Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
19 พฤศจิกายน 2554
 
All Blogs
 
47 โรงงานไอที ประกาศไม่ลอยแพคนงาน 1.6 แสน ยันจ่ายค่าจ้างให้ 75% อีก4-5เดือนเปิดโรงงานปกติ

47 โรงงานไอที ประกาศไม่ลอยแพคนงาน 1.6 แสน ยันจ่ายค่าจ้างให้ 75% และภายใน 4-5 เดือน ทุกโรงงานเดินเครื่องผลิตชิ้นส่วนคอมพ์ได้ตามปกติ ขณะที่กฟภ.เริ่มจ่ายไฟ 3 นิคมแล้วที่เหลือรอน้ำลด ธปท.แย้มมีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายช่วยฟื้นฟู

ภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลง ผู้ประกอบการด้านไอทีได้มีการหารือแลกเปลี่ยนแนวทางฟื้นฟูกิจการ หลังส่งตัวแทนเข้าพบ รมว.คลัง เพื่อรับทราบข้อมูลแนวทางความช่วยเหลือจากภาครัฐก่อนหน้านี้
นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับสมาชิกสมาคมทั้ง 47 ราย มีแรงงานรวมทั้งสิ้นกว่า 1.6 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานของนักลงทุนต่างชาติ มีความเห็นตรงกันว่า ขณะนี้ทุกโรงงานที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมยังคงจ่ายค่าจ้างแรงงานในอัตรา 75% จากปกติ ที่เหลืออีก 25% ที่ขาดจะอนุญาตให้ใช้เป็นวันหยุดพักร้อนชดเชย ซึ่งสมาชิกทุกบริษัทต่างจะพยายามรักษาแรงงานไว้ให้ดีที่สุด รวมถึงแรงานที่ไม่ใช่พนักงานประจำ (เอาท์ซอร์ส) เพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

"จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เริ่มคลี่คลาย หลายโรงงานได้ทยอยเรียกแรงงานกลับเข้าทำงานในบางส่วนแล้ว แม้จะยังไม่สามารถเรียกไปทำงานได้ครบทั้ง 100% ส่วนโรงงานที่ถูกน้ำท่วมนั้น ความเสียหายมีหลายระดับ บางโรงงานหากน้ำแห้งแล้วเพียงแค่ทำความสะอาดก็เดินเครื่องได้เลย แต่บางรายเครื่องจักรเสียหายก็ต้องใช้เวลาในการซ่อมแซมหรือซื้อเครื่องจักรใหม่" นายสัมพันธ์ ระบุ


ปัดลดคนงาน-4เดือนเต็มสูบ


ประธานสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์ฯ ยืนยันว่า โรงงานต่างๆ จะยังไม่มีการลดคนงานในช่วงนี้ แต่หากบริษัทรายใดที่เสียหายมากต้องใช้เวลาฟื้นฟูนาน และมีศักยภาพน้อย หากปิดโรงงานยืดเยื้อนานกว่า 4 เดือน อาจจะทนแบกรับการจ้างงานไม่ได้ ซึ่งอาจจะต้องหามาตรการอื่นเข้ามาช่วยอีกครั้ง แต่เชื่อว่าภายใน 4-5 เดือนข้างหน้าโรงงานอิเล็กทรอนิกส์เกือบทั้งหมดจะกลับมาดำเนินกิจการใหม่ได้อีกครั้ง


"โรงงานสมาชิกที่เป็นของชาวต่างชาติทุกรายต่างให้ความมั่นใจว่าจะยังคงลงทุนในไทยต่อไป แต่ต้องขึ้นอยู่กับมาตรการรองรับป้องกันน้ำท่วมในระยะยาวของรัฐบาลว่าจะดีเพียงใด ซึ่งในแผนเบื้องต้นถือได้ว่าเป็นแผนที่ดี แต่ก็ต้องดูในภาคปฏิบัติว่าจะทำได้ตามที่วางไว้หรือไม่" นายสัมพันธ์ยืนยันหนักแน่น

ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยที่ออกมานั้น นายสัมพันธ์ บอกว่า ถือได้ว่าดีในระดับหนึ่ง มีประโยชน์ต่อบางโรงงาน แต่โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ ไม่ค่อยมีปัญหาทางด้านการเงิน แต่สิ่งที่อยากได้นั้นเป็นมาตรการป้องกันน้ำท่วมระยะยาวของรัฐบาลมากกว่า
กฟภ.จ่ายไฟ3นิคมลุยผลิต

นายณรงค์ศักดิ์ กำมเลศ ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดเผยว่า กฟภ.จ่ายไฟฟ้าโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง คือ เขตประกอบการอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์ ซึ่งจ่ายไฟฟ้าครบ 100% ส่วนในเขตนิคมอุตสาหกรรมนวนครสามารถจ่ายให้ 13 โรงงาน และนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินจำนวน 13 โรงงานเช่นกัน ส่วนที่เหลืออีก 4 นิคม น้ำยังท่วมสูง จึงยังไม่จ่ายไฟเข้าไปในโรงงาน และจากการตรวจสอบระดับน้ำล่าสุดพบว่าสวนอุตสาหกรรมโรจนะยังมีระดับน้ำสูง 1.10 เมตร สวนอุตสาหกรรมบางกะดีระดับน้ำสูงกว่า 3 เมตร นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ระดับน้ำสูง 3 เมตร และนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค)ระดับน้ำสูง 1.5 เมตร

"กฟภ.ได้เร่งรัดการจ่ายไฟฟ้าสำหรับโรงงานทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้มีไฟฟ้าเพียงพอในการกลับมาเดินเครื่องจักรและทำการผลิตสินค้า ซึ่งขณะนี้มีการระดมพนักงานกว่า 300 นาย จากพื้นที่ต่างๆ เข้าไปกู้ระบบและเข้าไปตรวจสอบความปลอดภัยในโรงงานแต่ละแห่งก่อนที่จะมีการจ่ายไฟฟ้าให้แต่ละโรงงาน" นายณรงค์ศักดิ์กล่าว

ส่วนกรณี คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีนโยบายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมโดยการผ่อนผันการชำระค่าไฟฟ้า โดยไม่คิดดอกเบี้ยระยะเวลา 3 เดือน ขณะนี้ กฟภ.สรุปภาระที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายดังกล่าวเป็นวงเงินทั้งสิ้นประมาณ 3 พันล้านบาท


ธปท.แย้มมีลุ้นลดดบ.นโยบาย


นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า นโยบายการเงินในขณะนี้ยังพอมีพื้นที่ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้บ้าง ซึ่งธปท.ในเวลานี้พยายามดูแลในเรื่องความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและการบริโภค หากสถานการณ์น้ำท่วมไม่ยืดยาวออกไปก็คงไม่กระทบมากนัก แต่ธปท.เองก็ต้องพยายามดูแล ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 3.5% ถือเป็นระดับใกล้เคียงกับประมาณการเงินเฟ้อปีหน้าที่อยู่ระดับ 3.5% เช่นเดียวกัน ดังนั้นพื้นที่ในการดูแลจึงมีอยู่

สำหรับการคาดการณ์เงินเฟ้อนั้น ทางนโยบายการเงินของธปท.เองได้ติดตามดูในเรื่องนี้เช่นกัน เห็นว่าตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่วนเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในช่วงนี้สาเหตุหนึ่งเป็นผลจากปัญหาอุปทานขาดแคลน(Supply Shock) และน่าจะเป็นผลกระทบเพียงช่วงสั้นเท่านั้น จึงน่าจะเปิดทางให้การดำเนินนโยบายการเงินมีพื้นที่บ้างเช่นกัน

"การคาดหมายเงินเฟ้อในขณะนี้ค่อนข้างนิ่ง ก็เลยมีพื้นที่ให้เรานิดหน่อยในการลดอกเบี้ย แต่เรากำลังตัดสินใจว่าต้องประคับประคองความเชื่อมั่นของการผลิตและการบริโภค ไม่ให้ตกลงไปหรือเปล่า เป็นเรื่องที่กนง.กำลังดูอยู่" นายประสาร กล่าว


ยันลงทุน-ผลิตฟื้นไตรมาส2


คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ หลังจากการประชุมเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมา กนง.มีมติด้วยเสียง 6 ต่อ 1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ระดับ 3.50% ซึ่งเป็นการยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่ได้ดำเนินมานาน 1 ปี หลังความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจมีมากขึ้น


"คิดว่านโยบายการเงินเรายังพอมีพื้นที่อยู่ เพราะปีที่ผ่านมาเราได้พาดอกเบี้ยขึ้นมาในระดับที่ค่อนข้างเป็นปกติแล้ว ซึ่งไม่เหมือนกับประเทศสหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ที่เขาไม่ค่อยมีพื้นที่ตรงนี้มากนัก และถ้าดูดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 3.5% เทียบกับประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปปีหน้าที่ 3.5% ก็เรียกว่าเราได้ต้นทุนแล้ว" นายประสาร กล่าว

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจนั้น ธปท.คาดว่าการบริโภคจะเริ่มฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีหน้า ขณะที่ภาคการผลิตและการลงทุนคงฟื้นตัวเต็มที่ตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีหน้าเป็นต้นไปเช่นกัน เนื่องจากถ้าดูจากสถานการณ์น้ำในปัจจุบันแล้วน่าจะเป็นไปตามที่ธปท.ได้ประเมินไว้ คือ จะเริ่มคลี่คลายและจบได้ก่อนสิ้นปีนี้


Create Date : 19 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2554 6:09:48 น. 0 comments
Counter : 501 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Wanlay_kukkuk
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add Wanlay_kukkuk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.