Group Blog
 
<<
มีนาคม 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
19 มีนาคม 2549
 
All Blogs
 
น่าเสียดาย

น่าเสียดายนะครับ ถ้าเวบไซท์ดี ๆ จะต้องปิดตัวลง
เพราะสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว เอามาจากไทยรัฐช่วยเผย
แพร่ให้ทราบทั่ว ๆ กัน...

//www.thairath.co.th/thairath1/2549/itdigest/itdigest/mar/17/itdigest.php

วิบากกรรมของ วิชาการ.คอม: เมื่อเว็บไซต์ดีๆถูกปล่อยเกาะ

ท่านผู้อ่านรู้จักเว็บไซต์ วิชาการ.คอม (//www.vcharkarn.com) หรือไม่ ?

เว็บไซต์นี้เป็นเว็บด้านวิชาการ และการศึกษาของประเทศไทย ที่เกิดจากการรวมตัว และช่วยกันทำของนักเรียนทุนรัฐบาล 3 คนได้แก่ ดร.อรรถกฤต ฉัตรภูติ ผศ.ดร.บุญญฤทธิ์ อุยยานนวาระ และ ดร.พิเชษฐ กิจธารา หรือ (อาจารย์ เปี้ยว อาจารย์ อ๊อฟ และ อาจารย์ จ้อ) เมื่อ 5 ปีก่อน ที่ขณะนั้นกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอก อยู่ที่ประเทศอังกฤษ ที่มีความคิดว่า “อยากทำอะไร ที่จะคืนบุญคุณ กลับสู่แผ่นดินเกิด” สุดท้ายก็มาลงตัวว่าจะส่งความรู้กลับบ้านดีกว่า เพราะน่าจะไม่เหลือบ่ากว่าแรง และทำได้เป็นรูปธรรมที่สุด

การตอบแทนแผ่นดินเกิดครั้งนั้น จึงออกมาในรูปแบบของการทำเว็บไซต์ด้านวิชาการ และต้องเป็นเว็บไซต์ภาษาไทย ดังนั้น เว็บไซต์ด้านคลังข้อสอบก็ผุดขึ้นมาเป็นอันดับแรก ของความคิดแบบเด็กๆ ของกลุ่มนักเรียนทุนฯ โดยนอกจากจะมีเว็บไซต์แล้ว ก็น่าจะมีเว็บบอร์ดด้วย เพื่อที่จะให้เพื่อนๆ นักเรียนที่มีความรู้ เก็บเกี่ยวความรู้กลับไปให้เป็นประโยชน์แก่เมืองไทย ดังนั้น ความคิดเรื่องแมกกาซีนออนไลน์ ก็ตามออกมา

วิชาการ ดอทคอม เริ่มขึ้นจากการทดลองทำเป็นงานอดเรกก่อน เพราะทั้ง 3 คน ไม่มีความรู้ด้านการทำเว็บมาก่อน จึงทดลองใช้ เนื้อที่บนเว็บไซต์ฟรี ที่ Geocities และ Tripod ได้แก่ //www.geocities.com /Athens/Marble/1597/firstPage.html และ //vcharkarn.tripod.com/ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้จัดทำกลับสะกดคำว่า “วิชาการ” ด้วยภาษาอังกฤษว่า “VCharkarn” เมื่อทำไปได้สักระยะก็เริ่มจะรำคาญแบนเนอร์โฆษณา โดยเจ้าของเนื้อที่ฟรีเหล่านี้ และข้อจำกัดอื่นๆ อาทิ เขียนโปรแกรมได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ฐานข้อมูลก็โดนจำกัดเนื้อที่ การส่งข้อมูลห้ามเกินเท่านี้ต่อวัน เป็นต้น ทั้ง 3 คนก็เลยตัดสินใจลงขันกัน ซื้อเนื้อที่ทำเว็บไซต์เอง ตอนประมาณเดือน มี.ค. 2543 จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มแบบเป็นทางการของ วิชาการ.คอม

จากประเด็นในกระทู้ของ ดร.บุญญฤทธิ์ อุยยานนวาระ หรือ อาจารย์อ๊อฟ 1 ในผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ วิชาการดอทคอม //www.vcharkarn.com /include/vcafe/showkratoo.php?Cid=18&Pid=44623 ระบุว่า ปี 2549 เป็นปีแรกที่ วิชาการ.คอม เหลือผู้สนับสนุนเพียง 1 ราย คือ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. แม้ว่างบประมาณดำเนินการของ สสวท เอง ก็ถูกลดลงไปเช่นกัน แต่ สสวท. ก็ยังเห็นความสำคัญของการสร้างคอนเทนท์ ออนไลน์ โดยให้การสนับสนุน วิชาการ.คอม มาเป็นปีที่ 6 ติดต่อกันแล้ว ส่วนผู้สนับสนุนอีกราย ปีนี้งบประมาณการดำเนินการของตัวเอง ก็คงลดน้อยถอยลงไป จนไม่มีเงินเหลือพอที่จะสามารถสนับสนุน วิชาการ.คอม ได้

อาจารย์อ๊อฟ อธิบายสถานการณ์ทางการเงินขณะนี้ว่า เงินสนับสนุนจาก สสวท. ทุกปี ปีละ 200,000 บาท แม้จะไม่มาก ไม่ถึง 20,000 บาทต่อเดือน จ้างพนักงานไม่ได้ซักคน แต่คงจะพอยืดชีวิต วิชาการ.คอม ไปได้อีกปี เพราะเกือบจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้านเทคนิค ค่าเช่าเซิร์ฟเวอร์ และค่าเช่าแบนด์วิธ หรือ ค่าเชื่อมสัญญาณอินเทอร์เน็ตกว่าปีละ 140,000 บาทไปเกือบหมด ดังนั้น คงจะไม่มีเงินเหลือ มาจ้างนักศึกษาช่วยงานเหมือนปีก่อนๆ

“การไม่มีนักศึกษาช่วยงาน เป็นลางไม่ดี และแปลว่า การทำความสะอาดกระทู้ การกรองคำหยาบ การลบโฆษณา ก็อาจมีประสิทธิภาพที่ด้อยลง อาจมีคำไม่ดี หลุดลอยนวลอยู่บนกระทู้ ให้ได้อ่านกันนานกว่าเก่า และคงต้องอาศัยแรงของทีมงานอาสาสมัคร และ “vTeam” ทุกท่านให้ช่วยเป็นหูเป็นตามากขึ้น ส่วนเนื้อหาสาระที่มีบนเว็บก็ได้รับความอนุเคราะห์ มาทั้งสิ้นไม่ต้องจ่ายเงินสักบาท โดยหากต้องจ่ายจริงต้องจ่ายคนละ 20,000 บาทต่อเดือน แล้วมีนักเขียน 40 คนจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย” ผู้ก่อตั้ง วิชาการ ดอทคอม กล่าว

ดร.บุญญฤทธิ์ กล่าวเสริมว่า นโยบายของ วิชาการ.คอม ไม่มีความประสงค์ที่จะรับโฆษณา จึงตั้งกำแพงราคาไว้สูงมาก เพราะกลัวว่าหากโฆษณากลายเป็นแรงขับหลักของเว็บ นั่นหมายถึงการปั่นยอดคลิก และการเพิ่มสิ่งเย้ายวน หลอกล่อ เหมือนเว็บอื่นๆที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่ในปี 2549 อาจจะต้องมีการรับโฆษณาเพื่อให้มีรายได้มาสนับสนุนการแปลข่าววิชาการ และการเขียนบทความดีๆ ที่ ขณะนี้ จ้างราคาถูกแกมขอร้อง และบังคับนักศึกษาปริญญาโท และนักศึกษาปริญญาเอก ช่วยกันแปลตรงจากแหล่งข่าว เพื่อเป็นต้นน้ำด้านข่าววิชาการของไทย และเขียนบทความดีๆ ให้เด็กไทยทั่วประเทศได้อ่านข่าววิชาการ และเนื้อหาดีๆ ระดับโลกกันฟรีๆ โดยไม่มีอุปสรรคด้านภาษา และ ค่าหนังสือมากั้น

อาจารย์อ๊อฟ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยอดผู้เข้าชมเฉลี่ยประมาณ 14,000 คนต่อวัน วัดจาก Unique IP โดย //www.TrueHits.net ที่เป็นยอดผู้เข้าชมเว็บด้านการศึกษาที่มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย และยอดเข้าชมสะสมแล้วรวมกว่า 27,600,000 ครั้ง ภายในเวลา 5 ปี ถือว่าสูงที่สุดในด้านเว็บส่งเสริมการเรียนรู้ ของประเทศไทยเช่นกัน โดยไม่ต้องใช้ภาพนู้ด โป๊เปลือย หรือเนื้อหาล่อแหลม เข้ามาล่อยอดคลิก แต่มันคงอาจไม่เพียงพอ ที่ทำให้ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของเว็บไซต์นี้

“พวกเราก็เริ่มจะน้อยใจ และสงสัยว่าทำไมประเทศนี้ คนอยากทำดี มักต้องลำบากและดิ้นรน ส่วนคนทำไม่ค่อยดี ถึงได้สบาย นอนกลิ้งไปกลิ้งมาบนกองเงิน อาจจะเป็นเพราะประเทศไทยยากจนลง ทำให้เมืองไทยไม่ค่อยมีเงินมาสนับสนุนการศึกษากันมากนัก หรือเพราะเมืองไทยหมายถึงแค่กรุงเทพ ที่จำต้องผุดสารพัดเมกะโปรเจ็กต์ รถไฟฟ้าหลากสี ทั้งสีส้ม สีแดง สีม่วง และสีน้ำเงิน อีกทั้งรถด่วน BTS, MRT สารพัดสาย เพื่อแก้ปัญหารถติดของคนกรุงก่อนเป็นเรื่องหลัก” ผู้ก่อตั้ง วิชาการ ดอทคอม กล่าวแบบท้อใจ

ดร.บุญญฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า ที่กล่าวมาเหล่านี้อาจเป็นเหตุผล ที่ทำให้หน่วยงานต่างๆ ไม่มีเงินหรืองบประมาณมาให้การสนับสนุน แม้จะซัก 200,000 บาทต่อปี ที่จะบริจาคให้เว็บไซต์ และทีมงานที่พร้อมบริจาคเวลา ที่จะทำเนื้อหาการเพื่อการเรียนรู้ดีๆ เพื่อคนไทยทั้งประเทศ เราเคยทำจดหมาย ขอสนับสนุนงบประมาณไปที่หน่วยงานต่างๆ หลายหน่วยงาน แต่ได้รับการปฏิเสธการให้การสนับสนุน ทั้งนี้ หากว่าท่านผู้มีจิตศรัทธาท่านใดพอมองเห็นช่องทางใดที่พอจะเป็นไปได้ ขอรบกวนช่วยชี้แนะแก่ทีมงานด้วย

ด้าน นายปรเมศวร์ มินสิริ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า เรื่องดังกล่าวพอจะมีทางช่วยเหลือได้ ทางสมาคมฯ จะประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อพยายามหาช่องทางรับการสนับสนุน โดยเฉพาะการที่เว็บไซต์มีนโยบายไม่รับโฆษณา ทางออกที่เป็นไปได้ คือ การไปคุยกับทางราชการ อาทิ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กระทรวงศึกษาธิการ หรือ กระทรวงวัฒนธรรม แล้วรับงานทางวิชาการมาเขียน และเปลี่ยนเป็นรายได้

“คงต้องให้กำลังใจกับทีมงานวิชาการ ดอทคอม ที่พยายามสร้างเว็บไซต์จนติด 100 อันดับของทรูฮิตส์ เนื่องจากการทำเว็บไซต์เฉพาะด้านไม่ใช่เรื่องง่าย หากเว็บไซต์ดีๆ แบบนี้ต้องหายไปก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย งานวิชาการเหล่านี้ ควรถูกโปรโมทให้แพร่หลายมากขึ้น ทางออกเวลานี้ คือ ให้ทางวิชาการไปหาสปอนเซอร์เอง คิดว่าเป็นเรื่องยาก และลำบากแน่เพราะบริษัทฯ เหล่านี้มักถามเรื่องการตลาด นักวิชาการคงตอบไม่เก่ง หรือจะให้ทางสมาคมฯ ช่วยหาให้ก็ยินดี” นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าว

ทั้งหมดนี้ คือ ปรากฏการณ์หนึ่ง ที่เกิดขึ้นบนสังคมอินเทอร์เน็ตเมืองไทย และหากเว็บไซต์ดี มีสาระความรู้แบบวิชาการ ดอทคอม ต้องปิดตัวจริง เชื่อว่าจะต้องเกิดผลกระทบต่อแหล่งการเรียนรู้ของคนไทย

ขณะที่ รัฐบาลป่าวประกาศว่าจะผลักดันให้เมืองไทยเป็นสังคมแห่งองค์ความรู้ แต่คนเก่งๆ ดีๆ ที่ยอมเสียสละเพื่อสังคมไม่ได้รับการเหลียวแล ก็อย่าหวังที่จะมายกระดับการศึกษาเลย แหล่งดิจิตอล คอนเทนท์ดีๆ สักเว็บยังรักษาไม่ได้ แล้วจะให้เด็กนักเรียนเปิดอ่านอะไรบนอินเทอร์เน็ต?...

จุลดิส รัตนคำแปง
itdigest@thairath.co.th

เวบไซท์ของวิชาการ


Create Date : 19 มีนาคม 2549
Last Update : 19 มีนาคม 2549 11:50:04 น. 0 comments
Counter : 1165 Pageviews.

naiberm
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ขอบคุณที่แวะมานะครับ

กลิ่นกาแฟ กับ ความหลากหลายของอารมณ์..
Friends' blogs
[Add naiberm's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.