Group Blog
 
 
ธันวาคม 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
24 ธันวาคม 2554
 
All Blogs
 
ค้านประกันสังคมทุ่ม4พันล้าน จับตาเอื้อร.พ.เอกชน แนะรวมกองทุน

ค้านประกันสังคมทุ่ม4พันล้าน เพิ่มค่ารักษาคนหนุ่มสาว จับตาเอื้อร.พ.เอกชน แนะรวมกองทุน ลดรายจ่าย-สร้างความเท่าเทียม โดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขออกโรงโต้สปส. เพิ่มค่ารักษาพยาบาลให้คนหนุ่มสาวเป็น 15,000 บาท คาดสูงเกินจริง หวั่นเอื้อโรงพยาบาลเอกชน แนะรวมกองทุน เพิ่มประสิทธิภาพ ลดรายจ่าย และสร้างความเท่าเทียม...

ปัจจุบันระบบสวัสดิการสุขภาพของประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 4 ระบบ คือ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ดูแลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ครอบคลุมประชากร 47 ล้านคน, ระบบสวัสดิการข้าราชการ ครอบคลุมข้าราชการประมาณ 5 ล้านคน, ระบบประกันสังคม ดูแลโดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ครอบคลุมประชากร 10.5 ล้านคน และสุดท้ายเป็นระบบย่อยๆ ที่ครอบคลุมคนจำนวนน้อย เช่น สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของนักการเมือง หรือประกันสุขภาพของบริษัทประกันชีวิตของเอกชน ซึ่งระบบสวัสดิการสุขภาพของไทยได้รับการยอมรับ ว่ามีประสิทธิภาพไม่น้อยหน้าประเทศอื่นใดในโลก ถึงกระนั้น ภายในแวดวงสาธารณสุขไทย กลับยังมีข้อโต้เถียง ถึงแนวทางบริหารจัดการระบบสวัสดิการสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด คณะกรรมการประกันสังคม มีมติเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2554 ปรับรูปแบบวิธีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลปี 2555 เป็นการจ่ายตามกลุ่มโรคร้ายแรง จากเดิมที่เหมาจ่ายเป็นรายหัว หัวละ 2,500 บาท ทำให้งบประมาณรายหัวลดลงเหลือ 1,955 บาท

การคำนวณในลักษณะนี้เรียกว่า Diagnosis Related Group (DRG)หรือ กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม การจ่ายเงินจะคำนวณตามระดับความรุนแรงของโรค โดยมีตั้งแต่ระดับ 2-40 เริ่มต้นที่ระดับละ 15,000 บาท จนถึงสูงสุดที่ 6 แสนบาทต่อคน

หากดูจากตัวเลขงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวที่ลดลง 500 กว่าบาท ก็น่าจะเป็นการดีทั้งต่อผู้ประกันตนและงบประมาณประเทศ แต่ น.พ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กลับเป็นหัวหอกออกมาคัดค้าน



ชี้ประกันสังคมยังล้าหลัง-ไม่เท่าเทียม

ดร.นพ.พงศธรตั้งต้นอธิบายว่า ระบบประกันสังคมขณะนี้ ถือเป็นระบบที่มีการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากทั้งระบบสวัสดิการข้าราชการและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ใช้สิทธิไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ ผิดกับประกันสังคม ที่ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบอีกร้อยละ 5 ของรายได้

ผมศึกษาเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ ปรากฏว่าของฟรีดีกว่า คือบัตรทองสิทธิประโยชน์ดีกว่า เพราะเมื่อ 8-9 ปีที่ผ่านมา ระบบนี้ดำเนินการโดย สปสช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีบุคลากรอยู่ 700-800 คน มีหมออยู่ 50-60 คน ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ ทั้งที่ตอนแรก สปสช. ก็อปปี้สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม หลังจาก 8 ปีผ่านไป แซงไปลิ่วเลย ประกันสังคมตามไม่ทัน

อย่างไรก็ตาม น.พ.พงศธร เห็นด้วยกับการเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินของ สปสช. จากการเหมาจ่ายมาเป็นระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมในครั้งนี้ โดยอธิบายว่า

สปสช.กับระบบสวัสดิการข้าราชการและในยุโรปเปลี่ยนวิธีการจ่ายหมดแล้ว ผู้ป่วยนอกกับผู้ป่วยในจ่ายคนละแบบ ผู้ป่วยในคือประเด็นที่เรากำลังเถียงกันอยู่คือกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม เหมือนกับเราคำนวณมาว่า ถ้าคุณผ่าตัดไส้ติ่งจะถูกคำนวณเป็นดีอาร์จีประมาณ 1.3 ผ่าตัดสมองถูกคำนวณเป็น 5 ดีอาร์จี ดีอาร์จีหมายถึง โรงพยาบาลนี้รักษาไปกี่ดีอาร์จี สมมติว่า 1 หมื่นดีอาร์จี แล้ว 1 ดีอาร์จีเท่ากับเงิน 9,000 บาท ก็คูณเข้าไป โรงพยาบาลก็ได้ตามนั้น คือต้องทำงานจึงจะได้เงิน

ผมยอมรับว่าประกันสังคมมาถูกทางแล้ว ที่ต้องเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงิน ซึ่งเราต้องกดดันเขาตลอดเวลาเพื่อให้เปลี่ยน เพราะเขาไม่ยอมเปลี่ยน การเปลี่ยนเป็นจุดสำคัญ เพราะทำให้คนไข้หรือผู้ป่วยในเข้าถึงบริการ เพราะโรงพยาบาลจะได้เงินต่อเมื่อทำการรักษา ผ่าตัด ถ้าไม่ผ่าตัด ไม่ได้เงิน แต่เดิมไม่ต้องผ่าตัดก็ได้เงินกินเปล่าไปเลย คราวนี้ไม่ใช่แล้ว เมื่อไหร่รักษาโรงพยาบาลเอาเงินไป จะเป็นการกระตุ้นให้รักษา



จ่าย 15,000 หวั่นเอื้อร.พ.เอกชน

แต่ประเด็นที่น.พ.พงศธรเสนอคือ การกำหนดเงินเริ่มต้นที่ 15,000 บาท ซึ่งสูงเกินเหตุ ขณะที่ระบบสวัสดิการข้าราชการที่มีการรักษาที่ดี ใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ กลับจ่ายเพียง 12,000 บาท ส่วนผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทองอยู่ที่คนละ 9,000 บาท

เราเห็นด้วยที่เขาเปลี่ยนวิธีจ่ายเงิน แต่ประเด็นคือวันนี้เรากินชาแก้วเดียวกัน ร้านเดียวกัน คนชงคนเดียวกัน ผมเป็นข้าราชการรัฐจ่ายให้ 12,000 บาท ประกันสังคมจ่ายให้ 15,000 บาท บัตรทองจ่ายให้ 9,000 บาท อย่างนี้มันถูกหรือไม่

น.พ.พงศธรอธิบายว่า กลุ่มข้าราชการที่ใช้สิทธิส่วนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุและพ่อแม่ของข้าราชการ ส่วนบัตรทองดูแลคนจน เด็ก และผู้สูงอายุ ขณะที่กลุ่มผู้ประกันตนเป็นคนในวัยหนุ่มสาว ร่างกายยังแข็งแรง การเจ็บป่วยน้อย แต่สปส.กลับจ่ายสูงถึง 15,000 บาท ซึ่งไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้มีผลประโยชน์ซ่อนอยู่หรือไม่

ผมพูดชัดว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมเป็นโรงพยาบาลเอกชน คุณก็บอกมาสิ คุณเอาเหตุผลไหนมาอ้าง ถ้าสปส.จ่ายแค่ 12,000 ผมยังรับได้ ใครก็รู้ว่าสิทธิข้าราชการดีกว่าประชาชน แม้จะอ้างว่ามีการทำวิจัย แต่ผมไปคุยแล้ว มันเป็นวิธีการศึกษาที่ผิด แต่ไม่สำคัญเท่ากับคณะกรรมการที่นำไปใช้ คือคณะกรรมการไม่ได้คำนึงถึงการประหยัดเงินของผู้ประกันสังคมเลย

ผมอยากให้โรงพยาบาลเอกชนเปิดเผยข้อมูล ซึ่งผมคิดว่าไม่มีใครเปิดง่ายๆ ไม่มีทางที่เราจะเห็นต้นทุนเอกชนจริงๆ เอามากางดูกันเลย แล้วจะรู้ว่ามันต่ำ เพราะอะไร เพราะพฤติกรรมของข้าราชการคือใช้โรงพยาบาลใหญ่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เพียงแค่ 12,000 บาท ร.พ.เอกชนมีค่าเฉลี่ยแค่ 137 เตียง เป็นโรงพยาบาลขนาดกลาง และที่ผ่านมาประกันสังคมใช้โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยน้อยมาก ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราคุยถึงเม็ดเงิน 4 หมื่นล้านต่อปี ที่ภาษีรัฐต้องเสียไป เพราะ 15,000 บาทจะไปกดดันให้บัตรทองต้องเพิ่ม เพราะตอนนี้จ่ายที่ 9,000 บาท

และนี่คือเป็นอีกประเด็นที่น.พ.พงศธรชี้ว่า การจ่ายเงิน 15,000 บาทของ สปส. จะสร้างผลกระทบต่อเนื่องแก่ระบบหลักประกันสุขภาพทั้งระบบ

น.พ.พงศธรเปรียบเทียบให้ฟังว่า ถ้าคุณเป็นโรงพยาบาล คุณจะเลือกรักษาผู้ป่วยที่จ่ายเงิน 15,000 บาท 12,000 บาท หรือ 9,000 บาท แน่นอนว่ามีคำตอบชัดเจนอยู่แล้วตามหลักเศรษฐศาสตร์

แบบนี้จะทำให้ระบบอื่นถูกเร่งให้เพิ่มเม็ดเงิน ถ้าจะให้เท่ากับประกันสังคมคือต้องเพิ่มเข้าไป 4 หมื่นล้าน เบื้องหน้าอาจไม่มีอะไร แต่เบื้องหลังหมายถึงเงิน 4 หมื่นล้านที่จะไหลเข้าหน่วยบริการ โดยที่ไม่ได้คำตอบว่าบริการจะดีขึ้น



รวมกองทุนช่วยประหยัด-เพิ่มอำนาจต่อรอง

สำหรับทางออกของเรื่องนี้ น.พ.พงศธรมองว่า หากค่าหัวของสิทธิประโยชน์บัตรทองต่ำเกินไป หรือโรงพยาบาลบอกว่าขาดทุน ก็ควรนำข้อมูลทั้งหมดมาเปิดเผย แล้วหาคนกลางมาทำการศึกษาเพื่อหาค่าหัวที่เป็นมาตรฐานออกมา ไม่ใช่เพิ่มค่าหัวโดยไม่มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ

ส่วนทางออกในระยะยาว น.พ.พงศธร ยังเชื่อว่าการรวมกองทุนทั้งหมดเข้าด้วยกัน คือประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

วิธีคิดของเรื่องนี้ง่ายๆ คือ การดูแลรักษาพยาบาลควรมีหน่วยงานเดียวดูแล เพราะมันเป็นสิทธิประโยชน์เดียวกัน และทุกคนควรได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกัน ในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายที่มีการพัฒนาเรื่องนี้อย่างก้าวหน้าก็ใช้ระบบหลักประกันสุขภาพระบบเดียว ทั้งยังตอบโจทย์เรื่องความเป็นธรรม ไม่ต้องมีกลุ่มไหนต้องจ่ายเงิน โดยที่กลุ่มอื่นไม่ต้องจ่าย และจะเกิดประสิทธิภาพเพราะมีหน่วยงานเดียวบริหาร ไม่จำเป็นต้องเสียค่าบริหารจัดการเยอะ ที่สำคัญคือจะก่อให้เกิดอำนาจต่อรองกับหน่วยบริการค่อนข้างดี ยกตัวอย่างเช่นโรงพยาบาลเอกชนจะไม่สามารถเลือกรับเฉพาะประกันสังคมได้แล้ว คุณต้องรับทุกสิทธิถ้าคุณจะอยู่รอด แบบนี้จะทำให้เกิดประสิทธิภาพทั้งระบบ

จากการศึกษาเรื่องนี้ในต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ หรือในยุโรปหลายประเทศก็มีระบบเดียว ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะต่ำ ต่างจากอเมริกาที่ปล่อยฟรีที่มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงมาก ระบบนี้ถูกศึกษาและยอมรับแล้วว่าเป็นระบบที่ทั้งเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพที่สุด

นอกจากนี้ยังดีต่อสปส.ด้วย เพราะมีการศึกษาออกมาแล้ว ซึ่งทางสปส.เองก็ยอมรับว่า หลังจากเริ่มมีการจ่ายบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนในปี 2557 จะมีเงินไหลออกจำนวนมาก และหมดลงในที่สุด

“เราจึงตั้งคำถามว่าทำไมไม่ประหยัดเงินเอาไว้ ประกันสังคมก็รู้ว่าเงินกำลังจะหมด แต่วันนี้คุณไปเพิ่มค่ารักษาเป็น 15,000 ถ้าเทียบกับบัตรทอง คุณเซฟได้ปีละ 4,000 ล้านบาท ผมไม่เข้าใจว่าสปส.คิดอะไรอยู่”

วิธีการการรวมกองทุนน.พ.พงศธร บอกว่า ให้ตัดสิทธิการรักษาพยาบาลออกจากชุดสิทธิประโยชน์ของประกันสังคม เงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายจะครอบคลุมเฉพาะสิทธิประโยชน์ 6 ข้อที่เหลือตามกฎหมาย ส่วนสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนก็ไปขึ้นอยู่กับสปสช.โดยอัตโนมัติ

เมื่อถามว่า หากเป็นแบบนี้จะเป็นการเพิ่มภาระแก่สปสช.หรือไม่

จะเป็นการเพิ่มภาระแก่สปสช.แต่ไม่มาก เพราะคนประกันสังคมคือคนแข็งแรง ใช้บริการน้อย ซึ่งจะไปแชร์ความเสี่ยงกับคนของสปสช.ซึ่งจน เด็ก และแก่ เงินค่าหัวตอนนี้คือ 2,800 บาท ถ้ารวมคนแข็งแรง 10 ล้านคนเข้าไป จะเหลือแค่ 2,500 บาท เงินจะถูกใช้เพิ่มแค่นิดเดียวคือหมื่นกว่าล้าน หลักการประกันสุขภาพคือ Rich Pooling Rich Sharing ดีช่วยป่วย รวยช่วยจน ถ้ารวมคนได้เยอะจะยิ่งถูก และสามารถเพิ่มอำนาจต่อรอง แต่ตรงนี้เป็นประเด็นการเมืองว่ากล้าตัดสินใจหรือไม่

การที่สปส.และโรงพยาบาลเอกชนจะตอบข้อโต้แย้งของน.พ.พงศธร ได้ คงต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้สังคมช่วยพิจารณา ซึ่งน่าจะเป็นการดีต่อทุกฝ่าย และหาทางพัฒนาระบบสวัสดิการสุขภาพร่วมกัน



.........

(หมายเหตุ : ค้านประกันสังคมทุ่ม4พันล้าน เพิ่มค่ารักษาคนหนุ่มสาว จับตาเอื้อร.พ.เอกชน แนะรวมกองทุน ลดรายจ่าย-สร้างความเท่าเทียม โดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ : //www.tcijthai.com/)



Create Date : 24 ธันวาคม 2554
Last Update : 24 ธันวาคม 2554 13:54:42 น. 0 comments
Counter : 401 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

เวเว
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add เวเว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.