Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2554
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
23 กรกฏาคม 2554
 
All Blogs
 

ปัญหาการเงินแย่ ๆ .. ครอบครัวช่วยแก้ได้

ปัญหาการเงินเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญของชีวิตครอบครัว หลายครอบครัวต้องแตกแยกเพราะเงินเป็นต้นเหตุ อย่างเช่น ก่อนแต่งงานหรือเพิ่งแต่งงานใหม่ก็รวยดีมีเงินใช้ แต่อยู่ไปธุรกิจเริ่มมีปัญหาเงินเริ่มหดหายไม่มีใช้อย่างสะดวกเหมือนเคยก็อยู่ไม่ได้ เพราะไม่อยากต้องมากัดก้อนเกลือกิน



หรือบางคนก็กล่าวหากล่าวโทษกันและกันว่าเป็นเพราะเธอมือเติบบ้าง เพราะเธอไม่ช่วยทำงานบ้าง ฉันหาเงินฝ่ายเดียว กลายเป็นทะเลาะกันรุนแรง บางคนพอเกิดปัญหาการเงินแล้วไม่รู้จะหาทางออกได้อย่างไร ก็หนีไปซะดื้อๆอย่างนั้น ปล่อยให้ครอบครัวเผชิญชะตากรรมกันเอาเอง เมื่อปัญหาการเงินมีผลกระทบกับครอบครัวมากมายเช่นนี้ ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาการเงินขึ้น คนในครอบครัวควรทำอย่างไร

1. อย่าปิดบังคู่ครอง

หากเป็นครอบครัวที่ทั้งสามีและภริยาต่างทำงานหาเงินกันทั้งคู่อาจไม่ค่อยเป็นปัญหามากนัก เพราะมักจะมีความเข้าใจในระบบการหาเงิน การใช้จ่ายเงินและการบริหารเงินกันอยู่พอสมควร ยกเว้นแต่ว่าเป็นพวก "ชั้นทำชั้นได้ แต่เธอทำชั้นเอา" หรือเป็นครอบครัวที่สามีหรือภริยาเพียงฝ่ายเดียวที่ทำงานหาเงินอันนี้จะค่อนข้างเป็นปัญหาทีเดียว เพราะมักจะเคยชินแต่กับการได้เงินมาโดยง่ายๆตลอด ดังนั้นพอมีปัญหาการเงินต้องสะดุดบางครั้งฝ่ายที่เป็นคนหาเงินจึงมักเก็บปัญหาไว้คนเดียว เพราะไม่อยากให้อีกฝ่ายต้องเดือดร้อนหรือเป็นทุกข์ แต่การเลือกปิดบังแทนที่อีกฝ่ายจะทุกข์เราต่างหากที่ทุกข์ยิ่งกว่า

อย่าลืมว่าการเป็นคู่ครองหมายถึงการที่คนสองคนที่มาอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ไม่ใช่สุขหนึ่งคน ทุกข์หนึ่งคน นี่ไม่เรียกว่าคู่ คู่ครองที่ดีนอกจากรักกันแล้วต้องเข้าใจกันและเป็นกำลังใจให้กันได้ในทุกสิ่ง ดังนั้น ถ้ามั่นใจว่าคู่ครองของเราดีก็จงบอกปัญหาให้เขารู้ จะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหา อย่าปิดบังกัน เพราะหากเขามารู้ภายหลังจะเสียความเชื่อมั่นในกันและกันไป เขาจะคิดว่าเขาเป็นที่พึ่งไม่ได้ เขาเป็นส่วนเกินในชีวิตที่เราไม่อยากแบ่งปันอะไรด้วย ดีไม่ดีจากแค่ปัญหาการเงินจะลุกลามกลายเป็นปัญหาอื่นๆจนเกิดความแตกแยกขึ้นมาก็เป็นได้

2. อย่าปิดบังลูก

การให้ลูกได้ร่วมรับรู้ปัญหาของพ่อแม่เป็นสิ่งที่ดี พ่อแม่บางคนไม่กล้าพูดกับลูกเพราะกลัวลูกเสียใจหรือผิดหวัง เช่น เคยสัญญาไว้แล้วว่าปิดเทอมจะพาไปเที่ยวต่างประเทศ หรือจะซื้อของเล่นชิ้นใหม่ราคาแพงให้ พอมีปัญหาการเงินแล้วไม่กล้าบอกลูกแต่แก้ปัญหาด้วยการไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อใช้จ่ายในสิ่งที่ลูกต้องการ กลายเป็นเพิ่มภาระการเงินขึ้นมาอีก

ดังนั้น พ่อแม่ต้องพูดกับลูกตรงๆ เช่น ปีนี้ที่ทำงานพ่อมีงานลดลง พ่อก็เลยได้เงินน้อย ที่พ่อเคยบอกว่าจะพาไปเที่ยวเมืองนอก ปีนี้คงไปไม่ได้แล้ว เราไปเยี่ยมคุณปู่คุณย่าที่ต่างจังหวัดแทนได้มั๊ย เป็นธรรมดาที่ลูกอาจผิดหวังหรือเสียใจ แต่ให้เวลาเขาสักพัก เมื่อเขาได้คิดและได้เห็นความเป็นจริงที่เกิดกับพ่อแม่แล้วเขาจะเข้าใจและยอมรับได้ทั้งพร้อมจะเป็นกำลังใจชั้นเลิศให้กับคุณพ่อคุณแม่อย่างดีด้วย ดังนั้น หากมั่นใจว่าเราเลี้ยงลูกอย่างเป็นคนมีเหตุมีผล ลูกก็จะเข้าใจอะไรได้ไม่ยากและยอมรับในเหตุผลต่างๆได้อย่างดี

3. ลดรายจ่ายแต่ไม่ได้ลดความสุข

เมื่อมีภาระการเงินมากขึ้นหรือมีปัญหาการเงินสะดุดก็ต้องลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลง โดยการควบคุมค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม เช่น การควบคุมการใช้น้ำ การใช้ไฟฟ้า แต่ไม่ได้หมายความว่า ห้ามดูทีวีเพราะเปลืองไฟ อันนี้ไม่ถูกต้องเพราะคนเราก็ต้องหาความเพลิดเพลินใจให้กับตนเองบ้างเพียงแต่ควบคุมให้เหมาะสมก็พอ

อย่าลืมว่าความสุขไม่ได้เกิดได้จากการมีเงินมากหรือใช้จ่ายเงินมากๆเพื่อให้ได้มาเสมอไป แม้ครอบครัวเราอาจจะเคยชินกับการเคยไปกินข้าวนอกบ้านสัปดาห์ละหลายครั้ง เคยไปเที่ยวพักผ่อนตามที่ต่างๆทุกๆวันหยุด ก็คงต้องปรับเปลี่ยนบ้าง โดยอาจจะช่วยกันทำกับข้าวมื้อพิเศษสักมื้อแล้วออกไปปิกนิกกันที่สวนสาธารณะตอนเย็นๆ ไปดูนิทรรศการตามที่ต่างๆที่ไม่ต้องเสียเงินซึ่งเดี๋ยวนี้หลายที่ก็มีจัดไว้บริการมากมาย แค่ครอบครัวได้ใช้เวลาด้วยกันแค่นี้ก็ทำให้ชีวิตมีความสุขได้

4. ช่วยกันหารายได้เสริม

เมื่อมีปัญหาการเงินก็ต้องช่วยกันหาเงินเพื่อปลดปล่อยภาระลง โดยพ่อแม่ลูกช่วยระดมความคิดเห็นกันว่าจะทำอะไรที่จะเพิ่มรายได้ดี แต่ทั้งนี้ผู้เขียนขอแนะนำว่า หากมีปัญหาการเงินค่อนข้างมาก อย่าเพิ่งลงทุนด้วยเงิน เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะได้กำไรหรือไม่ ดีไม่ดีทุนหายอีก แต่ให้เลือกหารายได้โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุน เช่น การรับจ้างด้วยแรงงาน เป็นต้นว่า หากคุณแม่เป็นคนมีฝีมือเย็บปักถักร้อย ก็รับงานปักผ้า งานทำลูกปัดหรืองานปั้นดินญี่ปุ่นมาทำ เพราะงานพวกนี้เขาจะมีอุปกรณ์มาให้อยู่แล้วไม่ต้องซื้ออุปกรณ์เอง หรือคุณพ่อออกไปรับจ้างขนของหรือตัดหญ้าแล้วให้ลูกๆไปช่วยรดน้ำต้นไม้อีกแรง หรืออาจช่วยกันดูของในบ้านที่ไม่ใช้แล้ว เช่น เสื้อผ้าที่คับแล้ว โต๊ะที่ไม่ได้ใช้ จานชามที่เก็บสะสมไว้มากเกินความจำเป็น ให้เอาไปขาย ก็พอจะทำให้มีเงินเข้ามาได้บ้าง

5. ทำบัญชีรายรับรายจ่าย

การทำบัญชีรายรับรายจ่ายจะทำให้สามารถบริหารเงินได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยคนในครอบครัวทั้งพ่อแม่ลูกควรมานั่งทำด้วยกัน นอกจากเพื่อให้รู้สถานะการเงินแล้วยังเป็นการช่วยควบคุมการใช้จ่ายให้แก่กันและกันด้วย โดยตั้งรายรับไว้ทั้งรายรับประจำและรายรับจากรายได้เสริมต่างๆ หักค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ชำระหนี้ จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถ ค่าอาหาร ซึ่งค่าใช้จ่ายประจำเหล่านี้ควรควบคุมกันไว้ด้วยว่าควรจะใช้เท่าไรก็อย่าให้เกินกว่านี้ หักค่าใช้จ่ายพิเศษ เช่น ค่าอุปกรณ์การเรียนลูกในแต่ละเดือน หักเงินสำรองฉุกเฉิน เช่น ค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย ที่เหลือก็เป็นเงินคงเหลือสะสมในแต่ละเดือนนั้น เมื่อทำได้เช่นนี้อย่างเป็นระบบทุกเดือนก็จะทำให้มีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น

6. แสดงความรักสร้างความสุข
เคยหรือไม่ที่เวลาเหนื่อยๆแล้วกลับมาบ้านหากได้เห็นรอยยิ้มของคนในครอบครัวก็หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เวลาที่มีความทุกข์หรือมีปัญหาการเงินคนในครอบครัวต้องเป็นความสุขให้แก่กันได้ บางครั้งคนเราขาดกำลังใจ หันไปทางไหนก็มืดบอด เราจึงมักได้ยินข่าวคนมีปัญหาการเงินหาทางออกโดยการฆ่าตัวตายเสมอ ดังนั้น หากไม่อยากให้ใครในครอบครัวของเราต้องหาทางออกด้วยวิธีที่ผิด เราต้องเป็นทางออกที่ดีให้กับเขา แค่โอบกอด จับมือ หอมแก้ม ยิ้มให้กัน พูดจากันด้วยความรักความเข้าใจ ไม่ว่าปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็มีแรงกำลังที่จะสู้ต่อไปอย่างไม่ท้อถอย

แม้เงินเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิตครอบครัวประการหนึ่ง แต่อย่าให้เงินเป็นตัวตัดสินชีวิตครอบครัวของเรา เพราะครอบครัวที่ไม่ได้มีเงินมาก เขาก็อยู่กันอย่างมีความสุขได้ แค่รู้จักคำว่า "เพียงพอและพอใจ"

ที่มา ผู้จัดการ online




 

Create Date : 23 กรกฎาคม 2554
0 comments
Last Update : 23 กรกฎาคม 2554 10:52:26 น.
Counter : 683 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


MR.ITANRICH
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




ผมเป็นคนไทยที่รักประเทศไทย
Friends' blogs
[Add MR.ITANRICH's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.