พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2557
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
31 พฤษภาคม 2557
 
All Blogs
 
รัฐประหารอาเซียน ประวัติศาสตร์-ปัจจุบัน

รัฐประหารอาเซียน ประวัติศาสตร์-ปัจจุบัน

ข่าวสดอาเซียน



ภูมิภาคอาเซียนผ่านพ้นทศวรรษแห่งการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ครั้งใหญ่ที่เริ่มต้นในปี 2540 จนเกิดกระแสการรวมกลุ่มให้แข็งแกร่งขึ้น อันเป็นที่มาของการรวมประชาคมอาเซียนที่มีกำหนดอย่างเป็นทางการในปี 2558



แม้การรวมกลุ่มอยู่ภายใต้นโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายใน ชาติสมาชิกต่างๆ พยายามปรับตัวเข้าสู่การขับเคลื่อนไปในแนว ทางที่ประชาคมโลกประชา ธิปไตยยอมรับ เนื่องจากต้องอยู่ในกรอบอาเซียนร่วมกัน



ดังเห็นได้ชัดเจนที่สุดในกรณีพม่าที่เปิดประเทศและแสดงพัฒนาการสู่แนวทางประชาธิปไตยมากขึ้น



แต่สำหรับไทยในช่วงเวลา 8 ปี เกิดการรัฐประหารต่อเนื่องแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง คือในปี 2549 และล่าสุดปี 2557



ประเทศในอาเซียนไม่แสดงปฏิกิริยาชัดเจนเท่ากับชาติตะวันตก แต่ก็ระบุว่าไทยเป็นสมาชิกสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมของอาเซียน ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดในไทยย่อมจะส่งผลกระทบต่อเพื่อนร่วมภูมิภาคอื่นอย่างไม่ต้องสงสัย



แม้ว่าชาติสมาชิกอื่นๆ ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา และอินโดนีเซีย ผ่านประสบการณ์การรัฐประหารมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่ปรากฏในช่วงทศวรรษล่าสุด



สำหรับไทยหากนับรวมตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 แล้ว โดยในสิบปีหลังมานี้เป็นสมาชิกประเทศเดียวที่ประชาธิปไตยสะดุดซ้ำถึงสองครั้ง




พม่าเคยมีภาพชัดเจนของการ เป็นรัฐทหาร นับจากเกิดการรัฐประหาร มาแล้ว 2 ครั้งและปกครองโดยรัฐบาลทหารที่กินเวลายาว นานหลายปี



ครั้งแรกและครั้ง ประวัติศาสตร์นั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2505 ที่นายพลเนวินใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีอูนุ และเปลี่ยนพม่าเป็นเผด็จการทหารยาวนานถึง 26 ปี



ภายหลังจากการรัฐประหารตามมาด้วยเหตุการณ์ที่ "เจ้าเมียแต๊ก" ลูกชายของอดีตประธานาธิบดี "เจ้าส่วยแต๊ก" รวมถึงฝ่ายตรงข้ามคณะรัฐประหารถูกสังหารและอุ้มหายหลายราย ตามมาด้วยการปราบปรามนักศึกษาที่ก่อการจลาจลอย่างรุนแรง และปิดมหาวิทยาลัยนานถึง 2 ปี



ส่วนครั้งที่ 2 เกิดขึ้นต่อเนื่องจากเหตุการณ์ที่พระสงฆ์ นักศึกษาและประชาชน ซึ่งรวมถึง นางออง ซาน ซู จี นับล้านคนชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2531 หรือที่รู้จักในนาม "8888" โดยจากเหตุการณ์ดังกล่าว นายพลซอ หม่อง ยึดอำนาจนายพลเนวิน พร้อมสถาปนา "สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ" หรือ สลอร์ก



จากนั้นมีการเลือกตั้งทั่วไปในพม่า ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางซู จีได้ 392 ที่นั่งจาก 455 ที่นั่ง ขณะที่พรรคของรัฐบาลทหารได้เพียง 10 ที่นั่ง แต่รัฐบาลทหาร ไม่ถ่ายโอนอำนาจให้ และคุมขังนางออง ซาน ซู จี ไว้ในบ้านพัก จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อปี 2553

ซ้าย - รัฐประหารพม่า-ยุคเนวิน พ.ศ.2505

ขวา - รัฐประหารอินโดนีเซีย พ.ศ.2508





หันมาทางฝั่งตะวันออกของไทย กัมพูชามีประวัติการรัฐประหารเช่นกัน โดยมี 2 ครั้งที่สำคัญคือ ครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2513 เมื่อ นายลน นล ถอด เจ้าชายนโรดม สีหนุ ออกจากการเป็นประมุขแห่งกัมพูชา และนำมาสู่สงครามกลางเมืองและการก่อตั้งสาธารณรัฐเขมรในเวลาต่อมา



ขณะที่อีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นจากความตึงเครียดตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 2536 จนกระทั่งเกิดการปะทะระหว่างทหารที่สนับสนุน นายฮุนเซน และฝั่ง ที่สนับสนุน พระนโรดม รณฤทธิ์ ขึ้นเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2540 กลางกรุงพนมเปญ



โดยเกิดการปะทะต่อเนื่องนาน 1 เดือน ก่อนที่ทหารจากฝ่ายนายฮุนเซนจะเป็นฝ่ายชนะ ส่งผลให้เจ้ารณฤทธิ์ต้องลี้ภัยสู่ประเทศฝรั่งเศส ขณะที่ผู้นำพรรคฟุนซินเป็ก อีกหลาย คนต้องหนีออกนอกประเทศเช่นกัน



สําหรับประเทศลาวมีการยึดอำนาจเพียงครั้งเดียว เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2503 นำโดยนายพลกองแล วีระสาน นายทหารพลร่มซึ่งได้รับการฝึกจากสหรัฐอเมริกา ก่อรัฐประหารในนครเวียงจันทน์ ในฐานะที่เป็นฝ่ายลาว กลาง ต้องการล้มรัฐบาลอนุรักษนิยมของ เจ้าสมสนิท ทำให้ เจ้าสุวันพูมา ได้กลับสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง



นอกจากนั้นนายพลกองแลยังมีเป้าหมายล้มล้างการทุจริต ส่งเสริมนการสร้างสันติภาพและความเป็นกลางให้กับประเทศ ซึ่งรัฐประหารในครั้งนี้ยังทำให้เกิดการเจรจาที่นำไปสู่ข้อตกลงเจนีวาว่าด้วยลาว ปี 2505



อย่างไรก็ตาม นายพลกองแลร่วมมือกับขบวนการปะเทดลาว กระทั่งมีปัญหาและกลับมาอยู่กับฝ่ายราชอาณาจักรลาวอีกครั้ง จนตกเป็นเป้าหมายในการลอบสังหาร และต้องลี้ภัยไปฝรั่งเศสเมื่อปี 2510



หลังจากขบวนการปะเทดลาวเป็นฝ่ายชนะ และจัดตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเมื่อปี 2518 นายพลกองแลพยายามจัดตั้งองค์กรเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในลาว ต่อมาในพ.ศ.2531-2532 เขาย้ายไปสหรัฐในฐานะคนไร้รัฐและยังต่อต้านระบอบสาธารณรัฐอยู่ ต่อมาได้ลี้ภัยไปยังฝรั่งเศสจนกระทั่งปัจจุบัน



ส่วนอินโดนีเซียมีการรัฐประหารเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เมื่อ 30 ก.ย. 2508 เป็นการโค่นอำนาจของ อดีตประธานาธิบดีซูการ์โน นำโดย นายพลซูฮาร์โต ผู้นำการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย



นายพลซูฮาร์โตครองอำนาจในอินโดนีเซียยาวนานถึง 32 ปี กระทั่งประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2541 หลังจากนักศึกษาและประชาชนเดินขบวนต่อต้านขนานใหญ่



มีผู้ประเมินว่าตลอดเวลาที่อยู่ในตำแหน่งนั้นมีการทุจริตถึง 15,000-35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5 แสนล้านถึง 1 ล้านล้านบาท



Create Date : 31 พฤษภาคม 2557
Last Update : 31 พฤษภาคม 2557 8:05:50 น. 0 comments
Counter : 1051 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.