...ความสุขของนักเดินทาง..ไม่ได้อยู่ที่จุดหมายปลายทาง..แต่อยู่ที่การได้เดินทาง...

อาณาจักรธีบส์ อดีตที่ยิ่งใหญ่แห่งลักซอร์

......เที่ยวอิยิปต์ ได้มาที่ไคโร อาจจะได้ดูปิรามิดก็จริง แต่นั่นยังไม่ถึงแก่น ถ้าจะให้ดีต้องไปถึงลักซอร์ อาณาจักรธีบส์ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของอิยิปต์อีกแห่ง ที่นี่ต่างหากคือแก่นแท้แห่งอิยิปต์โบราณที่เหลือตกทอดให้ได้เห็นถึงอารยธรรมในยุคโน้น...



ความที่อิยิปต์ มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันๆ ปี จึงถูกปกครองโดยฟาโรห์หลายราชวงศ์ ต่อเนื่องด้วยผู้รุกรานจากโรมัน เปอร์เชีย อาหรับ สิ่งก่อสร้างต่างๆ ในไคโร จึงผสมผสานไว้ด้วยสถาปัตยกรรมและสิ่งปลูกสร้างหลากหลายรูปแบบ ทั้งอิยิปต์โบราณ จักรวรรดิ์โรมัน สุเหร่า รวมไปจนถึงอาคารสมัยใหม่ แต่สำหรับที่ลักซอร์ ที่นี่ คือธีบส์ อดีตเมืองหลวงในยุคอาณาจักรใหม่ที่ยิ่งใหญ่ ที่ซึ่งคงไว้ด้วยโบราณสถาน มหาวิหารและเรื่องราวในประวัติศาสตร์ยาวนานที่น่าสนใจ

เราใช้เวลาเมื่อวานทั้งวันในการเที่ยวธีบส์ฝั่งตะวันตก หรือดินแดนแห่งคนตาย วันนี้ ถึงเวลาเที่ยวฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นเมืองของคนเป็นบ้าง เริ่มต้นจากมหาวิหารที่อลังการและยิ่งใหญ่จนได้ชื่อว่าเป็น “Complex Temple” ก่อน



มหาวิหารคาร์นัก เป็นวิหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและสวยงามที่สุดในอิยิปต์ ประกอบด้วยวิหารและอาคารต่างๆ มากมาย เริ่มต้นสร้างขึ้นสมัยราชวงศ์ที่ 12 เพื่อบูชาต่อเทพเจ้าอามุน-รา และได้รับการก่อสร้างต่อเติมจากฟาโรห์หลายยุคหลายสมัยต่อเนื่องกันมากว่า 2,000 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยราชวงศ์ที่ 18-20 ที่มีการก่อสร้างและบูรณะมหาวิหารนี้อย่างยิ่งใหญ่ มหาวิหารคาร์นัคนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนที่สำคัญและใหญ่ที่สุดคือ วิหารของเทพอามุน-รา ซึ่งอยู่ตรงกลาง ส่วนที่ 2 คือ วิหารเทพมอนตูอยู่ทางทิศเหนือ ส่วนที่สาม คือวิหารของเทพีมัต



เราซื้อตั๋วเดินผ่านเข้ามา แล้วก็ได้พบกับรูปปั้นสฟิงค์หัวแกะนั่งหมอบเรียงแถวสองฝั่งทางเข้ามหาวิหาร เหมือนเป็นพนักงานต้อนรับอยู่ด้านนอก สฟิงค์หัวแกะนี้ถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของเทพอามุน- รา และเมื่อเดินผ่านเข้าไปยังวิหาร สิ่งที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ฉันเมื่อได้เห็น ก็คือเสากลมที่สูงใหญ่ เรียงรายเป็นแถวขนาบทางเดินตรงกลาง ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าสถาปนิกและนักบวชในยุคนั้น คงต้องการให้ผู้มาเยือน รู้สึกและสำนึกตัวเองว่าเป็นเพียงเศษเสี้ยวอนูชิ้นเล็กๆ ชิ้นหนึ่งเท่านั้นในสายตาเทพเจ้า ก่อให้เกิดความรู้สึกยำเกรงและรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของเทพเจ้าในทันทีที่ก้าวล่วงเข้ามาในมหาวิหาร



นอกจากความใหญ่โตมโหราฬของเสาแต่ละต้นแล้ว บนเสาเหล่านั้นยังแฝงความอ่อนช้อยไว้ด้วยลวดลายและรูปภาพต่างๆ บนเสาแทบทุกตารางนิ้ว แม้แต่คานที่รองรับโครงสร้างหลังคาก็ยังมีรูปแกะสลักที่มีสีสันอยู่อย่างเกือบสมบูรณ์ ทั้งรูปภาพคน สัตว์ สิ่งของ ไปจนถึงตัวอักษรฮีโรกราฟิคที่เป็นอักษรภาพ เห็นแบบนี้ฉันเลยฟันธงเลยว่า อิยิปต์โบราณนี่แหละคือต้นตำรับของคำว่า “กราฟิค” อย่างแท้จริง เพราะตัวอักษรฮีโรกราฟิค ไม่เพียงเป็นการนำสัญลักษณ์ของสิ่งต่างๆ มาใช้แทนตัวหนังสือหรือเรื่องราวที่ต้องการจะสื่อ ได้โดยตรงเท่านั้น แต่ยังสามารถคลี่คลายเส้นสายของรูปสัญลักษณ์ให้ดูเรียบง่ายและมีความงดงามอยู่ในตัว เช่นเดียวกับภาพเขียนหรือภาพแกะสลักแบบนูนต่ำ ที่สร้างความลงตัวของภาพสองมิติจากด้านข้างได้อย่างหลากหลาย



เดินเข้าไปข้างในมหาวิหาร ผ่านเสาสูงที่เรียงรายอยู่สองข้าง มีรูปสลักฟาโรห์และเสาโอเบลิกส์ของพระนางฮัตเซปซัท ตั้งตระหง่านอยู่ภายในลานกว้าง และมีทางเดินผ่านไฮโปสไตล์ฮอลล์ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มเสาขนาดใหญ่ที่ประดับหัวเสาด้วยลายดอกปาปิรัส จำนวน 137 ต้น ครอบคลุมพื้นที่กว่า 6,000 ตารางเมตร เห็นแล้วก็ได้แต่ทึ่งในความมานะอุตสาหะของคนอิยิปต์ยุคนั้นในการสร้างสิ่งต่างๆ ที่ใหญ่โตเพื่อเป็นการบูชาต่อเทพเจ้าที่ตนให้ความเคารพ



เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต ความงดงามและยิ่งใหญ่ของมหาวิหารแห่งนี้เกิดจากทรัพย์สินและแรงงานมหาศาลที่ทุ่มเทให้กับ “ความเชื่อ” และ “ศรัทธา” ที่มีต่อเทพเจ้า แต่เมื่ออำนาจถูกเปลี่ยนมือ ศรัทธาสูญสิ้น ทุกสิ่งก็กลับกลายเป็นความเสื่อม มหาวิหารคาร์นักถูกลดความสำคัญลงเมื่อมีการย้ายเมืองหลวง และฟาโรห์องค์ใหม่เปลี่ยนไปนับถือเทพเจ้าองค์อื่นแทน และท้ายที่สุดเมื่อชาวเปอร์เชียเข้ามาปล้นเมืองในศตวรรษที่ 6 มหาวิหารแห่งนี้ก็ถูกบุกรุกทำลาย สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก



อย่างไรก็ตาม ความยิ่งใหญ่ของศิลปะ และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ยังคงเหลือตกทอดมาจนถึงยุคปัจจุบันให้เราได้เห็นไม่ใช่น้อย มีรูปแกะสลักของฟาโรห์แต่ละองค์เรียงราย และที่นักท่องเที่ยวชอบแวะไปดูก็คือรูปแกะสลักของแมลงสการ์รับ แมลงที่มีชื่อเสียงโด่งดังไม่แพ้มัมมี่ เมื่อมันได้รับบทบาทเป็นตัวประกอบในภาพยนตร์เรื่อง The Mummy พวกมันวิ่งซอกซอนลงไปใต้ผิวหนังของคนงานขุดหาสมบัติ แล้วยกมาเป็นกองทัพในท้ายเรื่อง แต่จริงๆ แล้วแมลงสการ์รับไม่ได้มีนัยยะทางลบอย่างในหนัง สการ์รับถือเป็นแมลงนำโชคของชาวอิยิปต์ แม้แต่ในคาร์ทูช ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์ของตุตันคาเมน ฟาโรห์ผู้โด่งดัง ก็มีอักษรฮีโรกราฟิครูปแมลงสการ์รับนี้แหละบ่งบอกถึงพระนามของพระองค์ด้วย



เราใช้เวลาอยู่ที่วิหารนี้นานมาก ก่อนจะกลับไปพักที่โรงแรม และตั้งใจจะออกมาเยือนวิหารอีกแห่งซึ่งอยู่ในตัวเมืองและมีขนาดเล็กกว่ามหาวิหารคาร์นัคในตอนเย็น เป็นการเลี่ยงหลบอากาศร้อนไปในตัว และพอแดดร่มลมตก เราก็ออกจากโรงแรมมุ่งหน้าไปยังวิหารลักซอร์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงแรมที่เราพักมากนัก



วิหารลักซอร์แห่งนี้ เดิมสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่สักการะเทพสามองค์แห่งเมืองธิบส์ โดยฟาโรห์เมโนฟิสที่3 พร้อมกับการบูรณะต่อเติมวิหารคาร์นัก วิหารแห่งนี้ได้รับการบูรณะจากฟาโรห์ต่อๆ มาอีกหลายพระองค์ โดยเฉพาะในยุคของฟาโรห์รามเสสที่ 2 วิหารแห่งนี้เปรียบเหมือนบ้านหลังที่สองของเทพอามุนราและครอบครัว คือเทวีมัตและเทพคอนหรือคอนชู ดูเหมือนมนุษย์ยังไงก็ไม่รู้ ชอบมีหลายบ้านเหมือนกันเลย ไม่รู้ใครเลียนแบบใคร แต่ดูเหมือนมนุษย์จะสร้างถวายเป็นการเอาอกเอาใจเทพเจ้ามากกว่า เทพเจ้าคงไม่ร้องขอหรอกนะ



บริเวณวิหารแห่งนี้มีสิ่งแปลกให้เราได้เห็น คือมีสุเหร่าสร้างขึ้นแทรกอยู่กลางวิหาร บนรากฐานของโบราณสถานที่มีอายุนับพันปี มาอ่านพบทีหลังว่า ตอนที่สร้างสุเหร่านี้ก็เป็นยุคสมัยที่อิยิปต์หันมานับถือศาสนาอิสลามแล้ว และวิหารลักซอร์ก็ถูกทรายกลบฝังอยู่ใต้ดิน ตอนที่สร้างสุเหร่าจึงใช้อิฐเก่าๆ และซากปรักหักพังเป็นรากฐาน ต่อมาเมื่อมีการขุดค้น จึงทราบภายหลังว่าใต้ที่นี่คือวิหารลักซอร์ที่มีความสำคัญ แต่เรื่องของศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และในเมื่อชาวอิยิปต์ทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลามอยู่แล้ว จึงปล่อยให้คงไว้เช่นนั้น ไม่มีใครบังคับให้รื้อถอน



เรามาเยือนวิหารแห่งนี้สองครั้งทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งตอนกลางคืนจะงดงามด้วยเทคนิคการจัดไฟ ที่ส่องสูงไล่ขึ้นไปตามเสาแต่ละต้น ลวดลายบนเสาที่เห็นยามกลางวันอาจดูทรุดโทรมกว่าวิหารคาร์นัค แต่เมื่อถูกส่องด้วยแสงไฟ ภาพแกะสลักเหล่านั้นกลับมีมิติที่หลากหลายด้วยแสงเงา ดูมีชีวิตชีวางดงามไปอีกแบบ



พรุ่งนี้เราจะบินกลับไคโร แวะช๊อปปิ้งที่ตลาดแกรนด์บาซาร์ ของที่ระลึกนอกจากภาพเขียนบนปาปิรัสแล้ว ก็มีพวกเครื่องนอนเช่นผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนซึ่งทอจากฝ้ายอิยิปต์ซึ่งมีความนุ่ม แต่ราคาแพงมาก นอกจากนั้นก็เป็นพวกเครื่องหอม แนะนำให้ซื้อขวดใส่น้ำหอมที่ทำจากแก้วเป่ารูปทรงแปลกๆ ที่ดูบางเบาแต่ต้องต่อราคาหนักๆ และถ้าจะมาอิยิปต์คงต้องทำใจอย่างหนึ่ง กับพวกช่างขอที่ไม่ใช่ขอทานนะ แต่จะเป็นพวกที่คอยดักอยู่ตามห้องน้ำสาธารณะ ไม่เว้นแม้แต่ห้องน้ำในสนามบินนานาชาติ ที่คอยเก็บสตางค์ค่าเข้า เด็กๆ ตามสถานที่ท่องเที่ยวก็จะชี้ชวนให้ถ่ายรูปตัวเองพร้อมกับแบมือขอเงิน กระทั่งผู้ใหญ่ที่เฝ้าอยู่ตามโบราณสถาน ก็จะคอยเรียกนักท่องเที่ยวให้ไปดูมุมโน้นมุมนี้เป็นพิเศษแล้วขอเงินเอาดื้อๆ เป็นค่าชี้ชวนของแก ต้องทนๆ เอาหน่อย

.....ทริปนี้พอแค่นี้ อิยิปต์เนี่ยประเทศเดียวเขียนไปได้ตั้งหลายตอน เอาไว้ไปประเทศอื่นต่อดีกว่า......ขอบ๊าย..บาย..ไปก่อนนะท่านฟาโรห์ทั้งหลาย...




 

Create Date : 14 กรกฎาคม 2553   
Last Update : 14 กรกฎาคม 2553 9:51:39 น.   
Counter : 2755 Pageviews.  

ฮัตเซปซัท หุบผากษัตริย์และสุสานใต้ดิน

…..ความยิ่งใหญ่ของผู้ปกครองประเทศในอดีต ขึ้นอยู่กับผู้ชายเป็นสำคัญ ส่วนผู้หญิงน่ะหรือ แทบไม่มีสิทธิมีเสียง แต่ใช่ว่าผู้หญิงจะไม่มีบทบาทเลยก็หาไม่ ประวัติศาสตร์หลายต่อหลายแห่งในโลกนี้ บันทึกเรื่องราวความสามารถของผู้หญิงเรา ที่ยืนหยัดขึ้นมากุมอำนาจเหนือบัลลังก์ ในจีนก็มีซูสิไทเฮาเป็นตัวอย่าง แล้วในอิยิปต์บ้างล่ะ ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นหลายพันปี “ฮัทเซปซัท” ชื่อของราชินีที่ได้รับการยกย่องประดุจฟาโรห์หญิงหนึ่งเดียวได้ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ไว้แล้ว...



เราสองคนลากกระเป๋ามายังรถบัสที่จะเข้าร่วมในคาราวานเดินทางข้ามทะเลทรายแต่เช้า ขบวนคาราวานนี้จะเดินทางจากอัสวานมุ่งหน้าไปยังลักซอร์ รถของนักท่องเที่ยวทั้งอิสระและกรุ๊ปทัวร์จะต้องออกเดินทางพร้อมกันเป็นขบวนยาวโดยมีตำรวจคุ้มกัน เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากหลายปีก่อนโน้น มีการสังหารนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่โดยมุสลิมหัวรุนแรงสร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก ทำให้รัฐบาลอิยิปต์ต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองนักท่องเที่ยว

ฉันใช้เวลาบนรถที่แล่นผ่านทะเลทรายเวิ้งว้างไปกับการนอน ชดเชยที่วันก่อนต้องออกจากไคโรแวะอาบูซิมเบลมายังอัสวานตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง พอพ้นเขตทะเลทรายเข้าสู่เขตเมือง ขบวนรถก็แตกกระจาย แยกย้ายไปตามเส้นทางของแต่ละคัน เรามีโปรแกรมของเราอยู่แล้ว สถานที่ที่เราแวะก็คือวิหารแห่งหนึ่งก่อนที่จะเข้าเมืองลักซอร์



“คอมออมโบ” เป็นวิหารแฝด ที่เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ในยุคอาณาจักรใหม่ แต่มาเสร็จในยุคปโตเลมี วิหารแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่เทพจรเข้โซเบค และเทพเหยี่ยวฮอรัส ตั้งอยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำไนล์ เราไปถึงพร้อมๆ กับนักท่องเที่ยวชาวยุโรปกลุ่มใหญ่ที่เดินขึ้นมาจากเรือโรงแรมที่จอดเทียบท่า วิหารแฝดแห่งนี้มีความสมมาตรและค่อนข้างสมบูรณ์ ลวดลายแกะสลักต่างๆ ยังคมชัด ดูวิจิตรงดงาม แต่เท่าที่อ่านข้อมูลจากหนังสือ วิหารแห่งนี้ดูจะมีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์มากกว่าศาสนา



แสงกำลังสวยเมื่อเราลงมือถ่ายรูป ฉันได้โอกาสแอ๊กชั่นยืดเส้นยืดสายจากการนั่งบนรถยาวนาน ค่อยยังชั่วหน่อย เราใช้เวลาที่นี่อย่างไม่เร่งรีบ ถ่ายรูปเสร็จก็มุดเข้าไปดูมัมมี่จรเข้ในวิหารหลังเล็ก แล้วเดินทางต่อโดยมีจุดหมายอยู่ที่วิหารอีกแห่งที่เราจะแวะไปดูก่อนเข้าไปค้างคืนในเมืองลักซอร์คืนนี้



วิหารฮอรัส เป็นวิหารอีกแห่งซึ่งสร้างโดยราชวงศ์ปโตเลมี อยู่ที่เมืองเอ็ดฟูซึ่งห่างจากลักซอร์ไม่ไกล วิหารแห่งนี้มีขนาดใหญ่และคงสภาพสมบูรณ์ อาจเป็นเพราะสร้างในยุคหลังเช่นกัน ผนังวิหารมีขนาดสูงใหญ่มาก มีรูปปั้นของเทพฮอรัสซึ่งเป็นเทพเหยี่ยวอยู่ด้านใน เราเดินเล่นถ่ายรูปแบบสบายๆ ไม่รีบร้อนเพราะเป็นที่สุดท้ายของวันนี้ และเดินทางต่อไปถึงลักซอร์ตอนฟ้าเริ่มมืดพอดี เข้าที่พักเก็บของก็ออกไปหาอะไรทาน จากนั้นลองเปลี่ยนบรรยากาศด้วยการนั่งรถม้ากลับโรงแรมริมน้ำไนล์ยามค่ำ ก่อนจะหลับสบายด้วยความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางอีกวัน

....รุ่งขึ้นหลังอาหารเช้า เราก็มุ่งหน้าไปยังหุบผากษัตริย์ ซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของเมืองลักซอร์ คนอิยิปต์ในสมัยโบราณเชื่อกันว่า ทิศตะวันออกซึ่งเป็นทิศที่พระอาทิตย์ขึ้นคือชีวิต และทิศตะวันตกซึ่งดวงอาทิตย์ลับโลกคือทิศแห่งความตาย จึงมีการสร้างเมืองธีบส์ไว้ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไนล์เพื่อเป็นที่อยู่ และสร้างสุสานไว้ทางฝั่งตะวันตก โดยมีคำกล่าวว่า ธีบส์ฝั่งตะวันออกเป็นที่อยู่ของคนเป็น ส่วนธีบส์ฝั่งตะวันตกเป็นที่อยู่ของคนตาย



จากความเชื่อในการกลับคืนมามีชีวิตอีกครั้ง การทำมัมมี่และการสร้างสุสานสำหรับผู้ตายจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ฟาโรห์อิยิปต์แต่ละพระองค์จึงทุ่มเทพระราชทรัพย์และแรงงานเพื่อสร้างสุสานเตรียมไว้ตั้งแต่ยังมีพระชนม์อยู่ แต่ผลจากการลอบขุดเจาะปิรามิดเข้าไปขโมยทรัพย์สินและรบกวนการนิทราของเหล่าบูรพกษัตริย์ในยุคโบราณ สุสานลับแห่งฟาโรห์จึงเป็นทางออกที่มาแทนที่ปิรามิด ดังนั้น เมื่อมีการย้ายเมืองหลวงจากเมมฟิสมายังธีบส์ ฝั่งตะวันตกของนครธีบส์โบราณแห่งนี้ จึงกลายเป็นที่พำนักแห่งใหม่ของร่างที่รอการกลับคืนของเหล่าฟาโรห์ทั้งหลาย ภายใต้ชื่อ “นครแห่งความตาย” (Death Valley) ซึ่งประกอบด้วยหุบผากษัตริย์และหุบผาราชินี ที่ออกแบบไว้อย่างลึกลับซับซ้อน เพื่อหลีกเลี่ยงบรรดาหัวขโมยที่มาลักลอบขุดเจาะสมบัติ ตำนานแห่งคำสาปสำหรับผู้บุกรุกและความลี้ลับ จึงกลายเป็นเรื่องให้เล่าขานได้ไม่จบสิ้น



รถจอดส่งเราค่อนข้างไกล บริเวณที่จอดรถนี้นี้มีห้องน้ำอยู่ด้วย จะไม่มีห้องน้ำด้านในเลย เนื่องจากกลัวความชื้นจะไปทำลายภาพเขียนในสุสานใต้ดิน เราเดินตากแดดยามเช้าซึ่งเริ่มร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ แวะซื้อตั๋วก่อนเข้าไปข้างใน ตั๋วหนึ่งใบอนุญาตให้เข้าชมหลุมพระศพได้สามหลุมตามแต่จะเลือก ยกเว้นหลุมพระศพของตุตันคาเมนซึ่งต้องซื้อตั๋วราคาแพงแยกต่างหาก

“คุณไม่ต้องซื้อตั๋วของตุตันคาเมนหรอกนะ” ไกด์ท้องถิ่นเดินมากระซิบบอก

“ทำไมล่ะ” ฉันถามไปงั้น รู้อยู่แล้วว่าทำไม

“ของในสุสานอยู่ในพิพิธภัณฑ์หมดแล้ว ไม่ค่อยมีอะไรให้ดูหรอก”

ใช่..ฉันก็อ่านเจอในหนังสือมาเหมือนกัน เราสองคนอมยิ้ม

“คุณสองคนตามสบายนะ...ผมรอที่นี่ ขี้เกียจลงไป”

เขาโบกมือให้แล้วหันไปคุยกับไกด์คนอื่นๆ ต่อ เราไม่รอช้า กางแผนที่ดูว่าหลุมไหนเป็นของฟาโรห์องค์ไหน และหลุมแรกที่เราเลือกคือ หลุมพระศพของฟาโรห์เซติ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นหลุมพระศพที่งดงามที่สุดในหุบผากษัตริย์แห่งนี้ อุโมงค์ทางเข้าค่อนข้างยาว มีตัวอักษรฮีโลกราฟิค และภาพเขียนสีต่างๆ จารึกคัมภีร์มรณะสำหรับผู้ตายนำไปปฏิบัติในโลกหน้า




อีกสองหลุมก็มีความงดงามแตกต่างกันออกไป แถมยังประดับประดาไปด้วยภาพเขียนที่มีอยู่ทั่วผนังและเพดานประหนึ่งแฮนด์เมดวอลล์เปเปอร์ อากาศภายในสุสานเย็นสบายเมื่อเทียบกับเปลวแดดอันร้อนระอุภายนอก น่าจะเป็นสาเหตุให้ช่างศิลป์ทั้งหลายในยุคนั้นสามารถใช้เวลาทั้งวันสร้างภาพและตัวอักษรอันวิจิตรได้อย่างเต็มที่ น่าทึ่งที่สีสันอันเกิดจากการใช้หินสีนำมาบดและแต้มแต่ง ยังคงความงามอยู่ได้แม้เวลาผ่านไปนับพันๆ ปี

เราเดินกลับขึ้นมาข้างบนอย่างอาลัยอาวรณ์ มีอีกหลายหลุมที่อยากดู ไกด์ท้องถิ่นเห็นฉันสนใจหลุมศพต่างๆ เป็นพิเศษก็เลยอดแซวไม่ได้

“ ฮ่าๆ ท่าทางคุณจะชอบอยู่ในหลุมศพใต้ดิน มากกว่าบนดินนะ”

“ ใช่สิ บนนี้ร้อนจะตายไป ข้างในหลุมสบายกว่าเยอะ” ฉันตอบ

“ จุ๊..จุ๊...คุณเป็นผู้หญิงที่แปลกมาก....” เขาส่ายหน้าก่อนพูดต่อ

“ผมเห็นแต่นักท่องเที่ยวผู้หญิงแถบเอเชียส่วนใหญ่กลัวๆ กันทั้งนั้น ไม่เหมือนคุณเลย เอ้านี่ ผมให้… ใช้เวลาเลือกดูตามสบาย ชอบหลุมไหนเป็นพิเศษบอกได้นะ ฮ่าๆ”

เขายื่นตั๋วในมือให้ฉันอีก เพราะมีสาวๆ สองคนที่มาในรถคันเดียวกับเราเลือกที่จะดูแค่หลุมเดียว ไม่ลงไปดูหลุมศพอื่นๆ จากสามหลุมที่ตั๋วกำหนด จึงมีตั๋วที่ไม่ได้ใช้เหลืออยู่ ที่นี่ใช้ตั๋วใบเดียวแต่ใช้วิธีฉีกมุมสามมุมต่อสามหลุม ฉันรับมาด้วยอาการดีใจจนออกนอกหน้า ฝรั่งกลุ่มหนึ่งที่มารถคันเดียวกันยังคงอยู่ในหลุมไหนก็ไม่รู้ เวลายังมีเหลือให้มุดกลับลงไปดูได้สบาย

“ เฮ้...คุณดูได้แต่อยู่ไม่ได้นะ สุสานที่นี่เฉพาะผู้ชาย ถ้าคุณอยากอยู่ ผมจะพาไปหุบเขาราชีนี ฮ่าๆ..”





.....ยังมีหน้ามากวนโอ๊ย...มีตั๋วเพิ่มแล้ว ไปดีกว่าขี้เกียจต่อปากต่อคำ..ว่าแล้วเราสองคนก็ลงไปสำรวจหลุมอื่นๆ ต่อ ถึงจะถ่ายรูปไม่ได้ แต่การได้ลงมาเห็นลวดลายการเขียนสีที่งดงามแตกต่างกันไปในแต่ละหลุมก็ให้รู้สึกทึ่งและชื่นชมฝีมือช่างในยุคนั้น อีกทั้งอากาศที่ร้อนและแห้งในทะเลทราย ทำให้ไม่มีความชื้นมาทำลายสีสัน ภาพเขียนสีส่วนใหญ่จึงยังคงสภาพไว้ได้

เราใช้เวลาดื่มด่ำอยู่ในสุสานแต่ละแห่งเต็มที่ยาวนานเท่าที่เวลาจะอำนวย ในขณะร่างที่หลับไหลของฟาโรห์ผู้เป็นเจ้าของสุสานกลับไปสถิตย์อยู่ในพิพิธภัณฑ์ แต่เสียดายที่ไม่มีโอกาสไปที่หุบผาราชินี ซึ่งว่ากันว่ามีความงดงามและอ่อนช้อยในแบบผู้หญิง เลยไม่มีโอกาสเปรียบเทียบว่าจะแตกต่างกับห้องบรรทมราชินีในพระราชวังต่างๆ ที่เคยเห็นแค่ไหน...อิ..อิ..




กลับขึ้นมาสู่บนพื้นดิน เราก็เดินทางต่อไปยังวิหารที่งดงามของ “ ฮัตเซปซัท” ฟาโรห์หญิงหนึ่งเดียวของอิยิปต์ซึ่งอยู่ไม่ไกล วิหารแห่งนี้มีขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในวงล้อมของหุบเขา เดล อัล บาริห์ ภาพที่เห็นจึงดูยิ่งใหญ่ตระการตา ตัววิหารถูกสร้างเป็นชั้นๆ ลดหลั่นลงมาเป็นสามระดับ มีเสาหินเรียงรายคล้ายระเบียง ดูทันสมัยแปลกตาเมื่อเทียบกับวิหารอื่นๆ ภายในมีภาพนูนต่ำและภาพวาด กล่าวกันว่า “เซนมุต” สถาปนิกซึ่งเป็นนักบวชเป็นผู้ออกแบบก่อสร้างวิหารนี้ ซึ่งถึงแม้ว่าจะถูกทำลายลงด้วยฝีมือของฟาโรห์ทุสโมสที่สาม ซึ่งขึ้นเป็นฟาโรห์องค์ต่อมาที่ต้องการลบพระนามของฮัตเซปซัทในฐานะที่เป็นหญิงออกไป แต่ก็ไม่สามารถทำลายหรือลบทิ้งได้หมด



อิยิปต์ในสมัยของพระราชินีฮัตเซปซัท หรือฟาโรห์หญิงนั้น เจริญรุ่งเรืองอย่างมากตลอด 15 ปี ในยุคที่พระนางทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ และเพราะพระนางเป็นผู้หญิง ทำให้ฟาโรห์องค์ต่อไปเกิดความอิจฉาริษยาและยอมรับไม่ได้ จึงหาทางที่จะลบชื่อพระนางออกจากประวัติศาสตร์ แต่ไม่สำเร็จ โลกจึงรับรู้การมีชื่อของฟาโรห์ฮัทเซปซัท ซึ่งถึงแม้จะไม่โด่งดังในเรื่องความงามเท่ากับพระนางคลีโอพัตรา แต่ยิ่งใหญ่กว่าในแง่ของการปกครองและสิ่งที่พระนางได้สร้างเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นวิหารแห่งนี้ เสาหินโอเบลิกส์และการต่อเติมมหาวิหารคานัค มีภาพแกะสลักจารึกวีรกรรมและเรื่องราวของพระนางไว้บนกำแพงด้านหลังเสาของวิหาร



ที่นี่ค่อนข้างร้อน มีนักท่องเที่ยวเยอะและมีกลุ่มเด็กนักเรียนวัยรุ่นกลุ่มใหญ่มาทัศนศึกษาด้วย และอย่างไม่ทันตั้งตัว เด็กนักเรียนหญิงสี่ห้าคนที่มีผ้าคลุมศีรษะก็เดินเข้ามาหาฉัน พวกเธอใช้ภาษาอังกฤษได้ดีพอควร ขออนุญาตถ่ายภาพฉันกับพวกเธอด้วยกัน พอฉันตอบตกลง พวกเธอก็วี๊ดว้ายเข้ามารุมล้อม โดยมีเด็กสาวในกลุ่มช่วยกันสลับเป็นตากล้อง ระหว่างถ่ายก็มีเด็กสาวๆ กลุ่มอื่นมายืนดูด้วย พอกลุ่มนี้ถ่ายเสร็จ กลุ่มอื่นที่มายืนดูก็ขอมาถ่ายด้วยต่อ

...เอ๋....นี่เห็นฉันเป็นนางแบบหรือไง....แน๊...

ไปๆ มาๆ คราวนี้มีเด็กหนุ่มๆ ซึ่งดูจะมาจากโรงเรียนเดียวกันมาขอถ่ายรูปบ้าง ชุลมุนวุ่นวายจนนักท่องเที่ยวอื่นๆ หันมาดูฉันแทน...เขินนะเนี่ย...ฉันไม่ใช่ดารานางแบบนะ แค่ “เคย” ถ่ายภาพนิ่งโฆษณาให้กับสินค้าชิ้นเดียวเอง แล้วสงสัยสินค้านั้นคงขายไม่ดีเขาเลยเลิกจ้าง ฉันไม่เคยถ่ายกับหนุ่มๆ เป็นสิบที่มารุมล้อมแบบนี้ สุดท้ายคุณครูต้องมาช่วยต้อนเด็กๆ กลับไป ฉันถึงได้เดินเที่ยวต่อ แต่คราวนี้เดินไปไหนก็มีแต่คนยิ้มให้ แถมยังมาถามอีกว่า “ Are you super star?” คงนึกว่าฉันเป็นดารามาจากแถบเอเชียอาคเนย์ ชายหนุ่มที่มาด้วยแวบหนีไปหัวเราะอยู่แถวรูปปั้นราชินีฮัตเซปซัท เฮ้อ...อีตานี่ เอาตัวรอดอีกแล้ว



จริงๆ แล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหรอก เด็กวัยรุ่นที่นี่นิยมถ่ายรูปกับคนต่างชาติ เพราะตอนที่อยู่ไคโรก็เห็นเด็กๆ นักเรียนขอถ่ายรูปกับฝรั่งตัวโต คงจะเอาไว้อวดเพื่อนๆ นะแหละ ว่าได้คุยได้พูดกับคนต่างชาติด้วย
เป็นอันว่ากว่าจะได้เดินสบายๆ ก็เสียเวลาไปพอดู

เราใช้เวลาที่นี่ครู่ใหญ่ก่อนเดินทางกลับไปยังลักซอร์ คงต้องเอาไว้ต่อตอนหน้าแล้วกัน วันนี้ขอไปโพสท์ท่าสวยๆ ฟื้นความทรงจำก่อน แล้วค่อยมาต่อ.......

....หนึ่ง...สอง...โพสท์..... “แชะ” ...อ้าว..เมโม่รี่เต็ม!




 

Create Date : 06 กรกฎาคม 2553   
Last Update : 6 กรกฎาคม 2553 15:45:21 น.   
Counter : 1082 Pageviews.  

อัสวาน....บันทึกรักบนลำน้ำไนล์

..ฉันมีนัด (date) ตั้งใจจะไปนั่งกินอินทผาลัม(date) บนเรือใบฟาลูก้าในลำน้ำไนล์ ( on the Niles) กับชายหนุ่มเย็นนี้ (... Date on the Niles...) ก็เลยมาเดินหาซื้ออินทผาลัมที่ "ซุก" หรือตลาดริมน้ำไนล์ใจกลางเมืองอัสวาน ไม่ได้ตั้งใจจะล้อเลียน “Death on the Niles” ของคุณทวด Agatha Christie หรอกนะ มาถึงอัสวานแล้ว ใครจะพลาดล่องแม่น้ำไนล์ได้ล่ะ แต่พอสาวเท้าก้าวเข้าไปในตลาดไม่เท่าไหร่ก็ได้เรื่อง...



“..ฮัลโหล..หนีห่าว..คอนนิจิวะ...”

เสียงทักทายแบบเดาสุ่ม ดังขึ้นจากหนุ่มๆ สามคน ที่ยืนอยู่หน้าร้านขายของที่ระลึกหลังแผงขายผลไม้ ตั้งแต่ฉันยังเดินไปไม่ถึง จากนั้นก็มีประโยคคำถามตามมาติดๆ

“มิส.. แวร์ อาร์ ยู ฟอร์ม..”...ฉันเฉยๆ ไม่ตอบ

“แจแป้น”......คนหนึ่งถามมา ฉันส่ายหน้า

“ ไชน่า”.......อีกหนุ่มถามต่อ...ฉันอมยิ้มส่ายหัวอีก

“ มาเลเชี้ย...ไทวาน...”

คนที่สามเอาบ้าง มาทีเดียวสองประเทศ...ฉันส่ายหัวด๊อกแด๊ก

“ พิลิปปินส์..สิงคโป๊ร์...โคเรี๊ย..”

คราวนี้ทั้งสามคนผลัดกันพูด ฉันทำหน้าเบ้เดินต่อไปเรื่อยๆ พอเห็นฉันกำลังจะเดินผ่านไป หนึ่งหนุ่มในนั้นก็ก้าวออกมาดัก พร้อมตั้งคำถามอย่างสุภาพ

“ไม่เอาน่า.. มีส..พวกเราแค่อยากรู้ว่ายูมาจากไหน”

“ทำไมเหรอ อยากรู้ไปทำไม”

ฉันถามกลับ หนุ่มที่เดินมาชะงัก ยิ้มเจ้าเล่ห์ ถามคำถามที่เรียกเสียงหัวเราะจากสองคนที่ยืนอยู่

“ก็ยูสวยนี่..มีส…เราเลยอยากรู้ว่ายูมาจากที่ไหน แล้วประเทศยูมีคนสวยอย่างยูทั้งหมดเลยหรือเปล่า”

โอ๊ย…อยากจะอ้วก !...ฉันนึกในใจ...ก็ได้...เล่นกับพวกนี้ซะหน่อย..

“มอญ...ไอ แอม.. มอญ...รู้จักไหม...”

ฉันยิ้มหวานตอบ เจ้าหนุ่มนั่นทำหน้าตาเลิกลั่ก..คงจะงงว่าประเทศนี้อยู่ที่ไหน คราวนี้สองคนที่เหลือหัวเราะลั่น เมื่อเพื่อนผู้กล้าเดินมึนๆ กลับไป




นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฉันโดนทักแบบนี้ แขกนี่เหมือนกันหมดทุกประเทศ ปากหวาน กรุ้มกริ่ม..เมื่อวันก่อนยังจำได้แม่น ตอนที่จะซื้อปิรามิดจำลองอันเล็กเป็นของฝากที่ร้านแห่งหนึ่งในไคโร

“ราคาแพงจัง ลดลงหน่อยนะ”

ฉันบอกเด็กหนุ่มคนขาย เขาหยิบเครื่องคิดเลขมาจิ้ม ก่อนยื่นให้ฉันดูตัวเลขที่เครื่อง ดูเหมือนว่าภาษาอังกฤษของเขาจะไม่ค่อยแข็งแรงสักเท่าไหร่ ฉันมองดูตัวเลขแล้วลบทิ้ง จิ้มตัวเลขที่ต้องการไปให้ เขามองดูแล้วหันไปยื่นให้ชายหนุ่มอีกคนที่ยืนอยู่ใกล้ๆ ท่าทางจะเป็นเจ้าของร้าน หนุ่มใหญ่คิ้วเข้มขนตายาว หยิบเครื่องคิดเลขมากดตัวเลขใหม่ แล้วเดินมาคุยกับฉันด้วยตัวเอง

“ ลดให้เท่านี้ก็แล้วกันครับ มีส..” เขายิ้ม ส่งเครื่องคิดเลขให้ฉันดูตัวเลขหน้าจอ

“ไม่น่ะ..ยังแพงไป เท่านี้แล้วกัน” ฉันกดตัวเลขใหม่อีกครั้ง เขารับกลับไปดู อมยิ้ม แล้วก็ส่ายหน้า

“ มีส...คุณสวยขนาดนี้ คนสวยอย่างคุณคงไม่ใจร้ายหรอก เอ้า..ผมลดให้เป็นพิเศษเลยสำหรับคุณโดยเฉพาะ”

ว่าแล้วเขาก็จิ้มตัวเลขส่งคืนมาอีกครั้ง ฉันมองหน้าจอแล้วก็ลบทิ้ง จิ้มตัวเลขเดิมที่ต้องการ เขารับกลับไปดูแล้วหัวเราะร่า

“..เอางี้ก็แล้วกัน...มีส...คุณทั้งสวยทั้งต่อเก่งขนาดนี้ มาดูแลร้านนี้เลยดีกว่า คุณมาแต่งงานกับผม แล้วผมจะยกร้านนี้ให้คุณเลย ของทุกชิ้นในร้านนี้จะเป็นของคุณ เอาไปได้เลย”

..โห...เล่นมุกนี้เลยหรือ..ชายหนุ่มที่มาด้วยซึ่งกำลังเดินดูของอยู่ใกล้ๆ กลั้นหัวเราะ ก่อนจะเดินออกจากร้านไปขำกลิ้งอยู่ข้างนอก เฮ้อ...แล้วดูสิ มาเจอแบบนี้ที่อัสวานอีก… ช่างเถอะ เดินหาร้านผลไม้ดีกว่า สุดท้ายฉันก็หาซื้อลูกอินทผาลัมจนได้..

..หลั่น..ล๊า..เย็นนี้..ฉันมีเดทบนแม่น้ำไนล์...



ที่พักของเราอยู่บนเกาะช้าง ( Elephantine Island) ซึ่งอยู่กลางลำน้ำไนล์ ในเมืองอัสวาน ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศที่มีชื่อเสียงของอียิปต์มาตั้งแต่สมัยโบราณ ในอดีตที่นี่เป็นจุดแวะพักของพ่อค้า นักเดินเรือ ชนชั้นสูง กองคาราวานและนักเดินทาง แม่น้ำไนล์ซึ่งไหลผ่านทวีปแอฟริกาจากใต้มาเหนือ มีช่วงสำคัญอยู่ที่อัสวานนี่แหละ เพราะมีเขื่อนใหญ่ที่มีชื่อเดียวกับเมือง และเป็นเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของโลก ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เก็บกักน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงดินแดนทะเลทรายอันแห้งแล้ง ก่อให้เกิดทั้งผลดีและผลเสียควบคู่กันไป



ผลลัพท์จากการก่อสร้างเขื่อนอัสวาน อาจสร้างความชุ่มฉ่ำให้กับทะเลทรายที่แห้งผาก เพิ่มพื้นที่การเกษตรได้มากขึ้นถึง 4 เท่า แต่ขณะเดียวกันก็เกิดผลกระทบต่อโบราณสถานต่างๆ 23 แห่ง ที่จะต้องจมอยู่ใต้น้ำเมื่อเขื่อนแห่งนี้สร้างเสร็จ บรรดานักโบราณคดีทั้งหลายจึงต้องร่วมมือร่วมใจกันเข้าช่วยเหลือเพื่อกู้วิหารและโบราณสถานสำคัญๆ โดยความช่วยเหลือจากองค์การ UNESCO วิหารฟิเลที่เราจะไปเที่ยวชมในวันนี้ ก็เป็นอีกแห่งที่ถูกเคลื่อนย้ายไปประกอบใหม่บนเกาะ พ้นจากระดับน้ำ



วิหารแห่งฟิเล (Philae) เป็นวิหารที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพีไอซิส ผู้ซึ่งเป็นเทพีแห่งความรักและเวทย์มนตร์ สร้างขึ้นในยุคของราชวงศ์ปโตเลมี ซึ่งเป็นยุคหลังๆ ของอาณาจักรอิยิปต์ เราต้องลงเรือเล็กๆ ไปยังเกาะ โดยมีเด็กๆ ตามตื๊อขายของที่ระลึกไปตลอดทาง ตัววิหารยังคงสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ รูปสลักต่างๆ จารึกเกี่ยวกับความรักของเทพีไอซิสที่มีต่อพระสวามี คือ เทพโอซิริส และความรักของแม่ที่พร้อมจะปกป้องลูก คือเทพฮอรัส



ตำนานของเทพีไอซิส เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับกษัตริย์โอซิริส พระสวามีซึ่งถือกำเนิดในฐานะเทพเจ้า แต่เติบโตมาเยี่ยงมนุษย์และเป็นกษัตริย์ซึ่งเป็นที่รักใคร่ของประชาชน แต่ เซธ ซึ่งเป็นพระอนุชาเกิดความริษยา จึงหลอกล่อพระองค์ แล้วจับใส่กำปั่นโยนลงแม่น้ำไนล์ พระนางไอซีสก็ตามหาจนพบและนำไปซ่อน แต่เซธก็ไปพบเข้า และแยกร่างพระองค์ออกเป็น 14 ส่วน นำไปโยนทิ้งทั่วอิยิปต์ พระนางไอซิสก็ได้พากเพียรตามหาชิ้นส่วนทั้งหมดและนำมาประกอบกันโดยใช้ผ้าพันไว้และทำให้พระสวามีกลับฟื้นคืนมา...นั่นเลยกลายมาเป็นต้นแบบมัมมี่..เอ๊ย.. ไม่ใช่.. นั่นก็เลยกลายเป็นความเชื่อของชาวอิยิปต์เกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย ใครอยากรู้เรื่องราวโดยละเอียดคงต้องไปหาอ่านเอาเองแล้วกัน



เราใช้เวลาอยู่ที่วิหารแห่งนี้อย่างไม่รีบร้อน เพราะเราไม่มีความต้องการที่จะไปชมเขื่อนอัสวานซึ่งเป็นต้นเหตุให้วิหารฟิเลแห่งนี้จมลงใต้น้ำ เริ่มจากปี ค.ศ. 1902 วิหารแห่งนี้ต้องพบกับน้ำท่วมเป็นเวลาถึงแปดเดือนในแต่ละปี และเมื่อเขื่อนอัสวานได้รับการต่อเติมและสร้างให้สูงขึ้นอีกในอีกสามสิบปีต่อมา วิหารแห่งนี้ก็เกือบจมอยู่ใต้น้ำ จนนักท่องเที่ยวสามารถพายเรือมาชมลวดลายบนยอดเสาได้ กระทั่งอีก 60 ปีให้หลัง วิหารแห่งฟิเลก็จมอยู่ใต้น้ำอย่างถาวร ยูเนสโกและนานาชาติจึงต้องยื่นมือเข้ามาช่วย โดยการสร้างทำนบล้อมรอบและสูบน้ำออก จากนั้นจึงรื้อวิหารออกเป็นส่วนๆ และนำมาสร้างใหม่บนเกาะอากิลคีย์ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบัน



พอกลับจากไปเที่ยววิหารฟิเล ตอนเย็นฉันกับชายหนุ่มก็ลงเรือฟาลูกา ที่กางใบสีขาว ตัดกับสีเงินยวงของลำน้ำไนล์ แล่นได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องยนต์ ล่องจากโรงแรมที่พักบนเกาะช้าง ไปชมเครื่องมือวัดระดับน้ำในแม่น้ำไนล์ของชาวอียิปต์โบราณ ที่เรียกกันว่า “ไนโลมิเตอร์” (Nilometer) ซึ่งผู้ดูแลเมืองอัสวานในสมัยก่อนโน้นจะมีหน้าที่ในการเฝ้าดูและใช้เครื่องมือนี้ในการคำนวณระดับน้ำจากการขึ้นลงของแม่น้ำไนล์ แล้วส่งข่าวไปยังเมืองหลวง เพื่อให้ฟาโรห์และเหล่าขุนนางทราบถึงสิ่งที่จะเผชิญในการกำหนดช่วงเวลาการเพาะปลูก โดยแบ่งช่วงเวลาเป็น 3 ช่วง ตั้งแต่ฤดูน้ำหลาก ฤดูเพาะปลูก และฤดูเก็บเกี่ยว ก่อให้เกิดปฏิทิน 12 เดือน ที่เราใช้กันมาทุกวันนี้



เราล่องเรือ กินอินทผาลัม ชมสองฝั่งแม่น้ำไนล์ผ่านโรงแรมดังที่เป็นจุดหลักของเรื่อง “Death of the Niles” มีเรือใบฟาลูก้าลำอื่นๆ พานักท่องเที่ยวขึ้นล่องตามลำน้ำ ในขณะที่เรือโรงแรมขนาดใหญ่ที่ขนนักท่องเที่ยวไปตามลำน้ำก็จอดทอดสมออยู่ริมฝั่ง สายลมที่พัดผ่านผิวน้ำทำให้อากาศเย็นสบาย ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมที่นี่คือเมืองตากอากาศท่ามกลางทะเลทรายร้อนระอุ นักท่องเที่ยวจากทางยุโรปจึงเลือกที่จะใช้การเดินทางโดยเรือโรงแรม กินนอนบนเรือที่ขึ้นล่องไปชมวิหารและสถานที่ต่างๆ สองฟากฝั่งแม่น้ำ พอถึงที่เที่ยวก็แวะลง แล้วก็ล่องเรือต่อ ลำน้ำไนล์จึงยังคงมีสีสันและชีวิตชีวาอยู่ตลอด



แสงแดดเริ่มอ่อนลง สีทองของท้องฟ้ากระทบลำน้ำให้บรรยากาศยามเย็นที่งดงามแปลกตา สุดท้าย เรือฟาลูก้าที่เราใช้บริการก็จอดเทียบท่าปลายทาง เราลงจากเรือไปเดินลุยน้ำเล่นๆ ให้เย็นเท้า แล้วไต่ก้อนหินขึ้นไปบนตลิ่งซึ่งมีร้านอาหารเล็กๆ ตั้งอยู่ เชิงเทียนในครอบแก้วบนโต๊ะถูกจุดขึ้น เราสองคนจึงมีโอกาสดื่มด่ำกับอาหารเย็นใต้แสงเทียนโดยมีวิวของแม่น้ำไนล์ที่ค่อยๆ มืดลงทีละนิด เป็นการรูดม่านปิดฉากวันนี้ และเป็นคืนสุดท้ายที่เราจะอยู่ในอัสวาน



......สายลมเย็นจากริมน้ำไนล์ยังคงพัดแผ่วแม้ท้องฟ้ามืด เราสองคนยังคงนั่นอ้อยอิ่งอยู่ในร้าน พรุ่งนี้เรายังต้องเหนื่อยกับการนั่งรถในขบวนคาราวานสำหรับนักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางข้ามทะเลทรายอันร้อนระอุไปยังลักซอร์ วันนี้เลยขอสักวัน....

....ขอโรแมนติกริมน้ำไนล์กลางทะเลทรายสักครั้ง...โอกาสหายากแบบนี้..คงไม่ว่ากันนะ.....




 

Create Date : 30 มิถุนายน 2553   
Last Update : 30 มิถุนายน 2553 12:36:22 น.   
Counter : 888 Pageviews.  

อาบูซิมเบล มหัศจรรย์แห่งฝีมือมนุษย์

……ตื่นตั้งแต่ตีสาม ขึ้นเครื่องบินได้ก็หลับทันที รู้สึกตัวอีกครั้งเมื่อชายหนุ่มที่นั่งข้างๆ เขย่าแขน คนกำลังหลับสบาย มาปลุกทำไมก็ไม่รู้...ฉันเริ่มหงุดหงิด พร้อมจะเปลี่ยนสภาพจากลูกแมวขี้เซาเป็นนางเสือ... แต่เมื่อเขาชี้ให้ดูภาพที่อยู่เบื้องล่างผ่านกระจกหน้าต่างของเครื่องบิน ภาพที่เห็นก็ปลุกประสาทฉันให้ตื่นตัว หายง่วงเป็นปลิดทิ้ง....



เราเดินทางมาเยือนวิหารอาบูซิมเบล สถานที่สำคัญในการมาเยือนอิยิปต์ที่พลาดไม่ได้ ออกเดินทางจากไคโรตั้งแต่เช้ามืด เครื่องบินมาลอยอยู่เหนืออาบูซิมเบลตอนฟ้าสางพอดี บนเครื่องทั้งลำเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวยุโรป บรรดาคนที่นั่งริมหน้าต่างด้านเดียวกับฉันแทบทุกแถวก็ดูจะพร้อมใจกันมองลงไปยังเบื้องล่างเช่นเดียวกับฉัน



ลงจากเครื่องได้ เราสองคนก็ออกจากสนามบิน มุ่งหน้าตรงไปยังวิหารอาบูซิมเบลซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก สนามบินแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือนวิหารแห่งนี้โดยเฉพาะ มองไปรอบๆ นอกจากอาคารสนามบินแล้วแทบไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ นอกจากทะเลทรายและทะเลสาบนัสเซอร์ สิ่งแปลกปลอมที่เห็นมีเพียงเรือท่องเที่ยวลำใหญ่ที่เป็นเรือโรงแรมในตัว จอดลอยลำรอการลำเลียงนักท่องเที่ยวที่มากับเรือขึ้นฝั่งมาชมมหาวิหาร



วิหาร อาบู ซิมเบล (Abu Simbel) สร้างขึ้นเมื่อ 1270 ปีก่อนคริสต์กาล หรือประมาณ 3,260 ปีมาแล้ว โดยฟาโรห์รามเสสที่สอง (Ramses The Great) ด้วยการสกัดเจาะภูเขาทั้งลูก ประกอบด้วยวิหารสองหลัง คือวิหารสำหรับพระองค์เองซึ่งมีขนาดใหญ่ และวิหารสำหรับพระราชินีเนเฟอทารี จุดประสงค์ของฟาโรห์รามเสสในการสร้างวิหารแห่งนี้ ก็เพื่อประกาศถึงศักดานุภาพของพระองค์ เป็นการปรามชาวนูเบียนซึ่งอยู่ในดินแดนแถบนั้น รวมถึงแสดงถึงอำนาจของฟาโรห์ที่คอยดูแลปกป้องเรือต่างๆ ที่ขึ้นล่องในลำน้ำไนล์



ในอดีตก่อนหน้า วิหารแห่งนี้จมอยู่ใต้ผืนทรายมาเป็นเวลานับพันปี กลายเป็นมหาวิหารที่ถูกหลงลืม จนนักประวัติศาสตร์ชาวสวิสมาพบเข้าเมื่อปี ค.ศ.1813 ตามมาด้วยนักสำรวจชาวอิตาลี ในปี ค.ศ.1817 แต่กว่าที่วิหารแห่งนี้จะเป็นที่รับรู้และดึงดูดความสนใจจากนักเดินทางทั่วโลกก็เมื่อปี ค.ศ.1838 เมื่อนักสำรวจที่มีฝีมือในการวาดภาพชาวอังกฤษได้เดินทางมายังอียิปต์ เสก็ตซ์ภาพวิหารแห่งนี้ไว้และนำออกตีพิมพ์ ภาพวิหารขนาดใหญ่ที่มีบางส่วนของทรายกลบทับถมสร้างความฮือฮาไปทั่วโลก ฉันเองยังเสียดายที่ไม่ได้ซื้อภาพพิมพ์ที่เป็นภาพเสก็ตซ์ภาพนั้นติดมือกลับมาด้วย



วิหารอาบูซิมเบลที่เราเดินชมอยู่นี้ถูกเคลื่อนย้ายจากที่ตั้งเดิม ซึ่งเป็นผลจากน้ำท่วมเพราะการสร้างเขื่อนอัสวาน โดยความช่วยเหลือขององค์การ UNESCO ที่ใช้เวลา 4 ปี ระดมวิศวกรและนักโบราณคดี มาช่วยกันเคลื่อนย้าย ตัดภูเขาและรูปแกะสลักออกเป็นชิ้นๆ รวม 1,086 ชิ้น แล้วนำมาประกอบใหม่บนที่ตั้งปัจจุบันได้อย่างสมบูรณ์แบบเช่นเดิม ไม่ผิดแม้ทิศทางแสงและทิศทางลม กระทั่งรอยต่อระหว่างชิ้นก็มองแทบไม่เห็น ยกเว้นส่วนที่เป็นภูเขาซึ่งสร้างขึ้นมาใหม่ และจัดทำเป็นห้องนิทรรศการแสดงเบื้องหลังการขนย้ายวิหาร ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยของโลกยุคปัจจุบันมากอบกู้สิ่งมหัศจรรย์ที่สร้างขึ้นในยุคโบราณเมื่อหลายพันปี

....ฉันว่านี่แหละคือความมหัศจรรย์ของทั้งสองยุค..ทั้งจากฝีมือมนุษย์ในยุคโบราณที่เป็นผู้สร้างและฝีมือมนุษย์ในยุคปัจจุบันที่เป็นผู้รักษา....เห็นแล้วอดนึกถึงพระพุทธรูปยืนแกะสลักที่ใหญ่โตและงดงามในอาฟกานิสถาน ซึ่งถูกกลุ่มตอลีบันระเบิดทำลายทิ้ง..เศร้า..นั่นก็ฝีมือมนุษย์ปัจจุบันเหมือนกัน แต่เป็นผู้ทำลาย..



เมื่อเราเดินเข้าไปใกล้ ก็ยิ่งรู้สึกว่าเราตัวเล็กลงถนัดเมื่อเทียบกับความยิ่งใหญ่ของมหาวิหาร จุดเด่นที่สุดคือรูปสลักฟาโรห์รามเสสนั่งประทับบนบัลลังก์ สูงถึง 20 เมตร จำนวน 4 รูป ที่อยู่ด้านหน้า ดูยิ่งใหญ่ สง่างาม อลังการ บริเวณขาของรูปสลักฟาโรห์มีรูปสลักของพระมารดา พระราชินีและโอรส ธิดาอีก 8 องค์เรียงราย บนผนังมีอักษรภาพ เฮโลกราฟิค (Hieroglyphics) และรูปแกะสลักที่มีเส้นสายงดงามสลักไว้ด้วย



นักท่องเที่ยวเริ่มมากขึ้นขณะที่เราก้าวเข้าไปในตัววิหารซึ่งห้ามถ่ายภาพ ด้านในเป็นห้องโถงขนาดใหญ่เรียงรายด้วยรูปสลักของฟาโรห์รามเสส บริเวณผนังเป็นภาพแกะสลักเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับฟาโรห์ และลึกเข้าไปจะเป็นห้องขนาดเล็กที่มีรูปสลักของเทพเจ้า 4 องค์ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นรูปของฟาโรห์รามเสส ในรูปของสมมุติเทพ กล่าวกันว่าทุกวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันประสูติ และ 23 ตุลาคม ซึ่งตรงกับวันขึ้นครองราชย์ แสงอาทิตย์จะส่องผ่านประตูทางเข้า ส่องตรงไปยังเทพรา ฮอรัสตี้ ซึ่งอยู่ด้านขวาสุดเป็นลำดับแรก ตามด้วยฟาโรห์รามเสสที่สอง แล้วค่อยๆ เลื่อนไปที่เทพอามุน รา จากนั้นแสงอาทิตย์จะเลื่อนกลับโดยไม่ส่องไปถึงเทพพท่าห์เลย เพราะเทพพท่าห์ คือเทพเจ้าผู้ติดต่อกับยมโลกและความมืด ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอย่างยิ่งในการคำนวณทิศทางแสงของชาวอียิปต์โบราณ



เดินออกจากวิหารใหญ่ไปยังวิหารเล็กที่อยู่ถัดไป วิหารแห่งนี้สร้างขึ้นให้กับราชินีเนเฟอร์ตารี เพื่อเป็นที่สักการะบูชาเทพีฮาธอร์ เทพีแห่งความรัก เป็นรูปสลักของฟาโรห์รามเสสที่สอง ในท่ายืนสี่รูป สลับกับรูปสลักของราชินีเนเฟอร์ทารี่ในท่ายืนอีกสองรูป ตรงตำแหน่งเท้ามีรูปสลักของโอรสและธิดาของทั้งสองพระองค์อยู่ด้วย เราเดินถ่ายภาพสลับไปมากับวิหารใหญ่ นักท่องเที่ยวเริ่มหนาตาขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่กับแดดที่เริ่มแรงจัด จนได้เวลาที่ต้องไปขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางต่อ



สุดท้ายบนเครื่องได้นั่งอ่านเรื่องของฟาโรห์รามเสสที่สองผู้สร้างวิหารอาบูซิมเบล พระองค์เป็นฟาโรห์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์ที่ 19 (Nineteenth Dynasty) เป็นฟาโรห์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอียิปต์จนได้รับการยกย่องว่าเป็นมหาราช ทรงครองราชย์นาน 67 ปี และมีพระชนมายุถึง 90 ปี ทรงเป็นทั้งนักปกครองและนักรบที่เก่งกาจ จนเปรียบประหนึ่งสมมุติเทพของชาวอียิปต์ มีรูปสลักของพระองค์อยู่ทั่วไปทั้งที่เมมฟิส อาบูซิมเบล รวมถึงลักซอร์ที่เราจะเดินทางไปเยือนในอีกสองวันข้างหน้า มาอียิปต์ให้สนุกทั้งที ต้องศึกษาข้อมูลเยอะแยะเต็มไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเทพเจ้า...

แต่....ฮ้าว....ตอนนี้ง่วงจังเลย ขอไปเฝ้าเทพเจ้าก่อนนะ แล้วค่อยตื่นมาเที่ยวต่อ....




 

Create Date : 25 มิถุนายน 2553   
Last Update : 25 มิถุนายน 2553 12:07:03 น.   
Counter : 2522 Pageviews.  

ไคโร ปิรามิดและฟาโรห์

ชีวิตคนเรา เปรียบเสมือนน้ำค้างบนยอดหญ้า พอแสงตะวันสาดส่องมาก็เลือนหาย...คำเปรียบเปรยนี้ เป็นการบอกให้เราสำนึกว่า จริงๆ แล้วชีวิตคนเรานี้แสนสั้นนักหนา ไม่นานก็ดับสูญไปตามกาลเวลา ไม่ได้อยู่ยั้งยืนยงได้ตลอดกาล....แต่สำหรับคนอิยิปต์โบราณแล้ว มีความเชื่อว่า แม้คนเราจะตายไปแล้วแต่ไม่ได้หมายถึงการดับสูญ เป็นเพียงการเดินทางไปเฝ้าเทพเจ้า และจะกลับคืนมาอีกครั้ง....



นั่นจึงเป็นเหตุผลให้มีการถนอมรักษา “ร่าง” ในรูปแบบมัมมี่ เพื่อรอวันกลับมาของเจ้าของร่าง โดยมีการสร้างปิรามิดเพื่อใช้เป็นที่เก็บรักษาร่างนั้นไว้ และนั่นคือสิ่งมหัศจรรย์อีกอย่างหนึ่ง ที่มนุษย์ในยุคโบราณฝากไว้เป็นมรดกปริศนาจนทุกวันนี้

เพื่อให้ได้สัมผัสกับปิรามิดอย่างแท้จริง เราจึงมุ่งหน้ามายัง “กีซ่า” ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากไคโร ที่นี่เป็นที่ตั้งของหมู่ปิรามิดที่มีชื่อเสียงรวมถึง “มหาปิรามิดแห่งกิซ่า” หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ หนึ่งเดียวที่ยังคงหลงเหลือตกทอดมาถึงปัจจุบัน ในบริเวณนี้มีปิรามิดรวม 9 หลัง และสฟิงค์อีกหนึ่งตัว

การสร้างปิรามิด เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บร่างเหล่าบูรพกษัตริย์ไว้อย่างยิ่งใหญ่ เพื่อรอการกลับมาใหม่ เป็นความเชื่อของชาวอิยิปต์โบราณ แต่ยังคงเป็นปริศนาว่าคนสมัยนั้นใช้เทคโนโลยีอะไรในการคำนวณ ออกแบบ และก่อสร้างสิ่งมหัศจรรย์นี้ได้อย่างลงตัว ที่แน่ๆ รูปทรงของปิรามิดถูกนำมาใช้กับการออกแบบต่อๆ มาหลายยุคหลายสมัย ความสมมาตรแห่งโครงสร้างจากภูมิปัญญาโบราณ ยังคงใช้ได้หลากหลายในปัจจุบัน



รถพาเรามายังจุดชมวิว ซึ่งสามารถมองเห็นปิรามิดสามหลังใหญ่ในมุมมองพาโนราม่า ไล่จากปิรามิดคูฟุ หรือมหาปิรามิดซึ่งใหญ่ที่สุดทางด้านขวา ตรงกลางเป็นปิรามิดเครเฟ และซ้ายมือสุดเป็นปิรามิดเมนคูเร ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าปิรามิดทั้งสองหลัง

ปิรามิดทั้งสามสร้างในยุคอาณาจักรเก่า ในช่วงราชวงศ์ที่ 3 ถึง 6 ซึ่งอยู่ในราวๆ 2,600 ปี ก่อนค.ศ. เป็นยุคต้นๆ ของอิยิปต์ที่รุ่งเรืองด้วยศิลปะ วิทยาการต่างๆ เราใช้เวลาถ่ายภาพที่นี่ครู่หนึ่ง แล้วขึ้นรถตรงไปยังปิรามิดที่เห็นตรงหน้า ปิรามิดทั้งหมดนี้เคยใช้เป็นที่ฝังพระศพของบรรดากษัตริย์ทั้งหลาย แต่ท้ายที่สุดปิรามิดต่างๆ ก็ไม่รอดเงื้อมือของหัวขโมย ที่พากันมาขุดหาทรัพย์สมบัติและทำลายความสงบสุขของเหล่ากษัตริย์ที่หลับสนิทอยู่ในปิรามิดชั่วนิรันดร์



รถจอดส่งเราก่อนวนไปหาที่จอด ที่นี่คนเยอะมาก เราจึงต้องเดินหามุมถ่ายรูปสวยๆ พยายามไม่ให้ถ่ายติดคนซึ่งเป็นเรื่องยาก เดินอยู่พักใหญ่ ถ่ายได้บ้างไม่ได้บ้าง ยอมแพ้ เปลี่ยนเป็นซื้อตั๋วมุดเข้าไปดูในปิรามิดแทน อุโมงค์ทางเข้าค่อนข้างเล็ก ต้องก้มตัวตลอดทาง สุดทางด้านในเป็นเหมือนห้องโถงโล่งๆ ไม่ใหญ่มากนัก มีเพียงหินก้อนใหญ่ๆ ซึ่งเคยใช้เป็นแท่นวางโลงศพตั้งอยู่เท่านั้น มีนักท่องเที่ยวทะยอยมุดเข้ามากลุ่มใหญ่ เราเลยชวนกันเผ่นออก ไม่รู้จะอยู่ทำไม



ห่างออกไปไม่ไกลนัก มีรูปแกะสลักขนาดใหญ่ที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องแวะมาชม นั่นคือ สฟิงค์แห่งกิซ่า ซึ่งเป็นสฟิงค์ที่แกะสลักด้วยหินขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ลำตัวเป็นสิงโตหมอบ ศีรษะเป็นพระพักตร์ของฟาโรห์เครเฟผู้สร้างปิรามิดเคเฟร น่าเสียดายที่สฟิงค์ยักษ์นี้จมูกบี้เสียโฉม ว่ากันว่าเป็นเพราะทหารสมัยมัมลุค ซึ่งเข้ามาปกครองอิยิปต์ในราวปี ค.ศ.1260 ใช้ใบหน้าสฟิงค์เป็นที่ซ้อมยิงปืน!....เศร้า...

ขนาดที่ปิรามิดว่าคนเยอะแล้ว ที่นี่คนยังเยอะกว่า ทั้งนักท่องเที่ยวและชาวอิยิปต์เอง เราสองคนเดินวนเวียนไปมา พยายามหามุมถ่ายรูปสวยๆ ถ่ายภาพแบบไม่เอาฝูงคน ก็ทำไม่ได้อีกตามเคย จะหามุมนั่งเก็บภาพไว้ในความทรงจำแทนก็หายาก ยอมเดินออกมาข้างนอกสบายๆ ดีกว่า



เดินวนไปถ่ายรูปรอบๆ แบบไม่ได้ดังใจ ก็ต้องตัดใจ เราก็เดินทางกลับไปไคโร เพื่อชมสถานที่พลาดไม่ได้เด็ดขาดในการมาเยือนดินแดนแห่งนี้ นั่นคือพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอิยิปต์ ฉันยังอดตื่นเต้นไม่ได้เมื่อมีโอกาสเห็นโบราณวัตถุอิยิปต์ในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั้งในยุโรปและอเมริกา และคราวนี้จะได้มาเห็นต้นตำรับที่นี่ซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง

พิพิธภัณฑ์นี้ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ สิ่งที่เห็นก็ไม่ได้ทำให้ฉันต้องผิดหวังแต่อย่างใด โบราณวัตถุมหาศาลเรียงรายอยู่ตามโถงใหญ่ ทางเดิน และห้องต่างๆ ในอาคารสองชั้นนี้ ทำให้ทั้งขนลุก ทั้งน่าทึ่งและชื่นชม มีห้องแสดงโบราณวัตถุกว่า 50 ห้อง โลงศพต่างๆ หลายขนาด รูปแกะสลักจำนวนมาก ทั้งทวยเทพและฟาโรห์ ตู้กระจกแสดงเครื่องประดับและของมีค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ห้องตุตันคาเมน ซึ่งเป็นห้องที่นักท่องเที่ยวทั้งหลายให้ความสนใจมากที่สุด ห้องนี้เป็นห้องเก็บสมบัติและสิ่งของต่างๆ ที่ขุดได้จากหลุมพระศพที่หุบผากษัตริย์ และฉันก็ได้มาเห็นสิ่งที่ฉันอยากเห็นมากที่สุด นั่นก็คือ หน้ากากทองคำที่เขียนและตกแต่งเป็นรูปพระพักตร์ของตุตันคาเมน ซึ่งเปรียบประดุจตัวแทนของอิยิปต์ในภาพโฆษณาการท่องเที่ยวที่พบเห็นบ่อยๆ นอกจากนั้นก็มีสิ่งของต่างๆ อีกมากมาย รวมถึงโลงศพสามชั้น ชั้นในสุดที่ทำด้วยทองคำ แกะสลักด้วยลวดลายอันวิจิตร

ห้องอีกห้องที่ฮิตไม่แพ้กัน คือห้องเก็บมัมมี่ของบรรดาฟาโรห์ที่ติดแอร์เย็นฉ่ำ แยกต่างหาก ร่างอาบยาของเหล่าฟาโรห์ตั้งเรียงรายในโลงที่มีกระจกใส ควบคุมอุณหภูมิ วางเรียงรายเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ดูอย่างชัดเจน อนิจจา ฟาโรห์ซึ่งมีอำนาจยิ่งใหญ่ที่ใครๆ ต้องก้มหัวไม่กล้าแม้แต่จะเงยหน้ามองพระพักตร์ยามมีชีวิต กลับกลายเป็นเหมือนวัตถุชิ้นหนึ่งให้นักท่องเทียวได้ทัศนาอย่างใกล้ชิด โดยมีป้ายบอกไว้ว่ามัมมี่เหล่านี้คือฟาโรห์พระองค์ใดบ้าง

ถ้าจะดูกันจริงๆ ต้องมีคู่มือชมพิพิธภัณฑ์ และใช้เวลาสักสามวัน แต่ฉันไม่ใช่นักอิยิปต์วิทยานี่ แล้วให้เดินดูของโบราณต่างๆ โลงศพ และเรื่องราวเกี่ยวกับความตายทั้งวันมันก็คงไม่เพลิดเพลินเจริญใจสักเท่าไหร่ แต่ก็ยอมรับว่าใช้เวลามากพอดูที่เดียวล่ะเมื่อเทียบกับการไปเยือนพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศที่อื่นๆ



ออกจากพิพิธภัณฑ์ แดดร่มลมตก เราก็เรียกแท็กซี่ให้ไปส่งยังเรือภัตตาคารที่จะล่องลำน้ำไนล์ ขอกินหรู อยู่สบายสักวันก่อนไปตกระกำลำบากในวันต่อๆ ไป แท็กซี่ของที่นี่เป็นรถสีดำ ยี่ห้อเฟียตบ้าง เปอร์โยต์บ้าง เกียร์มือ รุ่นดึกดำบรรพ์ทั้งนั้น ไม่มีแอร์ ตัวถังแข็งโป๊ก มีร่องรอยปุปะรอบคัน อ้อ แท็กซี่ที่นี่ไม่มีสติกเกอร์ติดว่า “ I Love Fa-rang ” แบบบ้านเราหรอกนะ ส่วนมากคนขับพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ต้องอาศัยไกด์ท้องถิ่นช่วยเจรจาให้ แถมย้ำเตือนให้ระวังโดนโกงถ้าจะต้องเรียกด้วยตัวเอง



ล่องลำน้ำด้วยเรือภัตตาคารพร้อมดนตรีขับกล่อม และดูโชว์ระบำหน้าท้องที่มาเต้นอยู่ตรงหน้า ฉันนั่งมองตาเขียว เพราะหนุ่มที่มาด้วยจ้องตาเขม็ง จากนั้นก็เป็นระบำลูกข่าง หมุนติ้วชนิดที่ต้องเวียนหัวแทน สองโชว์นี้ดูจะเป็นโชว์รับแขกแบบเดียวกันของประเทศมุสลิม ทั้งดูไบ ตุรกี แล้วก็ที่นี่ เหมือนกันเลย จบโชว์เราก็ออกไปรับลมด้านหน้าเรือ บรรยากาศคล้ายๆ กับล่องเจ้าพระยาบ้านเรา ตึกสูงเรียงรายสองข้างลำน้ำ ส่วนมากเป็นโรงแรมมีชื่อที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก สายลมและไอเย็นจากลำน้ำบวกท้องอิ่มก็ทำให้เริ่มง่วง แถมเดินทางทั้งวันก็เลยหลับไปอย่างง่ายดายเมื่อกลับมาถึงโรงแรม



วันนี้พอก่อนดีกว่า พรุ่งนี้ต้องออกเดินทางแต่เช้ามืด เพื่อไปเยือนวิหารอาบูซิมเบล ความยิ่งใหญ่และความมหัศจรรย์ฝีมือมนุษย์ทั้งในสมัยโบราณและสมัยปัจจุบัน อีกหนึ่งไฮไลท์ที่พลาดไม่ได้ในการมาอิยิปต์ จะเป็นอย่างไรค่อยว่ากันต่อ

.... ชู๊กรัน..




 

Create Date : 21 มิถุนายน 2553   
Last Update : 21 มิถุนายน 2553 21:39:26 น.   
Counter : 1259 Pageviews.  

1  2  

world not wide
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




บันทึกการเดินทางของเขาและเธอ
ที่ใช้ชีวิตคู่กับการเดินทาง
155 เมือง 34 ประเทศ ใน 5 ทวีป...




*รูปภาพทั้งหมดที่ปรากฏบน Blog นี้ ถ่ายด้วยตนเองทั้งสิ้น และไม่หวงห้ามแต่ประการใด หากมีผู้ต้องการนำไปใช้
[Add world not wide's blog to your web]