ชีวิต...คือความหลากหลาย
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2549
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
6 มิถุนายน 2549
 
All Blogs
 
รักและอาลัย เชิด ทรงศรี

เชิด ทรงศรี จากโลกนี้ไปเมื่อเช้าวันที่ 20 พฤษภาคม 2549 เวลา 05.40 น.
ผมขออนญาตนำบทความจากหนังสือ Bioscope มาบันทึกเป็นจารึกไว้ในแผ่นดิน สำหรับ ผู้กำกับคนแรกที่ทำให้ผมซาบซึ้ง และตราตรึงไปสิ่งที่เรียกว่า ภาพยนตร์
..........................................................................
คุณเชิดในความทรงจำของ BIOSCOPE เป็นสุภาพบุรุษที่สูงอายุ แต่ทุกคนที่ได้พบและสัมผัสความเป็นคุณเชิด ย่อมรู้ว่าเขาไม่ใช่คนแก่
ไม่เพียงแต่ไม่ยอมแพ้ต่อการรุกรานของความเจ็บป่วยหรือตัวเลขวัยที่เพิ่มขึ้น แต่คุณเชิดเป็นคนที่เยาว์วัยทั้งในหัวใจและความคิดสร้างสรรค์ชอบพูดจาขำขันเป็นกันเอง ชอบชวนเที่ยวอย่างสนุกสนาน ให้กำลังใจในการงานของน้องๆ อย่างใจดี ให้ข้อคิดสำหรับการใช้ชีวิตอย่างเบิกบาน

เป็นเรื่องที่น่าประทับใจที่เราไม่เคยเห็นคุณเชิดใช้เวลาไปกับการนั่งรำลึกถึงความหลังแล้วมองปัจจุบันอย่างแปลกแยก คุณเชิดไม่ใช่คนแก่เพราะเขาชอบมองไปข้างหน้า มีฝันอยากทำหนัง มีโครงการมากมายที่บอกเล่าให้ใครฟังครั้งใด คนฟังก็ต้องพลอยมองโลกด้วยดวงตาเป็นประกายไปด้วย

คุณเชิดเกิดเมื่อวันที่ 20 กันยายน แต่ปีพ.ศ.ใดไม่เปิดเผย (เพราะเขาย้ำเสมอว่าการเดินหน้าของอายุได้หยุดไว้ที่ 28) เริ่มต้นชีวิตการทำงานตั้งแต่อายุ 12 ปีด้วยการเขียนรูปและแกะสลักตัวหนังตะลุงขายในเทศกาลประจำปีงานบุญเดือนสิบ ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชอันเป็นบ้านเกิด ครั้งเรียนจบมัธยมปลายที่กรุงเทพฯ ก็ไปเป็นครูที่โรงเรียนประจำตำบลบ้านม่วงเจ็ดต้น 1 (วัดจอมแจ้ง) กิ่งอำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนกลางป่า แต่เป็นได้ 4 เดือนก็เล้มป่วยด้วยไข้ป่าถึงขั้นหมดสติ

คุณเชิดทำงานต่อมาหลายอย่าง ทั้งเป็นบุรษพยาบาลและงานบัญชี แผนกตรวจสอบรายได้ที่องค์การร.ส.พ. ก่อนจะเดินเข้าสู่เส้นทางของการเป็นคนทำหนังสือ ด้วยการเป็น บก.นิตยสารยานยนต์ของ ร.ส.พ. นิตยสารชีวิตใหม่รายสัปดาห์ วารสารทัศนาจร, นิตยสารภาพยนตร์และโทรทัศน์(Movie and TV Weekly) และ บ.ก.บ.ห. หนังสือพิมพ์หลักเมืองรายวัน(ยุคใหม่) กับยังเป็นนักเขียนนิยายใต้นามปากกา "วันชัย" และเปลี่ยนมาเป็น "ธม ธาตรี" โดยเขียนทั้งเรื่องสั้น, สารคดี, บทความ, บทละครวิทยุ, บทละครโทรทัศน์, บทวิจารณ์หนัง, นวนิยาย ไปจนถึงแต่งเพลงร้อง, เพลงประกอบหนังแลโทรทัศน์

ชีวิตคนทำหนังของคุณเชิดเริ่มต้นในปี 2509 เมื่อตัดสินใจควักทุนของตัวเองมาทำ "โนห์รา" เป็นหนัง 16ม.ม. โดยรับทั้งหน้าที่เขียนบท, ออกแบบฉาก, ลำดับภาพ, แต่งเพลงประกอบ, กำกับและทำโฆษณาประชาสัมพันธ์เองด้วย ซึ่งผลปรากฎว่า "โนห์รา" กลายเป็นหนังที่ทำรายได้สูงสุดในปีนั้น ส่วนหนัง 16ม.ม. เรื่องสุดท้ายของเขาคือ "พ่อปลาไหล" ซึ่งทำรายได้สูงสุดเมื่อเทียบกับหนัง 16ม.ม. ทุกเรื่องที่ประเทศไทย เคยสร้างมา

แต่ความสำเร็จนี้ไม่ได้ทำให้คุณเชิดหลงตัวเอง ตรงข้ามเขากระหายจะเรียนรู้หนังให้มากขึ้นอีก ถึงขั้นตัดสินใจเดินทางไปเรียนแบบ not for credit ที่ UCLA (Extension) ในอเมริกา ตามด้วยการฝึกงานกับ วอลเตอร์ ดอนนิงเกร์ ที่โรงถ่ายเบอร์แบงค์ แล้วกลับมาทำหนัง 35มม. ประเดิมด้วยเรื่อง "ความรัก"

สิ่งที่คุณเชิดได้รียนรู้จาการใช้ชีวิตในอเมริกา 4 เดือนไม่ใช่แค่วิชาหนัง แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นและกลายเป็นเครื่องหล่อหลอมความเป็นคุณเชิดอย่างแท้จริงคือ ความรู้สึกสะท้อนใจเมื่อได้เห็นสภาพสังคมอเมริกันที่คนสูงวัยต้องใช้ชีวิตอย่างเงียบเหงา เขาคิดถึงย่าของตนขึ้นมา และพลันซาบซึ้งในวิถีแบบไทยที่ให้ค่าต่อการเลี้ยงดูบุพการีด้วยความรักและกตัญญู

แล้วความสำนึกถึงคุณค่าของความเป็นไทย ที่หมายถึงวิถีชีวิตจริงๆ มิใช่ความเป็นไทยในความหมายอันตื้นเขิน ก็บันดาลใจหใคณเชิดอยากทำหนังซึ่งถ่ายทอดความงามและอบอุ่นแบบไทย ทั้งเพื่อรำลึกถึงย่า และเพื่อกระตุกให้คนไทยกลับมาดูหนังไทยอีกครั้งหนึ่ง เขาจึงทำ "ความรัก" และ "พ่อไก่แจ้" ซึ่งเป็นหนังตลกก่อน เพื่อจะนำกำไรจากสองเรื่องนี้มาเป็นทุนทำหนังที่เขาอยากทำที่สุด โดยพร้อมรับมือกับการขาดทุน

หนังเรื่องนั้นคือ "แผลเก่า" (The scar) ที่เกิดพร้อมคำประกาศอย่างเด็ดเดี่ยวของเขาว่า "เราจักแสดงความเป็นไทยต่อโลก"



ก่อนแผลเก่าฉาย ไม่มีผู้ค้าหนังคนใดยอมซื้อมันเลย เพราะคิดว่าไม่มีทางที่ใครจะสนใจดูแต่แล้วเมื่อได้เข้าฉายจริงๆ แผลเก่า ก็กลายเป็นหนังที่ทำรายได้สูงสุดเมื่อเทียบกับหนังทุกเรื่องทุกชาตินับตั้งแต่เคยมีหนังฉายในประเทศไทยเป็นต้นมา กับยังไปได้รับรางวัลชนะเลิศ (กรังด์ปรีซ์) จากงาน Festival des 3 Continents ณ เมือง น็องต์ ฝรั่งเศส เมื่อปี 2524 อีกด้วย

นับจากนั้น หนังของคุณเชิดก็เป็นที่ต้องใจของผู้ชมในต่างประเทศได้ไปร่วมงานมหกรรมภาพยนตร์ทั้งในเอเชียและประเทศตะวันตก ปี 2535 เขาเป็นตัวแทนคนทำหนังไทยร่วมฉลองครบรอบ 25 ปีอาเซียนกับ NHK ด้วยการทำหนังเรื่อง "คน-ผู้ภามหาตนเอง" เพื่อเป็นหนึ่งในหนังชุด Southern Winds (ประกอบด้วย 4 เรื่องอีก 3 เรื่องเป็นของผู้กำกับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมีชาวญี่ปุ่นอีก 1 คน) นอกจากนั้น ยังได้รบเชิญเป็นกรรมการตัดสินงานหนังนานาชาติหลายครั้ง มีมิตรแท้ที่รักนับถือน้ำใจกันอยู่มากมายทั่วโลก

แม้หนังไทยจะผ่านภาวะลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด บางครั้งได้รับความนิย บางครั้งแห้งแล้งไร้คนสนใจ แต่คุณเชิดไม่เคยแสดงความท้อแท้ใดๆ ให้เห็นเขายังคิดค้นโครงการเกี่ยวกับหนังอยู่เสมอ ด้วยไอเดียที่น่าทึ่ง สดใหม่ และทำให้เราเฝ้ารอคอยที่จะได้เห็นงานลำดับต่อไปของเขาด้วยใจจดใจจ่อ

"ผมเคยไปขอคนเขานั่งเรียนวิชาหนัง ทุกคนก็บอกว่า ผมน่ะต้องเป็นคนสอนแล้ว แต่ผมไม่อยากให้ใครมายกขึ้นหิ้ง ผมยังเป็นนักเรียนอยู่เลย"

คุณเชิดพูดแบบนี้บ่อยครั้ง เพราะหัวใจเขายังรักการเรียน รักการมีชีวิต รักเพื่อนมนุษย์

ถ้าความตายหมายถึงการยุติของกร่างกาย คุณเชิดได้ละสังขารจากไปแล้วก็จริงอยู่ แต่ถ้าความตายหมายถึงการจบสิ้นหยุดทำงานของความคิด ความฝันและการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรอบข้าง

พี่เชิด ของทุกคนก็ยังหายใจอย่างร่าเริงอยู่เสมอ
..........................................................................
คัดลอกจาก BIOSCOPE ฉบับที่ 55 มิถุนายน 2549

นับจากหนังเรื่องแผลเก่า ที่ทำให้ผมร้องไห้ไปกับความรักของไอ้ขวัญแล้ว แต่นั้นมายังไม่เคยมีหนังเรื่องไหน เรียกน้ำตาผมได้อีกเลย...


Create Date : 06 มิถุนายน 2549
Last Update : 6 มิถุนายน 2549 20:37:17 น. 3 comments
Counter : 576 Pageviews.

 
ร้องไห้กับเรื่องแผลเก่า
เยอะ เหมือนกันค่ะ

มาร่วมไว้อาลัย คุณเชิด ทรงศรี ด้วย


โดย: grappa วันที่: 6 มิถุนายน 2549 เวลา:21:14:36 น.  

 
มาร่วมไว้อาลัย คุณเชิด ทรงศรี ด้วยคนครับ
...
เสียดาย บอกไม่ถูก


โดย: เ ม ฆ ค รึ่ ง ฟ้ า IP: 61.19.52.106 วันที่: 6 มิถุนายน 2549 เวลา:21:57:55 น.  

 
อาเชิด ยังคงเท่ห์เสมอครับ แม้ยามหลับตา
ร่วมไว้อาลัยครับ


โดย: สะติมม๊อนโสสะโตเบ้ว วันที่: 25 มิถุนายน 2549 เวลา:4:03:08 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

pigletdora
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add pigletdora's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.