Group Blog
 
 
ตุลาคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
16 ตุลาคม 2554
 
All Blogs
 

4 วันอันตราย! นิคมฯปากน้ำ-แปดริ้วระทึกน้ำถล่ม แหล่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่สุด

นิคมอุตสาหกรรมโซนตะวันออก "ปากน้ำ-แปดริ้ว" แหล่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่สุด ลุ้นระทึก 4 วันอันตราย วิกฤตน้ำถล่มกรุง กระทรวงอุตฯเร่งฟื้นฟูนิคม "ไฮเทค-บางปะอิน" หลังเสียหายหนัก บริษัทแม่ค่ายรถยอมรับสภาพ ยังไม่ทิ้งฐานผลิตในไทย ประกาศให้พนักงานหยุดยาว ธุรกิจประกันเครียด สินไหมปูดแล้ว 2 หมื่นล้าน หวั่นลามหนักกระทบฐานะการเงิน "กิตติรัตน์" เตรียมประชุมนัดแรกประเมินความเสียหายด้านเศรษฐกิจทั้งระบบ 17 ตุลาคมนี้


จากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติอุทกภัยที่ถล่มประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในรอบ 2 เดือนได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล ทั้งชีวิต ทรัพย์สินและธุรกิจทุกแขนงอย่างไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน ธุรกิจประกันเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่ได้รับแรงกดดันจากวิกฤตรอบนี้มากที่สุด

เคาะตัวเลขเสียหาย 2 หมื่นล้าน

นายอานนท์ วังวสุ เลขาธิการสมาคมประกันวินาศภัย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ความเสียหายในเบื้องต้นของธุรกิจที่ทำประกันไว้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครและโรจนะคาดว่ามีมากกกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งทุกรายจะประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิด (IAR) ทั้งเครื่องจักร ระบบคอมพิวเตอร์ และสต๊อกสินค้า

"ระยะเวลาท่วมก็มีผลต่อมูลค่าสินไหม ถ้าท่วมนาน โอกาสเสียหายก็มาก อาจต้องจ่ายเต็มทุนประกัน รวมถึงประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักด้วย"

ขณะนี้สมาคมได้ประสานงานกับ กลุ่มบริษัทประกันภัยเพื่อเตรียมทีมสำรวจและทยอยลงพื้นที่ หลังทราบความเสียหายจะเร่งชดใช้ค่าสินไหมแก่ ผู้เอาประกันให้เร็วที่สุด เหมือนกรณี น้ำท่วมเชียงใหม่ที่ทยอยจ่ายสินไหมเกือบเรียบร้อยแล้ว

นายพันธ์เทพ ชัยปริญญา ผู้จัดการฝ่ายสินไหมทดแทน บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด กล่าวว่า วิกฤตรอบนี้บริษัทประกันภัยได้รับผลกระทบถ้วนหน้า โดยเฉพาะบริษัทที่รับประกันภัยธุรกิจไว้จำนวนมาก เคสที่ท่วมนิคมอุตสาหกรรม Hi-Tech โรงงานเอสเอ็มอีจะเสียหายมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะรับประกันภัยโดยบริษัทประกันในเครือธนาคาร ที่ใช้คู่กับสินเชื่อ

"ส่วนวิริยะประกันภัย ข้อมูลเดือน ตุลาคมมีรถยนต์ที่ทำประกันไว้ได้รับความเสียหาย 500 คัน ส่วนใหญ่เป็นรถกระบะ บางส่วนอาจต้องจ่ายทุนประกันกรณีที่ท่วมมิดหลังคา หรือน้ำเข้าตัวรถ"

นายอรรณพ พรธิติ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) ให้ความเห็นเหมือนกันว่า ความเสียหายรอบนี้สูงมาก หลายบริษัทเริ่มวิตกกังวล การประกันภัยต่อที่ซื้อเอาไว้รองรับสินไหมจะเพียงพอกับความ เสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่ หากไม่พอก็จะเป็นภาระที่ส่งผลต่อฐานะทางการเงิน

นอกจากนี้ในช่วงที่ต่ออายุสัญญาประกันภัย ปัญหาน้ำท่วมปีที่แล้วจะถูกนำมาทบรวมกับน้ำท่วมใหญ่ของปีนี้ ด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยให้ผู้รับประกันต่อ (รีอินชัวเรอร์) ต้องมองผลกระทบถึง 2 ครั้ง ว่าจะคิดเบี้ยเพิ่มขึ้นแค่ไหน ซึ่งอาจมีการแยกความคุ้มครองส่วนน้ำท่วมออกมาต่างหากก็เป็นไปได้"

นายอรรณพย้ำว่า ผลกระทบที่หนักคือ ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ซึ่งเป็นเรื่องการแบกรับความเสี่ยง จากการเสียโอกาสทางธุรกิจซึ่งเป็นผลกระทบลูกโซ่ เพราะนิคมอุตสาหกรรมเป็นแหล่งซัพพลายชิ้นส่วนป้อนโรงงานทั่วประเทศ

นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) คาดการณ์ตัวเลขความเสียหายที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของประกันภัยไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่น้ำท่วมขังด้วย

นิคมอุตสาหกรรม 2 แห่งที่ท่วมแล้ว ทั้งสหรัตนนครและโรจนะมีบริษัทเอกชนอยู่ 91 บริษัท รวมทุนประกันภัยกว่า 7.7 หมื่นล้านบาท และมีนิคมอุตสาหกรรมอีก 4 แห่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงคือ Hi-Tech บางปะอิน บางกระดี และนวนคร หากรวมทุนประกันภัยทั้งหมดจะสูงถึง 4.1 แสนล้านบาท โดยบริษัทประกันภัยที่รับงานในนิคมอุตสาหกรรมสูงสุด 2 บริษัทแรกคือ บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด และบริษัท สมโพธิ์ เจแปน ประกันภัย (ประเทศไทย)

4 นิคมปากน้ำ-แปดริ้วลุ้นระทึก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเร่งระบายน้ำจาก จ.ปทุมธานีและพระนครศรี อยุธยาในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ มวลน้ำจะไหลเข้าสู่พื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราด้วย ซึ่งเป็น 4 วันอันตรายที่ถูกจับตามอง (วันที่ 15-18 ตุลาคม) แม้โซนนี้จะมีประตูระบายน้ำหลายจุด แต่ก็หวั่นใจเพราะมีโรงงานอุตสาหกรรมมากถึง 1,559 โรงงาน (ไม่รวมในเขตนิคม) รวมเงินลงทุน 412,164.97 ล้านบาท แรงงานรวม 170,183 คน ซึ่งอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า, ผลิตชิ้นส่วนและประกอบรถยนต์, ผลิตภัณฑ์พลาสติก, เฟอร์นิเจอร์, อุตสาหกรรมเหล็กและโครงสร้าง, ผลิตภัณฑ์คอนกรีต, เคมีภัณฑ์, อุตสาห กรรมอาหารและการแปรรูป, อุตสาห กรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ โดยมีนิคมอุตสาหกรรมเวลโกร์ อ.บางปะกง และนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ อ.แปลงยาว เป็นแหล่งรวมของโรงงานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ส่วนกรุงเทพฯมี 2 แห่งคือ นิคมอุตสาหกรรมบางชันและ นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง

ขณะที่ จ.สมุทรปราการมีโรงงาน ตั้งอยู่ในทุกอำเภอ และมี 2 นิคมอุตสาหกรรมคือ นิคมอุตสาหกรรมบางพลีมี 160 โรงงาน ส่วนใหญ่ประกอบกิจการฉีดพลาสติกและผลิตภัณฑ์งานพลาสติก, โรงงานอิเล็กทรอนิกส์, กิจการสารเคมี (ทำสี), โรงงานทอกระสอบ และนิคมอุตสาห กรรมบางปูมี 510 โรงงาน อุตสาหกรรมสำคัญคือ อาหารแปรรูป, สิ่งทอ, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์โลหะพลาสติก, เครื่องจักร-อุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์และประกอบรถยนต์ อาทิ ฮอนด้า (รถจักรยานยนต์) และโตโยต้า

เตรียมฟื้นนิคมไฮเทค-บางปะอิน

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมบ‰านหว้า (ไฮเทค) รวมมูลค่า 65,312 ล้านบาท มี 143 โรงงาน จ้างแรงงาน 51,186 คน ได้หยุดผลิตและอพยพคนแล้ว 100% หลังดินพังทลายน้ำทะลัก ขณะนี้กำลังรอฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด ส่วนนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินมี 90 โรงงาน จ้างแรงงาน 60,000 คน โรงงานหยุดผลิตแล้วเช่นกัน แต่การอพยพคนต้องระวังเรื่องสารเคมีอันตราย เช่น ไซยาไนด์ที่ทะลักเข้าโรงงาน

บริษัทแม่ค่ายรถให้คนงานหยุดยาว

นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ย้ำว่า บริษัทแม่ของกลุ่มธุรกิจยานยนต์ยังคงเชื่อมั่นต่อฐานผลิตในไทย โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น และมั่นใจว่าตลาดรถยนต์จะเติบโตในระดับ 10% จากเดิมคาดไว้ที่ 15% หรือมียอดผลิต 1.8 ล้านคัน ส่วนตลาดส่งออกมีปัญหาล่าช้า

ทั้งเชื่อว่าผู้ผลิตทุกรายจะเร่งเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อป้อนตลาดทั้งในประเทศและส่งออก โดยเฉพาะปีหน้าทุกบริษัทพร้อมขยายกำลังการผลิตทุกค่าย ประเมินตามแผนการผลิตในปี 2558 ไทยจะผลิตรถได้ถึง 2.5 ล้านคัน

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกรู รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานกลุ่มยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ค่ายรถยนต์หรือกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วน ยานยนต์มั่นใจต่อฐานผลิตในไทย แต่แนวโน้มอาจมีการพิจารณาย้ายที่ตั้งโรงงานมาอยู่ในเขตภาคตะวันออกก็เป็นไปได้เช่นกัน

ส่วนยอดขายปีนี้เชื่อว่าจะถึง 9.5 แสนคัน การส่งมอบอาจต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 10% เพราะเส้นทางขนส่งถูกตัดขาดและลูกค้าขอชะลอการรับรถออกไป

นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร รองประธานอาวุโส บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) และกรรมการบริหาร บริษัท เอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า พนักงานฮอนด้าที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 6,000 คนนั้นจะได้รับการดูแลอย่างดี พร้อมให้สิทธิเป็นวันหยุดยาวพิเศษ

"ตอนนี้ต้องรอน้ำลด และถือเป็นความเสียหายที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ตั้งบริษัทมา เมื่อทุกอย่างปกติเราจะกลับมาเร่งฟื้นฟูโรงงานให้เข้าสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด" นายพิทักษ์กล่าว

ซึ่งบริษัทแม่ก็เข้าใจแม้โรงงานจะถูกออกแบบเพื่อรองรับภัยธรรมชาติ แต่น้ำที่ไหลทะลักครั้งนี้รุนแรงเกินคาดหมาย ในส่วนโรงงานประกอบรถจักรยานยนต์ของ เอ.พี.ฮอนด้าที่นิคมฯลาดกระบัง บริษัทได้สร้างคันดินกันน้ำไว้แล้ว

ส่วนบริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ว่า บริษัทจะเริ่มหยุดการผลิตตั้งแต่กะกลางคืนของวันที่ 13-15 ตุลาคม สัปดาห์หน้าจะพิจารณากันใหม่ หลังทราบกำหนด การส่งชิ้นส่วนของผู้ผลิตแล้ว

เจโทรขอให้รัฐสรุปภัยน้ำแม่น ๆ

นายเซ็ทซึโอะ อิอูจิ ประธานส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) กล่าวว่า ได้หารือกับนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมหาแหล่งวัตถุดิบใหม่มาชดเชยการผลิตของโรงงานทั้งหมดที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งขอให้รัฐบาลไทยบริหารจัดการลดระดับน้ำให้เร็วที่สุด พร้อมขอให้ชี้แจงกับผู้ประกอบการอย่างถูกต้อง ชัดเจน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ส่วน เจโทรพร้อมสนับสนุนช่วยเหลือรัฐบาลไทยฟื้นฟูความเสียหายทุกเมื่อ

ปิดปั๊มน้ำมัน 31 แห่ง

กระทรวงพลังงานรายงานว่า จากพื้นที่ 58 จังหวัดที่เกิดน้ำท่วม มีวิกฤต 10 จังหวัดที่ต้องปิดสถานีบริการน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) บางแห่ง อาทิ สุโขทัย นครสรรค์ พิจิตร ชัยนาท ตาก ลพบุรี สำหรับพระนครศรีอยุธยาปิดไปแล้ว 10 แห่ง สรุปมีสถานีบริการน้ำมันปิด 31 แห่ง สถานีแอลพีจี 4 แห่ง โรงบรรจุก๊าซแอลพีจี 4 แห่ง

ปตท.-เชลล์ยันมีน้ำมันเพียงพอ

นายสรัญ รังคสิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บมจ.ปตท.กล่าวว่า ภาวะน้ำท่วมทำให้ความต้องการใช้ลดลงตามไปด้วย แม้การขนส่งจะล่าช้าแต่ก็ไม่เกิดภาวะขาดแคลน คลังน้ำมันทั่วประเทศยังกระจายได้ต่อเนื่อง คือคลังในเชียงใหม่, ลำปาง, นครสวรรค์, อุบลราชธานี, อุดรธานี, ขอนแก่น ฯลฯ

แหล่งข่าวจากบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้เตรียมแผนสำรองหันมาขนส่งโดยรถยนต์แทน เช่น เส้นทางที่ไปยังภาคเหนือ ส่วนเชลล์ยังมีคลังน้ำมันอยู่ทั่วประเทศ ได้แก่ คลังในลำปาง ขอนแก่น สมุทรสงคราม และคลังน้ำมันบ้านดอน สุราษฎร์ธานี และคลังน้ำมันช่องนนทรี กทม. ซึ่งรองรับความต้องการได้อย่างเพียงพอ

นางพิศวรรณ อัชนะพรกุล ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้คลังน้ำมันช่องนนทรีจะอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาก็ยังไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ปกติคลังน้ำมันจะสูงและเป็นระบบปิด น้ำเข้าไม่ได้อยู่แล้ว และจะไม่มีขาดแคลนแน่นอน

เลื่อนเปิดโครงการ-ลดอีเวนต์

นายวิทยา วิรารัตน์ ประธานบริษัท วิรารัตน์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า ประเมินแล้วคิดว่าประชาชนไม่อยู่ในภาวะที่อยากจะซื้อบ้าน การเปิดตัวโครง การใหม่จึงต้องเลื่อนออกไปเป็นปีหน้า

นายสมนึก ตันฑเทอดธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง กล่าวว่า เดิมจะจัดอีเวนต์ในเดือนตุลาคมนี้ 4 รายการ แต่ดูแล้วคงต้องยกเลิกไปก่อน ยกเว้นแรลลี่ของลูกบ้าน

ขณะเดียวกันบริษัทรับสร้างบ้านปทุมดีไซน์ก็ประกาศขอเลื่อนเปิดสาขาใหม่ที่นครสวรรค์เช่นกัน

รัฐสรุปความเสียหาย 17 ต.ค.นี้

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่าจะประชุมคณะกรรมการพร้อมกำหนดมาตรฐานการฟื้นฟูภาคธุรกิจในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ ระหว่างนี้ต้องรอประเมินสถานการณ์ความเสียหายในนิคมอุตสาหกรรม ไฮเทคและนิคมอื่น ๆ ส่วนกรอบความช่วยเหลือจะเน้นไม่ขัดกฎหมาย เคร่งครัดในวินัยการคลัง พร้อมเตรียมงบฯ จากหน่วยงานต่าง ๆ ไว้แล้ว 80,000 ล้านบาท

นิคมไฮเทคล่ม-กิตติรัตน์ปล่อยโฮ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าวันที่ 13 ตุลาคม แม้ทุกฝ่ายจะพยายามป้องกันไม่ให้น้ำท่วมทะลักเข้านิคมอุตสาหกรรมไฮเทค อ.บางปะอิน แต่ในที่สุดก็กั้นไม่อยู่ เมื่อกระแสน้ำพัดแรงจนทำให้คันกั้นพังทลายลง บริเวณด้านหลังโรงงาน บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด เป็นรอยกว้าง 6 เมตร น้ำท่วมสูง 50 ซ.ม. ขณะที่ทหาร 200 นายต่างพยายามกู้ใน 6 จุดวิกฤตแต่ก็เอาไม่อยู่ ทันใดนั้นน้ำได้ทะลักเข้าท่วม 143 โรงงานในนิคมไฮเทคทันที จึงต้องเร่งอพยพคนงานกว่า 500 คนไปอยู่ในที่ปลอดภัย

ขณะเดียวกันนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งกำลังลงพื้นที่สำรวจและอยู่ในเหตุการณ์ที่น้ำไหลท่วมทะลักนิคมไฮเทค ทำให้นายกิตติรัตน์ถึงกับกลั้นน้ำตาไม่อยู่ พร้อมเข้ากอดผู้บริหารของนิคมจนเป็นข่าวโด่งดัง

ยูเอ็นช่วยเหลือไทยเต็มที่

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม เวลา 16.50 น. นายเจษฎา กตเวทิน รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเย็นวันที่ 13 ตุลาคม นางอาชา-โรส มิกิโร รองเลขาธิการสหประชาชาติ พร้อมคณะได้เข้าพบนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อแสดงความเสียใจและแสดงเจตจำนงให้ความช่วยเหลือด้านข้อมูลและเทคนิคการบริหารจัดการ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพราะอุทกภัยเกิดขึ้นทั่วภูมิภาคและพื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก เกรงว่าอาจกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร ยูเอ็นจึงจับตาดูใกล้ชิด




 

Create Date : 16 ตุลาคม 2554
0 comments
Last Update : 16 ตุลาคม 2554 8:12:18 น.
Counter : 605 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


Wanlay_kukkuk
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add Wanlay_kukkuk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.