<<
ธันวาคม 2553
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
20 ธันวาคม 2553

การเจริญอินทรีย์ ๕ เส้นทางสีทองสู่ความตื่นรู้

...... มนุษย์เราทุกคนที่เกิดมาแล้วในโลกล้วนแล้วแต่มีหน้าที่ เช่น หน้าที่ต่อตนเอง หน้าที่ต่อครอบครัว หน้าที่ความเป็นลูก หน้าที่ของความเป็นญาติพี่น้อง หน้าที่ต่อสังคม หน้าที่การเรียนการทำงาน หน้าที่ต่อประเทศ โดยมีสถานะเป็นตัวกำหนดบทบาทแต่ละคนในหน้าที่ขณะนั้นๆ

...... หน้าที่หลักที่สำคัญของมนุษย์ทุกคนที่เกิดมา คือ การพัฒนาความรู้เพื่อนำสู่การวิวัฒน์พัฒนายกระดับ อินทรีย์ คุณธรรมความดีงามสู่ความตื่นรู้ทางจิตวิญญาณเพื่อให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด หากว่าเขาไม่หลงลืมและได้ทำหน้าที่นี้ ก็เท่ากับการปฏิบัติธรรม ธรรมะหมายถึงหน้าที่

......สิ่งที่เป็นใหญ่ในชีวิตจิตวิญญาณของแต่ละคน คือ อินทรีย์ และเป็นสิ่งที่ควรสร้างสมบ่มเพาะถ้าหากว่าเขานั้นต้องการที่จะพัฒนาในธรรม

......อินทรีย์มี ๕ อย่าง ประกอบด้วย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาอินทรีย์ ๕ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากที่ผู้ต้องการจะพัฒนาในธรรมควรฝึกฝนเพาะบ่มให้ยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ
......ศรัทธา อินทรีย์ คือ ความเชื่อในสิ่งที่ดีงาม ความศรัทธาในพุทธศาสนา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีความเชื่อในบาปบุญคุณโทษ ซึ่งความเชื่อนี้ก็จะไม่เป็นเพียงแต่ความเชื่อศรัทธาไว้อย่างเดียว แต่ศรัทธาความเชื่อลักษณะดังกล่าวจะส่งผลออกมาทางปฏิบัติตนออกมาทางศีลสำรวมด้วย

......ศีลสำรวม คือความเป็นปกติ เกิดจากศรัทธาความดีงาม ศีลเป็นข้อปฏิบัติให้อยู่ร่วมกันในทุกสังคมอย่างสันติ ซึ่งแต่ละสังคมสิ่งแวดล้อมมีข้อระเบียบบัญญัติในความเป็นปกติไว้ตามสถานะ คือ ศีล ๕ ศีล๘ ในหมู่สังคมฆราวาส, ศีล ๑๐ สำหรับสมเณร แม่ชี, ศีล ๒๒๗ สำหรับหมู่สังคมพระสงฆ์,ศีล ๓๓๑ สำหรับภิกษุณีสังคมใดจะอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติ ก็เพราะสังคมนั้นผู้คนที่อยู่ร่วมกันมีระเบียบวินัย

...... เมื่อมีบุคคลที่สนใจปฏิบัติในรายละเอียดที่ลึกลงไปของพุทธศาสนา คือสมาธิ ซึ่งมีทั้งสมถะและวิปัสสนาเขาจะศึกษาน้อมนำ ศีลกุศลกรรมบท ๑๐ มาศึกษาปฏิบัติ เพราะบาทฐานของสมาธิ คือศีล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน
......บุญ(ปุญญ-เครื่องให้ฟูใจ) และกุศล(ภาวะดีงามที่ได้ปอกลอกมลทินห่อหุ้มจิตใจ) สองสิ่งนี้จะนำไปสู่ความสุขสงบยิ่งขึ้นไปโดยลำดับเหตุมาจากการเจริญทาน ศีล สมาธิ ปัญญา

...... ศีลสำรวมกุศลกรรมบท ๑๐ เกื้อหนุนสมาธิภาวนา เป็นการสำรวมกาย วาจา และจิตใจ ให้อยู่ในความประพฤติการกระทำที่ดีงาม เป็นความศรัทธาในความดีงามความถูกต้อง สำนึกรู้ในบาปบุญคุณโทษ-หิริโอตตัปปะ และกฏแห่งกรรมสิ่งที่ออกมาจากจิตใจ คือวาจา และการกระทำ จะไปในทิศทางเดียวกันคือเขาจะเป็นที่คนพูดจาตรงกับใจ และพูดอย่างไรก็จะมีเจตนาความพยายามทำอย่างนั้นตามที่ได้พูดไว้ ซึ่งจะได้ทำ ทำได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัย
ความดำริ(สังกัปปะ) ในการรักษาความดีงามกุศลกรรมบท ๑๐ ประการ
อาชชวะ คือ ความซื่อตรง ต่อตนเอง และผู้อื่น มีความนึกคิด วาจา และการกระทำที่ซื่อตรงไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
ศีล สงเคราะห์ลงใน ศรัทธาอินทรีย์ หนึ่งในอินทรีย์ ๕
ศรัทธาอินทรีย์ สงเคราะห์ลงใน สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ในองค์มรรค ๘

...... วิริยะ อินทรีย์ คือ ความเพียรในการดำรงรักษาจิตไปในทางกุศล หากมีอกุศลจิตเกิดขึ้นก็พยายามดับไป และเฝ้าดูแลสภาวธรรมที่ไหลออกมาจากจิตอนึ่ง กุศลธรรมและกุศลจิต มีความหมายอย่างเดียวกัน เพราะธรรมทั้งหลายไหลออกมาจากจิต จิตเป็นสภาพรับรู้ อยู่ในสภาพกลาง ที่มี องค์ประกอบจิตหรือเจตสิก เป็นตัวเข้ามาปรุงแต่งจิต ไปทางกศุลหรืออกุศลการดูแลมิให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นติดต่อเรียงกัน การเพียรดับอกุศลธรรม คือการพยายามเข้าไปดับเจตสิกขณะที่ปรุงแต่งไปด้วยอกุศลนั่นเอง
วิริยะอินทรีย์ คือ สัมมาวายามะ หนึ่งในองค์มรรค ๘


...... สติ อินทรีย์ คือ สติปัฏฐาน๔ ที่มีการระลึกเฝ้าตามดูในกาย สิ่งที่เกี่ยวข้องที่กำลังเกิดภายในกาย ตามการระลึกรู้เฝ้าตามดูเวทนาหรือความรู้สึก การระลึกรู้เฝ้าตามดูจิต การระลึกรู้เฝ้าตามดูธรรม ทั้งหมดมี ๔ ฐานคือกาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งฐานกายแยกออกเป็นการฝึกฝน ๖ วิธีตามความถนัด อุปนิสัยจริตแต่ละบุคคล ส่วนฐานเวทนา จิต และธรรม นั้นล้วนเป็นไปในทางเดียวกันทั้งสิ้นซึ่งกำลังของสติ ความละเอียดคมชัดของสติเป็นปัจจุบันขณะ เกิดจากการฝึกฝนทั้ง ๔ ฐานดังที่กล่าวมาแล้วโดยย่อ
สติอินทรีย์ คือ สัมมาสติ หนึ่งในองค์มรรค ๘

...... สมาธิ อินทรีย์ คือรูปฌานที่มี ๔ ลำดับ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุถฌาน สมาธิ ซึ่งมีทั้งสมถะและวิปัสสนา ซึ่งสองอย่างนี้อันใดมาก่อนมาทีหลังก็ขึ้นกับจริตอุปนิสัยแต่ละบุคคลรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกฝนสมาธิภาวนา สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากลิงค์ด้านล่างการเจริญพรหมวิหาร ๔ ไว้อย่างสม่ำเสมอจะเกื้อกูลสมาธิอินทรีย์(พรหมวิหาร๔ ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา)
สมาธิอินทรีย์ คือ สัมมาสมาธิ หนึ่งในองค์มรรค ๘


...... ปัญญา อินทรีย์ คือ ความรู้และการได้เรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรงที่เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติเองใน ทุกข์, สาเหตุให้เกิดทุกข์,ความดับทุกข์, การศึกษาเรียนรู้ฝึกฝนในหนทางที่จะดับทุกข์ คือ มรรคมีองค์ ๘ ปัญญาอันประกอบด้วยไตรลักษณ์
ปัญญาอินทรีย์ คือ สัมมาทิฎฐิ หนึ่งในองค์มรรค ๘


อินทรีย์๕ ในการบำเพ็ญภาวนาทางจิต (อานาปานสติ)
...... ศรัทธา คือความดำรงจิตที่มั่นใจแน่วแน่ในสภาวธรรมที่ดำเนินอยู่อย่างมีความเชื่อมั่นในวิถีทางที่ดำเนินไปอย่างไม่ติดข้อง ไม่เข้าไปตรึกวิตกลังเล ว่านั่นใช่ไหม? นี่อะไร? ความเชื่อมั่นวิถีทางจะช่วยให้ตัดผ่านความลังเลสงสัย(วิฉิกิจฉา-นิวรณ์๕)ในสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นได้ตามรอบของปัญญา

......วิริยะ การรักษาภาวะต่อเนื่องดำรงความจดจ่อ ไม่หวั่นไหวไปตามกับธรรมคู่ใดๆที่เกิดในจิต ความที่ตามระลึกรู้สภาวธรรมที่ดำเนินไปในสมาธิภาวนา เมื่อนิมิตหรือธรรมารมณ์ใดที่ละเอียดเกิดขึ้น ดับไปในการคลายสังขารโดยลำดับ เมื่อดำเนินสู่สภาวะที่ละเอียดขึ้นโดยลำดับ

......สติ เมื่อใดที่จิตเข้าไปแนบชิดสังขารธรรมใดๆ ภาวะระลึกรู้จะคอยตามไปอย่างใกล้ชิด และพาถอยห่างออกมาในระยะพอดีเป็นการเฝ้าตามดูจิตในจิต ธรรมในธรรม เฝ้าตามระลึกรู้นามรูปที่เกิดขึ้นและดับไปเป็นปัจจุบันภาวะ

......สมาธิ คือ ภาวะที่ดำรงจิต ตั้งมั่น ในองค์ภาวนาระลึกรู้เฝ้าตามดูลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ที่ดำเนินไปจากลมหยาบ ไปสู่ลมละเอียดตามระลึกรู้ในบริกรรม ระยะลมหายใจยาวก็รู้ว่ายาว ลมหายใจสั้นก็รู้ว่าสั้น "โฟกัสใส่ใจจุดที่ลมหายใจตกกระทบโดยตลอด ดุจบรุษผู้เลื่อยไม้ ใส่ใจตรงฟันของเลื่อยจุดที่สีกระทบกับเนื้อไม้"เฝ้าตามดูความรู้สึก เฝ้าตามดูอาการของจิต ที่ดำเนินไปในสภาวธรรมรูปฌานและภาวะที่ก่อนจะเข้าสู่รูปฌาน
...... อานาปานสติสมาธิภาวนามีทั้ง สมถะและวิปัสสนา โดยสมถะนำหน้าวิปัสสนา, วิปัสสนานำหน้าสมถะ หรือคู่เคียงกันไป ตามจริตอุปนิสัยบุคคล

......หรือบางท่านอาจใช้คำบริกรรมระลึกอยู่ในใจ เช่น พุท-โธ ซึ่งแล้วแต่ความถนัดจริตอุปนิสัยโดยเมื่อหายใจเข้า(พุท) - หายใจออก(โธ) คำบริกรรมช่วยให้จิตไม่ซัดส่ายไปตามความเคยชินเก่าๆเดิมๆ
......แล้วเมื่อจิตตั้งมั่น สงบดีแล้ว ไม่แล่นไปไหน ค่อยวางคำบริกรรมลง ใส่ใจเฉพาะลมหายใจเข้า-ออก วิธีนี้เป็นได้สำหรับผู้ถนัดสมถะนำหน้าวิปัสสนา ที่เน้นเจโตสมถะภายในมาก่อน
......สมถะและวิปัสสนาจะเกื้อกูลกันเสมอ อย่างใดมาก่อนหรือมาหลังก็ไม่สำคัญขึ้นกับแต่ละบุคคล
......โดยที่บางคนในวาระนั้นหนนั้นๆในสมาธิภาวนา
...... -เขาอาจมีสมถะรวมจิตสู่ความเป็นหนึ่งมาก่อนแล้วจึงไปเกื้อกูลวิปัสสนาในวาระลำดับถัดไป
...... -หรืออาจทำวิปัสสนาคือมีการพิจารณาสิ่งต่างๆที่เกิดภายในจิตใจตนเองมาก่อนแล้วแจ้งแก่ใจทีละเปาะๆแล้วจึงปล่อยวางจางคลายเบากายเบาจิตจึ่งไปเกื้อกูลสมถะโดยลำดับถัดไป
...... -หรือบ้างก็ เข้ามาทีละรอบเกิดสลับกันโดยลำดับตามวาระในครั้งนั้นๆในการทำสมาธิ หรืออย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในสมาธิภาวนาครั้งนั้นตามธรรมชาติและจริตอุปนิสัยแต่ละบุคคล แต่ก้อไม่ทอดทิ้งอีกอย่าง ดุจกับว่า ขาขวาที่ไม่ทิ้งขาซ้าย

......ปัญญา ปัญญาที่เต็มรอบแต่ละหนจะอาศัยอินทรีย์เหล่าอื่นที่สมดุลเป็นบาทฐานเกื้อกูลเสมอ ปัญญาอินทรีย์เป็นภาวะตระหนักรู้เฝ้าพินิจสภาวธรรมผ่านแว่นส่องอริยสัจ๔ คือความทุกข์ สาเหตุที่เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และหนทางดำเนินสู่ความดับทุกข์
...... ปัญญาอินทรีย์นี้เป็นของบุคคลนั้นเองมิใช่ของบุคคลอื่นโดยอาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของผู้นั้นจากการประสบความทุกข์ การเห็นสาเหตุจากทุกข์นั้น ความดับทุกข์ และหนทางดำเนินสู่ความดับทุกข์ ...ทุกสิ่งเกิดขึ้นในจิต เมื่อมันจะดับลง มันก็ดับลงไปในจิต
...... ในส่วนปัญญานี้อาศัยสัมปชัญญะและสติ เฝ้าตามดูพินิจสภาพธรรมตามความเป็นจริงปัจจุบันขณะความพินิจใส่ใจในสภาพธรรมที่เกิดกับลมหายใจ เวทนา จิต ความเข้าใจและปล่อยวางสภาพธรรมตามสภาพความเป็นจริงที่มีความเกิด-ดับ ความเข้าใจชำนาญในช่องทางวิถีที่วางจิตให้เข้าสู่ภาวะสงบ ความใส่ใจเมื่อมีสภาวธรรมเกิดขึ้นดับไปที่เป็นการพลิกไปสู่วิปัสสนาสู่ความเข้าใจกฏแห่งไตรลักษณ์ความไม่เที่ยงของสภาวธรรมทั้งหลายของนามและรูป ที่มีความแปรปรวนไม่สามารถบังคับบัญชาได้ ไม่ยึดภาวะปรุงแต่งนั้นๆ มาเป็นตัวตนของตน รวมทั้งปัญญาญาณในการไม่ยึดถือสภาวะธรรมต่างๆ มาปรุงแต่งว่า เป็นของตัวเราของเราทำให้เกิดภาวะการที่พอกพูนตัวตนในการปฏิบัติธรรม.
...... การเจริญอินทรีย์๕ ซึ่งจะพอกพูนอย่างแก่กล้า สมบูรณ์และสมดุลย์ ก็ได้ด้วยอาการลักษณะดังกล่าวนี้

......หากเมื่อปฏิบัติดำเนินไปสม่ำเสมอโดยลำดับขอบเขตอินทรีย์ที่บ่มเพาะภายใน จะมีการขยายขอบเขตออกสู่ภายนอกชีวิตประจำวันโดยธรรมชาติโดยอาศัยอิทธิบาท๔ คือความมีใจรักในการปฏิบัติ(ฉันทะ), ความอดทนพากเพียรเอาใจใส่(วิริยะ), การเลื่อมใสระลึกถึงการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ(จิตตะ), ความพินิจใคร่ครวญอินทรีย์๕ วิถีทางที่กำลังปฏิบัติ เพื่อหนทางให้พัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้น(วิมังสา)

หากมีคำถามว่า อินทรีย์ ๕ เริ่มต้นปฏิบัติอย่างไร อันไหนก่อนอันไหนหลัง?
......สามารถเริ่มต้นที่อินทรีย์อย่างใดก่อนก็ได้ และตัวต่อไปจะตามมาเองโดยธรรมชาติ เมื่อทำไปด้วยความตั้งใจจริง มุ่งมั่น และสร้างวินัยให้ตนเองในการปฏิบัติสมาธิภาวนา ในช่วงเลาที่ตรงกันในแต่ละวัน
ค่อยๆศึกษาเรียนรู้ไปตามกำลัง
......ส่วนผู้ที่ปฏิบัติโดยหลักที่เป็นสมาธิอินทรีย์ หรือสติอินทรีย์ อย่างใดอย่างนึง หรือรวมๆกันอยู่แล้ว ก็สามารถเลียบเคียงจากเนื้อหานี้ และนำส่วนอื่นที่เห็นว่ามีประโยชน์ไปใช้ได้ด้วยเช่นกัน

...... เมื่อผู้ใดได้ศึกษาเรียนรู้แนวทางและปฏิบัติโดยลำดับก็จะทราบว่าอินทรีย์๕ มีความสำคัญอย่างไรเพียงใดแต่ละอินทรีย์นั้นเกื้อกูลกันเองภายในอย่างไรบ้าง และอินทรีย์๕ กับ พละ๕ หมายถึงสิ่งเดียวกัน

......อินทรีย์๕ สงเคราะห์ลงในมรรค๘ หมายถึงว่าปฏิบัติเจริญมรรค๘ อินทรีย์๕ ก็แก่กล้าขึ้นปฏิบัติเจริญอินทรีย์๕ มรรค๘ ก็สมบูรณ์ขึ้น โดยลำดับ

......อุปมาว่า มีบุคคลต้องการที่จะเดินข้ามไปอีกฝั่งโน้นที่มีคลองคูน้ำคั่นเส้นทางอยู่ เขาสร้างท่อนไม้ ๕ ท่อนเพื่อไว้เป็นเสาของสะพานพาดข้ามฝั่งบุคคลผู้นี้ปักเสาลงไปในคูน้ำเรียงเป็นแนว และมีระดับความสูงสมดุลย์ไม่เหลื่อมล้ำกัน แล้วจึงนำไม้กระดานพาดลงไปเพื่อเดินไปสู่ฝั่งโน้นอีกด้านนึงสำเร็จ

ข้อนี้ เสาไม้ ๕ ท่อนเปรียบได้กับอินทรีย์ทั้ง๕ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

...... ความที่ปักลงไปโดยได้ระดับที่สมดุลย์ไม่เหลื่อมล้ำกัน คือภาวะสมดุลย์ไม่เหลื่อมล้ำกันของอินทรีย์๕ เมื่ออินทรีย์สมดุลย์แก่กล้ามรรค๘ก็เต็มรอบรวมเป็นหนึ่ง"มัคสมังคี"

......ไม้กระดานที่พาดลงไปบนเสาที่ปักไว้ เปรียบได้กับ เส้นทางสีทองที่ทอดไปสู่ฝั่งโน้นอีกด้านนึง

...... ฝั่งโน้นของสะพาน เปรียบได้ มรรค ผล นิพพาน ภาวะตื่นรู้ทางจิตวิญญาณ

Photobucket

ภาพจาก shutterstock.com

...... โดยลำดับ กล่าวรวบยอดได้อีกนัยยะนึงการเจริญ อินทรีย์๕ ก็คือ การเจริญมรรค๘ สู่ความสมบูรณ์ ซึ่งเป็นลำดับบำเพ็ญจิตภาวนาสู่ความสมบูรณ์พร้อมของ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ

...... ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นการเจริญ อินทรีย์๕ สัมมามรรค(การดำเนินหนทางที่ดีงามถูกต้องและพอดี ไม่ขาดไม่เกิน) สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้ วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เป็นผลตามมา


วิมุตติ
......ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ณ จุดใดจุดนึงเมื่อถึงพร้อม เมื่อเจริญอินทรีย์ ๕ สมดุลย์แก่กล้า มรรค๘ ก็สมบูรณ์พร้อมสามัคคีรวมเป็นหนึ่ง "มัคสมังคี"เกิดเป็นภาวะ มรรคจิต-ผลจิต ประจักษ์แจ้งภาวะนิพพาน หรือนิโรธ ภาวะดับสนิทแห่งทุกข์

...... มรรคจิต-ผลจิต ที่มีลำดับ มรรค๔ ผล๔ คือ โสดาปัตติมรรค-โสดาปัตติผล, สกิทาคามิมรรค-สกิทาคามิผล, อนาคามิมรรค-อนาคามิผล, อรหัตมรรค-อรหัตผล ตามลำดับเรียงกันไป
...... ปัจจัยลำดับมรรค ๑.ขึ้นอยู่กับความแก่กล้าอินทรีย์ของผู้ปฏิบัติที่สั่งสมมา จากการเจริญอินทรีย์๕ หรือมรรคมีองค์๘
...... ๒.ขึ้นอยู่กับของเดิมที่เคยมีมาก่อน เพราะมรรคจิต-ผลจิต ไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยเดิม, ผลจิต ธรรมที่ไหลออกจากจิตให้มองเห็นหนทางแห่งการดับสนิทของทุกข์ที่ละเอียดขึ้นมีการพัฒนาก้าวเดินไปข้างหน้า ไม่เดินซ้ำรอยเดิม

......อุปมาไว้ว่า เหมือนบุคคลลอยคอแหวกว่ายเวียนวนไร้หนทางในมหาสมุทรโอฆะแห่งสังสารวัฎ อันมืดมิดด้วยอวิชชาทั้งกลางวันและกลางคืน เมื่อสายฟ้าแลบ ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า เกิดแสงสว่างท่ามกลางความมืดมิด เขามองเห็นได้โดยรอบมองเห็นฝั่งโน้นที่น้ำท่วมไม่ถึง เขาจึงหันทิศทางแหวกว่ายไปตามหนทางนั้น อย่างไม่สงสัยลังเลใจ
...... เปรียบได้กับ มรรคแห่งโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล(แปลไทย: ผู้เข้าสู่กระแส ผู้แรกเห็น) ที่มีปฐมฌาน รูปฌาน ๑ เป็นบาทฐานพร้อมรายล้อมอินทรีย์เหล่าอื่นที่ได้สมดุลย์กัน
...... ขณะว่ายไปเกิดฟ้าสว่างแวปขึ้นอีกหนทำให้หนทางที่ว่ายไปหาฝั่งชัดเจนขึ้นอีกครั้ง เปรียบได้กับมรรคแห่งสกทาคามิมรรค สกทาคามิผล แปลไทยผู้จักเวียนกลับมา(ในกามาวจรภพ) อีกครั้งเดียว ผู้ทำกิเลสให้เบาบางลง ...
...... เมื่อเขาว่ายไปจนใกล้ชิดฝั่ง พอหยั่งถึงยืนขึ้นได้ เห็นได้สว่างอีกครั้งนึงทั้งกลางวันกลางคืน เปรียบได้กับมรรคแห่งอนาคามิมรรค อนาคามิผล แปลไทย ผู้ไม่กลับมาอีก(ในกามาวจรภพ)พระอนาคามี ผู้ไม่มาเกิดบนกามโลกอีก ...
...... เมื่อเขาขึ้นไปยืนถึงบนฝั่งที่มีความสว่างทั้งกลางวันกลางคืนไม่แตกต่างกันเป็นเวลาเดียวกันตลอด เปรียบได้กับอรหัตมรรค อรหัตผล(แปลไทย: ผู้ดับกิเลสหมดแล้วโดยสิ้นเชิง) ที่มีจตุถฌานฌาน รูปฌาน ๔ เป็นบาทฐานพร้อมรายล้อมอินทรีย์เหล่าอื่นที่ได้สมดุลย์กัน
......ภาวะที่จิตเข้าสู่รูปฌานที่ไล่เรียงขึ้นไปได้ง่ายตามลำดับ เนื่องด้วยนิวรณ์ธรรมที่คอยขวางแทรกสู่รูปฌานนั้นดับไปโดยลำดับมรรคเป็นสมุทเฉท

...... พระพุทธดำรัสกล่าวไว้ในพระไตรปิฏกว่า "ผู้จิตดุจสายฟ้าแลปคือในเบื้องต้นแห่งลำดับมรรค ผู้มีจิตดุจสายฟ้าผ่าคือเบื้องสุดแห่งลำดับมรรค"

......ภาวะนิพพาน "มรรคจิต" ในแต่ละครา เปรียบได้กับ ความสว่างทำให้มองเห็นทางไปยังฝั่งโน้นเบื้องสุด
......การว่ายน้ำไปหาฝั่งตามทิศทางที่เห็น เปรียบได้กับ ภาวะธรรมที่ไหลออกมาจาก"ผลจิต" ให้ดำเนินไปตามหนทางเฉพาะตนตามกำลังมรรค

...... อวิชชา๘ หรือ สังโยชน์๑๐ เปรียบได้กับ ความมืดมิดท่ามกลางการเดินทางแหวกว่ายในท้องมหาสมุทรวัฏฏะสังสารสังโยชน์ คือ เถาวัลย์ เป็นเครื่องร้อยรัด ที่อินเดียสมัยก่อนไม่มีเชือกสำหรับผูกสิ่งของที่ได้จากในป่า หรือสินค้าต่างเวลาจะมัดก็จะใช้เถาวัลย์ต้นไม้มามัดของไว้ สังโยชน์๑๐ ประการจะมัดผูกตรึงจิตไว้การรับรู้จากอายตนะ๖ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การสัมผัส รวมลงสู่การรับรู้อารมณ์ทางใจ
สังโยชน์เป็นปัจจัยเชื่อมโยงกับตัณหา(สมุหทัยสัจ)...

พระพุทธดำรัส
......อาวุโสทั้งหลาย ภิกษุหรือภิกษุณีรูปหนึ่งรูปใดก็ตาม จะพยากรณ์อรหัตตผลในสำนักของข้าพเจ้า ก็ย่อม(พยากรณ์)ด้วยมรรค ๔ ทั้งหมด หรือด้วยมรรคใดมรรคหนึ่งในบรรดามรรค ๔ เหล่านี้ คือ
......๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ “เจริญวิปัสสนาอันมีสมถะนำหน้า “ เมื่อเธอเจริญวิปัสสนาอันมีสมถะอยู่ มรรคเกิดขึ้น เธอเสพคุ้น เจริญ ทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพคุ้น เจริญ ทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้น สังโยชน์ทั้งหลายย่อมถูกละได้ อนุสัยทั้งหลายย่อมสิ้นไป
......๒. อีกประการหนึ่ง “ภิกษุเจริญสมถะอันมีวิปัสสนานำหน้า “ เมื่อเธอเจริญสมถะอันมีวิปัสสนานำหน้าอยู่ มรรคเกิดขึ้น เธอเสพคุ้น เจริญ ทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพคุ้น เจริญ ทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้น สังโยชน์ทั้งหลายย่อมถูกละได้ อนุสัยทั้งหลายย่อมสิ้นไป
...... ๓. อีกประการหนึ่ง “ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กัน “ เมื่อเธอเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่ มรรคเกิดขึ้น เธอเสพคุ้น เจริญ ทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพคุ้น เจริญ ทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้น สังโยชน์ทั้งหลายย่อมถูกละได้ อนุสัยทั้งหลายย่อมสิ้นไป
...... ๔. อีกประการหนึ่ง “ ภิกษุมีใจถูกชักให้เขวไปด้วยธรรมุธัจจ์ “ (แต่ครั้น) ถึงคราวเหมาะที่จิตนั้นตั้งแน่วสงบสนิทลงได้ในภายในเด่นชัดเป็นสมาธิ มรรคเกิดขึ้นแก่เธอ เธอเสพคุ้นเจริญ ทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพคุ้น เจริญ ทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้น สังโยชน์ทั้งหลายย่อมถูกละได้ อนุสัยทั้งหลายย่อมสิ้นไป"
อํ.จตุกฺก 21/170/218-219 ยุคนัธสูตร

...... วิมุตติ ความหลุดพ้น เป็นความหลุดพ้นจากความที่ถูกกิเลสร้อยรัดพันธนาการ หลุดพ้นจากอุปาทาน หลุดพ้นจากเหตุแห่งทุกข์(สมุหทัย)
......วิมุตติ(บาลี) แปลไทยว่า ความหลุดพ้น ความหลุดพ้นจากทุกข์โดยไม่กำเริบขึ้น เนื่องจากเชื้อที่ได้ดับสนิทจากภาวะประจักษ์แจ้งนิพพานตามกำลังมรรคกำลังอินทรีย์ นั่นจะกลายเป็นความหลุดพ้นของจิต สภาพรับรู้เมื่อกลับคืนมาสู่มิติของนามรูป

......นิโรธ ความดับทุกข์ หรือ นิพพาน นิพพานมาจากคำว่า นิรวาณ(Nirvana) แปลว่า ความปราศจากสิ่งร้อยรัดทั้งปวง เป็นการให้ความหมาย ภาวะของ "สิ่ง" สิ่งนั้น ที่ไม่อาจอธิบายความหมายตามภาษาพูดของมนุษย์(อนีรวจนียะคือพูดไม่ได้) และไม่อยู่ในขอบข่ายของประพจน์ใดๆ เป็น "สิ่ง" ที่พ้นไปจากมิตินามรูป(ขันธ์๕), ไม่มีการไป-ไม่มีการมา

ดังพระพุทธดำรัสได้ตรัสไว้ว่า:
...... ... ‘สิ่ง’ สิ่งหนึ่งอันบุคคลพึงรู้แจ้ง เป็นที่ไม่มีปรากฏการณ์ ไม่มีที่สุด มีทางปฏิบัติเข้ามาถึงได้โดยรอบ นั้นมีอยู่ ใน‘สิ่ง’นั้นแหละ ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่หยั่งลงได้ ใน‘สิ่ง’นั้นแหละ ความยาว ความสั้น ความเล็ก ความใหญ่ ความงาม ความไม่งาม ไม่สามารถหยั่งลงได้ ในสิ่งนั้นแหละ นามรูป ดับสนิทไม่มีเหลือ นามรูปดับสนิทในสิ่งนี้ เพราะการดับสนิทของวิญญาณ ดังนี้แล"๑
...... " ภิกษุทั้งหลาย สิ่งนั้นมีอยู่ เป็นสิ่งซึ่งในนั้นไม่มีดิน ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีลม ไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ ไม่ใช่วิญญานัญจายตนะ ไม่ใช่อากิญจัญญายตนะ ไม่ใช่เนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น ไม่ใช่ดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์
...... ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีอันเดียวกับ‘สิ่ง’นั้น เราไม่กล่าวว่ามีการมา เราไม่กล่าวว่ามีการไป ไม่กล่าวว่ามีการหยุด ไม่กล่าวว่ามีการจุติ ไม่กล่าวว่ามีการเกิดขึ้น สิ่งนั้นมิได้ตั้งอยู่ สิ่งนั้นมิได้ดับไป และสิ่งนั้นมิใช่อารมณ์ นั่นแหละคือที่สุดแห่งทุกข์" ๒
๑ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค. 9/466/431 เกวัฏฏสูตร
๒ขุททกนิกาย อุทาน. 25/71/242-243 ปฐมนิพพานปฏิสังยุตตสูตร


วิมุตติญาณทัสสนะ
......วิมุตติญาณทัสสนะ คือความรู้ความเห็นในความหลุดพ้น ญาณ๓แห่งอริยสัจ๔ ปฏิจสมุปบาท มรรคแห่งตถตา และอื่นๆเมื่อคืนกลับมาสู่มิติของนามรูปขันธ์๕ ความรู้ความเห็นที่ได้ตกผลึกเก็บไว้ยังผลสู่มุมมองและความเป็นไปของชีวิตของบุคคลผู้นั้น
......วิมุตติญาณทัสสนะเป็นความรู้ความเห็นที่ไม่อาศัยใจความรู้สึกนึกคิดใด ก็จะปรากฏแก่บุคคลนั้นมาเป็นระยะ ตามเหตุปัจจัยดุจแสงที่ส่องเข้าไปในผลึกนั้นบางหนบางครั้ง บางอย่างสามารถอธิบายเป็นภาษาพูดได้เมื่อมีไวยากรณ์ นิรุตติ ภาษา มารองรับ
......วิมุตติทัสสนะจะเป็นผล เป็นประโยชน์โดยตรงต่อบุคคลผู้นั้น เพราะเป็นผลความรู้ในการดำเนินหนทาง(มรรค) เพาะบ่มอินทรีย์ที่จะก้าวสู่ภาวะนิพพานเพื่อดับทุกข์โดยลำดับละเอียดขึ้นไป และเป็นประโยชน์โดยอ้อมในการบอกกล่าวแนะนำกัลยณมิตรผู้คนรอบข้างตามแต่กำลังอินทรีย์เพื่อไม่ให้เสียเวลาเดินทางอ้อมจากการบอกวิธีต่างๆจะช่วยลดระยะทางของกัลยณมิตรให้สั้นลงได้บ้างตามเหตุปัจจัย


...... "ธรรมนี้แหละ ถ้ามีก็เพียงนี้เท่านั้น ท่านทั้งหลายจงแทงตลอดบทอันหาความโศกมิได้นี้ พวกเรายังไม่เห็นล่วงเลยมาแล้วหลายหมื่นกัลป์" พระสารีบุตร-พุทธชิโนรส

พระพุทธดำรัส..อัศจรรย์ ๔ อย่าง
...... ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่ตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะเกิดขึ้น จึงเกิดมี "ของอัศจรรย์ ๔ อย่างนี้" ปรากฏขึ้น คือ
......๑. ภิกษุทั้งหลาย ประชาชนทั้งหลาย "พอใจในกามคุณ" ยินดีในกามคุณ บันเทิงอยู่ในกามคุณ ครั้นตถาคตแสดง "ธรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับกามคุณ" ประชาชนเหล่านั้นก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง...
......๒. ภิกษุทั้งหลาย ประชาชนทั้งหลาย "พอใจในการถือตัว" ยินดีในการถือตัว บันเทิงอยู่ในการถือตัว ครั้นตถาคตแสดง "ธรรมที่กำจัดความถือตัว" ประชาชนเหล่านั้นก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง...
...... ๓. ภิกษุทั้งหลาย ประชาชนทั้งหลาย "พอใจในความวุ่นวายไม่สงบ" ยินดีในความวุ่นวายไม่สงบ บันเทิงอยู่ความวุ่นวายไม่สงบ ครั้นตถาคตแสดง "ธรรมที่เป็นไปเพื่อความสงบ" ประชาชนเหล่านั้นก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง...
......๔. ภิกษุทั้งหลาย ประชาชนทั้งหลาย "ประกอบอยู่ด้วยอวิชชา" เป็นคนมืดบอด ถูกความมืดครอบงำเอาแล้ว ครั้นตถาคตแสดง "ธรรมที่กำจัดอวิชชา"ประชาชนนั้นก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง
ภิกษุทั้งหลาย " นี่คือของน่าอัศจรรย์ ที่ไม่เคยมี...ก็มีขึ้นมา เพราะการบังเกิดขึ้นของตถาคตผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ "
อํ.จตุกฺก. 21/128/180-181 ทุติยตถาคตอัจฉริยสูตร


ปฏิปทาเพื่อสิ้นอาสวะ ๔ แบบ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ
๑. ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา-ปฏิบัติลำบาก รู้ได้ช้า
๒. ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา-ปฏิบัติลำบาก รู้ได้เร็ว
๓. สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา-ปฏิบัติสบาย รู้ได้ช้า
๔. สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา-ปฏิบัติสบาย รู้ได้เร็ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล ฯ

ปฏิบัติลำบาก รู้ได้ช้า
...... ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุเป็นผู้มีปกติ พิจารณาเห็นความไม่งามในกาย มีสัญญาว่าปฏิกูลในอาหาร มีสัญญาในโลกทั้งปวงโดยเป็นของไม่น่ายินดี เป็นผู้มีปกติตามเห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง มรณสัญญาก็เป็นสิ่งที่เขาตั้งไว้ดีแล้วในภายใน
...... ภิกษุนั้น เข้าไปอาศัยธรรมเป็นกำลังของพระเสขะ ๕ ประการเหล่านี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ โอตัปปะพละ วิริยพละ ปัญญาพละ แต่อินทรีย์ ๕ ประการเหล่านี้ของเธอนั้น ปรากฏว่าอ่อน คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ “ เพราะเหตุที่อินทรีย์ห้าเหล่านี้ ยังอ่อน ภิกษุนั้นจึงบรรลุอนันตริยกิจ เพื่อความสิ้นอาสวะช้า ”
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าปฏิบัติลำบาก รู้ได้ช้า

ปฏิบัติลำบาก รู้ได้เร็ว
......ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุเป็นผู้มีปกติ พิจารณาเห็นความไม่งามในกาย มีสัญญาว่าปฏิกูลในอาหาร มีสัญญาในโลกทั้งปวงโดยเป็นของไม่น่ายินดี เป็นผู้มีปกติตามเห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง มรณสัญญาก็เป็นสิ่งที่เขาตั้งไว้ดีแล้วในภายใน
...... ภิกษุนั้น เข้าไปอาศัยธรรมเป็นกำลังของพระเสขะ ๕ ประการเหล่านี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ โอตัปปะพละ วิริยพละ ปัญญาพละ แต่อินทรีย์ ๕ ประการเหล่านี้ของเธอนั้น ปรากฏว่ามีประมาณยิ่ง(แก่กล้า) คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ “ เพราะเหตุที่อินทรีย์ห้าเหล่านี้ มีประมาณยิ่ง ภิกษุนั้นจึงบรรลุอนันตริยกิจ เพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว ”
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าปฏิบัติลำบาก รู้ได้เร็ว

ปฏิบัติสบาย รู้ได้ช้า
......ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ “ภิกษุ เพราะสงัดจากกามและสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงบรรลุปฐมฌาน…ทุติยฌาน…ตติยฌาน…จตุตถฌาน…แล้วแลอยู่ “
......ภิกษุนั้น เข้าไปอาศัยธรรมเป็นกำลังของพระเสขะ ๕ ประการเหล่านี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ โอตัปปะพละ วิริยพละ ปัญญาพละ แต่อินทรีย์ ๕ ประการเหล่านี้ของเธอนั้น ปรากฏว่าอ่อน คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ “ เพราะเหตุที่อินทรีย์ห้าเหล่านี้ ยังอ่อน ภิกษุนั้นจึงบรรลุอนันตริยกิจ เพื่อความสิ้นอาสวะช้า ” ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าปฏิบัติสบาย รู้ได้ช้า

ปฏิบัติสบาย รู้ได้เร็ว
......ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ “ภิกษุ เพราะสงัดจากกามและสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงบรรลุปฐมฌาน…ทุติยฌาน…ตติยฌาน…จตุตถฌาน…แล้วแลอยู่ “
......ภิกษุนั้น เข้าไปอาศัยธรรมเป็นกำลังของพระเสขะ ๕ ประการเหล่านี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ โอตัปปะพละ วิริยพละ ปัญญาพละ แต่อินทรีย์ ๕ ประการเหล่านี้ของเธอนั้น ปรากฏว่ามีประมาณยิ่ง(แก่กล้า) คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ “ เพราะเหตุที่อินทรีย์ห้าเหล่านี้ มีประมาณยิ่ง ภิกษุนั้นจึงบรรลุอนันตริยกิจ เพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว ”
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าปฏิบัติสบาย รู้ได้เร็ว
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้แล ปฏิปทา ๔ ประการ
อํ.จตุกฺก. 21/163/210-211 อสุภสูตร


พุทธพจน์

จิตดิ้นรน กลับกลอก ป้องกันยาก ห้ามยาก
คนมีปัญญา สามารถดัดให้ตรงได้ เหมือนช่วงดัดลูกศร

จิตควบคุมยาก เปลี่ยนแปลงเร็ว ใฝ่ในอารมณ์ตามที่ใคร่
ฝึกจิตเช่นนั้นได้เป็นการดี เพราะจิตที่ฝึกได้แล้ว นำสุขมาให้

..........................................


บริบทของ การเจริญอินทรีย์๕ หนทางสีทองแห่งการตื่นรู้ คงจบลงเพียงเท่านี้
......บางท่านเพิ่งก้าวเดิน บางท่านได้เดินไปแล้วหลายก้าวบนหนทางธรรมสายนี้
......เมื่อหากเปรียบความสมบูรณ์พร้อมพรั่งของอินทรีย์ ๕ ดั่งที่กล่าวมาบนหนทางสายนี้มี หนึ่งร้อยก้าว
......หากท่านได้ก้าวเดินไปแล้วสองก้าว นั่นก็จะยังเหลืออีกเก้าสิบแปดก้าวก่อนจะถึงจุดหมาย ขอให้ท่านก้าวเดินต่อไปอย่างมุ่งมั่น แน่วแน่และตั้งอกตั้งใจ วันใดวันนึงก็จะพบกับจุดหมายปลายทางของท่านเองในที่สุด
......ความเชื่อมั่นศรัทธาต่อวิถีทางเจริญอินทรีย์ ความรักเมตตาที่ก่อเกิดจากภายในใจท่านเองและเผื่อแผ่ไปยังผู้อื่น จะเกิดสันติสุขในใจ ทำให้ท่านก้าวไปถึงยังจุดหมายปลายทาง

........................................

dhammachak social network | facebook

เนื้อหาที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม สามารถศึกษาอ่านได้ที่ :

- "สิ่ง" สารัตถะแห่งชีวิต
- สู่เส้นทางภายในด้วยสมาธิภาวนา



Create Date : 20 ธันวาคม 2553
Last Update : 26 กรกฎาคม 2554 22:41:46 น. 0 comments
Counter : 894 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

nataraja
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add nataraja's blog to your web]