ถาม: ตอนที่ไปดูเขาเผาป้ายเผาป้อมนี่ ฝ่ายรักษาความปลอดภัยของนักศึกษายิงปืนขู่บ้างหรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ไม่มีครับ

ถาม: ตอนนั้นได้ยินเสียงปืนบ้างหรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ได้ยินเสียงปืนจากข้างนอก ยิงขึ้นฟ้า


ถาม: ข้างนอก ?
ไพรัฎฐโชติก์: คือนอกธรรมศาสตร์ ตรงที่เขาเผาป้าย แล้วก็ผมกลับไปจุดเดิม ต่อมารุ่นพี่ก็มาขอกำลังเสริมจากตรงจุดอมธ. เพราะยืนกันอยู่หลายคน ก็กลับขึ้นไปอยู่ที่หน้าหอใหญ่อีก คราวนี้เขาเห็นผมตัวเล็ก เขาก็ให้กลับมาอีก เขาบอกอยู่จุดเดิมนั่นแหละ เพราะตัวเล็กไปหน่อย ก็เลยให้มาอยู่ที่เดิม ผมลืมเล่าไปนิดหนึ่ง ช่วงตอนหัวค่ำ เราจับกระทิงแดงได้คนหนึ่งเข้ามาในธรรมศาสตร์ เข้ามาในที่ชุมนุม

ถาม: จับแล้วไปทำอะไรครับ ?
ไพรัฎฐโชติก์: จับเขาได้แล้วก็พาไปข้างหลังตึกนิติฯ ตอนนั้นมีชมรมหลายชมรมเป็นห้องเล็กๆ ก็พาเข้าไปสอบสวน

ถาม: รู้ได้อย่างไรว่าเป็นกระทิงแดง ?
ไพรัฎฐโชติก์: พวกของเราในหน่วยรักษาความปลอดภัยจำได้ว่าคนนี้เคยเข้ามาก่อกวน

ถาม: แล้วคนนี้มีพกอาวุธอะไรมาด้วยหรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ค้นตัวแล้วไม่เจอ

ถาม: สอบสวนแล้วได้อะไรบ้าง ?
ไพรัฎฐโชติก์: เขาก็ยอมรับว่าเป็นกระทิงแดงและก็เตรียมจะเข้ามาก่อกวน แล้วก็นัดพวกที่เข้ามาจะเอาระเบิดเข้ามาขว้างในที่ชุมนุม แต่หาเพื่อนไม่เจอ เพื่อนเป็นคนจะเอาระเบิดเข้ามา โดยใส่ปิ่นโตเข้ามา ผมจำได้เพราะว่าร่วมสอบสวนด้วย มีเพื่อนพี่ชาย ถ้าผมจำไม่ผิดคือพี่ภราดร

ถาม: แล้วมีการนำตัวกระทิงแดงคนนี้ไปให้ตำรวจหรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ยัง … แต่ตอนนั้นเราเตรียมจะส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เราออกไปไม่ได้เลย แล้วตอนหลังผมไม่เห็นเขาแล้ว ไม่ทราบเขาไปไหน เพราะผมต้องไปรักษาการณ์จุดเดิม

ถาม: ก็กลับไปประจำการณ์ที่ตึกอมธ. หลังจากที่มีการเผาป้อม หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น ?
ไพรัฎฐโชติก์: ประมาณสักตีห้า ก็มีระเบิด น่าจะเป็น เอ็ม 79 ที่ผมรู้เพราะว่าสมัยนั้นก็ชอบเรื่องอาวุธ เพราะคุณพ่อเป็นนายตำรวจก็ชอบศึกษาชอบอะไรเรื่องพวกนี้ ผมไม่ทันเห็นว่ามีใครยิงหรือขว้าง มันตูมเลย หันไปเห็นควันตลบ

ถาม: เห็นคนบาดเจ็บหรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ผมไม่ได้เข้าไปช่วยเพราะมีหน่วยพยาบาลของนักศึกษาเข้าไปช่วย เพราะผมต้องประจำหน้าที่อยู่ที่เดิม เท่าที่เห็นก็หามกันไปหลายคน ข่าวตอนหลังเห็นว่าที่เสียชีวิตตรงนั้นเลยประมาณสี่คน


ถาม: เอ็ม 79 ลงที่ไหน ?
ไพรัฎฐโชติก์: กลางสนามฟุตบอล

ถาม: หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น ?
ไพรัฎฐโชติก์: เหตุการณ์ก็เริ่มรุนแรง เสียงปืนเริ่มยิงเข้ามา

ถาม: เป็นปืนแบบไหน ?
ไพรัฎฐโชติก์: เสียงปืนทุกอย่าง มันระดมยิง ดังไปหมด

ถาม: เสียงปืนเป็นนัดหรือเป็นชุด ?
ไพรัฎฐโชติก์: ทั้งชุดทั้งนัด

ถาม: ประมาณว่าเสียงปืนนี้มาจากไหน ?
ไพรัฎฐโชติก์: จากข้างนอกทางสนามหลวง ยิงเข้ามาในธรรมศาสตร์ เพราะว่าตอนนั้นหน่วยรักษาความปลอดภัยเริ่มหลบมาอยู่หลังตึกนิติฯ แล้วก็ถอยมาอยู่ตรงหลังตึกอมธ. บนเวทียังประกาศขอร้องตำรวจว่าอย่ายิงเข้ามา

ถาม: หลังตึกอมธ.นี่คือตรงไหน ?
ไพรัฎฐโชติก์: ตรงนี้ครับ (ชี้แผนที่)

ถาม: ตรงระหว่างตึกอมธ.กับรั้วพิพิธภัณฑ์ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ใช่ครับ ใช่

ถาม: เชิญเล่าต่อครับ
ไพรัฎฐโชติก์: หลังจากนั้นก็เริ่มยิงกันมาก หน่วยรักษาความปลอดภัยจะอยู่กับที่ แล้วตะโกนบอกให้ประชาชนเข้าไปหลบในตึกหรือในห้อง ส่วนพวกที่รักษาความปลอดภัยให้อยู่ข้างๆ แนวตรงกลางให้หลบขึ้นมา เข้าไปข้างหลังตึก เพราะว่าตรงกลางไม่ปลอดภัย มีอยู่ช่วงหนึ่งที่พี่โอริสสา พี่ชายผม (วัชรพันธุ์ จันทรขจร) แล้วก็ตัวผม พยายามวิ่งขึ้นไปหนุนตรงตึกนิติฯ เพื่อจะขึ้นไปช่วยพวกเราทางหอใหญ่ พอวิ่งขึ้นไปถึงตรงจุดนั้นก็ถูกระดมยิงมาแบบเยอะมาก ก็อยู่ไม่ไหวต้องถอยกลับมาอีก

ถาม: ตอนที่ถูกระดมยิงมองเห็นคนยิงหรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ตอนนั้นไม่เห็น เพราะว่าเราหลบอยู่

ถาม: ยิงมาจากตรงไหน ?
ไพรัฎฐโชติก์: ข้างนอก ด้านสนามหลวง


ถาม: ก็ถอยกลับมา ?
ไพรัฎฐโชติก์: ถอยกลับมา แล้วในช่วงตรงนั้น รู้สึกจะเป็นคนชื่อหนิง ถ้าผมจำไม่ผิด เขาไม่ใช่นักศึกษา ที่รู้จักเพราะว่าเคยคุยกัน เขาอยู่วงเวียนใหญ่ รู้สึกว่าจะเป็นประธานแนวร่วมจิ๊กโก๋วงเวียนใหญ่ เขาใช้คำนี้เลย เขาถือลูกซองสั้น เป็นปืนไทยประดิษฐ์น่ะ เขาบอกว่าอย่าถอยให้สู้ตาย แล้วเขาวิ่งพรวดออกไป พวกเราก็บอกว่าอย่าเพิ่ง... อย่า... ใจเย็นๆ อย่าเพิ่ง แต่เขาก็ออกไป อีกสักครู่ก็ถูกหามกลับมา โดนเอ็ม 16 สองหรือสามนัด แต่ตอนนี้ตัวเขายังมีชีวิตอยู่

ถาม: ยังติดต่อกันอยู่หรือเปล่า ?
ไพรัฎฐโชติก์: ไม่เจอกันนานแล้ว แต่คิดว่าถ้าเสาะแสวงหาก็น่าจะเจอ

ถาม: เจ้าหน้าที่ของหน่วยรักษาความปลอดภัยพยายามจะทำอะไร ?
ไพรัฎฐโชติก์: ก็ป้องกันประชาชนและก็เพื่อนๆ นิสิตนักศึกษาที่มาชุมนุมกันอย่างสงบให้ปลอดภัย ให้หลบกระสุน แล้วก็ให้ทางหน่วยรักษาความปลอดภัยอยู่กันไว้ก่อน คือผมยอมรับว่าเรามีปืน แต่เป็นปืนป้องกันตัว ซึ่งมันไม่สามารถช่วยอะไรได้เลยในสถานการณ์อย่างนั้น

ถาม: พยายามกันไว้ก่อน ?
ไพรัฎฐโชติก์: กัน เรียกว่าให้ประชาชนออกจากธรรมศาสตร์ให้ได้ หลบกระสุนหลบระเบิดของฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ยิงใส่เข้ามาให้ได้

ถาม: ก่อนที่ฝ่ายที่อยู่นอกมหาวิทยาลัยจะบุกเข้ามาในมหาวิทยาลัย เห็นคนที่ยิงเข้ามาก่อนบ้างหรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: คือตอนที่ผมวิ่งขึ้นไปช่วยที่ตึกนิติฯ ตรงหอใหญ่ เราก็เข้าไปไม่ถึงหอใหญ่ เพราะว่าติดอยู่ตรงตึกนิติฯ โผล่หน้าขึ้นไปก็เห็นมีเจ้าน้าที่ตำรวจใส่หมวกถือปืนกำลังระดมยิงเข้ามาอยู่แล้ว

ถาม: เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำการอยู่ที่ไหน ?
ไพรัฎฐโชติก์: อยู่นอกรั้วธรรมศาสตร์

ถาม: เห็นระดมยิงเข้ามา ใช้ปืนแบบไหน ?
ไพรัฎฐโชติก์: ตอนนั้นเป็นปืนยาว ผมเห็นเป็นปืนคาร์บินนะ ปืนสั้นก็เห็น

ถาม: เจ้าหน้าที่ตำรวจแต่งชุดอะไร ?
ไพรัฎฐโชติก์: แต่งชุดเครื่องแบบของตำรวจนครบาล สีกากี

ถาม: รู้ได้อย่างไรว่าเป็นนครบาล ?
ไพรัฎฐโชติก์: ผมเป็นลูกตำรวจ ภาพมันชินตา


ถาม: ช่วยบรรยายเครื่องแต่งกายของตำรวจนครบาล ?
ไพรัฎฐโชติก์: จริงๆ เครื่องแบบตำรวจจะเหมือนกันทั่วประเทศ แต่จะมีเครื่องหมายเท่านั้นที่บอกว่าเป็นนครบาลหรืออยู่ต่างจังหวัด แค่นั้นเอง ไม่มีอะไร

ถาม: เขาใส่หมวกแบบไหนครับ ?
ไพรัฎฐโชติก์: หมวกเหมือนกันครับ ทั่วประเทศเหมือนกันหมด มีหมวกแบบแก็ปด้วย เขาเรียกอะไร… คือแก็ปมันมีสองแบบที่มี...

ถาม: .... (ฟังไม่ชัด)
ไพรัฎฐโชติก์: ครับ ใช่ ๆ

ถาม: ตำรวจจะมีเครื่องเหมือนกันทั่วประเทศ แต่ว่าจะมีตำรวจอยู่หน่วยหนึ่งที่พิเศษที่จะใส่เครื่องแบบแตกต่างออกไปใช่หรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ใช่ ถ้าแยกไปเป็น ตชด. ก็ใส่หมวกแบเร่ต์ หน่วยปราบจลาจลก็แยกไป ใส่หมวกเหล็กก็มี

ถาม: แต่ตอนนั้นเห็นตำรวจนครบาลอยู่ที่รั้วยิงเข้ามา ช่วยเล่าต่อว่าเห็นตำรวจทำอะไรบ้าง ?
ไพรัฎฐโชติก์: หลังจากนั้นทางผมก็ถอยมาทางตึกอมธ. ทุกคนก็บอกว่าอยู่ไม่ไหวแล้ว เขาระดมยิงมาก ให้ถอยมาตั้งหลักที่ตึกคณะวารสารฯ ผมก็ถอยมาที่ตึกวารสารฯ แล้วให้ประชาชนและนักศึกษาขึ้นไปหลบบนชั้นสอง ส่วนหน่วยรักษาความปลอดภัยอยู่ชั้นล่าง ตอนนี้ยิงกันมาทุกทิศทุกทาง ได้ยินเสียงเหมือนปืนยิงระเบิด มันสะเทือนมาก แล้วก็มาทราบตอนหลังทั้งดูวิดีโอดูรูปก็คือว่าเป็นปืนปรส. หรือปืนไร้แรงสะท้อน ซึ่งเป็นอาวุธสงคราม เอาไว้รบในสงคราม แต่เขาเอาเข้ามายิงพวกเรา เข้าใจว่าเป็นตำรวจ ตชด. ที่เอามาใช้ยิง

ถาม: คิดว่าใครยิง ?
ไพรัฎฐโชติก์: ตอนนั้นเสียงปืนมีแต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองยิง เห็นได้ชัดเจนทั้งรูปภาพและวิดีโอว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ... ตำรวจ ตชด.

ถาม: ตชด. แต่งตัวแตกต่างกับตำรวจหน่วยอื่นอย่างไร ?
ไพรัฎฐโชติก์: ใส่หมวกแบเร่ต์สีดำ

ถาม: คุณเห็น ?
ไพรัฎฐโชติก์: เรื่องปืนนี่เห็นจากรูปถ่าย จากวิดีโอ

ถาม: ช่วยเล่าให้ฟังว่าเห็นอะไรด้วยตาบ้างตอนนั้นที่ตึกวารสารฯ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ที่เห็นกับตานี่ คือเขายิงปืนกลจากหอเล็ก


ถาม: เป็นครั้งแรกที่คุณเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจภายในธรรมศาสตร์ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ครับ เห็นเข้ามาตรงที่หอเล็ก ผมอยู่ตรงตึกวารสารฯ แต่เขาเข้ามาทุกทาง ทำไมถึงรู้ว่าเข้ามาทุกทาง เพราะว่าตอนเราอยู่ตึกวารสารฯ ได้ยินเสียงปืนเสียงตะโกนโห่ร้อง ผมค่อยๆ ชะโงกหัวดูทางหน้าต่าง ตรงหอเล็กเห็นเขาวิ่งเป็นแถวเข้ามา เท่าที่เห็นวิ่งมาอยู่ตรงหอเล็กประมาณ 3 คน

ถาม: แต่งชุดอะไร ?
ไพรัฎฐโชติก์ แต่งชุดตำรวจครับ ตำรวจกลุ่มนี้ใส่หมวกเหล็กแล้ว แล้วก็ยิงปืนกลเข้ามา ผมอยู่ตึกวารสารฯ มองมาทางเฉลียงจะเห็นหอเล็กพอดี ก็ได้เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เท่าที่ผมเห็นสามคนวิ่งหลบมุมแล้วก็ยกปืนยิงเข้ามา อาจเป็นเพราะมีประชาชนมาหลบที่ตึกวารสารฯ กันมาก และพวกเรารักษาความปลอดภัยจะยันอยู่ตรงนี้ ดังนั้นพอถูกยิงมากๆ ก็เลยบอกว่าอยู่ตรงนี้ไม่ได้แล้ว ให้ส่วนหนึ่งทะยอยหนีเข้าตึกโดม เขาก็ให้ผมเข้าไปตรงตึกโดม ผมเห็นเจ้าหน้าที่เข้ามาถึงตึกอมธ.แล้ว เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจถือปืนคาร์ไบน์ แล้วก็ใส่หมวกเหล็ก พอผมจะย้ายจากตึกวารสารฯ ไปตึกโดม วิ่งผ่านแนวช่องว่างระหว่างตึกทั้งสองไปได้ ตรงช่องนี้มีรถโฟล์คตู้จอดอยู่ เขายิงๆ เสร็จก็วิ่งมาประจำตรงรถโฟล์ค ผมยอมรับว่าผมก็มีปืนสั้น ก็เลยยิงต่อสู้กับเขา เจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณสามสี่คนอยู่หลังรถโฟล์ค ผมอยู่ในตึกโดม เป็นแนวที่มองเห็นกัน ใส่หมวกเหล็กทุกคน แล้วก็ถืออาวุธสงครามคือปืนคาร์ไบน์เอ็ม 16

ถาม: ทราบหรือไม่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใส่หมวกเหล็กนี่มาจากหน่วยไหน ?
ไพรัฎฐโชติก์: ไม่ทราบครับ

ถาม: หลังจากยิงต่อสู้กันแล้วเกิดอะไรขึ้น ?
ไพรัฎฐโชติก์: เราก็กระสุนหมด ผมมีกระสุนอยู่ 30 นัด ก็ยิงหมดเลย ทางเขาก็ระดมยิงเข้ามา ตรงนั้นมีพวกเราอยู่ทั้งหมดสี่คน ที่มีอาวุธปืนมีอยู่สามคน มีผมหนึ่งคน อีกสองคนผมจำชื่อไม่ได้ เป็นปืนไทยประดิษฐ์ ยิงได้ทีละนัด

ถาม: หลังจากนั้นทำอย่างไรต่อ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ผมก็ถอยออกมาจากตึกโดม วิ่งมาโดดหน้าต่างตรงสนามเทนนิส หนีไปทางตึกคณะศิลปศาสตร์ ตรงไปริมแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วผมก็เอาปืนไปซ่อนที่ท่อน้ำ

ถาม: แล้วทำอะไรต่อ ?
ไพรัฎฐโชติก์: หลังจากนั้นก็มีประชาชน พี่ๆ นักศึกษาสามสี่คนบอกให้ผมลงแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ถอยได้แล้ว ให้หนี ก็เลยลงตามเขา ผมเดินเป็นคนที่สี่ เขามาสามคน ข้างหน้าเป็นผู้หญิงสองคน แล้วก็เป็นผู้ชายคนหนึ่ง แล้วก็เป็นผม เดินเลียบแม่น้ำตึกศิลปศาสตร์ ขึ้นที่ร้านจั๊ว ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจถือปืนคาร์ไบน์จี้มา เขาบอกให้ขึ้นมาทีละคน พอถึงผมเขาก็เอาพานท้ายปืนฟาดหลัง แล้วก็มีลูกเสือชาวบ้าน ที่รู้ก็เพราะเขาผูกผ้าพันคอลูกเสือ แล้วก็มีวัยรุ่น ผมคิดว่าเป็นพวกกระทิงแดง เข้ามาเตะ คนละทีสองที ผมก็เอามือปิดป้อง แล้วก็มีนายตำรวจเข้ามาตะโกนห้าม บอกว่าหยุด เอาไปที่ท่าน้ำ


ถาม: เจ้าหน้าที่คนที่ตะโกนห้ามนี่มาจากหน่วยไหน ?
ไพรัฎฐโชติก์: เป็นตำรวจสัญญาบัตร ผู้ใหญ่หน่อย มีอายุแล้ว หน่วยไหนผมไม่ทราบ เป็นตำรวจนครบาล

ถาม: ในขณะที่เผชิญหน้ากับตำรวจที่เขาจัดการอะไรกับเรา เคยคิดบ้างหรือไม่ว่าจะบอกเขาไปว่าเราเป็นลูกใคร เขาจะได้จัดการกับเราดีขึ้น ?
ไพรัฎฐโชติก์: ไม่เคยคิดเลยครับ

ถาม: ที่ไม่คิดนี่เพราะอะไร ไม่อยากให้คุณพ่อรู้ด้วยรึเปล่า ?
ไพรัฎฐโชติก์: ความรู้สึกตอนนั้นคือ เขายิงแล้ว เขาไม่ได้ฟังอะไรแล้ว ผมจำได้ว่าตอนที่เขาระดมยิง พี่ที่เป็นโฆษกคนหนึ่งเขาขอร้อง กราบขอร้อง อย่ายิงๆ เพราะเป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น เราไม่มีเจตนาอะไรเลย เราชุมนุมด้วยความสงบ เขาก็ยังระดมยิง ผมยังไม่ได้เล่าว่าเห็นคนบาดเจ็บ ไม่ได้เล่าว่าเห็นใครล้มไปบ้างนะ ในช่วง.... (หยุดพูด เสียงสะอื้น น้ำตาไหล)
ตอนอยู่ตรงตึกวารสารฯ ก็เห็นเพื่อนเรา...เมื่อกี้อัดไปแล้วใช้มั้ยครับที่ถูกยิงสามนัดชื่อหนิง แล้วก็ตอนผมวิ่งขึ้นไปตรงตึกนิติฯ ก็เห็นหลายคนนอนฟุบอยู่ แล้วตอนตึกวารสารฯ ผมจะวิ่งมาคุ้มกันให้ประชาชนถอยออกทางข้างหลัง ไปทางตึกโดม เห็นมีนักศึกษาคนหนึ่งแกวิ่งแล้วอยู่ดีๆ ก็ล้มลง แน่นิ่งไปเลย ผมก็วิ่งไปช้อน เขาถูกยิงทะลุหน้าอก กระสุนเข้าหลังแล้วมาทะลุหน้า มันเป็นรูใหญ่มาก ผู้หญิงฮะ ผมสั้นๆ เสื้อลายสก็อตสีแดง ผมจำติดตา ก็ต้องวางเขาไว้ที่เดิม ช่วยไม่ไหว แค่ดึงเขาไปหลบอยู่นิดหนึ่ง แล้วก็ต้องไปทำหน้าที่ต่อ แล้วก็ถอยมา อย่างที่เล่าว่าพอขึ้นบนฝั่งก็ถูกตำรวจเอาพานท้ายปืนตี เขาควบคุมตัวผมที่โป๊ะท่าน้ำ ช่วงที่ถูกควบคุมตัว เขากำลังจะเอามาเรือมารับเพื่อข้ามฝั่งไปศิริราช ผมก็หันไปทางจุดเดิมที่เดินมาจากตึกศิลปศาสตร์ ก็เห็นพี่โอริสสากับพี่อีกคนอ้วนๆ ผมยาว ผมจำชื่อไม่ได้ ยกมือยอมแพ้แล้ว มันยิงใส่ทั้งคู่ ผมเห็นกับตา คนหนึ่งชื่อโอริสสา ไอยราวัณวัฒน์ เห็นจมน้ำไปทั้งคู่ สักครู่ก็เห็นพี่โอริสสาโผล่ขึ้นมาจากน้ำอุ้มพี่อ้วนๆ คนนั้นขึ้นมาที่ฝั่งตรงโป๊ะท่าน้ำ ผมเห็นพี่โอริสสาเขาเลือดเต็มหน้าเต็มคาง แกถูกยิงเข้าคางเข้ากราม ส่วนพี่คนนั้น ผมไม่รู้โดนที่ไหน แต่เลือดเยอะเต็มหน้าอก ไม่แน่ใจว่าจะเสียชีวิตหรือเปล่า จากตรงนั้นผมก็ถูกคุมตัวข้ามมาฝั่งศิริราช เขาก็จับไปที่สน.บางกอกน้อย เอาตัวไปขังที่สน.บางกอกน้อย เขาให้ไปอยู่ในห้องควบคุมห้องขัง เข้าไปก็มีหลายคน เยอะครับ ที่ถูกจับอยู่แล้ว ผมก็เข้าไปสมทบ สักสองชั่วโมงได้ ก็มีนายตำรวจตะโกนเรียกชื่อผม นายไพรัฎฐโชติก์ อยู่ในนี้รึเปล่า ครั้งแรกผมก็ไม่ได้ตอบ ครั้งที่สองไม่ได้ตอบ จนครั้งที่สามเขามาถามย้ำอีก พี่ๆ ที่อยู่ในห้องก็บอกว่าออกไปเถอะ จะได้ช่วยเหลือดูแลคนที่บาดเจ็บหรือตายไปให้ติดต่อญาติโยมได้ แล้วพี่ก็ฝากให้ติดต่อทางบ้านพี่ด้วย ผมก็เลยบอกไปว่าผมอยู่นี่ ตำรวจก็นำตัวผมออกจากห้องขัง ไปนั่งในห้องสารวัตรใหญ่ เมื่อเข้าไปนั่งในห้องสารวัตรใหญ่ เขาก็เอาน้ำมาให้กิน สักครู่ก็มีนายตำรวจกับเมียนายตำรวจเข้ามาถามผมว่า อ้าวทำไมเข้าไปกับเขาด้วย ผมก็ไม่ได้ตอบอะไร ทำไมเข้าไปยุ่งอะไรกับการเมือง เข้าไปยุ่งกับพวกนี้ ผมก็ไม่ได้ตอบอะไรจนคุณแม่ผมมา คุณแม่มารับไปโดยให้ผมปีนหน้าต่างออกจากห้องสารวัตรใหญ่ แล้วก็เอารถมารอรับ ผมมารู้ทีหลังว่า ตอนข้ามมาจากศิริราช มีญาติผมเห็นผมถูกจับ ก็เลยโทรศัพท์ไปบอกที่บ้าน ก็เลยได้อภิสิทธิ์ ออกมา


ถาม: ทำไมต้องปีนออกหน้าต่าง ?
ไพรัฎฐโชติก์: เขาบอกว่าไม่อยากให้ใครเห็น เพราะคนมาดูกันอยู่ข้างหน้าเยอะ

ถาม: ขออนุญาตถามเรื่องที่คุยกับคุณพ่อ เรื่อง 6 ตุลา คุยกับคุณพ่อเรื่องอะไรบ้าง ?
ไพรัฎฐโชติก์: หลังจากเหตุการณ์ คุณพ่อบอกว่ายังไงก็สู้เขาไม่ได้หรอกลูก ฝ่ายบ้านเมืองเขามีอาวุธ อยากให้ทำใจ และก็รู้ว่าเรารักความเป็นธรรม พ่อก็จบธรรมศาสตร์เหมือนกัน เท่าที่ผมจำภาพวันนั้นได้ คุณพ่อก็เสียใจมาก เสียใจนี่ไม่ใช่ว่าลูกไปทำอะไร แต่เสียใจที่ทำกันเกินไป แต่ท่านเป็นผู้ใหญ่ พูดอะไรไม่ออก

ถาม: ใครทำกันเกินไป นักศึกษาหรือตำรวจ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ฝ่ายบ้านเมือง แกไม่ได้ใช้คำว่าตำรวจ และก็เท่าที่ผมรู้ ในคืนวันนั้นที่มีคำสั่งเตรียมพร้อม คุณพ่อเป็นคนสุดท้ายที่รับรู้เพราะว่าตอนนั้นห้าทุ่มก่อนเที่ยงคืนมันปิดไม่ให้เราออกแล้ว ทางพี่ชายผมได้โทรศัพท์ไปหาคุณพ่อ คุณพ่อยังอยู่ที่บ้านอยู่เลยตอนห้าทุ่ม แกเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ถ้ามีอะไรจะต้องรู้ก่อน แต่พอหลังจากนั้นสักครึ่งชั่วโมง ที่บ้านก็รีบโทรศัพท์มาบอกว่าคุณพ่อเพิ่งออกไป เขามีการเตรียมพร้อม... แจ้งคุณพ่อคนสุดท้าย

ถาม: คุณพ่อมีบทบาทอะไรในการไปตรวจสอบสำนวนที่เกี่ยวข้องกับ 6 ตุลา ?
ไพรัฎฐโชติก์: หลัง 6 ตุลารู้สึกว่าท่านจะได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานสอบสวนกรณีเหตุการณ์นี้ ซึ่งตำแหน่งที่ถูกต้องสามารถสอบถามท่านได้อีกที

ถาม: กรณี 6 ตุลาทั้งหมดเลยหรือครับ หรือเฉพาะบางส่วนของเหตุการณ์ ?
ไพรัฎฐโชติก์: เขาตั้งมาหลายคณะ แต่คุณพ่อเป็นประธานหนึ่งในคณะที่สอบสวนเรื่องเหตุการณ์แสดงละครที่ลานโพธิ์

ถาม: เคยคุยกับคุณพ่อเรื่องผลของการสอบสวนหรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ไม่ได้คุยครับ

ถาม: ในฐานะที่เป็นลูกตำรวจ ทราบหรือไม่ว่าการเปลี่ยนหน่วยงานเป็นเรื่องธรรมดา สมมติว่ามีตำรวจคนหนึ่งที่ปัจจุบันนี้อยู่กองปราบ แต่ว่าในอดีตเคยอยู่ตชด. เป็นเรื่องปกติธรรมดาหรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: เท่าที่ผมทราบ การย้ายทำได้ครับ แต่การย้ายข้ามหน่วยงานต้องผ่านระดับผู้บังคับบัญชาชั้นสูง ก็คือระดับผู้บัญชาการขึ้นไป มีการโยกย้ายได้ เป็นเรื่องธรรมดา

ถาม: คิดว่ามีอะไรอีกที่สำคัญและยังไม่ได้เล่า ?
ไพรัฎฐโชติก์: คือหลังจากที่คุณแม่ไปรับผมแล้วก็ตามหาพี่ชาย ก็คิดว่าแกเสียชีวิต คือมีญาติเป็นหมอชื่อนายแพทย์พิสิทธิ์ พาผมเข้าไปในห้องเก็บศพที่ศิริราช ผมก็เห็นศพพวกเราเยอะมาก ที่ผมเห็นกับตาสิบกว่าศพขึ้นไป ผมจำได้ไม่ชัด มันเจ็บปวดมาก เป็นศพที่ทั้งถูกยิง ทั้งถูกทำทารุณ เรียกว่าเละ คือหน้าตาบวม มีรอยไหม้ ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ผู้หญิงนี่ผมเห็นรอยกระสุนปืน ที่ผมเห็นกับตาคนนี้ที่ตรงตึกวารสารฯ ศพก็อยู่ที่นี่ เขาถูกยิงข้างหลังทะลุหน้าอก


ถาม: เท่าที่ทราบ ศพมีเยอะ แต่หายไป พอจะทราบหรือไม่ว่าหายไปไหนได้อย่างไร เพราะอย่างคุณจารุพงษ์ก็ไม่ได้ศพ
ไพรัฎฐโชติก์: ตรงนี้ผมไม่ทราบ แต่ที่ไปเห็นที่ห้องเก็บศพศิริราช ไม่ต่ำกว่าสิบศพ เตียงในห้องเก็บศพมันเรียงเป็นแถวๆ ประมาณสักสามแถว คือเข้าไปดูแต่ละศพ เพราะว่าจะดูหน้าพี่ชาย เพราะบางศพหน้าเละ ถูกทำทารุณ ถูกตี มีอยู่ศพหนึ่งยังมีสายไฟพันคออยู่เลย ไฟลวกหน้าด้วย ท้วมๆ หน่อย นอกนั้นก็เป็นรอยกระสุนทั้งนั้น แต่เขาก็ไม่ให้ผมอยู่นานนัก

ถาม: เห็นศพของฝ่ายกระทิงแดงบ้างหรือไม่ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ไม่เห็นเลยครับ ที่แยกแยะได้เพราะแต่ละศพจะมีเสื้อผ้าใส่อยู่

ถาม: รู้จักคนอื่นที่เป็นศพอยู่หรือไม่ นอกจากผู้หญิงคนนั้น
ไพรัฎฐโชติก์: ไม่มีครับ ไม่รู้จัก

ถาม: มีพยานบางคนพูดว่ามีผู้หญิงถูกข่มขืน แล้วก็เห็นภาพจากนิตยสารต่างประเทศด้วย พอจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ได้บ้างหรือไม่?
ไพรัฏฐโชติก์: ข้อมูลนี้ผมมาเห็นรูปจากพี่ชูศิลป์ แกเอามาให้ผมดูหลังจากเหตุการณ์ เป็นรูปผู้หญิงถูกเปลือยกาย แล้วมีวัยรุ่นซึ่งคาดว่าเป็นกระทิงแดงใส่หมวกตำรวจ อาจจะไม่ใช่หมวกตำรวจแต่เป็นทรงเดียวกับตำรวจแล้วก็นั่งทับที่ก้นศพ กำลังยิ้มเยาะอยู่ อันนี้ผมเห็นชัดเจน ข้อมูลนี้เอาจากทางพี่ชูศิลป์

ถาม: คิดว่ารูปนี้เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 6 ตุลาที่ธรรมศาสตร์ ?
ไพรัฎฐโชติก์: ใช่ครับ เพราะว่ารูปบุคคลที่นั่งก็เห็นในรูปถ่ายอื่น หลายคนเป็นกระทิงแดง

ถาม: เป็นรูปผู้หญิงที่ถูกข่มขืนถูกเปลือยกาย ?
ไพรัฎฐโชติก์: ใช่ครับ มีสองรูป รูปแรกที่เห็นนั่งทับศพ ศพนอนคว่ำหน้า เปลือยกาย แล้วคนนี้นั่งทับที่ก้น อีกรูปเป็นรูปเปลือยหงายหน้า

ถาม: คิดว่าเป็นคนเดียวกันรึเปล่า ?
ไพรัฎฐโชติก์: ผมคิดว่าเป็นคนเดียวกัน... ขอเล่าต่อจากสักครู่อีกนิด คือเมื่อผมไปดูห้องเก็บศพแล้ว ทางญาติก็พาขึ้นไปดูที่ห้องไอซียู เพื่อขึ้นไปดูว่าอาจจะพบพี่ชาย ก็เข้าไปก็เจอพี่โอริสสานอนอยู่ห้องไอซียู เขาถูกยิงที่ขากรรไกร แล้วก็เจอชื่อหนิงที่ถูกยิงที่หน้าอกให้ออกซิเจนอยู่ แล้วก็อีกหลายคน เยอะมาก ผมอยู่ได้ไม่นาน เขาเร่งให้ออก แต่ก็ไม่พบพี่ชายครับ พวกเรามาทราบข่าวตอนหลังว่าพี่ชายถูกจับไปอยู่ที่โรงเรียนพลตำรวจชลบุรี




Create Date : 23 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2551 15:16:12 น. 0 comments
Counter : 303 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

stopitnow
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add stopitnow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.