Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
9 กรกฏาคม 2549
 
All Blogs
 
กองทัพไทยกับสงครามสารสนเทศ

ข้อมูลข่าวสารนั้นถือว่ามีความสำคัญต่อการปฏิบัติการทางทหารเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเมื่อดำเนินกรรมวิธีทางการข่าวแล้วก็คือ งานการข่าวกรองนั่นเอง งานการข่าวกรองได้แสดงให้ระจักษ์ชัดมาแล้วในสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อเยอรมันดำเนินสงครามสายฟ้าแลบจนสามารถยึดประเทศ
โปแลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ เบลเยี่ยม และฝรั่งเศส ได้ในเวลาอันรวดเร็ว การที่ญี่ปุ่นเปิดฉากสงครามแปซิฟิก ด้วยกำลังทางอากาศโจมตีกองเรือสหรัฐ ฯ ที่เพิร์ลฮาเบอร์ หรือการใช้กำลังทางอากาศของอิสราเอลในการโจมตีเป้าหมายทางทหารของอียิปต์ จนประสบชัยชนะในสงคราม ๖ วัน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ และในสงครามครั้งล่าสุด คือ สงครามอ่าวเปอร์เซีย ก็มีการใช้กำลังทางอากาศโดยใช้ข้อมูลข่าวสารเป็นหลักในการวางแผนปฏิบัติการยุทธ ดังนั้นประเทศต่าง ๆ จึงพยายามที่จะพัฒนาการข่าวกรองของตนให้มีประสิทธิภาพสูง แม้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นยุคหลังสงครามเย็นแล้วก็ตาม

ปัจจุบันนี้ระบบ C๔I ได้เข้ามามีบทบาททางทหารมากขึ้น ข่าวกรองต่าง ๆ มีการถ่ายโอนข้อมูล (Data Transfer) ผ่านระบบสื่อสารข้อมูลมากขึ้นทั้งทางเครือข่ายเฉพาะที่ผ่านทางระบบโทรศัพท์และการสื่อสารไร้สาย เช่น วิทยุ ไมโครเวฟ และดาวเทียม การนำระบบคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารข้อมูลมาใช้งานในกองทัพมีมากขึ้น ซึ่งสื่อต่าง ๆ รวมทั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์นั้นช่วยอำนวยประโยชน์อย่างมหาศาลในเรื่องของปริมาณข้อมูล ขีดความสามารถในเรื่องความรวดเร็วทันเหตุการณ์ และขีดความสามารถในด้านการกระจายข้อมูลข่าวสารไปยังที่หมายได้อย่างถูกต้องแม่นยำ นอกจากนั้นจากการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วของระบบสารสนเทศ ทำให้การควบคุมแนวความคิดหรือประชามติของคนในประเทศเป็นไปได้อย่างยากลำบากมากขึ้น จากบทเรียนในสงครามเวียดนาม สหรัฐอเมริกาจำต้องถอนทหารและเปลี่ยนนโยบายต่อเวียดนามเหนืออันเป็นผลเนื่องมาจากความต้องการของประชาชนในประเทศ ในสงครามอ่าวเปอร์เซียจึงได้มีการเตรียมการเป็นอย่างดี และสหรัฐฯ สามารถสร้างความชอบธรรมในการส่งกำลังทหารเข้าไปในคูเวตในเวทีโลกได้ในฐานะของผู้รักษาสันติภาพ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการปฏิบัติงานอย่างได้ผลของระบบสารสนเทศร่วมกับการปฏิบัติการจิตวิทยาต่อประเทศต่าง ๆ ในโลกนั่นเอง

ผลกระทบจากการปฏิวัติทางทหารกับการพัฒนากองทัพ
นับตั้งแต่สงครามอ่าวเปอร์เซีย พ.ศ.๒๕๓๓–๒๕๓๔ เป็นต้นมา ได้ก่อให้เกิดการตื่นตัวในสหรัฐฯ และทั่วโลกอย่างมาก

การปฏิวัติทางทหาร (Military Revolution) ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง Andrew Marghall อดีตผู้อำนวยการสำนักงานประเมินเครือข่าย ในสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ได้กล่าวถึงว่า “การปฏิวัติทางทหารในปัจจุบัน ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ ๓ ประการ (8Air Vice Marshal R.A.Mason. 1999) ได้แก่
๑. สงครามสารสนเทศ
๒. การโจมตีเป้าหมายอย่างแม่นยำและ
๓. ความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ที่เหนือกว่า”
ซึ่งเทคโนโลยีเป็นส่วนขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นมาได้ ทุกประเทศได้ประจักษ์ถึงพลังอำนาจของเทคโนโลยี ที่มีผลต่อสภาพการรบ ทำให้กลยุทธของกำลังรบทั้งหลาย เปลี่ยนไปจากเดิม อันมีผลทำให้เกิดความพ่ายแพ้หรือชนะในเวลาอันรวดเร็ว และก่อให้เกิดรูปแบบของสงครามสมัยใหม่ขึ้น ทุกประเทศจึงได้มีความตื่นตัวในการแสวงหาเทคโนโลยีทางทหารใหม่ๆ ทั้งแบบแผนและแนวคิดในการทำสงครามในอนาคต ตัวอย่างเห็นได้ชัดเจน จากการใช้กำลังทางอากาศอย่างเดียว สามารถเอาชนะในบอสเนีย พ.ศ.๒๕๓๘ (การปฏิบัติการเพื่อบีบบังคับให้รัฐต่าง ๆ ยูโกสลาเวีย ยุติการสู้รบกัน) และในวิกฤตการณ์โคโซโว พ.ศ.๒๕๔๒ โดยกองกำลังสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ ได้ใช้ยุทธวิธีดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตทหารและประชาชนน้อยที่สุดและตรงกับความต้องการของประชาชน ได้มีการพัฒนาเครื่องมือและยุทโธปกรณ์ทางทหาร ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มมากขึ้นอย่างมากมาย แนวคิดหลักนิยม AIR-LAND BATTLE ได้กำหนดหลักการในการเพิ่มความลึกของสนามรบ (เพื่อโจมตีให้ลึกยิ่งขึ้น และการใช้หน่วยรบพิเศษ) มากกว่าเดิมที่ใช้เมื่อครั้งสงครามอ่าวเปอร์เซีย ได้มีการพัฒนาระบบการวิเคราะห์ข่าวกรองโดยอัตโนมัติ ขึ้นหลายระบบ เช่น การเชื่อมต่อ (Down Link) ข้อมูลที่ตั้งกองทหารข้าศึกจากเครื่องบิน J-STARS ลงสู่กองบัญชาการภาคพื้นดิน ได้ในเวลาเกือบใกล้เวลาจริง และใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข่าวกรอง ดำเนินกรรมวิธีและแจกจ่ายเป็นข่าวกรองต่อไป ในการวางแผนโจมตีด้วยเครื่องบิน สามารถลดเวลาในการวางแผนลงได้มากมาย จากเดิม ใช้เวลามากถึง ๔๘ ชั่วโมงลงเหลือเพียง ๑๒ ชั่วโมง (General Ronald R.Fogleman. DC. 1995)

การปฏิวัติทางด้านข้อมูลข่าวสาร (Information Revolution) ได้เกิดขึ้นด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้เกิดความได้เปรียบทางด้านข่าวสารและข่าวกรองเหนือข้าศึกมากมาย โดยเฉพาะการทำให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับเห็นภาพสนามรบ (Battlefield Digitization) ได้ในลักษณะเวลาจริง Real-Time ส่งผลให้สามารถควบคุมสนามรบ (Battlefield Control ) ได้ ทุกประเทศจึงพยายามแสวงหาเทคโนโลยีต่าง ๆ สหรัฐฯ ได้ริเริ่มโครงการ Force XXI เพื่อความมุ่งหมายให้ผู้บังคับบัญชาเห็นสนามรบพร้อมกัน ทำให้เพิ่มความอ่อนตัว ความอยู่รอด และความสามารถในการทำลาย ความตื่นตัวในการปฏิวัติทางด้านข้อมูลข่าวสารในสหรัฐ ฯ มีอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมองเห็นว่าความสำเร็จของการปฏิบัติการทางทหาร ในสงครามสมัยใหม่ เกิดขึ้นจากแนวความคิด" สงครามใช้ฐานความรู้ " (Knowledge Based Warfare)ในเรื่องข้อมูลข่าวสาร กุญแจที่นำไปสู่ความสำเร็จในการมีชัยชนะเหนือศัตรู ก็คือความสามารถที่จะแสวงหา และควบคุมข้อมูลข่าวสารไว้ได้หมด ขณะเดียวกันทำการป้องกันข้อมูลข่าวสาร จากการกระทำของฝ่ายตรงข้าม จึงเกิดแนวความคิดของสงครามแย่งชิงและป้องกันข่าวสาร หรือสงครามข้อมูลข่าวสารขึ้น จึงได้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างกว้างขวาง ถึงลักษณะภัยคุมคาม ขอบเขต การป้องกัน ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐฯ ได้เห็นถึงภัยคุกคามแบบนี้ เนื่องจากแก่นของเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการได้มา ซึ่งความได้เปรียบข้อมูลข่าวสาร ต้องอาศัยการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่าย รวมทั้งระบบสื่อสารต่างๆ ภายในประเทศและทั่วโลก และได้พบความจริงที่น่ากลัวว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นแกนหลักของการทำงานในระบบเครือข่ายฯ ระบบติดต่อสื่อสาร ระบบโทรศัพท์ทั้งหมด ระบบพลังงานไฟฟ้า ระบบการเงินการธนาคาร ระบบการควบคุมการจราจรทางอากาศ ระบบควบคุมและอำนวยการยุทธ C4I ของทหาร ฯลฯ มีจุดอ่อนที่การรักษาความปลอดภัยจากการเจาะเข้ามา เพื่อดู เปลี่ยนแปลง หรือทำลายข้อมูล ตลอดจนทำให้ระบบสารสนเทศภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ ระบบเครือข่าย และโปรแกรมซอฟต์แวร์ทำงานผิดพลาด ซึ่งมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานตาม โปรแกรมที่ตั้งไว้ และจะเกิดความเสียหายต่างๆ ตามมาอย่างใหญ่หลวง

กองทัพไทยจำเป็นจะต้องศึกษาถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการทำสงครามสามารถ เพื่อปรับตัวเข้าสู่การรบในสงครามคลื่นลูกที่ ๓ ตามแนวความคิดของอัลวิน ทอฟเล่อร์ นักยุทธศาสตร์ยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงแห่งชาติเป็นส่วนรวม

สงครามข่าวสารเชิงรุกโดยทั่วไป

สงครามในอนาคต เป็นสงครามที่แย่งชิงความได้เปรียบเพื่อครองอากาศ หรืออวกาศความได้เปรียบนี้จะทำให้การปฏิบัติการทุกรูปแบบประสบผลสำเร็จได้ การที่จะชิงความได้เปรียบนั้น ปัจจัยที่มีความสำคัญและจะต้องทำก่อนคือการปฏิบัติการต่อระบบข้อมูลข่าวสารเพื่อการครอง
ข้อมูลข่าวสาร

สงครามข่าวสารมีความสำคัญต่อสงครามในอนาคตทุกรูปแบบ ผู้ที่จะได้รับชัยชนะจะต้องเป็นผู้สามารถควบคุมระบบข่าวสารได้ทั้งฝ่ายเดียวกันและฝ่ายตรงข้าม แต่การปฏิบัติจะประสบผลได้นั้น จะต้องรู้ถึงจุดศูนย์ดุลของข่าวสารและปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อเข้าไปควบคุมหรือทำลายระบบข่าวสารนั้น เพื่อชิงความได้เปรียบคุณลักษณะของสงครามข่าวสาร เป็นสงครามรูปแบบใหม่ ที่ไม่มีการทำลายทางกายภาพ ให้ผลการทำลายสูง ขอบเขตไม่เด่นชัด ง่ายต่อการอำพราง ยากต่อการแจ้งเตือนและเฝ้าตรวจ ไม่มีแนวรบที่แน่ชัด

ภัยคุกคามของสงครามข่าวสาร เป็นการกระทำต่อระบบข้อมูลข่าวสาร โดยเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไข รบกวน ลวง หรือตัดขาดการเชื่อมโยงของระบบข้อมูลข่าวสาร ในทางทหารจะกระทำต่อระบบบัญชาและการควบคุม จะกระทำได้ใน ๓ ลักษณะ คือ สงครามอิเล็กทรอนิกส์ สงครามจิตวิทยา และสงครามเครือข่าย ตัวกลางที่จะใช้เป็นสื่อ เช่น ทางสาย ทางคลื่น และมนุษย์

การปฏิบัติการสงครามข่าวสาร กระทำได้ใน ๓ ระดับ คือ ระดับยุทธศาสตร์ ยุทธการ และยุทธวิธี
๑. ระดับยุทธศาสตร์มุ่งเน้นไปที่ความพยายามโดยรวมในการทำสงคราม โดยยุติข้อขัดแย้งให้ได้ก่อนที่จะมีการใช้กำลังทางทหาร โดยจะกระทำที่พลังอำนาจ และโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศ ซึ่งจะเข้าไปควบคุมระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งหมด ทำให้สังคม หรือสถาบันหลักของชาติ เกิดความ ปั่นป่วน เสียหาย หรือระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญหยุดชะงัก ทำให้ประชาชนระส่ำระสาย รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

๒. ระดับยุทธการ จะแสวงประโยชน์จากระบบข้อมูลข่าวสารทางทหารและกระทำให้ระบบเสียหาย เพื่อมิให้ผู้บังคับบัญชาฝ่ายข้าศึก ใช้ข้อมูลข่าวสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเข้าไปควบคุมระบบบัญชาการและควบคุมของฝ่ายตรงข้าม

๓. ระดับยุทธวิธี จะกระทำเพื่อตัดกำลังทางทหารของฝ่ายข้าศึก ไม่ให้ติดต่อกับผู้บังคับบัญชาได้ โดยเป้าหมายเป็นระบบสื่อสาร หรือระบบควบคุมการยิงของอาวุธ ในระดับยุทธวิธี หรือระบบควบคุมและสั่งการกองทหารในยุทธบริเวณ

สงครามข้อมูลข่าวสารกระทำได้ ๓ ลักษณะ
๑. รวบรวมข้อมูลข่าวสารทั้งฝ่ายเราและฝ่ายตรงข้าม (รู้เขา รู้เรา)
๒. ดำรงข้อมูลข่าวสารฝ่ายเรา
๓. ควบคุมข้อมูลข่าวสารของฝ่ายตรงข้าม

อาวุธของสงครามข่าวสารจะกระทำต่อเป้าหมาย ๓ ประการคือ Hardware Software และกระทำต่อบุคคล
๑. Hardware หมายถึงการทำลาย คอมพิวเตอร์ อุปกรณทางอิเล็กทรอนิกส์ และตัวกลางต่างๆ
๒. Software เป็นการกระทำต่อระบบโปรแกรม และข้อมูลในคอมพิวเตอร์ให้เสียหาย
๓. กระทำต่อบุคคล เป็นการกระทำต่อ ผู้นำประเทศ ผู้นำทางทหาร และประชาชน โดยใช้การปฏิบัติการสงครามจิตวิทยาเป็นหลัก

อาวุธที่ใช้ในสงครามข่าวสาร
๑. อาวุธเครือข่าย เป็นการกระทำของมนุษย์ต่อระบบเครือข่ายของคอมพิวเตอร์ เพื่อเข้าไปกระทำในจุดที่เป็นจุดอ่อนของระบบที่ไม่มีการป้องกัน หรือป้องกันเบาบาง ต้องการเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูล ขโมยข้อมูลข่าวสาร ส่งข้อมูลข่าวสารที่ผิดๆ เพื่อให้เกิดความเสียหาย ข้อมูล
บิดเบือนเพื่อให้การตัดสินใจผิดพลาด อาวุธที่ใช้คือ ไวรัสคอมพิวเตอร์ในรูปแบบต่างๆ และHacker
๒. อาวุธทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อตัดการสื่อสารของฝ่ายตรงข้าม ทำให้ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถรับข้อมูลข่าวสารได้ หรือส่งข้อมูลผิดๆ ในความถี่ของฝ่ายตรงข้าม เช่นการรบกวนทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Jamming) และการลวงเลียนทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Deception) ซึ่งสามารถกระทำได้ทั้งกับระบบเรดาร์ (Elint) และระบบการติดต่อสื่อสาร (Comint)
๓. อาวุธทางจิตวิทยาเป็นสงครามจิตวิทยาที่กระทำต่อความคิดมนุษย์ กระทำได้ใน ๒ ลักษณะคือ กระทำต่อฝ่ายเดียวกัน และฝ่ายตรงข้าม โดยใช้สื่อเพื่อปฏิบัติการจิตวิทยาให้เหมาะสม โดยกระทำต่อผู้นำ กำลังทางทหาร และประชาชน สื่อที่ใช้ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หรือระบบเครือข่าย เพื่อชี้ให้ประชาชนเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของชาติ หรือ เกิดแนวความคิดที่สนับสนุนการปฏิบัติของฝ่ายเรา ในทางกลับกัน เมื่อกระทำต่อฝ่ายตรงข้าม เพื่อชี้ให้ประชาชน ลดความเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของชาติ ต่อต้านกำลังทหาร ทำให้กำลังทหารขาดขวัญและกำลังใจ กลัวความตาย ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างความยากลำบากของทหารแนวหน้า กับผู้เสวยสุขในแนวหลัง ให้เห็นถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากทำการรบหรือการปฏิบัติการต่อไป รวมทั้งแสดงภาพของความทุกข์ทรมานของทหารในพื้นที่การรบให้กับประชาชน หรือญาติพี่น้องได้รับรู้ หรือเป็นการสร้างภาพให้เลวร้ายมากกว่าความเป็นจริง ใช้การส่งข่าวสารลวงจากครอบครัวเพื่อให้ทหารแนวหน้าเข้าใจผิด และมีความวิตกวังกลต่อครอบครัว หาจุดอ่อนและสร้างความแตกแยกในหมู่ทหาร เพื่อให้เกิดความขัดแย้งแตกสามัคคีและทำลายกันเอง นอกจากนั้น การปฏิบัติการต่อต้านตัวผู้นำ โดยสร้างความสับสนในข่าวสารต่าง ๆ ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารผิดพลาด และตัดสินใจผิด ทำให้ผู้นำเปลี่ยนความตั้งใจ ยอมยกเลิกการปฏิบัติการทั้งมวล หรือตัดสินใจไปในแนวทางที่เราต้องการ เช่นการลวงให้ทราบข้อมูลความสูญเสียกำลังจำนวนมากของฝ่ายตน สร้างกระแสให้เกิดแรงกดดันจากประชาชน ทำให้ผู้นำเปลี่ยนความตั้งใจ ข่าวสารที่ผิดพลาดทำให้การเลือกใช้กำลังต่อฝ่ายตรงข้ามผิดพลาดประเมินสถานการณ์ไม่ถูกต้อง

การดำเนินการสงครามข่าวสารและจุดอ่อนของกองทัพไทยในปัจจุบัน
๑. ด้านการรวบรวมข้อมูลทางข่าวสาร ทั้งฝ่ายเราและฝ่ายตรงข้าม ซึ่งการดำเนินการในขั้นนี้ กองทัพได้เห็นความสำคัญและเริ่มดำเนินการพัฒนา ทั้งในด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ที่มีอยู่ให้ทันสมัย รวมทั้งพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้มากขึ้น และเพื่อให้ทันต่อความต้องการใช้งาน
๒. ด้านการดำรงรักษาข้อมูลข่าวสารของฝ่ายเรานั้น อยู่ในระหว่างการปรับปรุง แก้ไขและทดลองใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยในระบบเครือข่าย และระบบการสื่อสาร ซึ่งยังสามารถครอบคลุมได้ทั้งหมด ฝ่ายตรงข้ามอาจจะสามารถใช้การปฏิบัติการสงครามข่าวสารได้
๓. การควบคุมข้อมูลข่าวสารของฝ่ายตรงข้าม กองทัพไทยยังไม่มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะดำเนินการได้ และยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการสงครามข่าวสารโดยตรง โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบข้อมูลข่าวสารหลายหน่วย ทำให้ยังไม่สามารถที่จะใช้ข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบ และปฏิบัติการเชิงรุกต่อฝ่ายตรงข้ามได้ โดยเฉพาะในสงครามเครือข่าย สงครามอิเล็กทรอนิกส์ และสงครามจิตวิทยา

ป.ล.ท่านที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมจากบทความอื่น ๆ ของผู้เขียน กรุณาเข้าชมได้ที่ //www.anuchart.org และแลกเปลี่ยยนความคิดเห็นได้ที่ MSN Messenger ที่ anuchartbunnag@hotmail.com

บรรณานุกรม

Air Vice Marshal R.A.Mason, “The Aerospace Revolution in the Post Cold War Environment”,การประชุมทางวิชาการกองทัพอากาศ ครั้งที่ ๑/๔๒ เรื่อง นภานุภาพในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง , ๗ เมษายน ๒๕๔๒

General Ronald R. Fogleman, “Fundamentals of Information Warfare An Airman’s View” , Conference on the Global I Explosion , Washington , D.C. , May 16 , 1995..



Create Date : 09 กรกฎาคม 2549
Last Update : 9 กรกฎาคม 2549 23:42:21 น. 0 comments
Counter : 1895 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

anuchartbunnag
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add anuchartbunnag's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.