Group Blog
 
All blogs
 

ขณะนี้พวกเราทุกฝ่ายจะร่วมมือกันพิทักษ์รักษาแผ่นดินไทย!

ขณะนี้พวกเราทุกฝ่ายจะร่วมมือกันพิทักษ์รักษาแผ่นดินไทย!
โดย ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์1 กันยายน 2552



หมายเหตุ : บทความนี้พัฒนาขึ้นมาจากบทความที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2552 หลังจากที่ข้าพเจ้ามีโอกาสได้พบและพูดคุยอย่างจริงจังกับตัวแทนกระทรวงกลาโหม สมาชิกวุฒิสภาบางท่าน และตัวแทนสื่อบางท่าน แล้วต่างมีความเห็นพ้องกันในขณะนี้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้คือ จะเยียวยาแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้น และที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง ต่อๆ ไปได้อย่างไร ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงมีความเห็นที่จะแก้ไขการเปลี่ยนแปลงชื่อบทความนี้เสียใหม่จาก “กระทรวงการต่างประเทศเล่นเกมการเสียดินแดน : กต. – ต้นคิด รัฐสภา – อนุมัติ ทหาร – ปฏิบัติ!” เป็น “ขณะนี้ พวกเราทุกฝ่ายจะร่วมมือกันพิทักษ์รักษาแผ่นดินไทย!” เพื่อให้เกิดปฏิบัติการที่สร้างสรรค์และฉับพลันในความร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่จะพิทักษ์รักษาแผ่นดินไทย

เมื่อปีที่แล้วหากมีใครไปถาม พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกเรื่องการเสียดินแดนเมื่อกัมพูชานำปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ท่านจะตอบว่า “.....ไม่ทราบว่าจะนำไปสู่การเสียดินแดนได้อย่างไร” (สมุดปกขาวกระทรวงการต่างประเทศหน้า ช )

เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2551) ข้อมูลต่างๆ ของเรื่อง ที่ประชาชนจะสามารถนำมาเป็นพื้นฐานความรู้ความเข้าใจนั้น ยังมีน้อยมาก เพราะว่าเราถูกปิด ถูกบิดเบือนข้อมูล และที่สำคัญคือ ประชาชนถูกหล่อหลอมให้คิดและเชื่อข้อมูลผิดตลอดมา

หนึ่งปีผ่านไปไวเหมือนโกหก (พ.ศ. 2552) ประชาชนจาก 1-2 คน รวมกันเป็นเครือข่าย และจากเครือข่ายรวมกันเป็นภาคีเครือข่าย ได้ติดตามสถานการณ์ปราสาทเขาพระวิหาร จนชัดเจนแล้วว่า หากจะพูดถึงเรื่องนี้กับกระทรวงการที่เกี่ยวข้อง (เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น จะต้องพูดเป็น 2 เรื่อง เหมือนว่าต่างก็ไม่รับรู้ ไม่มีการทำงานกันอย่างเป็นเอกภาพ โดยอ้างว่า “ไม่ใช่หัวข้อเรื่องของตน”) คือ เรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเรื่องหนึ่ง และเรื่องการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ในกรอบของคณะกรรมการชายแดนไทย-กัมพูชา อีกเรื่องหนึ่ง ทั้งๆ ที่เมื่อพิจารณาตามข้อมูลหลักฐานแล้วจะต้องเป็น "เรื่องเดียวกัน” เพราะหนีไม่พ้นที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องเขตแดน

และถ้าวันนี้ เราตั้งคำถามเสียใหม่กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ว่า การพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชาในกรอบของคณะกรรมการชายแดนไทย-กัมพูชา จะนำไปสู่การเสียดินแดนหรือไม่ อยากรู้ว่า ท่านจะตอบว่าอย่างไร ในเมื่อเห็นข้อมูลกันอยู่แจ่มแจ้งแล้ววันนี้ว่า

1. ร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชาว่าด้วยปัญหาชายแดนในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ที่นายกรัฐมนตรีจะเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190 ลงวันที่ตั้งแต่ 2 กรกฎาคม 2552 และส่งเป็นเอกสารประกอบมานั้น ในข้อ 1 ของร่างระบุไว้อย่างชัดถ้อยชัดคำว่า

“...คู่ภาคีจะไม่คงกำลังทหารของแต่ละฝ่ายในวัด “แก้วสิขาคีรีสะวารา” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “วัด”) พื้นที่รอบวัดและพื้นที่ [ไทย-ปราสาท] [กัมพูชา-ปราสาทเปรียะวีเฮียร์(พระวิหารในภาษาไทย)] แม่ทัพภาคที่สองของกองทัพบกไทย และผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 4 ของกองทัพกัมพูชา จะกำหนดมาตรการที่เหมาะสมร่วมกัน เพื่อปฏิบัติให้ข้อบทนี้มีผล โดยผ่านชุดติดตามสถานการณ์ชั่วคราวของแต่ละฝ่าย”

ท่านจะต้องรู้เพราะเป็นผู้บังคับบัญชาของแม่ทัพภาคที่สองของกองทัพบกไทย อีกทั้ง “ชุดติดตามสถานการณ์ชั่วคราว” ของฝ่ายไทยนั้น มีความหมายว่าเป็นกลไกหนึ่งของการเจรจาเพื่อรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ชายแดน ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของทหาร ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น “รั้วบ้าน” แต่ฐานะและความหมายของ “ชุดติดตามสถานการณ์ชั่วคราว” นั้น มิใช่ ชายชาญทหารชาติ จึงเป็นเพียงแต่การให้คำและความหมาย สนองคณะกรรมการมรดกโลก และกัมพูชา เพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลกเท่านั้น

2.มีเอกสารของคณะกรรมการมรดกโลกที่ชื่อว่า C1224 rev เรื่องที่ 65 ชื่อในบัญชีขึ้นทะเบียนว่าปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นเอกสารประกอบกับร่างมติคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 33 มีหลายตอนที่สำคัญ แต่จะขอยกตอนที่สำคัญตอนหนึ่งมาเป็นหลักฐานเพื่อให้เห็นชัดเจนและเข้าใจอย่างถ่องแท้ ดังนี้

“...ในวันที่ 3 ตุลาคม 2551 ทหารกัมพูชาปะทะกับทหารไทยใกล้ปราสาทพระวิหาร มีรายงานการบาดเจ็บของทหารทั้งสองฝ่ายในวันที่ 6 ตุลาคม ทหารไทย 2 นายได้รับบาดเจ็บสาหัส เหยียบกับระเบิดขาขาดในบริเวณใกล้ปราสาท ในบ่ายวันที่ 15 ตุลาคม เกิดการยิงปะทะกันระหว่างทหารกัมพูชากับทหารไทย 3 จุด ในพื้นที่ใกล้ตัวปราสาท รวมทั้งมีการยิงด้วยปืนยิงสังหาร มีการยืนยันว่าทหารกัมพูชาเสียชีวิต 3 นาย ทหารไทยได้รับบาดเจ็บ 4-7 นาย มีทหารไทยสูญหายไป 10 นาย ซึ่งกัมพูชาได้ประกาศว่าตนได้จับกุมทหาร 10 นายนี้ มีการเจรจาตกลงระหว่างทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นอีก แม้ว่าทั้งสองฝ่ายยังคงกล่าวหากันเองถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น รวมทั้งที่ได้เกิดความเสียหายขึ้นแก่ทรัพย์สินมรดกโลก .......จากจดหมาย ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2551 โดยผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกได้แจ้งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบของกัมพูชาในการตัดสินใจที่จะให้มีกลไกชุดติดตามเสริม และจะส่งชุดทำงานนี้ไปยังพื้นที่ทรัพย์สินมรดกโลกในทันที..... นอกจากการติดตามตรวจสอบดังกล่าว ยังเปิดโอกาสให้มีการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามข้อร้องขอ ในย่อหน้าที่ 15 ตามมติ ที่ 32 COM 8 B.102 ชุดติดตามเสริมได้เข้าพื้นที่ในช่วง 28 มีนาคม ถึง 6 เมษายน 2552 นำทีมโดยแผนงานพิเศษด้านวัฒนธรรมขององค์กรยูเนสโก สำนักงานพนมเปญ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS)”

เอกสารประกอบนี้ เป็นหลักฐานให้เห็นความเป็นเรื่องเดียวกันระหว่างการขึ้นทะเบียน ปราสาทพระวิหารของกัมพูชา กับเรื่อง พื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ในกรอบของคณะกรรมการชายแดนไทย-กัมพูชาอย่างชัดเจน (กรอบนี้จะถูกนำเข้าพิจารณาในสภาสมัยนิติบัญญัติในวาระที่ 5.13 เรื่อง ร่างกรอบการเจรจาเพื่อรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย บริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ในกรอบของคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา ) และยิ่งถูกสำทับด้วยเอกสารที่มีชื่อว่า “บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา สมัยวิสามัญ ณ กรุงพนมเปญ วันที่ 6-7 เมษายน 2552” ที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะนำเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาในวันที่ 28 สิงหาคม 2552 (แต่มีเหตุให้ต้องเลื่อนออกไปก่อน :อ้างเอกสารที่ สผ 0014/ร 27 25 สิงหาคม 2552)

สิ่งอื่นๆ ที่ได้ในการรับรู้จากเอกสารนี้คือ ข้อมูลเรื่องกัมพูชาจับทหารไทย 10 นาย ที่วัดแก้วฯ นั้นเป็นความจริง วัดแก้วฯ อยู่ในบริเวณพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ของไทย สิ่งที่เกิดขึ้นและความปลอดภัยของทหารไทยทั้ง 10 นาย ในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร แม้จะมีเสียงพูดถึงในที่สาธารณะ แต่หน่วยงานหรือผู้เกี่ยวข้องยังมิได้ตอบความจริงแก่ประชาชน นอกจากการปฏิเสธตลอดเวลามา

3. เอกสารของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ กต 0803/674 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2552 ได้แนบเอกสารสรุปย่อรายงานผลการพิจารณาความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง ในข้อ 4 ระบุว่า

“...4.ขณะนี้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) กำลังเจรจาจัดทำข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา ว่าด้วยปัญหาชายแดนในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร โดยรัฐสภาได้เห็นชอบกรอบการเจรจาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 ด้วยคะแนนเสียง 409 ต่อ 7 จาก 418 เสียงของผู้เข้าร่วมประชุมการเจรจาจัดทำข้อตกลงชั่วคราวฯดังกล่าวมีความคืบหน้ามากในการประชุม JBC สมัยวิสามัญ ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 6-7 เมษายน 2552 ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้เกือบทุกประเด็นโดยเฉพาะการจัดตั้ง “ชุดทหารติดตามสถานการณ์ชั่วคราว” (Temporary Military Monitoring Task Force) เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการปรับกำลังทหารและจัดตั้ง “ชุดประสานงานชั่วคราว” (Temporary Coordinating Task Force (TCTF)) เพื่อพิจารณาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่พิพาทบริเวณเขาพระวิหาร เหลือประเด็นคงค้างเพียง 1 ประเด็น คือ การเรียกชื่อปราสาทพระวิหารตามหลักการสากล

ดังนั้นเมื่อข้อตกลงชั่วคราวฯ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ กลไกทั้งสองข้างต้นจะเป็นกลไกสำคัญใหม่ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาข้อพิพาทไทย-กัมพูชา ในบริเวณดังกล่าวรวมทั้งประเด็นเกี่ยวกับชุมชนกัมพูชา

เอกสารเรื่องนี้ผูกมัดโยงใยเรื่องในข้อ 1 และ 2 ข้างต้นอย่างแน่นหนา มาตรการที่เหมาะสมเพื่อการปฏิบัติให้ไม่มีการคงกำลังทหารของแต่ละฝ่ายในวัด พื้นที่รอบวัด และพื้นที่ปราสาท ในความรับผิดชอบของ แม่ทัพภาคที่ 2 ผู้ใต้บังคับบัญชาของ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก และตลอดจนกระทั่งในความบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตามลำดับ

นอกจากนี้ในเอกสารฉบับดังกล่าวยังพูดถึง “พื้นที่พิพาทบริเวณเขาพระวิหาร” และได้อ้างถึงกรอบเจรจาจากรัฐสภาเมื่อปีก่อน คือ วันที่ 28 ตุลาคม 2551 ด้วยคะแนนเสียง 409 ต่อ 7 และกล่าวถึงประเด็นที่ยังคงค้างอยู่เพียง 1 ประเด็น คือการเรียกชื่อปราสาทพระวิหารตามหลักสากล

ประเด็นนี้ยังไม่ผ่านความเห็นชอบและมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นความคิดของการหาทางออกของปัญหาว่า

“2.4.1 การเรียกชื่อปราสาทพระวิหาร คือ ฝ่ายกัมพูชายืนยันให้ใช้ชื่อว่า “The Temple of Preah Vihear” หรือ “The Temple of Preah Vihear(Phra Viharn in the Thai language)” แต่ไทยยืนยันให้ใช้ชื่อว่า “The Temple of Phra Viharn” หรือ “The Temple of Phra Viharn / Phreah Vihear” ซึ่งต่อมาฝ่ายกัมพูชาได้เสนอท่าทีประนีประนอมว่า “the Area between Phnom Trap / Phu Makhua and Ta Thav/Chong Ta Tao” (ประเด็นนี้ทำให้ร่างบันทึกการประชุม JBC ยังตกลงกันไม่ได้ไปด้วย)(อ้างเอกสารด่วนที่สุด ที่ กต 0803/940 17 พฤศจิกายน 2551)”

ที่สำคัญ จากหลักฐานเอกสารดังกล่าว รวมหลักฐานภาพต่างๆ ของกองกำลังกัมพูชาที่แนบมานี้ ซึ่งแสดงให้เห็นการพัฒนาพื้นที่ไม่เพียงแต่บริเวณระหว่างภูมะเขือถึงช่องตาเฒ่า แต่น่าจะเป็นตั้งแต่พลาญหินแปดก้อนถึงซำแตก็ว่าได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บังคับบัญชาของเจ้ากรมแผนที่ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่โดยตรงในเรื่องนี้ด้วย ต้องรู้อยู่เต็มอก และไม่สามารถปฏิเสธข้อมูลเรื่องการยึดครองพื้นที่ของกำลังทหารกัมพูชา

เมื่อข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา ว่าด้วยปัญหาชายแดนในพื้นที่บังคับใช้ อย่างน้อยก็พื้นที่เขาพระวิหารของไทย บริเวณวัดแก้วฯ จะปราศจากกองกำลังทหารไทย แต่จะมีคณะทำงานชุดประสานงานชั่วคราว และชุดทหารติดตามสถานการณ์ชั่วคราวขึ้นไปทำงานร่วมกับฝ่ายกัมพูชา ตรงตามเงื่อนไขของการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเรื่องที่จะไม่มีกองกำลังทหารในทรัพย์สินมรดกโลกอย่างเด็ดขาด

ท่านแม่ทัพภาคสอง ท่านผบ.ทบ. และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ท่านจะยอมเขาถึงขนาดนี้หรือ!


ยังไม่สายเกินไปที่ท่านจะทบทวนพิจารณาเรื่องราว คิดและทำใหม่ อย่าให้เขามาอ้างได้ว่า

“…โดยที่เขตกันชนนี้ไม่รวมพื้นที่ทางด้านทิศเหนือ และด้านทิศตะวันตกของปราสาทพระวิหาร เนื่องจากเป็นเขตพื้นที่พิพาทกับประเทศไทย จากประเด็นดังกล่าวทางรัฐภาคีจะนำเสนอร่างข้อตกลงในการจัดพื้นที่แบบสมบูรณ์ ซึ่งร่างดังกล่าวจะแก้ไขตามผลการตกลงร่วมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา” (อ้างเอกสารC1224 rev ของคณะกรรมการมรดกโลก)

ที่ว่ายังไม่สายเกินไปก็เพราะ ข้อตกลงฯ ดังกล่าวในขณะนี้ ได้ถูกรัฐสภาเลื่อนวาระออกไปอีก 3 วัน หรือประมาณนั้น ตามสถานการณ์ของวาระพิจารณา

แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่เป็นไปตามนี้ คือ “ข้อตกลงชั่วคราวฯ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่มีการแลกเปลี่ยนหนังสือแจ้งภาคีแต่ละฝ่าย ว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายภายในของตนเสร็จสิ้นแล้ว...” (ข้อ 8 ของร่างตกลงชั่วคราวฯ)

และฝ่ายทหาร ท่านจะต้องรับผิดชอบเรื่องกรอบการเจรจาเพื่อรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย บริเวณไทย-กัมพูชา ในกรอบของคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา ตามวาระที่ 5.3 ในคราวนี้ ใช่หรือไม่!

ท่านและกระทรวงการต่างประเทศเคยมีธงร่วมกัน เรื่องทางออกของการแก้ปัญหาเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ว่ายึดกรอบการเจรจาตาม MOU 2000 (พ.ศ.2543) ให้มีการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย-กัมพูชา และจะใช้วิธีดองระยะยาว (เพราะถือว่าได้อ้างว่า ข้อตกลงชั่วคราวฯ นี้จะไม่กระทบต่อสิทธิของทั้งสองฝ่าย เกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ในกรอบของ JBC และท่าทีทางกฎหมายแต่ละฝ่าย : โปรดดูตามร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ ข้อ 5) ด้วยความคิดว่าจะช่วยแก้สถานการณ์ได้

แต่ร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ ฉบับนี้ ซึ่งมีผู้น่าเชื่อถือได้ยืนยันว่า กัมพูชาเป็นผู้ร่างหรือถ้าจะมีใครออกมาปฏิเสธว่าคนไทยร่าง คนไทยคนนั้นก็คงเป็นคนไทยหัวใจเขมร เพราะอะไร ? ...เพราะความสำคัญของร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ ฉบับนี้อยู่ที่การใช้คำเรียกชื่อ

เขาตั้งชื่อให้ว่า ร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา (แต่ชื่อเต็มๆ คือ ร่างข้อตกลงชั่วคราว ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชากับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักไทย ว่าด้วยปัญหาชายแดนในพื้นที่ [ไทย-ปราสาท] [กัมพูชา-ปราสาทเปรียะวีเฮียร์(พระวิหารในภาษาไทย)]

ความเป็นชั่วคราวนี้ จะทำให้ไทยเสียประโยชน์ ตกเป็นเบี้ยล่างกัมพูชา คณะกรรมการมรดกโลก และยูเนสโก ไปนานชั่วนาตาปีอย่างไม่มีระยะเวลากำหนด (เพราะคำว่า ชั่วคราว) เนื่องจาก ทางทหารเคยมีธงว่า จะแก้ปัญหาโดยวิธีการดองยาว เรื่องการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย-กัมพูชา ในกรอบ JBC ดังที่กล่าวมาแล้ว

แต่ในข้อ 8 ของร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ ฉบับนี้ เผยธาตุแท้ของกัมพูชา และคนไทยหัวใจเขมร ไว้ว่า “ข้อตกลงชั่วคราวฯ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่... และคงมีผลบังคับใช้ จนกว่าการจัดทำหลักเขตแดนจะเสร็จสิ้นลงในพื้นที่ประชิดกับ [ไทย....] [กัมพูชา....] ”

การกระทำนี้ กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่ต้นคิด ต้นทำ จะไม่ตกเป็นจำเลยที่ 1 หรือจะไม่มีความผิด เพราะข้อความในข้อ 8 ของร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ บอกต่อไปอีกว่า “...คู่ภาคีจะพยายามเร่งรัดการดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายภายในโดยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของตน” นั่นหมายถึง การขอยืมมือจากสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด หากเขาอ้างว่า กระทำตามที่รัฐสภาเห็นชอบ

ส.ว. ส.ส. และทหารทุกท่าน โปรดรับรู้ว่า การยอมเสียดินแดนตามกระบวนการและขั้นตอนของการพัฒนาพื้นที่ และกรอบการเจรจาเรื่องปัญหาชายแดน ที่เป็นไปตามนี้ มิใช่ทางออกของประเทศไทยแต่อย่างใด แต่นี่คือกระบวนการและขั้นตอนของการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาให้มีผลสำเร็จ โดยใช้กลไกกรอบการเจรจาเรื่องชายแดนเป็นอาวุธ

ผลสำเร็จเป็นของกัมพูชา แต่ผลเสียของเราคือ จะทำให้ประเทศไทยที่ได้เสียดินแดนไปแล้วโดยพฤตินัย จะได้รับการรับรองตามกฎหมายจาก ส.ว.และ ส.ส.ว่า เสียดินแดนให้กัมพูชาแล้วโดยนิตินัย

เจ้ากรมกิจการชายแดนทหารก็รู้แล้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและป่านนี้ก็อนุโลมไปได้ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็รู้แล้ว ส.ว. ส.ส. และสื่อ บางท่าน ก็รู้แล้ว รวมทั้งท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับหนังสือที่ยื่นไปจากประชาชน ก็รู้แล้ว

จึงถึงเวลาแล้ว ที่คนไทยทุกฝ่ายจะร่วมกันคิด-ทำ เพื่อรักษาแผ่นดินไทย และเยียวยาแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดที่เกิดขึ้นไปแล้ว!

30 สิงหาคม 2552

ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์
นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญระดับ 9 สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเหตุ : 1.บทความนี้มีเนื้อหาสัมพันธ์กับการลงพื้นที่ของนายวีระ สมความคิด เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม2552 เพื่อนำหลักฐานและข้อเท็จจริงมาพิสูจน์ว่าไทยเสียดินแดนแล้วในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร

หมายเหตุ : 2.ข้อความเต็มของข้อตกลงชั่วคราวฯ ข้อ 8 มีว่า
“ข้อ 8 : ข้อตกลงชั่วคราวฯ จะมีผลใช้บังคับในวันที่มีการแลกเปลี่ยนหนังสือแจ้งภาคีแต่ละฝ่ายว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายภายในของตนเสร็จสิ้นแล้ว และคงมีผลบังคับใช้จนกว่าการจัดทำหลักเขตแดนจะเสร็จสิ้นลงในพื้นที่ประชิดกับ[ไทย-ปราสาท] [กัมพูชา- ปราสาทเปรียะวีเฮียร์(พระวิหารในภาษาไทย)] คู่ภาคีจะพยายามเร่งรัดการดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายภายในโดยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของตน”
(อ้างจากร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชากับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ว่าด้วยปัญหาชายแดนในพื้นที่ [ไทย-ปราสาท] [กัมพูชา-ปราสาทเปรียะวีเฮียร์(พระวิหารในภาษาไทย)] ร่าง ณ วันที่ 6 เมษายน 2552 ที่กรุงพนมเปญ)


คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
ปราสาทพระวิหาร

ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ และตัวแทนภาคีเครือข่ายติดตามสถานการณ์กรณีปราสาทพระวิหาร มอบข้อมูลหลักฐานการเสียอธิปไตยเขาพระวิหารโดยพฤตินัยแก่ นายเทพไท เสนพงศ์ เพื่อนำส่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2552

แนวร่วมภาคีเครือข่ายติดตามสถานการณ์กรณีปราสาทพระวิหาร เดินรณรงค์ปลูกจิตรักชาติและต่อต้านร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา ว่าด้วยปัญหาชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร จากหน้ารัฐสภาสู่ทำเนียบรัฐบาลและกองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2552




โคปุระชั้นที่1



โคปุระชั้นที่2



โคปุระชั้นที่3

ภาพจาก //www.bloggang.com/viewdiary.php?id=yamara-tee&month=09-2007&date=23&group=1&gblog=23




 

Create Date : 02 กันยายน 2552    
Last Update : 2 กันยายน 2552 23:45:26 น.
Counter : 429 Pageviews.  

ปราสาทพระวิหาร : ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง สุจริตกุล

ปราสาทพระวิหาร
โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง สุจริตกุล

คณะผู้แทนฝ่ายไทย

ข้อขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชากรณีปราสาทพระวิหารเป็นปัญหาเก่าแก่ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อกว่ากึ่งศตวรรษ บัดนี้ได้มีการหยิบยกปัญหาดังกล่าวมาถกเถียงกันอีกและมีการเขียนบทความต่างๆ มากมายรวมทั้งข้อเขียนของข้าพเจ้าเรื่องคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ซึ่งตัดสินให้ปราสาทพระวิหารอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชารวมทั้งคำคัดค้านของไทยและข้อสงวนซึ่งไทยตั้งไว้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่กระนั้น ข้อเขียนของข้าพเจ้ายังถูกตีความคลาดเคลื่อนเนื่องจากผู้อ่านมิได้อ่านอย่างละเอียด ละเลย หรือหลงลืมบางข้อที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ข้าพเจ้าจึงขอสรุปอีกครั้งเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องดังนี้

คดีปราสาทพระวิหาร
ไทย – กัมพูชา พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๐๕
วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ กัมพูชาเป็นโจทก์ยื่นคำร้องฝ่ายเดียวเพื่อฟ้องไทยเป็นจำเลย ขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า พื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่นั้นอยู่ในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา

คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้พิจารณาพิพากษาดังนี้
(๑) ด้วยคะแนนเสียง ๙ ต่อ ๓ ศาลฯ วินิจฉัยว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนดินแดนภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา
(๒) สืบเนื่องมาจาก (๑) วินิจฉัยด้วยคะแนนเสียง ๙ ต่อ ๓ ว่าไทยมีพันธกรณีจะต้องถอนทหารและตำรวจหรือยามผู้รักษาการณ์ออกจากปราสาทพระวิหารหรือบริเวณใกล้เคียงที่อยู่บนดินแดนกัมพูชา
(๓) ด้วยคะแนนเสียง ๗ ต่อ ๕ วินิจฉัยว่าไทยมีพันธะจะต้องคืนให้กัมพูชาบรรดาวัตถุที่กัมพูชาอ้างถึงในคำแถลงสรุปข้อ ๕ ซึ่งอันตรธานไปจากปราสาทหลังจากวันที่ไทยเข้าครอบครองเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗

ปัญหาเรื่องเขตแดน
ในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๕ แม้เสียงข้างมากจะตัดสินให้ปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา แต่ยังมีผู้พิพากษาอีกหลายท่านที่เขียนคำพิพากษาแย้งไว้ว่าประสาทพระวิหารยังคงอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยของไทยตามหลักสันปันน้ำที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔

พื้นที่ทับซ้อนในปัจจุบันของไทยกับกัมพูชานั้นได้แก่ตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น แม้ในแผนที่อีกหลายฉบับลากเส้นเขตแดนไทยไม่ตรงกัน กัมพูชาถือว่าอยู่ในเขตของกัมพูชาโดยอ้างคำพิากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไทยก็ถือว่าปราสาทพระวิหารเป็นเขตในอำนาจอธิปไตยของไทยโดยยึดสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขตตามสนธิสัญญาทวิภาคีกับฝรั่งเศสลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๒ มีใจความดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ กำหนดเขตแดนบริเวณที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ให้เป็นไปตามยอดภูเขาปันน้ำระหว่างดินแดนน้ำตกน้ำแสนแลดินแดนน้ำตกแม่โขงฝ่ายหนึ่ง กับดินแดนน้ำตกน้ำมูลอีกฝ่ายหนึ่งจนบรรจบถึงภูเขาผาด่าง แล้วต่อเนื่องไปข้างทิศตะวันออกตามแนวยอดภูเขานี้จนบรรจบถึงแม่โขง ตั้งแต่ที่บรรจบนี้ขึ้นไป แม่โขงเป็นเขตแดนของกรุงสยาม ตามความข้อ ๑ ในหนังสือสัญญาใหญ่ ณ วันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒

จึงสรุปได้ว่า ในบริเวณเขาพระวิหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขาบันทัดหรือเขาดงรัก เส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาอยู่ที่สันปันน้ำซึ่งเป็นพรมแดนธรรมขาติตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และสนธิสัญญาข้างต้นโดยกัมพูชาเป็นผู้สืบสิทธิ์จากฝรั่งเศส

การปักปันเขตแดน
การปักปันดินแดนระหว่างสองประเทศแบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน ขั้นแรกได้แก่บทนิยาม (definition) ขั้นที่สองคือการลากเส้นบนแผนที่ตามบทนิยาม (delimitation) และขั้นสุดท้าย (demarcation) ในกรณีที่เป็นเขตแดนตามธรรมชาติ อาทิ แม่น้ำ ให้ถือร่องน้ำลึกหรือฝั่งแม่น้ำเป็นเส้นแบ่งเขต หากเป็นภูเขาก็ต้องเป็นไปตามยอดเขาหรือเส้นสันปันน้ำ ในกรณีที่ไม่มีพรมแดนทางธรรมชาติ คณะกรรมการผสมของทั้งสองประเทศจะเป็นผู้ปักหลักเขตแดนร่วมกันด้วยความเห็นชอบของทั้งสองฝ่าย

แผนที่
เป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันมีการอ้างถึงแผนที่มากมายหลายฉบับในวาระต่างๆ ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าแผนที่ฉบับเดียวที่อยู่ในประเด็นปัญหาได้แก่แผนที่ผนวก ๑ ต่อท้ายคำฟ้องกัมพูชา แผนที่ดังกล่าวคือแผนที่ที่ทำขึ้นโดยคณะกรรมการปักปันเขตแดนฝรั่งเศสฝ่ายเดียวเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๐๗ โดยไทยไม่มีโอกาสทดสอบความถูกต้องเนื่องจากไทยยังไม่ได้ก่อตั้งกรมแผนที่ทหารบก ไทยค้นพบภายหลังว่าแผนที่ดังกล่าวผิดพลาดเพราะการลากเส้นเขตแดนมิได้เป็นไปตามสันปันน้ำแต่คลาดเคลื่อนไปหลายกิโลเมตร ทำให้ปราสาทพระวิหารซึ่งอยู่ในเขตไทยไปปรากฏในเขตแดนฝรั่งเศส ฉะนั้น การที่ผู้หนึ่งผู้ใดอ้างว่าแผนที่ผนวกคำฟ้องของกัมพูชาเป็นแผนที่แสดงเขตแดนจึงผิดพลาดจากความเป็นจริง

สถานภาพของแผนที่ผนวก ๑ ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชา
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะวินิจฉัยเฉพาะประเด็นคำฟ้องแรกเท่านั้น จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยคำขอเพิ่มเติมของกัมพูชาในเรื่อง
(๑) สถานภาพของแผนที่ผนวก ๑ ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชา หรือ
(๒) เส้นเขตแดนในบริเวณที่พิพาท
ดังนั้น ศาลฯ จึงงดเว้นการวินิจฉัยความถูกต้องของเส้นเขตแดนตามที่ปรากฏในแผนที่ผนวก ๑ ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชารวมทั้งสถานภาพของแผนที่ผนวก ๑ ทั้งฉบับ หรืออีกนัยหนึ่ง ศาลฯ ไม่ทำหน้าที่กรรมการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา

อำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
โดยที่คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีมาตรการบังคับคดี จึงสุดแต่ความสมัครใจของคู่คดีที่จะพิจารณาดำเนินการ หากคู่กรณีไม่เห็นด้วยและไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลฯ ก็ไม่มีอำนาจดำเนินการบังคับคดีแต่ประการใด

ฉะนั้น ถึงแม้คำพิพากษาของศาลฯจะถึงที่สุด แต่ก็มิได้หมายความว่าจะมีผลในการระงับกรณีพิพาท หากคู่กรณีโต้แย้ง คัดค้านและไม่ยอมรับคำพิพากษาเพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรม กรณีพิพาทนั้นๆก็ยังคงมีอยู่ต่อไปจนกว่าจะได้รับการพิจารณาใหม่หรือจนกว่าจะระงับไปโดยสันติวิธีอื่นๆ อาทิ โดยการเจรจา การประชุมปรึกษาหารือ หรือตั้งคณะกรรมการสอบสวน ไกล่เกลี่ย กรรมการประนอม หรืออนุญาโตตุลาการ ฯลฯ ตามข้อ ๓๓ แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ

คำพิพากษาของศาลฯ และทางปฏิบัติของรัฐคู่กรณี

ผลผูกพันของคำพิพากษา ข้อ ๕๙ ของธรรมนูญศาลฯ กำหนดว่า

“คำพิพากษาของศาลฯไม่มีผลผูกพันผู้ใดนอกจากคู่กรณีและในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีนั้น”

ฉะนั้น คำพิพากษาของศาลฯ จึงผูกพันเฉพาะไทยและกัมพูชา ใช้อ้างยันกับผู้อื่นมิได้ และไม่ผูกพันประเทศที่ ๓ หรือองค์การระหว่างประเทศ อาทิ ยูเนสโกหรือคณะกรรมการมรดกโลก และไม่มีผลเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่อย่างใดเนื่องจากการขึ้นทะเบียนมิใช่ข้อพิพาทในคดีที่ศาลฯ ตัดสิน

อนึ่ง ข้อ ๖๐ ของธรรมนูญศาลฯ กำหนดว่า

“คำพิพากษาของศาลนั้นถึงที่สุดและไม่มีการอุทธรณ์ ในกรณีที่มีการโต้แย้งเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษา ศาลฯจะเป็นผู้ตีความเมื่อคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ”

จุดยืนและท่าทีของประเทศไทย
ประเทศไทยพิจารณาเห็นว่า ศาลฯ มิได้วินิจฉัยคดีปราสาทพระวิหารตามกระบวนการที่ชอบ และได้ตัดสินคดีโดยขัดต่อหลักความยุติธรรมและหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ให้ประกาศจุดยืนของประเทศไทยให้ทราบทั่วกันว่าไทยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลฯ แต่ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ จึงได้ปฏิบัติตามพันธะข้อ ๙๔ แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ ทั้งนี้โดยยื่นคำประท้วงคัดค้านไปยังสหประชาชาติและตั้งข้อสงวนอย่างชัดเจนว่าไทยสงวนสิทธิที่มีอยู่หรือพึงมีในอนาคตที่จะดำเนินการเรียกคืนซึ่งการครอบครองปราสาทพระวิหารโดยสันติวิธี
ดังนั้น รัฐบาลไทยได้ออกแถลงการณ์ยืนยันจุดยืนดังกล่าวเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ และในวันรุ่งขึ้น จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์แจ้งให้ประชาชนทราบทั่วกัน

คำปราศรัยของ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์
ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวคำปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เกี่ยวกับคดีปราสาทพระวิหารเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ตามข้อความดังนี้

พี่น้องร่วมชาติ และมิตรร่วมชีวิตของข้าพเจ้าทั้งหลาย

ตามที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ศาลโลก” ได้วินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ ให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา และทางรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ให้พี่น้องทั้งหลายได้ทราบมาตามลำดับแล้วนั้น โดยที่รัฐบาลของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและโดยเฉพาะตัวข้าพเจ้าถือว่าเรื่องนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเกี่ยวกับผลได้ผลเสียอย่างสำคัญของชาติ เป็นเรื่องของแผ่นดินไทยซึ่งเป็นมรดกที่บรรพบุรุษของเราสู้อุตส่าห์ฝ่าคมอาวุธรักษาไว้ และตกทอดมาถึงคนรุ่นเรา จึงสมควรที่เราทุกคนจะได้เอาใจใส่ และสนใจร่วมรู้ร่วมเห็นก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ ลงไปเกี่ยวกับผืนแผ่นดินนี้ ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงถือว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลและของตัวข้าพเจ้าเองที่ต้องชี้แจงให้พี่น้องร่วมชาติทั้งหลายได้ทราบถึงการที่รัฐบาลนี้ต้องตัดสินใจในกรณีปราสาทพระวิหารต่อไป

แต่เนื่องในการกล่าวคำปราศรับนี้เป็นเรื่องที่สะเทือนใจพี่น้องทั้งหลายอยู่มาก ข้าพเจ้าจึงจำต้องขออภัยไว้ล่วงหน้า ข้าพเจ้าทราบดีว่า ในส่วนลึกที่สุดของหัวใจแล้ว คนไทยผู้รักชาติทุกคนมีความเศร้าสลดและขมขื่นใจเพียงใด การแสดงออกของประชาชนในการเดินขบวนทั่วประเทศเพื่อคัดค้านคำพิพากษาของศาลโลกในสัปดาห์ที่แล้วมาเป็นสิ่งที่เห็นกันอย่างแน่ชัดอยู่แล้ว แต่ก็จะทำอย่างไรได้ เราต้องถือเป็นคราวเคราะห์ร้ายของเราที่ต้องมาประสบกับชตากรรมเช่นนี้ เราจะไม่โทษใครเป็นอันขาด เพราะการที่ไปโทษคนที่พ้นหน้าที่ไปนั้นย่อมเป็นการไม่สมควร แต่ทั้งนี้ก็มิใช่เราจะพากันนิ่งเฉยท้อแท้ใจ ชาติไทยจะยอมท้อแท้ทอดอาลัยไม่ได้ เราเคยสูญเสียดินแดนแก่ประเทศมหาอำนาจที่ล่าอาณานิคมมาแล้วหลายครั้ง ถ้าบรรพบุรุษของเราของเรายอมท้อแท้ เราจะเอาแผ่นดินที่ไหนมาอยู่กันจนถึงทุกวันนี้ เราจะต้องหาวิธีต่อสู้ต่อไป ส่วนเราจะต่อสู้อย่างไรนั้น นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะในการต่อสู้กรณีเช่นนี้ เราอาจทำได้หลายวิธี และแต่ละวิธีก็มีผลดีผลเสียแตกต่างกัน เราจะต้องได้พิจารณาให้สุขุมรอบคอบ ต้องใช้เหตุผลเหนืออารมณ์ และด้วยสายตามองการณ์ไกล แล้วเลือกใช้วิธีที่ดีที่สุด ละเมียดละไมและให้คุณประโยชน์มากที่สุดทั้งในเวลานี้และในอนาคต ชาติเราจึงจะสามารถธำรงเอกราชและอธิปไตยอยู่ได้ และอยู่ในฐานะที่กล่าวได้ว่า “เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิ” ขอให้พี่น้องผู้รักชาติทั้งหลายโปรดอย่าได้ใช้อารมณ์หุนหันพลันแล่นหรือคิดมุทลุจะหักหาญด้วยกำลังแต่เพียงอย่างเดียว สำหรับตัวข้าพเจ้าเอง ในฐานะที่มีชีวิตเป็นทหารมาแต่เล็กแต่น้อย และได้เคยผ่านสงครามทำการสู้รบมาแล้วหลายครั้ง ข้าพเจ้าจึงมิได้มีความเกรงกลัวการสู้รบแต่ประการใด แต่ตามพันธกรณีที่มีอยู่ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ยังไม่เป็นเรื่องที่ควรรบกัน

สำหรับกรณีปราสาทพระวิหารซึ่งศาลโลกได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วนั้น ข้าพเจ้าขอทบทวนความเข้าใจกับเพื่อนร่วมชาติทั้งหลายว่า รัฐบาลและประชาชนชาวไทยไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลโลกทั้งในข้อเท็จ จริงในทางกฎหมายระหว่างประเทศและในหลักความยุติธรรม ตามเหตุผลที่รัฐบาลได้แถลงไปแล้ว แต่เราก็ตระหนักดีว่าคำพิพากษาของศาลเป็นอันเสร็จเด็ดขาด ไม่มีทางจะอุทธรณ์ได้ ยิ่งกว่านั้น มาตรา ๔๔ บ่งไว้ว่า “ข้อ ๑ สมาชิกแต่ละประเทศของสหประชาชาติรับที่จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีใดๆ ที่ตนตกเป็นผู้แพ้ ข้อ ๒ ถ้าผู้แพ้ในคดีใดไม่ปฏิบัติ ข้อผูกพันซึ่งตกอยู่แก่ตนตามคำวินิจฉัยของศาล อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งถ้าเป็นเป็นความจำเป็น ก็อาจทำตามคำแนะนำหรือวินิจฉัยมาตรการที่จะดำเนินเพื่อยังผลให้เกิดแก่คำพิพากษานั้นได้”

เมื่อเป็นดังนี้ แม้ว่ารัฐบาลและประชาชนชาวไทยจะได้มีความรู้สึกสลดใจและขมขื่นเพียงใด ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ก็จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีในกฏบัตรสหประชาชาติ กล่าวคือ จำต้องยอมให้กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือพระวิหารนั้นตามพันธกรณีแห่งสหประชาชาติ แต่รัฐบาลขอตั้งข้อประท้วงและขอสงวนสิทธิ์อันชอบธรรมของประเทศไทยในเรื่องนี้ไว้ เพื่อสงวนสิทธิ์ที่จะดำเนิน การทางกฎหมายที่จำเป็นซึ่งอาจมีขึ้นในภายหน้าให้ได้สิทธิ์นี้กลับคืนมาในโอกาสอันควร

พี่น้องชาวไทยที่รัก ข้าพเจ้าก็เป็นคนไทยคนหนึ่งที่มีความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียว กับพี่น้องทั้งหลาย และถ้าพูดถึงความรักชาติบ้านเมือง ข้าพเจ้าก็เชื่อเหลือเกินว่าข้าพเจ้ามีความรักชาติไม่น้อยกว่าพี่น้องคนไทยทั้งหลาย แต่ที่รัฐบาลจำต้องโอนอ่อนปฏิบัติตามพันธกรณีในกฏบัตรสหประชาชาติก็โดยคำนึงถึงเกียรติภูมิของประเทศไทยที่เราสร้างสมไว้เป็นเวลานับเป็นร้อยๆ ปี ยิ่งกว่าปราสาทพระวิหาร ทั้งนี้ มิใช่เกิดเพราะความกลัวหรือความขี้ขลาดแต่ประการใดเลย แต่พี่น้องชาวไทยทั้งหลายต้องมองการณ์ไกล เวลานี้เราอยู่ในสังคมของโลก สมัยนี้ไม่มีชาติใดที่จะอยู่โดยโดดเดี่ยวได้ ประเทศไทยของเราได้รับความนิยมนับถือจากสังคมนานาชาติเพียงใด พี่น้องทั้งหลายคงจะทราบดีอยู่แล้ว ถ้าชาติของเราต้องเสียศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิไปเนื่องจากปราสาทพระวิหารคราวนี้แล้ว อีกกี่สิบกี่ร้อยปีเราจึงจะสามารถสร้างเกียรติภูมิที่สูญเสียไปคราวนี้กลับคืนมาได้ ข้าพเจ้าทราบดีว่าการสูญเสียปราสาทพระวิหารคราวนี้เป็นการสูญเสียที่สะเทือนใจคนไทยทั้งชาติ ฉะนั้น แม้ว่ากัมพูชาจะได้ปราสาทพระวิหารนี้ไป ก็คงได้แต่ซากสลักหักพังและแผ่นดินที่รองรับพระวิหารนี้เท่านั้น แต่วิญญาณของปราสาทพระวิหารยังอยู่กับไทยตลอดไป ประชาชนชาวไทยจะรำลึกอยู่เสมอว่า ปราสาทพระวิหารของไทยถูกปล้นเอาไปด้วยอุปเท่ห์เล่ห์กลของคนที่ไม่รักเกียรติและไม่รักความชอบธรรม เมื่อประเทศไทยประพฤติปฏิบัติตนดีในสังคมโลก เป็นประเทศที่มีศีลมีสัตย์ ในวันหนึ่งข้างหน้าไม่ช้าก็เร็ว ปราสาทพระวิหารจะต้องกลับคืนมาอยู่ในดินแดนไทยอีกครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าการปฏิบัติของประเทศไทยตามพันธกรณีในกฏบัตรสหประชาชาติครั้งนี้คงจะทำให้ประเทศต่างๆทั่วโลกเห็นอกเห็นใจเรายิ่งขึ้น เหตุการณ์เกี่ยวกับปราสาทพระวิหารครั้งนี้จะสลักแน่นอยู่ในความทรงจำของคนไทยสืบไปชั่วลูกชั่วหลาน และจะเป็นรอยจารึกอยู่ในประว้ติศาสตร์ของชาติไทยตลอดไปเสมือนหนึ่งเป็นแผลในหัวใจของคนไทยทั้งชาติ แต่ข้าพเจ้าก็ยังหวังอยู่เสมอว่า ในที่สุดธรรมะย่อมชนะอธรรม การหัวเราะทีหลังย่อมหัวเราะดังและนานกว่า

อนึ่ง ในเรื่องนี้รัฐบาลรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระประมุขที่เคารพยิ่งของปวงชนชาวไทยที่ได้พระราชทานคติและพระบรมราโชวาทแก่รัฐบาลด้วยความที่ทรงห่วงใยในสวัสดิภาพของชาติบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง

ขอให้พี่น้องร่วมชาติจงได้วางใจเถิดว่า รัฐบาลที่ข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นี้จะสามารถนำชาติและพี่น้องชาวไทยที่รักก้าวไปสู่อนาคตอันสุกใสได้ ในที่สุด ข้าพเจ้าขอรับรองต่อท่านทั้งหลายว่า เมื่อคราวที่ชาติเข้าที่คับขันแล้ว ข้าพเจ้าจะกอดคอร่วมเป็นร่วมตายกับพี่น้องชาวไทย เอาเลือดทาแผ่นดินโดยไม่เสียดายชีวิตเลยแม้แต่นิดเดียว แต่ราจะทำอย่างไรได้ ข้าพเจ้าเองก็มีความเจ็บช้ำน้ำใจมิได้น้อยกว่าเพื่อร่วมชาติทั้งหลาย การที่ข้าพเจ้าต้องมากล่าวถึงเรื่องนี้ในวันนี้ ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวว่า ข้าพเจ้ามาพูดกับท่านด้วยน้ำตา แต่น้ำตาของข้าพเจ้าเป็นน้ำตาของลูกผู้ชาย ของเลือด ของความคั่งแค้นและการผูกใจเจ็บไปชั่วชีวิตทั้งชาตินี้และชาติหน้า ต่อดวงวิญญาณของบรรพบุรุษผู้กล้าหาญของชาวไทย ข้าพเจ้าขอกล่าวคำปฏิญาณด้วยสัจวาจานี้ไว้ พี่น้องที่รัก น้ำตามิได้ช่วยให้คนฉลาดขึ้นและได้อะไรคืนมา นอกจากความพยายาม ความสามัคคี ความสุขุมรอบคอบ ความอดกลั้นที่จะกล้าเผชิญกับความสูญเสีย พร้อมทั้งรวมกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด เพื่อให้ชาติที่รักของเราแข็งแกร่งมั่นคงถาวรยิ่งขึ้น ในขั้นสุดท้ายชาติไทยต้องประสบกับชัยชนะเสมอ เราต้องกล้าสู้ ต้องยิ้มรับต่อภัยที่มาถึงตัวเรา ชาติไทยเป็นชาติที่เชื่อมั่นในบวรพุทธศาสนา ตั้งตนอยู่ในความเป็นธรรมเสมอมา ข้าพเจ้าเชื่อมั่นเสมอว่าชาติเราจะไม่อับจนเป็นอันขาด เรื่องนี้เป็นแต่เพียงเรื่องหนึ่งในเรื่องใหญ่ทั้งหลายซึ่งมีความสำคัญกว่านี้มากนัก ชาติที่รักของเรากำลังพัฒนาตามวิถีทางที่ดีอยู่แล้วทุกทาง เหตุนี้มิใช่เหตุแห่งความอับจน เราจงระวังและทำในเรื่องของชาติที่สำคัญกว่านี้ ข้าพเจ้ามั่นใจเหลือเกินว่าชาติไทยของเราจะมีอนาคตอันแจ่มใสและรุ่งโรจน์ประเทศหนึ่งอย่างแม่นมั่นในอนาคตอันใกล้นี้ เราจงมาช่วยกันสร้างชาติที่รักยิ่งของเรา

พี่น้องชาวไทยที่รัก ในวันหนึ่งข้างหน้าเราจะต้องเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมาเป็นของชาติไทยให้จงได้... สวัสดี...


การแถลงจุดยืนของไทย
ฯพณฯ ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ถึง ฯพณฯ อู ถั่น รักษาการเลขาธิการสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ค อ้างถึงคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ประกาศจุดยืนและท่าทีของไทยว่าไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านคำพิพากษาซึ่งขัดต่อสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๐๔ และ ๑๙๐๗ นอกจากนั้นยังขัดต่อหลักความยุติธรรมและหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่จะปฏิบัติตามพันธกรณีในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ นอกจากนั้น ไทยยังได้ตั้งข้อสงวนเกี่ยวกับสิทธิที่มีอยู่และจะพึงมีในการครอบครองปราสาทพระวิหารในอนาคตตามกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย อนึ่ง ข้อสงวนดังกล่าวมีผลตลอดไปโดยไม่จำกัดเวลา

ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญที่ ๑๗ พ.ศ. ๒๕๐๕ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยยังได้มอบหมายให้ นายสมปอง สุจริตกุล ผู้แทนไทยในคณะกรรมการที่ ๖ (กฎหมาย) เป็นผู้แถลงย้ำให้ผู้แทนประเทศสมาชิกสหประชาชาติในคณะกรรมการกฎหมายได้ทราบถึงจุดยืนของประเทศไทยตลอดจนเหตุผลทางกฎหมายในการคัดค้านคำพิพากษาโดยละเอียด ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่าผู้แทนประเทศอื่นรวมทั้งกัมพูชาได้แสดงความคิดเห็นหรือโต้แย้งแต่ประการใด

คำแปลหนังสือจาก ฯพณฯ ถนัด คอมันตร์ ถึงเลขาธิการสหประชาชาติ*

(*แปลโดย ศ. ดร.สมปอง สุจริตกุล)

เลขที่ (๐๖๐๑) ๒๒๒๓๙/๒๕๐๕
กระทรวงการต่างประเทศ
กรุงเทพฯ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ (ค.ศ.๑๙๖๒)

เรียน ฯพณฯ อู ถั่น
รักษาการเลขาธิการสหประชาชาติ
นิวยอร์ค

ข้าพเจ้าขออ้างถึงคดีปราสาทพระวิหารซึ่งกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียวได้ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๙ [พ.ศ. ๒๕๐๒] และศาลฯ ได้พิพากษาเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๒ [พ.ศ. ๒๕๐๕] ยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร

ในคำแถลงเป็นทางการเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๒ [พ.ศ. ๒๕๐๕] รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่าไทยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลฯ โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลไทยพิจารณาแล้วเห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าวขัดอย่างชัดแจ้งต่อบทบัญญัติแห่งสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔ และ ค.ศ. ๑๙๐๗ ในข้อที่เกี่ยวข้องโดยตรง ตลอดจนขัดต่อหลักกฏหมายและหลักความยุติธรรม ถึงกระนั้นก็ตาม ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะปฏิบัติตามพันธกรณีแห่งคำพิพากษาตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ภายใต้ข้อ ๙๔ ของกฏบัตรสหประชาชาติ

ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ท่านทราบด้วยว่าการตัดสินใจปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหารนั้น รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรารถนาจะตั้งข้อสงวนอย่างชัดเจนเพื่อสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่ประเทศไทยมีหรือพึงมีในอนาคตในการเรียกคืนปราสาทพระวิหาร โดยใช้วิถีทางที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือในอนาคต และขอยืนยันการคัดค้านคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศซึ่งวินิจฉัยให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา

ข้าพเจ้าจึงขอเรียนมาเพื่อทราบพร้อมทั้งขอให้ท่านส่งเวียนหนังสือฉบับนี้ไปยังประเทศที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติทุกประเทศ

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
(ลงนาม) ถนัด คอมันตร์

(ถนัด คอมันตร์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งประเทศไทย

ปฏิบัติการของไทย
แม้ศาลยุติธรมระหว่างประเทศจะไม่มีอำนาจบังคับคดี แต่เพื่อแสดงความเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การสหประชาชาติ ไทยได้ดำเนินการถอนบุคลากรจากปราสาทพระวิหารและได้ล้อมรั้วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ารอบตัวปราสาทตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย และได้ย้ายเสาธงไทยออกจากบริเวณปราสาทโดยไม่มีการลดธง ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้กัมพูชาส่งบุคลากรเข้าไปในบริเวณปราสาทโดยไทยมิได้สละอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ซึ่งปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ หรือยอมรับนับถืออธิปไตยของกัมพูชาแต่อย่างใด บริเวณที่ตั้งของตัวปราสาทจึงเป็นพื้นที่เดียวซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “พื้นที่ทับซ้อน”

ปฏิกิริยาของกัมพูชา
หลังจากไทยได้ถอนบุคลากรจากประสาทพระวิหารตามคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กัมพูชาก็ยอมรับสภาพโดยดี และมิได้โต้แย้งในการที่ไทยได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาและตั้งข้อสงวนไว้อย่างชัดเจน กัมพูชานิ่งเฉยตลอดระยะเวลา ๕ ทศวรรษโดยมิได้เรียกร้องอะไรอื่นอีก

กัมพูชาเริ่มมีปฏิกิริยาเมื่อประมาณ ๕-๖ ปีมานี้ โดยแสดงเจตน์จำนงที่จะขยายอาณาเขตรุกล้ำเข้ามาในพระราชอาณาเขตของประเทศไทย เริ่มจากรื้อรั้วที่ไทยสร้างไว้รอบปราสาท นอกจากนั้น คนชาติกัมพูชายังลอบเข้ามาตั้งถิ่นฐานในวนอุทยานเขาพระวิหารในเขตแดนไทยรวมทั้งตั้งร้านค้าและแผงลอยซึ่งเพิ่มมากขึ้นตามลำดับเพื่อขายสินค้าให้นักทัศนาจร

พื้นที่ทับซ้อน
การกล่าวถึง “พื้นที่ทับซ้อน” ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนนั้น กัมพูชาได้พยายามขยายขอบเขตคำพิพากษาของศาลฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยแอบอ้างว่าศาลให้ความเห็นชอบแผนที่ผนวก ๑ ซึ่งปราศจากมูลความจริง ทั้งนี้ เนื่องจากในคำพิพากษานั้นเอง ศาลฯ ได้พิจารณาและวินิจฉัยว่าแผนที่ผนวก ๑ ท้ายคำฟ้องของกัมพูชามีข้อผิดพลาดตามที่ปรากฏในรายงานคณะผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทย ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายกัมพูชาไม่อาจหักล้างข้อเท็จจริงที่ว่า “เส้นสันปันน้ำ” บนขอบหน้าผาคือเส้นเขตแดนที่แท้จริงระหว่างไทยกับกัมพูชา เส้นเขตแดนดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตแดนไทย

อายุความฟ้องร้อง
ปัญหาเรื่องอายุความฟ้องร้องไม่เป็นประเด็นในกฎหมายระหว่างประเทศนอกจากในกรณีที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีต่อศาลหนึ่งศาลใดที่มีอำนาจพิจารณาข้อขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง หากจะกล่าวถึงศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปัจจุบัน อายุความ ๑๐ ปีมีอยู่กรณีเดียว กล่าวคือการร้องขอให้ทบทวนคำพิพากษาตามข้อ ๖๑ วรรค ๕ แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรม

ในกรณีปราสาทพระวิหาร การกล่าวถึงอายุความ ๑๐ ปีนั้นใช้เฉพาะสิทธิของคู่คดีซึ่งได้แก่ไทยหรือกัมพูชาที่จะร้องเรียนให้ศาลทบทวนคำพิพากษาเดิมเท่านั้น ฉะนั้น หากไทยหรือกัมพูชาดำริให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศทบทวนคำพิพากษาปี พ.ศ.๒๕๐๕ ก็จะเป็นการสายเกินไป ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดดำริที่จะกระทำเช่นนั้น

ส่วนกรณีอื่นๆ เช่นการเพิกถอนหรือตีความคำพิพากษา การฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ หรือระงับกรณีพิพาทโดยอาศัยกลไกอื่น อาทิ ศาลอนุญาโตตุลาการ ฯลฯ ซึ่งไทยหรือกัมพูชามิได้กระทำการแต่อย่างไร ปัญหาเรื่องอายุความจึงยังไม่เป็นประเด็น

อายุความข้อสงวน
ข้อสงวนของรัฐบาลไทยต่อคำพิพากษาของศาลในคดีปราสาทพระวิหารซึ่งไทยได้แจ้งไปยังเลขาธิการสหประชาชาติในหนังสือลงวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ พร้อมทั้งส่งเวียนให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติรับทราบทั่วกันโดยไม่ปรากฏว่ามีประเทศหนึ่งประเทศใดโต้แย้ง ทักท้วง หรือค้ดค้านแต่ประการใดนั้น เป็นข้อสงวนที่ปลอดอายุความ มีผลตลอดกาลตราบใดที่ยังอยู่ใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ การที่ข้อสงวนดังกล่าวมิใช่เป็นการทบทวนคดีเก่าซึ่งต้องกระทำภายในกำหนดเวลาที่จำกัดไว้ จึงยังมีผลบังคับจนทุกวันนี้ยกเว้นจะถูกเพิกถอนหรือยกเลิกอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลไทย

ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง สุจริตกุล*
๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๒


ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง สุจริตกุล
* B.A., B.C.L., M.A., D.Phil., and D.C.L. (Oxon)
Diplômé d’Etudes Supérieures de Droit International Public, Docteur en Droit (Paris)
LL.M. (Harvard)
of the Middle Temple, Barrister-at-law (United Kingdom)
Diplômé de l’Académie de Droit International de La Haye (Nederland)

- คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
- ศาสตราจารย์กิตติคุณกฏหมายระหว่างประเทศและกฏหมายเปรียบเทียบ
มหาวิทยาลัยกฎหมายโกลเดนเกท ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา
- สมาชิกสถาบันอนุญาโตตุลาการแห่งประเทศไทย
- สมาชิกสถาบันอนุญาโตตุลาการองค์การกฏหมายเอเซีย-แอฟริกา ณ กรุงไคโร และกัวลาลัมเปอร์
- อนุญาโตตุลาการอิสระ
- อดีตเลขาธิการอาเซียน (ประเทศไทย)
- อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำเนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ลักเซมเบอร์ก ญี่ปุ่น
ฝรั่งเศส โปรตุเกส อิตาลี กรีก อิสราเอล และองค์การตลาดร่วมยุโรป
- อดีตหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำ UNESCO และ FAO
- อดีตสมาชิกศูนย์ระงับข้อพิพาทการลงทุนศาลอนุญาโตตุลาการธนาคารโลก ICSID World Bank
- อดีตกรรมาธิการสหปราชาชาติเพื่อพิจารณาค่าชดเชยความเสียหายในประเทศคูเวต (UNCC)
- และทนายผู้ประสานงานคณะทนายฝ่ายไทยในคดีปราสาทพระวิหาร
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๐๕


ที่มา




 

Create Date : 02 กันยายน 2552    
Last Update : 2 กันยายน 2552 23:20:36 น.
Counter : 324 Pageviews.  

บุกพิสูจน์ ไทยเสียดินแดน “พระวิหาร”ให้กัมพูชา

บุกพิสูจน์ ไทยเสียดินแดน “พระวิหาร”ให้กัมพูชา

รายการ สภาท่าพระอาทิตย์ ออกอากาศทางเอเอสทีวี วันที่ 30 สิงหาคม 2552 ดำเนินรายการโดยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โดยมี พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ และนายวีระ สมความคิด ประธานอำนวยการคณะกรรมการเครือข่ายประชาชาต่อต้านคอร์รัปชั่น มาร่วมรายการ พร้อมกับตัวแทนประชาชนประมาณ 10 คน ที่ได้ร่วมเดินทางไปตรวจสอบบริเวณรอบปราสาทพระวิหารเมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเล่ารายละเอียดการขึ้นไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าไทยได้เสียดินแดนบริเวณดังกล่าวให้กัมพูชาแล้วอย่างไรบ้าง

นายวีระ ได้ยืนยันภาพประวัติศาสตร์ที่ศาลโลกตัดสินให้เฉพาะตัวปราสาทพระวิหาร ส่วนดินแดนยังเป็นของไทย ซึ่ง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าทนายความฝ่ายไทยก็เคยยืนยันว่า มีแต่ตัวปราสาทเท่านั้นที่ศาลโลกตัดสินให้เป็นของกัมพูชา หากตัวปราสาทพังลงเมื่อไหร่ดินแดนก็เป็นของเรา และทหารไทยหลังจากนั้นเคยได้พลีชีพปกป้องดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหารมาแล้ว จนหลังปี 2519 เป็นต้นมาที่เราอ่อนแอปล่อยให้กัมพูชาฮึกเหิม หวังจะให้เขมรแดงเป็นกันชน และเราก็ไม่สามารถกำราบเขมรลงได้

ขณะที่ พล.อ.ปรีชา ยืนยันว่า ไม่เคยคิดว่าปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา เพราะตามหลักสันปันน้ำตัวปราสาทย่อมเป็นของเรา เหมือนของที่มาอยู่บนหลังคาบ้านเราก็ต้องเป็นของเรา แต่เราเสียตัวปราสาทให้กัมพูชาเพราะอิทธิพลของมหาอำนาจในขณะนั้น นอกจากนี้ โดยส่วนตัวไม่เชื่อว่าพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นพื้นที่ทับซ้อน แต่เป็นของเราอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่ทหารไทยปล่อยให้ทหารกัมพูชาเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้

หลังจากนั้น นายวีระ ได้เปิดภาพวิดีโอขณะไปพิสูจน์พื้นที่เขาพระวิหารเมื่อวันศุกร์ที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏชัดเจนว่า คนไทยไม่สามารถเข้าไปยังพื้นที่ที่เคยเป็นเขตแดนไทยได้ เนื่องจากมีทหารกัมพูชาตรึงกำลังอยู่ เป็นการพิสูจน์ว่าไทยได้เสียดินแดนให้กัมพูชาไปแล้ว ซึ่งทหารที่รักษาการอยู่บริเวณดังกล่าวก็ไม่มีใครกล้าปฏิเสธ

ASTVผู้จัดการออนไลน์31 สิงหาคม 2552




 

Create Date : 02 กันยายน 2552    
Last Update : 2 กันยายน 2552 23:00:09 น.
Counter : 221 Pageviews.  

รัฐบาลขายชาติ !?

รัฐบาลขายชาติ!?

โต้เถียงกันหลายครั้งระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ กับภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทพระวิหาร ซึ่งนำโดย ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิชาการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ฝ่ายภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทพระวิหารต้องการให้กระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลไทยประกาศยกเลิกแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ปฏิเสธแผนที่ของฝ่ายกัมพูชาอย่างเป็นทางการโดยไม่คลุมเครือ

ฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศโดยนายกษิต ภิรมย์ ก็อ้างว่ากระทรวงการต่างประเทศได้ทำหนังสือแจ้งกัมพูชาไปแล้วตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2551 โดยมีสาระสำคัญอ้างถึงการประชุมระหว่างการรับประทานอาหารที่กัมพูชาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 ว่าแถลงการร่วมระหว่างไทยกัมพูชาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551 นั้นฝ่ายกัมพูชาไม่ได้นำมาพิจารณาเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และด้วยผลของข้อจำกัดหลายประการ แถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวได้กลายเป็นเอกสารที่ “สิ้นผล” ไปโดยตัวมันเอง

ด้วยลีลาและท่วงทำนองของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ไม่ใช้คำที่ชัดเจนและไม่ได้อ้างผลถึงคำตัดสินของศาลไทย ทำให้มีนักวิชาการฝ่ายภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทพระวิหารเห็นว่าเป็นการแจ้งผลที่คลุมเครือ คำว่า “สิ้นผล” นั้นแตกต่างจากคำว่า “ยกเลิก” เพราะอาจทำให้ตีความได้ว่า “สิ้นผล” นั้นหากหมายถึงเรื่องผลลัพธ์จากเรื่องคำตัดสินของศาลภายในประเทศ ซึ่งก็มิได้ผูกพันกับฝ่ายกัมพูชา แต่ถ้าใช้คำว่า “ยกเลิก” ก็หมายถึงการประกาศยกเลิกต่อข้อผูกพันระหว่างประเทศที่ชัดเจนมากกว่า

ถกเถียงกันเรื่องนี้มาปีเศษ คนไทยทั่วไปก็ไม่เคยได้เห็นคำตอบของฝ่ายกัมพูชาว่าเป็นอย่างไรจากหนังสือของไทยฉบับดังกล่าว จนกระทั่งได้ทราบมาว่ามีเอกสารของฝ่ายกัมพูชา โดยนายฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฝ่ายกัมพูชา นั้นได้ตอบมาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2551 ว่า

In this regard, I would like to recall that during our working lunch in Siem Reap on 28 July, 2008 talking about the said Joint Commuique, I said that it is not an international treaty, thus its value is worth what it is.

แปลว่า:
ในกรณีนี้ผมต้องการรำลึกถึงช่วงที่เราทำงานในช่วงมื้อเที่ยงที่เสียมเรียบเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 ที่พูดกันเกี่ยวกับแถลงการณ์ร่วมนั้น ผมได้พูดว่า "มันไม่ใช่สนธิสัญญาระหว่างประเทศ" ดังนั้นมูลค่าของมันก็เป็นคุณค่าอย่างที่มันเป็น

เมื่อมีคำว่า “Thus” หรือ “ดังนั้น” แล้วตามด้วยคำว่า "มูลค่าของมันก็เป็นคุณค่าอย่างที่มันเป็น" ก็ย่อมไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าฝ่ายกัมพูชายอมรับว่าแถลงการณ์ร่วมฉบับนั้นไม่ใช่สนธิสัญญาจริงๆ และไม่ได้แปลว่าฝ่ายกัมพูชาคิดว่าแถลงการณ์ร่วมนั้นได้ยกเลิกไปแล้วจริงๆ หรือไม่?

ที่กล่าวมาข้างต้นคือข้อถกเถียงกันระหว่างคำว่า “สิ้นผล” ของกระทรวงการต่างประเทศ และคำว่า “ยกเลิก”ของภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทพระวิหาร แต่จริงๆ แล้วยังมีเรื่องที่สำคัญมากกว่านั้น

วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม 2552 ภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทพระวิหาร ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา รองประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เพื่อคัดค้านการนำวาระร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา เข้าสู่การพิจารณาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190 (2) ในวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2552

ฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศได้ออกมาตอบโต้ว่ากรณีนี้เป็นการแก้ไขปัญหาด้วยการดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อทำให้ข้อตกลงชั่วคราวระหว่างไทย-กัมพูชา ให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 (2) และอ้างว่าได้เสนอต่อรัฐสภาไปแล้ว เมื่อเดือนตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา มิใช่เป็นการกระทำเพื่อรองรับข้อตกลงร่วมไทย- กัมพูชา ให้มีผลสมบูรณ์

เปลี่ยนชื่อเรียกการแก้ปัญหาจากเรื่องปราสาทพระวิหาร เป็นเรื่องพื้นที่ระหว่างภูมะเขือ กับช่องตาเฒ่า รวมไปถึงการบังคับให้ไทยต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ซึ่งหมายถึงว่าเป็นการยอมรับให้กัมพูชาได้ครอบครอง แม้แต่วันนี้คนไทยก็ไม่สามารถขึ้นไปที่ผามออีแดง ซึ่งเป็นเขตของไทยชัดเจนไม่ได้อยู่แล้ว

สาระสำคัญในเรื่องนี้จึงอยู่ที่ว่า ฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศต้องการดำเนินการทางนิติบัญญัติเพื่อที่จะไปทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชา แต่ฝ่ายภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทพระวิหารไม่ไว้ใจกระทรวงการต่างประเทศ
และเห็นว่าประเทศไทยได้ถูกรุกล้ำดินแดนและละเมิดอธิปไตยแล้ว เวลานี้จึงเป็นเวลาในการปกป้องรักษาอธิปไตยของชาติ ไม่ใช่ช่วงเวลาการเจรจาหรือทำข้อตกลงใดๆ

ประโยคสั้นๆ ที่ว่า “แม้แต่วันนี้คนไทยก็ไม่สามารถขึ้นไปที่ผามออีแดง ซึ่งเป็นเขตของไทยชัดเจนไม่ได้อยู่แล้ว” จึงเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจซึ่งได้เคยพิสูจน์มาแล้ว

17 กรกฎาคม 2551 นายวีระ สมความคิด ได้นำคณะคนไทยเพื่อที่จะเดินทางไปปราสาทพระวิหาร เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทหาร กองกำลังสุรนารีที่ระดมกำลังเข้าไปปกป้องแผ่นดินไทย อ่านคำประกาศทวงคืนดินแดนและอธิปไตยของชาติเหนือปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งเรียกร้องให้ทางการกัมพูชานำประชาชนชาวกัมพูชาออกจากพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร

ปรากฏว่าในวันนั้นมีการนักการเมืองไทยจัดตั้งกลุ่มประชาชนพร้อมด้วยอาวุธมาปิดกั้นกีดขวางด้วยรถและมวลชน มีการใช้กำลังและความรุนแรงมาทำร้ายประชาชนชาวไทยผู้ที่ต้องการปกป้องรักษาดินแดนไทยในวันนั้นมิให้เข้าไปในดินแดนรอบปราสาทพระวิหารได้ จนมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหลายคน



แต่ฝ่ายภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทพระวิหาร ไม่ไว้ใจการดำเนินงานของกระทรวงการต่างประเทศเนื่องจากจะเป็นการนำไปสู่การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอย่างสมบูรณ์ของกัมพูชา โดยตั้งข้อสังเกตว่าร่างข้อตกลงดังกล่าวเป็นการเสนอเข้ามาอย่างเร่งรีบ มีการหมกเม็ด เลี่ยงบาลีหลายจุด ตั้งแต่การ

ปีที่แล้ว คนไทยกลุ่มหนึ่งจึงไม่สามารถเดินทางไปพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งอยู่ในดินแดนของไทยได้ จึงนับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัปยศอดสู เมื่อคนไทยมาทำร้ายคนไทยด้วยกันเองในการรักษาอธิปไตยของชาติ นักการเมืองไทยยอมทำทุกวิถีทางเพื่อทำร้ายประชาชนที่อยู่ตรงกันข้ามกับตัวเอง พ่อค้าแม่ค้าที่สนใจแต่ค้าขายชายแดนก็ออกมาต่อต้านเพราะไม่อยากวุ่นวายและกลัวจะเสียประโยชน์ส่วนตัว และทหารไทยบางคนก็ได้รับประโยชน์ส่วนตนจากการรุกล้ำอธิปไตยของฝ่ายกัมพูชา

วันนี้สาระสำคัญจึงไม่ใช่เวลาในเรื่องข้อถกเถียงว่าแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชายกเลิกแล้วจริงหรือไม่? ไม่ใช่เวลาถกเถียงว่าการขออนุมัติต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออนุมัติกรอบการเจรจาถูกต้องแล้วและดีจริงหรือไม่?

แต่สาระสำคัญในวันนี้อยู่ที่ประเด็นสำคัญว่าประเทศไทยถูกรุกล้ำจริงหรือไม่?

1.ถ้าประเทศไม่ถูกรุกล้ำจริง คนไทยต้องเดินทางไปในทุกที่ที่อยู่ในเขตแดนของไทยได้ซึ่งรวมถึงพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งอยู่ในแนวสันปันน้ำของฝ่ายไทย

2. ถ้าสมมติว่าเป็นพื้นที่ที่มีข้อพิพาทกันจริง ก็ต้องไม่มีทหารหรือ
ประชากรของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาศัยอยู่ได้

วันนี้ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วัดแก้วสิขาคีรีสวารา ซึ่งเป็นวัดและชุมชนที่กัมพูชาเข้ามาสร้างรุกล้ำอธิปไตยของไทยติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปีซึ่งทางการไทยเคยส่งหนังสือประท้วงหลายครั้ง วันนี้มีสภาพเป็นอย่างไร?

กองกำลังทหารกัมพูชาอยู่กันอย่างหนาแน่นมากขึ้น ชุมชนขยายตัวเพิ่มมากขึ้น บ้านพักอาศัยของทหารกัมพูชาก็ยังอยู่แห่งนั้นที่เป็นผืนแผ่นดินไทย

ถนนที่สร้างเชื่อมจากปราสาทพระวิหารมาถึงวัดแก้วสิขาคีรีสวารา ที่สร้างมาตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยได้ปล่อยให้ฝ่ายกัมพูชาสร้างเสร็จสมบูรณ์ในช่วงสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ทหารไทยถอยร่นมาเรื่อย จนปัจจุบันมีทหารไทยเพียง 10 - 12 คน ที่คอยขึ้นไปบนเขาที่วัดแก้วสิขาคีรีสวาราตอนเช้าโดยห้ามพกอาวุธ ทั้งๆ ที่มีทหารและประชาชนชาวกัมพูชาเต็มไปหมด แล้วตอนเย็นก็ต้องกลับมาด้านล่างเขา (ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา) จริงหรือไม่?

แล้วอย่างนี้จะให้เรียกได้อย่างไรว่าราชอาณาจักรไทยรักษาอธิปไตยเอาไว้ได้!

เรื่องแบบนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ควรตอบการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรอ้างเพียงแค่ว่า ชุมชนฝ่ายกัมพูชาที่มาตั้ง ณ ผืนแผ่นดินไทย เกิดขึ้นก่อนสมัยรัฐบาลชุดปัจจุบัน และถนนที่สร้างขึ้นก็เริ่มสร้างมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน

เพราะชุมชนและสิ่งปลูกสร้างที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ตลอดจนถนนสายใหม่ที่สร้างขึ้นมาโดยฝ่ายกัมพูชานั้น ได้ปลูกสร้างต่อเนื่องจนเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ไม่ได้แปลว่ารัฐบาลก่อนหน้าทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แล้วรัฐบาลชุดนี้จะมีสิทธิ์ปล่อยให้สิ่งไม่ถูกต้องเหล่านั้นดำเนินการต่อไปจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์

ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไทยหรือกระทรวงการต่างประเทศได้ทำหนังสือประท้วงไปแล้ว จะหมายถึงว่าราชอาณาจักรไทยยังรักษาดินแดนเอาไว้ได้

เรื่องนี้ นายวีระ สมความคิด พร้อมกับประชาชนคนไทยกลุ่มหนึ่งรวมทั้งสื่อมวลชน ก็ต้องการที่จะ “พิสูจน์” อธิปไตยของประเทศไทย ด้วยการนัดหมายไปเยี่ยมทหารและดินแดนของไทยรอบปราสาทพระวิหารเป็นครั้งที่ 2 ในวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2552 10.00 น. ที่ศาลหลักเมืองอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ

ถ้ากระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลไทยยังคงยืนยันอยู่ว่าประเทศไทยยังคงรักษาดินแดนเอาไว้ได้ รักษาอธิปไตยเอาไว้ได้ ก็ควรดีใจที่จะมีประชาชนชาวไทยไปเยี่ยมทหารไทยและเข้าเยี่ยมชมพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ที่ไม่มีทหารและประชาชนชาวกัมพูชาอยู่ในผืนแผ่นดินไทยแล้ว

แต่ถ้ารัฐบาลไทยและกระทรวงการต่างประเทศยอมรับความจริงว่าเรากำลังถูกรุกล้ำอธิปไตยอยู่ ก็ควรต้องบอกประชาชนว่าจะรักษาดินแดนและอธิปไตยไทยได้อย่างไร?

วันนี้ไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำดินแดนของราชอาณาจักรไทย

วันนี้ไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหาบันทึกข้อตกลงและแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยกัมพูชากรณีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่ไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเมื่อปี 2544

เราคงไม่อยากได้ยินและได้เห็นข้อกล่าวหารัฐบาลในอดีตว่าขายชาติ ได้กลายมาเป็นคำกล่าวหาในรัฐบาลชุดนี้ว่าสวมสิทธิ์การขายชาติเสียเอง

โดยเฉพาะรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อเป็นฝ่ายค้านได้แข็งขันกับการปกป้องอธิปไตยของชาติในกรณีนี้อย่างเต็มความสามารถนั้น จะคิดอ่านปกป้องอธิปไตยทั้งทางบกและทางทะเลอย่างไร?

อย่าปล่อยให้กลุ่มประชาชนสองมือเปล่า (อีกแล้ว) ที่ไม่มีอำนาจรัฐต้องมาทำหน้าที่ทวงอธิปไตยของชาติแต่เพียงลำพัง!

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์25 สิงหาคม 2552 19:22 น.







 

Create Date : 02 กันยายน 2552    
Last Update : 2 กันยายน 2552 22:38:15 น.
Counter : 250 Pageviews.  

เสียดินแดน !!

การประชุมร่วมของรัฐสภาในวันนี้เวลา 09.30 น.เดิมทีจะมีวาระสำคัญที่คาดว่าจะใช้เวลาอภิปรายกันพอสมควรคือการที่รัฐบาลเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคสอง

เดิมทีเรื่องนี้บรรจุอยู่ในระเบียบวาระที่ 5.7 และจะพิจารณากันตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2552 แล้ว คุณวีระ สมความคิดจึงได้เคลื่อนไหวมวลชนคู่ขนานด้วยการไปดูพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร พร้อมๆ กับที่ประชาชนจำนวนหนึ่งไปเคลื่อนไหวหน้ารัฐสภา

แต่เผอิญการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ วาระ 2 – 3 ยืดเยื้อเลยเลื่อนมาประชุมวันนี้แทน

ปกติวันจันทร์เป็นวันประชุมวุฒิสภาที่นัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว การประชุมร่วมของรัฐสภาวันนี้จึงจะใช้เวลาเพียงครึ่งวันเช้าเท่านั้น เพราะครึ่งวันบ่ายตั้งแต่เวลา 14.00 น.เป็นต้นไป จะเป็นการประชุมวุฒิสภาที่เลื่อนหลีกให้มาจากภาคเช้า

วิปรัฐบาลจึงตกลงกันว่าจะเลื่อนระเบียบวาระพิจารณาเฉพาะเรื่องด่วนจริงๆ !

ในระเบียบวาระมีเรื่องที่เสนอรัฐสภาให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมธรรมนูญมาตรา 190 ถึง 19 เรื่อง ตั้งแต่วาระที่ 5.1 – 5.19 โดยบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาอยู่ในวาระที่ 5.7 แต่เรื่องที่ด่วนจริงๆ เป็นเรื่องที่กระทรวงกลาโหมเสนอเข้ามาใหม่ตั้งแต่วาระที่ 5.13 – 5.19 ในวันนี้เมื่อถึงเวลาประชุมในระเบียบวาระที่ 5 วิปรัฐบาลจึงจะเสนอให้เรียงลำดับวาระใหม่ โดยให้วาระที่ 5.13 – 5.19 ของกระทรวงกลาโหมพิจารณาก่อน และอาจจะตามด้วยวาระที่ 5.12 ของกระทรวงพลังงานที่เสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลงเพื่อการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC ภายใต้กรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ

การให้ความเห็นชอบบันทึกการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาจึงจะร่นไปอยู่เป็นวาระที่ 3 จากท้าย

ยังไงๆ ก็พิจารณาไม่ถึงวาระปัญหานั้นในวันนี้แน่นอน!!


ผมอยู่ร่วมรับฟังคำชี้แจงของกระทรวงการต่างประเทศด้วยทุกครั้ง – รวมทั้งครั้งล่าสุด!

พบความจริงที่น่าตกใจมาก!!


แน่นอนว่าผมสนใจเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น
เคยเขียนไว้ ณ ที่นี่หลายครั้งว่าหากทำไม่ดีเราจะเสียดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตร เคยเป็นหนึ่งในผู้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดคัดค้านแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ได้รับฟังคำให้การต่อศาลของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศคนสำคัญมาแล้ว และเคยเป็น 1 ใน 8 สมาชิกรัฐสภาผู้ลงมติคัดค้านกรอบการเจรจาไทย-กัมพูชาที่รัฐบาลเสนอเข้ามาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551

ความจริงที่ผมว่าน่าตกใจก็คือ ข้อมูล ข้อวิเคราะห์ และชุดความคิดของกระทรวงการต่างประเทศแตกต่างชนิดเกือบจะเรียกได้ว่าตรงกันข้ามกับนักวิชาการกลุ่มอาจารย์ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ - อาจารย์เทพมนตรี ลิมปพยอม และยังตรงกันข้ามกับอดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศเองอย่าง ดร.สมปอง สุจริตกุล

ในการคุยครั้งหนึ่ง ผมได้มีโอกาสรับฟังมุมมองของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่ได้รับยกย่องว่ารู้เรื่องไทย-กัมพูชาดีที่สุดคนหนึ่ง ก็ยิ่งตกใจเข้าไปใหญ่

ทำให้ในการคุยครั้งสุดท้าย ที่ได้มีโอกาสพบท่านรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะฝ่ายไทยในการเจรจาเขตแดนไทย-กัมพูชาซึ่งเป็นอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำเกาหลีที่เคยรู้จักกันเมื่อคราวคณะกรรมาธิการชุดผมเดินทางไปดูงานที่นั่นเมื่อปี 2551 จึงได้ยิงคำถามไปตรงๆ หลายคำถาม

ความตกใจยังอยู่ครับ – แต่เริ่ม “เข้าใจ” มากขึ้น!

เข้าใจในที่นี้ไม่ได้แปลว่าเห็นด้วย

แต่เข้าใจว่ากระทรวงการต่างประเทศคิดอย่างไรในเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชา



ก่อนหน้านี้เมื่อมีเสียงคัดค้านจากภาคประชาชน โดยเฉพาะจากคุณสนธิ ลิ้มทองกุล และนักวิชาการกลุ่มอาจารย์ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ - อาจารย์เทพมนตรี ลิมปพยอม รวมทั้งจากอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชนชุด ส.ว.ไพบูลย์ นิติตะวัน กระทรวงการต่างประเทศก็ได้เพียรพยายามชี้แจง โดยไปพบกับคณะ ส.ว.หลายครั้งในหลากรูปแบบ และล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ได้เชิญคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา และ ส.ว.ที่สนใจ ไปร่วมรับประทานอาหารค่ำกันที่กระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2552 แม้จะบอกว่าเป็นวาระทั่วไปที่เปิดโอกาสให้ ส.ว.ซักถามนโยบายและการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศโดยภาพรวม ไม่เฉพาะเจาะจงเรื่องไทย-กัมพูชา แต่การแลกเปลี่ยนในวันนั้นก็ใช้เวลาอยู่กับเรื่องไทย-กัมพูชาเป็นส่วนใหญ่



โดยสรุป กระทรวงการต่างประเทศมองว่าคำพิพากษาศาลโลกเมื่อปี 2505 แม้จะไม่ได้ระบุเรื่องเขตแดนไว้ และไทยยังถือว่าดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของเรา ไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อน แต่คำพิพากษาพูดเรื่องแผนที่อัตราส่วน 1 : 200,000 ที่กัมพูชาเสนอไว้ชัดเจน ว่าไทยยอมรับโดยปริยาย กระทรวงการต่างประเทศเชื่อว่าหากเกิดข้อพิพาทเขตแดนไทย-กัมพูชาบริเวณปราสาทพระวิหารขึ้นจนเรื่องต้องเข้าไปสู่การตัดสินขององค์กรระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นศาลโลก หรือสหประชาชาติ ไม่แน่นักว่าไทยจะได้เปรียบ

โดยเฉพาะหากศาลโลกตีความคำพิพากษาปี 2505 ตามธรรมนูญศาลโลกมาตรา 60 ยิ่งไม่แน่นักว่าไทยจะได้เปรียบ

พิจารณาโดยข้อกฎหมายก็ไม่แน่ว่าจะได้เปรียบแล้ว ยิ่งพิจารณาในเชิงการเมืองระหว่างประเทศไทยยิ่งเสียเปรียบกัมพูชา เพราะมหาอำนาจจ้องจะเข้าข้างกัมพูชามากกว่าเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขา

นี่คือมุมมองที่ต่างจากนักวิชาการข้างนอก รวมทั้งอดีตคนกระทรวงการต่างประเทศอย่าง ดร.สมปอง สุจริตกุล

มุมมองต่อคำพิพากษานี่ถือเป็นบรรทัดฐานครับ เหมือนการกลัดกระดุมเม็ดแรก กลัดอย่างไรก็จะเป็นผลต่อการกลัดเม็ดต่อๆ ไป

แล้วการที่ยอมให้กัมพูชาทำถนนและสร้างชุมชนในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรที่เป็นของเราล่ะ?

กระทรวงการต่างประเทศบอกว่าไม่เคยยอม เราถือว่าเป็นดินแดนของเรา เมื่อเขารุกล้ำเราก็ทำหนังสือประท้วงไปทุกครั้ง

การทำหนังสือประท้วงแปลว่าไม่ยอมรับ ในทางกฎหมายระหว่างประเทศการกระทำของกัมพูชาไมมีผล ไม่ว่าจะมากแค่ไหนนานแค่ไหนไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้น

นี่ก็เป็นมุมมองที่แตกต่างกันกับคนข้างนอกกระทรวง

2 เรื่องนี้เป็นเพียงตัวอย่าง ยังมีมุมมองและชุดความคิดที่แตกต่างกันอีกหลายประเด็น

รัฐสภาจึงไม่ควรลงมติในวันเดียวกับที่ระเบียบวาระถึงเวลาพิจารณา

แต่ควรตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาก่อนการลงมติ เพื่อให้มุมมองและชุดความคิดที่แตกต่างกันได้มีโอกาสมานำเสนออย่างเท่าเทียมกัน

คำนูณ สิทธิสมาน 30 สิงหาคม 2552




 

Create Date : 02 กันยายน 2552    
Last Update : 2 กันยายน 2552 21:39:42 น.
Counter : 258 Pageviews.  

1  2  

หยุมหยิม
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add หยุมหยิม's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.