ความรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรก (หมวดการคุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถยนนต์) คืออะไร



2552 : สำนักงานคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
ได้มีการปรับปรุงเงื่อนไข ความคุ้มครองของการประกันภัยรถยนต์
ทั้งประกันภัยตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535
และประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจทุกประเภท โดยนำหลัก Cash before cover คือ
กรมธรรม์ประกันภัยจะเริ่มมีผลคุ้มครองก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยได้ชำระ
ดอกเบี้ยประกันภัยเรียบร้อยแล้ว และการเพิ่มเงื่อนไข ความคุ้มครอง
ที่เอาประโยชน์แก่ผู้ทำประกันภัย โดยลดความรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรก (Deductible or Excess) 1,000 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ 2,000 บาท ของการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง ซึ่งมีเฉพาะการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจประเภท 1 เท่านั้น



ความรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรก
เป็นการให้ผู้เอาประกันภัยร่วมรับผิดชอบ จ่ายค่าซ่อมรถยนต์เมื่อรถยนต์เกิด
ความเสียหาย ในกรณีที่เกิดการชนขึ้นจริง
แต่ไม่สามารถระบุคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ให้บริษัทที่รับประกันภัยทราบได้
หรือกรณีที่ไม่ได้เกิดจากการชนหรือคว่ำ เช่น
จอดรถไว้ข้างถนนแล้วมาพบภายหลังว่ารถถูกชน
กันชนท้ายและตัวรถเกิดความเสียหาย คิดเป็นมูลค่า 10,000 บาท กรณีนี้
ผู้เอาประกันภัยจะต้องร่วมรับผิดชอบในการจ่ายค่าเสียหาย 1,000 บาท ส่วนอีก
9,000 บาท บริษัทประกันภัยจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายดังกล่าว


กรณีที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรก คือ



- เกิดการชนกับรถ (ทุกประเภท) และไม่สามารถแจ้งรายละเอียดของรถคู่กรณีได้ เช่น ทะเบียนรถ

- เฉี่ยวกิ่งไม้ต้นไม้ กองวัสดุ หรือวัตถุใดๆ ที่ทำให้รถเป็นรอยครูด หรือขีดข่วน

- ไถลตกข้างทาง

- ถูกขีดข่วน หรือกลั่นแกล้ง

- โดนหิน หรือวัตถุอื่นๆ กระเด็นใส่ หรือตกใส่รถ ทำให้พื้นผิวสีของรถเสียหาย

- ถูกสัตว์กัดแทะเป็นรอยขีดข่วน

- ถูกละอองสีหรือปูน วัสดุอื่นๆ ตกใส่ โดยไม่ทราบผู้กระทำ

- ตกหลุมและครูดไปกับพื้นถนน ทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวรถ

- ไม่สามารถแจ้งลักษณะการเกิดเหตุได้ชัดเจน

- ไม่สามารถแจ้งวัน เวลา และสถานที่ ที่รถได้รับความเสียหายได้อย่างชัดเจน

- ถูกทุบกระจกรถ โดยไม่สามารถแจ้งคู่กรณีหรือผู้ที่กระทำได้


ส่วนกรณีที่ผู้เอาประกันไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรก คือ



- ชนคน สุนัข และสัตว์อื่นๆ

- ชนเสา ประตู รั้ว ต้นไม้ เสาไฟฟ้า กำแพง หรือวัตถุอื่นๆ จนทำให้ตัวรถและอุปกรณ์ต่างๆ บุบ แตก ร้าว อย่างชัดเจน

- ชนราวสะพาน ขอบทาง ทางเท้า หรือกองดิน ทำให้รถมีรอยบุบยุบ

- พลิกคว่ำ พลิกตะแคง ตกข้างทาง

- ถูกโจรกรรม ลักทรัพย์อุปกรณ์ภายในรถ

- ไฟไหม้ตัวรถและอุปกรณ์ภายในรถ

- กระจกรถแตก ร้าว โดยสามารถแจ้งสาเหตุของการแตกร้าวนั้นได้

- ภัยน้ำท่วม และลมพายุ



อย่างไรก็ตาม
เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับรถที่ทำประกันภัยทุกครั้งควรแจ้งให้บริษัทประกัน
ภัยทราบทันที ไม่ว่าจะเสียหายมากน้อยเพียงใดก็ตาม และต้องแจ้งวัน เวลา
สถานที่ให้ชัดเจน รวมทั้งลักษณะความเสียหาย
เพื่อเจ้าหน้าที่ของบริษัทประกันภัยจะได้ดำเนินการตรวจสอบความเสียหาย
หรือมีข้อมูลได้อย่างครบถ้วน
จากนั้นจึงสามารถนำรถยนต์เข้าศูนย์บริการซ่อมทันที



ขอขอบคุณ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)

ที่มา: นิตยสาร Honda Automobile 4/2009