HAVE A NICE DAY!
Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2552
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
9 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 
Urawa Reds : We are REDS! We are REDS!

Urawa Red Diamonds (浦和レッドダイヤモンズ, Urawa Reddo Daiyamonzu)



อุราวะ เร้ด ไดมอนด์ส หนึ่งในสโมสร เจ ลีค ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึง ว่าเป็นทีมที่มีกองเชียร์ที่ดีที่สุด ซึ่งดูได้จากการครองสถิติผู้ชมในสนามที่สูงที่สุดในเจลีค 8 ฤดูกาลจากทั้งหมด 15 ฤดูกาล ในปี 2007 พวกเขายังทำสถิติยอดจำนวนผู้ชมเฉลี่ยทั้งปี เป็นสถิติ เจ ลีค และเอเชีย คือ 46000 คน ซึ่งเป็นผลมาจาก ที่ในปี 2002 อุราวะได้ย้ายมาเตะในสนามแห่งใหม่ของพวกเขา ซึ่งก็คือ ไซตามะ สเตเดี้ยม ด้วยความจุที่มากขึ้นเป็นสองเท่าจากสนามเดิม จึงทำให้พวกเขาสามารถที่จะครองตำแหน่งเจ้าสถิติยอดผู้ชมเฉลี่ยต่อฤดูกาลของเอเชียเอาไว้ได้ บ้านของอุราวะ อยู่ในเมือง ไซตามะ เขตจังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น




ต้นกำเนิด
อุราวะเป็นชื่อของเมืองที่อุราวะ เร้ดส์ ก่อตั้งขึ้น เมืองอุราวะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองใหม่ของไซตามะ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ปี 2001 เมื่อมีการรวมกับเมืองใกล้เคียงกัน อย่าง โยโนะ และ โอมิยะ


ตราสโมสรมิทซึบิชิ อุราวะ เอฟ.ซี. ก่อนหน้าที่จะเปลี่ยนมาเป็นอุราวะ เร้ดส์


อุราวะ เร้ด ไดมอนดส์ บ่อยครั้งที่จะพูดถึงกันในชื่อของ “เร้ดส์” ทีมที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานและน่าติดตามและเป็นทีมที่มีอิทธิพลมากที่สุดทีมหนึ่งในวงการฟุตบอลญี่ปุ่น แม้ว่าจะล้มเหลวบ้างในช่วงทศวรรษแรกของการก่อตั้ง เจ ลีค และถึงแม้ว่าจะเป็นทีมที่มีแฟนๆ สนับสนุนอยู่มากมายและกลายเป็นสถิติปัจจุบันมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วก็ตาม แต่พวกเขาก็ยังคงไม่สามารถนำถ้วยรางวัลกลับบ้านมาให้แฟนๆ ที่จงรักภักดีของพวกเขาได้เชยชมกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้กระทั่งในปีที่ผ่านๆ มา ถึงทีมจะได้รับการกล่าวขวัญให้เป็นหนึ่งในทีมใหญ่ใน เจ ลีค และยังเป็นทีมที่ร่ำรวยที่สุดในญี่ปุ่นด้วยก็ตาม แต่เร้ดส์ยังคงทำอะไรได้ไม่เป็นชิ้นเป็นอันให้สมกับกำลังทรัพย์ที่มีซักเท่าไหร่นัก

อุราวะ เร้ดส์ เกิดขึ้นในเมือง อุราวะ เมืองอุตสาหกรรมทางตอนเหนือของญี่ปุ่น และพวกเขามีกองเชียร์ที่มีเสียงเชียร์ดังกึกก้องมากที่สุดในเจ ลีค เป็นของเชิดหน้าชูตา และแม้แต่ในแมทช์ที่ฟอร์มของพวกเขาย่ำแย่แค่ไหนก็ตาม แต่กองเชียร์ผู้จงรักภักดีก็ช่วยกันตะเบงประสานเสียงให้กึกก้องกังวาลอยู่เหมือนเดิม (แม้จะมีบางทีที่ดังเพราะอารมณ์โมโหที่ทีมรักแพ้ก็ตาม)
เร้ดส์ ก่อตั้งขึ้นในปี 1951 โดยเริ่มจากทีมของ มิทซึบิชิ เฮฟวี่ อินดัสทรี หรือในตอนนี้ แฟนๆ ยังคงเรียกตัวเองว่า “เร้ด ไดมอนดส์” ซึ่งมีความหมายถึงตราสัญลักษณ์เพชรสีแดงของมิทซึบิชิที่พวกเขาติดมันไว้บนเสื้อแข่ง เร้ดส์เป็นทีมที่ยิ่งใหญ่ใน JSL (Japanese Soccer League) ในระหว่างปี 1970 และก่อนยุค 80 เมื่อทีมอยู่ภายใต้การควบคุมของโค้ชอย่าง เคนโซะ โยโคยามะ ผู้ซึ่งได้รับตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติในเวลาต่อมา ภายใต้การทำทีมของ โยโคยามะ เขาพาทีมคว้าแชมป์ JSL 4 สมัย ในปี 1969, 1973, 1978 และ 1982 และจบด้วยอันดับที่สองในปี 1970, 1971, 1974, 1975, 1976 และ 1977!



แต่อย่างไรก็ตาม ยุคแห่งความรุ่งเรื่องนี้ได้จบลงก่อนหน้าจะมีการปรับมาเป็น เจ ลีค ได้ไม่นาน และในปี 1993 เร้ดส์ ก็มาถึงจุดตกต่ำอย่างแท้จริง อุราวะ จัดการปรับเปลี่ยนทีมเพื่อให้อยู่รอดด้วยการดึงเอาสองผู้เล่นระดับเทพชาวเยอรมันเข้ามา นั่นก็คือ กีโด้ บุควัลด์ และ อุเว่ ไบน์ แต่เมื่อบุควัลด์แขวนสตั๊ด ทีมก็เหมือนจะขาดความกระหายในชัยชนะไป จุดตกต่ำมาถึงฤดูกาล 1999 เมื่ออุราวะประสบปัญหาอาการไร้โชคลิซึม (ดวงซวย) ประกอบกับอาการบาดเจ็บของผู้เล่นตัวหลักหลายๆคนพร้อมกัน เช่น การหายไปของมิดฟิลด์ตัวหลักอย่าง ชินจิ โอโนะ ถึงสองในสามของฤดูกาล ทีมประสบปัญหาการดิ้นรนหนีการตกชั้นไปจนถึงนัดสุดท้ายของฤดูกาลที่ทีมต้องการสามคะแนนเป็นอย่างมากเพื่อที่จะไม่ต้องตกชั้นไปสู่ดิวิชั่น 2 ทีมต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อชัยชนะ แต่มันเป็นเพียงแค่ครั้งเดียวในหลายๆ สิบครั้งที่ผ่านมาที่พวกเขาพยายามเพื่อจะให้ได้ประตูแห่งชัยชนะมาไว้ในครอบครองแต่ สุดท้ายพวกเขาต้องถูกลดชั้นจากประตูได้-เสียที่น้อยกว่า และต้องใช้เวลาอีก 1 ปีต่อมาในดิวิชั่นสอง



แม้จะผิดหวังกับทีม แต่แฟนผู้ซื่อสัตย์ก็ยังคงช่วยกันส่งเสียงเชียร์ดังกึกก้องอยู่เหมือนที่เคยทำในลีค สูงสุด หากย้อนกลับไปในแมทช์สุดท้ายของ เจ ลีค เมื่อฤดูกาลที่แล้วที่พวกเขาต้องตกชั้น แฟนๆ ยังคงยืนอยู่ร่วมชั่วโมงในคืนอันหนาวเหน็บ ต่างพากันร้องตะโกนอย่างสุดเสียงซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “เราคือเร้ดส์! เราคือเร้ดส์!” และแม้ว่าจะต้องตกไปเล่นในดิวิชั่น 2 แต่อุราวะกลับดึงดูดผู้ชมได้มากกว่าทีมจาก เจ สอง รวมไปถึงทีมจากดิวิชั่น 1 ทุกทีม ในระหว่างปี 2000 โคมาโบะ สเตเดี้ยมจะเต็มความจุทุกครั้งที่มีการเตะในบ้าน ในฤดูกาล 2001 ทีมเปิดใช้สนามแห่งใหม่ ไซตามะ ซ็อคเกอร์ สเตเดี้ยม ที่มีความจุถึง 63,000 ที่นั่ง ที่สร้างมาเพื่อรองรับฟุตบอลโลกปี 2002 โดยเฉพาะ การรวมกันของฐานแฟนบอลที่แข็งแกร่งและสนามแห่งใหม่ที่มีความจุเพิ่มขึ้นมาก ทำให้แม้เร้ดส์จะต้องอยู่ในดิวิชั่น 2 แต่ก็ยังมีรายได้เข้าสโมสรอย่างมหาศาล หลังจากนั้นที่พวกเขาได้กลับขึ้นมาสู่ดิวิชั่น 1 อีกครั้ง ทีมก็ได้จัดการลงทุนสำหรับการเซ็นสัญญากับผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาสู่ทีม เพื่อยกระดับให้ทีมติดกลุ่มหัวตาราง เจ ลีค ทันที



แต่แม้ว่าจะมีเงินทุนพร้อมแค่ไหนก็ตาม แต่เร้ดส์ก็ยังคงรักษามาตรฐานเดิมของตัวเองเอาไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ พวกเขาครองแชมป์ นาบิสโก้ (ลีค) คัพในปี 2004 แต่ต้องมาพลาดแชมป์ลีคด้วยคะแนนห่างที่น้อยมากติดต่อกันสามปี คือในปี 2003, 2004, และ 2005 โดยในปี 2004 เร้ดส์ใช้บริการเด็กเก่าและขวัญใจแฟนๆ อย่าง กีโด้ บุควัลด์ กลับมารับหน้าที่หัวหน้าโค้ช และมี เกิรต์ เอ็งเกิลส์ ผู้ที่เคยนำโยโกฮาม่า ฟลูเกลส์ และ เกียวโต เพอร์เพิล ซังกะ ครองแชมป์เอ็มเพอร์เรอร์ส คัพ มาเป็นผู้ช่วย การนำทีมโดยสองเยอรมัน ทำให้ทีมได้แชมป์แรกในปี คือ นาบิสโก้ คัพ แต่ความสำเร็จก็ถูกลืมเลือนในปีต่อมา ด้วยการที่ทีมไปแพ้ให้กับ โยโกฮาม่า มารินอส ในศึกเพลย์ออฟ หาทีมแชมป์ เจ ลีค ประจำฤดูกาล (เร้ดส์ เป็นแชมป์ สเตจที่สอง ในขณะที่มารินอสเป็นแชมป์สเตจแรก) ในปี 2005 เร้ดส์รวมทีมกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าจะเป็นทีมที่น่าเกรงขามเหลือเกิน แต่แล้วการจากทีมไปอย่างกระทันหันของดาวยิงตัวเก่งของทีม อย่าง เอเมอร์สัน ในช่วงกลางฤดูกาล ก็ส่งผลให้ทีมเก็บแต้มสำคัญตลอดระยะเวลาที่เหลือในฤดูกาลได้อย่างยากลำบาก และสุดท้ายทีมจบอันดับด้วยการพลาดแชมป์ไปเพียงแค่แต้มเดียว



จริงๆแล้ว แฟนของเร้ดส์ไม่เคยที่จะพอใจเลยจนกว่าทีมจะนำเอาถ้วยแชมป์ เจ ลีค กลับบ้าน ทำให้พวกเขาสนับสนุนทีมอย่างมากในช่วงตลอดฤดูกาล ดังนั้นในปี 2006 อุราวะจึงจ่ายเงินครั้งใหญ่อีกครั้ง ด้วยการเซ็นสัญญาคว้าตัวสตาร์หลายคนเข้าสู่ทีม อาทิเช่น ดาวยิงชาวบราซิล อย่าง วอชิงตัน และ ชินจิ โอโนะ ที่กลับมาจากฮอลแลนด์พร้อมกับอาการบาดเจ็บที่ติดตัวมา ทีมทำให้เห็นชัดว่า พร้อมจะจ่ายทุกเยนเพื่อที่จะทำให้ได้ทีมที่มีความพร้อมในการแข่งขันมากที่สุด ถึงแม้ว่าการไล่ล่าแชมป์จะต้องรอจนถึงสัปดาห์สุดท้ายของฤดูกาล แต่สุดท้ายกองเชียร์ที่มากันเต็มความจุในสนามก็ได้เห็นเร้ดส์นำโทรฟี่กลับมาบ้านได้สำเร็จ โดยการล้มทีมเต็งแชมป์อย่างกัมบะ โอซาก้า ลงได้ในแมทช์สุดท้ายของฤดูกาล



การคว้าแชมป์ของเร้ดส์ทำให้เกิดการตื่นตัวของแฟนๆ ขึ้นอย่างมากมาย โดยดูได้จากการที่พวกเขามีรายรับเพิ่มมากขึ้นในปี 2006 และทีมก็ได้ตอบสนองกระแสนี้ด้วยการเติมเต็มทีมในช่วงปิดฤดูกาลด้วยผู้เล่นอย่าง ยุกิ อาเบะ โดยในสายตาของผู้สื่อข่าวกีฬาในประเทศเชื่อว่า พวกเขาจะสามารถคว้าแชมป์ได้อีกใน ปี 2007 พวกเขาเริ่มต้นฤดูกาลได้ดี ไม่เพียงแต่เฉพาะการไต่ขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งจ่าฝูงของตารางลีคได้เท่านั้น แต่ยังคงสามารถผ่านรอบคัดเลือกของรายการ Asian Champions League ได้อีกด้วย การได้ โฮลเกอร์ ออสเซียก (Holger Osieck) มาทำหน้าที่แทน บุ๊ควัลด์ในตำแหน่งเทรนเนอร์ ทำให้ทีมดูจะลดความโลดโผนในการเล่นลง แต่ก็ดูเหมือนว่าพวกเขาเต็มไปด้วยเหล่านักเตะพรสวรรค์มากมายพอที่จะสามารถครองเจ้าแห่ง เจ ลีค ได้อีกสมัย แต่การแข่งขัน AFC ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นรายการตัดกำลังของทีมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อออสเซียก เลือกที่จะใช้นักเตะที่ดีที่สุดของเขาในเกือบทุกแมทช์การแข่งขัน ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน เร้ดส์ ก็ได้ยืนอยู่บนจุดสูงสุดแห่งความสำเร็จ เมื่อได้เป็นทีมที่ชูถ้วย ACL เป็นครั้งแรก แต่อีกไม่กี่เดือนต่อมา พวกเขาก็เกิดอาการแกว่งในการแข่งขัน เกม ลีค เมื่อต้องเสียคะแนนที่นำอยู่ถึง 12 แต้มไปพร้อมๆ กับถ้วยแชมป์ลีค ที่ตกไปเป็นของคู่แข่งขันตัวสำคัญ อย่าง คาชิม่า แอนท์เลอร์ส ในวันสุดท้ายของฤดูกาล เมื่อสิ่งที่พวกเขาต้องทำให้ได้คือเพียงแค่การเอาชนะทีมที่ตกชั้นไปเรียบร้อยแล้วอย่าง โยโกฮาม่า เอฟซี ร้ายยิ่งกว่านั้น เร้ดส์จบฤดูกาลด้วยการตกรอบ เอ็มเพอเรอร์ส คัพ ด้วยน้ำมือของทีมจาก เจ 2 อย่าง เอฮิเมะ เอฟ ซี



สิ่งที่ตามมาจากผลงานอันห่วยแตกในปลายฤดุกาล 2007 ทำให้อุราวะแก้ปัญหาด้วยวิธีง่ายๆ แบบที่สโมสรที่มีอันจะกินทั้งหลายทำ คือการโยนกองเงินลงไปเพื่อละลายกองปัญหา เริ่มต้นการจัดการเซ็นสัญญาคว้าตัว ยอดดาวยิงอย่าง นาโอฮิโร่ ทาคาฮาร่า, เอ็ดมิลสัน, และทซึคาสะ อุเมซากิ เข้ามาร่วมทีม แต่ไม่มีใครจะคิดเฉลียวใจซักนิดเลยว่า จะสามารถทำให้นักเตะดาวดังแต่ละคนเล่นเข้ากับระบบโครงสร้างของทีมได้อย่างไร เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสโมสรดังอื่นๆ ในเจลีค เร้ดส์พบว่า เป็นงานยากที่จะทำให้นักเตะอีโก้จัดมาลงตัวกันได้ในสนาม ฤดูกาลเริ่มต้นด้วยการพ่ายแพ้อย่างเละเทะ 0-3 ต่อโยโกฮาม่า มารินอส นั่นทำให้โค้ช โอเซียก กระเด็นออกจากเก้าอี้ก่อนที่จะเต็มเดือนซะอีก เกิร์ต เองเกิลส์ เข้ามาทำหน้าที่ขัดตาทัพ แต่ความระส่ำระสายภายในทีมก็เกินที่จะเยียวยาเสียแล้ว ตามหลักแล้วการที่มีขุมกำลังสำรองที่เต็มไปด้วยนักเตะพรสวรรค์ควรทำให้เร้ดส์สามารถต่อกรกับคู่แข่งได้ แต่ความขัดแย้งภายในเพิ่มมากขึ้น จากแรงกดดันมหาศาลจากแฟนๆ ที่เริ่มหมดความอดทน เร้ดส์ตกรอบ ACL ด้วยน้ำมือของ กัมบะ โอซาก้า ในรอบรองชนะเลิศ และความหวังในถ้วยภายในประเทศของพวกเขาก็สลายไปในช่วงเวลาเดียวกัน ช่วงปลายเดือนตุลาคม เมื่อจบฤดูกาล เร้ดส์จึงจบอยู่ที่อันดับเจ็ด เนื่องมาจากการรวมกันของความผิดหวัง การขัดแย้งภายในทีม และการตัดสินใจในเชิงบริหารที่โง่เขลา (ทีมได้พาคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทน เองเกิลส์ เข้ามาชมเกมในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน โดยไม่ได้มีการแจ้งให้เองเกิลส์หรือนักเตะในทีมรู้ตัวเลยว่าโค้ชของพวกเขาจะไม่ได้ทำหน้าที่ต่อไปอีกแล้วในซีซั่นหน้า!)


โฮเกอร์ โอเซียค ประสบปัญหาซูเปอร์สตาร์ล้นทีมที่อุราวะ



เกียรติประวัติสมัยยังเป็นมิทซึบิชิ เอฟ.ซี.



เกียรติประวัติของอุราวะ เร้ดส์


เมื่อพวกเขายังคงได้รับการคาดหมายว่าเป็นทีมที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในญี่ปุ่น เร้ดส์ก็ยังคงเป็นทีมเต็งทีมหนึ่งในการคว้าแชมป์ ปี 2009 ประกอบกับการที่ทีมไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันรายการ ACL ทำให้เราคิดว่า พวกเขาจะสามารถครองแชมป์รายการภายในประเทศได้น้อยที่สุดซักหนึ่งรายการ แต่ก็เป็นที่แน่นอนว่าทีมกำลังต้องการ “การปรับปรุงทัศนคติ” ภายในทีมอย่างแน่นอน ผู้เล่นและแฟน ต้องใจเย็นมากขึ้น ความคาดหวังความสำเร็จที่เป็นผลมาจากขนาดของเม็ดเงินที่ลงทุนไปก็ต้องลดลง เช่นเดียวกันกับที่พวกเขาค้นพบในปี 2007 และ 2008 เร้ดส์คงต้องทำให้เต็มที่ในทุกๆ รายการที่ลงเล่น สิ่งทีสำคัญมากที่สุด การบริหารทีมและทีมโค้ช ต้องทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิมโดยเฉพาะการวางแผนซื้อตัวผู้เล่น และการใช้ประโยชน์จากผู้เล่นให้ได้มากที่สุด การซื้อตัวผู้เล่นเพียงเพราะว่าคุณมีเงินเป็นสิ่งที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ โดยเฉพาะถ้าผู้เล่นพรสวรรค์สูงๆ ต้องจับเจ่าอยู่บนม้านั่งสำรอง และเริ่มก่อปัญหาความขัดแย้งขึ้นในห้องแต่งตัว

เร้ดส์ได้โละผู้เล่นที่มีอายุมากออกจากทีมตั้งแต่สิ้นสุด ปี 2008 และพวกเขาก็ยังมีหัวหน้าโค้ชที่ฉลาดและใจเย็นคอยกำหนดหางเสือ อย่าง โวลค์เกอร์ ฟิงเค่ มันอาจจะเร็วเกินไปที่จะบอกว่าผู้จัดการทีมคนใหม่คนนี้จะสามารถผสานรอยร้าวที่เคยเกิดขึ้นเมื่อท้ายฤดูกาลที่แล้วได้หรือไม่ แต่ถ้าเขาสามารถทำให้เร้ดส์สามารถกลับมาเล่นเป็นทีมได้อีกครั้ง ก็คงไม่มีคำถามว่าเร้ดส์จะมีโอกาสกลับมาคว้าแชมป์อีกครั้งได้หรือไม่



//www.wldcup.com/Asia/jleague/reds.html

สโมสรพันธมิตร

สโมสรยังเป็นที่รู้จักในระดับโลก ในฐานะที่เป็นสโมสรอาชีพแห่งแรกของอดีตมิดฟิลด์ชาวญี่ปุ่นของเฟเยนอร์ด รอตเทอร์ดาม อย่าง ชินจิ โอโนะ และหลังจากค้าแข้งในยุโรปมาระยะหนึ่ง ในปี 2006 โอโนะ ก็ได้กลับมาเล่นให้กับ อุราวะเป็นรอบที่สอง นอกจากนั้น อุราวะ ยังเป็นสโมสรพันธมิตรกับสโมสรดังจากเยอรมัน อย่าง บาเยิร์น มิวนิค ซึ่งมีชื่อเล่นว่า “The Reds” เหมือนกันอีกต่างหาก โดย คาร์ล- ไฮนซ์ รุมเมนิกเก้ ประธานสโมสรของบาเยิร์น มิวนิค (มิชาเอล รุมเมนิกเก้ น้องชายของ คาร์ล-ไฮนซ์ เคยเล่นให้กับอุราวะ เร้ดส์ มาก่อน) ประกาศว่า “เรามองหาสโมสรพันธมิตรที่จะมีความสามารถ, การบริหาร และไมตรีจิต ที่มีความเป็นไปได้มานาน เราสามารถเติมเต็มความต้องการของเราในเรื่องของสโมสรพันธมิตรด้วย สโมสรที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้, อุราวะ เร้ดส์” นอกจากนี้ ยังมีสโมสรชั้นนำจากทั่วโลกเดินทางมาเตะนัดกระชับมิตรที่สนาม ไซตามะ บ่อยๆ อาทิเช่น แอทเลติโก้ อินดิเพนเดนเต้ จากอาร์เจนติน่า, ฟลาแมงโก้ จากบราซิล, เฟาเอฟเบ สตุ๊ทการ์ท และ ฮัมบูรก์ จากเยอรมัน, เฟเยนอร์ด รอตเทอร์ดาม จากเนเธอร์แลนด์, และแม้แต่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดจากอังกฤษเองก็ตาม

ในเดือนสิงหาคม ปี 2004 อุราวะลงเล่นในเกมอุ่นเครื่องก่อนเปิดฤดูกาลในศึกทัวร์นาเม้นท์ โวดาโฟน คัพ ที่สนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งในเกมแรกพวกเขาต้องลงเล่นในสภาพที่ขาดตัวหลักของทีมไปหลายคน ซึ่งผลปรากฏว่าพวกเขาแพ้ให้กับทีมดังจากอาร์เจนติน่าอย่าง โบคา จูเนียร์ส ไป 5-2 ในเกมที่สองของพวกเขาต้องไปเจอกับทีมเจ้าบ้านอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่โชคร้ายที่เกมต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากเกิดพายุฝนกระหน่ำ ทำให้แฟนๆ ของอุราวะกว่า 800 คนที่ตามไปอังกฤษเพื่อต้องการดูเกมในเกมนี้ต้องผิดหวังแต่ก็ได้รับการชดเชยในภายหลัง


รายชื่อผู้จัดการทีมอดีตจนถึงปัจจุบัน



นักเตะดังๆ ที่เคยร่วมทีม อุราวะ เร้ดส์ จากอดีตถึงปัจจุบัน



รายชื่อนักเตะชุดปัจจุบัน



ร็อบสัน ปอนเต้ มิดฟิลด์ตัวทำเกมชาวบราซิล กำลังหลักของเร้ดส์ที่เคยเล่นเคียงข้างนักเตะดังๆ อย่างมิชาเอล บัลลัค, คาร์สเท่น ราเมลโล่, ลูซิโอ ที่ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่นมาแล้ว


ไซตามะ สเตเดี้ยม

หลังจากที่มีการเริ่มระบบ เจ ลีค ในปี 1992 ทีมได้ใช้สนาม อุราวะ โคมาบะ เป็นสนามเหย้า แต่เนื่องจากการความนิยมในเกมที่เพิ่มขึ้น ทำให้ไซตามะ ซิตี้ ซึ่งเป็นเจ้าของสนามต้องทำการขยายความจุเพิ่มมากขึ้น และทีมต้องย้ายไปใช้ โอมิยะ พาร์ค ซ็อคเกอร์ สเตเดี้ยมเป็นสนามเหย้าชั่วคราว จนกระทั่งการขยายสนามเสร็จสิ้น แม้ในขณะที่ฟอร์มของทีมกำลังย่ำแย่ แต่สนามก็ถูกเติมเต็มไปด้วยแฟนๆ ที่ต่างก็เต็มไปด้วยความหวัง ทำให้มียอดแฟนบอลเฉลี่ยกว่า 20,000 คน






อุราวะ โคมาบะ สเตเดี้ยม บ้านเดิมของเร้ดส์


ในเดือน ตุลาคม 2001 จังหวัด ไซตามะ ได้ก่อสร้างสนามฟุตบอลแห่งใหม่ ชื่อว่า ไซตามะ สเตเดี้ยม เพื่อวัตถุประสงค์ในการขอใช้เป็นสนามสำหรับฟุตบอลโลก ปี 2002 หลังจากฟุตบอลโลกเสร็จสิ้นไป สโมสรอุราวะก็เริ่มทยอยย้ายมาใช้สนามแห่งนี้เป็นสานามเหย้าในบางนัด และในปี 2003 สนามแห่งนี้ก็ถูกใช้เป็นสนามเหย้าของอุราวะอย่างเป็นทางการ และในปี 2008 มีเพียงแค่เกมเหย้า 2 เกมเท่านั้นที่ต้องไปเตะกันที่สนาม โคมาบะ สเตเดี้ยม




ไซตามะ สเตเดี้ยม สนามแห่งใหม่ที่สร้างมาเพื่อรองรับฟุตบอลโลกปี 2002 โดยเฉพาะ


อุราวะ เร้ดส์ ได้ใช้สนาม โอฮาร่า ซิตี้ เป็นสนามฝึกซ้อม ในปี 2005 ที่ผ่านมา พวกเขาได้เปิดตัว “เร้ดส์แลนด์” ขึ้นมา โดยในเร้ดส์แลนด์นี้จะมีสนามหญ้าจริงอยู่ 3 สนาม หนึ่งสนามหญ้าเทียม หนึ่งสนามเบสบอล สนามฟุตซอลอีกสองสามสนาม และคอร์ท เทนนิส อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเร้ดส์แลนด์นี้ เปิดให้กับประชาชนและสมาชิกของสโมสรสามารถเข้ามาใช้บริการได้ในราคาถูก

//en.wikipedia.org/wiki/Urawa_Reds

“เร้ดส์ ไดมอนด์ส”

ชื่อเล่นนี้ หมายความถึง แสงของเพชร, การรวมกันเป็นหนึ่งด้วยความแข็งแกร่งและเข้มแข็ง แสงของเพชรจะสาดส่องออกมาหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับตำแหน่งของแสงที่ส่องเพชรนั้นว่าจะส่องในลักษณะไหน แต่ “เพชรสีแดง หรือ เร้ด ไดม่อน” จะเปล่งแสงคล้ายกับไฟสีแดงเมื่อผู้เล่นทั้งสิบเอ็ดคนอยู่ท่ามกลางแสงที่ส่องออกมาจากกองเชียร์บนอัฒจรรย์ สีของสโมสรคือสีแดง การ์ตูนเอนิเมชั่น เรือง “Akikichi no Eleven” หรือ “The Red Blooded Eleven” ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากเมืองอุราวะก็ใช้สีแดง สโมสรเดิมซึ่งก็คือ มิทซึบิชิ มอเตอร์ส ฟุตบอล คลับ ก็ใช้สีแดงเป็นสีหลักของเสื้อแข่ง สโมสรใช้ชื่อว่า “มิทซึบิชิ อุราวะ เร้ดส์ ฟุตบอล คลับ” ตั้งแต่ เดือนเมษายน ปี 1992 จนถึง เดือนมกราคม ปี 1996 และมีชื่อเล่นว่า “เร้ด ไดมอนด์ส” แต่อย่างไรก็ดี หลายคนกลับคุ้นเคยที่จะเรียกชื่อเล่นว่า “อุราวะ เร้ดส์” ซะมากกว่า



ตราสโมสร


“จุดมุ่งหมายของตราสโมสรตัวใหม่นี้เพื่อต้องการจะสื่อถึงปรัชญาของสโมสร”

“ลูกบอลแสดงถึงการเรียกทุกคนมารวมกันเป็นหนึ่งรอบๆ ลูกบอล ความตื่นเต้นและความสุขสนุกสนานที่ลูกบอลนำมันมาให้กับทุกคน และยังขยายความปรารถนาดีและความเป็นมิตรไปทั่วทั้งโลก”

จุดมุ่งหมาย คือ การชี้ให้เห็นถึงความหมายของการมีอยู่ของเรา และให้ความสำคัญกับปรัชญาของเรา เราได้สร้างความแตกต่างให้กับชีวิตของผู้คนในเมืองของเรา ซึ่งมันเป็นบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่สามารถทำได้เมื่อตอนสโมสรเริ่มก่อตั้งขึ้น (ใหม่) ในปี 1992 โดยการให้ความสำคัญกับตราสโมสรนี้ เราสามารถแสดงทิศทางของเราได้อย่างชัดแจ้งเช่น เราจะมองเห็นสิ่งที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องในสโมสรต้องทำ เพื่อให้ทีมของเราพัฒนาขึ้นต่อไปในอนาคต การที่มีแนวทางเช่นนี้เป็นหลัก เราสามารถที่จะขยาย หรือรวบรวมความคิด ความมุ่งหวัง และความหมายเหล่านี้เพื่อจะแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่อุราวะ เร้ดส์ควรจะเป็นในอนาคต และเรายังต้องการที่จะพัฒนาให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่นแถบนี้เช่นเดียวกัน

ส่วนประกอบอื่นที่ทำให้เกิดเป็นตราสโมสรอันใหม่นี้ขึ้นมา

1. ต้น Sakuraso primrose เป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่แถบนี้ ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดไซตามะ และเมืองอุราวะด้วย ไซตามะ ซิตี้ยังเป็นที่เดียวในญี่ปุ่นที่คุณจะสามารถพบ primrose พันธุ์พื้นเมืองและเหมือนกับว่ามันถูกสร้างมาให้เป็นสมบัติของประเทศญี่ปุ่น
2. โฮโชคาคุ เป็นสถาบันฝึกสอนอาจารย์ชั้นดีในเมืองไซตามะ เป็นสถานที่ต้นกำเนิดของฟุตบอลไซตามะ มันเป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ที่ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมานานแสนนาน
3. เพชร เป็นสัญลักษณ์ของ อุราวะ เร้ดส์ แสดงถึงทีมที่รวมกันเป็นหนึ่งด้วยความแข็งแร่ง

สัญลักษณ์ทั้ง 3 นี้ถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันด้วย “ปรัชญาแห่งเร้ดส” กรอบนอกของตราสโมสรถูกเปลี่ยนให้เป็นโล่ห์สไตล์ยุโรปเพื่อแสดงถึงจิตวิญญาณการต่อสู้ของทีม

ที่มา

ไซตามะ ซิตี้, จังหวัด ไซตามะ เป็นเพียงแห่งเดียวในญี่ปุ่นที่จะมี primrose พันธุ์พื้นเมือง ฟุตบอลแพร่หลายในยุคไทโช และเริ่มได้รับความนิยมในสถาบันฝึกสอนอาจารย์ไซตามะ (Saitama Elite Teacher Training College, SETTC) ในปี 1908 ซึ่งอยู่ในยุคเมจิ (ตึกสไตล์เรเนสซองค์ ซึ่งเป็นที่กำเนิดของฟุตบอลแห่งไซตามะได้ถูกปฏิสังขรณ์ ปัจจุบันกลายเป็นพิพิทธภัณฑ์ประจำเมืองไปแล้ว)

เมืองได้ขยายการติดต่อไปทั่วโลก และได้กลายมาเป็นวัฒนธรรมของเมืองไปแล้ว อุราวะ เร้ดส์อยู่แถวหน้าของไซตามะ ซิตี้ และจะเป็นตัวช่วยให้ผู้คนในโลกนี้รู้จักชื่อของเราผ่านทางการกีฬา อุราวะ เร้ดส์ ที่มีแสงจากเพชร, เป็นทีมที่มีความพูกพันอย่างแข็งแกร่งและแน่นหนาจะทำงานอย่างหนักตามปรัชญานี้

ตราสโมสรเป็นรูปเพชร ตั้งแต่ปี 1992 จนถึง มกราคมปี 2001 และได้เปลี่ยนมาเป็นตราในแบบปัจจุบันตั้งแต่ กุมภาพันธ์ ปี 2001 เป็นต้นมา.

มาสคอท

เรเดีย
เรเดียถูกสร้างขึ้นในปี 1992 และเป็นสัตว์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยการเรียงตัวอักษรแรกของ “Mitsubishi Urawa Football Club”, “MUFC” ในแนวตั้ง เรเดียมีความรู้ กล้าหาญ และเต็มไปด้วยพลังด้วยภาพลักษณ์ที่ดูแข็งแร็ง

เฟรนเดีย
เฟรนเดียแต่งงานกับเรเดียใน “RED FESTA’97” ซึ่งจัดขึ้นที่ โอมิยะ พาร์ค ซ็อคเกอร์ สเตเดี้ยม เมื่อวันที่ 26 มากราคม ปี 1997 ชื่อ “เฟรนเดีย” ถูกเลือกจากการโหวตด้วยจำนวนจดหมายที่ส่งเข้ามาถึง 1339 ฉบับ และจำนวนชื่อมากมายถึง 620 ชื่อ

ชาล์ล – เดียร่า
ชาล์ล กับ เดียร่า เป็นฝาแผดต่างเพศ ทั้งคู่เกิดในวันที่ อุราวะ เร้ดส์ ได้แชมป์ เจ ลีค เป็นครั้งแรกของสโมสร ต่อหน้าแฟนบอล 62,241 คน



ปรัชญาสโมสร

1. อุราวะ เร้ด ไดมอนด์ส มุ่งหวังให้เกิดการการขยายตัวการเติบโตในด้านสุขภาพของเยาวชน ซึ่งถือเป็นสมาชิกของสังคม

อุราวะ เร้ดส์ รู้ซึ้งถึงความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ของเราที่มีต่อสังคม นั่นก็คือการสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางด้านสุขภาพให้กับเยาวชน

หนึ่ง เราจะไม่แสดงออกเฉพาะความสามารถและความแข็งแกร่งของเราในเชิงลูกหนังออกมาในสนามซึ่งแน่นอนว่ามันจะกลายเป็นต้นแบบให้กับเยาวชนอย่างเดียวเท่านั้น แต่ เรายังจะต้องมีทีมงานชั้นเลิศ จิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ และความคิดในการเล่นแบบยุติธรรม (Fair Play) อีกด้วย

สอง เราจะให้การสนับสนุนการพัฒนาทางด้านสุขภาพของเยาวชนที่เป็นสมาชิกของสังคมทั้งในและนอกสนาม

2. อุราวะ เร้ด ไดมอนด์ส มุ่งหวังให้มีสถานที่ที่จะเพิ่มสุขภาพให้กับชุมชน

เกมเหย้าสามารถถือเป็น Entertainment สำหรับคนในชุมชน ดังนั้น อุราวะ เร้ดส์ ขอสัญญาว่า นักเตะทุกคนจะทำหน้าที่ของตัวเองในสนามให้ดีที่สุดในทุกๆ เกม

3. อุราวะ เร้ด ไดมอนด์ส มุ่งหวังให้เป็นหน้าต่างของไซตามะต่อสายตาชาวโลก

ผู้คนทั่วโลกต่างชื่นชอบฟุตบอล เกือบจะทุกหัวมุมเมืองในโลกนี้ต่างมีทีมของตัวเองกันทั้งนั้น และผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นๆ ก็ต่างภาคภูมิใจที่ได้สนับสนุนทีมของตัวเอง อุราวะ เร้ดส์มุ่งหวังที่จะกลายเป็นหน้าต่างของไซตามะที่จะได้เปิดออกสู่สายตาของชาวโลก

อุราวะ เร้ดส์ตระหนักถึงความรับผิดชอบนี้และจะทำงานอย่างหนักต่อไปเพื่อที่จะให้กลายเป็นทีมที่ดีที่สุดทีมหนึ่งของโลก



//www.urawa-reds.co.jp/english/

Urawa Star Players

19. Naohiro Takahara
กองหน้าวัย 30 ปี ถือเป็นจอมพเนจรคนนึงของญี่ปุ่น เกิดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1979 ที่เมือง มิชิม่า, ชิซุโอกะ เคยผ่านการเล่นฟุตบอลในระดับสูงสุดถึง 3 ทวีป เริ่มค้าแข้งกับ ทีมโรงเรียนมัธยม ชิมิซุ ฮิกาชิ ก่อนที่จะเข้าร่วมสโมสร จูบิโล่ อิวาตะ ในปี 1998 -2002 ลงเล่นให้กับ จูบิโล่ทั้งสิ้น 105 เกม ยิงไปทั้งหมด 58 ประตู ในระหว่างนั้นถูกยืมตัวไปเล่นให้กับสโมสรโบคา จูเนียร์ส ในลีคสูงสุดของอาร์เจนติน่า แต่ทาคาฮาร่าก็ได้ลงเล่นเพียงแค่ 6 นัด ยิงไป 1 ประตู เมื่อไม่ประสบความสำเร็จในอาร์เจนติน่า ทาคาฮาร่าจึงตัดสินใจกลับมาอยู่กับจูบิโล่อีกครั้ง แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน ในปี ต่อมาก็เป็นฮัมบูรก์ เอสวี สโมสรจากบุนเดสลีก้าเยอรมันที่ยอมจ่ายค่าตัวของทาคาฮาร่าจำนวน 250 ล้านเยน หรือประมาณ 2.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับจูบิโล่ นับเป็นสโมสรต่างประเทศสโมสรที่สองของทาคาฮาร่า โดยที่ฮัมบูรก์ ทาคาฮาร่าลงเล่นไปทั้งหมด 97 เกม ยิงไป 13 ประตู ในช่วงเวลา 4 ปีที่อยู่กับฮัมบูรก์ ในปี 2006 ทาคาฮาร่าก็ย้ายไปอยู่กับ ทีมร่วมบุนเดสลีก้าอย่าง ไอน์ทรัค แฟรงค์เฟริต์ ซึ่งทาคาฮาร่าลงเล่นให้กับแฟรงค์เฟริต์ไปทั้สิ้น 38 นัดยิงไป 12 ประตู โดยในวันที่ 3 ธันวาคม ปี 2006 ทาคาฮาร่าทำแฮตทริกได้ ในเกมที่เล่นกับ อาเลมาเนีย อาเค่น ปีต่อมา (2008) ทาคาฮาร่า ตัดสินใจกลับญี่ปุน โดยย้ายมาเล่นให้กับอุราวะ เร้ด ไดม่อนส์ ด้วยค่าตัวประมาณ 180 ล้านเยน หรือประมาณ 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับผลงานระดับทีมชาติ ทาคาฮาร่า ลงเล่นให้ทีมชาติญี่ปุ่นทั้งระดับ U-20 (16 นัด 16 ประตู), U-23 (11 นัด 4 ประตู), และทีมชาติชุดใหญ่ (57 นัด 23 ประตู) โดยเป็นหนึ่งในสมาชิกของทีมชาติญี่ปุ่นชุดโอลิมปิกปี 2000 ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย แต่ในฟุตบอลโลก ปี 2002 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพร่วมกับเกาหลีใต้ ทาคาฮาร่าต้องอดลงรับใช้ชาติเนื่องจากอาการบาดเจ็บ แต่ในฟุตบอลเอเชียนคัพ ปี 2007 ที่จัดขึ้นในไทย, เวียตนาม, อินโดนีเซีย, และ มาเลเซียนั้น ญี่ปุ่นได้อันดับที่ 4 แต่ ทาคาฮาร่า ลงเล่นทั้ง 6 เกมการแข่งขัน โดยยิงไปทั้งสิ้น 4 ประตูและได้รับตำแหน่งดาวยิงสูงสุดร่วมกับ ยูนิส มาห์มูด ของอิรัก และ ยัสเซอร์ อัล-คาห์ทานี่ ของซาอุดิอาระเบีย

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

• แฟนๆ ของไอน์ทรัค แฟร้งเฟริต์ จะฉลองให้กับประตูและฟอร์มการเล่นของทาคาฮาร่า โดยการร่วมกันร้องเพลงในทำนองของ Freed from desire และหลังจากจบแมทช์ ทาคาฮาร่า มักจะมาร่วมฉลองกับแฟนๆ ด้วยการกระโดดขึ้น กระโดดลงไปกับแฟนๆ
• ทาคาฮาร่า เป็นนักเตะญี่ปุ่นคนแรกในลีคดิวิชั่น 1 อาร์เจนติน่า
• ทาคาฮาร่า เป็นนักเตะญี่ปุ่นคนที่ 3 ที่ไปเล่นในบุนเดสลีก้า เยอรมัน ต่อจาก ยาสุฮิโกะ โอคุเดระ และ คาซุโอะ โอซากิ

//en.wikipedia.org/wiki/Naohiro_Takahara
//www.fifa.com/worldcup/archive/germany2006/news/newsid=29623.html
//search.japantimes.co.jp/cgi-bin/sj20021223a1.html


นาโอฮิโร่ ทาคาฮาร่า ดาวยิงจอมพเนจร เดินทางไกลถึงอาร์เจนติน่ามาแล้ว


8. Alessandro dos Santos

มิดฟิลด์ทีมชาติญี่ปุ่นเชี้อสายบราซิล เกิดเมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม ปี 1977 (31 ปี) ที่เมือง มารินก้า,ปาราน่า ประเทศ บราซิล เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “อเล็กซ์” เริ่มเข้ามาเล่นฟุตบอลระดับมัธยมในญี่ปุ่นเมื่อปี 1994 ตั้งแต่อายุได้ 16 ปี จนได้รับสัญชาติญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤศจิการยน ปี 2001 หลังจากเรียนจบในปี 1997 อเล็กซ์ก็เลือกย้ายมาเล่นให้กับทีมอาชีพใน เจ ลีค อย่าง ชิมิซุ เอส พัลส์ และได้รับเลือกให้เป็นนักเตะแห่งปีของ เจ ลีคในปี 1999 โดยลงเล่นให้กับ ชิมิซุ ไปทั้งสิ้น 198 นัด ยิงไปทั้งหมด 56 ประตู ต่อมาในเดือนสิงหาคม ปี 2002 อเล็กซ์ ตัดสินใจย้ายไปค้าแข้งในพรีเมียร์ ลีคของอังกฤษ กับสโมสรชาร์ลตัน แอธเลนติก แต่การย้ายทีมก็ไม่สำเร็จเนื่องจากเขาไม่ได้รับ Work Permit ก่อนที่จะต้องย้ายกลับมาอยู่กับชิมิซุ เหมือนเดิม ในเดือนมกราคม ปี 2004 อเล็กซ์ย้ายมาร่วมทีมร่วมลีค อย่าง อุราวะ เร้ดส์ โดยในวันที่ 12 ธันวาคม ปี 2006 อเล็กซ์ถูกยืมตัวไปเล่นให้กับ เร้ด บูล ซัลส์บวร์ก ของออสเตรียอยู่ช่วงหนึ่ง โดยลงเล่นไป 20 นัด ยิงไป 1 ประตู

ในนามทีมชาติญี่ปุ่น อเล็กซ์ เล่นให้กับญี่ปุ่นนัดแรกเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ปี 2002 ในนัดที่เจอกับ ยูเครน และเป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติญี่ปุ่นชุดลุยฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2002 ที่ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ ซึ่งนับเป็นนักเตะต่างชาติคนที่สองที่ได้ลงเล่นให้กับทีมชาติญี่ปุ่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายต่อจาก ว๊ากเนอร์ โลเปส นักเตะบราซิลที่ได้ลงเล่นให้ทีมชาติญี่ปุ่นชุดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 1998 ที่ฝรั่งเศส แต่หากจะนับจริงๆ แล้ว อเล็กซ์เป็นนักเตะต่างชาติคนที่ 3 ที่เล่นให้ทีมชาติญี่ปุ่น โดยมี รุย รามอส นักเตะบราซิลอีกคน ที่ลงเล่นให้ทีมชาติญี่ปุ่นแต่ไม่ผ่านรอบคัดเลือกในฟุตบอลโลกปี 1994 ที่สหรัฐอเมริกา และตั้งแต่ที่ซิโก้ เข้ามาคุมทัพทีมชาติ อเล็กซ์ก็กลายมาเป็นแกนหลักในทางริมเส้นฝั่งซ้ายของทีม ไม่ว่าจะเล่นระบบ 4-4-2 หรือ 3-5-2 และเป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติญี่ปุ่นชุดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2006 ที่ประเทศเยอรมันนี

//en.wikipedia.org/wiki/Alessandro_dos_Santos


อเล็กซ์ มิดฟิลด์ทีมชาติญี่ปุ่นเชื้อสายบราซิล


4. Marcus Tulio Tanaka

หรือ ชื่อเต็มๆ คือ Marcus Tulio Ryuuji Murzani Tanaka และเป็นที่รู้จักในชื่อ ทูลิโอ (Tulio)

กองหลังทีมชาติญี่ปุ่นวัย 28 ปี เกิดที่เมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล โดยมีพ่อเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น-บราซิล และแม่มีเชื้อสายอิตาเลี่ยน-บราซิล ทูลิโอย้ายมาเรียนมัธยมในญี่ปุ่นตั้งแต่อายุ 15 ปี หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยม ชิบุย่า มาคุฮาริ ในจังหวัดจิบะ ในปี 2001 ทูลิโอตัดสินใจเล่นฟุตบอลกับสโมสร ซานเฟรซ ฮิโรชิม่า

ในปี 2002 เมื่อฮิโรชิม่า ซานเฟรซ ตกชั้นไปเล่นในดิวิชั่น 2 (J2) ทูลิโอถูกยืมตัวไปเล่นให้กับทีมร่วมดิวิชั่น อย่าง มิโตะ โฮลี่ฮอค ทูลิโอได้รับสัญชาติญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ปี 2003 ในปี 2004 หลังจากเล่นให้กับมิโตะ ทูลิโอได้กลับขึ้นมาเล่นใน J1 ร่วมกับทีมอุราวะ เร้ดส์ และติดทีมชาติญี่ปุ่นไปเล่นโอลิมปิกเกมปี 2004 อีกด้วย

ทูลิโอลงสนามนัดแรกให้กับทีมชาติญี่ปุ่นชุดใหญ่เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ปี 2006 ในเกมที่เจอกับ ทรินิแดด แอนด์ โทบาโก้ และทำประตูแรกให้กับทีมชาติชุดใหญ่ได้ในวันที่ 15 พฤศจิกายน ปี 2006 ในถ้วย AFC Asian Cup 2007 รอบคัดเลือกที่พบกับซาอุดิอาระเบีย หลังจากที่โชว์ฟอร์มได้อย่างโดดเด่นใน เจ ลีค ฤดูกาล 2006 เขาก็ได้รับตำแหน่งผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปีของ เจ ลีค แต่ก็มาพลาดการลงสนามในศึก AFC Asian Cup 2007 รอบสุดท้ายเนื่องจากอาการบาดเจ็บ ซึ่งการขาดหายไปของทูลิโอ กล่าวกันว่าเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นไม่ประสบความสำเร็จในรายการนี้เท่าไหร่นัก
ทูลิโอยิงประตูที่สองในนามทีมชาติได้ จากลูกโหม่ง ในนัดกระชับมิตรที่เจอกับแคเมอรูน ทีมแกร่งจากแอฟริกา ในวันที่ 22 สิงหาคม ปี 2007 และในวันที่ 17 กรกฏาคม ปี 2008 ทูลิโอ ทำแฮตทริกแรกในชีวิตของตัวเองในเกม เจ ลีค ที่พบกับ โตเกียว เวอร์ดี้

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
ในนามทีมชาติชุดใหญ่ ทูลิโอ ทำประตูไปแล้ว 4 ประตู กับ 4 ชาติคู่แข่ง หนึ่งในนั้นคือทีมชาติไทยของเรา ที่เป็นเกียรติให้กับทูลิโอ โดยเจอกันในรายการฟุตบอลโลก 2010 รับคัดเลือกโซนเอเชีย ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2008

//en.wikipedia.org/wiki/Marcus_Tulio_Tanaka


ทูลิโอ ทานากะ นักเตะลูกครึ่ง เป็นกำลังหลักในแดนหลังของทีมชาติญี่ปุ่นในปัจจุบัน


22. Yuki Abe

มิดฟิลด์ตัวรับทีมชาติญี่ปุ่น เกิดเมื่อวันที่ 6 กันยายน 1981 (27 ปี) ที่เมืองอิชิคาว่า จังหวัด จิบะ เริ่มต้นการเล่นฟุตบอลตั้งแต่ วันที่ 5 สิงหาคม ปี 1998 กับอิจิคาว่า เอฟ ซีเรื่อยมาจนถึง เจฟ ยูไนเต็ด อิชิคาว่า จูเนียร์ ยูธ, เจฟ ยูไนเต็ด อิชิคาว่า ยูธ ทำสถิตินักเตะญี่ปุ่นที่ลงสนามให้กับทีมใน เจ ลีค ที่มีอายุน้อยที่สุด (ในขณะนั้น) ด้วยอายุ 16 ปี กับอีก 333 วัน ต่อมาในปี 2005 ก็ได้รับหน้าที่เป็นกัปตันของ เจฟ ยูไนเต็ด และในปีต่อมาก็สามารถพาทีมครองแชมป์ เจ ลีค คัพได้จนถูกเลือกให้อยู่ใน League’s Best Eleven.

ลงสนามในนามทีมชาติญี่ปุ่นชุดใหญ่ครั้งแรก เมื่อวันที่ 29 มกราคม ปี 2005 ในเกมกระชับมิตรกับ คาซัคสถาน และยิงประตูแรกในนามทีมชาติเมื่อวันที่ 6 กันยายน ปี 2006 ในเกมรอบคัดเลือก AFC Asian Cup 2007 ที่พบกับเยเมน แม้จะไม่ได้ติดเป็นหนึ่งในทีมชาติญี่ปุ่นชุดลุยฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2006 ที่เยอรมัน แต่หลังจากนั้น เมื่อ อิวิก้า โอซิม อดีตกุนซือเก่าจาก เจฟ ยูไนเต็ดเข้ามารับหน้าที่ในนามทีมชาติ อาเบะก็เป็นหนึ่งในทีมชาติชุดใหญ่อย่างสม่ำเสมอ ก่อนหน้านี้ อาเบะเคยติดทีมชาติญี่ปุ่นชุด U-20 และ U-23 มาแล้ว โดยลงเล่นใน โอลิมปิกเกม 2004 ที่ซิดนีย์ ทั้ง 3 เกมในรอบแรก และยิงหนึ่งประตูในเกมที่พบกับ อิตาลี่

อาเบะ ย้ายมาอยู่กับ อุราวะเมื่อวันที่ 22 มกราคม ปี 2007 ด้วยค่าตัวประมาณ 360 ล้านเยน (ประมาณ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งถือเป็นสถิติการย้ายตัวของผู้เล่นญี่ปุ่นภายในประเทศด้วย โดยไฮไลท์ของอาเบะ น่าจะเป็นในนัดชิงชนะเลิศ AFC Champions League ปี 2007 นัดที่สอง ที่เขายิงประตูให้กับอุราวะคว้าแชมป์ ในนัดที่เจอกับ Sepahan F.C. จากอิหร่าน
//en.wikipedia.org/wiki/Yuki_Abe


ยูกิ อาเบะ (กลาง) มิดฟิลด์ตัวตัดเกมคนสำคัญของทีมซามูไร


13. Keita Suzuki

มิดฟิลด์ตัวรับทีมชาติญี่ปุ่น วัย 28 ปี เกิดเมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม ปี 1981 ที่เมืองชิซุโอกะ เป็นญาติของ โกกิ มิซุโนะ มิดฟิลด์ของ กลาสโกว์ เซลติกในสก๊อตแลนด์ เริ่มเล่นฟุตบอลอาชีพกับ อุราวะ เร้ดส์ เมื่อปี 2000 หลังจากที่จบมัธยมจากโรงเรียนมัธยมโทไก ยูนิเวอร์ซิตี้ ฟุโซคุ โชโย ลงเล่นนัดแรกอย่างเป็นทางการให้กับอุราวะ ในเกม เอ็มเพอร์เรอร์ส คัพ ในแมทช์ที่พบกับ ฮอนด้า ล็อค เอส ซี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ปี 2000 ก่อนที่จะก้าวเข้ามายึดตำแหน่งในแผงกลางของอุราวะได้ในปี 2001 และมีส่วนช่วยให้อุราวะคว้าแชมป์ เจ ลีค ปี 2006 จนถูกรับเลือกให้อยู่ใน J League Best Eleven 2006

ในทีมชาติ ซุซุกิ ได้รับเลือกให้เป็นกัปตันทีมชาติญี่ปุ่นชุดคัดเลือกโอลิมปิก ปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ แต่น่าเศร้าที่ไม่ได้ติดทีมไปแข่งรอบสุดท้ายที่กรุงเอเธนส์เนื่องจากโค้ชทีมชาติชุดโอลิมปิกในขณะนั้นอย่าง มาซาคุนิ ยามาโมโตะ ชื่นชอบนักเตะอย่างชินจิ โอโนะ มากกว่า

แต่ตรงกันข้ามกับอดีตโค้ชทีมชาติคนก่อนอย่าง อิวิก้า โอชิม ที่ชื่นชอบในตัวของซุซุกิเป็นอย่างมาก โดยเลือกซุซุกิให้ติดทีมชาติครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 เดือนสิงหาคม ปี 2006 ในเกมกระชับมิตรกับ ทรินิแดด แอนด์ โทบาโก้ และเป็นนักเตะเพียงคนเดียวที่ได้ลงเล่นเป็นตัวจริงทั้ง 20 เกมภายใต้การคุมทีมของโอซิม นอกจากนี้ โอซิมยังได้กล่าวยกย่องซุซุกิว่า เป็น โคล้ด มาเกเลเล่ ของญี่ปุ่นเลยทีเดียว
//en.wikipedia.org/wiki/Keita_Suzuki


เคอิตะ ซูซูกิ ลูกรักของอดีตโค้ชทีมชาติญี่ปุ่น อิวิก้า โอชิม


รู้จักหัวเรือใหญ่ของอุราวะ

Volker Finke - Mister Freiburg


โวลค์เกอร์ ฟิงเค่ เทรนเนอร์ วัย 61 ปีชาวเยอรมัน ของอุราวะ เร้ดส์ ที่ผมเรียกเค้าว่า มิสเตอร์ ไฟร์บวร์ก เนื่องมาจากว่า เขาเป็นเจ้าของสถิติกุนซือที่ทำทีมยาวนานที่สุดในเยอรมัน ตอนที่เขาทำทีม “จิ้งจอกแห่งป่าดำ” ไฟร์บวร์ก ตั้งแต่ กรกฏาคม ปี 1991 จนถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2007รวมระยะเวลาที่กุมบังเหียรจิ้งจอกแห่งป่าดำ นานถึง 16 ปี!! โดยก่อนหน้านี้ ฟิงเค่ เคยทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนวิชาการกีฬาและสังคมศึกษาอยู่ที่โรงเรียน Albert Schweitzer ที่บ้านเกิด เมือง Nienburg ประเทศเยอรมันนี อีกด้วย

อาชีพการค้าแข้ง

สมัยเป็นนักเตะ ฟิงเค่ เล่นให้กับสองสโมสรก็คือ TSV Havelse ถึงปี 1969 และย้ายไปร่วมทีม Hannoverschen SC จนถึงปี 1975

หน้าที่กุนซือ

ฟิงเค่ เริ่มรับหน้าที่กุนซือ ในปี 1975 กับทีม TSV Stelingen ต่อมาก็กลับไปคุม TSV Havelse ทีมที่เคยเป็นผู้เล่น จนถึงปี 1990 ที่นี่เขาได้พาทีมขึ้นไปเล่นในดิวิชั่นสองของเยอรมันด้วยตำแหน่งที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสรเลยทีเดียว หลังจากนั้นอีกหนึ่งฤดูกาล ก็ไปทำหน้าทีสั้นๆ ให้กับ SC Norderstedt ที่อยู่ใกล้ๆ กับ Hamburg ก่อนที่จะมารับตำแหน่งนายใหญ่แห่งป่าดำ ไฟร์บวร์ก ในปี 1991 ที่นี่เป็นที่ที่ฟิงเค่อยู่นานที่สุด และกลายเป็นประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลเยอรมัน โดยพาไฟร์บวร์ก เลื่อนชั้นจากดิวิชั่นสองของเยอรมันขึ้นมาอยู่ในดิวิชั่น 1 ได้ถึงสามครั้ง คือในปี 1993, 1998, และ 2003 โดยนอกจากนี้ยังพาไฟร์บวร์กไปเล่นถ้วยยูฟ่า คัพ ได้อีกสองสมัย คือในฤดูกาล 1995 และ 2001 หลังอยู่มาถึง 16 ปี ฟิงเค่ก็สละตำแหน่งกุนซือไฟร์บวร์ก เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ปี 2007

หลังจากนั้น ฟิงเค่ก็ออกจากบ้านเกิดเยอรมัน โดยเซ็นสัญญารับงานที่ อุราวะ เร้ดส์ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ปี 2008 ที่ผ่านมา โดยมีสัญญาคุมทีมไปจนถึงปี 2010

โดยในวันเปิดตัวกับสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2009 หลังจากที่ได้แนะนำตัวแล้ว ฟิงเค่ก็ได้แนะนำสตาฟที่จะมาทำงานร่วมกับเขาซึ่งนำเข้ามาจากเยอรมันและออสเตรีย ประกอบไปด้วย คารสเท่น นีทเซล, อิบราฮิม ทังโก้ (อดีตผู้เล่นไฟร์บวร์กและกองหน้าทีมชาติกาน่า), และ มาซากิ โมราส นอกจากนั้น ฟิงเค่ยังถือว่าเป็นโค้ชที่เต็มที่กับทุกงานที่ทำ โดยจะเห็นได้จากการที่ อุราวะ เร้ดส์ เป็นทีมแรกที่เก็บตัวฝึกซ้อมช่วงปรีซีซั่น เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2009 ในขณะที่ทีมอื่นๆ ใน เจ ลีค กว่าจะเริ่มเข้าแค้มป์กันก็ปาเข้าไปสิ้นเดือนกุมภาพันธ์แล้ว

วาทะ ในวันเปิดตัว

“จงสนุกกับชีวิต ผมคิดว่า ไม่มีผลตอบแทนใดจะได้มาง่ายๆโดยไร้ซึ่งความพยายาม ขั้นตอนจะก้าวไปถึงเป้าหมายนั้นสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เมื่อคุณตื่นขึ้นมาในตอนเช้า ให้คิดถึงเป้าหมายที่จะต้องก้าวไป และคิดถึงสิ่งที่เราจะต้องทำเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนั้น”

//en.wikipedia.org/wiki/Volker_Finke
//www.goal2002.com/2009/t/20090112.html




รายได้ของสโมสรมีให้ดูกัน (อย่างน่าอิจฉา) ในเวปไซด์สโมสร



ชุดแข่งปี 2009 เหย้า จะใช้เสื้อสีแดง กางเกงขาว ถุงเท้าดำ



ชุดเยือน เสื้อสีขาว กางเกงสีดำ ถุงเท้าขาว



อูเว่ ไบน์ ดาวดังทีมชาติเยอรม้นภายใต้ยูนิฟอร์มของเร้ดส์



ชินจิ โอโนะ ในปี 1998 ก่อนจะย้ายไปหาความท้าทายใหม่ๆ กับเฟเยร์นอห์ด รอตเทอดาม ในเนเธอร์แลนด์



ไอตอร์ ซิกิ เบกิสไตน์ มูฆิก้า ผอ. บาร์เซโลน่า คนปัจจุบัน ก็เคยมาเล่นให้กับเร้ดส์



จากการสำรวจพบว่า เร้ดส์ เป็นทีมจากเอเชียที่มีแฟนบอลมากติดอันดับต้นๆ ของโลก...โอ้! แม่เจ้า..



Create Date : 09 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2552 16:30:55 น. 0 comments
Counter : 4803 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Mary's Garden
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เอ่อ...ผมเหรอ ?

เกิดที่ไหนเหรอ......บ้านเกิดอยู่เชียงใหม่

เรียน...... เชียงใหม่ด้วย กรุงเทพฯ ด้วย

ทำงาน.... บริษัทเอกชนหลายแห่งล่ะ ชอบงานสบาย รายได้ดี มาขายประกันกับผมสิครับ เอ๊ยๆ ไม่ช่ายนะ

นิสัย (ดี)..... อารมณ์ดี อารมณ์ขัน เฮฮา
ผมเป็นคนที่ไม่เรื่องมาก
ให้เกียรติผู้อื่นมากพอสมควรเลยแหละ
เอาใจ (แฟน) เก่ง
ชอบคิด และชอบแชร์ความรู้ (ที่มีอยู่)
คุยได้ เรื่องถนัด บอล การเมืองนิดหน่อย
(ขอคุยแบบให้เกียรติและยอมรับคคห )

นิสัย (เสีย)... อย่ารู้เลย มันไม่ดีหรอก

ความสามารถพิเศษ... เอาไว้วันหลังนึกได้จะแจ้งให้ทราบ



Friends' blogs
[Add Mary's Garden's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.