CBprinciple : หลักการของชีวิตในชีวิตที่ดูไม่มีหลักการ

เปิดเทอมใหม่...หัวใจร้อนรุ่ม [หนังไทยไม่ฉายโรง]



เปิดเทอมใหม่เปิดใจให้กระจ่าง
หลังพักทางร้างไปใจชักเขลา
"ปิดเทอมใหญ่...หัวใจว้าวุ่น" เมา
เปิดเทอมใหม่จึงเร่งเร้าร้อนรุ่มใจ

เด็กเล็กเล็กปิดเทอมประเดิมเล่น
มิเคยเห็นว่า "เวลา" ค่าไฉน
ตอนนี้ว่า "โอ้เวลาช่างเดินไว"
ข้ายังไม่สาแก่ใจก็วายปราณ

เพราะ "ผู้ใหญ่" มิใช่เจ้าเด็กโข่ง
ตัวสูงโย่งคิดอะไรไม่แตกฉาน
มีหน้าที่ก็กระทำตามชำนาญ
มิควรว่างล้างผลาญบ่อนทำลาย

ให้เขาว่าลูกใครไม่สั่งสอน
เป็นขยะเป็นตะกอนก้อน "ฉิบหาย"
"หนักแผ่นดิน" ไม่ควรอยู่...สมควรตาย
ถ้าอยู่ได้คงต้องอายที่เป็นคน


เปิดเทอมใหม่ครานี้ควรสำนึก
ควรต้องตรึกตรองดูรู้ฝึกฝน
พักเรื่องรักรุมเร้าเฝ้าดูตน
เป็นผู้ใหญ่ที่ชาติชนเขาต้องการ


ที่ห่างหายจากการแวะเวียนมายังบล็อกแกงประมาณเดือนหนึ่ง เพราะมัว "ปิดเทอมใหญ่...หัวใจว้าวุ่น" อยู่นั่นเอง (ขอเกาะกระแสเขาหน่อยเถอะเห็นดังตั้งแต่โปรโมท) ทุกท่านไม่ต้องแปลกใจครับว่าทำไมปิดเทอมแค่เดือนเดียวเอง ก็สาขาวิชาที่ผมเรียนอยู่เขาปิดกันอย่างนี้นี่ครับ จริงๆ ปิดให้แค่ 2 สัปดาห์ครับ ให้แค่หายใจหายคอ ไม่ต้องไปว้าวุ่นใจที่ไหนมากนัก แล้วก็กลับมาเรียนต่อ เฮ้อ... หลายคนคงจะเดาได้แล้วล่ะว่าผมเรียนอยู่ไหน รูปข้างบนหราขนาดนั้น อิอิ

ครั้งนี้มาใช้ชื่อ "เปิดเทอมใหม่...หัวใจร้อนรุ่ม" ล้อชื่อหนังใหม่ที่จะเข้าโรงทั่วกรุงสยามวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ ถ้าจะไม่พูดถึงหนังของคุณพี่ย้ง ทรงยศเขาหน่อยคงจะน่าเกลียดไป หนังเรื่อง "ปิดเทอมใหญ่...หัวใจว้าวุ่น" นี้ ผมก็ตั้งตารอดูเป็นโปรแกรมทองต้อนรับเปิดเทอมใหม่อย่างใจจดจ่อ รูปนอกอาจจะทำให้นึกว่าเป็นแค่หนัง Feel Good ธรรมดาสไตล์ถนัดของ GTH แต่จริงๆ แล้วมันก็คงไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้นมากนักหรอก (อ้าว) เนื้อหาอาจมีประเด็นบางอย่างที่คาดไม่ถึง มิตรภาพระหว่างเพื่อนที่ดูเผินๆ ก็ไปได้ด้วยดี ความรักแรกพบก็ดูไม่น่าจะสมหวังหรือไม่ควรจะสมหวัง (ในกรณีของคุณอ้อย) ความรักเลื่อนลอยกับนักร้องดัง อาจจะไม่เป็นอย่างที่คิดก็ได้ครับ ควรต้องพิสูจน์กันในโรงภาพยนตร์ใกล้หรือไกลบ้านท่านตามแต่สะดวกเอาเอง ผมก็ไม่อยากหวังสูงมากนัก เพราะกลัวผิดหวัง แม้จะเป็นผลงานของผู้กำกับมือรางวัลอย่างพี่ย้งก็ตาม

ประเด็นของหนังเท่าที่ดูอย่างฉาบฉวยนั้น เน้นเล่าของตัวละคร "วัยรุ่น" แทบทั้งสิ้น มันทำให้ผมย้อนกลับมาดูชีวิตตัวเองบ้าง และปรากฏว่าแทบไม่มีเศษเสี้ยวใดเข้าใกล้สิ่งที่นำเสนอเลย ผมคงเป็นคนอีกรูปแบบหนึ่ง (ดีหรือเปล่าก็ไม่รู้) กระมัง มันไม่อาจช่วยให้ผมกลับไปดื่มด่ำกับชีวิตในวัยละอ่อนเท่าไร แต่กลับช่วยกระตุ้นความคิดของผมขึ้นมาบ้าง เกี่ยวกับการที่ชีวิตคนเราจะมีช่วงเวลาที่ต้องเปลี่ยนผ่านจากสภาพหนึ่งไปเป็นอีกสภาพหนึ่งที่มีความเข้าใจโลกและชีวิตที่เปลี่ยนไป (insight) โดยมีแรงขับดันจากประสบการณ์ (experiences) อันน่าหรือไม่น่าพิศมัย หรือที่ฮิตติดหูว่า "Coming of Ages" นั่นเอง

การก้าวล่วงของวัยนั้น อาจกินเวลาเป็นเสี้ยววินาทีหรือนานนับปีขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคลปัจจัยครับ (ศัพท์นี้ผมถือวิสาสะบัญญัติขึ้นเองนะครับ) บางเรื่องสำหรับคนบางคนการจะเข้าใจมันยากยิ่งกว่าการคลอดบุตร (เอ๋ เกี่ยวกันไหม) แต่บางเรื่องสำหรับหลายๆ คนก็ง่ายยิ่งกว่ากลืนน้ำลายครับ ถ้าคนเราทุกคนจะมีปัญญาสามารถเข้าใจโลกและชีวิตในทุกแง่มุมที่เคยประสบพบพานได้ดีเท่าๆ กัน คงไม่เกิดปัญหาน่าอเนจอนาถบนโลกใบนี้แบบที่เรากำลังเผชิญอยู่

ผมจึงเพลินแต่งกลอนสุภาพ (ที่ไม่ค่อยสุภาพเท่าไหร่นัก) ขึ้นมา เอ่ยถึงใครหลายคนก็พอจะทราบนะครับ อิอิ

ภาพยนตร์แนว "Coming of Ages" พบเห็นอย่างโจ่งแจ้งในผลงานแทบทุกเรื่องของค่าย GTH ครับ ไม่ว่าจะเป็นผลงานของผู้กำกับแฟนฉันหรือไม่ก็ตาม แต่วันนี้ผมได้รับประสบการณ์ใหม่เกี่ยวกับการก้าวผ่านวัยในหนังอีกเรื่องหนึ่ง แต่การก้าวผ่านวัยในเรื่องนี้ไม่ใช่รูปแบบธรรมดาแบบที่คนทั่วไปสามารถพบเจอครับ มันมีความพิเศษในเรื่องราวที่ทำให้ภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่ได้รับการกล่าวขวัญอย่างมากเมื่อปีที่ผ่านมา "Persepolis" ครับ




ผลงานภาพยนตร์โดยมาร์เจน สตราปี ที่เล่าเรื่องชีวิตในวัยเด็กจนถึงวัยสาวของตัวเธอเองผ่านเหตุการณ์การปฏิวัติอิสลามหรือการปฏิวัติอิหร่าน (Iranian or Islamic Revolution) ที่เปลี่ยนการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าโมฮัมหมัด ราซา ชาห์ เป็นการปกครองโดยพรรคการเมืองอิสลาม โดยใช้ชื่อ Persepolis ซึ่งเป็นชื่อเมืองโบราณของชาวเปอร์เชียนอยู่ทางตอนเหนือของอิหร่านในปัจจุบันเป็นชื่อของภาพยนตร์

ต่อไปนี้เป็นส่วนที่เปิดเผยเนื้อหาบางตอนของภาพยนตร์ (เล็กน้อย) หากไม่อยากเสียอรรถรส กรุณาข้ามครับ




เรื่องราวในภาพยนตร์กล่าวถึงชีวิตของเด็กหญิงมาร์เจน (มาร์จี) เกิดในครอบครัวผู้มีการศึกษาที่มีแนวคิดสมัยใหม่ ได้รับอิทธิพลจากเสรีนิยมจากฝากสหรัฐอเมริกาและสังคมนิยมคอมมิวนิสท์จากรัสเซียในช่วงปี 1970 เด็กหญิงผู้มีความคิดว่าวันหนึ่งเธอจะเป็นศาสดาองค์สุดท้ายเผชิญคำถามแบบเด็กๆ เกี่ยวกับความดีชั่ว ความถูกผิด ในยุคปฏิวัติที่เปลี่ยนวิถีปฏิบัติของคนในอิหร่านด้วยข้อจำกัดทางศาสนา หญิงไม่มีสิทธิเท่าเทียมชาย ถูกกดขี่ทางเพศ หญิงต้องมีผ้าคลุมศีรษะ ประชาชนถูกริดรอนอิสรภาพทางการกระทำและความคิดอันขัดต่อหลักของศาสนา เรื่องราวรอบด้านขัดแย้งกับการเจริญวัยของเด็กสาวตัวเล็กที่ควรได้เรียนรู้ชีวิตอิสระตามสิทธิที่มนุษย์พึงมีอย่างยิ่ง

ผมไม่ได้มีอคติไม่ดีกับศาสนาอิสลาม แต่เพียงคิดในแง่ของพุทธศาสนิกชนที่มิได้จำกัดสิทธิใดๆ และมองโลกในแง่ของความไม่มีอัตตาเท่านั้น การกระทำของตัวละครที่เคร่งศาสนากลายเป็น "ตัวร้าย" ในความรู้สึกของผมทันที และคิดว่าเราควรต้องต่อสู้เพื่อให้ได้อิสระเสรีภาพอันควรนั้นคืนมา

ภาพยนตร์นำเสนอแง่มุมของการเรียกร้องอิสระเสรีในชีวิตของตัวละคร ที่ต้องเสี่ยงภัยต่อการไม่มีศีรษะอยู่บนบ่าและการธำรงรักษาไว้ซึ่งครอบครัว ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากการเรียกร้องจะล้มเหลวด้วยการใด ความอยู่รอดของครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญกว่า และนั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เด็กหญิงมาร์เจนยังเติบโตไปได้ แม้จะมีอุปสรรคขัดขวางก็ตาม

ตัวละคร "ยาย" ในเรื่องนี้มีความพิเศษ ตรงที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ทางเพศหญิงที่แข็งแกร่งและเป็นแบบอย่าง (Role Model) สำหรับมาร์เจนตั้งแต่ต้นยันจบเรื่อง และเป็นหลักที่ทำให้มาร์เจนผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายในช่วงวัยรุ่นของเธอมาได้อย่างดี ในช่วงกลางเรื่องนั้น มาร์เจนถูกส่งไปเรียนต่อยังออสเตรีย เนื่องจากสงครามที่ระอุขึ้นจนเกินทนทานในอิหร่าน ที่ออสเตรีย มาร์เจนต้องเผชิญกับการดูถูกเหยียดยามทางสังคมรอบข้าง ในขณะที่เธอกำลังค้นหาอัตลักษณ์ของตัวเองแบบวัยรุ่น และต้องเผชิญกับความพึงพอใจในเพศตรงความและความรักแบบไม่รู้ประสาที่เกิดขึ้นแบบห้ามใจไม่ได้ การถูกกดขี่จากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเกี่ยวกับสิทธิของสตรี ทั้งสามนี้เป็นประเด็นที่ภาพยนตร์ใส่มาอย่างแยบคายและกลมกล่อม บทภาพยนตร์ขับเน้นให้ตัวละครจำต้องฝืนทนกับความไม่พอใจ ความไม่สบใจเหล่านั้นด้วยธรรมชาติการเอาตัวรอดของหญิงสาว และสามารถคลี่คลายลงได้อย่างเด็ดขาดด้วยหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจอันสำคัญคือครอบครัว, "ยาย" ผู้เป็นหลักให้เธอมาตลอด, และพระเจ้าตัวจริงที่ไม่เคยทอดทิ้งมนุษย์ผู้มีคุณธรรม

ท้ายที่สุดประสบการณ์ก็สามารถสอนให้เธอเข้าใจโลกและชีวิตมากขึ้น เข้าใจจิตใจตรเองอย่างแท้จริง เข้าใจว่าสิ่งใดคือสิ่งที่ถูก สิ่งใดคือสิ่งที่ควร และสามารถใช้ชีวิตในท้ายเรื่องในแบบที่เหมาะสมกับสถานการณ์ แม้จะไม่สามารถเรียกหาอิสรภาพที่พึงมีอย่างที่มุ่งหวังได้







ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ในการใช้ภาพลายเส้นขาวดำคล้ายภาพวาดการ์ตูนญี่ปุ่นเกือบตลอดเรื่อง ในการใช้เทคนิคการเล่าเรื่องแบบย้อนเวลา และการเล่าเหตุการณ์ต่างๆ แบบรวมรัด สามารถดึงวิธีการเล่าแบบละครหุ่นมาใช้ ขณะที่การดำเนินไปของเรื่องเป็นเฉกเช่นเดียวกับการเล่าเรื่องโดยใช้นักแสดงจริง การวางองค์ประกอบภาพและการสร้างสรรค์ภาพทำได้ยอดเยี่ยม มีการตัดต่อที่ต่อเนื่อง ลื่นไหล และน่าสนใจ ดนตรีประกอบทำหน้าที่ได้ดีในหลายๆ ฉากที่ไม่ต้องมีบทพูด ถือว่างานสร้างในภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ในขั้นอันเหมาะสมกับรางวัล Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์เมื่อปีกลาย

บทภาพยนตร์มีเสน่ห์ในการทิ้งประเด็นให้คิดอยู่ตลอดเวลา และไม่ได้สรุปประเด็นอย่างชัดแจ้งถึงที่สุด เป็นการให้ผู้ชมได้เรียนรู้ไปพร้อมตัวละครของมาร์เจน และจนจบเรื่องก็เป็นหน้าที่ของผู้ชมที่จะต้องไปขบกันเอาเองว่าสุดท้ายจะคิดแตกต่างกันอย่างไร ตลอดทางแทรกด้วยมุขอารมณ์ขัน และคำพูดเสียดสีอันน่าจดจำ

แม่ชี: "พวกคนอิหร่าน มันก็เป็นพวกไม่มีมารยาท"
มาร์เจน: "งั้นก็คงเป็นเช่นนั้นว่า ก่อนที่พวกคุณจะมาเป็นแม่ชี ก็เคยเป็นกระหรี่กันมาก่อน"

พวกแม่ชีก็คงเคยเป็นกระหรี่กันมาจริงๆ ถ้ายังไม่รู้จักยกระดับจิตใจของจนเองดูถูกผู้อื่นผ่านทางชนชาติ โดยไม่ดูความเป็นจริงของบุคคลเช่นนี้

ดูจนจบแล้วให้คะแนนภาพรวม 4 ดาว จาก 5 ดาวครับ

.....................................

Gain an Experience, then Reflex the Insight, Finally

อ้อมไปถึงเรื่องหนังเสียนานจนห่างไกลจากหัวข้อเปิดเทอมใหม่ไปเสีย วันนี้ไปปฐมนิเทศขึ้นปีการศึกษาใหม่ มีอาจารย์มาอธิบายเกี่ยวกับการทำแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ให้ฟัง เรื่อง portfolio นี่เป็นเรื่องหนักใจทีเดียวสำหรับผม เพราะผมเองเป็นคนไม่ชอบเก็บโน่นนี่ที่ตัวเองเคยรู้ หรือเคยทำ เพราะถือว่าถ้าตนรู้ ตนทำได้ ก็รู้เฉพาะตน ไม่ต้องให้คนอื่นมารู้กับเราด้วย แต่พอเขาเอาวิธีประเมินการเรียนแบบนี้มาใช้ เขาก็ต้องตรวจสอบได้ ทำให้ผมรู้สึกทุกข์ใจเล็กๆ ครับ

แต่สิ่งที่ไม่สบอารมณ์ผมอย่างแรงคือที่อาจารย์อธิบายเกี่ยวกับการเขียนประสบการณ์ของตนและสิ่งที่เรียนรู้ลงใน portfolio ด้วย ตามหัวข้อย่อยล่ะครับ ว่าได้รับประสบการณ์ (experience) แล้วสะท้อนเป็นความเข้าใจโลกและชีวิต (insight) ที่เพิ่มขึ้น โห ดูเป็นนามธรรมสุดๆ ครับ แต่คุณต้องเขียนออกมาให้เห็นเป็นสิ่งที่อ่านได้ จับต้องได้ มันไม่ใช่นะ มันไม่ใช่

การทำเช่นนี้เหมือนการสร้างสิ่งที่ไม่มีตัวตนให้มีตัวตน ไม่ต่างอะไรกับ "ปั้นน้ำเป็นตัว" เลยครับ ชีวิตเรานี้เรียนรู้อยู่ทุกวัน ทุกนาที บ้างเรื่องรู้ได้โดยประสบการณ์เก่าซึ่งบางทีก็เป็นสิ่งไม่ตั้งใจรู้ บางสิ่งเป็นสันดานแต่เด็กๆ การใช้หลักเกณฑ์ประเมินอย่างนี้มันเป็นการโกหกพกลมใส่หน้ากระดาษทั้งสิ้นเลย ว่านี่เห็นอย่างนี้ เกิดอ้อขึ้นมานะว่าเป็นอย่างนั้นนะ ลำบากใจมาก แต่ทำไงได้ ถ้าเขากำหนดให้ทำจริงๆ ก็ต้องว่ากันไปครับ T T

อย่างไรก็ตามจุดนี้ไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับผมนะครับ เป็นอุปสรรคเพียงเล็กน้อย สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจตัวเอง ไม่หลอกตัวเองว่าตนทำอะไรได้บ้าง และยังทำสิ่งใดไม่ได้ ก็ต้องขวนขวายให้ทำให้ได้ แล้วจะสามารถเรียนจนจบทำงานได้อย่างมีความสุขครับ

ฝากถึงใครที่เข้ามาอ่านและอยากจะเรียนหรืออยากให้ลูกของท่านมาเรียนในสาขาวิชาชีพว่า ความรู้และความชำนาญในวิชานั้นๆ เป็นสิ่งสำคัญมาก การเรียนคือการฝึกฝนให้ตนมีความรู้และสามารถนำไปประกอบอาชีพได้อย่างมีความสุข ความหนักหนาในการเรียนเป็นเรื่องเล็กมากครับเมื่อเราย้อนกลับมาดูมันใหม่เมื่อเราผ่านจุดนั้นไปแล้ว

สุดท้ายนี้ถ้าเปิดเทอมแล้ว (รวมไปถึงท่านที่ทำงานแล้วด้วย) ก็อย่าลืมทำให้หัวใจร้อนรุ่มมีแรงขึ้นบ้าง จะได้ทำการทำงานได้ดี อย่าว้าวุ่นจนไม่มีเวลาทำหน้าที่ของตนนะครับ ;)

ด้วยรัก จากใจคนกำลังเปิดเทอม
รังสีไอฟ่า




 

Create Date : 14 มีนาคม 2551
0 comments
Last Update : 7 เมษายน 2551 23:20:21 น.
Counter : 975 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


รังสีไอฟ่า
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
<<
มีนาคม 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
14 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add รังสีไอฟ่า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.