คนไทยรักกัน
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
 
9 กุมภาพันธ์ 2552
 
All Blogs
 

อุทยานแห่งชาติแม่วงก์

อุทยาน แห่งชาติแม่วงก์ มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอแม่วงก์ และกิ่งอำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร ตามเทือกเขาสูงชันก่อกำเนิดเป็นน้ำตกที่สวยงาม 4-5 แห่ง ทั้งเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำแม่วงก์ที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีแก่งหินทำให้เกิดน้ำตกเล็กๆ ตามแก่งหินนี้ ตลอดจนมีหน้าผาที่สวยงามตามธรรมชาติ มีเนื้อที่ประมาณ 558.750 ไร่ หรือ 894 ตารางกิโลเมตร

ด้วย นายสวัสดิ์ คำประกอบ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือจากสำนักนายกรัฐมนตรีที่ นร 0104/9871 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2526 ถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์) ขอให้จัดพื้นที่ป่าแม่วงก์-แม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ซึ่งมีสภาพธรรมชาติและน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง สภาพป่าอุดมสมบูรณ์และเป็นป่าต้นน้ำลำธาร กำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้มีคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 1290/2526 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2526 ให้นายชัยณรงค์ จันทรศาลทูล นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจหาข้อมูล ปรากฏว่า พื้นที่ดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำแม่วงก์ มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกแม่กระสาหรือแม่กี ซึ่งสูงประมาณ 200 เมตร และหน้าผาต่างๆ สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามหนังสือรายงานผลการสำรวจ ที่ กษ 0713/พิเศษ ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2526

กอง อุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2528 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2528 เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองขลุงและป่าคลองแม่วงก์ในท้อง ที่ตำบลปางตาไว อำเภอคลองขลุง (ปัจจุบันเป็นอำเภอปางศิลาทอง) จังหวัดกำแพงเพชร และป่าแม่วงก์–แม่เปิน ในท้องที่ตำบลแม่เลย์ และตำบลห้วยน้ำหอม อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ (ปัจจุบันเป็นตำบลแม่เลย์ อำเภอแม่วงก์ และตำบลแม่เปิน กิ่งอำเภอแม่เปิน) เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 104 ตอนที่ 183 ลงวันที่ 14 กันยายน 2530 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 55 ของประเทศ
:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
สภาพ ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนเรียงรายกันอยู่ตามเทือกเขาถนนธงชัยลด หลั่นลงมาจนถึงพื้นราบ ประมาณ 40-50 ลูก ยอดที่สูงที่สุดคือ “ยอดเขาโมโกจู” สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,964 เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารต้นกำเนิดของลำน้ำแม่วงก์ ส่วนพื้นที่ราบมีไม่มาก ส่วนใหญ่อยู่บริเวณริมแม่น้ำ และเป็นแหล่งแร่ธาตุสำคัญ เช่น แร่ไมก้า
:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
สภาพ ภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ในช่วงฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน - เดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่เหมาะแก่การไปท่องเที่ยวมากที่สุด เพราะอากาศค่อนข้างหนาวเย็น อันเนื่องมาจาก ลิ่มความกดอากาศสูง มาจากประเทศจีน แผ่ลงมาทางตอนใต้ เข้าสู่ประเทศไทยตอนบน และปกคลุมทั่วประเทศ ลมที่พัดสู่ประเทศไทยในฤดูนี้คือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนช่วงฤดูร้อนเริ่มต้นจากเดือนมีนาคม - เดือนพฤษภาคม อากาศค่อนข้างร้อนจัดและมีฝนตกน้อย ทำให้สังคมพืชป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณผลัดใบ สำหรับฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน - เดือนตุลาคม มีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,100 มิลลิเมตรต่อปี
:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
สภาพป่าทั่วไปของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ประกอบด้วย
ป่าเบญจพรรณ จะอยู่บริเวณที่ราบริมฝั่งห้วยและภูเขาที่ไม่สูงนัก พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สัก เสลา ชิงชัน กระบก กระพี้เขาควาย มะค่าโมง งิ้วป่า ประดู่ป่า กาสามปีก ติ้ว ฯลฯ มีไผ่ชนิดต่างๆขึ้นอยู่หลายชนิด เช่น ไผ่ป่า ไผ่ไร่ ไผ่ซางนวล ไผ่รวก พืชพื้นล่าง เช่น หนามเค็ด ส้มเสี้ยว หนามคนฑา เป็นต้น

ป่าเต็งรัง ขึ้นอยู่สลับกับป่าเบญจพรรณ พบในช่วงระดับความสูงตั้งแต่ 100-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง กราด มะเกิ้ม ประดู่ มะม่วงป่า มะค่าแต้ พะยอม มะขามป้อม สมอไทย ฯลฯ พืชพื้นล่างที่พบ เช่น ไผ่เพ็ก และปรง เป็นต้น

ป่าดิบเขา พบขึ้นอยู่ในบริเวณที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,300-1,500 เมตร พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ก่อใบเลื่อม ก่อเดือย ก่อลิ้น ก่อแอบ ทะโล้ จำปาป่า กะเพราต้น หนอนขี้ควาย กำลังเสือโคร่ง ดำดง กล้วยฤาษี และมะนาวควาย เป็นต้น

ป่าดิบแล้ง ประกอบด้วย ยางแดง ยางนา กระบาก ตะเคียนหิน ปออีเก้ง สมพง กัดลิ้น มะหาด พลอง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีไม้พุ่มและพืชพื้นล่างต่างๆ ที่ทนร่มอีกมากมายหลายชนิด เช่น เข็มขาว หนามคนฑา ว่าน พืชหัวต่างๆ อีกทั้งกล้วยไม้ต่างๆ อีกมากมาย

ทุ่งหญ้า พบกระจัดกระจายไปตามป่าประเภทต่างๆ ที่มีอยู่ เกิดจากการทำลายป่าของชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่เคยอยู่อาศัยในพื้นที่ สังคมพืชที่ขึ้นทดแทนในพื้นที่ได้แก่ หญ้าคา หญ้านิ้วหนู เลา สาบเสือ พง แขมหลวง มะเดื่อ ไมยราบเครือ ไมยราบต้น ลำพูป่า หว้า ติ้วแดง งิ้วป่า มะเดื่อหอม เป็นต้น

เนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีอาณาเขตติดต่อกับ ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งสัตว์สามารถใช้เส้นทางเดินติดต่อกันได้ ได้แก่ สมเสร็จ เลียงผา กระทิง ช้างป่า เสือโคร่ง เสือดาว หมีควาย หมีหมา ชะนีธรรมดา ค่างหงอก ลิงกัง อ้นเล็ก กระรอกบินเล็กแกมขาว ค้างคาวปากย่น ไก่ป่า เหยี่ยวรุ้ง นกแว่นสีเทา นกกก นกเงือกกรามช้าง นกปรอดเหลืองหัวจุก นกเขาใหญ่ นกกะเต็นอกขาว นกจาบคาเคราน้ำเงิน นกแซงแซวสีเทา เต่าหก เต่าเหลือง เหี้ย ตะกวด งูเห่า งูแมวเซา ฯลฯ
:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์
ตู้ ปณ.29 อ. คลองลาน จ. กำแพงเพชร 62180
โทรศัพท์ : 0 5576 6027, 0 5576 6024

รถยนต์
จาก จังหวัดนครสวรรค์ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ถึงอำเภอขลุงแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1242 ไปประมาณ 40 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1072 ไปอีก 10 กิโลเมตร จะพบสี่แยกคลองลาน ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1117 ถนนคลองลาน-อุ้มผางประมาณ 15 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์
:: แหล่งท่องเที่ยว ::
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ได้จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานไว้ให้บริการเพื่อรองรับการท่องเที่ยว เช่น บริเวณปากคลองแม่กระสา ซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 17 กิโลเมตร ได้จัดเป็นสถานที่กางเต็นท์เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาพักได้สัมผัสความ สมบูรณ์ของป่าดิบชื้นและพรรณไม้ป่านานาพันธุ์ และเป็นจุดพักก่อนเดินทางไปชมน้ำตกแม่เรวา ยอดเขาโมโกจู น้ำตกแม่กระสา และน้ำตกแม่กี นอกจากนี้ ทางอุทยานแห่งชาติได้จัดให้มีทางเดินศึกษาธรรมชาติ 3 เส้นทาง คือ

1) เริ่มต้นจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ เดินลัดเลาะลำน้ำคลองขลุงไปสิ้นสุดที่ผาคอยนาง รวมระยะทาง 1.4 กิโลเมตร
2) เริ่มต้นจากหลังป้ายอุทยานแห่งชาติ เดินผ่านสวนสัก ป่าเบญจพรรณ และมีทางแยกไปแวะชมน้ำตกเล็กๆ ชื่อ ธารบุญมี แล้วมาสิ้นสุดที่จุดเริ่มต้น รวมระยะทาง 3 กิโลเมตร
3) เริ่มต้นจากหลังป้ายอุทยานแห่งชาติ แล้วมาพบกับเส้นทางที่ 2 ที่น้ำตกธารบุญมี ตลอดเส้นทางเป็นทางขึ้นเขาลงเขา มีจุดพักเป็นช่วงๆ รวมระยะทาง 7.4 กิโลเมตร

ผู้สนใจเดินตามเส้นทางเหล่านี้ต้องติดต่อลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่ง ชาติที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวก่อน รายละเอียดการเข้าร่วม กิจกรรมการเดินป่าในแต่ละปี สามารถดูได้จากเมนูข่าว-กิจกรรม
:: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
น้ำตกแม่กระสา เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สูงที่สูงที่สุดในบริเวณนี้ มีความสูงกว่า 1,000 เมตร มีชั้นลดหลั่นถึง 9 ชั้น มีบางชั้นที่มีความสูงถึง 270 เมตร น้ำไหลแรงสวยงามตลอดปี อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 21 กิโลเมตร ต้องเดินเท้าเข้าไป ใช้เวลาเดินไปกลับ 3-4 วัน

น้ำตกแม่รีวา เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีแอ่งน้ำลักษณะเป็นอ่างกลมกว้างราว 30-40 เมตร รับสายน้ำที่ตกลงมาเป็นชั้นๆ มีทั้งหมด 5 ชั้น ชั้นที่ 3 มีความสูงที่สุดประมาณ 100 เมตร มีสภาพสวยงามมาก น้ำตกแม่เรวาอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 21 กิโลเมตร การเดินทางต้องเดินเท้าไปกลับ 3-4 วัน

น้ำตกแม่กี เป็นน้ำตกที่มีความสูงประมาณ 200 เมตร แบ่งเป็นชั้นๆ ถึง 9 ชั้น น้ำไหลเกือบตลอดปี การเดินทางต้องเดินเท้าไปกลับ 3 วัน น้ำตกแห่งนี้ได้รับคำกล่าวชมจากหนังสือ ASEAN MAGAZINE เมื่อปี พ.ศ. 2518 ว่าเป็นน้ำตกที่สวยงามที่สุดในเอเซีย

แก่งผาคอยนาง เป็นแก่งน้ำและแก่งหิน จากถนนคลองลาน-อุ้มผาง ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ 1,400 เมตร จะมีทางแยกเข้าไปอีก 400 เมตร จะถึงบริเวณแก่งหินขนาดใหญ่ที่มีลำน้ำคลองขลุงไหลผ่าน ซึ่งเป็นลำน้ำสายหนึ่งในหลายๆ สายที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิง จากบริเวณแก่งเดินขึ้นไปตามลำน้ำอีกประมาณ 350 เมตร จะถึง น้ำตกผาคอยนาง น้ำตกขนาดเล็กที่เด่นและสะดุดตา มีน้ำตก 4 ชั้น แต่ละชั้นมีความสูงประมาณ 20 เมตร

นอกจากน้ำตกแล้วพื้นที่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ก็ยังมีแก่งหินปูนมีน้ำไหลลดหลั่นเป็นชั้นเหมาะแก่การท่องเที่ยวเพื่อการพัก ผ่อนในเวลากลางวันและเป็นที่ชมทิวทัศน์ พักรับประทานอาหาร ในบรรยากาศท่ามกลางหุบเขาอันร่มรื่นเย็นสบาย
บริเวณแก่งผาคอยนางนี้ นักท่องเที่ยวสามารถกางเต็นท์พักแรมได้

จุดชมทิวทัศน์ กม.57-115 ตลอดเส้นทางคลองลาน-อุ้มผาง ระหว่างกิโลเมตรที่ 57 - 115 มีจุดชมทิวทัศน์หลายแห่ง เช่น จุดชมทิวทัศน์กิโลเมตรที่ 81 กิโลเมตรที่ 87 กิโลเมตรที่ 93 กิโลเมตรที่ 102 และกิโลเมตรที่ 115 แต่ละแห่งสามารถมองทัศนียภาพที่สวยงามมองเห็นทิวเขาไกลสุดสายตา และสามารถกางเต็นท์พักแรมได้ โดยเฉพาะกิโลเมตรที่ 93 เป็นจุดที่มีความสูงที่สุดของถนนสายคลองลาน-อุ้มผาง กิโลเมตรที่ 102 มีน้ำตกริมทางสวยงาม มี 4 ชั้น แต่ละชั้นมีความสูงประมาณ 90 เมตร

ช่องเย็น (กม.93) เป็นจุดสูงสุดของถนนคลองลาน - อุ้มผาง และเป็นจุดสุดท้ายที่ยานพาหนะเข้าถึง มีความสูงประมาณ 1,340 เมตร จากระดับน้ำทะเล อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียล เนื่องจากบริเวณนี้เเป็นช่องเขาที่มีสายลมพัดผ่านตลอดเวลา จึงถูกขนานนามว่า “ช่องเย็น” ตามสภาพภูมิอากาศของพื้นที่แห่งนี้ เนื่องจากช่องเย็นมีสภาพอากาศที่เย็นและชื้น จึงพบพันธุ์ไม้ที่ชอบความชุ่มชื้นบริเวณนี้ ได้แก่ กล้วยไม้ เฟิร์น มหัสดำ (Treefern) นอกจากนี้ช่องเย็นยังเป็นถิ่นอาศัยของนกหลากหลายชนิด จึงเป็นแหล่งดูนกที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองไทย

ยอดเขาโมโกจู ขุนเขาแห่งความหนาวเย็น ด้วยความสูง 1,964 เมตร จากระดับน้ำทะเล โมโกจูจึงเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในแม่วงก์ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 27 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้าไปกลับ 4-5 วัน แม้ระยะทางจะไกลและยากแก่การเข้าไปถึง แต่โมโกจูก็ยังเป็นจุดหมายปลายทางของนักเดินทางหลายๆ คน ที่จะเก็บเป็นความประทับใจครั้งหนึ่งในชีวิต

น้ำตกนางนวล น้ำตกนางนวลเป็นน้ำตกขนาดกลางที่สวยงาม มีทั้งหมด 4 ชั้น จากช่องเย็นเดินเท้าไปตามถนนสายคลองลาน-อุ้มผาง ประมาณ 6 กิโลเมตร แล้วเดินลงเขา 200 เมตร จะถึงน้ำตก ผู้สนใจติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติที่ช่องเย็น

น้ำตกเสือโคร่ง เป็นน้ำตกที่สวยงาม จากช่องเย็นเดินเท้าไปเส้นทางเดียวกับน้ำตกนางนวล โดยเดินต่อจากน้ำตกนางนวล ประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตก

บ่อน้ำอุ่น เป็นบ่อน้ำอุ่นที่ผุดขึ้นมาจากใต้ดินตามธรรมชาติ น้ำอุ่นมีอุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส รัศมีความกว้างประมาณ 4 เมตร มีสัตว์ป่าชุกชุม อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 1.5 กิโลเมตร

:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายไว้บริการ

ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงไว้บริการ

ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว

สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว
- บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ รองรับนักท่องเที่ยวได้มากกว่า 150 คน
- บริเวณแก่งผาคอยนาง รองรับนักท่องเที่ยวได้ 150 คน
- บริเวณจุดชมวิวกิ่วกระทิง (ก.ม.81) รองรับนักท่องเที่ยวได้ 50 คน
- บริเวณช่องเย็น รองรับนักท่องเที่ยวได้ 150 คน
- บริเวณขุนน้ำเย็น รองรับนักท่องเที่ยวได้ 150 คน
- บริเวณแก่งลานนกยูง รองรับนักท่องเที่ยวได้ 50 คน
การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้ กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง

ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว

บริการอาหาร อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีร้านค้าสวัสดิการตั้งอยู่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ บริการอาหารตามสั่ง และของใช้ที่จำเป็น หากต้องการสั่งอาหารเป็นหมู่คณะหรือจำนวนมาก ต้องสั่งล่วงหน้า ส่วนบริเวณแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ไม่มีร้านค้าและร้านอาหาร

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.

ระบบสาธารณูปโภค ระบบไฟฟ้า มีใช้บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ส่วนบริเวณแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ยังไม่มีไฟฟ้าใช้




 

Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2552
3 comments
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2552 15:08:27 น.
Counter : 832 Pageviews.

 

เคยไปช่องเย็นมาเมื่อหลายปีที่แล้ว ไม่รู้จะมีโอกาสได้ไปอีกหรือเปล่า

 

โดย: AM NUCH 9 กุมภาพันธ์ 2552 15:33:15 น.  

 



แวะมาเยี่ยมบล็อคต่ะ


 

โดย: ป้าตุ้ย (amornsri ) 9 กุมภาพันธ์ 2552 15:53:44 น.  

 

อยากเห็นรูปแม่วงก์จังค่ะ ตอนนี้กำลังเบื่อที่ๆเที่ยวอยุ่บ่อยๆน่ะค่ะ

 

โดย: มาเรีย ณ ไกลบ้าน 10 กุมภาพันธ์ 2552 10:14:37 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


prempcc
Location :
ภูเก็ต Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




มารวมรวบข้อมูลการท่องเที่ยวกับเราเพี่ยงส่งรวมและคำบรรยายเล็กน้อยมาที่ prempcc@hotmail.com


Friends' blogs
[Add prempcc's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.