ชนะคนอื่นเป็นร้อย ยังไม่ยากเท่าชนะตนแค่คนเดียว...
รู้ทันรับทันความโกรธ

"รู้ทันรับทันความโกรธ"
โดย รศ.กนกรัตน์ สุขะตุงคะ

ความโกรธ ความหมาย
ความโกรธเป็นอารมณ์ปกติที่พบได้ในคนที่มีสุขภาพอารมณ์สมบูรณ์ แต่เมื่อควบคุมไม่ได้มันจะกลายเป็นพลังทำลาย ทำนายไม่ได้และนำไปสู่ปัญหาต่างๆ เช่นความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ปัญหาในที่ทำงานและคุณภาพชีวิต

สัญญาณของความโกรธ
    หัวใจเต้นแรงและเร็ว หน้าอกกระเพื่อมมากขึ้นเพราะหายใจเร็วขึ้นเหมือนจะหายใจไม่พอ สิ่งที่ตามมาคือกล้ามเนื้อตึงตัวและเกร็งไปทั่วตัว ทำให้ความร้อนมากขึ้น ตัวร้อนขึ้นและเหงื่อออกมากมายธรรมชาติของความโกรธ เป็นภาวะอารมณ์ที่มีความเข้มข้นแตกต่างกันตั้งแต่โกรธน้อยๆ แค่มีความหงุดหงิด จนถึงรุนแรงมากถึงเถื่อน ตรงกันข้ามในกรณีที่มีนิสัยเก็บกดมากเกินไป ความโกรธที่สะสมอยู่อาจเปลี่ยนเป็นความเศร้า ล้า หมดเรี่ยวแรง และแยกตัวได้ ความโกรธนอกจากจะส่งผลถึงพฤติกรรมแสดงออกแล้วยังส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงทางชีวะและสรีระ เช่นหัวใจเต้นแรงและเร็ว รู้สึกใจสั่น ความดันโลหิตสูงขึ้น หน้าแดงกล้ามเนื้อเกร็งถ้าเป็นมากๆอาจจะมีอารมณ์พลุ่งระเบิดคำพูดหรือการกระทำออกมาโดยขาดการควบคุม

ความโกรธประกอบด้วย 5 ลักษณะใหญ่ๆ
    - โกรธคนอื่น
    - ถูกคนอื่นโกรธ
    - โกรธตัวเอง
    - ความโกรธที่ค้างจากอดีต ถ้ามีอะไรมาสะกิดก็จะออกมา
    - ความโกรธที่เป็นนามธรรม ที่มาที่ไปอาจจะซับซ้อนจนต้องการผู้เชี่ยวชาญมาช่วยวิเคราะห์

สาเหตุ : เกิดได้จากทั้งภายในและภายนอกตัว เช่นความห่วงใย กังวล หรือวิตกกังวลกับปัญหาส่วนตัวบางอย่าง หรือการพบกับเหตุการณ์ที่กระตุ้นความทรงจำเก่าๆที่เจ็บปวด รวมทั้งความรู้สึกว่าถูกบีบให้จนมุม หรือไม่ได้รับความยุติธรรม

การแสดงออก : ใช้กระบวนการทางจิตใจทั้งระดับรู้ตัวและไม่รู้ตัว โดยที่กฎหมาย มาตรฐานสังคม ขนบธรรมเนียมประเพณี และกาลเทศะ เป็นตัวกำหนดว่าเราจะปลดปล่อยความโกรธออกมาได้เท่าใดและอย่างไร การแสดงออกหลักๆของความโกรธได้แก่ ปล่อยออกมาตรงๆ หรือเก็บกดทำเป็นเฉย พฤติกรรมพื้นฐานที่สุดคือก้าวร้าว การบริหารความโกรธ ทำโดยลดอารมณ์โกรธของตัวเองโดยสร้างความสามารถในการอดทนให้เข้มแข็งขึ้น หรือลดสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดอารมณ์โกรธ ถ้าลดไม่ได้ก็เลี่ยงการเผชิญหน้าออกไปชั่วคราว

ทำไมแต่ละคนจึงมีความโกรธไม่เหมือนกัน พันธุกรรม เป็นปัจจัยอันหนึ่ง คนที่มีความอดทนต่อความคับข้องใจได้น้อยมักเป็นคนโกรธง่าย การเลียนแบบบุคคลสำคัญหรือผู้ที่ใกล้ชิดก็มีผล ซึ่งปฏิกิริยาของความรู้สึกโกรธจะมากน้อยเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะปรับตัวและการมีที่ปรึกษาหรือผู้ช่วยดูแลหรือไม่อย่างไร สิ่งแวดล้อมก็มีความสำคัญ อิทธิพลจากสังคมวัฒนธรรม ค่านิยมของแต่ละสังคมเป็นตัวกำหนดการแสดงออกด้วยเช่นกัน

กลยุทธ์ในการจัดการกับความโกรธ
     เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าอารมณ์โกรธกำลังเพิ่มพลัง ให้นึกถึงความจริงที่ว่าอารมณ์โกรธเป็นเรื่องธรรมชาติและเป็นตัวที่บอกถึงการมีสุขภาพดีการที่ไม่รู้สึกโกรธเลยต่างหากเป็นเรื่องของความไม่ปกติ ทั้งนี้เพราะความโกรธเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเจ็บปวดทางกายและอารมณ์ ในช่วงชีวิตของคนเราเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพบกับความไม่ถูกใจหรือผิดหวังในสิ่งที่ต้องการ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีอารมณ์โกรธเลย แต่สิ่งที่ควรทำคือการเรียนรู้วิธีที่จะบริหาร ควบคุมหรือระบายความโกรธออกมาอย่างเหมาะสมต่างหาก
     เทคนิคต่างๆต่อไปนี้สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล วิธีการหนึ่งอาจจะได้ผลในคนคนหนึ่งแต่อาจจะไม่ได้ผลในอีกคนก็ได้เป็นเรื่องปกติเพราะคนเรามีจริตต่างกัน
     1. การสร้างความผ่อนคลาย เมื่อความโกรธทำให้เกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ สิ่งที่เป็นตัวแก้ก็คือภาวะที่ตรงกันข้ามนั่นก็คือการคลายตัวของกล้ามเนื้อ ซึ่งทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
       • ฝึกการหายใจที่ถูกต้อง การหายใจที่ถูกต้องจะได้ปริมาณออกซิเจนเหมาะสมเพียงพอต่อความผ่อนคลายของร่างกาย ทำได้โดยหลับตาลงเบาๆ หายใจเข้าออกลึกๆช้าๆสัก 5-10 นาที เทคนิคคือเมื่อหายใจเข้าช้าๆจนท้องป่องแล้วก็กลั้นไว้สักครู่โดยการนับ 1-5 ตามจังหวะวินาทีแล้วค่อยๆระบายลมหายใจออกมาช้าๆทางจมูกหรือทางปากก็ได้ตามสะดวก การหายใจที่ถูกต้องจะช่วยการเต้นของหัวใจให้ช้าลงและกล้ามเนื้อคลายตัว ซึ่งร่างกายจะส่งสัญญาณความสบายนี้ไปสมองทำให้อารมณ์เย็นลง
       • การผ่อนคลายกล้ามเนื้อด้วยการยืดหดเบาๆส่วนต่างๆของร่างกายไม่ให้เกิดความตึงเครียดทำได้หลายวิธีเช่นออกกำลังหรือเล่นกีฬาเบาๆ เดินเร็วๆ ทำให้ endorphins ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้สงบและมีความสุขหลั่งออกมา
       • การจินตนาการสั้นๆเรื่องที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายสบายใจเพื่อได้เปลี่ยนสภาวะจากความเครียดมาให้ได้มีความสุขระยะหนึ่ง

ตัวอย่าง
ใช้เวลา 10 นาที ทำต่อไปนี้
หลับตาสร้างจินตนาการให้ไปอยู่ในสถานที่และเห็นสิ่งที่คุณชอบหรือรู้สึกดีๆด้วย เป็นอะไรที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีจริงก็ได้ ให้มีสมาธิรับรู้แต่สิ่งนั้นเท่านั้น แล้วอยู่กับสิ่งนั้นอย่างสงบ ไม่ต้องฟังเสียงจากที่อื่น ใช้อวัยวะสัมผัสของคุณทุกส่วนรับรู้บรรยากาศทั้งหมดทั้งเสียง กลิ่น ภาพ สัมผัสและรสชาติในสิ่งที่คุณจินตนาการถึงให้ชัดเจนเหมือนกับว่าคุณกำลังอยู่ที่นั่นจริงๆ เก็บความสุข ความสบายใจ ผ่อนคลายตัวเองให้มากที่สุด จนเมื่อรู้สึกสบายใจอารมณ์ดีแล้วก็ให้มาสนใจอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายทีละส่วนตั้งแต่หน้าผากเรื่อยลงมาถึงนิ้วเท้า บอกให้อวัยวะแต่ละส่วนที่กำลังนึกถึงนั้นผ่อนคลายลง เมื่อครบทั่วตัวแล้วให้พูดกับตัวเองว่า ฉันรู้สึกผ่อนคลายทั่วตัว สบายใจ สามารถควบคุมอารมณ์ได้ และพร้อมจะปฏิบัติภารกิจต่างๆได้อย่างมีชีวิตชีวาและเต็มพละกำลัง หลังจากนั้นให้นับถอยหลังช้าๆจาก 6 ลงมาโดยขยับแขนขาเนื้อตัวเบาๆไปด้วยเพื่อให้รู้สึกตัว เตรียมกลับมาสู่ภาวะปกติ เมื่อนับถึง 1 ก็ค่อยๆ ลืมตา แล้วลุกขึ้นช้าๆ
      2. เทคนิคแก้ปัญหาด้วยตนเอง บอกตัวเองว่าการต้องแก้ปัญหาให้สำเร็จทุกครั้งไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป เพราะจะเป็นการกดดันตัวเองโดยไม่จำเป็น ควรให้ความสำคัญกับการจัดการและวิธีการเผชิญปัญหาที่เหมาะสมกับกาลเทศะ ถ้าแก้ไม่ได้ก็ไม่ต้องโทษตัวเองถ้าได้ทำดีที่สุดแล้ว หรือลองมองสถานการณ์ที่ทำให้โกรธใหม่ว่ามันเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็พบได้ในขณะที่คนอื่นๆเห็นเป็นเรื่องปกติหรือไม่กดดันทำไมคุณถึงรู้สึกรุนแรงกว่าคนอื่น แล้วแก้ปัญหาให้ตรงประเด็น
      3. สร้างการสื่อสารที่ดี ถ้าเริ่มรู้สึกมีอารมณ์โกรธขณะพูดคุยกัน ให้ทำตัวเองช้าลงเพื่อลดระดับอารมณ์ ระมัดระวังคำพูดมากขึ้น ฟังอย่างตั้งใจ และไม่ด่วนสรุป คิดก่อนตอบออกไป ถ้าเห็นว่าบรรยากาศไม่ดีให้พักและใช้เรื่องตลกเบาๆเบรกความตึงเครียด
      4. สร้างสมดุลอารมณ์ พยายามบอกตัวเองให้นิ่งก่อนโดยการหายใจเข้าออกช้าๆให้สมาธิไปอยู่ที่ลมหายใจ สักพักหนึ่งค่อยหายใจตามปกติ อย่าใจร้อนหรือใช้คำพูดเสียดสีแบบสะใจ เพราะจะสร้างปัญหาซ้อนขึ้นมา อาจจะใช้อารมณ์ขันเข้าช่วย แต่มีข้อที่ต้องระมัดระวังคือเรื่องของกาลเทศะและอย่าพยายามฝืนหัวเราะ เพราะจะรู้สึกแย่มากขึ้น
      5. เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ถ้ารู้สึกว่าจะระเบิด ขอเวลานอกแยกตัวออกมาอยู่ตามลำพัง 5 – 10 นาทีเพื่อสงบตัวเอง ควรจะไปนั่งที่อากาศปรอดโปร่ง หรือในห้องที่สบายๆ เปิดเพลงฟังให้ใจเย็นลง จิบน้ำให้สดชื่น หรือเล่นกับสัตว์เลี้ยงตัวโปรด ถ้าไม่ดีขึ้นอาจจะต้องทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อปลดปล่อยแรงขับภายในออกมาเช่น ขุดดินปลูกต้นไม้ เล่นกีฬาที่ต้องออกแรงเหวี่ยงออกไป
      6. ยอมรับความจริงและหาตัวเลือกอื่น บางครั้งคนเราก็ไม่สามารถไปจากสิ่งเร้าที่ทำให้รู้สึกโกรธได้ด้วยข้อจำกัดส่วนตัวดังนั้นควรยอมรับในสิ่งที่แก้ไขไม่ได้แล้วพยามยามปรับตัวอยู่กับสิ่งนั้นอย่างเข้าใจหรือหาทางเลือกอื่นๆที่มีโอกาสทำได้สำเร็จมากกว่า ก็จะได้บางสิ่งบางอย่างเป็นการชดเชยแทน
      7. ระวังความคิดอัตโนมัติ คนเราเวลาพบกับสิ่งที่ทำให้โกรธมักคิดเข้าข้างตัวเองว่ามันไม่ควรเป็นอย่างนั้น ไม่ยุติธรรมเลย ความคิดแบบนี้จะกระตุ้นให้โกรธเร็วและแรงขึ้น และตัวเองก็ไม่คิดจะแก้ปัญหาเพราะเห็นว่าตัวเองไม่ได้รับความยุติธรรม ตัวเองตกเป็นเหยื่อ หรือถูกกระทำ รู้สึกสงสารตัวเอง ผลที่เกิดขึ้นก็คือนอกจากจะไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้นแล้วยังเป็นการผลักใสคนที่อยากช่วยออกไปทางอ้อมอีกด้วย
      8. ขอคำปรึกษาผู้ที่ไว้วางใจหรือผู้เชี่ยวชาญ ให้ทำทันทีเมื่อรู้สึกว่าควบคุมตัวเองไม่ได้จนมีผลกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและเรื่องสำคัญในชีวิต หรือเมื่อคุณไม่เข้าใจคำพูดที่ว่า “ คนเรามีความผิดหวัง เจ็บปวด และเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอซึ่งเราเปลี่ยนมันไม่ได้ แต่เราก็สามารถเปลี่ยนตัวเองให้แข็งแกร่งพอที่จะต่อกรหรืออยู่กับมันได้ ”

ความโกรธกับการใช้สารเสพติด
     คนบางคนไม่รู้จะจัดการกับความโกรธอย่างไรก็เลยใช้วิธีแช่แข็งมันโดยผลักไปเก็บไว้ในใจที่บางคนเรียกว่าเก็บกด ให้ดูเหมือนไม่มีมันอยู่ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ เพราะมันคือระเบิดที่รอวันปะทุ ผู้ที่มีโอกาสติดสารเสพติดไม่รู้ว่าตัวเองมีปัญหาด้านความโกรธ และไม่ได้คิดว่าปัญหาความโกรธเกี่ยวข้องกับการติดเหล้า ยา หรือสารเสพติด เพราะเหล้า ยาหรือสารเสพติดอื่นๆจะช่วยหลอกว่าใช้แล้วสบาย ผ่อนคลาย แม้ว่าเมื่อหมดฤทธิ์ยาปัญหาก็คงยังอยู่ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่สบายใจก็กลับจำได้ว่าเมื่อใช้ยาหรือสารเสพติดนั้นแล้วจะสบายใจขึ้นจึงวนเวียนกลับไปใช้อยู่ จนเกิดการดื้อยาทำให้ต้องเพิ่มขนาดขึ้นตามเวลาที่ผ่านไปและในที่สุดก็ขาดมันไม่ได้ซึ่งเมื่ออยู่ในภาวะเสพติดจนขาดสติสัมปชัญญะอารมณ์รุนแรงก็จะระเบิดออกมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ความโกรธกับโรคซึมเศร้า
     เรามักจะคิดว่ามันคนละเรื่อง เพราะดูเหมือนแตกต่างกันอย่างสุดโต่ง เพราะคิดว่าถ้าได้ระบายความโกรธออกมาแล้วจะโล่งใจและมันน่าจะมีความสุขมากกว่าแต่ในความเป็นจริงลองกลับไปดูอารมณ์จริงๆ หลังจากระบายออกไป จะเห็นได้ว่ามันโล่งก็จริงแต่หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยคือความรู้สึกผิด และเสียใจ บางคนกลับมาโกรธตัวเองว่าไม่รู้จักระงับอารมณ์ เสียภาพลักษณ์ ขาดวุฒิภาวะฯ และที่ร้ายที่สุดคืออาจจะทำให้เสียโอกาสดีๆในชีวิตไปตรงกันข้ามคือการที่ไม่แสดงอารมณ์โกรธเลยเพราะคิดว่าดูไม่ดีหรือกลัวว่าจะไม่ได้รับการยอมรับจากคนอื่น ดังนั้นเมื่อมีเรื่องที่ทำให้โกรธก็จะเก็บกดตลอดเวลาใบหน้าจะเปื้อนยิ้มอยู่เสมอ แต่ถ้าสังเกตดีๆจะเห็นว่าอมทุกข์อยู่ภายใน ความโกรธไม่ได้หายไปไหนจะสะสมพอกพูนอยู่ในตัวรอวันระเบิดเมื่อหมดแรงกดหรือเมื่อมันเต็มล้นเหมือนกาน้ำที่ปิดฝาสนิทตั้งอยู่บนเตาไฟตลอดเวลาทั้งสองกรณีดังกล่าวข้างบนล้วนทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ทั้งคู่ทั้งนี้เพราะความคิดที่สุดโต่งทั้งสองด้านคือ ด้านหนึ่งก็โพล่งออกมาตรงๆแล้วเสียใจภายหลัง แต่อีกด้านหนึ่งคือเก็บกดเอาไว้จนมันระเบิดออกมาอย่างรุนแรง และจบลงด้วยความเสียใจของตนเองและคนที่เกี่ยวข้อง

ความสัมพันธ์ระหว่างความเศร้าและอารมณ์โกรธ
     ความรู้สึกเบื่อ เหงา หดหู่ใจ ท้อแท้ หมดหวัง รู้สึกไม่มีคุณค่า รู้สึกผิด ไม่สามารถควบคุมความคิดในแง่ร้ายของตัวเองได้แม้จะพยายามแค่ไหนก็ตาม สมาธิไม่ดี ความจำเสีย อะไรที่เคยทำได้ง่ายๆกลับเป็นเรื่องยาก น้ำหนักลดหรือเพิ่มผิดปกติ การนอนหลับผิดปกติ อาจจะตื่นกลางดึกและไม่สามารถหลับต่อได้หรือนอนหลับมากเกินไป มีอาการปวดตามที่ต่างๆในร่างกายโดยหาสาเหตุไม่ได้ เหล่านี้เป็นอาการที่พบทั่วไปในผู้ป่วยซึมเศร้า แต่คนที่ความโกรธและเป็นแรงขับให้เกิดความเศร้าจะไม่เหมือนการโกรธทั่วๆไป แต่จะเป็นความโกรธที่ผสมความเกลียดทั้งต่อตัวเอง คนอื่น หรือสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่ดี พฤติกรรมที่เห็นได้ตั้งแต่แรกคือการปลีกตัวหรือแยกตัวไปจากครอบครัว เพื่อนฝูง มีผลการทำงานหรือการเรียนแย่ลง ขาดแรงจูงใจ นอนไม่หลับ ท้อแท้ หมดหวัง รู้สึกผิด ความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการเหล่านี้มาจากความรู้สึกโดดเดี่ยว ปัญหาเศรษฐกิจ การงาน ปัญหาครอบครัว การขาดการสนับสนุนทางสังคม การใช้สุราและสารเสพติด หรือแม้แต่การได้รับประสบการณ์ไม่ดีในวัยเด็กและกรรมพันธุ์

ลักษณะที่แสดงออกของความเศร้า
     พฤติกรรมการแสดงออกของความเศร้ามีความแตกต่างไปตามเพศและวัย วัยรุ่นอาจจะแสดงออกด้วยอาการหงุดหงิด ก้าวร้าว โผงผาง ตรงไปตรงมา ส่วนคนหนุ่มสาวจะออกทางอาการเจ็บปวดส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งเป็นกลไกทางจิตใจที่จะบอกถึงความไม่พึงพอใจในสภาวะที่เป็นอยู่ และเป็นการร้องขอความช่วยเหลืออ้อมๆ สำหรับผู้สูงอายุความเศร้ามักมาจากการสูญเสีย เช่นการตายจากของคู่สมรส การเกษียณจากงาน อิสระที่จะทำอะไรต่างๆด้วยตนเองลดลงตามสภาพร่างกายและสุขภาพ ดังนั้นการแสดงออกก็มักเป็นการบ่นถึงสิ่งต่างๆดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำเสียทำให้เกิดการพูดหรือถามซ้ำๆถึงเรื่องที่แม้จะเพิ่งผ่านไปทำให้ลูกหลานอาจจะแสดงความรำคาญหรือมีปฏิกิริยา จนทำให้ผู้สูงอายุเกิดความน้อยใจหรือโกรธพลุ่งออกมาได้ ผู้ชายมักแสดงออกออกด้วยการบ่นถึงความล้า หงุดหงิด มีปัญหาการนอนหลับ ขาดความสนใจในเรื่องรอบๆตัว และใช้สุราหรือสารเสพติดเป็นทางออก ในขณะที่ผู้หญิงมักแสดงออกด้วยความรู้สึกผิด กินมากนอนมากน้ำหนักเพิ่ม หรือตรงกันข้ามกินไม่ได้นอนไม่หลับน้ำหนักลด อัตราการฆ่าตัวตายของผู้หญิงสูงกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่าเนื่องจากฮอร์โมนเป็นตัวกระตุ้นสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใกล้จะมีประจำเดือน บางคนจะมีอาการ Premenstrual syndrome (PMS) หรือหลังคลอดบุตรอาจจะมีอาการ Postpartum blue ให้เห็น

สัญญาณเตือนการคิดฆ่าตัวตายหรือสัญญาณการร้องขอความช่วยเหลือทางอ้อม
     1. พูดออกมาว่าจะฆ่าตัวตาย หรือพูดทำนองว่าคนอื่นคงจะดีขึ้นถ้าตัวเองตายไปซะ หรือแสดงท่าทีให้เห็นว่าหมดหวังหรือถึงทางตัน
     2. หมกมุ่นกับเรื่องความตายผิดปกติ หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆซึ่งมีแรงขับมาจากความรู้สึกอยากตาย
     3. ไปพบคนคุ้นเคยหรือคนที่ไม่ได้พบกันมานานเพื่อล่ำลา
     4. เปลี่ยนอารมณ์อย่างรวดเร็วจากเศร้ามาสู่ความสงบ นิ่ง และดูเหมือนมีความสุข สิ่งนี้อาจจะบอกทางอ้อมว่าเขาตัดสินใจได้แล้วว่าจะฆ่าตัวตาย

สรุป การที่มีอารมณ์โกรธเป็นครั้งคราวเป็นเรื่องปกติของชีวิต แต่ถ้าเป็นบ่อยและเป็นอยู่นานไม่ค่อยหายไปอาจจะเป็นเรื่องของความเศร้าที่อยู่เบื้องหลังก็ได้ ฉะนั้นอารมณ์โกรธจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ถ้าสามารถรับรู้ได้เร็วถูกต้องและสามารถตั้งรับได้เหมาะสมก็เป็นเรื่องปกติ อาจจะเป็นแรงผลักให้เกิดสิ่งสร้างสรรค์ต่างๆได้ เช่นโกรธที่ไม่ได้เกิดมาสบายเหมือนคนอื่นก็อาจจะพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถ อดทนจนสร้างเนื้อสร้างตัวให้ดีกว่าเดิมได้ แต่ตรงกันข้ามถ้ามีอะไรไม่พอใจแล้วกลับท้อแท้ สงสารตัวเอง จมปลักกับความคิดนั้นๆความเศร้าก็จะตามมา ที่ร้ายก็คืออาจจะเปลี่ยนไปเป็นแค้นและทำเรื่องไม่เหมาะสมจนเดือดร้อนทั้งตัวเองและสังคม ดังนั้นถ้าพบว่าตนเองเศร้าอาจจะต้องลงไปสำรวจจริงๆจังๆ ว่ามีเรื่องของความโกรธซ่อนและผลักดันอยู่ภายในหรือไม่ จะได้แก้ไขให้ตรงประเด็น

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.si.mahidol.ac.th/clinpsy/alljournal.html#t3

Smiley ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ Smiley




Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2556
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2556 21:03:15 น. 0 comments
Counter : 975 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

kitpooh22
Location :
ตรัง Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 27 คน [?]




สวัสดีครับ
..............................
ขอบคุณที่มาเยี่ยมชม และมาเม้นให้ครับ



ขอบคุณครับ :-)
THX


วันเกิดบล็อก 25/5/2009
Google+
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
2425262728 
 
1 กุมภาพันธ์ 2556
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kitpooh22's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.