ศรัทธามั่น....นิรันดร์
Group Blog
 
 
พฤษภาคม 2559
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
27 พฤษภาคม 2559
 
All Blogs
 
มงคลชีวิต บทที่ 31,32





มงคล ที่ ๓๑  บำเพ็ญตบะ

มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

ใจของเราคุ้นกับกิเลส

เหมือนเสือคุ้นป่า ปลาคุ้นน้ำ

แล้วกิเลสก็ย้อนกลับมาเผาใจเราจนเร่าร้อนกระวนกระวาย 

เราจึงต้องบำเพ็ญตบะเพื่อเผากิเลสให้มอดไหม้เสียแต่ต้นมือ

ก่อนที่กิเลสจะเผาใจเราจนวอดวาย

ทำไมจึงต้องบำเพ็ญตบะ ?

ผ่านบันไดชีวิตมาแล้ว ๓๐ ขั้น  เราจะพบว่านิสัยไม่ดีความประพฤติที่ไม่ดีของตัวเราที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นยังมีอยู่อีกมาก  บางอย่างที่เราได้พยายามแก้ไขปรับปรุงแล้วมันก็ดีขึ้นตามลำดับ เคยมักโกรธ เห็นแก่ตัว ขี้อิจฉา โอหัง ฯลฯ  ก็ดีขึ้นแล้ว  แต่อีกหลายๆ อย่างทั้งที่พยายามแก้ไขแล้ว แต่ก็ยังไม่หายอยู่ดี เช่น กามกำเริบ รักสวยรักงาม รักความสะดวกสบายจนเกินเหตุ ง่วงเหงา ซึมเซา ท้อถอย ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ ฯลฯ  เราจึงต้องหาวิธีที่รัดกุมยิ่งๆ ขึ้นไปมาจัดการแก้ไข  แต่สิ่งที่ควรจำไว้ก่อน คือ

            ๑.        เหตุแห่งความประพฤติไม่ดีทั้งหลาย ล้วนเกิดมาจากกิเลสที่ซุกซ่อนอยู่ในใจเรา

            ๒.        เหตุที่กำจัดกิเลสได้ยาก เป็นเพราะ

            ๒.๑     เรามองไม่เห็นตัวกิเลส อย่างมากก็เพียงแค่เห็นอาการของกิเลส  ทำให้ไม่รู้จักกิเลสดี  บางคราวถูกกิเลสโจมตีเอาแล้วก็ยังไม่รู้ตัว

            ๒.๒     ใจของเราคุ้นเคยกับกิเลสมาก เหมือนเสือคุ้นป่า ปลาคุ้นน้ำ ปลาพอถูกจับพ้นน้ำแล้วมันจะดิ้นรนสุดชีวิต เพื่อหาทางกลับลงน้ำให้ได้ คนส่วนใหญ่ก็เหมือนกัน รู้สึกว่าการมีกิเลสเป็นของธรรมดา รักกิเลส พวกขี้เมาติดเหล้าเสียแล้ว ใครไปดึงขวดเหล้าออก เดี๋ยวเถอะได้ตามฆ่ากันเลย “อุ๊ย! ไม่ได้ ไม่ได้  ไอ้เหล้าขวดนี้มันเป็นกล่องดวงใจของฉันเชียวนะ”  ไม่ยอมหรอก หรือบางคนใครทำอะไรขัดใจหน่อยก็โกรธ  พูดจาโผงผางไปเลยแล้วก็ภูมิใจ  “นี่... มันต้องให้รู้ซะบ้าง ไม่งั้นหนอยแน่ะ ไม่เกรงใจเราเลย” ภูมิใจในความมีกิเลสของตัวเอง เป็นเสียอย่างนี้

            ๒.๓     เรายังขาดวิธีที่เหมาะสมไปกำจัดกิเลส ตราบใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่บังเกิดขึ้น เราก็ยังไม่รู้วิธีกำจัดกิเลส  แม้อาจรู้ว่ากิเลสมี แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แก้ไม่ตก และอาจหาทางออกไม่เป็นเรื่อง เช่น บูชาไฟบ้าง    กราบไหว้อ้อนวอนเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์บ้าง

            ในมงคลนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนวิธีกำจัดกิเลสที่เหมาะสมและได้ผลเด็ดขาดเฉียบพลันให้กับเรา  โดยถือหลักว่า “หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง”

            เมื่อกิเลสมันเผาใจเราให้รุ่มร้อน เราก็ต้องเอาไฟไปเผากิเลสบ้าง แต่เป็นการเอาไฟภายในเผา วิธีการที่เอาไฟภายในเผากิเลสในตัวเองนี้เราเรียกว่า ตบะ

            ตบะ แปลว่า ทำให้ร้อน หมายความรวมตั้งแต่ การเผา ลน ย่าง ต้ม ปิ้ง อบ คั่ว ผิง หรืออะไรก็ได้ที่ทำให้ร้อน

            บำเพ็ญตบะ จึงหมายถึง การทำความเพียรเผาผลาญความชั่ว คือ              กิเลสทุกชนิดให้ร้อนตัวทนอยู่ไม่ได้ เกาะใจเราไม่ติด ต้องเผ่นหนีไป แล้วใจของเราก็จะผ่องใส หมดทุกข์

            การที่เราจะขับไล่สิ่งใด เราก็จะต้องทำทุกอย่างที่ฝืนความต้องการของสิ่งนั้น เหมือนการไล่คนออกจากบ้าน เขาอยากได้เงินเราก็ต้องไม่ให้ อยากกินก็ไม่ให้กิน อยากนอนก็ไม่ให้นอน คือต้องฝืนใจเขาจึงจะออก การไล่กิเลสออกจากใจก็เหมือนกัน  หลักปฏิบัติที่สำคัญ คือต้องฝืนความต้องการของกิเลส

มงคล ที่ 31 บำเพ็ญตบะ  มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

ธุดงควัตร ๑๓ ประการ 

        ในพระพุทธศาสนา มีข้อปฏิบัติที่พระภิกษุนิยมบำเพ็ญกัน เป็นการฝืนความต้องการของกิเลสเพื่อไล่กิเลสออกจากใจ มีด้วยกัน ๑๓ ประการ เรียกว่าธุดงควัตรพระภิกษุที่บำเพ็ญธุดงควัตรเราเรียกท่านว่าพระธุดงค์แต่ธุดงควัตรนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะพระภิกษุแม้ฆราวาสก็ปฏิบัติได้เป็นบางข้อ

            ธุดงควัตร ๑๓ ประการ  แบ่งเป็น ๔ หมวด  ให้เรียกปฏิบัติได้ตามกำลังศรัทธา คือ 

            หมวด ที่ ๑  เกี่ยวกับเครื่องแต่งตัว

            ๑.        ใช้แต่ผ้าบังสุกุลที่ชักมาได้เท่านั้น แม้จะได้มาทางอื่น เช่นมีคนถวายให้กับมือก็ไม่ใช้

            ๒.        ใช้เฉพาะผ้าไตรจีวรเพียง ๓ ผืนเท่านั้น  คือมีสบง จีวร สังฆาฏิ อย่างละผืน  ใช้ผ้าอื่นๆ อีกนอกจาก ๓ ผืนนี้ไม่ได้

            เราลองคิดดู ทำถึงขั้นนี้แล้ว กิเลสมันจะร้อนตัวสักแค่ไหน คนนิสัยขี้โอ่ อวดมั่งอวดมี รักสวยรักงามพิถีพิถันกับเครื่องแต่งตัวจนเกินเหตุ ชนิดที่เสื้อผ้าเป็นตู้ๆ ก็ยังไม่พอใจนั้น  เจอธุดงค์ ๒ ข้อนี้เข้าก็สะอึกแล้ว

หมวด ที่ ๒  เกี่ยวกับการกิน

            ๑.        ฉันแต่อาหารที่บิณฑบาตมาได้เท่านั้น ใครจะใส่ปิ่นโตใส่หม้อแกงมาถวายที่วัดก็ไม่ฉัน  บิณฑบาตมาได้เท่าไรก็ฉันเท่านั้น

            ๒.        เดินบิณฑบาตไปตามลำดับตรอกหรือหมู่บ้านในแนวที่กำหนดไว้เท่านั้น  ไม่ใช่มานึกๆ เอาว่า ไปบ้านนั้นจะได้มาก บ้านนี้จะได้น้อย เลยเลือกทางเดินบิณฑบาตเป็นบางบ้านตามใจชอบ อย่างนั้นไม่ได้

            ๓.        ฉันอาสนะเดียว คือถ้าฉันเสร็จ ลุกจากอาสนะแล้ว ก็ไม่รับประท่าอาหารอีก ไม่ฉันอะไรอีก ซึ่งก็เท่ากับฉันวันละมื้อเดียว เรียกกันว่า “ฉันเอกา”

            ๔.        ฉันสำรวม คือฉันอาหารในบาตร ไม่ใช้ภาชนะอื่น เอาอาหารทั้งหมดทั้งคาวทั้งหวานใส่ลงรวมกันในบาตรแล้วฉัน

            ๕.        เมื่อลงมือฉันแล้วไม่รับประเคนอีก ใครจะนำอาหารมาถวายให้อีกก็ไม่รับ

            ทั้ง ๕ ข้อนี้เป็นตบะเกี่ยวกับการกิน ใช้แก้นิสัยตามใจปากตามใจท้อง ไม่ต้องพูดถึงว่าจะลักเขากิน โกงเขากิน แม้แต่ของที่ได้มาดีๆ นี่แหละ ก็ตัดความฟุ้งเฟ้อลง พวกนิสัยกินจุบกินจิบ จะกินนั่นจะกินนี่ พิรี้พิไรไม่รู้จักกระเป๋าของตนเอง ตลอดจนกิเลสประเภทที่ยุใจเราให้ทำผิดเพราะเห็นแก่ปากแก่ท้อง พอเจอธุดงค์ ๕ ข้อนี้เข้าก็งง

หมวด ที่ ๓  เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย

            ๑.        อยู่ในป่านอกละแวกบ้านเท่านั้น  ไม่มาอาศัยอยู่ตามแหล่งชุมชน

            ๒.        อยู่ตามร่มไม้เท่านั้น ไม่อาศัยอยู่ในเรือน ไม่อาศัยนอนในกุฏิศาลาปักกลดนอนใต้ร่มไม้กันเลย

            ๓.        อยู่กลางแจ้งเท่านั้น ในกุฏิก็ไม่นอน ใต้ร่มไม้ก็ไม่นอนกันละ ปักกลดนอนกลางแจ้งกันเลย

          ๔.        อยู่ในป่าช้าเท่านั้น เข้าปักกลดนอนในป่าช้ากันเลย จะนั่งนอนบนหลังโลงศพ  หรือปักกลดนอนใต้ต้นไม้ในป่าช้าก็เอา

            ๕.        อยู่ในที่ที่คนอื่นจัดให้  ไม่เลือกที่อยู่ เขาจัดให้พักที่ไหนก็พักที่นั้น

            โปรดพินิจดู เรื่องโกงที่โกงทาง ดื้อแพ่งเพราะที่อยู่ ไม่ต้องพูดถึงกันเพียงแค่นิสัยติดที่ ชอบที่นอนนุ่มๆ บ้านหรูๆ เครื่องอำนวยความสะดวกพร้อม  กิเลสเรื่องที่อยู่อาศัยพอเจอธุดงค์ ๕ ข้อนี้เข้าก็เผ่นหนีกันกระเจิง

หมวด ที่ ๔  เกี่ยวกับการดัดนิสัยเกียจคร้าน

            ๑.        อยู่ในอิริยาบถ ๓  คือยืน เดิน นั่ง ไม่นอน ง่วงมากก็ยืน เดิน อย่างมากก็นั่งหลับแต่ไม่ยอมนอน ไม่ให้หลังแตะพื้น

            หมวดที่ ๔ นี้มีอยู่ข้อเดียว พวกที่ติดนิสัยขี้เกียจ เช้าเอน เพลนอน บ่ายพักผ่อน  ดึกๆ จำวัด  พอเจอธุดงค์ข้อนี้เข้าก็หาย  พวกใครมีนิสัยชอบผัดวันประกันพรุ่ง จะลองรักษาธุดงควัตรข้อนี้ดูบ้างก็ดีเหมือนกัน จะรักษาสัก ๑ วัน  ๓ วัน  ๕ วัน  ๗ วัน  ก็ตามกำลัง  สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมทำสมาธิ  ถ้าใจเริ่มสงบแล้วการอยู่ในอิริยาบถ ๓ นี้  จะทำให้สมาธิก้าวหน้าเร็วมาก และถ้าสมาธิดีก็จะไม่ง่วง มีพระภิกษุบางรูปรักษาธุดงควัตรข้อนี้ได้นาน ๓ เดือน ๗ เดือนก็มี บางรูปรักษาตลอดชีวิต  เช่น พระมหากัสสปะ  ท่านอยู่ในอิริยาบถ ๓   ยืน เดิน นั่ง ไม่นอนได้ตลอดชีวิตโดยไม่ง่วงเลย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรง ยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะทางอยู่ธุดงค์

            ทั้งหมดนี้รวมเป็นธุดงควัตร ๑๓ ข้อ  จัดเป็นตบะชั้นยอดในพระพุทธศาสนา ความมุ่งหมายเพื่อจะกำจัดกิเลสออกจากใจให้เด็ดขาด ในทางปฏิบัติใครจะเลือกทำข้อใดบ้างก็ได้ และจะทำในระยะใดก็ให้ตั้งใจอธิษฐานสมาทานธุดงค์เอา

การบำเพ็ญตบะในชีวิตประจำวัน

            พวกเราบางคนอาจสงสัยว่า  การบำเพ็ญธุดงควัตร สำหรับผู้ที่ยังเป็นฆราวาสอยู่ ยังต้องทำงานทางโลกก็ยากที่จะปฏิบัติไปได้ตลอด อย่างมากก็หาเวลาช่วงว่างๆ สุดสัปดาห์หรือพักร้อนไปปักกลดกัน  แล้วในชีวิตประจำวันมีวิธีบำเพ็ญตบะได้หรือไม่ คำตอบ ก็คือ “ได้”

            วิธีบำเพ็ญตบะในชีวิตประจำวัน เพื่อกันไม่ให้กิเลสฟุ้งขึ้นและเพื่อกำจัดกิเลสออกจากตัว  ทำได้ดังนี้ คือ

            ๑.        มีอินทรียสังวร

            ๒.        มีความเพียรในการปฏิบัติธรรม

อินทรียสังวร

            อินทรียสังวร การสำรวมอินทรีย คือการสำรวมระวังตนโดยอาศัยสติเป็นตัวกำกับ สำรวมอย่างไร ขอให้เรามาดูอย่างนี้

            คนเรานี้มีช่องทางติดต่อกับภายนอกอยู่ ๖ ทาง คือ

            ๑.        ตา       

            ๒.        หู

            ๓.        จมูก

            ๔.        ลิ้น

            ๕.        กาย

            ๖.        ใจ

            เหมือนกับบ้านก็มีประตูหน้าต่าง เป็นทางติดต่อกับภายนอก

คนเราก็เหมือนบ้านที่มีประตูหน้าต่างอยู่ ๖ ช่องทาง  สิ่งต่างๆ ภายนอกที่เราจะรับรู้ รับทราบก็มาจาก ๖ ทางนี้  จะเป็นสิ่งที่ดีทำให้ใจของเราสงบผ่องใสก็มาจาก ๖ ทางนี้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้ใจของเราฟุ้งซ่าน ขุ่นมัว  ก็มาจาก ๖ ทางนี้เหมือนกัน ช่องทางทั้ง ๖ นี้  นับว่ามีความสำคัญมาก  เราจึงควรมารู้จักถึงธรรมชาติของช่องทางทั้ง ๖ นี้

            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบช่องทางทั้ง ๖ ไว้ ดังนี้

            ๑.        ตาคนเรานี้เหมือนงู งูไม่ชอบที่เรียบๆ  แต่ชอบที่ที่ลึกลัยซับซ้อน ตาคนเราก็เหมือนกัน ไม่ชอบดูอะไรเรียบๆ  ชอบดูสิ่งที่มีลวดลายวิจิตรสวยงาม  ยิ่งสิ่งที่เขาปกปิดไว้ละก็ยิ่งชอบดู แต่อะไรที่เปิดเผยออกแล้ว ไม่ลับแล้ว ความอยากดูกลับลดลง

            ๒.        หูคนเรานี้เหมือนจระเข้ คือชอบที่เย็นๆ อยากฟังคำพูดเย็นๆ ที่เขาชมตัว  หรือคำพูดเพราะๆ ที่เขาพูดกับเรา

            ๓.        จมูกคนเรานี้เหมือนนก คือชอบโผขึ้นไปในอากาศ พอได้กลิ่นอะไรหน่อยก็ตามดมทีเดียวว่ามาจากไหน

            ๔.        ลิ้นคนเรานี้เหมือนสุนัขบ้าน  คือชอบลิ้มรสอาหาร วันๆ ขอให้ได้กินของอร่อยๆ เถอะ  เที่ยวซอกแซกหาอาหารอร่อยๆ กินทั้งวัน ยิ่งเปิบพิสดารละก็ยิ่งชอบนัก

            ๕.        กายคนเรานี้เหมือนสุนัขจิ้งจอก คือชอบที่อุ่นๆ ที่นุ่มๆ ชอบซุก เดี๋ยวจะไปซุกตักคนโน้น  เดี๋ยวจะไปซุกตักคนนี้  ชอบอิงคนโน้น ชอบจับคนนี้

            ๖.        ใจคนเรานี้เหมือนลิง คือชอบซน คิดโน่น คิดนี่ ประเดี๋ยวก็ฟุ้งซ่านถึงเรื่องในอดีต ประเดี๋ยวก็สร้างวิมานในอากาศถึงเรื่องในอนาคต ไม่ยอมอยู่นิ่ง ไม่ยอมสงบ

            อินทรีย์สังวร  ที่ว่าสำรวมระวังตัว  ก็คือระวังช่องทางทั้ง ๖ นี้  เมื่อรู้ ถึงธรรมชาติของมันแล้วก็ต้องคอยระวัง ใช้สติเข้าช่วยกำกับ อะไรที่ไม่ควรดูก็อย่าไปดู อะไรที่ไม่ควรฟังก็อย่าไปฟัง อะไรที่ไม่ควรดมก็อย่าไปดม อะไรที่ไม่ควรลิ้มชิมรสก็อย่าไปชิม อะไรที่ไม่ควรสัมผัสก็อย่าไปสัมผัส อะไรที่ไม่ควรคิดก็อย่าไปคิด หรือถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไปเห็นสิ่งที่ไม่ควรดูเข้าแล้ว ก็ให้จบแค่เห็น ไม่คิดปรุงแต่งต่อว่า สวยจริงนะ หล่อจริงนะ อะไรทำนองนี้ ต้องไม่นึกถึงโดยนิมิต หมายถึง เห็นว่าสวยไปทั้งตัว เช่น “เออ คนนี้สวยจริงๆ” ต้องไม่นึกถึงโดยอนุพยัญชนะ หมายถึง เห็นว่าส่วนใดส่วนหนึ่งสวย เช่น “ตาสวยนะ คมปลาบเลย” หรือแขนสวย ขาสวย อะไรอย่างนี้

            อินทรีย์สังวรนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เราสู้กับกิเลสชนะหรือแพ้ก็อยู่ตรงนี้ ถ้าเรามีอินทรีย์สังวรดีแล้ว  โอกาสที่กิเลสจะรุกรานเราก็ยาก  คุณธรรมต่างๆ ที่เราตั้งใจรักษาไว้ก็จะสามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจ เหมือนบ้าน ถ้าเราใส่กุญแจดูแลประตูหน้าต่างอย่างดีแล้ว ถึงแม้ตามลิ้นชักตามตู้จะไม่ได้ใส่กุญแจก็ย่อมปลอดภัย โจรมาเอาไปไม่ได้ แต่ถ้าเราขาดการสำรวมอินทรีย์ ไปดูในสิ่งที่ไม่ควรดู ฟังในสิ่งไม่ควรฟัง ดมในสิ่งไม่ควรดม ลิ้มรสในสิ่งไม่ควรลิ้ม จับต้องสัมผัสในสิ่งที่ไม่ควรสัมผัส คิดในสิ่งที่ไม่ควรคิด แม้เราจะ มีความตั้งใจรักษาศีล  รักษาคุณธรรมต่างๆ ดีเพียงไร  ก็มีโอกาสพลาดได้มาก เหมือนบ้านที่ไม่ได้ปิดประตูหน้าต่าง แม้จะใส่กุญแจตู้ลิ้นชักดีเพียงไร ก็ย่อมไม่ปลอดภัย  โจรสามารถมาลักไปได้ง่าย

            วิธีที่จะทำให้อินทรียสังวรเกิดขึ้นนั้น ให้เราฝึกให้มีหิริโอตตัปปะ มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป โดยคำนึงถึงชาติตระกูลอายุวิชาความรู้  ครูอาจารย์ สำนักศึกษาของเรา และอื่นๆ ดังรายละเอียดในมงคลที่ ๑๙

            ท่านเปรียบเป็นลูกโซ่แห่งธรรมไว้ ดังนี้

            หิริโอตตัปปะ   ทำให้เกิด         อินทรียสังวร

            อินทรียสังวร    ทำให้เกิด         ศีล

            ศีล                   ทำให้เกิด         สมาธิ

            สมาธิ               ทำให้เกิด         ปัญญา

            ผู้มีอินทรียสังวรดี ศีลก็ย่อมบริสุทธิ์ ศีลบริสุทธิ์ สมาธิก็เกิดได้ง่าย  สมาธิตั้งมั่น ปัญญาก็เกิดขึ้น เป็นความสว่างภายในเห็นถึงสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง  เห็นถึงตัวกิเลสที่ซุกซ่อนอยู่ภายในและสามารถกำจัดไปให้หมดสิ้นได้

            เราทุกคนจึงควรฝึกให้มีอินทรียสังวรในตัวให้ได้

ความเพียรในการปฏิบัติธรรม

            คนเราส่วนใหญ่มักพอจะทราบอยู่ว่าอะไรดี อยากจะให้สิ่งที่เห็นว่าดีนั้นเกิดขึ้นกับตัว แต่ก็มักทำความดีนั้นไปได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง ทั้งนี้เพราะขาดความเพียร คนเราถ้าขาดความเพียรเสียแล้ว คุณธรรมทั้งหลายก็ไม่สามารถงอกเงยขึ้นมาได้เลย

“วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ

บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร”

            เราลองมาดูถึงเหตุที่ทำให้พระภิกษุเกียจคร้าน และเหตุที่ทำให้พระภิกษุปรารภความเพียร ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ บางทีอาจได้ข้อคิดนำมาใช้กับตัวของเราได้

เหตุแห่งความเกียจคร้านของภิกษุ

            ๑.        รู้ว่างานมีอยู่ แต่กลัวว่าทำแล้วจะเหนื่อย จึงนอนเสียก่อน คิดว่าเอาแรงไว้ทำงาน ไม่ปรารภความเพียรเพื่อให้บรรลุธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ

            ๒.        งานได้ทำเสร็จแล้ว คิดว่าทำงานมาแล้วเหนื่อยนักจึงนอน ไม่ปรารภความเพียรฯ

            ๓.        รู้ว่าทางที่จะต้องไปมีอยู่ แต่คิดว่าเมื่อเดินทางจะเหนื่อย จึงนอนเสียก่อนคิดว่าเอาแรงไว้เดินทาง  ไม่ปรารภความเพียรฯ

            ๔.        ได้เดินทางแล้ว คิดว่าเหนื่อยนัก จึงนอน ไม่ปรารภความเพียรฯ

            ๕.        บิณฑบาตไปไม่ได้อาหารมากตามความต้องการ คิดว่าได้อาหารน้อยไม่มีเรี่ยวแรง  ถึงทำความเพียรคงไม่ได้ดี อย่ากระนั้นเลยนอนดีกว่า จึงนอน ไม่ปรารภความเพียรฯ

            ๖. บิณฑบาตได้อาหารมามาก คิดว่าตัวก็ฉันจนอิ่ม เนื้อตัวหนัก ไม่ควรแก่การงาน อย่ากระนั้นเลยนอนดีกว่า จึงนอน ไม่ปรารภความเพียรฯ

            ๗.   เจ็บป่วยเล็กน้อย ก็คิดว่าพอมีเหตุจะอ้างได้แล้วว่า กลัวโรคจะกำเริบ จึงนอน ไม่ปรารภความเพียรฯ

            ๘.   หายป่วยแล้ว ก็คิดว่าเพิ่งหายป่วย ตัวเรานี้กำลังยังไม่ดี เดี๋ยวโรคจะกลับ จึงนอน ไม่ปรารภความเพียร

เหตุแห่งความเพียรของภิกษุ

            ๑.        รู้ว่างานรออยู่ จึงคิดว่า เวลาทำงานจะทำสมาธิทำความเพียรก็ไม่สะดวก  ตอนนี้ยังพอมีเวลา  จึงรีบปรารภความเพียรเพื่อเข้าถึงคุณวิเศษที่ตนยังไม่เข้าถึง  เพื่อบรรลุธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ  เพื่อทำให้แจ้งธรรมซึ่งตนยังไม่ได้ทำให้แจ้ง

           ๒.        ทำงานเสร็จแล้ว จึงคิดว่าเมื่อตอนขณะทำงานการทำสมาธิก็ทำได้ไม่เต็มที่  ตอนนี้เสร็จงาน ว่างแล้วจึงรีบปรารภความเพียรฯ

            ๓.        รู้ว่าทางที่จะต้องไปมีอยู่  จึงคิดว่าเวลาเดินทาง จะทำสมาธิก็ไม่สะดวก  ตอนนี้ยังไม่ได้เดินทาง  ต้องรีบเอาเวลาไปปรารภความเพียรฯ

         ๔.        เดินทางเสร็จแล้ว ก็คิดว่า เมื่อตอนเดินทางจะทำความเพียรก็ไม่สะดวกไม่เต็มที่  ตอนนี้เดินทางเสร็จแล้ว  ต้องรีบปรารภความเพียรฯ

        ๕.        บิณฑบาตได้อาหารมาน้อย ก็คิดว่า วันนี้ฉันน้อย เนื้อตัวกำลังเบาสบายเหมาะแก่การงานอย่ากระนั้นเลยเราจะต้องรีบปรารภความเพียรฯ

            ๖.        บิณฑบาตได้อาหารมามาก ก็คิดว่า ตอนนี้เราฉันอิ่มแล้ว กำลังมีเรี่ยวแรง  อย่ากระนั้นเลย  เราต้องรีบปรารภความเพียรฯ

            ๗.        เจ็บป่วยเล็กน้อย ก็คิดว่า ต่อไปอาจป่วยหนักกว่านี้ก็ได้ ต้องรีบฉวยโอกาสที่ยังป่วยน้อยอยู่นี้รีบปรารภความเพียรฯ

            ๘.        เพิ่งหายป่วย ก็คิดว่า เราเพิ่งหายป่วย โอกาสที่จะกลับไปป่วยอีกก็มีอยู่ ต้องรีบฉวยโอกาสที่หายป่วยแล้วนี้ทำความเพียร จึงรีบปรารภความเพียรฯ

            พวกเราลองเอาหลักเหล่านี้มาเปรียบดูกับตัวเองก็แล้วกันว่า ตัวเราจัดอยู่ในประเภทไหน เกียจคร้านหรือขยัน แล้วจะปล่อยตัวเหลวไหลอย่างนั้นต่อไป หรือจะปรับปรุงให้ดีขึ้น

            “แม้เลือดเนื้อในกายของเราทั้งหมด จักแห้งเหือดหายไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที หากยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ที่พึงบรรลุด้วยเรี่ยวแรง ด้วยความเพียร ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว เราจะไม่หยุดความเพียร”

(ปณิธานในวันตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)

อานิสงส์การบำเพ็ญตบะ

            ๑.        ทำให้เลิกเป็นคนเอาแต่ใจตัวได้ในเร็ววัน

            ๒.        ทำให้คุณธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นในตัว

            ๓.        ทำให้มงคลข้อต้นๆ ทั้งหมดเกิดขึ้นกับเรา

            ๔.        ทำให้เข้าถึงนิพพานได้เร็ว

“ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา

ความอดทนอย่างแรงกล้า เป็นตบะอย่างยิ่ง”




มงคล ที่ ๓๒  ประพฤติพรหมจรรย์

มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

ชาวสวนชาวไร่ หลังจากถางป่าเผาหญ้าแล้ว

ต้องรีบปลูกพืชผักผลไม้ที่ต้องการลงไป 

ก่อนที่หญ้าจะกลับระบาดขึ้นใหม่ฉันใด

คนเราเมื่อบำเพ็ญตบะ ทำความเพียรเผากิเลสจนเบาบางลงแล้ว

ก็ต้องรีบปลูกฝังคุณธรรมต่างๆ ลงในใจ 

ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อยกระดับจิตให้สูงขึ้น 

ก่อนที่กิเลสจะฟูกลับขึ้นใหม่อีกฉันนั้น

ประพฤติพรหมจรรย์ คือ อะไร ?

            การประพฤติพรหมจรรย์ แปลว่า การประพฤติตนอย่างพระพรหม หรือความประพฤติอันประเสริฐ หมายถึง การประพฤติตามคุณธรรมต่างๆ ทั้งหมดในพระพุทธศาสนาให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น  เพื่อป้องกันไม่ให้กิเลสฟูกลับขึ้นมาอีกจนกระทั่งหมดกิเลส  ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ตามภูมิชั้นของจิต

ภูมิชั้นของจิต

            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า จิตของคนเราอาจแบ่งภูมิชั้นได้เป็น ๔ ระดับ  ตามการฝึกฝนตนเอง คือ

           ๑.        กามาวจรภูมิ เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามารมณ์ ยังยุ่งเกี่ยวกับกามคุณอยู่  ได้แก่ ภูมิจิตของคนสามัญทั่วไป

           ๒.        รูปาวจรภูมิ เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูปารมณ์ มีความสุขความพอใจอยู่ในอารมณ์ของรูปฌาน ได้แก่ ภูมิจิตของผู้ที่ฝึกสมาธิมามากจนกระทั่งได้รูปฌาน เมื่อมีชีวิตอยู่ก็ไม่สนใจกามารมณ์ อิ่มเอิบในพรหมวิหารธรรม ซึ่งเป็นสุขประณีตกว่ากามารมณ์ เป็นเหมือนพระพรหมบนดิน ละจากโลกนี้ไปก็ จะไปเกิดเป็นรูปพรหม

       ๓.        อรูปาวจรภูมิ เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูปารมณ์ มีความสุขอยู่ในอารมณ์ของอรูปฌาน ได้แก่ ภูมิจิตของผู้ที่ทำสมาธิจนกระทั่งได้อรูปฌานมีความสุขที่ประณีตกว่าอารมณ์ของรูปฌานอีก เมื่อละจากโลกนี้ไปก็จะไปเกิดเป็นอรูปพรหม

            ๔.        โลกุตตรภูมิ เป็นชั้นที่พ้นโลกแล้ว ได้แก่ ภูมิจิตของอริยบุคคล  มีความสุขอันละเอียด  ประณีต ลึกซึ้ง

            ทั้ง ๔ ภูมินี้  รวมเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ

            โลกียภูมิ ได้แก่             ๑.        กามาวจรภูมิ

                                                ๒.        รูปาวจรภูมิ

                                                ๓.        อรูปาวจรภูมิ

            โลกุตตรภูมิ ได้แก่       ๔.         โลกุตตรภูมิ

            ในชั้นโลกียภูมินั้น มีสุขมีทุกข์คละเคล้ากันไป และมีการยักย้ายถ่ายเทขึ้นลงได้ ผู้ที่อยู่ในอรูปาวจรภูมิถ้าไม่ตั้งใจปฏิบัติธรรม ประมาท อาจตกลงมาอยู่ในกามาวจรภูมิก็ได้ ผู้อยู่ในกามาวจรภูมิ ถ้าตั้งใจทำสมาธิอาจเลื่อนไปอยู่ รูปาวจรภูมิหรืออรูปาวจรภูมิได้  เลื่อนไปเลื่อนมาได้ตามบุญกุศลและตามผลของการปฏิบัติธรรมของตน

            และในชั้นโลกียภูมินี้ ถึงจะมีความสุขก็สุขอย่างโลกีย์ ยังมีทุกข์ระคน อยู่ เหมือนอย่างที่เราเจอกัน มีลูกมีครอบครัวก็คิดว่าจะสุข พอมีจริงก็มีเรื่องกลุ้มใจให้ทุกข์จนได้ เหมือนในเวลาหน้าร้อนก็คิดว่าหน้าฝนจะสุข พอถึงหน้าฝนก็หวังว่าหน้าหนาวจะสบาย เลยไม่ทราบว่าสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน

พระท่านเปรียบความสุขทางโลกียภูมินี้ว่าเหมือนพยับแดด เราคงเคยเจอกัน  ในหน้าร้อนมองไปบนถนนไกลๆ จะเห็นพยับแดดระยิบระยับอยู่ในอากาศเต็มไปหมด หรือเห็นเหมือนมีน้ำอยู่บนผิวถนน แต่พอเข้าใกล้ไปดูกลับไม่เห็นมีอะไร สุขทางโลกีย์ก็เหมือนกัน  หวังไว้แต่ว่าจะเจอสุข  แต่พอเจอเข้าจริงกลับกลายเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป

            ด้วยเหตุนี้จิตของคนที่ตกอยู่ในโลกียภูมิ ทางพระพุทธศาสนาท่านจึงใช้คำว่า สังสารจิต แปลว่า จิตวิ่งวุ่น  วิ่งสับสนวนไปเวียนมา  จะวิ่งไปไหนล่ะ ก็วิ่งตะครุบสุขนะสิ แต่สุขโลกีย์มันเป็นสุขกลับกลอกหลอกหลอน จิตก็เลยกลับกลอกไปด้วย ประการสำคัญคือ สุขโลกีย์มันหนีได้ พอเราจะทันมันก็หนี เมื่อมันหนีเราก็ตาม  แล้วก็ตามไม่ทันสักที

            ขอให้ลองสังเกตดูเถอะ สุขโลกีย์ที่เป็นยอดสุขนั้นไม่มี เป็นร้อยตรีก็คิดว่าเป็นร้อยโทคงจะสุข พอเป็นร้อยโทก็คิดว่าเป็นร้อยเอกคงจะสุข ไล่ตามขั้นไป ร้อยเอกก็ว่าพันตรี พันตรีก็ว่าพันโท จนเป็นนายพลก็ยังคิดว่ามีสุขข้างหน้าที่ดีกว่าของตน

            หากวิ่งตามตะครุบสุขไปเรื่อย จะกี่วัน กี่เดือน กี่ปี กี่ชาติ วิ่งตามตะครุบไปได้สุขโลกีย์มานิดหน่อย แต่คว้าติดทุกข์มาทุกที หักกลบลบหนี้ดูแล้วทุกข์มากกว่าสุข และที่สำคัญ จิตที่วิ่งวุ่นสับสนมีโอกาสพลาดพลั้งได้ง่าย เหมือนคนวิ่งวุ่นสับสนนั่นแหละ มีหวังหกล้มตกหลุมตกบ่อเข้าจนได้ จิตก็เหมือนกัน   วิ่งไล่จับความสุขหัวซุกหัวซุน คนที่ระวังไม่ดีหกล้มเข้าคุกเข้าตะรางก็เยอะ ถลำลงนรกอเวจีก็มาก

            อุปมาความสุขในโลกียภูมิทั้ง ๓ ชั้น ได้ดังนี้

            กามาวจรภูมิ เป็นสุขชั้นต่ำ ยังยุ่งเกี่ยวกับกาม สุขเหมือนเด็กเล่นขี้เล่นดิน

            รูปาวจรภูมิ เป็นสุขที่สูงขึ้นมาหน่อย สุขเหมือนคนมีงานมีการที่ถูกใจทำเพลิดเพลินไป

            อรูปาวจรภูมิ เป็นสุขที่สูงขึ้นมาอีก สุขเหมือนพ่อ แม่ ครู อาจารย์      ที่เห็นลูกซึ่งตนเลี้ยงดูอบรมมา มีความเจริญก้าวหน้า หรือเห็นงานการที่ตนทำสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี  ชื่นชมผลงานของตน

            ศาสนาโดยทั่วไป อย่างสูงที่สุดก็สอนให้คนเราพัฒนาจิตได้ถึงขั้นอรูปารมณ์เท่านั้น  เช่น ศาสนาพราหมณ์ ก็สอนให้คนมุ่งเป็นพระพรหม ยังวนเวียนอยู่ในโลกียภูมิ ขึ้นๆ ลงๆ แต่พระพุทธศาสนาของเราสอนให้คนมุ่งหน้าสู่โลกุตตรภูมิ  เข้านิพพาน

มงคล ที่ 32 ประพฤติพรหมจรรย์  มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

ความมุ่งหมายของ

การประพฤติพรหมจรรย์

            ความมุ่งหมายสุดยอดของการประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา คือให้ตัดโลกียวิสัย  ตัดเยื่อใยทุกๆ อย่าง  เพื่อมุ่งหน้าสู่โลกุตตรภูมิ  และอย่างแรกที่ต้องทำก่อน  คือการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ เพื่อตัดกามารมณ์  แล้วจึง ตัดรูปารมณ์  อรูปารมณ์ไปตามลำดับ

            สำหรับพวกเราปุถุชนทั่วๆ ไป  สิ่งสำคัญที่เหนี่ยวรั้งเราไว้ไม่ให้ก้าวหน้า ในการพัฒนาจิต และทำให้กิเลสฟูกลับขึ้นได้ง่ายที่สุดก็คือ กามารมณ์ ถ้าใครตัดกามารมณ์ได้ ก็มีโอกาสก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมได้อย่างรวดเร็ว การประพฤติพรหมจรรย์ในมงคลข้อนี้  จึงมุ่งเน้นการตัดกามารมณ์เป็นหลัก

            เราลองมาดูถึงอุปมาโทษของกามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้

อุปมาโทษของกาม

            ๑.        กามเปรียบเหมือนท่อนกระดูกเปล่า ไม่มีเนื้อและเลือดติดอยู่ เมื่อสุนัขหิวมาแทะเข้า ยิ่งแทะยิ่งเหนื่อย ยิ่งหิว อร่อยก็ไม่เต็มอยาก ไม่เต็มอิ่ม พลาดท่าแทะพลาดไปถึงฟันหักได้ พวกเราก็เหมือนกันที่หลงว่า มีคู่รักแล้ว แต่งงานแล้วจะมีสุข พอมีเข้าจริงไม่เห็นจะสุขจริงสักราย ต้องมีเรื่องขัดใจให้ตะบึงตะบอนกัน ให้กลุ้มใจให้ห่วงกังวล ทั้งห่วง ทั้งหวง ทั้งหึง ไม่เว้นแต่ละวัน ที่หนักข้อถึงกับไปกระโดดน้ำตาย  หรือผูกคอตายเสียก็มากต่อมาก  พอจะมีสุขบ้างก็ประเดี๋ยวประด๋าว  พอให้มันๆ เค็มๆ เหมือนสุนัขแทะกระดูก

            ๒.        กามเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อที่แร้งหรือเหยี่ยวคาบบินมา แร้ง กา หรือเหยี่ยวตัวอื่นก็จะเข้ารุมจิกแย่งเอา คือไม่เป็นของสิทธิ์ขาดแก่ตัว ผู้อื่นแย่งชิงได้ คนทั้งหลายต่างก็ต้องการหมายปองเอา จึงอาจต้องเข่นฆ่ากันเป็นทุกข์แสนสาหัส เราลองสังเกตดูก็แล้วกัน ที่มีข่าวกันอยู่บ่อยๆ ทั้งฆ่ากัน ชิงรักหักสวาทน่ะ หรือรอบๆ ตัวมีบ้างไหม ที่กว่าจะได้แต่งงานกันก็ฝ่าดงมือ ฝ่าดงเท้าเสียแทบตาย ถูกตีหัวเสียก็หลายที พอแต่งแล้วก็ยังไม่แน่ เดี๋ยวใครมาแย่งไป อีกแล้ว  ยิ่งสวยเท่าไรยิ่งหล่อเท่าไร  ยิ่งอันตรายเท่านั้น

            ๓.        กามเปรียบเหมือนคนถือคบเพลิงที่ทำด้วยหญ้าลุกโพลงเดินทวนลมไป ไม่ช้าก็ต้องทิ้ง มิฉะนั้นก็โดนไหม้มือ ระหว่างเดินก็ถูกควันไฟรมหน้า ต้องทนทุกข์ทรมานย่ำแย่ คนเราที่ตกอยู่ในกามก็เหมือนกัน ต้องทนรับทุกข์จากกาม ทำงานงกๆ หาเงินเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย ต้องกลุ้มอกกลุ้มใจ ลูกจะเรียน ที่ไหนดี จะเกเรหรือเปล่า เมียจะนอกใจไหม เดี๋ยวก็มีเรื่องขัดใจกัน เสร็จแล้ว  ก็ไม่ใช่จะได้อยู่ด้วยกันตลอด  เดี๋ยวอ้าว! รถชนตายเสียแล้ว  อ้าว! เป็นมะเร็งตายเสียแล้ว  หรือเผลอประเดี๋ยวเดียวก็ต้องแก่ตายกันเสียแล้ว  ไม่ได้อยู่กันไปได้ตลอดหรอก  เหมือนคบเพลิงหญ้าถือได้ไม่นานก็ต้องทิ้ง

            ๔.        กามเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิงอันร้อนแรง ผู้ที่รักชีวิตทั้งๆ   ที่รู้ว่าหากตกลงไปแล้ว ถึงไม่ตายก็สาหัส แต่ก็แปลกเหมือนมีอะไรมาพรางตาไว้ เหมือนมีแรงลึกลับมาคอยฉุดให้ลงหลุมอยู่ร่ำไป พระท่านสอน ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ ก็เชื่อท่านหรอก แต่พอออกนอกวัดเจอสาวๆ สวยๆ หนุ่มรูปหล่อเข้าก็ลืมเสียแล้ว เวลาจะแต่งงานก็คิดถึงแต่ความสวยความหล่อความถูกใจ หาได้มองเห็นไปถึงความทุกข์อันจะเกิดจากกาม  เกิดจากชีวิตการครองเรือนไม่

            ๕.        กามเปรียบเหมือนความฝัน เห็นทุกอย่างเฉิดฉายอำไพ แต่ไม่               นานก็ผ่านไป พอตื่นขึ้นก็ไม่เห็นมีอะไร เหลือไว้แต่ความเสียดาย คนเราที่จมอยู่ในกามก็เหมือนกัน  แรกๆ ก็คุยกันกะหนุงกะหนิงน้องจ๊ะน้องจ๋า  อยู่กันไม่นาน พูดคำด่าคำเสียแล้ว  เผลอๆ ถึงตบตีกัน เอาซี่โครงเหน็บข้างฝาเสียเลยก็มีงานก็มากขึ้นเป็น ๒-๓ เท่า  ไม่เห็นสุขเหมือนที่คิดฝันไว้ กามเหมือนความฝัน  พวกเราจะเป็นคนเพ้อฝันลมๆ แล้งๆ  หรือจะเป็นคนยืน อยู่บนความจริง  ตั้งใจฝึกฝนตนเองปฏิบัติธรรมกันล่ะ

            ๖.        กามเปรียบเหมือนสมบัติที่ยืมเขามา เอาออกแสดงก็ดูโก้เก๋ดี  ใครเห็นก็ชม แต่ก็ครอบครองไว้อย่างไม่มั่นใจ ได้เพียงชั่วคราว ไม่เป็นสิทธิ์เด็ดขาด เจ้าของตามมาพบเมื่อไรก็เอาคืนเมื่อนั้น ตัวเองก็ได้แต่ละห้อยหา พวกเราก็เหมือนกัน  ไปได้แฟนสวยแฟนหล่อมาก็ภูมิใจ  ไปไหนๆ ใครๆ ก็ทักว่า คู่นี้สมกันเหมือนกิ่งทองใบหยก ยืดเสียอกตั้งทีเดียว เผลอประเดี๋ยวเดียว อ้าว!  ผู้หญิงกลายเป็นยายแร้งทึ้งไปเสียแล้ว ผู้ชายไหงหัวล้านพุงพลุ้ยเสียแล้ว นี่ความหล่อความสวยมันถูกธรรมชาติ ถูกเวลาทวงกลับเสียแล้ว พวกเราจะไปหลงโง่งมงายอยู่กับของขอยืมของชั่วคราวแบบนี้หรือเปล่า

            ๗.        กามเปรียบเหมือนต้นไม้มีผลดกอยู่ในป่า ใครผ่านมาเมื่อเขาอยากได้ผล จะด้วยวิธีไหนก็เอาทั้งนั้น ปีนได้ก็ปีน ปีนไม่ได้ก็สอย บางคนก็โค่นเลย ใครอยู่บนต้นลงไม่ทันก็ถูกทับตาย เบาะๆ ก็แข้งขาหัก พวกเราก็เหมือนกัน บางคนคงเคยเจอมาแล้ว เที่ยวไปจีบคนโน้นคนนี้ ยังไม่ทันได้มาเลย ถูกเตะต่อยมาบ้าง ถูกตีหัวมาบ้าง ได้แต่บ่นรู้อย่างนี้นอนอยู่บ้านดีกว่า นี่เหมือนผลไม้ในป่า  ยิ่งดกยิ่งสวย แล้วก็ระวังเถอะจะเจ็บตัว

            ๘.        กามเปรียบเหมือนเขียงสับเนื้อ ใครไปยุ่งเกี่ยวก็เหมือนกับเอาชีวิตให้ถูกสับ เพราะกามเป็นที่รองรับทุกข์ทั้งหลาย ทั้งกายและใจ เหมือนเขียงเป็นที่รองรับคมมีดที่สับเนื้อจนเป็นแผลนับไม่ถ้วน

            ๙.        กามเปรียบเหมือนหอกและหลาว ทำให้เกิดทุกข์ทิ่มแทงหัวใจ เกิดความเจ็บปวดรวดร้าวมาก ใครไปพัวพันในกามแล้ว ที่จะไม่เกิดความเจ็บช้ำใจนั้นเป็นไม่มี   เหมือนหอกหลาวที่เสียดแทงร่างกายให้เกิดทุกขเวทนาอย่างนั้น

            ๑๐.      กามเปรียบเหมือนหัวงูพิษ เพราะกามประกอบด้วยภัยมาก ต้อง มีความหวาดระแวงต่อกันอยู่เนืองๆ ไม่อาจปลงใจได้สนิท วางจิตให้โปร่งไม่ได้  เป็นที่หวาดเสียวมาก  อาจฉกให้ถึงตายได้ทุกเมื่อเหมือนหัวงูพิษ

            ทั้งหมดนี้ คืออุปมาโทษของกามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ความจริงแล้วยังมีอีกมาก นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น เมื่อเราเห็นกันแล้วว่ากามมีโทษมากมายถึงปานนี้ เพราะฉะนั้นใครที่ยังไม่มีแฟน ยังไม่ได้แต่งงาน รีบฝึกสมาธิมากๆ เข้าตั้งแต่เดี๋ยวนี้  เมื่อไรใจเราสงบ  ความสว่างภายในบังเกิดขึ้น เราก็มีสุขที่เหนือกว่ากามสุขอยู่แล้ว ความคิดที่จะมีคู่ก็จะหมดไปเอง  ส่วนคนที่แต่งงานแล้วก็ไม่ถึงกับต้องหย่ากันหรอกนะ  เอาเพียงแค่อย่าไปมีเมียน้อย อย่าไปมีใหม่  อย่าไปหาอะไหล่มาเสริมก็แล้วกัน  แล้วก็หาเวลารักษาศีล ๘ เสียบ้างด้วย  เราลองมาดูวิธีประพฤติพรหมจรรย์กัน

วิธีประพฤติพรหมจรรย์

            พรหมจรรย์ชั้นต้น สำหรับผู้ครองเรือน ก็ให้พอใจเฉพาะคู่ครองของตนเท่านั้น  รักษาศีล ๕ ไม่นอกใจภรรยา-สามี

            พรหมจรรย์ชั้นกลาง  สำหรับผู้ครองเรือน  คือนอกจากรักษาศีล ๕ แล้วก็ให้รักษาศีล ๘ เป็นคราวๆ ไปและฝึกให้มีพรหมวิหาร ๔

            พรหมจรรย์ชั้นสูง สำหรับผู้ไม่ครองเรือน ถ้าเป็นฆราวาสก็รักษาศีลอย่างน้อย ศีล ๘ ตลอดชีวิต  ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศเลย  หรือถ้าเป็นชายก็ออกบวชเป็นพระภิกษุ เจริญสมาธิภาวนาและปฏิบัติธรรมทุกข้อในพระพุทธศาสนาให้เต็มที่

            พรหมจรรย์ทุกชั้นจะตั้งมั่นอยู่ได้ ต้องอาศัยการฝึกสมาธิเป็นหลัก

“บุคคลย่อมเข้าถึงความเป็นกษัตริย์ ด้วยพรหมจรรย์ชั้นต่ำ ย่อมเข้าถึงความเป็นเทพด้วยพรหมจรรย์ชั้นกลาง ย่อมหมดจด ด้วยพรหมจรรย์ชั้นสูงสุด”

ขุ. ชา. มหา. ๒๘/๕๒๖/๑๙๙

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการบวช

            ชาวพุทธเรานิยมบรรพชาอุปสมบทกันเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี  จัดเป็นการ ฝึกประพฤติพรหมจรรย์ที่ได้ผลดียิ่งวิธีหนึ่ง จึงควรที่พวกเราจะได้ทราบเรื่องเกี่ยวกับการบวชไว้บ้าง ดังนี้

            ๑.        อายุขณะบวช  เยาวชนเพศชายถ้ามีเวลา  ควรหาโอกาสบรรพชาเป็นสามเณรกันสักช่วงหนึ่ง ระหว่างอายุ ๑๕-๒๐ ปี เพราะช่วงนี้ภาระยังน้อย    ยังไม่ค่อยมีกังวล จะมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมเร็ว หรือไม่เช่นนั้นก็ควรหาเวลาที่เหมาะสมบวชเป็นพระเมื่ออายุ ๒๐-๒๕ ปี  หรือเวลาอื่นที่สะดวก  แต่ไม่ควรรออายุมากเกินไป เพราะสังขารจะไม่อำนวย จะลุกจะนั่งจะฝึกสมาธิก็ไม่สะดวก  ยิ่งกว่านั้นเมื่อมีอายุมากแล้วมักจะมีทิฏฐิ  ว่ายากสอนยาก  เหมือน ไม้แก่ดัดยาก

            ๒.        ระยะเวลาที่บวช อาจบวชในช่วงเข้าพรรษา ๓ เดือน หรือบวชภาคฤดูร้อน ๑-๒ เดือน  บวชในเวลาที่สะดวกลางานได้  หรือบวชตลอดชีวิตก็ได้  แต่ควรบวชนานกว่า ๑ เดือน จะได้มีเวลาศึกษาพระธรรมวินัยพอสมควร

            ๓.        การเลือกสำนักบวช ข้อนี้สำคัญมาก การบวชจะได้ผลแค่ไหนขึ้นอยู่กับสำนักบวชนี่เอง การเลือกจงเลือกสำนักที่มีการกวดขันการประพฤติธรรมและกวดขันพระวินัย  สำนักที่ดีพระอุปัชฌาย์อาจารย์จะมีการอบรมสั่งสอน พระใหม่อย่างใกล้ชิด มีการให้โอวาทเคี่ยวเข็ญให้ปฏิบัติธรรมจนไม่มีเวลาไปฟุ้งซ่านเรื่องอื่น อย่างนี้ดี ส่วนสำนักไหนปล่อยปละละเลย บวชแล้วไม่มีใครสนใจ ปล่อยให้อยู่ตามสบาย บางทีตั้งแต่บวชจนสึก พระใหม่ไม่ได้สนทนาธรรมกับพระอุปัชฌาย์อาจารย์เลย อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ป่วยการบวช ที่เราบวชก็มุ่งจะฝากตัวให้ท่านอบรมให้  แต่ถ้าท่านไม่เอาใจใส่เราบวชแล้วก็จะได้กุศลไม่เต็มที่

            ๔.        การรักษาวินัย ต้องคิดไว้เสมอว่า เราจะเป็นพระได้เพราะวินัย ถ้าถอดวินัยออกจากตัวเสียแล้วแม้จะโกนผมนุ่งผ้าเหลืองก็ไม่ใช่พระ นอกจากจะไม่ใช่พระแล้ว ชาวพุทธยังถือว่าผู้นั้นเป็นโจรปล้นศาสนาอีกด้วย เพราะฉะนั้นต้องศึกษาพระวินัยและรักษาโดยเคร่งครัด ไม่อย่างนั้นสึกออกมาแล้วจะมาเสียใจจนตายว่าบวชเสียผ้าเหลืองเปล่าๆ

            ๕.        การปฏิบัติธรรม ควรใช้เวลาในการศึกษาพระธรรมวินัย และทำสมาธิภาวนาอย่างเต็มที่ งดคุยเฮฮาไร้สาระ

            ๖.        การสงเคราะห์สังคม พระบวช ๓ เดือน ควรเน้นประโยชน์ตน คือ การประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นหลัก และก็หาเวลาช่วยเหลืองานหมู่คณะด้วย แต่ต้องไม่ให้เสียการปฏิบัติธรรม ถ้าจะสงเคราะห์ญาติโยม ก็ขอให้ตั้งใจปฏิบัติตัวให้ดี บิณฑบาตก็ให้เป็นระเบียบ จะเดินจะเหินมีกิริยาสำรวมเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา  ให้ญาติโยมเขาได้เห็นเป็นตัวอย่างในการมีวินัยและความสำรวมตน

อานิสงส์การประพฤติพรหมจรรย์

            ๑.        ทำให้ปลอดโปร่งใจ  ไม่ต้องกังวลหรือระแวง

            ๒.        ทำให้เป็นอิสระ  เหมือนนกน้อยในอากาศ

            ๓.        ทำให้มีเวลามากในการทำความดี

            ๔.        ทำให้เป็นที่สรรเสริญของบัณฑิตทั้งหลาย

            ๕.        ทำให้ ศีล สมาธิ ปัญญา  เจริญรุดหน้าไม่ถอยกลับ

            ๖.        ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย

  “กามทั้งหลายมีโทษมาก มีทุกข์มาก มีความพอใจน้อย เป็นบ่อเกิดแห่งความทะเลาะวิวาทกัน ความชั่วเป็นอันมากเกิดขึ้นเพราะ กามเป็นเหตุ...”




Create Date : 27 พฤษภาคม 2559
Last Update : 28 พฤษภาคม 2559 0:06:04 น. 0 comments
Counter : 5762 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

miraclec
Location :
ปทุมธานี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีเพื่อน ๆ ทุกคน ยินดีรู้จักครับ จริงใจครับ
Friends' blogs
[Add miraclec's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.