Group Blog
 
All blogs
 

พระผู้พ้นทุกข์ รู้ตื่น และเบิกบาน





































 

Create Date : 27 สิงหาคม 2550    
Last Update : 9 กันยายน 2550 13:49:51 น.
Counter : 1004 Pageviews.  

ความสุข








 

Create Date : 25 สิงหาคม 2550    
Last Update : 9 กันยายน 2550 13:48:45 น.
Counter : 942 Pageviews.  

ศีล – สมาธิ – ปัญญา – อริยะสัจสี่

ศีล – สมาธิ – ปัญญา – อริยะสัจสี่

“ศีล” พึงปฏิบัติ
โดยเคร่งครัดจัดอารมณ์
ห้ามกายและใจตน
หมั่นฝึกฝนวาจางาม
คำสอนองค์สัมมาฯ
ให้ศึกษาพยายาม
ศีลห้าหมั่นทำตาม
ทุกๆยามกระทำดี

“สมาธิ” คือแน่วแน่
ใจเที่ยงแท้มีศักดิ์ศรี
ตั้งมั่นในความดี
ทุกนาทีจงตั้งใจ
ยึดมั่นการกระทำ
ใจโน้มนำความดีไว้
ชั่วดีรู้ดีได้
สติไซร้ไว้พิจารณา

“ปัญญา” คือรู้คิด
ไว้พินิจและศึกษา
เพ่งพิศพิจารณา
เพื่อพึ่งพาชีพดำรง
รู้มีความดีชั่ว
เป็นแนวตัวไม่มัวหลง
ผู้อื่นและตัวคง
ได้ดำรงด้วยดีงาม

“อริยะสัจสี่”
ธรรมความดี 4 ประการ
ยึดไว้เป็นทัดฐาน
เหตุแห่งการณ์ดับทุกข์ตรม

“ทุกข์” คือกำหนดรู้
ความเป็นอยู่ไม่สุขสม
เกิดแก่เจ็บตายตรม
ล้วนขื่นขมทุกข์ตรมใจ

“สมุทัย” คือรู้แจ้ง
สาเหตุแห่งไม่แจ่มใส
ต้นเหตุแห่งทุกข์ใจ
ล้วนเกิดได้หลายเหตุหน
กามาตัณหาปน
ช่างพิกลจนหทัย
รู้แล้วพึงยั้งไว้
เหตุทุกข์ใจให้ระวัง

“นิโรธ” คือพ้นทุกข์
จะมีสุขรู้ยุกยั้ง
ตัณหาที่ประดัง
รู้จักรั้งตัดอารมณ์
เปรียบเช่นชาติเชื้อไฟ
หยิบเชื้อไปไฟไม่โหม
รู้จักดับอารมณ์
ความสุขสมจะมาเยือน

“มรรค” นั้นเป็นวิถี
เป็นวิธีคอยชี้เตือน
ปฏิบัติอย่าแชเชือน
ทุกข์จะเลือนไม่เยือนมา
พ้นทุกข์ไม่เวียนว่าย
เกิดแก่ตายไม่เวียนหา
นิพพานคือปฏิปทา
เป็นปฏิญญาที่แน่นอน ฯ






 

Create Date : 22 สิงหาคม 2550    
Last Update : 9 กันยายน 2550 13:46:44 น.
Counter : 1154 Pageviews.  

นิทานธรรม: พระจักขุปาลเถระ



...พุทธภาษิตลิขิตประดิษฐ์ว่า
ใจนำพาทุกสิ่งสมประสงค์
เพราะใจเป็นหัวหน้าอย่างอาจ-อง
ใจเป็นนายกายคงเป็นทาสแล

....หากผู้ใดมีใจประทุษร้าย
ก็มิวายได้ทุกข์ไร้สุขแน่
การกระทำนำจากใจโดยแท้
ทุกข์ย่อมแห่ตามติดดวงจิตไป

....พระดำริบทนี้มีที่มา
พระบรมศาสดาพาขานไข
เพื่อภิกษุทั้งหลายหายข้องใจ
ว่าเหตุใดพระจักขุฯตาพิการ ฯ

...เรื่องราวนั้นได้กล่าวเอาไว้ว่า
พระภิกษุเดินทางมาสู่สถาน
เพื่อกราบบังคมนมัสการ
พระอาจารย์ ณ วิหารพระเชตุวัน

....เมื่อได้กราบพระพุทธเจ้าแล้ว
ก็เพริศแพร้วผ่องใสให้สุขสันต์
พระสาวกจึงได้พร้อมใจกัน
ไปเยี่ยมท่านพระจักขุฯภิกษุนี้

....ครั้นไปถึงก็จวนจะพลบค่ำ
ทั้งเมฆฝนมืดดำคล้ำแสงสี
พระสาวกเห็นว่าท่าไม่ดี
ชวนกันกลับทันทีพรุ่งนี้มา ฯ...



....ในคืนนั้นฝนตก-ลงอย่างหนัก
แหละหยุดพักเอาตอนกลางดึกหนา
ฝนขาดเม็ดก็ถึงซึ่งเวลา
พระจักขุปาลเถราเดินจงกรม

….ยามฝนตกมีหมู่แมลงเม่า
บินคลอเคล้าเล่นแสงแสนสุขสม
แต่เมื่อปีกต้องสายฝนที่พ่นพรม
ปีกเปียกปอนล่อนตามลมร่วงลงดิน

….พระจักขุปาลเถระพระรูปนี้
สองตามีแต่บอดสนิทสิ้น
ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้มีมลทิน
แต่ก็ใช่จะจงจินต์หรือยินดี

….เพราะความที่ท่านมีตาพิการ
แมลงเม่าบนลานไม่คลานหนี
ท่านจึงเหยียบย่ำไปบนชีวี
แมลงเม่าเหล่านี้จึงตายไป ฯ

ครั้นรุ่งเช้าพระต่างวัดที่ผลัดว่า
วันพรุ่งนี้สิกลับมาบูชาใหม่
ท่านก็ทวนหวนจริงอย่างอิงไว้
เมื่อมาถึงต้องเศร้าใจในเหตุการณ์

….จึงเอ่ยถามความพระ-ผู้น้อยว่า
ใครกันหนามาเดินบนสถาน
พร้อมย่ำเหยียบแมลงเม่าตายเกลื่อนลาน
เหมือนเพชฌฆาตประหารผลาญชีวี

….พระลูกศิษย์แม้มิเห็นว่าเป็นใคร
ก็เดาได้พระครูบามาที่นี่
เดินจงกรมเป็นกิจท่านนานนับปี
เช้ามืดนี้ท่านก็คงจะลงมา

….พระสาวกทราบความที่ถามนั้น
พร้อมใจกันมั่นคงตรงที่ว่า
ต้องนำเรื่องนี้กราบพระศาสดา
จึงนำพากันดำเนินเดินทางไป ฯ





…พระองค์ทรงพระดำรัสตรัสถามว่า
เธอเห็นเขากำลังฆ่าแมลงไหม
พระสาวกจึงหมอบตอบเร็วไว
ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นเช่นตาตน

….พระจักขุฯก็ไม่เห็นเช่นพวกเธอ
การนั้นใช่พลั้งเผลอไร้เหตุผล
อีกมิใช่จงใจให้วายชนม์
ความนี้พ้นผลกรรมจะนำพา

….พระภิกษุรูปหนึ่งจึงกราบทูล
ถามถึงมูลเหตุใดกระไรหนา
ที่ทำให้พระจักขุฯพิการตา
พระกรุณาว่ากรรมเคยทำไว้ ฯ

พระพุทธองค์ทรงโปรดเล่าเหตุการณ์
ครั้งหนึ่งนานแล้วหนอมีหมอใหญ่
รับรักษาโรคชนคนทั่วไป
วันหนึ่งได้พบนางป่วยทางตา

หมอจึงถามแม่นางมองเห็นไหม
นางตอบไปไม่เห็นแล้วเจ้าข้า
หากหมอทำให้เห็นเช่นธรรมดา
เรื่องราคาแม่นางทำอย่างไร

ตลอดกาลจะช่วยงานบ้านคุณหมอ
จะเพียงพอแก่ค่ารักษาไหม
หมอฟังแล้วรู้สึกพึงพอใจ
จึงหยอดยาใส่ในสองตานาง ฯ


ไม่นานนักหญิงนั้นพลันประสบ
ตาเริ่มพบแสงใสไสวสว่าง
หล่อนเริ่มมีใจคด-คิด-ปด-วาง
เพราะกลัวว่าค่าจ้างจะไม่มี

คิดดังนั้นวันหนึ่งซึ่งหมอถาม
หล่อนตอบความเลี่ยงไปในวิถี
ว่าเมื่อก่อนยังแลเห็นเลือนลางดี
แต่บัดนี้ตาของฉันนั้นมืดมน

เมื่อหมอเลิกตาดูก็รู้แน่
ว่าที่แท้นางเลี่ยงจะเบี่ยงผล
หมอบอกนางไปว่าอย่ากังวล
ลองอีกหนยาตัวใหม่อาจหายดี ฯ

ครั้นถึงบ้านหมอปรุงยาพิเศษ
ด้วยกิเลสเหตุเนื่องเคืองโฉมศรี
เพื่อล้างแค้นแม่นางปดพจนี
ยาพิษนี้ตาจะบอดตลอดกาล

แหละทุกอย่างก็เป็นไปดั่งหมอคิด
สองตานางกลับมืดมิดสนิทสถาน
นางไม่ซื่อจึงรับทุกข์ทรมาน
กรรมบันดาลหมอเกิดมาตามืดมน

หมอคือพระจักขุฯในชาตินี้
บาปกรรมที่ทำไว้มิไร้ผล
ไม่มีใครเลี่ยงได้ในกรรมตน
ที่คอยวนเวียนติดดวงจิตไป

เพราะเมื่อกายตายลงจิตคงที่
มิหลบลี้หนีหายดังกายไซร้
กรรมตามจิตชิดข้างมิห่างไกล
ยามเกิดใหม่ผลแห่งกรรมก็นำทาง

หลังจากนั้นพระองค์ทรงตรัสว่า
ใจนั้นหนาเป็นใหญ่ไร้สิ่งขวาง
หมั่นทำดีคิดดี..สิ่งชั่ววาง
ลงมือสร้างเสริมประตูสู่นิพพาน ๚ะ๛



...จบบริบูรณ์...







 

Create Date : 21 สิงหาคม 2550    
Last Update : 8 กันยายน 2550 9:51:39 น.
Counter : 1026 Pageviews.  

พระวินัยปิฎก เล่ม 1

พระวินัยปิฎก เล่ม ๑ มหาวิภังค์ ปฐมภาค

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เวรัญชกัณฑ์

เรื่องเวรัญชพราหมณ์

[๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดาที่นเฬรุยักษ์สิงสถิต เขตเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เวรัญชพราหมณ์ได้สดับข่าวถนัดแน่ว่า ท่านผู้เจริญ พระสมณะโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยตระกูลประทับอยู่ ณ บริเวณต้นไม้สะเดาที่นเฬรุยักษ์สิงสถิต เขตเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ก็แลพระกิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า

พระผู้มีพระภาคองค์นั้น ทรงเป็นพระอรหันต์แม้เพราะเหตุนี้ ทรงตรัสรู้เองโดยชอบ แม้เพราะเหตุนี้ ทรงบรรลุวิชชาและจรณะ แม้เพราะเหตุนี้ เสด็จไปดีแม้เพราะเหตุนี้ ทรงทราบโลก แม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า แม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย

แม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นพุทธะ แม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นพระผู้มีพระภาค แม้เพราะเหตุนี้ พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง

แล้วทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทพ และมนุษย์ ให้รู้ ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์บริสุทธิ์

อนึ่ง การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น เป็นความดี

เวรัญชพราหมณ์กล่าวตู่พระพุทธเจ้า

[๒] หลังจากนั้น เวรัญชพราหมณ์ได้ไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วได้ทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการทูลปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิงเป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เวรัญชพราหมณ์นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่า พระสมณะโคดม ไม่ไหว้ ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ ข้อที่ข้าพเจ้าทราบมานี้นั้นเป็นเช่นนั้นจริง อันการที่ท่านพระโคดมไม่ไหว้ ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะนี้นั้น ไม่สมควรเลย

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทพ และมนุษย์ เราไม่เล็งเห็นบุคคลที่เราควรไหว้ ควรลุกรับ หรือควรเชื้อเชิญด้วยอาสนะ เพราะว่า ตถาคตพึงไหว้ พึงลุกรับ หรือพึงเชื้อเชิญบุคคลใดด้วยอาสนะ แม้ศีรษะของบุคคลนั้นก็จะพึงขาดตกไป

ว. ท่านพระโคดมมีปกติไม่ไยดี

ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมมีปกติไม่ไยดี ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะความไยดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีก ต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมมีปกติไม่ไยดี ดังนี้ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว

ว. ท่านพระโคดมไม่มีสมบัติ

ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่มีสมบัติ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะสมบัติ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่มีสมบัติ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว

ว. ท่านพระโคดมกล่าวการไม่ทำ

ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมกล่าวการไม่ทำ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวการไม่ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวการไม่ทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมกล่าวการไม่ทำ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว

ว. ท่านพระโคดมกล่าวความขาดสูญ

ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมกล่าวความขาดสูญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวความขาดสูญแห่ง ราคะ โทสะ โมหะ เรากล่าวความ ขาดสูญแห่งสภาพที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดม กล่าวความขาดสูญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว

ว. ท่านพระโคดมช่างรังเกียจ

ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างรังเกียจ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรารังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรารังเกียจความถึงพร้อมแห่งสภาพที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างรังเกียจดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว

ว. ท่านพระโคดมช่างกำจัด

ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างกำจัด ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัด ราคะ โทสะ โมหะ แสดงธรรมเพื่อกำจัดสภาพที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่างนี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างกำจัด ดังนี้ ชื่อว่า กล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว

ว. ท่านพระโคดมช่างเผาผลาญ

ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างเผาผลาญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวธรรมที่เป็นบาปอกุศล คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ว่า เป็นธรรมที่ควรเผาผลาญ ธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งควรเผาผลาญ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นคนช่างเผาผลาญ พราหมณ์ ธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศล ซึ่งควรเผาผลาญ
ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างเผาผลาญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว

ว. ท่านพระโคดมไม่ผุดเกิด

ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่ผุดเกิด ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะการนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นคนไม่ผุดเกิด พราหมณ์ การนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่ผุดเกิด ดังนี้ ชื่อว่า กล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว

ทรงอุปมาด้วยลูกไก่

[๓] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนฟองไก่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ฟองไก่เหล่านั้น อันแม่ไก่พึงกกดีแล้ว อบดีแล้ว ฟักดีแล้ว บรรดาลูกไก่เหล่านั้น ลูกไก่ตัวใดทำลายกะเปาะฟอง ด้วยปลายเล็บเท้า หรือด้วยจะงอยปาก ออกมาได้โดยสวัสดีก่อนกว่าเขา ลูกไก่ตัวนั้นควรเรียกว่ากระไร จะเรียกว่าพี่หรือน้อง

ว. ท่านพระโคดม ควรเรียกว่าพี่ เพราะมันแก่กว่าเขา

ทรงแสดงฌาน ๔ และวิชชา ๓

ภ. เราก็เหมือนอย่างนั้นแล พราหมณ์ เมื่อประชาชนผู้ตกอยู่ในอวิชชา เกิดในฟองอันกะเปาะฟองหุ้มห่อไว้ ผู้เดียวเท่านั้นในโลก ได้ทำลายกะเปาะฟอง คือ อวิชชา แล้วได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม เรานั้นเป็นผู้เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุดของโลก เพราะความเพียรของเราที่ปรารภแล้วแล ไม่ย่อหย่อน สติดำรงมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายสงบ ไม่กระสับกระส่าย จิตตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นหนึ่ง

ปฐมฌาน

เรานั้นแล สงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกุศลธรรม ได้บรรลุปฐมฌาน มีวิตก
มีวิจาร มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่วิเวกอยู่

ทุติยฌาน

เราได้บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจาร สงบไป มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่สมาธิอยู่

ตติยฌาน

เรามีอุเบกขาอยู่ มีสติ มีสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป ได้บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ มีสุขอยู่ ดังนี้อยู่

จตุตถฌาน

เราได้บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัส โทมนัส ก่อนๆ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

บุพเพนิวาสานุสสติญาณ

เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เรานั้นย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกชาติได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง

ว่าในภพโน้นเราได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพโน้นนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด
อายุเพียงเท่านั้น

ครั้นจุติจากภพโน้นนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็น
อันมาก พร้อมทั้งอุเทส พร้อมทั้งอาการ ด้วยประการฉะนี้ พราหมณ์ วิชชาที่หนึ่งนี่แล เราได้บรรลุแล้วในปฐมยามแห่งราตรี อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส ส่งจิตไปแล้วอยู่ฉะนั้น

ความชำแรกออกครั้งที่หนึ่งของเรานี้แล ได้เป็นเหมือนการทำลายออกจากกะเปาะฟองแห่งลูกไก่ฉะนั้น

จุตูปปาตญาณ

เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อญาณเครื่องรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เรานั้นย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงตามกรรมว่า หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ

หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือว่าหมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

เราย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อม
รู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงตามกรรมด้วยประการดังนี้ พราหมณ์ วิชชาที่สองนี้แล เราได้บรรลุแล้วในมัชฌิมยามแห่งราตรี อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส ส่งจิตไปแล้วอยู่ฉะนั้น

ความชำแรกออกครั้งที่สองของเรานี้แล ได้เป็นเหมือนการทำลายออกจากกะเปาะฟองแห่งลูกไก่ ฉะนั้น

อาสวักขยญาณ

เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ เรานั้นได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ

เมื่อเรานั้นรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตได้หลุดพ้นแล้วแม้จากกามาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากภวาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ได้มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ได้รู้ด้วยปัญญาอันยิ่งว่า ชาติสิ้นแล้ว
พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี พราหมณ์ วิชชาที่สามนี้แล เราได้บรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว

ความมืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลสส่งจิตไปแล้วอยู่ ฉะนั้น ความชำแรกออกครั้งที่สามของเรานี้แล ได้เป็นเหมือนการทำลายออกจากกะเปาะฟองแห่งลูกไก่ ฉะนั้น
//www.palungjit.com/board/showthread.php?t=67735





 

Create Date : 17 สิงหาคม 2550    
Last Update : 9 กันยายน 2550 13:41:29 น.
Counter : 904 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  

ธิธารา
Location :
สุโขทัย Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add ธิธารา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.