ช้าง กะชอ อาเจียง

<<
มีนาคม 2553
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
22 มีนาคม 2553
 

นมช้างสำคัญไฉน

โครงการธนาคารนมช้าง
และเทคนิคการรีดเก็บน้ำนมจากแม่ช้างเลี้ยงเอเชีย

น.สพ.รณชิต รุ่งศรี
นายสัตวแพทย์ประจำปางช้างแม่สา


บทนำ
ช้างเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีระยะเวลาการตั้งท้องที่ยาวนาน โดยทั่วไปแล้วช้างจะตกลูกเมื่ออายุท้องย่างเข้าเดือนที่ 21—22 ซึ่งอาจจะมีบ้างบางครั้งที่พบว่าช้างอาจจะตกลูกก่อนหรือหลังจากนี้ อันอาจจะมีสาเหตุมาจากการนับวันผสมที่ผิดพลาด หรืออาจจะเป็นเพราะสภาวะทางร่างกายและระบบฮอร์โมนของช้างแต่ละเชือกที่มีความสมบูรณ์พันธุ์แตกต่างกัน

(เต้านมช้างที่เคยมีลูกแล้ว)

(เต้านมของช้างสาว)
ช้างที่ตั้งท้องหากเป็นช้างสาวหรือช้างที่ไม่เคยท้องมาก่อน มักจะมีการขยายของเต้านมที่ชัดเจน โดยจะสังเกตได้หลังจากที่ช้างผสมติดไปแล้วประมาณ 3-4 เดือน แต่จะยังไม่ชัดเจน หากอายุท้องเพิ่มขึ้นจะสามารถบอกได้ชัดเจนกว่า โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนก่อนคลอดจะพบว่าเต้านมจะขยายใหญ่และแข็ง ซึ่งรูปทรงของเต้านมช้างสาวมักจะมีรูปร่างกลมมนกว่าช้างที่เคยมีลูกมาแล้ว
ในช่วงก่อนขบวนการตกลูกจะเริ่มขึ้น ช้างหลายเชือกมักจะมีน้ำนมไหลออกมาก่อนที่จะพบเมือกจากอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นความพร้อมตามธรรมชาติของช้าง ที่จะเลี้ยงดูลูกต่อไปอีกมากว่า 2 ปี ซึ่งเมื่อลูกเกิดออกมาแล้วตามธรรมชาติมักจะมีเพียงแค่ 1 ตัว การพบลูกช้างแฝดที่ผ่านมาก็มีปรากฏให้เห็นเช่นกันแต่น้อยมากดังนั้นการเลี้ยงดูลูกของแม่ช้างจึงสามารถที่จะเลี้ยงลูกได้สองตัวในเวลาเดียวกันเช่นเดียวกับแม่ช้างแฝดจุ๋มและจิ๋ม แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ลูกช้างหนึ่งเชือกต้องล้มตายไปตอนอายุได้ 7-8 ปี
เมื่อลูกช้างเริ่มดูดนมแม่ช้าง เต้านมของช้างซึ่งเดิมเคยกลมมนก็จะมีการเปลี่ยนรูปทรงเป็นรูปทรงคล้ายกรวย อันเป็นผลมาจากแรงดูดของลูกช้าง ในช่วงแรกเกิดลูกช้างจะสามารถหาเต้านมแม่ช้างได้เอง โดยสัญชาตญาณ การใช้งวงดมและใช้หัวถูไปมาในระหว่างที่เดินลอดใต้ท้องของแม่ ปรกติแล้วลูกช้างควรจะได้กินนมน้ำเหลืองหลังจากคลอดออกมาแล้วไม่ควรเกินกว่า 6-12 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญมาก เนื่องจากในนมน้ำเหลืองมีสิ่งที่สำคัญมากในการกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน ให้กับลูกช้างได้แข็งแรงต่อไป และอีกประการหนึ่งที่สำคัญเมื่อลูกช้างได้ดูดนมแล้วจะช่วยกระตุ้นระบบขับถ่ายให้ลูกช้างได้ขับขี้เทา(Meconium) ออกมาซึ่งถือว่าระบบการทำงานของร่างกายโดยเฉพาะทางเดินอาหารได้ทำงานเป็นปรกติแล้วนั่นเอง


ธรรมชาติของช้าง ลูกช้างจะกินนมแม่อย่างเดียวโดยไม่ได้กินอาหารอื่นหรือแม้แต่น้ำ ในช่วงแรกเกิดจนถึง ประมาณ 3 เดือน หลังจาก 3 เดือนไปแล้วลูกช้างจะเริ่มพฤติกรรมการกินอุจจาระแม่ เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์และปรับสมดุลนิเวศในระบบทางเดินอาหาร เพื่อรองรับการหมักย่อยอาหารหยาบอื่นๆนอกจากน้ำนม และอัตราการดูดนมของลูกช้างจะแปรผกผันกับอายุของลูกช้างเอง กล่าวคืออายุน้อยดูดบ่อยอายุมากดูดน้อยครั้งลง ซึ่งลูกช้างจะหย่านมตามธรรมชาติที่อายุประมาณ 3-5 ปี ขึ้นอยู่กับสภาวะการดูแลของแม่ช้างและสภาวะการเลี้ยงดูในช้างเลี้ยง สำหรับปางช้างทั่วไปโดยมากจะแยกลูกช้างตอนอายุประมาณ 2 ปี

ปัญหาที่อาจจะพบได้หลังจากการตกลูกในช้าง บางครั้งเรามักจะได้ยินข่าวอยู่บ่อยๆว่าแม่ช้างไม่ยอมให้ลูกช้างกินนม,แม่ช้างจะทำร้ายลูกช้างบ้าง,บางเชือกก็ไม่มีน้ำนมให้ลูกกิน หรือแม้แต่แม่ช้างตายหลังจากตกลูก เนื่องจากติดเชื้อจากสภาวะรกค้างก็มี
จากปัญหาเหล่านี้ทำให้การเลี้ยงดูลูกช้าง ทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาวมีปัญหา อันเนื่องมาจากการไม่มีนมทดแทนที่เหมาะสมกับทุกสภาวะของลูกช้าง และมีไม่น้อยที่ลูกช้างได้รับนมทดแทนที่ขาดสารอาหารที่จำเป็นทำให้ลูกช้างอ่อนแอและไม่สามารถมีชีวิตรอดจนเติบโตได้ บ้างก็ขาหักเนื่องจากกระดูกที่บางจากการขาดแคลเซี่ยมที่มีมากในน้ำนมแม่ ถึงแม้บางครั้งจะมีการเสริมแคลเซี่ยมเม็ดก็ตามที ดังนั้นการที่คนเลี้ยงช้างทั้งหลายจะสามารถลดอัตราการสูญเสียลูกช้างหลังจากการตกลูกออกมาแล้ว ซึ่งก็คงเป็นที่น่าเสียดายไม่น้อยหากต้องรอคอยอย่างยาวนานหลายปีแล้วสุดท้ายต้องมาเสียลูกช้างไป หรือลูกช้างอาจจะต้องเติบโตอย่างผิดปรกติ เช่น ขาโก่ง, แคระแกรนหรือเจ็บป่วยบ่อย เป็นต้น
สิ่งหนึ่งที่อาจจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในระยะยาวของการจัดการลูกช้างหลังคลอด ทั้งที่มีแม่และไม่มีแม่ช้าง คือ การรีดเก็บน้ำนมและรักษาไว้ในอุณหภูมิที่ติดลบ 20 องศาเซลเซียส จึงอาจจะเป็นทางออกต่อไปสำหรับลูกช้างและนำไปสู่การวิเคราะห์วิจัยในเรื่องที่เกี่ยวข้องต่อไปได้ในอนาคต

อุปกรณ์และวิธีการในการรีดเก็บน้ำนมแม่ช้าง

1.เตรียมอุปกรณ์
-กรวยรองน้ำนม
-ถุงซิบเก็บน้ำนม ขนาด 180 มิลลิลิตร (สามารถนำเข้าตู้แช่ –20 องศาเซลเซียสได้)
-หรืออาจจะเป็นขวดนม,หลอดเก็บตัวอย่าง หรือภาชนะที่สะอาดเพื่อใช้เก็บน้ำนม
-ผ้าเช็ดเต้านม
-ถังน้ำแข็ง
-น้ำแข็งก้อน(Ice Pack)
-ปากกาเคมีจดข้อมูลลงบนถุงเก็บน้ำนม


2.เตรียมตัวช้าง
การจะเข้าไปรีดนมช้างผู้รีดจะต้องแจ้งให้ควาญช้างทราบก่อนทุกครั้งโดยมีควาญช้างอยู่ด้วยเสมอ โดยปรกติแล้วตัวแม่ช้างควรจะต้องอาบน้ำให้สะอาดก่อนการรีดเก็บน้ำนมแล้วรอจนตัวแห้ง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกจากตัวแม่ช้าง ก่อนรีดนมอาจจะต้องเช็ดทำความสะอาดบริเวณเต้านมและบริเวณโดยรอบ ซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะต้องรออีกซักระยะกว่าที่ลูกช้างจะดูดนม อันเป็นวิธีการที่ได้ผลมากที่สุดในการรีดนมช้าง เต้าที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับที่ลูกช้างดูด



3.ขั้นตอนการรีด
ใช้มือข้างที่สะดวกในการบีบเต้านมอาจจะเป็นมือข้างซ้ายหรือขวาก็ได้ ส่วนมืออีกข้างหนึ่งถืออุปกรณ์เตรียมรองน้ำนม ในการจับเต้านมช้างต้องใช้มือนวดเต้านมบริเวณปลายเต้านม ในขณะที่ลูกช้างดูดนมอีกข้างสักระยะประมาณ 1 –2 นาที หากน้ำนมจะไหลจะรู้สึกตึงมือ มีโทน(Tone) ชัดเจน ผู้รีดสามารถบีบไล่นิ้วแบบในวัวหรือกำทั้งมือก็ได้แล้วแต่ถนัด เพราะเต้านมช้างมีขนาดใหญ่และจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอันตรายที่อาจจะเกิดจากลูกช้าง ปริมาณที่รีดได้ในแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 30-50 ซีซี รีดได้วันละหลายครั้ง อาจจะมากกว่า 10 ครั้งขึ้นกับความถี่ของการดูดนมของลูกช้าง


4.การเก็บรักษาน้ำนม
หลังจากที่รีดเก็บน้ำนมได้ตามปริมาณที่ต้องการในแต่ละครั้งแล้ว หากเป็นถุงซิบควรบีบไล่อากาศออกก่อนนำไปเก็บ สามารถนำไปใส่ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส โดยในขั้นการขนส่งต้องบรรจุลงในถังน้ำแข็งและป้องกันถุงเก็บนมจากแสงแดดและความร้อนด้วยเสมอ หากต้องการเก็บรักษาน้ำนมช้างไว้ใช้นานกว่า 3-6 เดือน สามารถเก็บแช่แข็งที่อุณหภูมิลบ 20 องศาเซลเซียสได้

5.การนำไปใช้
หลังจากรีดนมแล้วสามารถนำไปให้ลูกช้างกินได้ทันที หรือแช่เย็นเก็บไว้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง แต่หากต้องการละลายน้ำนมจากนมแช่แข็ง สามารถละลายโดยนำน้ำนมจากลบ 20 องศาเซลเซียส ใส่ไว้ในช่อง 4 องศาเซลเซียส จนนมนั้นละลายเป็นน้ำแล้วนำออกมาอุ่นด้วยอ่างน้ำอุ่นที่อุณหภูมิ 38—40 องศาเซลเซียส เพื่อรักษาคุณสมบัติของน้ำนมไว้ให้ใกล้เคียงกับน้ำนมปรกติมากที่สุด


สรุปและวิจารณ์
1.นมน้ำเหลือง มีสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน(Immunoglobulin) แต่ยังไม่ได้มีการศึกษาถึงความเข้มข้นของสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันในช่วงต่างๆของระยะเวลาจากแรกเกิดถึงอายุต่างๆว่ามีไปจนถึงกี่วันหรือจะลดลงจนอยู่ในระดับที่ไม่กระตุ้นภูมิคุ้มกันเมื่อไหร่ อย่างไร
2.ยังไม่มีการศึกษาถึงระยะเวลาที่สามารถเก็บรักษาน้ำนมช้างที่อุณหภูมิลบ 20 องศาเซลเซียส ว่าสามารถเก็บได้นานกี่เดือนและหลังจากละลายมาใช้แล้วองค์ประกอบของน้ำนมได้เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหนอย่างไร
3.อายุของลูกช้างหรือช่วงอายุของการให้นม(Lactation Period) มีความสัมพันธ์กับการรีดเก็บน้ำนม คือ ลูกช้างอายุน้อย แรกเกิดถึง 1 ปี จะดูดนมบ่อยกว่าลูกช้างอายุ มากกว่า 1 ปี
4.พึงระวังอันตรายจากลูกช้างเวลารีดนมแม่ช้างเสมอ
5.การเก็บน้ำนมในตู้แช่แข็งควรเรียงลำดับวันเวลาที่เก็บให้ถุงที่เก็บก่อนอยู่ด้านบนหรือด้านนอกเพื่อที่จะสามารถนำมาใช้ก่อนได้
6.ระวังการอุ่นน้ำนมอาจจะเกิดการสูญเสียได้จากถุงที่เก็บอาจจะรั่วซึมหรือแตกได้




 

Create Date : 22 มีนาคม 2553
5 comments
Last Update : 22 มีนาคม 2553 0:53:27 น.
Counter : 13396 Pageviews.

 
 
 
 
 
 

โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว วันที่: 22 มีนาคม 2553 เวลา:8:02:30 น.  

 
 
 
เห็นในข่าวรีดนมจากปางช้างอยุธยา 3 เชือก

แต่ประเด็นคือต้องรีดมากแค่ไหนต่อวัน จึงจะพอเพียง
 
 

โดย: VET53 วันที่: 22 มีนาคม 2553 เวลา:9:40:56 น.  

 
 
 
มาเยี่ยม และให้กำลังใจชาวบล๊อกครับ
 
 

โดย: nuyect วันที่: 22 มีนาคม 2553 เวลา:11:00:51 น.  

 
 
 
สวัสดีครับ...ช้างน้อยวัยเยาว์ต้องการน้ำนมเท่าไรต่อวัน
เป็นคำถามที่น่าสนใจและเป็นคำถามที่ดีมากครับ...
ผมขอสารภาพว่าไม่ทราบจริงๆ..แต่เท่าที่สังเกตและมีประสบการณ์ในการรีดเก็บน้ำนมช้าง...ผมพบว่าเมื่อลูกช้างดูดนมข้างหนึ่ง..อีกข้างหนึ่งเรารีดเก็บ...พอลูกช้างหยุดดูดนมอีกข้าง..ข้างที่เรารีดก็จะหมดไปด้วย...ปริมาณที่ได้ทั้งหมดประมาณ 3 ออนซ์หรือประมาณ 100 ซีซี นี่เป็นในแม่ช้างให้นมช่วงสองเดือนแรกนะครับ...ซึ่งลูกช้างจะดูดนมทุก 1-2 ชั่วโมง(บางครั้ง45-50 นาที บางครั้ง 2 ชั่วโมงยังไม่ดูดก็มี)ก็ถัวๆกันไปครับ...เพราะฉนั้นเทียบบรรญัติไตรยางง่ายๆคือลูกช้างดูดนมอย่างมากสุด 24 ครั้งในหนึ่งวัน คิดเป็นน้ำนมจากเต้าเดียวได้ 2.4 ลิตร แต่ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่ลูกช้างจะไม่หลับไม่นอน...เพราะจริงๆแล้วลูกช้างจะนอนกลางวันบ่อย(สองถึงสามรอบ)เหมือนเด็กทารกครับ...
 
 

โดย: ronneleph วันที่: 25 มีนาคม 2553 เวลา:20:54:41 น.  

 
 
 
ในความเป็นจริงแล้วลูกช้างในช่วงก่อนสามเดือนจะยังไม่กินอาหารอื่นนอกจากนม...ดังนั้นนมช้างจึงจำเป็นมากสำหรับลูกช้างน้อย...การกินของลูกช้างจะสัมพันธ์กับอายุด้วย...อายุมากขึ้นก็จะกินมากขึ้นตามไปด้วย...
แล้วเราจะมาอัพเดตกันต่อเรื่อยๆนะครับ

ปล.ผมกำลังสนใจทำวิจัยเรื่องสารเสริมชีวนะในช้างอยู่ครับ
อาจจะเป็นสำหรับลูกช้าง(กำพร้าแม่)ส่วนหนึ่งและช้างโตเต็มวัยอีกส่วนหนึ่ง
 
 

โดย: ronneleph วันที่: 25 มีนาคม 2553 เวลา:20:59:46 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

ronneleph
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add ronneleph's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com