ช้าง กะชอ อาเจียง

 
พฤศจิกายน 2552
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
6 พฤศจิกายน 2552
 

ช้างกับฤดูกาล

น.สพ.รณชิต รุ่งศรี
นายสัตวแพทย์ประจำปางช้างแม่สา
อัพเดทข่าวคราวกันก่อนก็แล้วกันนะครับ ถึงตอนนี้ลูกแพนด้าน้อยคงได้ชื่อไปแล้ว ไม่ว่าจะชื่ออะไรก็คงจะดี เพราะทำให้เชียงใหม่เราคึกคักมีนักท่องเทียวมากมายหลั่งไหลเข้ามา เศรษฐกิจเบิกบานทั่วหน้า และที่สำคัญเศรษฐกิจของประเทศไทยจะได้ดีขึ้น อย่างน้อยก็คงมีคนรวยขึ้นมาบ้าง แต่ข่าวเศร้าก็ยังเป็นของช้างเหมือนเดิม พังกำไล ที่เราคอยเอาใจช่วย(เพราะไม่ได้ไปสุรินทร์)ก็ล้มลงอย่างน่าเสียดายและเสียใจอย่างมาก ครับผมก็หวังอีกเช่นเคยว่าขอให้กรณีของพังกำไลเป็นกรณีสุดท้ายก็แล้วกันนะครับ
ประเทศไทย เป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนชื้น มีฤดูกาลต่างๆที่สำคัญอยู่สามฤดู คือ ร้อน ,ฝน และหนาว ซึ่งฤดูหนาวดูเหมือนจะเป็นเพียงฤดูเดียวที่บางพื้นที่ไม่เคยประสบ เช่นทางภาคใต้ของไทย ส่วนมากก็จะเป็นฝนและร้อนเป็นหลัก
ที่ผมเกริ่นนำในเรื่องของฤดูกาลนั้นมันมีความสำคัญกับช้างอยู่หลายสิ่งทั้งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์จนถึงกลายเป็นโทษก็มี อันที่จริงแล้วในวิถีธรรมชาติของช้าง ช้างอาศัยความทรงจำในการหาประโยชน์จากฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างยอดเยี่ยมเสมอ เช่นช้างป่าจะรู้ว่าพอถึงหน้าผลไม้สุกที่ไหนช้างก็มักจะนำโขลงไปกินเป็นประจำเสมอ หรือแม้แต่การเสาะหาแหล่งน้ำในฤดูแล้ง ที่มักจะแห้งขอด และเมื่อถึงฤดูร้อนหากตอนกลางวันร้อนจัด ช้างก็มักจะอาศัยป่าตามริมห้วยในการอาศัยกินอาหารและพักผ่อน เนื่องจากป่าทุ่งโล่งไม่มีที่กำบังและน้ำหรือโคลนให้คอยปลดเปลื้องคลายร้อน และหากเข้าสู่ช่วงฝน ช้างก็จะสดชื่นมีชีวิตชีวาทั้งได้อาหารสดใหม่ที่แตกหน่อต่อยอดที่พักตัวในช่วงแล้ง ทำให้ฤดูนี้เป็นฤดูกาลที่ช้างจะสามารถสะสมอาหารได้มากที่สุด และอุดมสมบูรณ์ที่สุด ส่วนหน้าหนาวอาหารในช่วงนี้เริ่มหายากเพราะเข้าใกล้แล้ง แต่อาหารจะมีคุณภาพดี ทั้งผลไม้สุก และถือว่าช้างจะชอบกินหญ้าช่วงนี้มากไม่ค่อยทิ้งขว้าง
แล้วปัญหาอะไรบ้างที่ช้างมักจะประสบในแต่ละช่วงเวลาของรอบปี ซึ่งช้างก็มักจะมีปัญหาสุขภาพแตกต่างกันไป มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่สภาพพื้นที่ หากผมจะลองยกตัวอย่างในช้างบ้านหรือช้างเลี้ยง ในปางช้างแม่สา มาให้ดูพอเห็นเป็นตัวอย่าง
เริ่มจากช่วงเปลี่ยนฤดูจากร้อนสู่ฝนกันเลยนะครับ ปัญหาที่พบมากที่สุดในช่วงนี้คือ แมลงดูดเลือดทั้งหลาย อาทิ เหลือบ ,แมลงวันดูดเลือด(ด้วง) เนื่องจากแมลงจำพวกนี้ต้องอาศัยสภาพอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมมันถึงจะขยายพันธุ์และเติบโต ซึ่งพอเข้าฝนจึงทำให้อัตราการแพร่พันธุ์เร็วมาก ช้างบางเชือกถึงขั้นป่วยและอ่อนเพลียเนื่องจากถูกรบกวนจากแมลงดูดเลือดจำนวนมาก แต่ในธรรมชาติช้างยังพอป้องกันตัวเองได้บ้างจากการใช้งวงหักกิ่งไม้ หรือใช้หางที่ปลายมีขนเป็นแผงปัดไล่แมลงได้บ้าง หรือบางทีก็ใช้งวงพ่นฝุ่นหรือดินโคลนเคลือบผิวหนังไว้ป้องกันอีกทางหนึ่ง แต่ก็ยังไม่พ้นถูกกัดดูดเลือดอยู่ดี และสิ่งที่มักจะตามมาคือตาอักเสบหรือตาเจ็บมีน้ำตาไหล เนื่องจากบางครั้งแมลงบางชนิดชอบบินวนรอบตาช้างทำให้ช้างพ่นดินหรือใช้ใบไม้ใบหญ้าปัด ทำให้เกิดบาดเจ็บหรืออักเสบจากความสกปรกได้
แต่สิ่งที่จำเป็นที่สุดของช้างเลี้ยงคือการที่จะต้องได้รับการดูและในเรื่องการอาบน้ำ ในช่วงเช้าก่อนการทำงาน การขัดถูผิวหนังด้วยแปรง ให้สะอาดเป็นการลดสภาวะหนอนแมลงวันไชใต้ผิวหนังลงได้ เนื่องจากแมลงวันดูดเลือดบางชนิดชอบไข่ไว้ตามผิวหนังช้างในช่วงที่ช้างพักในป่า และจะเริ่มฟักตัว แล้วไชเข้าไปดูดกินน้ำเลือดใต้หนังช้าง หากไม่ได้รับการอาบน้ำที่ดี หรือปล่อยให้ตัวหนอนเติบโตใต้ผิวหนัง จะพบร่องรอยที่ชัดเจนเป็นจุดสีดำ ตามตัวเนื่องจากของเสียที่ตัวหนอนขับออกมาจะปรากฏให้เห็นที่ผิวหนังช้างนั่นเอง
พอเข้าฤดูฝนกันจริงๆ ปัญหาที่พบมากที่สุดน่าจะเป็นปัญหาที่ตีนช้าง(ตีนใช้กับสัตว์ครับ) ปัญหาที่ว่านั้นคือ มีแผลอักเสบตามซอกเล็บ ,ฝ่าตีนแตกเป็นแผล,เหยียบของมีคม,เล็บฉีก และอื่นๆ อันเนื่องมาจากความชุ่มชื้นฉ่ำแฉะของหน้าฝน ทำให้ตีนของช้างอ่อนนุ่มและบอบบาง ง่ายต่อการได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นเล็บที่เคยแข็ง พอถึงหน้าฝน เล็บจะอ่อนนุ่มขึ้นและฝ่าตีนที่มีลักษณะคล้ายรองเท้าก็เช่นกัน ไม่ได้บางลงแต่อ่อนนุ่มไม่แข็งกระด้างเวลาเดินในที่ลาดชันที่มีโคลนบางครั้งการสไลด์หรือลื่นไถล หากใต้ดินหรือใต้ฝ่าตีนช้างมีหินคมหรือของมีคมบางอย่าง อาจจะทำให้ช้างมีแผลเหวอะหวะที่ใต้ตีนได้
ปลายฝนต้นหนาว เป็นช่วงเวลาที่สวยงามและดีที่สุดของคนชอบธรรมชาติ เพราะเป็นช่วงเวลาที่สวยงามที่สุด ความเขียวของใบไม้ และความหนาวเย็นของบรรยากาศ สร้างความรู้สึกดีให้กับทุกๆคน ช้างก็เช่นกัน ผมถือว่าเป็นช่วงที่ช้างมีสุขภาพดีที่สุด เนื่องจากช้างจะได้รับอาหารที่สมบูรณ์ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา และปัญหาสุขภาพจะไม่ค่อยมีมากและรุนแรง จะมีก็เพียงแต่เฝ้าระวังช้างหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ อาจจะใกล้เข้าสู่ช่วงเวลาตกมันได้เท่านั้นเอง
สำหรับช้างที่ไม่สมบูรณ์ หรืออายุมากและอายุยังน้อย ต้องคอยระวังในช่วงที่อากาศหนาวจัด เพราะช้างเหล่านี้จะทนกับสภาพอากาศที่หนาวจัดไม่ค่อยไหว อาจจะล้มหรือป่วยหนักได้เนื่องจากความไม่แข็งแรงของร่างกาย ผมพบปัญหานี้ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาเพราะบางคืนอากาศหนาวมากๆ ช้างแก่ชราบางเชือกถึงกับหนาวสั่น ผุดลุกผุดนั่ง ไม่ยอมกินอาหารและน้ำ ต้องใช้วิธีต้มน้ำอุ่นสมุนไพรฟาดประคบตามตัว และก่อไฟไล่ความหนาวกันเลยทีเดียว
หมดหนาวเข้าหน้าร้อน เริ่มเข้าสู่สภาวะคับขันในเรื่องของอาหารการกินสำหรับช้าง อาหารสด หรือหญ้าสดเริ่มหายาก ไม่ต้องพูดถึงในธรรมชาติแทบจะไม่เหลือสีเขียวแล้ว อันเป็นผลมาจากอาหารการกินที่ลดลง สภาพร่างกายของช้างก็เริ่มจะทรุดโทรมลง ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของตัวช้าง หากยังเป็นช้างหนุ่มสาวหรือกำลังโต มักจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ช้างที่อายุมากและไม่ค่อยสมบูรณ์ อาจจะพบปัญหาอ่อนเพลีย กินอาหารได้น้อยลง หรือเกิดปัญหาในระบบทางเดินอาหาร ทั้งท้องอืดและท้องเสียได้ และปัญหาที่มักพบเจอบ่อยๆคือ เล็บแตก ในช่วงฝนเล็บจะอ่อนนุ่ม แต่พอฝนหมดเข้าสู่ช่วงหนาวและร้อน ความชื้นน้อยลง ทำให้เล็บและตีนแห้งขาดความชุ่มชื้น เป็นผลให้เล็บและฝ่าตีนช้างเปราะ แตกได้ง่าย
ไม่ว่าฤดูกาลไหนๆ เราคนเลี้ยงช้างก็ยังคงทำหน้าที่ในการดูแลช้าง วิถีชีวิตและวัฒนธรรมระหว่างคนกับช้างอยู่ต่อไป ตราบใดก็ตามที่สิ่งมีชีวิตยังคงต้องมีความสัมพันธ์กันกับสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่ว่าคนหรือสัตว์ และทุกสิ่งย่อมมีความสัมพันธ์กับอีกสิ่งหนึ่งเสมอ ลองมองอะไรที่ไม่ใช่ตัวเรา มองออกไปไกลๆ มองออกไปบนท้องฟ้า มองออกไปในจักรวาล เราเองไม่ได้อยู่โดยลำพัง



Create Date : 06 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2552 22:28:40 น. 0 comments
Counter : 1179 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

ronneleph
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add ronneleph's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com