Group Blog
 
All Blogs
 

มาเรียนรู้เรื่องตั๋วราคาปกติกันดีกว่า

ผู้โดยสารทั่วไปมักจะคิดว่าตั๋วราคาปกติเป็นเรื่องไกลตัว
เพราะขึ้นชื่อว่าตั่วราคาปกติแน่นอนย่อมราคาแพงกว่าตั๋วลดราคาทั่วไป
แต่จากประสบการณ์ของผมสินค้าราคาแพงย่อมมีคุณภาพที่ดี
ถ้ามันไม่ดีก็ไม่มีคนซื้ออะดิ
ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละท่านจะมองเห็นข้อดีได้มากน้อยเพียงใด
และใช้ข้อดีเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดเท่าใดนั่นเอง

ลักษณะของตั๋วราคาปกติคือเป็นตั๋วเต็มราคาในแต่ละเส้นทางนั้นๆ
เปรียบได้เสมือนกับเช็คเงินสด
สามารถที่จะทำการคืนเป็นเงินสดได้เมื่อเราไม่ต้องการที่จะเดินทาง
นอกจากนี้ยังสามารถที่จะเลือกบินกับสายการบินไหนก็ได้
ขาไปไปกับสายการบินหนึ่ง ขากลับกลับกับอีกสายการบินก็ไม่มีปัญหา
แถมยังเลือกเส้นทางบินแวะประเทศนั้นประเทศนี้ได้ตามใจชอบ
อายุตั๋วก็มีอายุหนึ่งปีนับจากวันเดินทางวันแรก

ข้อดีของตั๋วราคาปกตินอกจากข้างต้นแล้วก็เป็นในเรื่องของลำดับคลาสที่จอง
ตั๋วปกติจะมีลำดับคลาสที่สูงที่สุด
นอกจากไฟล์ทจะเต็มสุดๆยังไงก็สามารถจองตั๋วเดินทางได้
อย่างที่เห็นบ่อยๆก็เช่นการซื้อตั๋วกระทันหันที่สนามบิน
ส่วนมากจะเป็นตั๋วราคาปกติ ที่ยังไงก็สามารถหาที่นั่งได้วันยังค่ำ
ข้อเสียของตั๋วราคาปกติก็คือต่อให้จ่ายค่าตั๋วแพงกว่าตั๋วลดราคาทั่วไป
ใช่ว่าจะได้รับบริการบนเครื่องที่แตกต่างกัน
บริการเท่าเทียมกันหมดไม่ว่าจ่ายถูกหรือแพง
ถ้ามีการวางแผนที่ดีในบางครั้งการซื้อตั๋วลดราคาทั่วไปนั้นก็คุ้มกว่าตั๋วราคาปกติเป็นไหนๆ

ราคาตั๋วปกติถูกกำหนดขึ้นโดย IATA
และจะมีราคาแตกต่างกันไปตามค่าครองชีพของประเทศนั้นๆ
ประเทศที่มีค่าครองชีพสูงเช่นญี่ปุ่น อังกฤษ ยุโรป และเมกา
ตั๋วราคาปกติก็จะแพงขึ้นเป็นเงาตามตัว
เทียบระยะทางรวมถึงเส้นทางกับราคาตั๋วแล้ว
อาจจะพูดได้ว่าตั๋วราคาปกติออกจากญี่ปุ่นถือว่าแพงที่สุดในโลกก็ว่าได้
แน่นอนประเทศที่ค่าครองชีพต่ำ ราคาตั๋วปกติก็จะต่ำลงมาด้วย
นี่คือจุดที่น่าสนใจ ถือว่าประเทศไทยได้เปรียบในเรื่องตั๋วราคาปกติ

ราคาตั๋วปกตินอกจากถูกกำหนดจากประเทศที่ออกเดินทางแล้ว
ยังขึ้นอยู่กับระยะทางตรงระหว่างจุดเริ่มต้นกับจุดหมายปลายทาง(TPM)ด้วย
IATA ได้กำหนดระยะทางสูงสุดระหว่างจุดเริ่มต้นกับจุดหมายปลายทาง(MPM)
(MPM จะมีระยะทางประมาณ 1.2 เท่าของ TPM)
ผู้โดยสารสามารถกำหนดเส้นทางบินได้เองภายในระยะทางรวมที่ไม่เกิน MPM
หรือสามารถจ่ายค่าโดยสารเพิ่มจากราคาปกติคิดเป็น % กรณีที่เดินทางเกิน
(5M 10M 15M 20M 25M สูงสุดไม่เกิน 25% ของ MPM)

การกำหนดเส้นทางบินเองนั้น
ผู้โดยสารสามารถเดินทางโดยสายการบินไหนก็ได้
แถมไปแวะพักที่ประเทศไหนก็ได้
ถ้าการเดินทางในเที่ยวบินต่อไปไม่เกิน 24 ชั่วโมงไม่ถือว่าเป็นสต๊อปโอเวอร์
แต่ถ้าเกิน 24 ชั่วโมงจะถือว่าเป็นสต๊อปโอเวอร์
ราคาตั๋วปกติจะมีการเปลี่ยนแปลงเปรียบเทียบกับราคาตั๋วปกติของเมืองที่ทำการแวะพักไปยังจุดหมายปลายทาง
ถ้าแวะพักประเทศที่ราคาตั๋วปกติถูกกว่าก็ไม่มีปัญหา
อย่างเช่นออกจากสิงคโปร์ แวะพักที่กรุงเทพก่อนไปฮ่องกง
ราคาตั๋วปกติจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง
หรือถ้าจากกรุงเทพฯไปโตเกียว แวะพักที่โซล ราคาตั๋วก็ไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน
แต่ถ้าออกเดินทางจากกรุงเทพฯไปเมกา แต่แวะพักที่โซล หรือโตเกียว
ราคาตั๋วปกติก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามราคาตั๋วปกติที่ออกจากโซลหรือโตเกียว

เนื่องจากตั๋วปกติสามารถกําหนดเส้นทาง สายการบิน รวมถึงระยะทางบินเองได้
ทำให้มีความยืนหยุ่นสูงแล้วยังสามารถใช้ประโยชน์จากการสต๊อปโอเวอร์ได้อีก
อย่างเช่น กรณีซื้อตั๋วราคาปกติจากกรุงเทพฯไปโตเกียว
สามารถเลือกเส้นทางแวะพักสต๊อปโอเวอร์ที่ฮ่องกง ไทเป โซล โอซาก้า
ก่อนไปถึงโตเกียวโดยไม่ต้องจ่ายตังค์เพิ่ม(จ่ายเฉพาะค่าภาษีสนามบินเท่านั้น)
หรือในกรณีที่ประเทศที่แวะพักราคาตั๋วปกติแพงกว่าจุดเริ่มต้น
พยายามต่อเครื่องไม่เกิน 24 ชั่วโมงก็ไม่ถือว่าเป็นสต๊อปโอเวอร์
อย่างเช่นเดินทางจากกรุงเทพฯไปแอลเอ
อยากแวะพักที่ฮ่องกง โซล ไทเป และโตเกียวก่อนก็ได้
ถ้าแต่ละที่ไม่เกิน 24 ชั่วโมงราคาตั๋วก็ไม่เปลี่ยน
ถือว่าได้แวะเที่ยวต่างประเทศฟรี(แต่เหนื่อยหน่อยเท่านั้นเอง)
หรือถ้าบินอ้อมไปแวะพักหลายประเทศ ทำให้ระยะทางมากกว่า MPM
ก็สามารถจ่ายค่าโดยสารเพิ่มเป็น % เช่น 10M ตามข้างต้นก็ไม่มีปัญหา

ในอดีตตั๋วราคาปกติจะมีการเช็คเส้นทางที่ซับซ้อนมาก
ยิ่งในกรณีที่ไม่ได้จองและออกตั๋วในประเทศจุดเริ่มต้นหรือ SOTO
นับแต่ต้นปีที่ผ่านมา
กฏข้อนี้ได้ถูกลดหย่อนไปเนื่องจากการแพร่หลายตั๋วอิเล็คทรอนิคส์
แต่ก็ยังมีการยกเว้นในบางประเทศเช่น ญี่ปุ่น ที่ยังต้องพิจารณาถึงเรื่องนี้อยู่
นับว่าเป็นนิมิตหมายอันดีสําหรับผู้ที่เดินทางบ่อยด้วยตั๋วราคาปกติ
สามารถซื้อตั๋วราคาปกติได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นกว่าในอดีตมากยิ่งขึ้น

อย่างที่บอกไว้ว่าตั๋วราคาปกติเปรียบเสมือนเช็คเงินสด
และสามารถเดินทางด้วยสายการบินไหนก็ได้
ดังนั้นเมื่อทำการออกตั๋วหรือออกเดินทางแล้ว
ผู้โดยสารมีเหตุให้ต้องเปลี่ยนเที่ยวบินและสายการบินก็ย่อมทำได้เช่นกัน
การเปลี่ยนสายการบิน(เส้นทางเดิม)เรียกว่า Endorse
เปลี่ยนเส้นทาง Re-route รวมถึงการออกตั๋วใหม่ Re-issue

การเปลี่ยนสายการบินหรือเอนดอร์สนั้น
ต้องทำการติดต่อไปยังออฟฟิคของสายการบินเดิมที่จะเดินทาง
เพื่อทำการแสตมป์หลังตั๋วว่าจะทำการเอนดอร์สไปยังสายการบินไหน
ต่อจากนั้นก็ทำการติดต่อจองที่นั่งกับสายการบินใหม่ที่ต้องการเดินทาง
วันที่เดินทางก็นำตั๋วที่มีแสตมป์ข้างหลังไปเช็คอินกับสายการบินใหม่ที่จองไว้
ยกตัวอย่างเช่นกรณีของผม ที่การบินไทยเปลี่ยนเที่ยวบินใหม่
ถูกลดชั้นที่นั่งลงมา เลยต้องทำการเอนดอร์สเพื่อเปลี่ยนสายการบินใหม่
ต้องนำตั๋วไปทำการเอนดอร์สที่สำนักงานการบินไทยด้วยตนเอง
พนักงานก็จะทำการแสตมป์หลังตั๋ว
พร้อมกับขีดเขียนว่าจะเอนดอร์สไปสายการบินไหน

ถ้าหากบินในเส้นทางเดียวกันก็ทำการจองที่นั่งกับสายการบินใหม่แล้วนำตั๋วที่มีแสตมป์ข้างหลังไปทำการเช็คอินได้เลย
แต่ถ้าหากว่ามีการเปลี่ยนเส้นทางบิน ต้องนำตั๋วที่เอนดอร์สเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ไปยังออฟฟิคสายการบินใหม่ที่จะเดินทางด้วย
สายการบินใหม่ก็จะทำการจองที่นั่ง พร้อมคำนวนราคาตั๋วปกติใหม่
จากนั้นก็ทำการออกตั๋ว ถ้ามีส่วนต่างของราคาก็ต้องจ่ายเงินเพิ่ม
เมื่อได้ที่นั่งใหม่เสร็จก็ต้องทำการติดต่อกับสายการบินเดิมเพื่อทำการยกเลิกเที่ยวบินเก่าที่จองไว้
เป็นอันจบสิ้นเรียบร้อยกับการเปลี่ยนเส้นทางสายการบินสำหรับตั๋วราคาปกติ
ค่อนข้างยุ่งยากทีเดียวกับการจะเปลี่ยนเส้นทางบินในแต่ละที
แต่ก็เป็นผลดีต่อผู้โดยสารเองกรณีมีเหตุฉุกเฉินต่างๆเกิดขึ้น
ผมก็ค่อนข้างเสียเวลาไปเยอะทีเดียวกับการเปลี่ยนสายการบินและเส้นทางบินในครั้งแรกๆ
เพราะหารายละเอียดข้อมูลได้ยากมากทีเดียวไม่ว่าจะในเน็ตหรือหนังสืออื่นๆ

ข้างต้นเป็นเนื้อหาส่วนใหญ่คร่าวๆของตั๋วราคาปกติ
ยังมีในส่วนของรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีกมากมายที่ซับซ้อนเข้าใจยาก
ทั้งการแบ่งโซนประเทศ ข้อจำกัดย่อยในการเลือกเส้นทางบินแต่ละแห่ง
โอเพ่นจอว์ภายในประเทศหรือระหว่างประเทศ
จำนวนครั้งการแวะทรานสิทแต่ละเมือง
อัตราแลกเปลี่ยนและการคำนวนราคาตั๋วปกติ ฯลฯ
ซึ่งผมเองก็ยังไม่รู้รายละเอียดปลีกย่อยนี้มากเท่าไดนัก รับรู้เพียงคร่าวๆเท่านั้น
ท่านใดที่สนใจก็ควรหาหนังสือเกี๋ยวกับตั๋วราคาปกติมาศึกษาเองแล้วอะครับ(โดยเฉพาะท่านที่เดินทางบ่อย)
รับรองว่าจะได้ประโยชน์จากการศึกษาเองไม่มากก็น้อย

นอกจากการซื้อตั๋วราคาปกตินั่งเองชั้นพรีเมียร์แล้ว
การสะสมไมล์เพื่อใช้ขอตั๋วฟรีหรืออัพเกรดก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีไม่น้อย
นอกจากไฟล์ทไมล์แล้ว ยังสามารถแลกไมล์จากบัตรเครดิต
พักผ่อนโรงแรม เช่ารถขับ ฯลฯ
ไม่จำเป็นต้องจ่ายตังค์หลายหมื่นหลายแสนบาทซื้อตั๋วเอง
ก็สามารถนั่งชั้นพรีเมียร์ได้เช่นกัน
ไม่ว่าจะจ่ายตังค์ซื้อตั๋วเอง หรือใช้ไมล์ขอตั๋วฟรีก็ตาม
ถ้ามีการวางแผน และศึกษาล่วงหน้า รับรองว่าจะได้ประโยชน์มากเลยทีเดียว
สิ่งเหล่านี้ต้องศีกษาค้นคว้า และการเดินทางบ่อยจะมีส่วนช่วยให้รับรู้เองได้ไม่มากก็น้อย ประสบการณ์สำคัญที่สุด ไม่ว่าอ่านหรือฟังมาอย่างไร
ก็ไม่เท่ากับได้ลงมือกระทำเอง
หวังว่าคงจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยกับผู้ที่สนใจครับ

//www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E3878658/E3878658.html




 

Create Date : 05 ธันวาคม 2548    
Last Update : 5 ธันวาคม 2548 2:31:55 น.
Counter : 532 Pageviews.  


WONDERFUL_DAY
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




Friends' blogs
[Add WONDERFUL_DAY's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.