Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2551
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
242526272829 
 
23 กุมภาพันธ์ 2551
 
All Blogs
 
ใครเป็นใครในกรณี 6 ตุลา

ใครเป็นใครในกรณี 6 ตุลา

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

สงัด ชลออยู่, ธานินทร์ กรัยวิเชียร และแผนรัฐประหารปี 2519
....ฯลฯ...

จดหมายสองฉบับของ สุรินทร์ มาศดิตถ์

เพื่อความชัดเจนในเรื่องนี้ ขอให้เรามาพิจารณาหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี: จดหมายเกี่ยวกับ 6 ตุลา ของสุรินทร์ มาศดิตถ์

สุรินทร์เขียนจดหมาย 2 ฉบับ ถึง "เพื่อนอดีต ส.ส. และสมาชิกพรรค ประชาธิปัตย์" ในเดือนตุลาคม 2520 ฉบับแรกยาว 2 หน้ากระดาษลงวันที่ 3 ฉบับที่สองยาว 3 หน้าลงวันที่ 24. ขณะที่เขียนเขายังบวชเป็นพระอยู่ที่วัดในนครศรีธรรมราช (เขาอธิบายในจดหมายฉบับแรกว่า ที่บวชเพราะเมื่อเกิด 6 ตุลา แม่เขาบนพระไว้ว่า "ขอให้ลูกสุรินทร์กลับบ้านโดยความปลอดภัย แล้วจะให้บวช") เขาต้องการ "เปิดเผยความจริง...เท่าที่คิดว่าพอเปิดเผยได้" เกี่ยวกับ 6 ตุลาแก่เพื่อนร่วมพรรค ซึ่งหลายคนยังไม่รู้ความจริงจนทำให้ "เข้าใจผิดต่อตัวอาตมาก็มี"

สุรินทร์เล่าในจดหมายฉบับแรกว่าเมื่อมีการปลุกระดมโจมตีรัฐบาลของสถานีวิทยุยานเกราะและสถานีวิทยุทหารอื่นๆบางสถานี โดยเฉพาะในช่วงการกลับมาของประภาส เขาได้เสนอให้ม.ร.ว.เสนีย์ ดำเนินการ ซึ่งเสนีย์ก็ได้ออกคำสั่งไป "แต่ไม่ถึง 3 ช.ม. พลตรีประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทยมาขอให้นายกรัฐมนตรีแก้คำสั่งนั้น การปลุกระดมด้วยความเท็จก็ถูกดำเนินต่อไปจนถึง...วันที่ 6 ตุลาคม 2519"

สุรินทร์เขียนว่า :
“แผนการที่เขาจะปฏิวัติและการย้ายนายทหารผู้ใหญ่ที่สั่งในเดือนกันยายนและมีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2519 เป็นแผนที่อยู่ในแผนปฏิวัติ อาตมาได้ให้เลขานุการรัฐมนตรี (นายสัมพันธ์ ทองสมัคร) กราบเรียนนายกรัฐมนตรีแล้วเพื่อแก้ไข ที่ไม่กล้ากราบเรียนเองกลัวว่าจะถูกเข้าใจผิดว่ากลัวถูกออกจากรัฐมนตรีจึงคิดมากไปว่าจะมีการปฏิวัติ แต่เมื่อให้นายสัมพันธ์กราบเรียนแล้วยังไม่มีอะไรแก้ไข อาตมาจึงกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเองในวันที่ 28 กันยายน 2519 ว่าจะมีการปฏิวัติยึดอำนาจรัฐบาลของประชาชน พร้อมกับเสนอแนะทางแก้ไขให้แก่นายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแต่งตั้งทหาร 2-3 คนเพื่อป้องกันการถูกยึดอำนาจของประชาชน คือการปฏิวัติ จากข้อเสนอของอาตมาในวันนั้น นายกรัฐมนตรียังคิดแล้วพูดว่า "ทำไม่ได้สุรินทร์ ทหารจะแตกแยก เพราะการย้ายทหารนั้น 3 เหล่าทัพเขาประชุมกันมาแล้ว" แสดงว่านายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เชื่อในความสุจริต เจตนาดีของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ อาตมาก็พูดว่า "ก็ตามใจท่านหัวหน้า เรามานั่งรอวันถูกยึดอำนาจกันเท่านั้น และจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้" แล้วอาตมาก็ออกจากห้องนายกรัฐมนตรีไปทำงานตามปกติ

“วันที่ 1 ตุลาคม 2519 มีหนังสือด่วนที่สุดจากสำนักราชเลขาธิการให้รัฐมนตรีทุกคนไปรับเสด็จองค์รัชทายาทเสด็จฯกลับจากประเทศออสเตรเลีย นายกรัฐมนตรีเรียกอาตมาไปพบและได้พูดถึงเค้าของการปฏิวัติว่ามีขึ้นแล้ว นายสมัคร สุนทรเวช นายสมบุญ ศศิธร รู้ข่าวว่าไม่ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการพรรคให้ดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย จะถูกย้ายกระทรวง 2 คนนี้ได้ทำหนังสือยื่นถึงนายกรัฐมนตรีว่าอย่ากราบทูลแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี หากว่าไม่ได้อยู่กระทรวงมหาดไทย หากแต่งตั้งก็จะลาออก โดยยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ห้องรับรองของกองทัพอากาศขณะไปรอรับเสด็จฯ ในตอนที่นายกรัฐมนตรีพูดถึงเค้าการปฏิวัติว่ามาจากฝ่ายไหนกับอาตมานั้น อาตมาได้กล่าวว่า "ตามใจ ใครจะปฏิวัติล่ะ หากมีการปฏิวัติเกิดขึ้นอีก เราจะแพ้คอมมิวนิสต์ นิสิตนักศึกษาปัญญาชนจะขึ้นเขารวมกับพวกบนเขามากขึ้น เป็นเรื่องน่าเสียดายที่จะถูกทำลายประชาธิปไตย" ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีพูดว่า "ผมทำงานเพื่อประชาธิปไตยและราชบัลลังก์มา 30 ปีแล้ว ทำอย่างดีที่สุดแล้ว”

น่าเสียดายที่สุรินทร์ไม่ได้ขยายความว่า "เค้าการปฏิวัติ" ที่เขาพูดถึงในปลายเดือนกันยายนต่อต้นเดือนตุลาคมนั้นมาจากฝ่ายไหนกันแน่ ข้อมูลของเขาที่ว่าประมาณและสมัครขัดขวางการเล่นงานวิทยุยานเกราะดูเหมือนจะเป็นการยืนยันการวิเคราะห์ของขบวนการนักศึกษาในช่วงนั้นที่ว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังฝ่ายขวาที่มียานเกราะเป็นหัวหอกมีที่มาหรือได้รับแรงหนุนจากพรรคชาติไทยและปีกขวาประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพันธมิตรชาติไทย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ว่า "แผนปฏิวัติ" เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายทหารในปีนั้นและที่สุรินทร์เสนอให้แก้รายชื่อการโยกย้ายใหม่ กลับชี้ไปที่กลุ่มสี่เสาฯที่ครองอำนาจในกองทัพ แน่นอนว่า มีความเป็นไปได้ที่ว่า ในช่วงปี 2519 โดยเฉพาะในเดือนท้ายๆก่อน 6 ตุลา ชนชั้นปกครองทุกกลุ่มต่างจ้องหาจังหวะทำรัฐประหารด้วยกันทั้งนั้น

ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด จดหมายเกี่ยวกับกรณี 6 ตุลาถึงสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ของสุรินทร์ มาศดิตถ์ ฉบับแรกลงวันที่ 3 ตุลาคม 2520 ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้างในที่ใดมาก่อน ในทางตรงกันข้าม ฉบับที่สองลงวันที่ 24 ตุลาคม 2520 ต้องนับว่าเป็นเอกสารการเมืองไทยสมัยใหม่ที่รู้จักกันดีมากที่สุดชิ้นหนึ่ง และถ้าผมเข้าใจไม่ผิดอีกเช่นกัน จดหมายฉบับนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารรายสัปดาห์ ข่าวไทยนิกร ฉบับวันที่ 12 มิถุนายน2521 ในยุคที่มีคำ

นูณ สิทธิสมาน เป็นเสมือนบรรณาธิการหลังฉาก (ชื่อคำนูณ ไม่เคยปรากฏในนิตยสารเลย) หลังจากนั้นได้มีผู้นำมาตีพิมพ์ซ้ำอีกไม่ต่ำกว่า 2-3 ครั้ง โดยเฉพาะในปี 2531 เมื่อเกิดการโต้แย้งทางการเมืองครั้งใหญ่หลังจากมีการเปิดเผยว่าจำลอง ศรีเมืองมีส่วนร่วมในการชุมนุมของกลุ่มพลังฝ่ายขวาหน้าทำเนียบรัฐบาลในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 (เช่นใน มติชนสุดสัปดาห์และในหนังสือ คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ใครคือฆาตกร? ซึ่งสมยศ เชื้อไทย เป็นบรรณาธิการ) ผมเข้าใจว่า ในการตีพิมพ์ครั้งหลังๆ ได้ใช้ฉบับที่ตีพิมพ์ใน ข่าวไทยนิกร เป็นต้นแบบ เนื่องจากในฉบับนั้นมีข้อความตกหล่นอยู่ 2 แห่ง ยาวรวมกัน 2 บรรทัด ซึ่งไม่สำคัญมากนัก และฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งหลังๆก็มีข้อความตกหล่นนั้นตามไปด้วย

ผมขออนุญาตยกเอาส่วนสำคัญของจดหมายสุรินทร์ฉบับดังกล่าวมาพิมพ์ซ้ำในที่นี้ หลังจากนั้นจะเป็นการวิเคราะห์ ผมมีความรู้สึกเมื่อได้กลับไปอ่านจดหมายนี้ใหม่เมื่อเร็วๆนี้ว่า มีประเด็นน่าสนใจบางประเด็นที่ก่อนหน้านี้เราอาจจะมีแนวโน้มมองข้ามไป

สุรินทร์เขียนว่า :
“วันที่ 6 ตุลาคม 2519 อาตมาถึงตึกบัญชาการ สำนักนายกรัฐมนตรี เวลาประมาณ 7.00 น.เศษ มีนักหนังสือพิมพ์มาคอยอยู่ที่บันไดและลานก่อนเข้าลิฟท์หลายคน ต่างก็ถามถึงการที่มีภาพแขวนคอหน้าคล้ายเจ้าฟ้าชาย อาตมาตอบว่าไม่มีปัญหาอะไรแล้ว นายกรัฐมนตรีสั่งดำเนินคดีและกรรมการศูนย์นิสิตนักศึกษาบางคนเข้ามอบตัวแล้ว ต้องดำเนินคดีไปตามกฎหมาย แล้วอาตมารีบขึ้นไปชั้น 4 ที่ห้องทำงานนายกรัฐมนตรี พบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีได้ดูภาพในหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม และ บ้านเมือง จึงเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีว่า ให้รีบประกาศภาวะฉุกเฉินห้ามชุมนุมทั่วประเทศ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ฯพณฯ นายกฯ เห็นด้วย และว่าเดี๋ยว 9 โมงเช้า ประชุมคณะรัฐมนตรีจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อาตมาจึงลงไปห้องทำงานชั้น 3 เห็นหนังสือที่ด่วนไม่กี่ฉบับ เวลา 9 น.เศษ จึงรีบลงไปประชุมคณะรัฐมนตรีที่ตึกไทยคู่ฟ้า ไปถึงคณะรัฐมนตรีเปิดประชุมไปแล้ว นายกรัฐมนตรีกล่าวกับอาตมาว่ากำลังพิจารณาเรื่องประกาศภาวะฉุกเฉิน อาตมาว่าก็ไม่มีปัญหาอะไรเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมหาดไทย และจำเป็นต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันเหตุร้ายในบ้านเมือง ปรากฏว่า พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีอื่นฝ่ายพรรคชาติไทยคัดค้านไม่ให้ประกาศภาวะฉุกเฉิน ไม่ให้ห้ามการชุมนุม โดยอ้างเหตุผลว่า หากห้ามการชุมนุม ลูกเสือชาวบ้านจำนวนมากที่นัดมาชุมนุมที่อนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าเดินทางเข้ามาชุมนุมมากแล้วและกำลังเดินทางมา ก็จะเดือดร้อนชุมนุมไม่ได้ แล้วจะหันมาเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล

“เหตุผลการคัดค้านของพลตรีชาติชายอ่อน รัฐมนตรีส่วนมากนั่งเฉยแสดงว่าเห็นด้วยในการประกาศภาวะฉุกเฉิน พลตรีชาติชายจึงได้ไปนำเอาพล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ผู้เป็นหัวหน้าลูกเสือชาวบ้านคนหนึ่งของฝ่าย ตชด. เข้ามาในคณะรัฐมนตรี มาคัดค้านการประกาศภาวะฉุกเฉิน และกล่าวว่าจะต้องปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สิ้นซาก นายกรัฐมนตรีพูดว่าไม่ได้ คุณจะเอาลูกเสือชาวบ้านเอาประชาชนไปฆ่านักศึกษาประชาชนไม่ได้ หากเกิดจลาจลเป็นหน้าที่ของตำรวจทหาร บ้านเมืองมีขื่อแป คุณจะเอาประชาชนไปฆ่าประชาชนไม่ได้ พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ บังอาจโต้นายกรัฐมนตรีต่อไปว่า ลูกเสือชาวบ้านก็มีวินัยร่วมกับตำรวจทหารได้ ดูเหตุการณ์จากการกระทำของรัฐมนตรีฝ่ายพรรคชาติไทย และที่ไปนำพล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ เข้ามาโต้เถียงกับนายกรัฐมนตรีแล้ว อาตมาเข้าใจได้ทันทีว่าพวกนี้ต้องวางแผนการปฏิวัติไว้แล้ว และเชื่อแน่ของพวกเขาแล้วว่าต้องสำเร็จแน่ ตำรวจยศพลตำรวจตรียังกล้าเถียงนายกรัฐมนตรีถึงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย รมต.เกษตรฯแสดงความเห็นในคณะรัฐมนตรีว่า เป็นจังหวะและโอกาสดีที่สุดแล้วที่จะปราบปรามให้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยให้ถูกลบชื่อหายไปจากประเทศ

“ก่อนเที่ยงที่กำลังโต้กันเรื่องจะประกาศภาวะฉุกเฉินหรือไม่ โดยรัฐมนตรีฝ่ายประชาธิปัตย์ให้ประกาศ รัฐมนตรีฝ่ายพรรคชาติไทยไม่ยอมให้ประกาศ ทั้งๆที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีการ่างประกาศไว้แล้ว ยังไม่เป็นที่ยุตินั้น พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจได้เข้ามารายงานในคณะรัฐมนตรีพร้อมกับร้องไห้โฮๆว่า ฝ่ายนักศึกษามีอาวุธปืนสงครามร้ายแรงระดมยิงตำรวจบาดเจ็บและตายจำนวนมาก ฝ่ายนักศึกษาก็ตายเยอะ พูดพลางร้องไห้พลาง ตำรวจนครบาลสู้ไม่ได้จึงส่งตำรวจพลร่มและตชด.เข้าไปปราบปราม ต่อมา พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ อธิบดีกรมตำรวจเข้าไปรายงานเหตุการณ์ว่า ควบคุมสถานการณ์ในธรรมศาสตร์ไว้ได้แล้ว มีความสงบเรียบร้อยแล้ว นายกรัฐมนตรีถามว่า "ตำรวจตายกี่คนท่านอธิบดี" อธิบดีกรมตำรวจตอบว่า "ตำรวจไม่ตาย แต่บาดเจ็บไม่กี่คน" รัฐมนตรีจึงแสดงสีหน้าสงสัย อธิบดีกรมตำรวจหันไปมองพล.ต.ท.ชุมพล กำลังนั่งเช็ดน้ำตา จึงไม่รู้ว่าก่อนนั้นเขารายงานกันว่าอย่างไร อธิบดีกรมตำรวจจึงเดินออกจากที่ประชุมไป ต่อมา พล.ต.ต.กระจ่าง ซึ่งเป็นหัวหน้านำตชด.เข้าไปทำการควบคุมนักศึกษา 3,000 คนเศษไว้แล้วนั้น เข้ารายงานเหตุการณ์ในคณะรัฐมนตรี ท่านผู้นี้อาตมาไม่ทราบนามสกุล แต่อาตมายกย่องเขาอยู่จนบัดนี้ว่า เป็นตำรวจอาชีพ ผู้บังคับบัญชาสั่งไปทำงานก็ไปทำ แล้วมารายงานคณะรัฐมนตรีตามความเป็นจริง แต่สังเกตดูไม่เป็นที่พอใจของรัฐมนตรีฝ่ายที่ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ พล.ต.ต.กระจ่าง รายงานว่า "ปืนที่ยึดได้จากนักศึกษาเป็นปืนพกเพียง 3 กระบอก" คุณเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ รองนายกรัฐมนตรีถามว่าปืนอะไรที่เสียงดังมาก ดังปุดๆปึงๆ ใครยิง ฝ่ายเรายิงหรือฝ่ายนักศึกษายิง พล.ต.ต.กระจ่าง ตอบว่า ปืนอย่างนั้นนักศึกษาจะเอามาจากไหน ตำรวจยิงทั้งนั้น จนกระทั่งเที่ยง ปัญหาจะประกาศภาวะฉุกเฉินหรือไม่ยังตกลงกันไม่ได้ อาตมาจึงตัดบทด้วยการเสนอว่า มอบอำนาจนายกรัฐมนตรีก็แล้วกัน ท่านจะประกาศภาวะฉุกเฉินเวลาใด แล้วพักรับประทานอาหาร อาตมาถามพล.ต.ต.กระจ่าง เป็นการส่วนตัวนอกที่ประชุมว่า ยึดอาวุธจากนักศึกษาได้เพิ่มหรือไม่ พล.ต.ต.กระจ่างวิทยุถามไปยังที่ควบคุมนักศึกษา บางเขน ซึ่งเป็นศูนย์ฯ ได้รับตอบมาทางวิทยุว่า ได้ปืนจากนักศึกษาในธรรมศาสตร์เพียง 3 กระบอก เป็นปืนพกขนาด .22

“ตอนบ่ายประชุมคณะรัฐมนตรีต่อ มีการพิจารณาร่างแถลงการณ์ ได้มีการแถลงการณ์บางตอนไม่ตรงความจริง อาตมาเป็นผู้คัดค้านไม่ให้ออกแถลงการณ์เท็จ ต่อมา พล.ต.ชาติชาย รมต.อุตสาหกรรมออกไปนอกห้องประชุมแล้ว พูดว่า ลูกเสือชาวบ้านที่ชุมนุม ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าเริ่มอึดอัดแล้ว เพราะไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาล
นายกรัฐมนตรีถามว่าเหตุการณ์สงบแล้วยังไม่กลับบ้านกันอีกหรือ พล.ต.ชาติชาย ตอบว่ายังไม่กลับ และเตรียมเดินขบวนมาทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอทราบคำตอบจากรัฐบาลตามข้อเรียกร้อง จึงมีรัฐมนตรีคนหนึ่ง จำไม่ได้ว่าใคร ถามว่าลูกเสือชาวบ้านเรียกร้องอะไร นายกรัฐมนตรีตอบว่า กลุ่มแม่บ้านได้ยื่นข้อเรียกร้องมาเมื่อวันก่อน พร้อมกับล้วงซองขาวออกจากเสื้อแล้วอ่านให้ฟังถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มแม่บ้าน จำได้ว่ามีข้อเรียกร้องให้นาย สุรินทร์ มาศดิตถ์ นายชวน หลีกภัย นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ ออกจากรัฐมนตรี ให้จับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นายแคล้ว นรปติ และกรรมการพรรคสังคมนิยมทุกคน ให้ใช้กฎหมายป้องกันปราบปรามคอมมิวนิสต์โดยเด็ดขาด เมื่ออ่านข้อเรียกร้องจบ นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ข้อเรียกร้องให้รัฐมนตรีออกจากตำแหน่งเป็นสิ่งที่มากไป นายกรัฐมนตรีได้รับพระกรุณาแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ การออกจากตำแหน่งมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หากเห็นว่าไม่เหมาะสม ส.ส.ก็อาจลงมติไม่ไว้วางใจได้ การแถลงนโยบายในวันมะรืนนี้ (8 ตุลาคม 2519) เพื่อรับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ก็มีสิทธิที่จะลงมติไม่ไว้วางใจได้ ประชาชนเพียงบางส่วนจะมาเรียกร้องแบบนี้เห็นว่าไม่ถูกต้อง

“อาตมาประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยความอดทน สิ่งที่จะพูดหลายครั้งแต่ไม่พูด แต่เฉพาะเรื่องข้อเรียกร้องของแม่บ้านกลุ่มหนึ่งนั้น อาตมาเห็นว่าจะต้องพูด เพราะมีรัฐมนตรีบางคนในพรรคชาติไทยเป็นผู้ร่วมก่อเรื่องขึ้นด้วย อาตมาจึงพูดว่า..... อาตมาไม่ได้หวงตำแหน่งรัฐมนตรี ยอมทำตามมติพรรค คำสั่งพรรค และดำเนินแนวนโยบายของพรรคอย่างเคร่งครัดทุกประการ "แต่เมื่อมาบีบบังคับกันด้วยเล่ห์การเมืองที่สกปรกแบบนี้ผมไม่ลาออก ผมจะสู้ สู้เพื่อศักดิ์ศรีของผม" เป็นคำพูดของอาตมาในวันนั้น หลังจากนั้น พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร พูดขึ้นว่า การใส่ร้ายป้ายสีกันก็มีทั้งนั้นละ นี่ก็มีข่าวว่าคุณดำรงไปพูดที่ขอนแก่นว่า ไม่ให้พรรคชาติไทยร่วมรัฐบาลอีก อาจารย์ดำรงพูดว่า ผมไม่เคยไปที่สถานีวิทยุขอนแก่น

“หลังจากนั้น พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ออกจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่นานลูกเสือชาวบ้าน และพวกเขาที่เตรียมไว้ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีนายธรรมนูญ เทียนเงิน นายสมัคร สุนทรเวช นายส่งสุข ภัคเกษม และพวก ได้ไปร่วมอยู่ที่นั้นด้วย ก็เคลื่อนขบวนมาทั้งรถยนต์ และเดินมาล้อมทำเนียบรัฐบาลขณะฝนกำลังตกหนัก การประชุมคณะรัฐมนตรีเลิกประมาณ15 น.เศษ อาตมานั่งรถยนต์จากตึกไทยคู่ฟ้าไปตึกบัญชาการ ตั้งใจว่าจะทำงานอยู่ตามปกติ เพราะถือว่าตนไม่ได้ทำผิดอะไร แต่นายตำรวจคนหนึ่งยืนกรำฝนรออยู่และเตือนว่า "ท่านรัฐมนตรีรีบออกจากทำเนียบรัฐบาลเร็วที่สุด มิเช่นนั้นเป็นอันตรายถึงชีวิต" อาตมาก็ได้คิดและสั่งคนขับรถออกจากทำเนียบไปได้อย่างปลอดภัย....”

เช่นเดียวกันกับคนอื่นๆในขบวนการนักศึกษาที่เคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มา ผมได้อ่านจดหมายของสุรินทร์ มาศดิตถ์ ที่เล่าการประชุมคณะรัฐมนตรีในเช้าวันนั้น ด้วยความรู้สึกชื่นชมที่สุรินทร์นำความจริงมาเปิดเผย จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ เมื่อกลับไปอ่านอีกครั้งอย่างตั้งใจวิเคราะห์และวิจารณ์มากขึ้น ผมเริ่มมองเห็นว่าบางอย่างที่สุรินทร์เล่าชวนให้ตั้งคำถามกับบทบาทของสุรินทร์และพรรคประชาธิปัตย์เองได้

ประการแรก ผมคิดว่าที่ผ่านมาเรามีแนวโน้มจะมองข้ามความจริงที่ว่า การถกเถียงในที่ประชุมครม.ครั้งนั้น โดยเฉพาะมาตรการที่สุรินทร์และพรรคประชาธิปัตย์เสนอเพื่อแก้วิกฤติ คือให้ประกาศภาวะฉุกเฉินนั้น ไม่มีความหมายใดๆเลยต่อชะตากรรมของผู้ชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ สุรินทร์เล่าว่า เขาเดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล "เวลาประมาณ 7 น.เศษ" และคณะรัฐมนตรีเริ่มประชุม เวลา 9 นาฬิกา เมื่อถึงเวลาทั้งสองนั้น การโจมตีธรรมศาสตร์โดยกำลังตำรวจและม็อบฝ่ายขวาได้ดำเนินไปแล้ว ต่อให้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินทันทีที่เริ่มประชุมครม.ก็จะไม่มีผลอะไรต่อการฆ่าหมู่ที่ท่าพระจันทร์ สุรินทร์เขียนว่า "อาตมารีบขึ้นไปชั้น 4 ที่ห้องทำงานนายกรัฐมนตรี พบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้ดูภาพในหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม และบ้านเมือง จึงเสนอ ความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีว่าให้รีบประกาศภาวะฉุกเฉินห้ามชุมนุมทั่วประเทศ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย" เห็นได้ชัดว่า ความคิดให้ประกาศภาวะฉุกเฉินของสุรินทร์ มาจากความต้องการป้องกันการชุมนุมประท้วงรัฐบาลของฝ่ายขวาที่กำลังจะมีขึ้น ไม่ใช่จากความต้องการจะปกป้องคุ้มครองการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์แต่อย่างใด

ประการที่สอง ต่อเนื่องจากประการแรก สิ่งที่ชวนให้สะดุดใจที่สุดเมื่อกลับไปอ่านจดหมายสุรินทร์ คือ สุรินทร์และฝ่ายประชาธิปัตย์เองไม่ได้แสดงให้เห็นว่าห่วงใยต่อการบุกโจมตีธรรมศาสตร์ของตำรวจมากนัก ในความเป็นจริง เสนีย์ได้สั่งการให้อธิบดีตำรวจดำเนินการสอบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิด "หมิ่นองค์รัชทายาท" เท่านั้นและตัวแทนศูนย์นิสิตฯก็ได้ติดต่อเข้ามอบตัวแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีเหตุผลใดๆที่ตำรวจจะต้องใช้กำลังเข้าทำลายการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ สุรินทร์เล่าถึงการที่ชุมพล โลหะชาละ "เข้ามารายงานในคณะรัฐมนตรีพร้อมกับร้องไห้โฮๆ" แต่เขาไม่ได้เล่าว่าเขาหรือใครในประชาธิปัตย์เองตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงต้องมีการบุกยึดธรรมศาสตร์ จับผู้ชุมนุมถึงกว่า 3 พันคน? ใครเป็นคนออกคำสั่งให้ทำเช่นนั้น?


ประเด็นนี้มีความสำคัญและเป็นสิ่งชอบธรรมที่จะยกขึ้นมาเพียงใด ดูได้จากเหตุการณ์เล็กๆหนึ่งที่เกิดขึ้นไม่ห่างจากการเขียนจดหมายของสุรินทร์เท่าไรนัก คือในวันที่ 7 กันยายน 2520 รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ออก "แถลงการณ์เรื่องกรณีผู้ถูกจับกุมเนื่องจากเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519" ฉบับหนึ่งเพื่อ "ชี้แจงข้อเท็จจริง" ในกรณีดังกล่าว (ที่รัฐบาลออกแถลงการณ์ก็เพราะก่อนหน้านั้น 2 วัน คดี 6 ตุลาได้ถูกนำขึ้นสู่ศาลเป็นครั้งแรก ผู้ต้องหา 19 คน - สุธรรม แสงประทุมและอีกบางคนในชุดนักโทษเด็ดขาดพร้อมตรวนที่ขา - ถูกนำตัวไปที่ศาลทหารในกระทรวงกลาโหม และโดยที่ไม่มีใครคาดคิด มาก่อน ผู้คนหลายพันคน รวมทั้งช่างภาพสื่อมวลชน และผู้แทนองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประเทศ พร้อมใจกันไปฟังการพิจารณาคดีและให้กำลังใจผู้ต้องหา จนเบียดเสียดกันแน่นศาลและกระทรวงกลาโหม - ในทางปฏิบัติเป็นการชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกหลังรัฐประหาร - สร้างความตกใจแก่รัฐบาลไม่น้อย) ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์กล่าวว่า:

ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 รัฐบาลชุดก่อน (ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี) ได้จับกุมบุคคลที่ใช้กำลังและใช้อาวุธต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่ เพื่อก่อความวุ่นวายและเปลี่ยนแปลงรัฐบาล รวมทั้งร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและผู้อื่น และในข้อหาอื่นๆซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่น เป็นจำนวนทั้งสิ้น 3,154 คน

ทันทีที่รัฐบาลธานินทร์ออกแถลงการณ์ฉบับนี้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ออก "คำชี้แจง" ออกมาตอบโต้ฉบับหนึ่ง ดังนี้:
ข้าพเจ้าขอชี้แจงว่า ในวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ก่อนมีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งให้ตำรวจดำเนินการสอบสวนและจับกุมเฉพาะแต่ผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์รัชทายาท อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ฐานเดียวเท่านั้น ดังที่ข้าพเจ้าได้ชี้แจงแถลงให้ทราบทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ตอนค่ำวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ส่วนความผิดฐานอื่นไม่ได้สั่ง

แต่ในการประชุมครม.ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม นั้นเอง - ถ้าเราเชื่อตามจดหมายของสุรินทร์ มาศดิตถ์ - ไม่ว่าตัวเสนีย์, หรือสุรินทร์, หรือพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีใครถามชุมพล โลหะชาละหรือศรีสุข มหินทรเทพ (อธิบดีกรมตำรวจ) ว่าเหตุใดจึงใช้กำลังเข้าปราบปรามการชุมนุมในธรรมศาสตร์ในเมื่อ "ผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานดูหมิ่นองค์รัชทายาท" ติดต่อเข้ามอบตัวแล้ว? ใครสั่งให้ทำ? ที่ผ่านมาผมคิดว่าเราอ่านจดหมายสุรินทร์ในแง่ที่เป็นการเปิดโปง การเข้าไป "เล่นบทโศก" ในที่ประชุมครม.ของชุมพล โดยมองข้ามความจริงไปว่าฝ่ายประชาธิปัตย์เอง (รวมทั้งตัวสุรินทร์) ไม่ได้ตั้งข้อสงสัยหรือคัดค้านการที่ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของนักศึกษาโดยตรง อันที่จริง เสนีย์และสุรินทร์ควรจะทำอย่างที่เสนีย์เพิ่งมาทำใน "คำชี้แจง" ในต้นเดือนกันยายน 2520 คือยืนยันว่า "ความผิดฐานอื่นไม่ได้สั่ง" อาจจะแย้งได้ว่า จดหมายสุรินทร์ฉบับดังกล่าวมีถึงสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่ต้องการเล่าว่าตัวเองออกมาปกป้องการชุมนุมของนักศึกษาในที่ประชุมครม.ในเช้าวันนั้น แต่ในจดหมายที่สุรินทร์เขียนถึง สุธรรม แสงประทุม ที่คุกบางขวางในเวลาไล่เลี่ยกัน (ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2520) ก็กล่าวแต่เพียงว่า "อาตมาไม่พอใจเลยในการที่นิสิตนักศึกษาประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกกล่าวร้ายโดยปราศจากความจริง เรื่องภายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนั้น อาตมาพยายามที่จะให้ทุกอย่างเป็นไปตามความจริง แต่รัฐมนตรีพวกพรรคชาติไทยได้ต่อต้านคัดค้านอาตมาและร่วมแผนการปฏิวัติของพวกเขาอย่างชัดเจน" ซึ่งน่าจะหมายถึงการถกเถียงกันเรื่องจะประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินหรือไม่มากกว่า (หรือมิเช่นนั้น ก็อาจจะหมายถึง แถลงการณ์ที่ดูเหมือนจะมีการพยายามร่างกันขึ้น ในจดหมายถึงสมาชิกพรรค สุรินทร์กล่าวว่า "ตอนบ่ายประชุมคณะรัฐมนตรีต่อ มีการพิจารณาร่างแถลงการณ์ ได้มีการแถลงการณ์บางตอนไม่ตรงความจริง อาตมาเป็นผู้คัดค้านไม่ให้ออกแถลงการณ์เท็จ" ผมไม่แน่ใจว่า สุดท้ายมีการออกแถลงการณ์นี้หรือไม่ เพราะไม่เคยเห็น)

ในจดหมายถึงพรรคฉบับที่สองของสุรินทร์ มีตอนหนึ่งที่กล่าวว่า "พล.ต. ชาติชาย จึงได้ไปนำเอาพล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ผู้เป็นหัวหน้าลูกเสือชาวบ้านคนหนึ่งของฝ่ายตชด.เข้ามาในคณะรัฐมนตรี มาคัดค้านการประกาศภาวะฉุกเฉินและกล่าวว่าจะต้องปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สิ้นซาก นายกรัฐมนตรีพูดว่าไม่ได้ คุณจะเอาลูกเสือชาวบ้าน เอาประชาชนไปฆ่าประชาชนไม่ได้" และ "พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย รมต.เกษตรฯแสดงความเห็นในคณะรัฐมนตรีว่า เป็นจังหวะและโอกาสที่ดีที่สุดที่จะปราบปรามให้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยให้ถูกลบชื่อหายไปจากประเทศ" ซึ่งน่าจะเป็นเหตุการณ์เดียวกับที่จดหมายถึงพรรคฉบับแรกกล่าวอย่างสั้นๆว่า "วันนั้นได้มีผู้เสนอให้ฆ่านักศึกษา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้คัดค้านไม่ให้กระทำ" แต่ทั้งสองกรณีเป็นการคัดค้านการใช้ลูกเสือชาวบ้านมากกว่า ไม่ปรากฏว่ามีการตั้งข้อสงสัยหรือคัดค้านการกระทำของตำรวจ ซึ่งอาจจะเป็นการแสดงให้เห็นลักษณะพาซื่อของเสนีย์และสุรินทร์ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ผมยังคงเห็นว่าทั้งคู่น่าจะได้ยืนยันในวันนั้น อย่างที่เสนีย์มายืนยันในภายหลัง ว่า "ความผิดฐานอื่นไม่ได้สั่ง"

ความจริงก็คือ ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น กำลังตำรวจประเภทต่างๆได้บุกเข้าโจมตีการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์โดยไม่ได้รับคำสั่งใดๆจากรัฐบาล ปัญหาที่เราต้องพิจารณาต่อไปคือ ใครเป็นผู้สั่ง? และสั่งเพื่อผลประโยชน์ของใคร? กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ใครเป็นผู้บงการ?

ใครสั่ง/ใครบงการ บุกธรรมศาสตร์?
กำลังที่บุกเข้าโจมตีผู้ชุมนุมในธรรมศาสตร์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถ้าจะแบ่งแบบกว้างที่สุด ประกอบด้วย 2 พวก คือ มีเครื่องแบบกับไม่มีเครื่องแบบ พวกไม่มีเครื่องแบบอย่างน้อยได้แก่ลูกเสือชาวบ้าน (สังเกตจาก "ผ้าพันคอพระราชทาน") และน่าจะกระทิงแดง (สังเกตจากบุคลิกท่าทาง) นอกจากนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าหลายคนอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่หรืออดีตเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจนอกเครื่องแบบ เช่น มีเพื่อนผมบางคนแสดงความเห็นว่า ลักษณะทารุณกรรมที่พวกนี้กระทำเช่นตอกลิ่ม เผาทั้งเป็น แขวนคอแล้วประทุษร้ายศพ คล้ายกับวิธีการที่ทหารอเมริกันหรือคนพื้นเมืองที่ทหารอเมริกันฝึก กระทำในสงครามเวียดนาม ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาไม่น่าจะมีจิตใจเหี้ยมเกรียมพอจะทำเช่นนั้นได้ ในความเป็นจริง ทารุณกรรมต่างๆที่นิยาม 6 ตุลาในความทรงจำของคนทั่วไป เป็นฝีมือของพวกไม่มีเครื่องแบบนี้มากกว่าพวกมีเครื่องแบบ อย่างไรก็ตาม ลำพังพวกไม่มีเครื่องแบบที่มีอาวุธไม่มาก ไม่สามารถจะสลายการชุมนุมในวันนั้นได้ พวกมีเครื่องแบบเป็นผู้โจมตีสังหารหมู่ด้วยอาวุธหนักเบาครบเครื่องก่อน เปิดทางให้พวกไม่มีเครื่องแบบทำทารุณกรรม

ลักษณะเด่นที่สุดของกำลังติดอาวุธในเครื่องแบบที่ลงมือปราบปรามการชุมนุมของนักศึกษาประชาชนในกรณี 6 ตุลา ซึ่งตรงข้ามกับกรณี 14 ตุลาและ 17 พฤษภา คือ มีแต่ตำรวจไม่มีทหาร ถ้าดูจากหลักฐานต่างๆที่มีอยู่ รวมทั้งคำให้การของพยานที่เป็นตำรวจในคดี 6 ตุลา จะพบว่ากำลังตำรวจแทบทุกหน่วยถูกระดมมาใช้ในการโจมตีธรรมศาสตร์ ทั้งนครบาล (ตั้งแต่จาก สน. ถึงแผนกอาวุธพิเศษ หรือ "สวาท"), สันติบาล, กองปราบปราม โดยเฉพาะตำรวจแผนกปราบจลาจล ("คอมมานโด") 200 คนภายใต้สล้าง บุนนาค และตำรวจพลร่มตระเวนชายแดน จากค่ายนเรศวร หัวหิน สองหน่วยหลังนี้ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นกำลังหลักในการโจมตี ขอให้เรามาพิจารณาอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น




Create Date : 23 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2551 14:21:13 น. 2 comments
Counter : 154 Pageviews.

 
ตำรวจปราบจลาจลและสล้าง บุนนาค

ตำรวจปราบจลาจลเป็นแผนกหนึ่ง (แผนก 5) ของกองกำกับการ 2 กองปราบปราม พ.ต.ท.สล้าง บุนนาค เป็นรองผู้กำกับการ 2 คนหนึ่ง เขาให้การแก่ศาลทหารว่า ได้รับคำสั่งจากพล.ต.ต.สุวิทย์ โสตถิทัต ผู้บังคับการกองปราบปราม เมื่อเวลาตีหนึ่งของคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ให้นำกำลังตำรวจปราบจลาจลไป "รักษาความสงบที่บริเวณท้องสนามหลวงและหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" เขาจัดกำลังได้ประมาณ 200 คน นำไปถึงธรรมศาสตร์เมื่อเวลาตีสาม ต่อมาเวลาประมาณ 8 นาฬิกา ก็ได้รับคำสั่งจากอธิบดีกรมตำรวจ "ให้เข้าไปทำการตรวจค้นจับกุมและให้ใช้อาวุธปืนได้ตามสมควร" (อย่างไรก็ตาม "ที่ข้าฯได้รับคำสั่งให้ใช้อาวุธได้จากอธิบดีตำรวจนั้น ได้รับคำสั่งโดยมีนายตำรวจมาบอกด้วยวาจา จำนายตำรวจนั้นไม่ได้ว่ามียศเป็นอะไร...มาบอกกันหลายคน")

ขณะที่สล้าง ทั้งในคำให้การต่อศาลทหารและในบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับ 6 ตุลาที่เขาเผยแพร่หลังจากนั้น (เช่นในส่วนที่เกี่ยวกับป๋วย อึ๊งภากรณ์เมื่อเร็วๆนี้) พยายามเสนอภาพตัวเองว่าเป็นเพียงเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่โดยปกติตามกฎหมายและตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา คำให้การและบันทึกความจำของเขาเองมีช่องโหว่และจุดที่ขัดแย้งกันเอง ซึ่งชวนให้สงสัยได้ว่าพฤติกรรมของเขาในวันนั้นมีเบื้องหลังทางการเมือง คือ มีความเป็นไปได้ที่เขาจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพลังฝ่ายขวาที่มุ่งกวาดล้างทำลายขบวนการนักศึกษาเพื่อปูทางไปสู่การรัฐประหาร

สล้างอ้างว่าในคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 เวลาประมาณห้าทุ่มครึ่ง เขาเดินทางไปสังเกตการณ์บริเวณสนามหลวงหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยตัวเอง โดยแต่งกายนอกเครื่องแบบ แล้วจู่ๆในระหว่างที่เดินอยู่บริเวณหน้าประตูมหาวิทยาลัยด้านวัดมหาธาตุ ก็มี "ผู้หญิง 3 คนซึ่งข้าฯไม่เคยรู้จักมาก่อนมาพบข้าฯ...บอกข้าฯว่าเขาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์...บอกว่าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการแสดงละครการเมืองดังกล่าวซึ่งน่าจะทำให้เกิดเหตุร้ายขึ้นได้ ทางตำรวจไม่ดำเนินการอย่างไรบ้างหรือ" เขาจึงพาทั้งสามไปรายงานพล.ต.ต.สุวิทย์ โสตถิทัต เพื่อให้ปากคำที่กองปราบ แล้วจึงเดินทางไปแผนก 5 "เพื่อเตรียมกำลังตามคำสั่งพล.ต.ต.สุวิทย์" จัดกำลังได้ 200 คนนำกลับมาที่ธรรมศาสตร์

นี่เป็นความบังเอิญอันเหลือเชื่อ อย่าลืมว่านั่นเป็นเวลาใกล้เที่ยงคืน สล้างไม่ได้แต่งเครื่องแบบ "อาจารย์ธรรมศาสตร์" ทั้งสามจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาเป็นใคร? (สล้างอ้างว่า "เชื่อว่าคงมีอาจารย์คนใดคนหนึ่งรู้จักหน้าข้าฯ") อย่าว่าแต่ "อาจารย์" ทั้งสามไปทำอะไรดึกดื่นเที่ยงคืนขนาดนั้นในบริเวณนั้น? ยิ่งถ้าไม่พอใจการแสดงละครของนักศึกษาทำไมไม่ไปแจ้งความที่ สน.สักแห่งตั้งแต่กลางวัน หรือตั้งแต่วันที่ 4 ซึ่งเป็นวันแสดงละคร กลับมาเดินท่อมๆในยาม วิกาลให้เจอสล้างโดยบังเอิญเพื่อร้องเรียนได้เช่นนั้น?

เรื่องประหลาดของสล้างในวันที่ 5 ตุลาคม ยังมีอีก: ในระหว่างตอบคำถามโจทก์ในศาลทหาร เขาไม่ยอมเล่าถึงการกระทำอย่างหนึ่งของตัวเอง จนกระทั่งเมื่อทนายจำเลยซักค้าน จึงได้ยอมรับว่า หลังจากพา "อาจารย์ธรรมศาสตร์" ทั้งสามไปให้ปากคำที่กองปราบ แต่ "ก่อนที่ข้าฯจะนำเอากำลังตำรวจ 200 คนออกไปปฏิบัติการนั้น ข้าฯได้ไปพบหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชที่บ้านในซอยเอกมัยก่อน ข้าฯไปเองไม่มีใครสั่งให้ไป ข้าฯไปดูความเรียบร้อยของผู้ใต้บังคับบัญชาของข้าฯ"

อย่าลืมว่าขณะนั้น (ตี 1-2) ตามคำให้การของเขาเอง สล้างอยู่ภายใต้ "คำสั่งพล.ต.ต.สุวิทย์" ให้นำกำลังไปที่ธรรมศาสตร์ แต่แทนที่จะรีบไปปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา กลับเถลไถลแวะไปบ้านเสนีย์โดย "ไม่มีใครสั่งให้ไป" เพียงเพื่อ "ดูความเรียบร้อยของผู้ใต้บังคับบัญชา" ทนายจำเลยเสนอเป็นนัยยะว่าแท้จริงสล้างไปเพื่ออาสานำกำลังไปปราบนักศึกษา (ในฐานะของความเป็นฝ่ายขวา แบบเดียวกับที่จำลอง ศรีเมืองและพวก "ยังเตอร์ก" เคยแอบเข้าพบเสนีย์ที่บ้านเพื่อเรียกร้องทางการเมืองในปีนั้น) แต่สล้างปฏิเสธ "โดยส่วนตัว ข้าฯไม่ได้ขออนุญาตต่อท่านนายกรัฐมนตรีนำกำลังออกปฏิบัติการ" อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า "ได้พบกับนายกรัฐมนตรีและเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟังด้วย เมื่อข้าฯได้เล่าเหตุการณ์ให้ท่านนายกรัฐมนตรีฟังแล้ว ท่านได้บอกกับข้าฯว่า เรื่องนี้สั่งการไปทางอธิบดีกรมตำรวจแล้ว ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชไม่ได้สั่งอะไรเป็นพิเศษแก่ข้าฯในขณะนั้น" ซึ่งชวนให้สงสัยว่าคนระดับนายกรัฐมนตรีจะต้องมาชี้แจงให้นายตำรวจระดับรองผู้กำกับที่แวะมาหาตอนตีสองโดยไม่บอกล่วงหน้าและเป็นการส่วนตัวทำไม?

ในบันทึก "กรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคมที่เกี่ยวข้องกับดร.ป๋วย" ที่สล้างเผยแพร่ในโอกาสการถึงแก่กรรมของป๋วย อึ๊งภากรณ์เมื่อเร็วๆนี้ เขาเล่าว่าในวันที่ 6 ตุลา หลังจากนักศึกษาในธรรมศาสตร์ "มอบตัว" ต่อตำรวจแล้ว เขา "ได้รับวิทยุจากผู้บังคับการกองปราบฯ...สั่งการให้ผมเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลโดยด่วน เนื่องจากประชาชนที่ไม่พอใจรัฐบาลในขณะนั้นบุกเข้าไปในทำเนียบ โดยมีคำสั่งให้รักษาความปลอดภัยหรือหาทางพาท่านนายกฯม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ออกจากทำเนียบรัฐบาลให้ได้" เมื่อไปถึงทำเนียบ "ทราบว่า ฯพณฯนายกฯมีความประสงค์จะลาออก เพื่อให้เกิดความสงบสุข มีส.ส.ส่วนหนึ่งเห็นด้วย อีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย ตัวคุณสราวุธ นิยมทรัพย์ (เลขาธิการนายกรัฐมนตรี) ก็ถูกคุมเชิงอยู่ ไม่กล้านำใบลาออกที่พิมพ์เสร็จแล้วไปเสนอนายกฯ"

สล้างอ้างต่อไปว่า :
“หลังจากหารือกับคุณสราวุธ, ม.ล.เสรี ปราโมช กับพวก ส.ส. เห็นด้วยกับการคลี่คลายสถานการณ์ โดยให้ท่านนายกฯลาออก ได้ข้อยุติดังนี้
1.มอบหมายให้ผมเป็นผู้นำใบลาออกไปให้นายกฯลงนาม
2.จัดรถปราบจลาจลมาจอดหน้าทำเนียบเพื่อให้ท่านนายกฯประกาศลาออกต่อหน้าประชาชนที่บุกเข้ามาในทำเนียบ
3.จัดกำลังคุ้มกันนายกรัฐมนตรีไปที่บก.ร่วมซึ่งตั้งอยู่ในบก.สูงสุด (เสือป่า) ปัจจุบันนี้ เพื่อร่วมกันพิจารณาคลี่คลายสถานการณ์

“เมื่อได้รับการขอความร่วมมือและเห็นว่าเป็นทางเดียวที่ดีที่สุด คือให้ผู้นำ ทั้ง 2 ฝ่าย คือท่านนายกฯและฝ่ายทหารได้เจรจาหรือแก้ไขร่วมกันก็คงจะเป็นประโยชน์ ผมจึงได้ปฏิบัติ

“ผลการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ดำเนินการไปได้ด้วยความเรียบร้อย....”


เป็นเรื่องประหลาดที่นายตำรวจระดับรองผู้กำกับการจะมีบทบาทมากมายเพียงนี้ ถึงขนาดที่ทั้งทำเนียบรัฐบาลไม่มีใครเหมาะสมพอจะ "เอาใบลาออกไปให้นายกฯลงนาม" และ "นำนายกฯไปพบกับคณะทหาร" ต้องพึ่งพาให้เขาทำ ตั้งแต่ไปพบอาจารย์ธรรมศาสตร์ที่เห็นเหตุการณ์ละคร "แขวนคอ" โดยบังเอิญกลางดึกที่สนามหลวง, นำไปให้ปากคำที่กองปราบฯ, แล้วได้รับคำสั่งให้ไปจัดกำลังไป "รักษาความสงบ" ที่ธรรมศาสตร์, แวะไปบ้านนายกรัฐมนตรีในซอยเอกมัยตอนตีสอง, ปฏิบัติการที่ธรรมศาสตร์, เดินทางไปทำเนียบ จัดการให้นายกฯเซ็นใบลาออกแล้วพาไปพบผู้นำทหาร - บทบาทของสล้าง บุนนาคในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีมากมายอย่างน่าอัศจรรย์ใจ แน่นอนว่าบทบาทของเขาในวันนั้นยังไม่หมดเท่านี้ ก่อนจะหมดวัน เขายัง "ได้รับคำสั่ง" ให้ไปปฏิบัติการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงที่ไม่อาจลบล้างได้จนทุกวันนี้:

“ประมาณ 2 ทุ่ม (ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519) ได้ขออนุญาตกลับบ้านถนนแจ้งวัฒนะ เพื่ออาบน้ำและเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย เนื่องจากไม่ได้กลับบ้านมา 3-4 วันแล้ว ระหว่างที่เดินทางมาถึงสี่แยกบางเขน ได้รับวิทยุสั่งการโดยตรงจาก พล.ต.ต.สงวน คล่องใจ ผู้บังคับการกองปราบฯให้รีบเดินทางไปที่สนามบินดอนเมืองโดยด่วนที่สุดเพื่อป้องกันช่วยเหลือ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ให้รอดพ้นจากการทำร้ายจากกลุ่มประชาชน พวกนวพลและกระทิงแดงให้ได้ จึงได้รีบเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง....

“กระผมจึงได้รีบเดินไปที่ดร.ป๋วยที่กำลังโทรศัพท์อยู่ โดยบอกว่า อาจารย์ครับเข้าไปโทรข้างใน พูด 2 ครั้ง ท่านก็ยังพยายามต่อโทรศัพท์อยู่ ผมจึงปัดโทรศัพท์จากมือท่านและกระชากท่านเพื่อนำเข้าไปในห้องของท่าอากาศยาน เมื่อเข้าไปในห้องและเห็นว่าปลอดภัยแล้ว จึงกราบท่านและแนะนำตัวว่าผมเป็นลูกศิษย์ท่านที่ธรรมศาสตร์ ที่ได้แสดงกิริยารุนแรงกับอาจารย์ก็เพื่อแสดงให้กลุ่มพลังข้างนอกเข้าใจว่าผมไม่ใช่พวกเดียวกับอาจารย์ ดร.ป๋วยได้บอกกับพวกผมและเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยาน ศุลกากร ตม. ว่าที่ต้องโทรก็เพราะไม่มีเงินติดตัวมาเลย....เจ้าหน้าที่หลายนายได้บอกว่าผมเป็นลูกศิษย์และมีหลายคนรวบรวมเงินมอบให้อาจารย์ ท่านก็รับไป...”

บันทึกดังกล่าวของสล้างได้รับการตอบโต้จากนักวิชาการบางคน รวมทั้งผมด้วย (สล้างเริ่มเผยแพร่เหตุการณ์ที่ดอนเมืองเวอร์ชั่นนี้ในปี 2534) ทุกคนใช้วิธีอ้างความทรงจำของอาจารย์ป๋วยเองทั้งที่อยู่ในบทความ "ความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519" และที่อาจารย์เล่าให้ลูกชายฟัง ซึ่งมีแต่กล่าวถึงการที่สล้าง "ตรงเข้ามาจับผู้เขียน [ป๋วย] โดยที่กำลังพูดโทรศัพท์อยู่ ได้ใช้กิริยาหยาบคายตบหูโทรศัพท์ร่วงไป แล้วบริภาษผู้เขียนต่างๆนานา บอกว่าจะจับไปหาอธิบดีกรมตำรวจ ผู้เขียนก็ไม่ได้โต้ตอบประการใด" ไม่มีตอนใดที่บอกว่าสล้างได้กราบขอโทษ "ที่ได้แสดงกิริยารุนแรงกับอาจารย์ก็เพื่อแสดงให้กลุ่มพลังข้างนอกเข้าใจว่าผมไม่ใช่พวกเดียวกับอาจารย์" เลย

อย่างไรก็ตาม การตอบโต้แบบนี้ ถึงที่สุดแล้ว เป็นการใช้ความทรงจำของคนหนึ่งไปหักล้างกับความทรงจำของอีกคนหนึ่ง และแม้ว่าคนทั่วไปอาจจะเลือกที่จะเชื่อป๋วยมากกว่า (ดังที่ผมเขียนว่า "ถ้าจะให้เลือกระหว่างอาจารย์ป๋วยกับสล้าง บุนนาค ว่าใครพูดความจริงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่ดอนเมือง ผมเลือก อาจารย์ป๋วยโดยไม่ลังเล") แต่หากสล้างยืนกรานใน "ความทรงจำ" ของตัวเอง แม้ว่าจะฟังดูเหลือเชื่อเพียงใด ในระยะยาวก็ยากจะพิสูจน์ได้ว่าอะไรคือความ จริง จนกระทั่งเมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมพบว่าเรามี "บุคคลที่สาม" ที่สามารถเป็น "พยาน" พิสูจน์ได้ว่า "ความทรงจำ" ของสล้างเกี่ยวกับ 6 ตุลา รวมทั้งที่เกี่ยวกับอาจารย์ป๋วยที่ดอนเมือง เป็นสิ่งที่เชื่อถือไม่ได้เลย

"บุคคลที่สาม" ที่ว่านี้ก็คือ ตัวสล้าง บุนนาค เอง!

เพื่อที่จะเขียนบทความชุดนี้ ผมได้กลับไปอ่านคำให้การต่อศาลทหารของพยานโจทก์ทุกคนในคดี 6 ตุลา (ซึ่งผมเป็นจำเลยคนหนึ่ง) อย่างละเอียด รวมทั้งของสล้าง บุนนาคด้วย ผมพบว่าสล้างได้ให้การเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ดอนเมืองแตกต่างกับที่เขานำมาเขียนถึงในระยะไม่กี่ปีนี้อย่างมาก ดังนี้:

“เย็นวันที่ 6 ต.ค. 19 ข้าฯไม่ได้ไปห้ามสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ไม่ให้ทำการบิน หรือเลื่อนเวลาทำการบินออกไป ข้าฯไปเพราะได้รับทราบข่าวจากสถานีวิทยุยานเกราะออกข่าวว่าด็อกเตอร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะเดินทางออกนอกประเทศไทยโดยทางเครื่องบินที่ดอนเมือง และมีประชาชนจำนวนมากได้ติดตามไปที่สนามบินดอนเมืองเพื่อเข้าทำการแย่งตัวเพื่อจะทำร้าย ข้าฯ จึงไปและกันให้ด็อกเตอร์ป๋วยไปอยู่เสียที่ชั้นล่างของท่าอากาศยานกรุงเทพ เพื่อให้ห่างจากฝูงคนที่จะเข้าไปทำร้าย จนทำให้ด็อกเตอร์ป๋วยรอดชีวิตอยู่ได้จนถึงบัดนี้...ในวันนั้นข้าฯไปเพียงคนเดียว ไม่มีกำลังตำรวจไปด้วย ในวันนั้นข้าฯยังพูดกับด็อกเตอร์ป๋วยว่า มหาวิทยาลัยกำลังยุ่งอยู่ทำไมท่านจึงหนีออกนอกประเทศเอาตัวรอดแต่เพียงคนเดียว ขณะที่พูดมีคนอื่นได้ยินกันหลายคน เพราะข้าฯมีความเห็นว่าขณะนั้นด็อกเตอร์ป๋วยควรจะอยู่อย่างยิ่งถ้ามีความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ ด็อกเตอร์ป๋วยไม่ได้ขอพูดโทรศัพท์กับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่และข้าฯก็ไม่ได้กระชากโทรศัพท์มาเสียจากด็อกเตอร์ป๋วย”

ยกเว้นเรื่องที่สล้างอ้างว่าช่วยไม่ให้ป๋วยถูกฝูงชนทำร้ายแล้ว จะเห็นว่าคำให้การปี 2521 กับบันทึกปี 2542 มีสาระและน้ำเสียงที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิงที่สำคัญที่สุดคือการที่สล้างปฏิเสธอย่างชัดถ้อยชัดคำในศาลเมื่อปี 2521 ว่า "ไม่ได้กระชากโทรศัพท์มาเสียจากด็อกเตอร์ป๋วย" แต่มายอมรับในปี 2542 (2534) ว่า "ปัดโทรศัพท์จากมือท่านและกระชากท่านเพื่อนำเข้าไปในห้อง"

แสดงว่าสล้างให้การเท็จต่อศาลทหาร (ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา น่าเสียดายที่อายุความสิ้นสุดเสียแล้ว)

ขณะเดียวกันทัศนะของสล้างต่อป๋วยที่แสดงออกในคำให้การปี 2521 น่าจะใกล้เคียงกับความรู้สึกของเขาสมัย 6 ตุลามากกว่า ("ทำไมท่านจึงหนีออกนอกประเทศเอาตัวรอดแต่เพียงคนเดียว..." ฯลฯ) ซึ่งแสดงว่า ข้ออ้างในปีหลังที่ว่าเขา "กราบ" ป๋วยก็ดี ช่วยเหลือในการเรี่ยไรเงินให้ก็ดี เป็นเรื่องโกหก และสุดท้าย การที่สล้างมาอ้างเมื่อเร็วๆนี้ว่า ไปดอนเมืองเพราะ "ได้รับวิทยุสั่งการโดยตรงจาก...ผู้บังคับการกองปราบฯ" ก็น่าจะไม่จริงอีกเช่นกัน เพราะในปี 2521 เขาเองบอกว่า "ไปเพราะได้รับทราบข่าวจากสถานีวิทยุยานเกราะออกข่าวว่าด็อกเตอร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะเดินทางออกนอกประเทศไทย"

การที่สล้างยอมรับออกมาเองในปี 2521 ว่า เขาได้พูดจากล่าวหาใส่หน้าป๋วยว่า "หนีออกนอกประเทศเอาตัวรอดแต่เพียงคนเดียว" ไม่สมกับ "ฐานะที่เป็นผู้ใหญ่" เช่นนี้ มีความสำคัญอย่างมาก อย่าลืมว่า ขณะนั้นสล้างเป็นเพียงรองผู้กำกับการยศพันตำรวจโทอายุ 40 ปี ถึงกับกล้าต่อว่าป๋วยซึ่งอายุ 60 ปีและมีฐานะระดับอธิบดีกรม (ความจริงสูงกว่าเพราะอธิการบดีเป็นตำแหน่งโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง) ในระบบราชการต้องนับว่าเป็นการบังอาจเสียมารยาทอย่างร้ายแรงเข้าข่ายผิดวินัย ในลักษณะเดียวกับที่ สุรินทร์ มาศดิตถ์ กล่าวถึงพฤติกรรมของ พล.ต.ต. เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ในที่ประชุมครม.ในเช้าวันนั้น ("บังอาจโต้ นายกรัฐมนตรี...ตำรวจยศพลตำรวจตรียังกล้าเถียงนายกรัฐมนตรีถึงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี") ความ "กล้า" แสดงออกของสล้างขนาดนี้ชี้ให้เห็นอย่างไม่เป็นที่ต้องสงสัยเลยว่า ที่เขารีบไปดอนเมืองเพราะได้ฟังการ "ออกข่าว" (ชี้นำ?) จากยานเกราะนั้น จะต้องมีจุดมุ่งหมายเพื่อหวังจะยับยั้งการลี้ภัยของป๋วยอย่างแน่นอน เมื่อบวกกับความจริง ซึ่งเขาให้การเท็จต่อศาลแต่เพิ่งมายอมรับในปี 2534 ที่ว่าเขาได้ "ปัดโทรศัพท์ออกจากมือ" และ "กระชาก" ตัวป๋วย ซึ่งเป็นเรื่องผิดทั้งทางวินัยและทางอาญา เราก็น่าจะสรุปได้ (เช่นเดียวกับที่สุรินทร์สรุปได้เมื่อเห็นพฤติกรรมของเจริญฤทธิ์: "พวกนี้ต้องวางแผนการปฏิวัติไว้แล้ว และเชื่อแน่ของพวกเขาแล้วว่าต้องสำเร็จแน่") ว่าในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 สล้างไม่ได้เป็นเพียงเจ้าพนักงานที่ทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา แต่เป็นหนึ่งในการระดมกำลังของฝ่ายขวาเพื่อทำลายขบวนการนักศึกษาและทำรัฐประหาร

ข้อสรุปเช่นนี้ ทำให้เราสามารถอธิบายได้ว่าทำไมในวันนั้นสล้าง บุนนาคจึงมีบทบาทอย่างมากมายในลักษณะ "วิ่งรอก" ทั่วกรุงเทพฯ - จากการไปพบ "อาจารย์ธรรมศาสตร์" 3 คนที่สนามหลวงอย่าง "บังเอิญ" ตอนใกล้เที่ยงคืน, นำมาให้ปากคำที่กองปราบปราม, แล้วไปจัดเตรียมกำลังตำรวจปราบจลาจล, ไปบ้านเสนีย์ซอยเอกมัยตอนตีสอง โดย "ไม่มีใครสั่งให้ไป", กลับมานำกำลังตำรวจปราบจลาจลไปธรรมศาสตร์, ทำการปราบปรามผู้ชุมนุม, ไปทำเนียบรัฐบาล, เอาใบลาออกไปให้เสนีย์ลงนามแล้วพาไปพบผู้นำทหารที่สนามเสือป่า, จนถึงการไปสะกัดกั้นป๋วยที่ดอนเมืองเมื่อได้ข่าวจากยานเกราะในที่สุด. ขณะนั้น เฉพาะกองกำกับการ 2 กองปราบปราม ก็มีรองผู้กำกับถึง 6 คน และเฉพาะแผนก 3 (รถวิทยุศูนย์รวมข่าว) และแผนก 5 (ปราบจลาจล) ที่สล้างคุมอยู่ ก็มีรองผู้กำกับอื่นช่วยดูแลด้วยอีก 2 คน ทุกคนแม้แต่ตัวผู้กำกับการ (พ.ต.อ.จิระ ครือสุวรรณ) ก็ดูจะไม่มีบทบาทในวันนั้นมากเท่าสล้าง

ผมได้เสนอความเห็นข้างต้นว่า สล้างและตำรวจปราบจลาจล 200 คนที่เขาคุมเป็นหนึ่งในสองกำลังหลักที่บุกเข้าโจมตีธรรมศาสตร์ ขอให้เรามาพิจารณากำลังหลักอีกกลุ่มหนึ่ง



โดย: stopitnow วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:14:23:42 น.  

 
ตำรวจพลร่มตระเวนชายแดน

"ตำรวจพลร่ม" หรือชื่อที่เป็นทางการว่า กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน ขึ้นอยู่กับกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ตามคำให้การของ ส.ต.อ.อากาศ ชมภูจักร พยานโจทก์คดี 6 ตุลา เขาและตำรวจพลร่มอย่างน้อย 50-60 คนจากค่ายตำรวจพลร่มนเรศวรมหาราช หัวหิน ได้รับคำสั่งเมื่อเวลาตี 2 ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ให้เดินทางมากรุงเทพฯ โดยที่ "ขณะนั้นข้าฯยังไม่ทราบว่าที่ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปครั้งนี้เพื่อจุดประสงค์ อะไร" พวกเขาขึ้นรถบรรทุก 2 คัน รถจี๊ปเล็ก 1 คัน เดินทางถึงกองบัญชาการ ตชด.ถนนพหลโยธินเวลา 6 นาฬิกา รับประทานข้าวห่อ 15 นาที แล้วเดินทางต่อมายังโรงแรมรอยัล รองผู้กำกับการที่ควบคุมการเดินทางมาจากหัวหินจึงได้ "แจ้งสถานการณ์พร้อมวิธีที่จะปฏิบัติให้ทราบ โดยแจ้งว่าที่ให้มาที่นี้ก็เพื่อมารักษาสถานการณ์ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" เขากล่าวว่า "ที่นำกำลังมา 50-60 คนเป็นเฉพาะตำรวจในหน่วยที่ข้าฯประจำอยู่เท่านั้น....ข้าฯไม่ทราบว่าจะมีตำรวจตระเวนชายแดนหน่วยอื่นไปปฏิบัติการด้วยหรือไม่"

ภาพถ่ายเหตุการณ์ 6 ตุลาหลายภาพที่แสดงให้เห็นคนในเครื่องแบบคล้ายทหารถืออาวุธปืนขนาดใหญ่ (ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง หรือ ปรส.) และปืนครก กำลังทำท่าโจมตีเข้าไปในมหาวิทยาลัย คือภาพของตำรวจตระเวนชายแดนนั่นเอง ("อาวุธปืนในภาพที่มีคนแบกอยู่กับอาวุธปืนที่ติดกล้องเล็งขนาดใหญ่นั้น เป็นอาวุธปืน ปรส. ภาพตำรวจที่แบกอาวุธปืน ปรส.นั้นเป็นตำรวจตระเวนชายแดน", ส.ต.อ.อากาศ ให้การ)


ถ้านับจำนวนตำรวจหน่วยพลร่มเฉพาะในสังกัดเดียวกับ ส.ต.อ.อากาศ ที่เข้าร่วมปฏิบัติการ 50-60 คน รวมกับตำรวจปราบจลาจล 200 คนที่สล้าง บุนนาคนำมา และตำรวจแผนกอาวุธพิเศษ หรือหน่วย "สวาท" ทั้งแผนกอีก 45 คน (ตามคำให้การในคดี 6 ตุลาของ พ.ต.ต.สพรั่ง จุลปาธรณ์ สารวัตร ประจำแผนก ซึ่งขึ้นต่อกองกำกับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล) ก็เท่ากับว่าในเช้าวันนั้นเฉพาะกำลังส่วนที่ติดอาวุธหนักและร้ายแรงที่สุดของกรมตำรวจ 3 หน่วยนี้ที่ถูกใช้ในการโจมตีก็มีถึง 300 คน ถ้ามีตำรวจตระเวนชายแดนหน่วยอื่นนอกจากหน่วยพลร่มเข้าร่วมด้วย ตัวเลขนี้ก็จะสูงขึ้นและ "อำนาจการยิง" (fire power) ก็ย่อมเพิ่มขึ้นอีกมาก นอกจากนี้ยังมีตำรวจจาก สน.และหน่วยงานอื่นๆอีกไม่ทราบจำนวนแต่น่าจะเป็นไปได้ที่มีตั้งแต่ 50 ถึง 100 คน (ผมคิดว่านี่เป็นการประเมินแบบต่ำที่สุดแล้ว) รวมแล้วแสดงว่ามีตำรวจอย่างต่ำ 400 คน

เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชุมนุม ที่ถูกจับได้ 3,000 คน และที่หนีไปได้ซึ่งน่าจะไม่เกิน 1,000-2,000 คน (ประเมินแบบสูง) ก็หมายความว่า สัดส่วนของตำรวจต่อผู้ชุมนุมอยู่ในระดับที่สูงมากในฝ่ายตำรวจ คือ ตำรวจ 1 คนพร้อมอาวุธครบครันสำหรับผู้ชุมนุมเพียง 10-12 คน โดยที่ส่วนใหญ่ที่สุดของผู้ชุมนุมเป็นเพียงนักศึกษา และแทบทุกคนไม่มีอาวุธ และนี่ยังไม่นับรวมพวกไม่ใส่เครื่องแบบ (ลูกเสือชาวบ้าน, กระทิงแดง, ฯลฯ) ที่เข้าร่วม "ปฏิบัติการ" กับตำรวจด้วย
เฉพาะการเปรียบเทียบตัวเลขง่ายๆแบบนี้ก็เห็นได้ชัดว่ากรณี 6 ตุลา เป็นการ "ล้อมปราบ" หรือ "รุมทำร้าย" อย่างแท้จริง

ขอให้เรากลับมาพิจารณาตำรวจพลร่มตระเวนชายแดนกันต่อ ตำรวจพลร่มเป็นหน่วยงานระดับกองกำกับการ (sub-division) ของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน มีชื่อทางการว่า "กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศ" เราไม่มีหลักฐานว่าตำรวจตระเวนชายแดนหน่วยอื่นได้ถูกระดมเข้าร่วมในการโจมตีด้วยหรือไม่ (หน่วยงานหลักที่เหลืออีก 7 หน่วยของ บช.ตชด. เป็นระดับกองบังคับการ (division) ได้แก่กองบังคับการ ตชด.ภาคต่างๆ เช่น ภาค 1 คุมพื้นที่ภาคกลาง 25 จังหวัด) ส.ต.อ.อากาศ ชมภูจักรยอมรับในคำให้การของตนว่าตำรวจในรูปถ่ายที่แบกปืน ปรส.เล็งยิงเข้าไปในธรรมศาสตร์ในเช้าวันนั้นเป็น ตชด. แต่ก็ไม่ได้กล่าวว่าเป็นหน่วยของตน จึงมีเหตุผลที่เราจะตั้งสมมุติฐานได้ว่าคงมีหน่วยตชด.อื่นเข้าร่วมด้วย

ในบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาที่ตีพิมพ์เมื่อไม่กี่ปีก่อน (มติชนสุดสัปดาห์, 7 ตุลาคม 2537) มนัส สัตยารักษ์ นายตำรวจนักเขียนที่รู้จักกันดี ได้เล่าถึงพฤติกรรมของ ตชด. ที่เขาเห็นในเช้าวันนั้นไว้อย่างน่าสนใจ ขณะเกิดเหตุ มนัสเป็นสารวัตรคนหนึ่งของกองกำกับการ 2 กองปราบปราม นั่นคืออยู่ภายใต้สล้าง บุนนาค ซึ่งเป็นรองผู้กำกับการ 2 โดยตรง สล้างเองกล่าวไว้ในคำให้การของตนว่า "ผู้ใต้บังคับบัญชาของข้าฯที่วางกำลังไว้ที่สนามหลวง มีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรกว่า 10 คน [เช่น]....ร้อยตำรวจเอกมนัส สัตยารักษ์" แต่มนัสไม่เพียงแต่ไม่ได้เอ่ยถึงข้อมูลนี้หรือชื่อสล้างไว้ในบันทึกของเขาเลยเท่านั้น ยังเขียนทำนองว่าเขาไปที่นั่นเอง ไม่มีใครสั่ง ซึ่งน่าจะสะท้อนอะไรบางอย่าง มนัสเขียนว่า:

“ผมพบ พล.ต.ต.วิเชียร แสงแก้ว ผู้บังคับการกองปราบปราม กับกำลังตำรวจจำนวนหนึ่งที่ระเบียงด้านหน้าหอประชุม เมื่อเสียงปืน ค. ของ ตชด. คำรามขึ้นทีไร กระจกหอประชุมจะแตกหล่นกราวลงมาใส่ท่านทีนั้น ผมภูมิใจมากที่มีโอกาสได้นอนทับตัวท่านเพื่อบังเศษกระจกไว้

“ผมขอให้ท่านสั่งหยุดยิง

“"ผมสั่งแล้ว!" ท่านตอบทันที "มนัส คุณวิ่งไปบอกด้วยตัวเองอีกที"

“ผมวิ่งไปยังกลุ่มตำรวจชายแดน 4-5 นายที่ดูเหมือนจะบันเทิงอยู่กับอาวุธปืน ค. ซึ่งปลายลำกล้องชี้ไปทางอาคารฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ผมบอกว่าผู้บังคับการกองปราบปรามสั่งให้หยุดยิง

“"กระสุนดัมมี่ครับ ไม่ใช่กระสุนจริง" พวกเขาไม่ฟังเสียงหันไปทางปืนและเสียงปืนก็คำรามขึ้นอีก

“ผมย้ำอีกครั้ง "ผู้การสั่งให้หยุดยิง!"

“สิ้นเสียงผมเสียงปืนสนั่นในทันที! เราต่อปากต่อคำกันไม่นานผมก็ถอย พวกเขาเป็นตำรวจชั้นผู้น้อย อ้างว่าผู้บังคับบัญชาของเขาสั่งให้ยิง ยศ พ.ต.ต. ของผมกับคำสั่งของพล.ต.ต.นอกหน่วยไม่มีความหมายสำหรับพวกเขา

“ผมวิ่งกลับมาที่ระเบียงหอประชุม ถึงไม่รายงานท่านผู้การก็รู้ว่าสภาพของเหตุการณ์มันถึงขั้นอยู่เหนือการควบคุมไปแล้ว การปฏิบัติการต่างๆกลายเป็นเรื่องส่วนตัวไปเสียแล้ว....”

การระดมเอาตำรวจพลร่มและ(อาจจะ)ตำรวจตระเวนชายแดนหน่วยอื่นๆมาช่วยในการโจมตีธรรมศาสตร์นี้ ต้องถือว่าเป็นเรื่องผิดปรกติอย่างยิ่ง และน่าจะเป็นการผิดระเบียบปฏิบัติของราชการด้วย เพราะหน้าที่ของหน่วยพลร่มคือการทำสงครามนอกแบบในชนบท อย่างไรก็ตาม ถ้าเราพิจารณาประวัติความเป็นมาของทั้งตำรวจพลร่มและตำรวจตระเวนชายแดนโดยทั่วไป ก็จะพบว่านี่เป็นหน่วยงานตำรวจที่อาจจะกล่าวได้ว่ามีลักษณะการเมืองมากที่สุด

ทั้งตำรวจพลร่มและตำรวจตระเวนชายแดนเป็นหน่วยงานที่ถูกสร้างขึ้นในระยะพร้อมๆกันในช่วงที่พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีตำรวจในทศวรรษ 2490 ในทางยุทธการ ตำรวจพลร่มจะขึ้นต่อ บช.ตชด. แต่ในทางปฏิบัติ มีความเป็นเอกเทศสูง อันที่จริง พลร่มเป็น (ตามคำของ พิมพ์ไทย สมัย 2500) "กำลังตำรวจสำคัญที่สุดในยุคจอมอัศวินเผ่า" ถูกสร้างขึ้นด้วยคำแนะนำและการช่วยเหลือด้านเงิน, การฝึกและอาวุธจากองค์การซีไอเอ โดยผ่านบริษัทบังหน้า "ซีซับพลาย" (SEA Supply) ที่ซีไอเอตั้งขึ้น ทำให้มีอาวุธยุทโธปกรณ์ ทันสมัยยิ่งกว่าทหารบกภายใต้สฤษดิ์คู่ปรับของเผ่าในสมัยนั้น เผ่าสร้างหน่วยงาน "ตำรวจ" ที่เป็นมากกว่าตำรวจในลักษณะนี้อีกหลายหน่วย เช่น "ตำรวจยานยนต์" (ซึ่งมีรถถังใช้!), ตำรวจรักษาดินแดน (ร.ด.) และกองบัญชาการตำรวจรักษาชายแดน (บช.รช.) สองหน่วยหลังนี้ถูกรวมเข้าเป็นกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ในปี 2498

เมื่อสฤษดิ์รัฐประหารในปี 2500 ก็ทำการแยกสลายและยุบกำลังเหล่านี้ บช.ตชด.ถูกยกเลิกแล้วจัดตั้งเป็น "กองบัญชาการชายแดน" แทน ต่อมาก็ย้ายตำรวจชายแดนไปขึ้นต่อกองบัญชาการตำรวจภูธร ในส่วนตำรวจพลร่มในสัปดาห์แรกหลังรัฐประหารเกือบจะเกิดการปะทะกับทหารบกของสฤษดิ์ที่พยายามไปปลดอาวุธ "กองพันตำรวจเสือดำ (ฉายาที่นสพ.ตั้งให้พลร่ม) ตั้งป้อมฝังระเบิดเวลารอบค่ายเตรียมรับทหาร ยกกองหนีเข้าป่า ทหารไม่กล้าตาม" เป็นพาดหัวข่าวของ พิมพ์ไทย สมัยนั้น แต่ในที่สุด กำลังของหน่วยพลร่มก็ถูกโยกย้ายกระจายกันไปตามหน่วยงานอื่นๆ (ไม่แน่ชัดว่าหน่วยงานพลร่มถูกเลิกไปเลยหรือลดฐานะไปขึ้นกับหน่วยอื่น)


เมื่อคณะปฏิวัติของจอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศรื้อฟื้นจัดตั้ง กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนขึ้นใหม่ในปี 2515 สถานการณ์ได้เปลี่ยนไป เกิดองค์ประกอบใหม่หลายอย่างขึ้นในการเมืองไทย เช่น การต่อสู้ด้วยอาวุธของพคท. แต่ที่สำคัญที่สุดคือการที่สฤษดิ์ในระหว่างครองอำนาจได้รื้อฟื้นและขยายสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์อย่างใหญ่หลวง (ดูรายละเอียดในหนังสือ การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ ของทักษ์ เฉลิมเตียรณ)บทบาทสำคัญอย่างหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ที่เริ่มในสมัยนั้นคือการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชนบทและการต่อต้านการก่อการร้าย เช่น ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ชาวเขาในเขตยุทธศาสตร์ด้วยพระองค์เอง ในปี 2509 เริ่มมีการบริจาคเงินทูลเกล้าฯถวายเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์เป็นครั้งแรก เข้าใจว่าบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในด้านนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้เข้าไปใกล้ชิดกับตำรวจตระเวนชายแดน

สมัยนี้เองที่มีการพยายามสร้างภาพ "โรแมนติก" ให้กับตชด. เช่น ด้วยเพลง "โอ้ชีวิตเรา อยู่ตามเขาลำเนาป่า ตระเวนชายแดน เหมือนดังพรานล่องพนา ต้องนอนกลางดิน ต้องกินล้วนอาหารมีในป่า..." (ในลักษณะเดียวกับที่ภายหลังมีการพยายามสร้างภาพ "โรแมนติก" ให้เปรม ติณสูลานนท์ ด้วยเพลง "จากยอดดอยแดนไกลใครจะเห็น ยากลำเค็ญเพียงใดใจยังมั่น จะปกป้องผองไทยชั่วนิรันดร์ สิ้นชีวันก็ยังห่วงหวงแผ่นดิน...")

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างสถาบันกษัตริย์กับตชด. แสดงออกอย่างรวมศูนย์ที่สุดที่การจัดตั้งลูกเสือชาวบ้านในปี 2514 ในฐานะกิจกรรมในพระบรมราชานุเคราะห์ที่ดำเนินงานโดย ตชด. เมื่อถึงปี 2519 รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนที่ทำหน้าที่ดูแลกิจการลูกเสือชาวบ้านก็คือ พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ผู้เข้าไปประกาศในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 (ตามคำให้การของสุรินทร์ มาศดิตถ์) ว่า "จะต้องปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สิ้นซาก" นั่นเอง

ผมขอทบทวนสิ่งที่ได้เสนอไปแล้ว ดังนี้ กำลังติดอาวุธที่บุกเข้าโจมตีธรรมศาสตร์ ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีทั้งส่วนที่มีเครื่องแบบและไม่มีเครื่องแบบ ในขณะที่พวกไม่มีเครื่องแบบ (ซึ่งอาจเป็นเพียงอยู่นอกเครื่องแบบหรือเป็นอดีตทหารตำรวจ) เป็นผู้รับผิดชอบต่อทารุณกรรมต่างๆที่นิยาม 6 ตุลา ในความทรงจำของคนทั่วไป, พวกมีเครื่องแบบคือกำลังหลักที่แท้จริงที่เปิดฉากการฆ่าหมู่นองเลือด ผมได้ชี้ให้เห็นว่า ต่างกับกรณี 14 ตุลาและ 17 พฤษภา พวกมีเครื่องแบบในเช้าวันนั้นล้วนแต่เป็นตำรวจทั้งสิ้นไม่ใช่ทหาร เป็นที่ชัดเจนด้วยว่า ตำรวจเกือบทุกหน่วยถูกระดมมาร่วมรุมทำร้ายผู้ชุมนุมในเช้าวันนั้น อย่างไรก็ตาม ผมเสนอว่ากำลังที่สำคัญที่สุดคือตำรวจแผนกปราบจลาจล 200 คนที่นำโดยสล้าง บุนนาค, ตำรวจพลร่มและตำรวจตระเวนชายแดนหน่วยอื่นๆอีกไม่ต่ำกว่า 50-60 คน ซึ่งใช้อาวุธหนัก เช่น ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังและปืนครก และตำรวจหน่วย "สวาท" ทั้งแผนกอีก 45 คน
ผมได้พยายามแสดงให้เห็นว่าบทบาทของสล้างในวันที่ 6 ตุลาไม่ใช่บทบาทของเจ้าพนักงานระดับล่างที่ทำตามคำสั่งแต่เป็นบทบาทของนักเคลื่อนไหวฝ่ายขวาที่มุ่งทำลายขบวนการนักศึกษา (แบบเดียวกับจำลอง ศรีเมืองในช่วงนั้น) เช่นเดียวกัน การระดมตำรวจพลร่มจากค่ายนเรศวรหัวหินซึ่งมีหน้าที่ในการทำสงครามนอกแบบในชนบทเข้ามาปราบนักศึกษาในกรุงเทพฯเป็นเรื่องที่ผิดปกติและผิดวิธีปฏิบัติราชการอย่างเห็นได้ชัด แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ถ้า ดูจากวิวัฒนาการของตำรวจตระเวนชายแดนที่มีลักษณะการเมืองสูง (highly politicized) จากการเป็นกำลังที่เผ่า ศรียานนท์ตั้งขึ้นเป็นฐานอำนาจตัวเอง จนกลายมาเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบกิจการลูกเสือชาวบ้านในพระบรมราชานุเคราะห์

เหนืออื่นใดเราต้องไม่ลืมว่าการโจมตีธรรมศาสตร์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ได้เป็นคำสั่งของรัฐบาลเสนีย์ ปราโมช เป็นความจริงที่ว่า ในค่ำวันที่ 5 ตุลาคม รัฐบาลเสนีย์ได้ "สั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสอบสวน" การแสดงที่ธรรมศาสตร์ที่ "มีลักษณะไปในทางดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายต่อองค์รัชทายาท...อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อจิตใจของประชาชนชาวไทย....เพื่อนำเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้" (คำแถลงของเสนีย์ทางสถานีโทรทัศน์เวลา 22.15 น. น่าสังเกตว่าประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อเวลา 21.40 น. กล่าวเพียงว่า "ให้กรมตำรวจดำเนินการสืบสวนและสอบสวนกรณีนี้โดยด่วน" ไม่มี "อันเป็นการกระทบกระเทือนจิตใจ..." และ "เพื่อนำเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้")

แต่หาก "เจ้าหน้าที่ตำรวจ" ปฏิบัติหน้าที่ "สืบสวนสอบสวน" ตามระเบียบวิธีปฏิบัติราชการ ก็ย่อมไม่เกิดกรณีนองเลือด 6 ตุลาคม เพราะผู้ที่อยู่ในข่ายเป็น "ผู้ต้องหา" คือกรรมการศูนย์นิสิตและผู้จัดการแสดงละครก็ได้แสดงความจำนงยินดีเข้าพบกับรัฐบาลเพื่อให้ดำเนินการ "สืบสวนสอบสวน" ได้ตั้งแต่คืนวันที่ 5 แล้ว ไม่เฉพาะแต่บทบาทอันน่าสงสัยของสล้างและการสั่งเคลื่อนกำลัง ตชด.เข้ากรุงเทพฯเท่านั้น

อ่านเต็มๆ ที่นี่ครับ
//tttiii.multiply.com/reviews/item/9


โดย: stopitnow วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:14:24:37 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

stopitnow
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add stopitnow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.