ธันวาคม 2550

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog
หมอกบางและลมหนาว....ใบไม้พราวร่วงสู่ดิน บนป่าผืนสุดท้ายแห่งดงพญาเย็น
ผมได้มีโอกาสกลับมาเยือนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อีกครั้ง ในช่วงเวลาที่หลายสิ่งหลายอย่างผันแปร และอนาคตของผื่นป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่แห่งเทือกเขาพนมดงรักก็อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงนับแต่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่สองของประเทศไทยจากองค์การยูเนสโกเมื่อกว่าสองปีที่ผ่านมาภายใต้ชื่อกลุ่ม “ดงพญาเย็น – เขาใหญ่”

ยาวนานเหลือเกินที่ป่ามรดกโลกแห่งนี้ขับขานเรื่องราวความเป็นมา จากตำนานดงพญาไฟในอดีตอันโหดร้ายมาสู่ดงพญาเย็นในปัจจุบันเชื่อมดินแดนภาคกลางและอีสานเข้าหากัน เป็นเรื่องน่ายินดีที่ป่าผืนใหญ่หลายผืนอันประกอบด้วย เขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา ตาพระยาและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่แห่งนี้ มีความสมบรูณ์เป็นที่ยอมรับของชาวโลก เป็นสมบัติของมวลมนุษยชาติให้ร่วมกันปกปักรักษาไว้

แต่วันนี้ผื่นป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มรดกโลกแห่งนี้กำลังเผชิญกับสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไมได้จากความพยายามขยายเส้นทางหลวง ภาพวันข้างหน้าของพงพนาผืนนี้จะเปลี่ยนเป็นเช่นไร ถ้าพวกเราเองไม่ร่วมกันรักษามรดกอันทรงคุณค่าชิ้นนี้ให้คงอยู่

การเดินทางครั้งนี้ผมเลือกที่จะใช้เส้นทางขึ้นเขาใหญ่ฝั่ง จ ปราจีนบุรี ผ่าน อ พนมสารคาม จ ฉะเชิงเทรา ด้วยเหตุผลที่ถนนสายนี้เป็นเส้นทางที่ไม่พลุกพล่านมาก ประกอบกับสองข้างทางมีทิวทัศน์ของวิถีชีวิตชนบทให้ซึมซับตลอดเส้นทาง ภาพท้องทุ่งรวงทอง ผืนดินนาไร่ที่กว้างไกลสุดสายตา หนทางทอดยาวผ่านทุ่งโล่งท่ามกลางเปลวแดดแผดเผาดังไฟกับธรรมชาติที่ร้อยเรียงเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย กับภาพขุนเขาพงพนาที่ตั้งตะหง่านอยู่เบื้องหน้า ไม่ผิดเพี้ยนเลยสักนิด กับชื่อที่ผู้คนเรียกขาน “เขาใหญ่” ภาพที่ปรากฎเบื้องหน้าบอกผมว่าจุดหมายปลายทางอยู่ใกล้เข้ามาทุกขณะ

ในที่สุดผมเดินทางมาถึงด่านเนินหอม ยวดยานพาหนะไม่มากในวันนั้น หลังจากชำระค่าธรรมเนียมแล้วก็ออกเดินทางต่อ ผ่านด่านเนินหอมมาเส้นทางจะค่อยๆ ใต่ระดับความสูงขึ้นเรื่อยๆ สู่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ป่าใหญ่ผืนสุดท้ายของดงพญาไฟที่เหลืออยู่กินอาณาบริเวณกว่าล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่สิบเอ็ดอำเภอของสี่จังหวัด อันได้แก่ อ มวกเหล็ก อ แก่งคอย จ สระบุรี อ ปากช่อง อ วังน้ำเขียว จ นครราชสีมา อ นาดี อ กบินทร์บุรี อ ประจันตคาม อ เมือง จ ปราจีนบุรี อ ปากพลี อ บ้านนา อ เมือง จ นครนายก เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญถึงห้าแห่งอันได้แก่ แม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำนครนายกที่ใหลบรรจบกันเป็นแม่น้ำบางปะกง ลำตะคองและลำพระเพลิงที่ใหลกลายเป็นแม่น้ำมูลแหล่งน้ำสำคัญหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมของอีสานตอนล่าง และท้ายสุดห้วยมวกเหล็กที่ใหลสู่แม่น้ำป่าสัก

ผมใช้ความเร็วไม่มากเพราะตระหนักดีว่า กำลังเดินทางเข้ามาในอาณาเขตที่เป็นเสมือนที่พำนักอาศัยของสรรพสัตว์กว่าสองร้อยชนิดที่อาศัยอยู่ที่นี่ มีโอกาสที่สัตว์ป่าเจ้าของบ้านจะข้ามถนนได้ทุกขณะ อีกประการหนึ่งผมยังต้องการที่จะเพลิดเพลินกับธรรมชาติสองข้างทางที่หาดูไม่ง่ายนักในทุกวันนี้

ถนนสายนี้ช่างดูเงียบสงบเหลือเกินในวันนั้น ผ่านเรื่องราวต่างๆมากมายที่เกิดขึ้นบนทางสายนี้ เส้นทางที่ทอดตัวยาวขึ้นสู่ยอดเขา ผ่านคืนและวันแห่งการเป็น “เขาใหญ่” วันแล้ววันเล่าจวบจนวันนี้ กลิ่นอายแห่งธรรมชาตินำพานักเดินทางมากมายเข้ามาสัมผัสประสบการณ์ที่แตกต่างยังพื้นที่แห่งนี้

ระหว่างสองข้างทาง ผ่านผื่นป่าอันอุดมสมบรูณ์ ธรรมชาติที่งดงาม ทันทีที่เข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ภาพในวันวานเริ่มชัดเจน ผมนึกย้อนหลายเรื่องราว หลายความรู้สึก ที่ได้มาเยือนในวันเก่าๆ หลายครั้งหลายครา หลากอารมณ์ความรู้สึกกับผู้ร่วมเดินทางคนแล้วคนเล่า อดยิ้มในใจไม่ได้ ผมค่อยๆสานต่อภาพวันวานเหล่านั้นเป็นเรื่องราว อยากย้อนวันเวลากลับไปสู่ความทรงจำที่ดีเหล่านั้น หลายหนนับครั้งไม่ถ้วนกับการมาเยือนผืนป่าพงไพรแห่งนี้ ไม่มีครั้งไหนที่จะเบื่อหน่ายกับการกลับมา เขาใหญ่ที่เป็นเสมือนที่พักพิงของผมในวันที่ไร้จุดหมายในใจ

ระหว่างทางกับภาพสัตว์ป่า ที่ปรากฎกายออกมาต้อนรับผู้มาเยือน แต่ทุกวันนี้ผู้คนที่ไม่เข้าใจธรรมชาติ กลับหยิบยื่นความสูญเสียด้วยการให้อาหารสัตว์ป่า มันมิใช่ความเมตตาแต่คือการทำร้ายสัตว์เหล่านั้นในทางอ้อม หลายชีวิตเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและสังเวยชีวิตบนเส้นทางสายนี้

ทิวทัศน์สองข้างทางช่างงดงามยิ่งนัก ธรรมชาติที่เต็มเปี่ยมด้วยความหลากหลายทางชีวภาพจัดสรรอย่างลงตัว ผมเพลิดเพลินกับความสวยงามตามธรรมชาติที่ร้อยเรียงตลอดสองข้างทาง จนข้ามเนินเขาสูงลูกสุดท้ายมาเชื่อมกับถนนธนะรัตน์บนพื้นที่อุทยานฯ มุ่งหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ผ่านอ่างเก็บน้ำบนเขาสูงจนกระทั่งใกล้มาถึงจุดหมายปลายทางของการเดินทางในวันที่ท้องฟ้าสดใสงดงามเหนือคำบรรยาย

การเดินทางในวันนั้น สิ้นสุดลงที่นี่ ผมมาถึงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในช่วงสายๆ ติดต่อรับกุญแจบ้านพักกับเจ้าหน้าที่งานบริการบ้านพักที่อยู่ไม่ไกลจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว รับกุญแจห้องพักหมายเลข 302/1 พร้อมชำระเงินค่ามัดจำกุญแจ 200 บาท

ผมใช้เวลาระหว่างนั้นสำรวจรอบๆบริเวณ จำได้ว่ามีเส้นทางเดินป่าเริ่มจากสะพานสลิงข้ามห้วยลำตะคองข้างศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ผมเดินชมธรรมชาติไปตามเส้นทางเดินปูด้วยอิฐตัวหนอนอย่างดี ตลอดเส้นทางมีป้ายสื่อความหมายของธรรมชาติตลอดเส้นทาง พบเห็นต้นไม้ที่มีหนทางดำรงชีวิตเพื่อความอยู่รอดด้วยการแปรสภาพของรากให้มีขนาดใหญ่ อีกทั้งได้พบเห็นการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกันในพงไพรแห่งนี้โดยไม่ทำร้ายกัน อดนึกไม่ได้ว่าเหตุใดมนุษย์เราถึงเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้ยากยิ่งนัก ระหว่างที่เดินมาจนใกล้ถึงช่วงสุดท้าย ผ่านสพานข้ามหนองน้ำตรงจุดนี้ ผมพบเห็นนกที่มีถิ่นหากินผูกพันกับหนองน้ำในเส้นทางศึกษาธรรมชาติสายนี้ ผมรู้สึกถึงความหวงแหนในบ้านที่มีท้องฟ้า มีสายน้ำ มีต้นไม้และเขาสูงของสัตว์ตัวน้อยนี้ได้ไม่ยากเลย ดูช่างเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุข อิสระเสรี ทุกชีวิตเบิกบานในบ้านอันเป็นที่รัก สิ่งต่างๆเหล่านี้คือความสมดุลย์ คุณค่าของธรรมชาติ ผมเดินข้ามสพานสลิงอีกแห่ง มาออกบริเวณหลังที่ทำการอุทยานฯ เป็นอันสิ้นสุดเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติรวมระยะทางประมาณ 800 เมตร

มื้อเที่ยงของวันนี้ ผมฝากท้องไว้ที่ศูนย์อาหารของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ภาพต้นไม้ขนาดใหญ่ในศูนย์อาหาร ที่ไม่ได้มีการโค่นล้มใจขณะก่อสร้างอาคารศูนย์อาหารแห่งนี้ ผมเดินไปที่ซุ้มขายอาหารอีกด้านหนึ่งด้วยความหิวเนื่องจากไม่ได้แวะพักทานอาหารที่ใดเลย มีอาหารให้เลือกพอสมควร เป็นอาหารง่ายๆ พอทานประทังความหิวได้ จำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อนร้านค้าขายอาหารและเครื่องดื่มอยู่บริเวณใกล้ๆลานจอดรถ ตรงข้ามกับศูนย์อาหารในปัจจุบัน ผมซื้ออาหารง่ายๆมาทานพร้อมเครื่องดื่มแก้กระหาย

หลังอาหารผมแวะศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่ภายในเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับผืนป่าแห่งนี้ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา เสือโคร่งที่เคยทำร้ายเด็กและเจ้าหน้าที่เมื่อหลายปีก่อน ผมได้ทราบว่าตั้งแต่มีการประกาศพื้นที่แห่งนี้เป็นอุทยานแห่งชาติ เคยมีเหตุเสือทำร้ายมนุษย์เพียงสองครั้งเท่านั้น ใครเลยจะบอกว่าเสือถูกทำร้ายมากกว่าคน วันนี้ลมหายใจของสัตว์จ้าวแห่งพงไพรกำลังเหือดหายลงทุกชั่วขณะ อนุสรณ์ของความโหดร้ายทารุณที่เกิดขึ้น หลายชีวิตต้องพลัดพรากด้วยน้ำมือของคนบางกลุ่ม โครงกระดูกกวางป่าและวัวกระทิงที่ถูกพรานยิงบาดเจ็บและเสียชีวิตในอีกสามชั่วโมงต่อมา เป็นโครงกระดูกที่อยู่ในสภาพสมบรูณ์ที่สุดที่มีมา เป็นสิ่งเตือนใจถึงความเห็นแก่ได้ อย่าให้ต้องหลงเหลือเพียงเท่านี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของผืนป่าแห่งนี้ ที่นี่มีร้านขายของที่ระลึกถึงคุณค่าของผืนป่ามรดกโลก ปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนได้จดจำและร่วมกันอนุรักษ์ให้คงอยู่ตลอดไปสู่ชนรุ่นหลัง

โครงกระดูกส่วนหัวและเขาของสมัน สัตว์จำพวกกวางขนาดกลางที่ต้องล้มหายตายจาก สูญพันธุ์ไปจากโลกใบนี้ เขาที่เมื่อยามที่โตเต็มที่จะแผ่กิ่งก้านออกมาหลายสิบกิ่งมีรูปทรงคล้ายสุ่ม สวยงามมาก เป็นภัยร้ายที่คุกคามสัตว์ชนิดนี้จนสูญสิ้น ผมได้มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่องราวความเป็นมาของผืนป่ามรดกโลกแห่งนี้ในช่วงบ่ายของวันนั้น ผ่านสื่อ ถ้อยคำบรรยาย ปลุกจิตสำนึกแห่งการร่วมกันรักษ์เขาใหญ่

ในยามตะวันบ่ายคล้อย ผมนั่งพักผ่อนที่น้ำตกกองแก้ว สายน้ำจากห้วยลำตะคองที่มีต้นน้ำมาจากเขาสามยอดและเขาฟ้าผ่าใหลเรื่อยเอื่อยช้าในยามสายฝนลาจาก เกิดเป็นลำธารน้ำตกสายนี้ ทราบว่าที่มาของชื่อเรียกตามชื่อเข้าพ่อกองแก้วที่สิ่งสถิตย์อยู่ ณ พื้นที่แห่งนี้
ลำห้วยสายนี้แบ่งแยกจังหวัดนครนายกและนครราชสีมาออกจากกันและใหลเรื่อยไปที่น้ำตกผากล้วยไม้และน้ำตกเหวสุวัต ผมเหม่อมองดูสายน้ำที่ใหลริน ด้วยใจที่เป็นเบิกบาน รอบๆกายมีแต่ธรรมชาติชวนให้หลงใหล ท้องฟ้า ต้นไม้และสายน้ำที่ไม่มีวันแยกจากกัน สิ่งเหล่านี้เติมวาดชุบชีวิตชีวาให้แก่โลกใบนี้ ผมยังจำได้ดี เมื่อคราวก่อน ทุกครั้งที่อ่อนล้าจากภาระหน้าที่งานการ เคยเดินทางมานั่งทอดกายใจไปกับสายน้ำที่น้ำตกแห่งนี้นับครั้งไม่ถ้วน แม้ว่าเป็นช่วงสั้นๆแต่ก็ทำให้ผมรู้สึกดีไม่น้อยเนื่องจากเป็นน้ำตกที่เงียบสงบ ผู้คนไม่พลุกพล่าน เข้าถึงได้ไม่ยาก อยู่ใกล้ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

ผมจัดสัมภาระเข้าบ้านพักแรมในคืนนี้ที่อยู่บริเวณค่ายสุรัสวดี ห้องนอนพร้อมเครื่องนอน ห้องน้ำพร้อมเครื่องทำน้ำอุ่น พื้นที่นั่งพักกาย ดื่มด่ำบรรยากาศ คงไม่มีอะไรมากไปกว่านี้อีกแล้วที่ผมต้องการ สำหรับการกลับมาเยือนที่นี่ในครั้งนี้

หลังเข้าที่พัก ผมเดินเท้าเรื่อยมาจากที่พัก ในใจทบทวนเรื่องราวต่างๆที่ผ่านมา สิ่งที่เราเคยประสบพบเจอ ในทุกครั้งที่มาเยือนที่แห่งนี้ มันเป็นความสุขใจ ไกลห่างจากความสับสนวุ่นวายในเมืองใหญ่ คิดอะไรต่างๆนาเพลินๆ สองข้างทางผ่านพื้นที่ที่เคยใช้เป็นสนามกอล์ฟเมื่อครั้งอดีตกาล ผมนึกย้อนไปแล้วก็หาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมมีสนามกอล์ฟบนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จำได้ว่ามีวัวกระทิงตัวหนึ่งชื่อจุ๋มจิ๋ม ออกหากินแล้วกลืนลูกกอล์ฟเข้าไปในท้องจนถึงแก่ความตาย เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกเศร้าเสียดาย

ยามตะวันรอนแดดอ่อนแสง ผมเดินเลยมาอีกสองร้อยเมตร นั่งลงตรงนี้ ดื่มด่ำบรรยากาศที่อ่างเก็บน้ำมอสิงโต มอเป็นภาษาอีสาน หมายถึงเนินเขา ส่วนชื่อสิงโตมาจากสัญลักษณ์ของสโมสรโรตารี่ เมื่อครั้งมาตั้งฐานบนเขาใหญ่เพื่อช่วยเหลือทหารอเมริกันในสมัยสงครามเวียดนาม เมื่ดใดที่มีโอกาสมาที่อุทยานฯ แห่งนี้ ต้องมานั่งที่เดิมตรงนี้ทุกครั้ง ผมมองออกไปเบื้องหน้า สวยงามจับใจกับภาพยามแสงตะวันฉายส่องกระทบบนผิวราวกับกระจกเงาบานใหญ่ก่อนจะลาลับขอบฟ้า

หลังอาหารมื้อเย็น ผมได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมส่องสัตว์ในยามค่ำคืนร่วมกับนักท่องเที่ยวที่ขึ้นมาสัมผัสธรรมชาติบนป่าเขาใหญ่ สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตุ ทุกวันนี้จำนวนสัตว์ป่าที่ออกมาหากินยามค่ำคืนมีจำนวนน้อยลงกว่าเมื่อก่อนมาก ตลอดระยะเวลาราวหนึ่งชั่วโมงพบเห็นกวางป่าไม่มากนัก กับสิ่งที่ยังติดคาอยู่ในใจว่ากิจกรรมที่เป็นการรบกวนสัตว์ป่าควรจะมีอยู่ต่อไปหรือไม่

กลับมาพักผ่อนอิริยาบถที่บ้านพัก ผ่อนคลายและดื่มด่ำบรรยากาศอยู่เงียบๆ เพียงลำพังอยู่ตรงนี้โดยที่ยังไม่รู้สึกง่วง คงเป็นเพราะความอื่มเอมในหัวใจที่ได้มีโอกาสกลับมาตามหาความสดใสยังพงพนาแห่งนี้อีกครั้ง
ค่ำคืนเมื่อยามเดือนสิ้นแสง ท้องฟ้าสีหม่น ไม่มืดมนจนสิ้นแสง มีดาวจรัสแสงเกลื่อนท้องนภา สายลมหนาวในยามค่ำคืน เริ่มเย็นลงจับหัวใจ ผมนับทุกลมหายใจแต่ละนาทีผ่านไปอย่างช้าๆ ที่แล้วก็ให้ผ่านเลยไป ไม่นำพาสิ่งไม่ดีมาใส่ใจ แล้วผ่านคืนนี้ไป

ผมออกเดินทางในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นสู่จุดชมทิวทัศน์บนเขาเขียว ยอดเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเลหนึ่งพันสองร้อยกว่าเมตร เป็นอันดับสามในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ รองจากเขาร่ม และเขาแหลม ระยะทางประมาณสิบกว่ากิโลเมตรจากเบื้องล่างกับภาพธรรมชาติสองข้างทางที่ชวนให้หลงใหล บนเขาแห่งนี้มีจุดชมทิวทัศน์ที่น่าสนใจคือผาตรอมใจ เข้าใจว่าในช่วงที่มีการก่อสร้างสถานีเรด้าของกองทัพอากาศ มีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง จึกมีการเรียกขานชื่อหน้าผาแห่งนี้ด้วยความอาลัยต่อผู้จากไป บริเวณจุดชมวิวผาตรอมใจมีแผงขายของกินสำหรับนักท่องเที่ยว
บนเขาเขียวแห่งนี้ยังมีจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงามอีกแห่งคือผาเดียวดาย ห่างจากผาตรอมใจลงมาราวๆ สองกิโลเมตร สามารถจอดยานพาหนะแล้วเดินเท้าเข้าไปเป็นระยะทางสองร้อยเมตร ด้วยระดับความสูง 900 เมตรจากระดับน้ำทะเลคือที่ที่ผมได้มายืนชมทิวทัศน์ตรงนี้อีกครั้ง มองเห็นภาพป่าและเทือกเขาเขียวอันกว้างใหญ่ ท้องฟ้าห่างไกล ไม่นาน ความรู้สึกก็คล้อยตามชื่อของสถานที่แห่งนี้ เบื้องหน้ามีแต่ความอ้างว้าง เดียวดาย คงไม่ผิดนักกับชื่อที่มีการเรียกขานสถานที่นี้ ผมทอดสายตาไปที่เส้นขอบฟ้า ปล่อยใจล่องลอยไปอย่างไร้จุดหมาย ชื่นฉ่ำกับความทรงจำดีๆที่เกิดขึ้น ณ ผื่นป่าแห่งนี้ ผมใช้เวลาซึมซับบรรยากาศอยู่ ณ ที่แห่งนี้ระยะหนึ่ง ก่อนกลับลงมา


ยามเช้าอย่างนี้ คงไม่มีอะไรดีไปกว่า คลายง่วงด้วยชาร้อนๆซักแก้ว เคล้าเสียงเพลงขับกล่อมจากเหล่ามวลวิหคทิ่เริงร่ารับแสงอรุณ อย่างอิสระเสรี มื้อเช้าของวันใหม่ที่ศูนย์อาหารเหมือนเช่นเคย ผมอยากใช้เวลาว่างวันนี้ ไปเยือนสถานที่ต่างๆ บนอุทยานฯแห่งนี้ มีหลายแห่งที่อยากไป ผมเริ่มต้นไปตามเส้นทางถนนธนะรัตน์ มุ่งหน้าน้ำตกเหวสุวัต ระหว่างมีที่ให้แวะหลายแห่ง

บ้านพักในบริเวณนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2505 เคยอยู่ในความดูแลของ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวในอดีต ก่อนรัฐบาลจะยกเลิกการพักแรมบนอุทยานฯ เมื่อปี 2534 ยังจำได้ดีเมื่อครั้งได้มีโอกาสมาพักค้างแรมที่นี่ ตอนนั้นสภาพพื้นที่อุทยานฯ ยังคงความเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ปัจจุบันบ้านพักเหล่านี้อยู่ในความดูแลของศูนย์ฝึกอบรมการป่าไม้ อาคารหลังนี้เคยเป็นโภชนาคารบนเขาใหญ่เมื่อครั้งกระโน้นที่ผมเคยมานั่งทานอาหาร ปัจจุบันกลายเป็นอาคารศูนย์ฝึกอบรมการป่าไม้

น้ำตกผากล้วยไม้อยู่ห่างจากลานกางเต้นท์พักแรมประมาณ 1 กม ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ราวๆ 7 กม เป็นน้ำตกขนาดกลางที่อยู่ในห้วยลำตะคอง สูงราว 10 เมตร ลดหลั่นกันลงมา ด้านล่างเป็นแอ่งน้ำกว้างมาก เหมาะสำหรับลงเล่นน้ำ ตามคบไม้และหน้าผาบริเวณน้ำตก พบกล้วยไม้นานาพันธุ์ นี่คงเป็นที่มาของชื่อน้ำตกแห่งนี้ เมื่อครั้งก่อนจำได้ว่าผมมีโอกาสเดินป่าศึกษาธรรมชาติจากน้ำตกผากล้วยไม้ไปสิ้นสุดที่น้ำตกเหวสุวัต เป็นระยะทางประมาณ 3 กม เส้นทางเดินยังชัดเจนอยู่ในใจมิรู้ลืม เดินลัดเลาะไปตามลำธาร ลดหลั่นลงไปใต้ร่มไม้ร่มรื่นตลอดทาง ระหว่างทางพบสรรพสัตว์ที่ใช้ชีวิตผูกพันกันลำธารลำห้วยต่างๆ นานา เช่นฝูงผีเสิ้อ ที่มีอยู่กว่าสองร้อยชนิดที่นี่ หากเดินช่วงเช้าอาจพบเห็นตัวตะกองซึ่งเป็นกิ้งก่าที่สวยงามหายากออกมานอนผึ่งแดดหรือเหล่าบรรดาชะนีบนยอดไม้ และทุกวันนี้ มีข้อมูลยืนยันว่ามีจรเข้มาอาศัยอยู่ที่เส้นทางเดินป่าสายนี้แล้ว

ผมเดินทางต่อไปถึงจุดสิ้นสุดถนนธนะรัตน์ซึ่งเป็นที่ตั้งของน้ำตกเหวสุวัตที่น้อยคนจะไม่รู้จัก ทุกครั้งมาที่นี่ ได้พบกับความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติรอบๆ สายน้ำตก เส้นทางมุ่งสู่น้ำตกทุกวันนี้เอื้ออำนวยให้ผู้คนเข้าถึงได้ไม่ยาก มีที่จอดรถสะดวกบริการนักท่องเที่ยว ร้านขายอาหารและของที่ระลึก

ผมเดินเท้าลงบันไดไปยังตัวน้ำตก นั่งทอดอารมณ์ไปกับสายน้ำจากห้วยลำตะคองที่ร่วงหล่นจากหน้าผาสูงกว่า 20 เมตร กระทบผิวน้ำเบื้องล่างเป็นละอองต้องกับแสงแดดเกิดเป็นสายรุ้งที่งดงาม แผดเสียงของสายน้ำที่ทิ้งตัวจากหน้าผาสูงดังกึกก้องไปทั่วพงไพรได้ยินมาแต่ไกล ราวกับการปรากาศความยิ่งใหญ่ให้ผู้คนได้รับรู้
จากน้ำตกเหวสุวัตมีเส้นทางเดินเท้าไปชมน้ำตกอีกสองแห่งคือ น้ำตกเหวไทรที่ห่างออกไปเจ็ดร้อยเมตร และน้ำตกเหวประทุนที่อยู่ห่างออกไปสามกิโลเมตร แต่เส้นทางเดินทุกวันนี้ไม่ค่อยชัดเจน ควรจะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่

ผมมุ่งหน้าย้อนเส้นทางเดิมไปตามถนนธนะรัตน์ ผ่านหน้าศูนย์บริการ จากนั้นก็ข้ามห้วยลำตะคองไปอีกฟาก มาแวะหยุดที่ กม 35 บนถนนธนะรัตน์เดินเท้าเข้าไปประมาณ 800 ร้อยเมตร ระหว่างทางมีป้ายสื่อความหมายของหมู่มวลวิหคที่สามารถพบเห็นได้ในบริเวณนี้

ผมเดินผ่าเปลวแดดมาถึงหอดูสัตว์หนองผักชีที่ตั้งตระหง่านอยู่ที่นี่จวบจนบัดนี้ หอสูงสำหรับเผ้าดูสตว์ป่าบริเวณทุ่งหญ้า หนองน้ำและโป่ง จากหอดูสัตว์มองเห็นหนองผักชี และดินโป่งแหล่งแร่ธาตุสำคัญของสรรพสัตว์ ภาพนกแซงแซวเล็กเหลือบหนึ่งในนกกว่าสามร้อยชนิดที่สามารถพบเห็นได้ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เกาะอยู่ตามกิ่งไม้กู่ขันบทเพลงจากพงไพร หาดูได้ไม่ยากที่หอดูสัตว์แห่งนี้ มองออกไปนอกหน้าต่างเห็นเรื่องราวเล่าขานเกี่ยวกับสรรพสัตว์และผืนป่าแห่งนี้ ไม่น่าเชื่อว่าผืนใหญ่ใกล้เมืองจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณและสัตว์ป่า มีต้นไม้มากมายบนภูเขา มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง

ผมยังจำได้ดีอีกเช่นกันเมื่อคราวที่ได้มีโอกาสเดินป่าศึกษาธรรมขาติระยะสั้น เริ่มที่กม 33 ธรรมชาติที่น่าสนใจกับระยะทางประมาณ 3 กม ตลอดเส้นทางแห่งการเรียนรู้ สื่อสัมพันธ์กับธรรมชาติ ท่ามกลางเสียงสรรพสัตว์ จนมาถึงที่หอดูสัตว์หนองผักชีแห่งนี้ ผมเรียนรู้ว่ามนุษย์กับธรรมชาติต้องอยู่ร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อใดที่เราทำร้ายธรรมชาติ ผลก็จะกลับมาสู่ตัวเรา



ระหว่างเส้นทางกลับผมแวะน้ำตกเหวนรก เคยเข้าไปสัมผัสความยิ่งใหญ่ของน้ำตกแห่งนี้มาหลายหน เพียงแค่เดินเท้าจากทางเข้าไปประมาณหนึ่งกิโลเมตร ได้ยินว่าเคยมีการเสนอเปลี่ยนชื่อใหม่ แต่นักท่องเที่ยวก็ยังติดปากกับชื่อเดิมกันมาตลอด สมัยก่อนผู้มาเยือนต้องเดินป่าจากด้าน อ ปากพลี จ นครนายก ขึ้นเขาระกำ ผ่านหัวเขาสมอปูน ข้ามมาเขต จ ปราจีนบุรี ต้องรอนแรมในป่าไม่น้อยกว่าสองวันจึงมาถึงน้ำตกแห่งนี้ได้ ทุกวันนี้การเดินทางสะดวกสบายหลังจากมีการสร้างเส้นทางขึ้นเขาใหญ่ด้าน จ ปราจีนบุรี

ผมใช้เวลาไม่นานเดินไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ ผ่านห้วยสมอปูนที่มีสพานปูนข้ามห้วย เดินลงหุบน้ำตกไปเพียงแค่สามสิบนาที ก็ได้พบกับความอลังการของน้ำตกเหวนรกตอนบน ส่วนตอนล่างอีกสองชั้นทางอุทยานฯไม่อนุญาตให้ลงไปชมเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว โอกาสที่จะได้เห็นภาพน้ำตกแห่งนี้ทั้งสามชั้นที่มีความสูงกว่าสองร้อยเมตร คงต้องอาศัยภาพถ่ายทางอากาศเท่านั้น ภาพสายน้ำที่มีต้นลำธารจากลำห้วยสมอปูนใหลมาจากบริเวณทุ่งงูเหลือม ตกจากผาสูง ดังกึกก้องไปทั่วหุบเขาและพงไพร สู่คลองท่าด่าน ผ่านเขื่อนขุนด่านปราการชล ก่อนระบายออกกลายเป็นแม่น้ำนครนายกในที่สุด เป็นสิ่งที่ผู้มาเยือนทุกคนรับรู้ได้ไม่ยาก น้อยคนนักที่จะปฎิเสธว่านี่คือน้ำตกที่สวยงามแห่งหนึ่งของประเทศไทย

ผมเดินทางกลับในวันนั้น อำลาผืนป่าแห่งนี้พร้อมด้วยสำนึกแห่งความหวงแหน คงไม่ใช่การลาจากเป็นแน่แท้ วันหน้าคงได้มีโอกาสกลับมา ระหว่างทางกลับเสียงเรียกจากพงไพรและ บทเพลงจากธรรมชาติยังคงขับขาน ก้องกังวาลอยู่ในใจมิรู้ลืม ผมขอสัญญา
ไม่ว่าอนาคตของผืนป่าดงพญาเย็นแห่งนี้จะเป็นเช่นไร ก็ยังจะคงอยู่ในใจของผมตลอดไป ตราบนานเท่านาน…



Create Date : 13 ธันวาคม 2550
Last Update : 15 มกราคม 2551 11:16:28 น.
Counter : 3200 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

3KKK
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]



New Comments
MY VIP Friend