Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2551
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
26 พฤษภาคม 2551
 
All Blogs
 
ข้อเขียนของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ดีที่สุด สำหรับ ปชป. และคนรัก ปชป



้ข้อเขียนของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ดีที่สุด สำหรับ ปชป. และคนรัก ปชป

จาก ประชาชาติธุรกิจ

คนเดินตรอก

วีรพงษ์ รามางกรูร



ประชาธิปัตย์ต้องการปฏิรูป



การเลือกตั้งทั่วไปหลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นเครื่องชี้อย่างดีว่าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคที่เก่าแก่ที่สุดของบ ้านเรา ต้องการการปฏิรูป อย่างรุนแรงและขนานใหญ่ มิฉะนั้นประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่มี ระบอบการปกครองโดยพรรคใหญ่ พรรคเดียว ซึ่งไม่เหมาะกับบ้านเราและ เราก็ไม่ต้องการอย่างนั้น



พรรคประชาธิปัตย์ก็เหมือนกับพรรคการเมืองอื่นที่ต้องถือว่าเป็นของประชาชน มิใช่พรรคของกรรมการบริหารพรรค หรือสมาชิกพรรคเท่านั้น เพราะได้รับเงินจากภาษีอากรที่เก็บจากประชาชนทั่วประเทศไปทำกิจกรรมของพรรค พรรคต้องฟังความคิดเห็นของประชาชน ผู้เสียภาษีด้วย ถ้าการวิพากษ์วิจารณ์มีเหตุผล ควรฟังว่าเขาวิพากษ์วิจารณ์อะไร อย่ามัวแต่ค้นหาว่าทำไมเขาจึงวิพากษ์วิจารณ์



เรื่องแรก พรรคต้องเปลี่ยนทัศนคติ เสียใหม่ว่า การเอาแต่คิดโค่นล้มคู่ต่อสู้ ทุกวิถีทางนั้นต้องเปลี่ยนใหม่ แม้ว่าตอนที่ก่อตั้งพรรคเมื่อปี 2489 พรรคประสบ ความสำเร็จในการโค่นล้มพรรคแนวรัฐธรรมนูญและพรรคสหชีพ โดยการ ร่วมมือกับทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจอมพลผิน ชุณหะวัณ และจอมพลป. พิบูลสงคราม ลงเลือกตั้งโดยการ ช่วยเหลือของทหารในเดือนมกราคม 2491 เป็นรัฐบาลอยู่ได้ 4 เดือน ก็ถูกทหารหักหลังจี้ให้ลาออก หลังจากนั้นก็ไม่ได้อะไร จนเกิดกรณี 14 ตุลาคม 2516 เพราะทหารแตกคอกันเองไม่ใช่ฝีมือของพรรค

ทรรศนะที่ถูกต้องก็คือ ต้องสร้างผลงานในทางสร้างสรรค์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และการต่างประเทศ ในด้านการต่างประเทศ ประเทศเราใหญ่พอที่ผู้นำของเราสามารถจะเป็นผู้นำของภูมิภาคอย่าง ดร.โมฮัมเหม็ด มหาเธร์ ได้



น่าเห็นใจผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนมากเป็นทนายความ เป็นครู เป็นข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว มีนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จน้อย หัวหน้าพรรคแม้ว่าจะมีอายุพอสมควรแล้ว มีการศึกษาจากสถาบันชั้นนำของโลก แต่ไม่เคยทำงานรับผิดชอบจริงๆ ข้อสำคัญอยู่ไปๆ ถูกพรรคล้างสมองลืมหลักการทางปรัชญากฎหมาย รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ เสียสิ้น ค้านทุกเรื่องที่ฝ่ายตรงกันข้ามทำ หรือฝ่ายตรงกันข้ามคิด ผลจึงออกมาในสายตาประชาชนว่าที่คิดที่พูดนั้น ตนเอง ก็ไม่ได้เชื่ออย่างนั้นเลย แต่พูดไปตามมติพรรคซึ่งล้าสมัยแล้ว

เรื่องที่สอง เหตุที่พรรคมีทัศนคติในทางลบและไม่สร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา ก็เพราะพรรคถูกครอบงำด้วยผู้นำรุ่นเก่าที่เคยประสบความสำเร็จโดยการทำลายล้า งฝ่ายตรงกันข้ามที่เป็นรัฐบาลทหาร ขณะนั้นโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นรัฐบาลไม่มี เพราะทหารกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเอาไว้

พรรคประชาธิปัตย์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ดีที่สุด ผู้นำพรรค ซึ่งบัดนี้อายุอยู่ระหว่าง 65-75 ปี จึงติดยึดอยู่กับยุทธวิธีแบบนั้นไม่เปลี่ยนแปลง

เมื่อมีพรรคใหม่ที่ผู้นำพรรคเกือบ100 คน มาจากคนที่มีประสบการณ์ทั้งทางธุรกิจและทางราชการ มีวิสัยทัศน์ยาวไกล ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ในยุคโลกาภิวัตน์ ทำการบ้านว่าคนชั้นล่างซึ่งมีสัดส่วนที่สูงต้องการอะไร และสามารถทำอย่างที่ตนสัญญาไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งได้ พรรคประชาธิปัตย์จึงพ่ายแพ้อย่างยับเยินครั้งแล้วครั้งเล่า



ผู้นำพรรคก็ไม่ยอมรับความบกพร่องของตน แต่หลอกตนเองว่าพ่ายแพ้การเลือกตั้ง เพราะฝ่ายตรงกันข้ามซื้อเสียง แต่ในกรณีที่ทหารและข้าราชการถูกสั่งให้มาช่วยอย่างเต็มที่ทั้งกำลังคน กำลังอำนาจ และกำลังเงินซื้อเสียงให้ แล้วยังแพ้อย่าง ยับเยิน ตนกลับไม่คำนึงถึง หลายคนบอกว่าแม้ฝ่ายตรงกันข้ามไม่ซื้อเสียงเลยก็ยังชนะพรรคประชาธิปัตย์

สิ่งที่พิสูจน์ได้ก็คือ ผู้ที่ออกจากพรรคไทยรักไทยไปอยู่พรรคอื่น กลับสอบตกเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่มีกระสุนจากทหารมาช่วยจำนวนมาก



เรื่องที่สาม ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ อาจแบ่งเป็นสองพวก พวกนักกฎหมายกับพวกครู จะไม่ค่อยยอมรับการเปลี่ยนแปลง กฎหมายระเบียบแบบแผนเป็นอย่างไรก็ถือเป็นคัมภีร์ ให้ข้าราชการเป็นผู้แนะนำและชี้นำนโยบายในการทำงาน อีกพวกหนึ่ง เป็นพวกที่มีผลประโยชน์ จึงไม่ยอมให้ คนรุ่นใหม่เข้าไปรับผิดชอบพรรคจริงๆยังกุมอำนาจพรรคไว้ด้วยผลประโยชน์

ส่วนฝ่ายตรงกันข้ามพูดเสมอว่า กฎหมายระเบียบแบบแผนเป็นเครื่องมือที่จะทำให้งานสำเร็จ ประชาชนได้ประโยชน์ ถ้ากฎหมายข้อบังคับเป็นอุปสรรคก็ต้องแก้ไข เพราะกฎหมายข้อบังคับระเบียบแบบแผนสร้างมาโดยมนุษย์ มนุษย์ย่อมสามารถแก้ไขได้ มนุษย์ต้องเป็นนายกฎหมาย ไม่ใช่ให้กฎหมายมาเป็นนายมนุษย์



ข้าราชการไม่ใช่ผู้กำหนดนโยบายแต่เป็นผู้นำนโยบายของฝ่ายการเมืองไปปฏิบัติ กลับกันกับวิธีคิดของประชาธิปัตย์

ผลงานของประชาธิปัตย์ในฐานะเป็นรัฐบาล ไม่ใช่ในฐานะของฝ่ายค้านจึงไม่ค่อยมีเป็นรูปธรรม ทั้งๆ ที่เคยร่วมรัฐบาลมาหลายยุคหลายสมัยเป็นเวลากว่า 15 ปี



เคยถามเพื่อนฝูงชาวปักษ์ใต้ที่ภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ฯ ว่าชอบผลงานของรัฐบาลพรรคไหน ไม่มีใครบอกว่าผลงานของประชาธิปัตย์ดีกว่าคู่ต่อสู้ ทุกคนบอกว่าผลงานของรัฐบาลคู่ต่อสู้ดีกว่า แต่ที่เลือกประชาธิปัตย์เพราะพ่อแม่ปู่ย่าตายายเลือกประชาธิปัตย์ หรือที่เลือกก็เพราะผู้นำพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายหัวเป็นคนใต้เคยถามต่อว่าถ้านายหัวไม่อยู่แล้วจะเลือกอ ย่างไร ผู้ตอบก็ตอบไม่ถูกเหมือนกันเอาไว้ถึงเวลานั้นแล้วค่อยคิด



พฤติกรรมการเลือก ส.ส.ของคนใต้ จึงต่างกับคนอีสานและคนเหนือ ที่เน้นว่า ส.ส.คนนั้นเคยทำประโยชน์ให้กับตนหรือชุมชนของตนแค่ไหน ส่วนในกรุงเทพฯเลือกไปตามกระแสที่สื่อมวลชนยัดเยียด ให้ เพราะตนก็ไม่เคยได้ประโยชน์อะไร เป็นชิ้นเป็นอันจาก ส.ส.ของตนอยู่แล้ว เพราะตนเองก็มีเส้นสายโยงใยเองอยู่แล้ว ไม่เดือดร้อนเหมือนคนในต่างจังหวัด



เรื่องที่สี่ เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถเข้าถึงหรือไม่พยายามเข้าถึงคนระดับล่าง ไม่ว่าจะเป็นภาคอีสานภาคเหนือ ภาคกลาง และแม้แต่ในกรุงเทพฯ พรรคไม่เน้นที่จะสร้างผลงาน แต่เน้นในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ทุกวิถีทาง พรรคจึงกลายเป็นทาร์ซาน พยายามจะช่วยเจนนี่โดยการโหนเถาวัลย์ โหนกระแส และโหนทหาร แล้วให้เจนนี่คอยกอดเอว พอเจนนี่จับพลาดในที่สุดทาร์ซานก็ต้องป้องปากโห่อย่างโหยหวนลั่นป่า



การทำตัวเป็นทาร์ซานจะไปถึงที่หมายโดยวิธีโหน จึงต้องละทิ้งอุดมการณ์ประชาธิปไตย อุดมการณ์ทางกฎหมาย ความถูกต้อง จารีต ประเพณี ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ร่วมมือ กับทหารสร้างทางตันเพื่อเชื้อเชิญให้ทหารปฏิวัติ ทำลายรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พรรคฝ่ายตรงกันข้ามถูกยุบ ให้นักการเมือง ฝ่ายตรงกันข้ามถูกตัดสิทธิทางการเมือง และสนับสนุนรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติ จะตอนพรรคการเมืองไม่ให้โต สร้างองค์กรอิสระที่ไม่มีใครตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นผลเสียกับตัวเองด้วยในระยะยาวแต่ก็ยอมทำ ทำให้พรรคเสียคะแนนจากผู้คนที่หัวก้าวหน้าและคนรุ่นใหม่อย่างน่าเสียดาย



การที่พรรคประณามนโยบายและโครงการที่เป็นประโยชน์กับคนระดับล่าง ทั้งๆ ที่อยู่ในกรอบที่การเงินการคลังของประเทศรับได้ เพราะมีทุนสำรองระหว่างประเทศเหลือเฟือจนธนาคารแห่งประเทศไทยไม่อยากจะได้ ว่าเป็นโครงการ 'ประชานิยม' เท่ากับการทำลายเสียงของตนเองกับคนระดับล่างทั่วประเทศและจำกัดตัวเอง เพราะถ้าตนเองเป็นรัฐบาล ก็คงต้องทำ หรืออาจจะทำมากกว่า เพราะที่ใช้หาเสียงสัญญาว่าจะทำมากกว่า



เรื่องที่ห้า พรรคประชาธิปัตย์เป็น พรรคปิด มีระบบอาวุโสที่เหนียวแน่น สมาชิกใหม่ให้อยู่ระดับล่าง หรือในสภาก็อยู่แถวหลังหรือที่อังกฤษเรียกว่า 'Back Benchers' แต่อังกฤษผู้นำพรรคที่นำ พรรคไปแพ้เลือกตั้งจะลาออกเกือบหมด เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มาแทน แต่ของเราไม่มีประเพณีอย่างนั้น สมาชิกรุ่นใหม่จึงไม่มีโอกาสมานำพรรค ผู้นำพรรค ไม่มุ่งจะทำพรรคให้ชนะการเลือกตั้ง เพียงแต่ได้ ส.ส.มากเพิ่มขึ้นก็พอใจจะอยู่ในตำแหน่ง ต่อไปแล้ว



ส่วนฝ่ายตรงกันข้าม เน้นในเรื่องผลงานทางเศรษฐกิจของผู้ออกเสียง เน้นคะแนนนิยมในตัว ส.ส. เน้นการเมืองที่มีผลสำเร็จของการเลือกตั้ง เน้นทางด้านการหาเงินช่วยพรรค ซึ่งไม่ต้องบอกก็คงเข้าใจ ดังนั้นจึงมีการสับเปลี่ยนตัวผู้นำพรรคระดับรองๆ ลงไปอยู่ตลอดเวลา พรรคฝ่ายตรงกันข้ามจึงสามารถ 'ดูด' นักการเมืองให้เข้าพรรคได้มากขึ้นเสมอ เพราะมาอยู่แล้วโอกาสชนะการเลือกตั้งมีสูง ไม่ใช่เพราะเงินอย่างเดียวอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าใจ

เรื่องที่หก พรรคไม่เคยหวังว่าจะชนะการเลือกตั้งและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้พรรคเดียว หวังแต่เพียงเป็นแกนนำของรัฐบาลผสม เมื่อหวังเพียงเท่านี้ก็ทำให้มีทัศนคติว่า ถ้าสามารถทำลายพรรคคู่แข่งไม่ให้ลงมาแข่งในการเลือกตั้งก็พอแล้ว



ถ้าพรรครู้จุดอ่อนความสามารถในการสร้างนโยบายใหม่ๆ ไว้ขายกับประชาชน ถ้าคิดไม่ออกก็ขวนขวายหาบริษัทที่ปรึกษาที่ชำนาญการ แต่ก็ไม่มีความพยายามแต่ใช้วิธีสะกดจิตตนเองว่า ตนเองเป็นฝ่ายเทพ ฝ่ายตรงกันข้ามเป็นฝ่ายมาร แท้จริงในงานการเมืองไม่มีใครเป็นเทพ ไม่มีใครเป็นมาร มีแต่ผู้ชนะกับผู้แพ้การเลือกตั้งเท่านั้น



ทั้งหมดนี้เป็นจุดอ่อนของพรรคประชาธิปัตย์ ผู้เสียภาษีอย่างพวกเราน่าจะมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์และเสนอแนะให้แก้ไขปฏิรู ปตนเอง เพราะผลการดำเนินงานของพรรคไม่คุ้มกับเงินภาษีที่รับไป

จะโกรธจะเคืองอย่างไรก็ไม่ว่าเพราะไม่อยากเห็นเมืองไทยเป็นระบบการเมืองแบบพ รรคเดียว ถ้าเมืองไทยเป็นการเมืองพรรคเดียวก็ต้องโทษประชาธิปัตย์ อย่าไปโทษใคร

คิดแล้วอ่อนใจ



https://www.settomorrow.com/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&Category=settomorrowcom&thispage=&No=324817



Create Date : 26 พฤษภาคม 2551
Last Update : 6 มีนาคม 2561 16:34:30 น. 21 comments
Counter : 302 Pageviews.

 
หรือวิกฤติจะย้อนรอย [28 พ.ค. 51 - 18:37]

ค วามรู้สึกว้าเหว่เหมือนเมื่อครั้ง ก่อนเกิดวิกฤติการเมือง ก่อนที่จะมีการยึดอำนาจกลับมาอีกครั้ง เมื่อบรรยากาศ การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร เพื่อคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญเริ่มจะยืดเยื้อ ผิดกับครั้งที่ผ่านมาด้วยว่าความรุนแรงดูจะตึงเครียดตั้งแต่เริ่มต้นการชุมนุม

พร้อมที่จะเกิดม็อบชนม็อบ

สุดท้ายก็จะนำไปสู่วิกฤติการต่อสู้ทางความคิดและกำลังครั้งสำคัญอีกครั้ง ที่มีรัฐธรรมนูญและสถาบันเป็นเงื่อนไข เป็นการจุดชนวนวงจรอุบาทว์ของอำนาจเผด็จการ

จุดจบคือการปฏิวัติรัฐประหาร หรือไม่ก็นำมาซึ่งรัฐบาลพระราชทาน

ย้อนรอยประวัติศาสตร์การเมืองไทยจุดเริ่มต้นและจุดจบไม่เคยเปลี่ยนแปลง และทุกครั้งก็นำมาซึ่งความหายนะในทุกๆด้าน แม้ตัวละครจะเปลี่ยนไป แต่รูปแบบและผลลัพธ์ก็ไม่เคยเปลี่ยนเช่นกัน

เพราะฉะนั้น จึงพอจะชี้วัดได้ว่า ประชาธิปไตย เป็นแค่ประชาธิปไตยในนาม เป็นแค่สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายเท่านั้น ไม่ใช่ประชาธิปไตยโดยประชาชนและเพื่อประชาชน

แต่เป็นประชาธิปไตยที่ห่อหุ้มอำนาจเผด็จการไว้ต่างหาก

ไม่เชื่อลองทบทวนถึงการกำเนิดประชาธิปไตยในประเทศไทยดู รูปแบบเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ แต่ที่ปรากฏรูปแบบที่แท้จริง เป็นเผด็จการประเภทใดประเภทหนึ่งมากกว่า

แม้แต่ก้าวแรกของประชาธิปไตยนั่นก็คือการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้เป็น อิสรเสรี แต่ต้องขึ้นอยู่กับกฎเหล็ก อำนาจที่มองไม่เห็นมากมาย ตำรวจ

สั่งได้ ทหารสั่งได้ ข้าราชการสั่งได้ หรือแม้แต่องค์กรอิสระเองก็สั่งได้

จะให้ใครได้ใครตก

ผมอยากจะตั้งคำถามแบบตรงไปตรงมาว่า วิกฤติการเมืองที่ยืดเยื้อจะต้องจบลงด้วยการยึดอำนาจใช่หรือไม่ และถ้าจะเป็นวิถีนั้น ทหารคนไหนจะปฏิวัติ และจะปฏิวัติใคร คุณสมัคร สุนทรเวช ก็ไม่ได้มีเรื่องร้ายแรงให้ถึงกับต้องยึดอำนาจ หรือจะปฏิวัติ คุณจักรภพ เพ็ญแข ก็ดูจะหน่อมแน้มไปหน่อย

จะปฏิวัติ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะเห็นกลุ่มพันธมิตรตะโกนให้ลั่นไปหมด ทักษิณออกไป พ.ต.ท.ทักษิณก็ไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะให้ปฏิวัติ แค่ปฏิวัติครั้งที่แล้วที่ยังค้างคากันอยู่ก็อ่วมอรทัยไม่จบ

หรือต้องให้ขุดรากถอนโคน พ.ต.ท.ทักษิณ จนอยู่เมืองไทยไม่ได้ หรือต้องให้ พลังประชาชน เป็นฝ่ายค้าน แล้วให้ ประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาล ขึ้นมาบริหารประเทศ เหตุการณ์ทุกอย่างจึงจะเข้าสู่ภาวะปกติ คำถามที่ผมตั้งเป็นโจทย์วันนี้จะต้องมีคำตอบ เป็นคำตอบว่าการเมืองไทยมีอะไรครอบงำ

ไม่เช่นนั้นจะถึงกับสิ้นชาติ.

หมัดเหล็ก

//www.thairath.co.th/news.ph


โดย: ลำน้ำ C วันที่: 29 พฤษภาคม 2551 เวลา:10:40:59 น.  

 
ชอบบทความนี้ครับ แม้ไม่ชอบ ปชป.

ผมว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ได้ตรงจุดที่สุดแล้ว

ดีกว่าคำพูดที่ว่า "ประชาชนต้องมาก่อน" (แต่มาหลังทหาร)

ชอบครับ


โดย: chengake วันที่: 29 พฤษภาคม 2551 เวลา:14:27:07 น.  

 
ประชาธิปัตย์ มีจดหมายเปิดผนึกถึง ดร.โกร่ง

จดหมายเปิดผนึกจากพรรคประชาธิปัตย์

ถึง นายวีรพงษ์ รามางกูร



เรื่อง เรื่องขอชี้แจงทรรศนะ และข้อมูลที่คลาดเคลื่อนของนายวีรพงษ์ รามางกูร ต่อพรรคประชาธิปัตย์

เรียน นายวีรพงษ์ รามางกูร

สำเนาถึง บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ



ตามที่นายวีรพงษ์ รามางกูร ผู้เขียนคอลัมน์ “คนเดินตรอก” แสดงความคิดเห็นในหัวเรื่อง “ประชาธิปัตย์ต้องการปฏิรูป” ลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 26-28พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 4004 (3204) วิพากษ์วิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์ในแง่มุมต่างๆอย่างรุนแรงนั้น ในเบื้องต้นพรรคประชาธิปัตย์ขอขอบคุณในการแสดงความคิดเห็นของผู้เขียนต่อพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดำเนินกิจกรรมอย่างเปิดเผยตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พรรคฯพร้อมจะรับฟังทุกความคิดเห็นและพร้อมจะนำข้อคิดเห็นเหล่านั้นไปพิจารณา



อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่า ข้อเขียนของนายวีรพงษ์ รามางกูร ในคอลัมน์ดังกล่าว เป็นการเสนอความคิดเห็นที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและทัศนคติที่คลาดเคลื่อน ทำให้ผู้อ่านบางส่วนอาจเข้าใจผิด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง พรรคประชาธิปัตย์จึงขอชี้แจงเป็นลำดับดังต่อไปนี้



ข้อ 1) นายวีรพงษ์ รามางกูร ระบุว่า “...พรรคประชาธิปัตย์ต้องเปลี่ยนทัศนคติ เสียใหม่ว่า การเอาแต่คิดโค่นล้มคู่ต่อสู้ ทุกวิถีทาง...” โดยอ้างว่า พรรคฯประสบความสำเร็จในการโค่นล้มพรรคแนวรัฐธรรมนูญและพรรคสหชีพ โดยร่วมมือกับทหาร ทั้งจอมพลผิณ ชุณหะวัณ และจอมพลป.พิบูลสงคราม จนได้เป็นรัฐบาลเมื่อปี 2491 นั้น



พรรคประชาธิปัตย์ขอยืนยันว่า พรรคฯยืนหยัดทำงานการเมืองอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย โดยยึดมั่นระบบรัฐสภามาอย่างเหนียวแน่นและเคร่งครัด พรรคฯไม่เคยใช้วิธีการนอกกรอบกติกามาโค่นล้มรัฐบาลที่เป็นคู่แข่งขันทางการเมือง ไม่ว่าจะในช่วงการทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายค้าน ซึ่งเรื่องนี้สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ในทุกกรณี หากมีกรณีใดที่นายวีรพงษ์ รามางกูร ข้องใจ สงสัยว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำผิดไปจากข้อกล่าวอ้างข้างต้นแล้ว ขอได้หยิบยกขึ้นมาตอบโต้เป็นกรณีๆไป



พรรคประชาธิปัตย์เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2489 พรรคฯก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้ทางการเมืองในระบบรัฐสภาที่ถูกควบคุมและครอบงำโดยกลุ่มเผด็จการทหารในขณะนั้น การกล่าวหาว่าได้ไปร่วมมือกับทหาร จนได้เป็นรัฐบาลเมื่อปี 2491 นั้น ไม่เป็นความจริง เรื่องนี้หากนายวีรพงษ์ รามางกูร กลับไปศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองในขณะนั้นให้ถี่ถ้วน จะพบว่า ภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2490 มีการล้มรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2489 ส่งผลให้ประเทศเข้าสู่ยุคเผด็จการ ไม่มีสภาจากการเลือกตั้ง นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัยในขณะนั้น ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งเพื่อช่วยคลี่คลายวิกฤตของประเทศ แต่สุดท้ายนายควง อภัยวงศ์ ก็ขัดแย้งกับฝ่ายทหารจนถูกรัฐประหารในเวลาต่อมา



นายวีรพงษ์ รามางกูร ระบุในประเด็นต่อมาว่า “...ทรรศนะที่ถูกต้องก็คือ ต้องสร้างผลงานในทางสร้างสรรค์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และการต่างประเทศ ในด้านการต่างประเทศ ประเทศเราใหญ่พอที่ผู้นำของเราสามารถจะเป็นผู้นำของภูมิภาคอย่าง ดร.โมฮัมเหม็ด มหาเธร์ ได้ น่าเห็นใจผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนมากเป็นทนายความ เป็นครู เป็นข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว มีนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จน้อย หัวหน้าพรรคแม้ว่าจะมีอายุพอสมควรแล้ว มีการศึกษาจากสถาบันชั้นนำของโลก แต่ไม่เคยทำงานรับผิดชอบจริงๆ ข้อสำคัญอยู่ไปๆ ถูกพรรคล้างสมองลืมหลักการทางปรัชญากฎหมาย รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ เสียสิ้น ค้านทุกเรื่องที่ฝ่ายตรงกันข้ามทำ หรือฝ่ายตรงกันข้ามคิด ผลจึงออกมาในสายตาประชาชนว่าที่คิดที่พูดนั้น ตนเอง ก็ไม่ได้เชื่ออย่างนั้นเลย แต่พูดไปตามมติพรรคซึ่งล้าสมัยแล้ว...”



ประเด็นนี้หากแม้น นายวีรพงษ์ รามางกูร แยกแยะข้อเท็จจ่ริง มองปรากฏการณ์อย่างรอบด้านแล้วจะเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงผลงานสร้างสรรค์ดังกล่าวมาแล้วอย่างทั่วด้าน โดยเฉพาะนโยบาย 3 กระจายที่ปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจนในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ คือ การกระจายอำนาจ การกระจายความเจริญ และการกระจายโอกาส ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาชนบท การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศ เช่นถนน 4 ช่องจราจรทุกภาค การวางรากฐานการแก้ไขปัญหาการศึกษา ที่สร้างโอกาสการศึกษาให้กับลูกหลานไทยในชนบทให้เท่าเทียมกับลูกหลานในสังคมเมือง ด้วยการจัดตั้งอนุบาลชนบท โครงการอาหารกลางวัน โครงการนมโรงเรียน เป็นต้น



ในด้านเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์เข้ามารับผิดชอบประเทศในช่วงหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 สามารถเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดบกพร่องของผู้บริหารประเทศก่อนหน้านั้น จนสามารถนำพาประเทศฟื้นตัวได้เป็นผลสำเร็จ ในส่วนการดำเนินนโยบายต่างประเทศก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นอิสระและสร้างสรรค์ โดยไม่สนองผลประโยชน์ทางธุรกิจของผู้นำพรรคหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง



ในด้านการเมืองรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย หรือ คพป. เริ่มต้นวางกรอบการปฏิรูปการเมืองจนนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับพ.ศ. 2534 และยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2540 เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานที่พิสูจน์ให้เห็นเป็นประจักษ์มาแล้ว ไม่มีใครบิดเบือนได้



ที่สำคัญผลงานสร้างสรรค์ของพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์สุจริต มุ่งที่ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับรัฐบาลที่นายวีรพงษ์ รามางกูร ชื่นชอบและรัฐบาลในบางยุคที่นายวีรพงษ์ รามางกูร เข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งนายวีรพงษ์ รามางกูร เองคงปฏิเสธไม่ได้



ข้อกล่าวหาของ นายวีรพงษ์ รามางกูร ที่ระบุว่า ผู้นำของพรรคในอดีตมาจากอาชีพ ทนายความ ครู ข้าราชการเกษียณอายุ นั้น ข้อเท็จจริงคือ ผู้นำพรรคในระดับหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค ไม่ได้จำกัดแต่ในอาชีพที่นายวีรพงษ์ รามางกูร ระบุเท่านั้น แต่มาจากหลากหลายอาชีพ ทั้งนักการเมืองอาชีพ นักกฎหมาย อดีตราชการ นักการฑูต นักธุรกิจ นักวิชาการ ฯลฯ ซึ่งผู้นำพรรคประชาธิปัตย์แต่ละรุ่นได้แสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถในการนำพาประเทศฝ่าวิกฤตมาอย่างเด็ดเดี่ยวหลายยุค ไม่ว่าจะเป็นนายควง อภัยวงศ์ ในยุควิกฤตหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในช่วงวิกฤตการเมืองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือนายชวน หลีกภัย ในช่วงหลังเหตุการณ์นองเลือดพฤษภาทมิฬ ปี 2535 และวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540



นายวีรพงษ์ รามางกูร เขียนอีกว่า “...ข้อสำคัญอยู่ไปๆ ถูกพรรคล้างสมองลืมหลักการทางปรัชญากฎหมาย รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ เสียสิ้น ค้านทุกเรื่องที่ฝ่ายตรงกันข้ามทำ หรือฝ่ายตรงกันข้ามคิด...” พรรคฯไม่ทราบว่า การแสดงออกใดของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกนิยามว่าเป็นการถูกล้างสมอง มีเรื่องใดที่พรรคฯมีมติหรือแสดงบทบาทออกไปโดยลืมหลักการทางปรัชญากฎหมาย รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ตามที่นายวีรพงษ์ รามางกูร กล่าวหา ตรงกันข้ามการแสดงออกของหัวหน้าพรรคจะยึดถือความถูกต้องตามหลักวิชาการมาโดยตลอด



ส่วนประเด็นที่กล่าวหาว่า พรรคประชาธิปัตย์ “ค้านทุกเรื่อง” ที่ฝ่ายตรงข้ามทำ หรือฝ่ายตรงข้ามคิดนั้น ถ้านายวีรพงษ์ รามางกูร เข้าใจว่าบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคฝ่ายค้านต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2544 เป็นต้นมาเป็นการค้านทุกเรื่องนั้น เป็นการเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง ขอให้กลับไปทบทวนดูบทบาทแต่ละเรื่องที่พรรคฯได้แสดงออกไป จะเห็นว่า ในการทำหน้าที่ของพรรคฯแต่ละเรื่อง มีส่วนประกอบสำคัญ 2 ประเด็น ควบคู่กันไปเสมอ คือ 1) การนำเสนอปัญหาที่เป็นประเด็นสาธารณะและกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และ 2) การนำเสนอทางออกหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาในทัศนะและจุดยืนของพรรคฯ



โดยเฉพาะในช่วงหลังการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะฝ่ายค้านได้ยกระดับขึ้นเป็นการทำงานรูปแบบของ “คณะรัฐมนตรีเงา” ที่เกาะติดปัญหาบ้านเมืองอย่างใกล้ชิด นำเสนอทางออกที่แหลมคม และเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างแนวคิดการทำงานที่ยึดผลประโยชน์ของประชาชนกับแนวทางที่ยึดผลประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพลทางธุรกิจการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ปัญหาการศึกษา ปัญหาคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาส ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งนี้ประชาชนทั่วไปมองเห็นและสัมผัสได้ นายวีรพงษ์ รามางกูร เอง ก็ย่อมสามารถมองเห็นและสัมผัสได้ เช่นเดียวกัน

ข้อ 2) นายวีรพงษ์ รามางกูร เขียนว่า “...เหตุที่พรรคมีทัศนคติในทางลบและไม่สร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา ก็เพราะพรรคถูกครอบงำด้วยผู้นำรุ่นเก่าที่เคยประสบความสำเร็จโดยการทำลายล้างฝ่ายตรงกันข้ามที่เป็นรัฐบาลทหาร ขณะนั้นโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นรัฐบาลไม่มี เพราะทหารกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเอาไว้ พรรคประชาธิปัตย์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ดีที่สุด ผู้นำพรรค ซึ่งบัดนี้อายุอยู่ระหว่าง 65-75 ปี จึงติดยึดอยู่กับยุทธวิธีแบบนั้นไม่เปลี่ยนแปลง…” การระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ มีทัศนคติในทางลบและไม่สร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา ต้องย้อนถามกลับว่า อะไรคือทัศนคติทางลบ? อะไรคือการไม่สร้างสรรค์? เป็นไปได้อย่างไรที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง มีบทบาททางการเมืองต่อเนื่องมาถึง 62 ปี จะมีแต่ทัศนคติทางลบและไม่สร้างสรรค์เลย ถ้าเป็นเช่นนั้น พรรคประชาธิปัตย์จะได้รับเลือกตั้งหรือได้รับความนิยมจากประชาชน หรือคงความเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่เช่นนี้อยู่ได้อย่างไร?



พรรคประชาธิปัตย์มีองค์ประกอบของบุคคลทั้งความรู้ความสามารถ เพศ วัย ที่แตกต่างหลากหลาย เนื่องจากเป็นพรรคการเมืองที่ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 62 ปี มีผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าเข้ามาสืบทอดอุดมการณ์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนในพรรคจะมีทั้งผู้อาวุโส และคนรุ่นใหม่ แต่พรรคฯมีระบบพรรคที่แข็งแกร่ง นั่นคือความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค ไม่มีใครสามารถชี้นำ หรือบงการความคิดของพรรคฯได้ มติทุกครั้งที่ออกมาล้วนผ่านกระบวนการประชาธิปไตย คือการวิเคราะห์ แลกเปลี่ยน ถกเถียง และหาข้อสรุปร่วมกันของคนในพรรค ไม่ใช่เดินตามคำชี้นำของใครคนใดคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เหมือนกับพรรคการเมืองใหม่ๆที่นายวีรพงษ์ รามางกูร นิยมชมชอบ



นอกจากนั้นหากพรรคประชาธิปัตย์แสดงบทบาทคัดค้านสิ่งใดที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อประเทศ โดยการหลบเลี่ยงหรือละเว้นการทำหน้าที่ ถือเป็นสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์ สังคมก็จะไร้การถ่วงดุลและไม่เป็นประชาธิปไตย



การที่นายวีรพงษ์ รามางกูร สรุปเอาว่า “...เมื่อมีพรรคใหม่ที่ผู้นำพรรคเกือบ100 คน มาจากคนที่มีประสบการณ์ทั้งทางธุรกิจและทางราชการ มีวิสัยทัศน์ยาวไกล ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ในยุคโลกาภิวัตน์ ทำการบ้านว่าคนชั้นล่างซึ่งมีสัดส่วนที่สูงต้องการอะไร และสามารถทำอย่างที่ตนสัญญาไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งได้ พรรคประชาธิปัตย์จึงพ่ายแพ้อย่างยับเยินครั้งแล้วครั้งเล่า…”นั้น เป็นทัศนะของนายวีรพงษ์ รามางกูร ที่มองข้ามข้อเท็จจริงที่ผู้คนทั่วประเทศมองเห็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คนเหล่านั้นรวมตัวกันบนพื้นฐานของอะไร รากฐานความเป็นมาของแต่ละกลุ่ม แต่ละพวกภายในพรรคการเมืองใหม่ที่ว่านั้นเป็นอย่างไร มีผลประโยชน์เฉพาะหน้าร่วมกันอย่างไร ใช้วิธีการใดในการเอาชนะการเลือกตั้ง และเมื่อได้อำนาจแล้ว ใช้อำนาจอย่างไร ส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศนี้อย่างไรบ้าง



พรรคไทยรักไทยที่นายวีรพงษ์ รามางกูร ชื่นชมเป็นแบบอย่างนั้น เกิดขึ้นจากนักธุรกิจการเมืองที่ต้องการเข้าสู่อำนาจโดยไม่ต้องผ่านการเป็นนักการเมืองอาชีพเหมือนในอดีต จึงรวบรวมนักการเมืองอาชีพที่ย้ายพรรคเป็นประจำเข้ามาร่วมก่อตั้งพรรค เมื่อผ่านการเลือกตั้งปี 2544 ก็ดำเนินการควบรวมหรือ “ดูด” พรรคการเมืองอีก 3 พรรคเข้ามาคือ พรรคเสรีธรรม พรรคชาติพัฒนา และพรรคความหวังใหม่ จนกลายเป็นพรรคการเมืองที่มีเสียงเด็ดขาดในสภา จากนั้นสถาปนาระบอบทักษิณขึ้นมารวมศูนย์การใช้อำนาจรัฐ สร้างระบบอุปถัมภ์ต่อส.ส.และประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เกิดการทุจริตเชิงนโยบาย สร้างความเสียหายกับประเทศอย่างร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมือง



สิ่งเหล่านี้หรือที่นายวีรพงษ์ รามางกูร เรียกว่า “...มีวิสัยทัศน์ยาวไกล ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ในยุคโลกาภิวัตน์...” นายวีรพงษ์ รามางกูร ที่อ้างตัวเป็นนักวิชาการอิสระ ได้ใช้กรอบความคิดทางวิชาการในการมองปรากฏการณ์ทางการเมืองในแต่ละช่วงสถานการณ์อย่างรอบด้านแล้วหรือไม่



การที่นายวีรพงษ์ รามางกูร อ้างว่า มีทหารและข้าราชการถูกสั่งให้มาช่วยพรรคประชาธิปัตย์อย่างเต็มที่ทั้งกำลังคน กำลังอำนาจ และกำลังเงินซื้อเสียงให้ แล้วยังแพ้อย่างยับเยิน แต่พรรคประชาธิปัตย์กลับไม่คำนึงถึง หลายคนบอกว่าแม้ฝ่ายตรงกันข้ามไม่ซื้อเสียงเลยก็ยังชนะพรรคประชาธิปัตย์ และระบุว่า สิ่งที่พิสูจน์ได้ก็คือ ผู้ที่ออกจากพรรคไทยรักไทยไปอยู่พรรคอื่น กลับสอบตกเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่มีกระสุนจากทหารมาช่วยจำนวนมากนั้น หากเป็นเช่นที่นายวีรพงษ์ รามางกูร กล่าวอ้าง ก็ขอให้ไปแจ้งกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เร่งรีบตรวจสอบและเอาผิดกับพรรคประชาธิปัตย์อีกทางหนึ่งด้วย เพราะเป็นการซื้อเสียงให้และเป็นการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง



อีกทั้งการกล่าวหาด้วยวิธีการเขียนใส่ร้ายเช่นนี้เป็นการทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเสื่อมเสีย ขอให้นายวีรพงษ์ รามางกูร ระบุออกมาให้ชัดเจนถึงตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นทหาร หรือข้าราชการรายใดที่ดำเนินการช่วยเหลือพรรคประชาธิปัตย์ หากไม่แสดงให้กระจ่างชัดก็เท่ากับเป็นการแต่งเรื่องเท็จมาใส่ร้ายผู้อื่น ไม่ใช่วิสัยของนักวิชาการหรือนักเขียนคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์ที่มีผู้ให้ความนิยมเชื่อถือ



ข้อ 3) นายวีรพงษ์ รามางกูร พยายามอ้างว่า พรรคประชาธิปัตย์ยึดติดแต่กฎหมาย ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง และให้ข้าราชการเป็นผู้ชี้นำในการทำงาน เรื่องนี้เป็นอีกประเด็นที่กล่าวหา โดยไม่ได้ใส่ใจความเป็นจริง เพราะหากนายวีรพงษ์ รามางกูร ใฝ่รู้ด้วยการตรวจสอบผลงานของพรรคประชาธิปัตย์ในการทำงานในช่วงรัฐบาลชวน 1 และชวน 2 ก็จะเห็นผลงานการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน กฎหมายที่เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของโลกยุคใหม่ กฎหมายที่ออกมาป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น กฎหมายที่กระจายอำนาจของรัฐส่วนกลางไปให้กับการปกครองในส่วนท้องถิ่นที่ให้ประชาชนทั่วทุกหัวระแหงได้กำหนดอนาคตและวิถีชีวิตของตนเอง หรือกฎหมายที่กระจายโอกาสทางการศึกษาให้กับลูกหลานของพี่น้องประชาชนในชนบทห่างไกล ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้นายวีรพงษ์ รามางกูร ไม่เคยได้รู้ ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยได้ตระหนักเลยหรือ?



เพียงแต่นายวีรพงษ์ รามางกูร แอบนิยมชมชอบต่อหัวหน้าพรรคการเมืองบางคนแต่ไม่กล้าแสดงตน แล้วยกทุกสิ่งทุกอย่างของคนๆนั้นมาเป็นความถูกต้องเสียหมด โดยมองข้ามความจริงที่คนทั้งสังคมได้ประจักษ์แล้วถึงความมีวาระซ่อนเร้นในการออกกฎหมาย การยกเลิกกฎหมาย และการปรับปรุงกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกพระราชกำหนดเพื่อเอื้อต่อธุรกิจของตนเองและพวกพ้อง ทำให้รัฐเสียหายนับหมื่นล้านบาท การออกพระราชกำหนดให้อำนาจกับตนเองในการแก้ปัญหาความสงบเรียบร้อยในประเทศ การออกกฎหมายปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เพื่อวางรากฐานผลประโยชน์ทางธุรกิจให้กับตนเองและบริวาร ฯลฯ เหล่านี้กลับเป็นสิ่งที่นักวิชาการอย่างนายวีรพงษ์ รามางกูร มองข้ามไปอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้



ประเด็นสำคัญหนึ่ง ที่นายวีรพงษ์ รามางกูร กล่าวถึงพฤติกรรมการเลือกส.ส.ของชาวภาคใต้ ที่ระบุว่า “....ไม่มีใครบอกว่าผลงานของประชาธิปัตย์ดีกว่าคู่ต่อสู้ ทุกคนบอกว่าผลงานของรัฐบาลคู่ต่อสู้ดีกว่า แต่ที่เลือกประชาธิปัตย์เพราะพ่อแม่ปู่ย่าตายายเลือกประชาธิปัตย์ หรือที่เลือกก็เพราะผู้นำพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายหัวเป็นคนใต้เคยถามต่อว่าถ้านายหัวไม่อยู่แล้วจะเลือกอย่างไร ผู้ตอบก็ตอบไม่ถูกเหมือนกันเอาไว้ถึงเวลานั้นแล้วค่อยคิด…” และยังระบุอีกว่า “....พฤติกรรมการเลือก ส.ส.ของคนใต้ จึงต่างกับคนอีสานและคนเหนือ ที่เน้นว่า ส.ส.คนนั้นเคยทำประโยชน์ให้กับตนหรือชุมชนของตนแค่ไหน...” นับเป็นความคิดเห็นที่ห่างไกลสภาพความจริงอย่างยิ่ง นายวีรพงษ์ รามางกูร อาจจะไปฟังเสียงสนทนากับเพื่อนฝูงบนโต๊ะอาหาร หรือสัมผัสกับคนรู้จักแค่ 2-3 คนแล้วมาสรุปเหมารวมเอาอย่างไร้หลักวิชาการว่า นั่นคือ ความจริง



หากนายวีรพงษ์ รามางกูร ได้ลงไปทำวิจัย สอบถามอย่างเข้มงวดในหลักวิชาการ และเคารพในความจริง ก็จะพบว่าข้อเขียนของนายวีรพงษ์ รามางกูร เองบกพร่องและห่างไกลข้อเท็จจริงอย่างมาก ไม่มีพื้นที่ไหนในประเทศนี้ที่ประชาชนเลือก ส.ส.หรือผู้แทนฯ ด้วยทัศนะคับแคบเช่นนั้น



พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมอย่างเหนียวแน่นจากพี่น้องภาคใต้ ก็เพราะบทบาทของผู้ปฏิบัติงานในสาขาพรรค, ส.ส., อดีตส.ส. และผู้สมัครของพรรคในการทำงาน การต่อสู้ การดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน ซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น จนเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความดีงามเหล่านั้นจะฝังอยู่ในความรู้สึกของพี่น้องประชาชนรุ่นแล้วรุ่นเล่า ขณะที่พรรคการเมืองที่เป็นคู่แข่ง มาแล้วก็ไป และไม่เคยเสนอนโยบายหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาประเทศชาติสอดคล้องกับความต้องการของพี่น้องประชาชนในภาคใต้ เหมือนกับที่คนของพรรคประชาธิปัตย์ได้กระทำ


โดย: ลำน้ำ C วันที่: 30 พฤษภาคม 2551 เวลา:0:03:07 น.  

 
(ต่อ)

ข้อ 4) นายวีรพงษ์ รามางกูร อ้างว่า พรรคประชาธิปัตย์เน้นแต่การทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ทุกวิถีทาง พรรคจึงกลายเป็นทาร์ซาน คอยโหนกระแส โหนทหาร ละทิ้งอุดมการณ์ประชาธิปไตย ละทิ้ง อุดมการณ์ทางกฎหมาย ความถูกต้อง จารีต ประเพณี ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ร่วมมือ กับทหารสร้างทางตันเพื่อเชื้อเชิญให้ทหารปฏิวัติ ทำลายรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พรรคฝ่ายตรงกันข้ามถูกยุบ ให้นักการเมือง ฝ่ายตรงกันข้ามถูกตัดสิทธิทางการเมือง



ข้อความข้างต้น นับเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ ขอปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง และขอให้นายวีรพงษ์ รามางกูร กลับไปค้นหาข้อเท็จจริงที่เป็นรูปธรรมมายืนยันว่า 1. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำอะไรที่เป็นการ ละทิ้งอุดมการณ์ประชาธิปไตย อุดมการณ์ทางกฎหมาย และความถูกต้องจารีตประเพณีในระบอบประชาธิปไตย 2. พรรคประชาธิปัตย์ได้ร่วมมือกับทหารฝ่ายใด หรือกลุ่มไหน ที่สร้างทางตันจนให้เกิดการรัฐประหาร ทำลายรัฐธรรมนูญ



การยกข้อกล่าวหามาใส่ร้ายกันลอยๆเช่นนี้ ไม่ควรเป็นวิสัยของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ในสังคมประชาธิปไตย ยิ่งเป็นการบิดเบือนอย่างจงใจด้วยแล้ว ยิ่งต้องทบทวนอย่างมากที่สุด



หากนายวีรพงษ์ รามางกูร หมายความว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งโมฆะเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นการละทิ้งอุดมการณ์ประชาธิปไตย หรือจารีตประเพณีของระบอบประชาธิปไตย ก็ขอให้นายวีรพงษ์ รามางกูร ทบทวนดูความเป็นมาเป็นไปของเหตุการณ์ก่อนและหลังการยุบสภาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ทบทวนดูถึงเหตุผล อ่านคำแถลง มติ และการชี้แจงต่อสาธารณชนครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างเป็นระบบของพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงขอให้กลับไปอ่านคำตัดสินของตุลาการรัฐธรรมนูญที่ปรากฏในคดียุบพรรคมาประกอบ ก็น่าจะทำให้เข้าใจข้อเท็จจริงได้รอบด้านมากขึ้น



นายวีรพงษ์ รามางกูร ควรจะตระหนักด้วยว่า สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศที่เดินเข้าสู่วิกฤตรุนแรงขึ้นเรื่อยๆนับจากการยุบสภาหนีความผิด หนีการตรวจสอบของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น คนทั้งโลกก็รู้ว่า มาจากการไม่กล้าเผชิญความจริงของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ฟังเสียงเรียกร้องของผู้คนในบ้านเมือง ไม่ฟังคำทักท้วงของผู้อาวุโส นักวิชาการ สื่อมวลชน ปัญญาชน รวมทั้งดื้อรั้นที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปโดยไม่ยืดหยุ่น ในสถานการณ์เช่นนั้นพรรคประชาธิปัตย์พยายามเสนอทางออกเพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย ไม่ฟังเสียง และปลุกม็อบขึ้นมาเผชิญหน้ากัน จนบ้านเมืองเกือบเข้าสู่กลียุค ใครกันแน่ที่พาประเทศไปสู่ความเลวร้ายเช่นนี้? ใครกันแน่ที่เป็นต้นเหตุของการสร้างเงื่อนไขไปสู่การรัฐประหาร



น่าแปลกที่เมื่อรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกล้มด้วยอำนาจรัฐประหาร นายวีรพงษ์ รามางกูร กลับโยนความผิดมาให้พรรคประชาธิปัตย์

กรณีที่นายวีรพงษ์ รามางกูร อ้างว่า “....พรรคประชาธิปัตย์ ประณามนโยบายและโครงการที่เป็นประโยชน์กับคนระดับล่าง ทั้งๆ ที่อยู่ในกรอบที่การเงินการคลังของประเทศรับได้ เพราะมีทุนสำรองระหว่างประเทศเหลือเฟือจนธนาคารแห่งประเทศไทยไม่อยากจะได้ ว่าเป็นโครงการ 'ประชานิยม' เท่ากับการทำลายเสียงของตนเองกับคนระดับล่างทั่วประเทศและจำกัดตัวเอง เพราะถ้าตนเองเป็นรัฐบาล ก็คงต้องทำ หรืออาจจะทำมากกว่า เพราะที่ใช้หาเสียงสัญญาว่าจะทำมากกว่า…” นั้น



พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยประณามนโยบายที่เป็นประโยชน์ แต่การที่พรรคประชาธิปัตย์หยิบยกความไม่ชอบมาพากลในการใช้ “นโยบายประชานิยม” ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เนื่องจากเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เป็นการใช้ทรัพยากรของประเทศมาต่อรองเพื่อประโยชน์ของคะแนนนิยมอย่างเดียว โดยไม่ได้สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน หวังที่จะให้ประชาชนตกเป็นผู้รอรับการช่วยเหลือ เป็นบุญคุณจากรัฐบาลอย่างเดียว โดยเฉพาะการต่อรองที่เลวร้ายสามานย์ที่สุดคือ การข่มขู่ว่าจังหวัดใดไม่เลือกพรรคไทยรักไทย ต้องรอการพัฒนาไปก่อน นอกจากนั้นโครงการประชานิยมทั้งหลายก็ปรากฏให้เห็นในภายหลังแล้วว่า ล้วนแล้วแต่ไปเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจให้กับพ่อค้า นักธุรกิจ ในเครือข่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและพวกพ้องบริวารทั้งสิ้น สิ่งนี้นักวิชาการบริสุทธิ์จำนวนมากก็ออกมาแสดงความห่วงใยกันมากมาย แต่นายวีรพงษ์ รามางกูร กลับไม่ตระหนัก



ขณะเดียวกันแนวทางแก้ปัญหาของพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูก นายวีรพงษ์ รามางกูร อ้างว่าเป็นประชานิยมยิ่งกว่านั้น น่าจะหมายถึง นโยบายเรียนฟรี และนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ60ปี ขึ้นไป เรื่องนี้เป็นข้อกล่าวหาในน้ำเสียงและระนาบเดียวกับคนจากพรรคพลังประชาชน ที่ไม่ได้สนใจนำเสนอนโยบายต่อประชาชนในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่า ประชาชนของประเทศนี้ควรจะได้รับสิทธิในสวัสดิการและบริการจากรัฐโดยเท่าเทียมกัน โดยไม่ต้องรอให้รัฐบาลมาหยิบยื่นให้เป็นครั้งๆคราวๆ การวางรากฐานโอกาสทางการศึกษาที่เทียมกัน โดยรัฐจัดสวัสดิการให้โดยลงทุนในเรื่องค่าเล่าเรียน อุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสม รวมถึงการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง จึงเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของประเทศ การลงทุนเพื่อการศึกษาให้คนของชาตินั้นเป็นการลงทุนที่ทำให้ดอกผลในวันข้างหน้าเกิดขึ้นกับประเทศชาติโดยรวมอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งจากรัฐ ก็เป็นภารกิจเร่งด่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องเข้าไปดูแล เพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพลเมืองของประเทศ สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้คู่แข่งทางการเมืองหรือผู้มีทัศนคติเป็นลบกับพรรคประชาธิปัตย์ไม่สบายใจ แต่ก็เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนไม่ใช่หรือ?



ข้อ 5) นายวีรพงษ์ รามางกูร ระบุว่า “....พรรคประชาธิปัตย์เป็น พรรคปิด มีระบบอาวุโสที่เหนียวแน่น สมาชิกใหม่ให้อยู่ระดับล่าง หรือในสภาก็อยู่แถวหลังหรือที่อังกฤษเรียกว่า 'Back Benchers' แต่อังกฤษผู้นำพรรคที่นำ พรรคไปแพ้เลือกตั้งจะลาออกเกือบหมด เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มาแทน แต่ของเราไม่มีประเพณีอย่างนั้น สมาชิกรุ่นใหม่จึงไม่มีโอกาสมานำพรรค ผู้นำพรรค ไม่มุ่งจะทำพรรคให้ชนะการเลือกตั้ง เพียงแต่ได้ ส.ส.มากเพิ่มขึ้นก็พอใจจะอยู่ในตำแหน่ง ต่อไปแล้ว…”



เรื่องนี้ขอชี้แจงว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปทุกครั้งพรรคประชาธิปัตย์ กำหนด นโยบาย และยุทธศาสตร์เพื่อการเลือกตั้งอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยมีการนำองค์ประกอบทางด้านสถานการณ์ทางการเมือง รวมถึงคู่แข่งขันมาศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียด ในการเลือกตั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา คือ ปี 2544, 2548 และ 2550 พรรคประชาธิปัตย์มียุทธศาสตร์หลักคือการเข้าไปเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยคำนึงถึงความพร้อมใน 2 ด้านหลัก คือ 1.นโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและความเป็นจริงของประเทศ 2.บุคคลากรที่เหมาะสมในการทำหน้าที่ต่างๆ ทุกครั้งในการเลือกตั้งพรรคฯได้เตรียมความพร้อมเหล่านี้อย่างจริงจัง



ดังนั้นเมื่อผลการเลือกตั้งออกมา จำนวนที่นั่งส.ส.ของพรรคไม่สามารถเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า นโยบาย หรือบุคลากรของพรรคที่เตรียมไว้สำหรับการเป็นฝ่ายบริหารจะหมดค่าไปพร้อมกับผลการเลือกตั้ง แต่พรรคก็จะปรับโครงสร้างและมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหาร ในเวลาที่เหมาะสม เช่นที่กำลังจะมีการประชุมใหญ่ในเดือนกรกฎาคม 2551 นี้ ก่อนที่คณะกรรมการบริหารจะครบวาระ 1 ปี นายวีรพงษ์ รามางกูร ต้องเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆทั้งนโยบายและบุคคลากรของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นไปตามกลไกและกระบวนการประชาธิปไตยภายในพรรค ภายใต้กฎเกณฑ์อันเป็นที่ยอมรับของมวลสมาชิก ไม่ใช่การหวั่นไหวไปตามเสียงกระแนะกระแหนจากคู่แข่งขันทางการเมือง



นายวีรพงษ์ รามางกูร อ้างว่า “...พรรคฝ่ายตรงข้ามกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่เน้นในเรื่องผลงานทางเศรษฐกิจของผู้ออกเสียง เน้นคะแนนนิยมในตัว ส.ส. เน้นการเมืองที่มีผลสำเร็จของการเลือกตั้ง เน้นทางด้านการหาเงินช่วยพรรค จึงมีการสับเปลี่ยนตัวผู้นำพรรคระดับรองๆ ลงไปอยู่ตลอดเวลา พรรคฝ่ายตรงกันข้ามจึงสามารถ 'ดูด' นักการเมืองให้เข้าพรรคได้มากขึ้นเสมอ ....” คำถามที่ต้องย้อนกลับไปก็คือ บทบาทของพรรคฝ่ายตรงข้ามตามแนวคิดของนายวีรพงษ์ รามางกูร ควรจะเป็นทิศทางของการพัฒนาพรรคการเมืองจริงๆหรือ? การเปลี่ยนแปลงผู้นำพรรคของพรรคการเมืองที่ว่าในวันนี้ เกิดขึ้นเพราะอะไร? และการสร้างพรรคการเมืองที่เน้นบทบาทของผู้ให้เงินสนับสนุนพรรค ได้สร้างวงจรอุบาทว์ทำความเสียหายให้กับการเมืองของประเทศนี้รุนแรงขนาดไหน นายวีรพงษ์ รามางกูร ไม่ได้นำเอาข้อเท็จจริงมาตรวจสอบเลยหรือ?



ข้อ 6) นายวีรพงษ์ รามางกูร คิดว่า “...พรรค(ประชาธิปัตย์)ไม่เคยหวังว่าจะชนะการเลือกตั้งและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้พรรคเดียว หวังแต่เพียงเป็นแกนนำของรัฐบาลผสม เมื่อหวังเพียงเท่านี้ก็ทำให้มีทัศนคติว่า ถ้าสามารถทำลายพรรคคู่แข่งไม่ให้ลงมาแข่งในการเลือกตั้งก็พอแล้ว…” ซึ่งคงไม่จำเป็นต้องอธิบายตอบโต้ เพราะสะท้อนให้เห็นว่านายวีรพงษ์ รามางกูร ไม่เคารพกับข้อเท็จจริง ละเลยการสืบค้นข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ในทุกด้าน แม้แต่ข้อมูล ข้อเท็จจริงในระยะใกล้ๆที่เพิ่งผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอตัวเป็นผู้นำพาประเทศก้าวพ้นภาวะวิกฤตทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ด้วยการนำเสนอนโยบาย แนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างเป็น รูปธรรม นายวีรพงษ์ รามางกูร กลับไม่ให้ความสนใจ ทำให้ทัศนะผ่านข้อเขียนดังกล่าวเต็มไปด้วยความคับแคบและคลาดเคลื่อน



อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณนายวีรพงษ์ รามางกูร ที่สะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ผ่านคอลัมน์ประจำของตนเอง เพราะได้ทำให้ได้เข้าใจและรู้จักผู้เขียนดีขึ้น พรรคประชาธิปัตย์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในการแสดงความคิดเห็นครั้งต่อๆไป นายวีรพงษ์ รามางกูร จะมีความซื่อสัตย์และให้ความเคารพในข้อเท็จจริง มองปรากฎการณ์แต่ละเรื่องแต่ละประเด็นอย่างรอบคอบ รอบด้านมากขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ยินดีที่จะให้ข้อมูลและความจริงเพื่อสนับสนุนการทำหน้าที่ของนายวีรพงษ์ รามางกูร ในฐานะผู้เขียนคอลัมน์ได้สมบูรณ์เป็นประโยชน์กับผู้อ่านมากกว่าที่เป็นอยู่



ขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมจะปรับปรุง พัฒนาตนเอง เพื่อให้เป็นพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่สามารถทำหน้าที่ดูแลรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง สมกับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศคาดหวัง



จึงเรียนมาเพื่อได้รับทราบ



พรรคประชาธิปัตย์

29 พฤษภาคม 2551


//www.settomorrow.com/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&Category=settomorrowcom&thispage=&No=326100


โดย: ลำน้ำ C วันที่: 30 พฤษภาคม 2551 เวลา:0:04:45 น.  

 
ลงชื่อไว้ก่อนนะคะ
ขอบคุณที่แวะไปอ่านนิยายบันทึกค่ะ


โดย: tiki_ทิกิ วันที่: 8 มิถุนายน 2551 เวลา:22:44:54 น.  

 
หวัดดีค่ะ พี่ดีเจ

เข้ามาอ่านค่ะ แต่ก็ไม่ชอบ ปชป
อยู่ดีค่ะ น้องคิดว่า บ้านเมือง เป็นอย่าง ทุกวันนี้ ปชป มีส่วน อย่างมากค่ะ


โดย: สุนันยา วันที่: 20 มิถุนายน 2551 เวลา:11:53:25 น.  

 
๐ ยาม..โรยแรง อ่อนเน้น......เอนนอน
ไล่..ดับ เทียนบางตอน..........หลับได้
ใย..นอนหลับ นับหลอน.........ลืมสั่ง
ลาม..ตื่น รื่นตาม ให้..............สุขด้วยนิทรา ๚ะ๛

ราตรีสวัสดิ์ขอรับพี่น้องครับ อิอิ



โดย: คนสาธารณะ วันที่: 21 มิถุนายน 2551 เวลา:1:23:27 น.  

 


๐ วันอาทิตย์ หวิด ห้วง..........อาถรรพ์
สายก่อน ซอนกาย ฝัน..........ห่มผ้า
หยุดนอน หย่อนนุช ยัน.........ยามหนึ่ง
คึกหน่อย คอยนึก คว้า..........กอดผ้าห่มหมอน ๚ะ๛
บ้านโคลงผวน


โดย: คนสาธารณะ วันที่: 23 มิถุนายน 2551 เวลา:1:36:40 น.  

 
หวัดดีค่ะ พี่ดีเจ
สบายดีนะคะ ช่วงนี้
ทาง กทม. แย่ๆๆๆๆๆๆค่ะ




โดย: สุนันยา วันที่: 24 มิถุนายน 2551 เวลา:18:21:51 น.  

 


งานหนักพักผ่อนบ้าง.....คนเรา หายเหนื่อยพอบรรเทา....อ่อนล้า วันรุ่งค่อยรับเอา.........งานใหม่ พี่เอย ยามว่างหากเหว่หว้า.....นั่งร้องเพลงครวญ (สุนันยา)



โดย: สุนันยา วันที่: 25 มิถุนายน 2551 เวลา:20:15:22 น.  

 

มองเวลารีบแจ้น................ทันที
นอนตื่นมาพอดี.................แจ่มแจ้ง
ตะวันโด่งส่องสี.................สว่าง จางปาง
น้ำท่าอาบประแป้ง.............รีบร้อนทำงานฯ



โดย: สุนันยา วันที่: 29 มิถุนายน 2551 เวลา:11:04:42 น.  

 
สุริยาเบิกฟ้า.......................ยามอรุณ
แสงอ่อนนวลละมุน.............ส่องหล้า
นภาผ่องแสงบุญ.................กระจ่าง ใจเอย
ผุดผ่องปลายฟากฟ้า.........ส่องเส้นทางไกล ฯ



โดย: สุนันยา วันที่: 1 กรกฎาคม 2551 เวลา:8:41:14 น.  

 

 ใกล้เที่ยงแล้ว ทานข้าวด้วยนะจ๊ะ



โดย: สุนันยา วันที่: 2 กรกฎาคม 2551 เวลา:11:49:16 น.  

 
จัทราแสงส่องหล้า...................คืนเหงา
เมฆบดบังแสงเงา....................เจิดจ้า
รัศมีอ่อนแสงเบา.....................ริบหรี่ จริงเอย
ดังเช่นถูกปิดฟ้า......................ว่าด้วยมือมารฯ







โดย: สุนันยา วันที่: 9 กรกฎาคม 2551 เวลา:21:48:58 น.  

 
ตะวันลับฟากฟ้า..................ไกลเอย
แสงดับลับลาเลย................แผ่นหล้า
อรุณรุ่งมิเมินเชย.................เช้าส่อง แสงแล
สว่างพราวเจิดจ้า.................ทั่วฟ้าอำไพฯ

ราตรีสวัสดิ์ ค่ะ พี่ดีเจ


โดย: สุนันยา วันที่: 10 กรกฎาคม 2551 เวลา:20:58:28 น.  

 
ยามอาทิตย์.....ร้อนแรง.....แฝงอาฆาต
ความพินาศ.....ก็เข้ามา.....พาขื่นขม
อีกพายุ.....พัดกระหน่ำ.....ซ้ำระงม
ทุกข์ระทม.....ทั่วหน้า.....ประชาชี.......


หวัดดีวันหยุดค่ะ
มีความสุข มากๆ นะคะ




โดย: สุนันยา วันที่: 13 กรกฎาคม 2551 เวลา:10:07:49 น.  

 
๐ พึงนุช พุธหนึ่ง น้อง........นางเหงา
ใครหนอ คลอไหน เยา-.....วเรศน้อง
ไผกัน ฝันไกล เนา...........คอยอุ่น
คลึงจิต คิดจึง ต้อง...........ต่อด้นโคลงหา ฯ

22.20
16/07/51






โดย: คนสาธารณะ วันที่: 17 กรกฎาคม 2551 เวลา:0:34:51 น.  

 
ส่งใจยามราตรี
สวัสดีมาถึงถิ่น
หวังว่าคงได้ยิน
ฝากเมฆิน บอกพี่ที

เดือนเพ็ญเย็นแสงส่อง
นภาผ่องเรืองรองศรี
บ๊ายบายยามราตรี
ค่ำคืนนี้ หลับสบาย/..


ราตรีสวัสดิ์ค่ะ พี่ ดีเจ



โดย: สุนันยา วันที่: 18 กรกฎาคม 2551 เวลา:20:46:57 น.  

 
๐ ศุกร์ไหน ใช่หนุก สร้าง..คำโคลง เขียนรับ ขับเรียน โยง...ผูกย้ำ เซียนโคลง โสร่งเคียน...เอวหนีบ ขลุกรส ขดลุก ซ้ำ...สืบเชื้อโคลงผวน ...คนสาธารณะ... ..เจริญธรรมวันเข้าพรรษาขอรับ..


โดย: คนสาธารณะ วันที่: 19 กรกฎาคม 2551 เวลา:1:46:30 น.  

 
แสงทองส่องฟากฟ้า
รุ่งทิวาฟ้าเปลี่ยนสี
เช้าใหม่ สวัสดี
ขอให้มีความสุขใจ


สุรีย์แสงสีสด
งามหมดจด สว่างใส
นวลผ่องส่องฟ้าไกล
นภาลัยให้งามเอย/..


สวัสดี ยามสายค่ะ พี่ดีเจ
มีความสุข มากๆนะคะ



โดย: สุนันยา วันที่: 19 กรกฎาคม 2551 เวลา:8:55:55 น.  

 
ดวงดาวพราวพร่างฟ้า..................ราตรี
ประดับล้อมรัศมี.........................แจ่มแจ้ง
วาววับดั่งอัญมณี........................แสงส่อง
กระจ่างทั่วแผ่นฟ้า......................บ่ล้างลืมแสงฯ


ราตรีสวัสดิ์ ค่ะพี่ดีเจ





โดย: สุนันยา วันที่: 20 กรกฎาคม 2551 เวลา:20:43:20 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Chi River
Location :
อุบลราชธานี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





Welcome
{ { สมุดเยี่ยม } }





เปิดประตูต้อนรับ..ครับทุกท่าน!!
ลำน้ำ C สายธาร เย็นชุ่มฉ่ำ
แวะพักใจ พักกาย จากงานทำ
ตกเย็นค่ำ สนธยา ค่อยลาไกล

มีเรื่องราว อันใด ให้เล่าสู่
มิตรภาพ ทุกผู้ ผ่านมาใกล้
แม้ขาดตก บกพร่อง ประการใด
โปรดอภัย ให้ลำน้ำฯ ยามไหลวน

ลำน้ำฯยังเย็นใสรินไหลหลั่ง
งามสะพรั่งสองฝั่งพฤกษ์ไพรสนณ์
มวลพฤกษาสาระพัดจัดให้ยล
แปลงผักท้นฟักแฟงพริกแตงไทย

มะเขือเทศตะไคร้ข่าคะน้าถั่ว
ปลูกถ้วนทั่วหอมกระเทียมผักคึ่นไช่
ผักกาดขาวกล่ำปีที่กินใบ
วิถีไทชาวบ้านทุกชานเรือน

ฤดูร้อนแห้งแล้งอยู่กันได้
ปรับตัวให้ธรรมชาติเสมือนเพื่อน
ต่างพึ่งพาอาศัยใครมาเยือน
วันปีเดือนเพาะปลูกผูกน้ำใจ
...
ฉันวันนี้
เปรียบเหมือนสาย นที ยังรี่ไหล
ผ่านโขดเขิน เนินผา มาแสนไกล
ผจญภัย แดดฝน ทนร้อนเย็น

ขอขอบคุณ ห้วยหนอง คลองสาขา
สร้างลำน้ำฯ ไหลบ่า ให้คนเห็น
ขอบคุณดิน ฝนฟ้า พาร่มเย็น
ธรรมชาติ ขีดเส้น เป็นอาภรณ์

ฉันวันนี้
ล่วงเลยมา หลายปี เริ่มผุกร่อน
ตลิ่งเว้า แหว่งหาย กายบั่นทอน
มีเขื่อนซ้อน พนังกั้น คั่นต้านทาน

สายน้ำไม่ ไหลหวน หมุนทวนกลับ
แต่แปรปรับ สถานะ ตามสสาร
ยามน้ำแห้ง- น้ำมาก หลากเหตุการณ์
ได้ประสบ พบพาน แล้วผ่านไป




ผู้มีอุปการะคุณ


Color Codes ป้ามด

* Freepik : แบ็คกราวด์และรูปประกอบ

* Pixabay : รูปภาพความละเอียดสูงฟรี

* Postjung.com : สร้างกริตเตอร์ สวยๆ วิ๊งๆ


Friends' blogs
[Add Chi River's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.