Group Blog
 
All blogs
 

ดนตรีนำทาง (จุ๋ย จุ๋ยส์)





จุ๋ย-สุทธิพงศ์ สุทินรัมย์-จุ๋ย จุ๋ยส์ หนุ่มโคราชที่ขึ้นเหนือมาเล่าเรียนถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิจิตรศิลป์ แต่ด้วยความตั้งใจและความสามารถทางดนตรีทำให้ชีวิตของชายผู้นี้ต้องขึ้นเหนืออีกครั้งและไม่ใช่ทิศเหนือเหมือนก่อน แต่เป็น ‘เหนือชั้น’

Chang draught journey to Glastonbury Festival เป็นโครงการที่จัดขึ้นเมื่อปีที่แล้วคือ โครงการหาสองนักดนตรีรุ่นใหม่ร่วมไป Glastonbury Festival เทศกาลดนตรีกลางแจ้งที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก ณ ประเทศอังกฤษ เป็นเวลาสามวันสามคืนร่วมกับ T-Bone “ตอนนั้นผมเล่นดนตรีสดคนเดียวมานานหลายปี แล้วพอดีรู้จากนิตยสารHIP มีลงว่าเป็นงานเกี่ยวกับการแสดงความสามารถคนเดียว เขาบอกอยากได้แบบone man performance ก็สนใจเลยลองประกวดดู โดยที่รู้สึกว่ามันตรงกับทางตัวเอง ถ้าเกิดไม่ตรงก็คงไม่ประกวดเพราะไม่ชอบประกวดอะไรออยู่แล้วก็เลยลองดูครับ”สุทธิพงศ์เล่าถึงจุดเริ่มต้น

แล้วสุทธิพงศ์ก็ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสองคนนั้น...

แม้การเดินทางครั้งนี้ไม่ได้ไปในฐานะศิลปินที่ร่วมแสดงดนตรีบนเวทีอย่าง T-Bone หรือเสก-Loso ที่เคยได้รับเชิญให้ร่วมแสดงในเทศกาลนี้มาแล้ว แต่การเดินทางครั้งนี้ในฐานะของผู้ชมก็ให้อะไรกับสุทธิพงศ์ไม่น้อย “รู้สึกดีครับเพราะว่ามันเป็นงานดนตรีที่ยิ่งใหญ่ คือใจก็คิดไว้แล้วว่ามาครั้งนี้ต้องคุ้มแน่ๆ ได้ดูดนตรีที่อยากดูมากๆ เพราะมีหลายๆวงที่เป็นวงต่างประเทศระดับโลกทั้งนั้น พอได้ไปดูก็รู้สึกคุ้ม... คุ้มมากๆ”

แต่ก็ใช่ว่าสุทธิพงศ์จะไปดูชมเพียงอย่างเดียวเขายังได้มีโอกาสได้แสดงดนตรีที่ร้านไทยในลอนดอนอีกด้วย แม้เขาเองจะออกตัวก่อนว่าผู้ชมกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์เป็นนักเรียนไทยที่เรียนอยู่ที่นั้นแต่ก็เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่สุทธิพงศ์ได้โกอินเตอร์ก็ไม่ผิดนัก

“คนไทยที่นั่นคงจะคิดถึงเพลงไทยอยู่แล้วแหละเพราะอยู่ที่อยู่ตรงนั้นคงไม่ค่อยได้ฟัง อาจจะได้ฟังบ้างแต่ไม่ได้ฟังจากดนตรีสด พอเราเล่นดนตรีสดแล้วเป็นเพลงไทยให้เขาฟัง เขาก็รู้สึกชอบ ดีใจ อิ่มเอม สนุกสนานกันมาก วันนั้นรู้สึกเล่นไปประมาณสองเกือบสามชั่วโมงได้”เขาเล่าด้วยยิ้มที่ปิติ

ซึ่งการแสดงครั้งนั้นเป็นเหมือนการต่อยอดหรือเติมเชื้อไฟทางดนตรีให้แก่เขาและเป็นเสมือนแรงบันดาลใจที่ทำให้ทั้งเขาและคนดูประทับใจร่วมกันเสมอมา “มีอีกสองโชว์ที่น่าจดจำครับตั้งแต่เล่นดนตรีมา ครั้งแรกก็คือโชว์ครั้งแรกเลยในชีวิตที่เล่นดนตรีมาก็คือตั้งแต่สมัยปวช. แล้วก็มีอีกโชว์ที่ประทับใจก็คืองานFat Fes’โชว์เหนือที่ผ่านมารู้สึกประทับใจเพราะเป็นโชว์ที่คนดูเยอะที่สุดแล้วรู้สึกอบอุ่นแม้จะเล่นไม่กี่เพลงแต่รู้สึกว่าช่วงเวลานั้นมันคุ้มมากๆ คนดูรู้สึกสนุกไปกับเราๆก็มีความสุข”

ย้อนถึงความสนใจทางด้านดนตรี สุทธิพงศ์หัดเล่นกีต้าร์อย่างจริงจังเมื่ออายุสิบห้าปีหรือช่วงที่เรียนปวช. เป็นช่วงที่เขาฟังดนตรีมากขึ้น โดยได้แรงบันดาลใจจากวงดนตรีแนวกรั๊จน์ร็อคแหกคอกระดับโลกอย่าง...

“Nirvana คือวงจุดประกายหลักๆเลยครับ Kurt Cobain นี้เวลาเขาเล่นกีต้าร์ ในวีดีโอแสดงสด และอย่างในเพลง ก็คิดว่าสนุกดีก็เลยคิดจะหัดกีต้าร์อย่างจริงจัง ก็เลยเริ่มเล่นกีต้าร์มาตั้งแต่ตอนนั้นเลย”

ซึ่งอีกหลายปีต่อมาสุทธิพงศ์ ก็ได้ทำเพลงร่วมกับเพื่อน(แอร์-ณิชาภา จิตตลีลา)ที่เป็นเจ้าของค่าย ‘ฮก ล๊ก ซิ่ว’ที่เชียงใหม่ด้วย ชื่อชุด ‘The Devine Comedy’เพื่อไปขายในงานFat Fes’ครั้งที่ 6

จนถึงตอนนี้สุทธิพงศ์มีอัลบั้มE.P.ออกมา โดยมีชื่ออัลบั้มว่า ‘จุ๋ย จุ๋ยส์’ โดยมีโปรดิวเซอร์อย่าง ‘รังสรรค์ ราศี-ดิบ’ และมี HIP,Chiang Mai เป็นExecutive Producer ให้

ส่วนเนื้อร้อง,ทำนอง,เรียบเรียง,คอรัส,เบส,กลอง,กีต้าร์ และแน่นอนที่สุดนักร้อง-สุทธิพงศ์รับหน้าที่ทั้งหมดด้วยเหตุผลที่ว่าอยากให้เป็นตัวเองที่สุด “ไป Glastonbury กลับมาเลยอยากจะต่อยอดจากที่ไปดูดนตรีมาแล้วเราก็น่าจะนำมาทำอะไรกับเราบ้าง ไม่ใช่ดูมาแล้วก็หายไปเลยก็เลยคิดที่จะทำอัลบั้ม และเป็นการทดสอบศักยภาพว่าเราทำได้แค่ไหน”

จึงเกิดเป็นอัมบั้มที่มีเพลงแปลกแหวกแนวอย่างเพลง-อย่าขี้โม้ “เดี๋ยวนี้กระแสเพลงอย่าง J-pop หรือK-pop มาแรงมากในปีที่ผ่านมา คือวัยรุ่นส่วนมากจะชอบอะไรพวกนั้น ผมก็เลยอยากจะขำๆแบบเล่นๆ แต่ไม่ได้แต่งเป็นภาษาอะไรนะ จะไปตรงกับอะไรก็ละไว้ในฐานที่เข้าใจ” โดยความหมายของเพลงจะแฝงคำไทยไว้อย่างประโยคที่ร้องว่า‘อย่าขี้โม้’เหมือนกับชื่อเพลงซึ่งมีนัยยะแสดงถึงความไม่จริงใจที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันและด้วยจินตนาการบวกกับความสามารถของเขาจึงทำให้เพลงนี้ลงตัวมากทั้งคำร้องและท่วงทำนองทั้งๆที่ภาษาที่ร้องจงใจให้เหมือนภาษาญี่ปุ่นแต่ไม่ได้มีความหมายแต่อย่างใด มีเพียงประโยคๆเดียวเท่านั้นที่มีความหมายนั่นคืออย่าขี้โม้นั่นเอง

และเพลงอย่าง Circle Life แสดงถึงชีวิตที่เข้าใจโลกของสุทธิพงศ์ “เป็นการแต่งแบบให้คนโดยรวมได้เข้าใจ ไม่ใช่มาจากผมคนเดียว มาจากเพื่อนด้วย มาจากคนที่รู้จักและไม่รู้จัก คือเพลงนี้ไม่ได้เป็นเพลงที่ให้กำลังใจหรือลุกขึ้นสู้แต่เหมือนเป็นเพลงที่ให้เราปลงมากกว่า ก็คือเป็นนานาจิตตัง ของทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่คงทน”

ปัจจุบันสุทธิพงศ์ยังคงเล่นดนตรีประจำอยู่ที่ร้านลานกรวด จังหวัดเชียงใหม่ ถึงแม้ว่าเขาจะอยู่บนถนนสายดนตรีมานานเกือบสิบปีแต่ถนนสายนี้ก็ไม่เคยทำให้เขารู้สึกเบื่อเลย มีแต่จะให้เขาพัฒนาตัวเองและแสดงความเป็นตัวตนของเขามากขึ้น “ดนตรีให้อะไรเยอะนะครับ อย่างหนึ่งที่ได้เลยคืออาชีพ อาชีพที่เล่นกลางคืนนี่เป็นอาชีพของนักดนตรีและเป็นอาชีพของศิลปินที่ทำให้ได้เงินแต่คนกลับมองว่าคนที่เล่นกลางคืนไม่ใช่ศิลปินนอกจากออกเทป”

“อีกอย่างเหมือนเป็นการต่อความคิด เหมือนกับว่าพอเราได้แต่งเพลงเราได้มานั่งศึกษาเพลงของเราเอง พอได้มาศึกษาเองเราก็มีการพัฒนาเรื่องของความคิดต้องต่อยอดว่าจะบอกอย่างนี้ดีไหมหรือว่าจะบอกอย่างตรงๆหรือแยบยล”

และเมื่อถามถึงว่านอกจากได้รับแล้ว เราควรให้อะไรกับดนตรีบ้าง แม้เขาเองจะบอกว่าเป็นคำถามที่ตอบยาก แต่สุทธิพงศ์ก็พูดได้อย่างน่าสนใจไม่ว่าจะในฐานะของคนเล่นดนตรีกลางคืน,ศิลปินหรือแค่คนๆหนึ่ง

“พยายามสร้างมาตรฐาน ไม่อยากให้ดนตรีบ้านเรามันเป็นอะไรที่แบบพื้นๆ อยากให้เป็นอะไรที่สูงส่ง คือเวลาเราทำดนตรีอะไรมาเนี่ย คนเรามักคิดแค่ว่าแต่งเนื้อมานิดหนึ่ง ใส่ทำนองมานิดหนึ่ง มีตังค์หน่อยเข้าห้องอัด โปรโมทดีๆ เออมันก็เป็นดนตรี เราก็สร้างคนนี้เป็นศิลปินได้แล้ว สุดท้ายก็ได้ตังค์คืนมา แต่ผมไม่อยากให้คิดอย่างนั้นครับ อยากสร้างสรรค์งานเพลงที่เพิ่มคุณค่าให้เพลงไทยให้มันพัฒนาสูงขึ้น ให้มันมีมาตรฐานที่สูงขึ้น ไม่ใช่ให้มันอยู่กับที่หรือให้มันต่ำลง ซึ่งผมก็จะทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้”

‘Negative Thinking But Positive Doing’-เป็นคำโปรยด้านหลังของอัลบั้มจุ๋ย จุ๋ยส์ที่อ่านแล้วเข้าใจได้ไม่ยากแต่คนอย่างเราๆจะทำได้รึเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งอย่างน้อยสุทธิพงศ์ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ว่าจะเป็นใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ถ้าทำด้วยความมุ่งมันและตั้งใจแล้วสิ่งที่ทำจะนำทางให้เราพบเจอกับเรื่องดีๆ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใดก็ตาม...





 

Create Date : 16 มิถุนายน 2551    
Last Update : 20 มกราคม 2553 2:01:59 น.
Counter : 1403 Pageviews.  

ละครเวที ยินดีต้อนรับ..



จากเด็กหนุ่มที่ใช้ชีวิตและเติบโตจากเมืองนอก ที่เคยมีผลงานทั้งเป็นพิธีกรรายการ รวมถึงแสดงภาพยนตร์ แต่บัดนี้ อ้น นพพันธ์ บุญใหญ่ ได้กลายเป็นชายหนุ่มที่เปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบและบทบาทต่อการสื่อสาร ด้วยการมารับหน้าที่เป็นทั้งผู้กำกับและนักแสดงของสารที่ถูกสื่อออกมาอีกรูปแบบหนึ่ง..ที่เราเรียกว่า “ละครเวที”

“ตอนแรกเป็นนักแสดง แล้วก็เล่นหนังใช่ไหมฮะ แล้วก็ไม่ได้เรียนรู้ทางด้านนี้มาเลย มาจากอังกฤษน่ะครับ คือโตที่อังกฤษ แล้วก็เริ่มรู้สึกว่าเบื่อ ก็เลยไม่รู้จะทำอะไร ก็เลยกลับมาเมืองไทยแล้วก็อยากจะลองทำงานการแสดงอะไรอย่างนี้ ก็ไปคลุกคลีกับวงแคสติ้งเยอะๆ แล้วก็ได้เล่นหนัง2-3เรื่อง อันนี้พอดูผลงานของเรารู้สึกว่ามันไม่ค่อยดีเท่าไหร่ การแสดงเรามันไม่ค่อยดี เราก็นึกว่าเราควรที่จะทำให้มันดีกว่านี้ เราคิดว่าอะไรที่มันเป็นการแสดงที่มันบริสุทธิ์ที่สุด อะไรที่มันเพียวๆน่ะครับ ..ก็กลับไปคิดถึงละครเวที”

ด้วยจุดเริ่มต้นนี้จึงนำพาคนๆหนึ่งที่มุ่งหาความหมายของตัวเอง มาเจอสิ่งบางสิ่งที่นพพันธ์บอกว่ามันเหมือนมีแรงขับจากภายใน..

“ตอนนั้นบ้านอยู่อิทามระซอย3 เพื่อนก็บอกว่าเนี่ย ลองเข้าไปดูสิ เดี๋ยววันนึงเราพาเข้าไปดูละกันว่าเค้าทำอะไรกัน…ก็ลืมกัน..วันนึงผมก็เออ ลองเข้าไปดูซักทีดีกว่า อยู่แค่ตรงนี้เอง ก็เดินเข้าไปหาเค้าแล้วบอกว่า ผมชื่อ อ้น ชื่อนพพันธ์ มีอะไรให้ผมช่วยทำไหม แล้วก็พอดีมีงานละครเด็กเกี่ยวกับวงเพลงออเคสตร้า ก็เลยไปworkshopกับเค้า นั่นก็เป็นจุด..จุดแรกๆเลยมั้งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับละครเวที”

มะขามป้อมสตูดิโอคือเวทีของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่นพพันธ์ได้เข้าไปสัมผัส เรียนรู้ และเข้าใกล้ถึงสิ่งที่เค้าอยากจะสื่อมากขึ้น

“แต่พอเข้าไปมะขามป้อมก็ไปอยู่เดือนนึง แล้วก็แบบได้รู้สึกอะไรซักอย่างข้างในที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน เหมือนแบบคนที่มันหาที่ๆอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม พอตอนเราทำงานในหนังเราก็แบบมันเหมือนมีคนคอยมาเทคแคร์ ดูแลเราตลอด มีคนมารับส่ง มีคนมาคอยถามโอเคไหม เป็นอะไรไหม หิวน้ำไหม เราก็รู้สึกว่าพวกนี้มั้ง…ถ้าเกิดเราไม่ระวังตัว มันจะเหลิง เพราะว่ามันมีเส้นที่แบบว่า พอเราพักแล้ว เรากลับบ้านแล้ว เราเดินบนถนนเนี่ย.. แบบเฮ้ย…ไม่มีใครรู้จักเราเลย ไม่มีใครรู้เลย แล้วถ้าเกิดเราเอาไอ้อคติเนี่ยไปใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป มันจะทำให้เราไปผิดทางน่ะ เออก็ลองทำงานที่ไม่ได้อะไรเลยดีกว่า ได้วุฒิ ได้การศึกษามั่ง แล้วก็มะขามป้อมก็ให้อะไรกับเราเยอะมากๆ”



โดยเมื่อถามถึงละครที่นพพันธ์ทำ ว่าเริ่มหรือมีที่มาที่ไปอย่างไร จึงได้ทราบและปฏิเสธไม่ได้เลยว่าละครเวทีนั้นดึงดูดเค้ามากแค่ไหน

“คือก่อนที่จะทำละคร ก็ต้องดูละครก่อนนะฮะ ผมก็ดูละครไปเรื่อยๆ ในมุมมองของนักแสดงและ อยากแสดงอะไรอย่างเนี้ย แต่ก็ไม่ได้มีโอกาสมากเท่าไหร่ แล้วก็ได้ร่วมงานกับ พระจันทร์เสี้ยว กับบีฟลอร์ ได้ร่วมงาน ได้เล่นละครของพระจันทร์เสี้ยวไปสองเรื่อง แล้วก็ได้เก็บเกี่ยวทักษะ และประสบการณ์ ไอ้การ ดูนี่แหละเป็นตัวช่วยนะ ดูละครของพี่มิกรณ์แล้วรู้สึกว่า..อยาก อยากทำละครบ้าง เพราะว่าวิธีที่เค้านำเสนอ มันน่าสนใจมาก ชื่อเรื่องเม้าท์น่ะครับ เราติดใจมาก แล้วก็รู้สึกว่าเนี่ยแหละละครมันต้องได้อารมณ์เนี้ย เพราะว่า สำหรับคนดูนะ มันไม่มีอะไรเลยนอกจากการแสดง กับนักแสดงในห้องสี่เหลี่ยม คือมันเต็มมากเลยไง แล้วมัน ประทับใจ”

เมื่อทุกอย่างเป็นใจ และการกำกับรวมถึงการแสดงเรื่องแรกก็เกิดขึ้น‘ดอกไม้ในแสงแดด’คือละครเรื่องนั้น คนดูว่ายังไงอันนี้ยอมรับว่าไม่ทราบครับคงพูดแทนไม่ได้ แต่ที่ทราบคือกว่าสามรอบครับที่ละครเรื่องนี้เพิ่ม(รอบ)ขึ้น

“เค้า(คนดู)ก็ชอบนะฮะตอนแรกผมก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากคือเรารู้งานของเรามันมีอะไรน่าสนใจในวิธีการเสนอ แต่เนื้อหามันก็เหมือนเดิมมันไม่มีอะไรแปลกใหม่เลยมันก็เหมือนเดิมทั่วไปแต่เราเชื่อว่าการเล่าของเรามันมีอะไรที่มันน่าค้นหาสำหรับคนดูเพราะเราไม่ได้เปิดเราไม่ได้บอกอะไรแต่เราถามมากกว่าเราตั้งคำถาม ให้กับคนดูมาคิด เรื่องนี้อีกที คือตอนแรกมันออกดราม่านิดๆ เลยลบออกไปเป็นคอมเมดี้ แต่ไม่คอมเมดี้แบบตั้งใจหัวเราะ เป็นคอมเมดี้แบบอารมณ์สนุกๆน่ะครับ คือทำเพื่อให้คนดูรู้สึกดี ..คืออยากมอบความสุขให้กับคนดูในตอนที่เค้าได้ดู หรือไม่ก็มอบอะไรสักอย่าง..ให้เค้าคิดอะไรซักอย่าง ให้เค้าเอาไปคิด ไม่ใช่ดูเสร็จแล้วก็..จบ ลืมไป”

กับละครเวทีเรื่องใหม่ Welcome to nothing เป็นการ์ตูนที่นพพันธ์เขียนขึ้นมาปีที่แล้ว ละครเรื่องนี้มีคอนเซปมาจากการ์ตูน เป็นเรื่องราวหลายๆตอนที่ไม่เกี่ยวข้องกัน มีตัวละครหลายตัว สถานการณ์หลายแบบ หลายรส หลายอารมณ์ โดยมีคำนิยามของเรื่องที่ว่า “ DON'T THINK – JUST FEEL!!”



“ก็สนุกดีครับ เพิ่งเริ่มต้น เพิ่งจับบทขึ้นมาอ่าน เพิ่งซ้อมไปก็สนุกดี มีความสุข เพราะมันมีอะไรที่มันจั๊กกะจี๋ๆ เห็นนักแสดงเล่นอึดอัดแล้วจั๊กกะจี๋ดีเพราะว่ามีผู้ชายสามคนเล่นแล้วเล่นเป็นทุกอย่างเป็นผู้หญิง เป็นทุกวัย เป็นทุกเพศอะไรอย่างเนี้ย เพราะเรารู้สึกว่านักแสดงไม่น่าจะมีขีดจำกัดที่เล่นได้บทเดียว น่าจะเล่นหรือลองเล่นได้หมด.. สนุก เอาสนุกอย่างเดียวไม่ได้เอาความจริง สาระมันมาจากความจริงแต่ว่าเราไม่ได้นำเสนอความจริง เราเสนอหรือสะท้อนบางmomentที่เล่าถึง เป็นmomentบางmomentของชีวิต”

ซึ่งสุดท้ายแล้วนพพันธ์ได้พูดถึงอนาคตว่าอยากอยู่ตรงนี้ไปนานที่สุดเท่าที่จะทำได้และพูดถึงเรื่องพื้นที่ที่จะทำให้คนเข้าใจละครเวทีมากขึ้น ได้แรงบัลดาลใจมากขึ้นและหวังว่าจะกลับมาดูอีก แม้สิ่งที่นพพันธ์ทำอาจดูเหมือนไม่อยู่ในกระแส แต่ถ้าเราจะปล่อยให้แต่กระแสหลักพัดผ่านเราแต่อย่างเดียว ก็อาจจะฟังดูเหมือนเราจำกัดตัวเองมากจนเกินไป ก็หวังได้แต่เฝ้าคิดให้เรารู้จักWelcomeก่อน เพราะบางอย่างอาจจะไม่ได้Nothingอย่างที่คิดๆกันก็เป็นได้..








There Are Some Remedies Worse Then The Disease - THIS WILL DESTROY YOU




 

Create Date : 18 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 8 มิถุนายน 2551 17:30:48 น.
Counter : 758 Pageviews.  

..กับ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

ถาม : อยากจะสัมภาษณ์เกี่ยวกับการทำงานของบรรณาธิการ องค์ประกอบ รวมไปถึงเรื่องการ
เขียนด้วยครับ ...ตอนนี้ทำงานเกี่ยวกับอะไรบ้างครับ เป็นบรรณาธิการนิตยสาร open ?
ภิญโญ : ครับ สำนักพิมพ์ open และก็เป็นคอลัมนิสต์บ้างเล็กน้อย


ถาม : นอกจากบก.มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลคัดเลือกเรื่องที่จะลงหนังสือ เลือกthemeหนังสือ คอยตรวจเช็คและควบคุมเรื่องเนื้อหาแล้ว ในปัจจุบันนี้มีการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจหนังสือและมีการพูดว่าบก.สมัยนี้มีการปล่อยผ่านไปมาก ไม่ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดเท่า
สมัยก่อน มีความคิดเห็นอย่างไรครับ?
ภิญโญ : คือบรรณาธิการสมัยก่อน เวลาเค้าทำหนังสือ บรรณาธิการจะเป็นคนที่หนึ่งมีความรู้ รู้ว่างานที่
ดีน่ะเป็นยังไง มีทักษะในเรื่องภาษา รู้ว่าภาษาที่ผิดที่ถูกเป็นยังไง และบรรณาธิการจะช่วยนักเขียนได้เยอะในการ “เหลา” สิ่งที่นักเขียนทำมาให้มันเนียนขึ้น และก็แก้ภาษาที่ผิดให้เป็นภาษาที่ถูกต้อง คือทั้งขัดเกลาและแก้ไขงานให้มันไปอย่างถูกที่ถูกทาง แต่ทีนี้ช่วงหลังๆอย่างที่ว่ามา คือเวลามันน้อยลง เนื่องจากตลาดการแข่งขันในหนังสือมันสูงขึ้น พอตลาดการแข่งขันมันสูงมันก็บังคับให้สำนักพิมพ์ออกหนังสือในอัตราที่มันเร่งขึ้นเพราะว่าแต่ละเล่มมันขายได้น้อยลง มันไม่สามารถทำหนังสือสามเล่ม หรือห้าเล่มในปีหนึ่งแล้วสำนักพิมพ์จะอยู่ได้ อาจจะต้องเป็นสิบเล่ม ยี่สิบเล่ม เพราะอัตราการพิมพ์ซ้ำมันน้อยลง สมัยก่อนทำหนังสือเล่มนึง ถ้าขายดีก็พิมพ์ซ้ำไปเรื่อยๆ สำนักพิมพ์ก็อยู่ได้ แต่พอสถานการณ์การแข่งขันมันเปลี่ยน หนังสือเล่มหนึ่งขายได้น้อย การพิมพ์ซ้ำก็ไม่มี มันทำให้สถานการณ์ในสำนักพิมพ์ต้องพิมพ์หนังสือออกมาใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ แต่ทีนี้ว่า สำนักพิมพ์ก็ไม่สามารถใช้คนเยอะได้ เพราะถ้าใช้คนเยอะก็เจ๊งอยู่ดี พอต้องใช้คนน้อย ความละเอียดมันก็ต้องถูกลดลงไปตามปริมาณงาน ....ในเมื่อสถาณการณ์เป็นอย่างนี้ บทบาทของคนที่ทำสำนักพิมพ์ บรรณาธิการเอง หรือว่าทีมงานเองก็ไม่สามารถไปช่วยนักเขียนได้มากเท่าที่ควร อันนี้ด้านหนึ่ง คือ1. เวลามันน้อย คุณภาพการทำงานมันเลยลดลงไป กับ2. คนที่มันเก่งจริงๆที่เดินเข้าสู้วงการหนังสือมันก็น้อยลงไปด้วย คนที่รู้ภาษาดี และมีความเข้าใจที่หลากหลายรอบด้านที่จะสามารถทำได้ คือเราจะไปเกลางานจะไปแก้ไขงานเค้าได้เนี่ย ต้องมีความรู้พอสมควร อาจจะไม่ต้องรู้เท่าเค้าแต่อย่างน้อยภาษาไทยต้องดี ก็ต้องรู้ว่าที่แก้เนี่ยไม่ได้ไปแก้ให้เค้าเสียหาย แต่แก้ไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งคนเหล่านี้เช่นพวก proof reader (พิสูจน์ตัวอักษร)คอยดูว่าผิดหรือถูกเนี่ย ยังหาไม่ค่อยได้เลย ถามถามพวกเด็กๆที่จบนิเทศศาสตร์มาว่า อยากเป็น proof reader ไหม? ถามจริง มีใครอยากเป็นไหม ไม่มีหรอก เพราะเค้าไม่อยากเป็นกันหรอก ในขณะที่คนรุ่นก่อน เช่น คุณปกรณ์ ที่เป็นเจ้าของ GM ถามว่าคุณปกรณ์ ทำอะไรมาก่อนในชีวิต? งานแรกที่แกทำในวงการหนังสือ หลังจากที่เป็นเซลล์แมนมาแล้วเนี่ยคือเป็น proof reader ของนิตยสารดิฉัน คืออาณาจักร GM Group ที่ทำ GM , GM2000 ,Home Decore เนี่ย เจ้าของเริ่มจากการเป็น proof reader เห็นไหม? ถ้าเล่าให้คนรุ่นนี้ฟังจะเชื่อมั้ย? จะเชื่อในทฤษฎีนี้ต่อไปมั้ยว่าจะต้องผ่านการเป็น proof readerก่อนแล้ววันนึงอาจจะได้เป็นเจ้าของนิตยสาร เด็กสมัยนี้เค้าก็จะไม่เชื่อในทฤษฎีนี้อีกแล้ว บอกว่ามันไม่จริง มันช้าไป ฉะนั้นทุกคนก็จะไม่อยากเป็น สิ่งที่พวกคุณเรียนก็จะไม่เรียนพิสูจน์อักษรละ แต่เรียนเขียนบทบรรณาธิการ นึกภาพออกมั้ย? ร่นเวลา..
แต่ปัญหาคือ การจะทำงานระดับเขียนบทบรรณาธิการได้เนี่ย มันไม่ใช่เป็นเรื่องทักษะในการเขียน มันเป็นเรื่องประสบการณ์ในชีวิต มุมมองที่มีต่อโลก ข้อมูลที่คุณมีต่อสถาณการณ์การเมือง เหตุการณ์ปัจจุบัน ความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ถามว่า..ประเทศไทยเกิดปัญหาวิกฤติค่าเงินบาทค่าเงินแข็งขึ้น อเมริกาเกิดปัญหา ..ลดดอกเบี้ย assignซิว่าเกี่ยวกับบรรณาธิการยังไง? ก็เลยคิดว่า เอ๊ะ!..มันจะสอนกันยังไงวิชาเนี้ย มันไม่ได้สอนกันด้วยทักษะการเขียน มันสอนกันด้วยความรู้ และคนที่เขียนมันต้องมีความรู้เฉพาะทางมาก แล้วก็ลึกซึ้งมาก แล้วก็ต้องบอกได้ด้วยว่าจะให้มันแก้ยังไง หรือว่าไปทางไหน รัฐบาลควรจะมีบทบาทยังไง แล้ววิชานี้มันสอนกันในมหาวิทยาลัยได้ยังไง? คือสอนได้ แต่คนนั้นจะต้องเก่งมากจริงๆครบทุกทาง ผมก็เลยสงสัยว่าแล้วเรียนกันยังไง? มันเป็นทักษะที่ยาก ก็เลยกลายเป็นสถาณการณ์ที่ว่า มันก็เลยขาด..ไปหมดทุกอย่าง ก็คือว่า ด้านหนึ่งในการแข่งขัน เราต้องทำงานในอัตราเร่ง อีกด้านก็คือคุณภาพบุคลากรที่เข้าสู่วงการมันน้อย เพราะว่ามันเป็นมาตั้งแต่ปัญหาในระบบการศึกษา บางทีเขียนหนังสือยังไม่ถูกเลย แต่ไปเขียนบทบรรณาธิการแล้ว ความรู้ยังไม่มีเลย แต่แสดงทรรศนะแล้ว มันทำแบบshort cut หรือว่าข้ามขั้นอย่างรวดเร็ว มันทำให้ฐานในการผลิตคนเข้าสู่กระบวนการทำงานมันไม่มี ยิ่งคนที่จะมาเป็นบรรณาธิการ ทำสำนักพิมพ์ได้ มันต้องผ่านการเคี่ยวกรำมาเยอะ ต้องผ่านการเป็นนักข่าวมาก่อน ต้องเขียนหนังสือของตัวเองได้ ต้องจับประเด็นเป็น ต้องทำเป็นหลายอย่าง ต้องคุยกับนักเขียนได้ด้วย สื่อสารกันรู้เรื่อง เราต้องบอกเค้าได้หลายอย่าง
จริงๆบรรณาธิการไม่ได้มีหน้าที่ทำแค่ที่รู้ๆแค่นี้ แต่มันต้องมองงานให้ออกว่า งานที่เค้าส่งมาให้เราเนี่ย ความคิดมันคืออะไร? Concept ของงานมันคืออะไร ? แล้วถ้าเราจะทำมันออกมาเป็นเล่มจะนำเสนอมันยังไง ให้สังคมรับมันได้? เพราะว่างานที่เราทำมันไม่ใช่นวนิยาย มันเป็น non-fiction เป็นสารคดี เป็นบทความ ฉะนั้นบทความมันมาสะเปะสปะ ไม่ได้จบมาเป็นเล่มๆเหมือนนิยาย ซึ่งถ้าเป็นนิยายบก.ไม่ได้ทำอะไรมันเยอะ เพรานักเขียนเค้าจะทำการบ้านมาหมดแล้วในตรงนั้น เราก็แค่ช่วยในด้านภาษา ถ้าเราเจ๋งจริงเราก็อาจจะมานั่งถกกับเค้าในเรื่องพลอตเรื่อง ว่าตรงนั้นมันแข็ง ตรงนั้นมันอ่อน หรืออะไรแบบนั้น ซึ่งนั่นก็เป็นทักษะซึ่งคนรุ่นก่อนเก่ง แต่คนรุ่นนี้ไม่เหลือแล้วที่จะไปช่วยไปแก้ไขงานให้นักเขียนเก่งๆได้ ซึ่งนักเขียนเค้าต้องการ แต่ปัญหาคือไม่มีบรรณาธิการที่เก่งอย่างนั้น..ไม่มี เพราะมันถูกทำให้สูญสลายไปตามวันเวลา
สมัยก่อนบรรณาธิการที่เก่งๆเพราะว่านักเขียนเวลาจะทำนิยายหรือว่าทำเรื่องสั้น เค้าส่งมาลงนิตยสารก่อนแล้วบรรณาธิการจะเกลา จะแก้ให้รอบแรกก่อน ทีนี้พอไปเป็นเล่ม บรรณาธิการก็สามารถใช้ทักษะที่ตัวเองมีในระหว่างทำนิตยสารไปช่วยเค้า บรรณาธิการผ่านการฝึกฝนตัวเองและผ่านความน่าเชื่อถือของการติดต่อกับนักเขียนมา แต่เดี๋ยวนี้พอนิตยสารไม่ได้ทำเรื่องแบบนี้อีกต่อไปแล้ว มันมีนิตยสารเล่มไหนอีกที่ลงนิยาย ลงเรื่องสั้นบ้างล่ะ? เล่มที่พวกคุณอ่านกัน ไม่นับพวกนิตยสารป้า พวกสกุลไทย ขวัญเรือน เล่มพวกนั้นเค้ายังทำหน้าที่ของเค้าอยู่ แต่ร่วมสมัยมันไม่มี มันกลายเป็นเรื่องแฟชั่น เรื่องรถยนตร์อะไรไป แล้วบรรณาธิการหายไปไหน บรรณาธิการมันก็เลยหายไปกับกระบวนการเหล่านี้

ถาม : มันไม่มีคนมาสืบต่อ ใช่ไหมครับ?
ภิญโญ : ใช่ มันไม่มีทักษะในการสร้างบรรณาธิการขึ้นมา พอไม่มีทักษะในการสร้างบรรณาธิการ
บรรณาธิการมันก็ไม่มี มันก็ขาดตลาดในการที่จะทำหน้าที่ เพราะผลตอบแทนมันก็ต่ำด้วย คือทั้งหมดมันเชื่อมโยงกันหมด ไม่สามารถไปโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่งได้ แต่พอสังคมมันเปลี่ยน รูปแบบการแข่งขันมันเปลี่ยนมันก็บังคับให้อุตสาหกรรมทั้งหมดมันต้องเคลื่อนมาแบบนี้ พอเคลื่อนมาแบบนี้ proof readerคุณภาพก็ไม่มี หาคนทำไม่ได้ พอไม่สามารถเริ่มจาก proof reader เพราะ proof reader ไม่อ่านหนังสือมาก่อน ก็เป็นบรรณาธิการไม่ได้ ไม่เคยเป็นนักข่าวที่ดีๆมาก่อน ก็เป็นบรรณาธิการที่จะeditบทความดีๆไม่ได้ ไม่เคยอ่านงานมาก่อน ไม่เคยเข้าใจconceptก็ทำต่อไม่ได้ มันก็เลยขาดช่วง พอขาดช่วง คนที่เขียนลงตำแหน่งว่าบรรณาธิการในสำนักพิมพ์ ก็แค่เอางานเค้ามารวมๆกัน ติดต่อกับโรงพิมพ์แล้วก็ส่งไป จบแค่นั้น จะให้คิดconceptก็ไม่ได้ จะแก้ไขก็ไม่ได้ จะวิจารณ์ติติงก็ไม่ได้ ไอ้งานพวกนี้มันก็เลยขาดไปทั้งระบบ ตอนนี้บรรณาธิการก็เลยเป็นแค่ messenger ที่รับส่งต้นฉบับจากนักเขียน รวมแล้วก็ส่งไป ไม่สามารถช่วย..ให้เกิดการเกื้อกูลกันในกระบวนการทำงานได้ บรรณาธิการดีๆก็เลยเดือดร้อนกันไป เพราะว่ากระบวนการบังคับให้เป็นแบบนี้

ถาม : นักเขียนเลยต้องเก่งด้วยตัวเอง ใช่ไหมครับ?
ภิญโญ : ใช่..นักเขียนเลยต้องเก่งด้วยตัวเอง และเขียนให้จบด้วยตัวเอง ทีนี้ ในเมื่อการแข่งขันมันเป็นอย่างนี้
บรรณาธิการหรือคนทำสำนักพิมพ์มันต้องเคลื่อนไปสู่การทำงานด้านธุรกิจมากขึ้น ไม่งั้นหนังสือมันขายไม่ได้ ถ้าขายไม่ได้มันก็พัง บรรณาธิการก็เลยต้องไปดูแลเรื่องการผลิต ไปดูแลว่า..จะขายมันยังไง? ก้าวข้ามจากด้านการทำงานด้านตัวอักษร ไปสู่การทำงานด้านการตลาด และการคิดโดยการคิด concept คือการขายของว่าจะขายหนังสือพวกนี้ยังไง จะ Design ยังไง? บรรณาธิการเลยก้าวไปสู่การทำงานเรื่องนั้นมากขึ้น มันเลยไม่ได้จำกัดตัวเองแค่งานเขียน .. ก้าวข้ามพรมแดน ไปสู่มิติใหม่ การขายเล่มนี้ยังไง ไม่ได้หมายถึงวางขายนะ หมายถึงจะคิด Concept แล้วเอามันไปขายยังไง ในฐานะอะไร

ถาม : ถ้าอย่างนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นนักเขียนมาก่อน?
ภิญโญ : แต่ถ้าไม่เป็นนักเขียนมาก่อน ไม่เป็นเรื่องพวกนี้มาก่อน ก็จะไม่รู้ จะคิดขายมันไม่ได้ แต่จะคิดขาย
มันแบบสินค้าที่เป็น “สบู่” เหมือนไปขายขนมอบกรอบ ซึ่งสิ่งที่เป็นสินค้าวัฒนธรรม ถ้าคุณไม่มีวัฒนธรรม ก็จะขายมันแบบคนไม่มีวัฒนธรรม ซึ่งในที่สุดมันก็จะทำลายตัวหนังสือ ...ถ้าคุณไม่กินกาแฟ คุณก็จะชงกาแฟไม่ได้ เรื่องบางเรื่องมันเหมือนกับมันต้องพอได้ คุณไม่สามารถเรียนว่ายน้ำ ด้วยการอ่านหนังสือได้ มันเรียนได้ล่ะ แต่มันว่ายไม่เป็นหรอก ฉะนั้นมันต้องมีทักษะพื้นฐาน อาจจะไม่ต้องว่าเคยเป็นนักเขียนมาก่อน อาจจะไม่ต้องเคยเขียนงานมาก่อน แต่อย่างน้อยคุณก็ต้องอ่านหนังสือมาเยอะพอสมควร ต้องลงไปขลุกกับมันมาก่อนมันถึงจะคุยกันรู้เรื่อง ภาษาเดียวกัน ถ้าเป็นมาด้วยก็โอเค..ได้เปรียบ มันคุยกันรู้เรื่องว่าทำไมต้องแก้ตรงนี้ ทำไมต้องเขียนตรงนี้ ถ้ามันไม่เป็นเลย มัน...จะบอกเค้ายังไง? สมมติว่าวันนึง คุณอยู่ในวัยเยาว์ แล้วว่าพ่อแม่คุณทำสำนักพิมพ์มา หรือทำนิตยสารมา แล้ววันนึงพ่อแม่ก็ retire แล้วให้คุณมาคุมบริหารนิตยสาร ถามว่าทำได้ไหม ..ได้ ในทางธุรกิจ แต่ถามว่าจะไปสั่งงานกองบรรณาธิการได้มั้ย? ..สั่งได้..ในการที่บอกว่าจะทำเรื่องนั้น เรื่องนี้ แต่ความคมคายทางความคิด หรือจะไปสั่งแก้เค้า ความชอบธรรมที่จะเข้าไปจัดการ มันไม่มี ..เค้าไม่เชื่อเรา เพราะว่าเราไม่มีทักษะอะไรเลย คือมันต้องมีความชอบธรรมอันนี้และความชอบธรรมนี้มันเกิดจากประสบการณ์ชีวิต ประสบการณ์ในการทำงาน
หนังสือมันเป็นงานที่ละเอียด เหมือนเอาคนจากข้างนอกเข้ามาทำงานอยู่ฝ่ายคัดสรรหนังสือ แต่ตัวเองไม่เคยอ่านหนังสือเลย แล้วมันจะคัดสรรหนังสือยังไง? ถ้าเราไม่ลงไปสู่ความลึกซื้งของมัน เราก็จะไม่สามารถเลือกงานต่างๆได้ คือถ้าไม่ลงน้ำ ก็จับปลาไม่ได้ ไม่งั้นก็จะได้กินแต่ปลากระป๋อง


ถาม : มีวิธีการเลือกเรื่องที่จะมาลงเป็น Pocket Book อย่างไร ดูจากอะไร ?
ภิญโญ : คือมันดูอยู่ สอง สามส่วน ส่วนแรกคือ ต้องชอบมันก่อน มันเป็นรสนิยมส่วนตัว เหมือนเวลาเลือกซื้อ
ของ เหมือนเลือกอะไรทั้งหมด มันไม่มีว่าอะไร ดีกว่าอะไร ก็คือ..ตัวเองชอบอะไร?..ชอบงานแนวไหน? คือสิ่งที่คุณทำในงานทางศิลปะหรือวัฒนธรรม..คือมันสะท้อนรสนิยม สองคือ ถ้าคิดไปไกลกว่านั้น คือว่า..คนอ่านทั่วๆไปที่อ่าน ลองดูว่า รับได้มั้ย? คือถ้ารับได้ รู้สึกว่ามันจะไปได้เยอะมันก็จะสะท้อนออกมาเป็นยอดขาย หนังสือก็จะขายดีหน่อย แต่ถ้าคิดว่าถ้าหนังสือมันยาก ถึงแม้ว่าเราจะชอบ มันก็จะสะท้อนออกมา เราจะรู้ตั้งแต่ต้น หนังสือเล่มนี้พิมพ์ได้นะ แต่มันจะขายได้ไม่เยอะ เราก็ต้องทำใจไว้บ้าง ...แล้วก็ดูผลกระทบหลายๆอย่างในวงกว้าง หนังสือบางเล่มมันอ่อนไหว ทางการเมือง ทางสังคม เราก็ต้องดูว่า เราจะทำยังไงไม่ให้มันไปกระแทก กระทั้นใส่คนมากนักในบางจังหวะเวลา ก็ต้องระวัง ป้องกันให้กับตัวนักเขียนด้วย เพราะว่าบางทีเราทำหนังสือการเมืองเยอะ ก็ช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมาการเมืองไทยมันผันผวนมาก บางทีก็ต้องระวัง ..ไม่ใช่ไม่พิมพ์นะ..พิมพ์ แต่ต้องระวังว่าจะเสนอมันยังไง ให้มันเนียน....


ถาม : ไปตามกระแสด้วยรึเปล่าครับ?
ภิญโญ : มันไม่เชิงกระแส คือ สำนักพิมพ์เป็นคนที่ดูต้นฉบับก่อน ก่อนที่เราจะเสนอไปสู่ตลาด ทีนี้ว่าถ้าเรา
บ้าเลือด เห็นมันมัน เราก็ซัดๆๆเพื่อเอายอดขายอย่างเดียว ผลกระทบมันก็ตกไปอยู่ที่นักเขียน คือบางเรื่องมัน sensitive เราก็ต้องดูให้นักเขียนว่าเราเอาแค่ไหนให้พอดี หาทางหนีทีไล่ให้เค้าด้วย เช่นสมมติว่าตอนนี้ การปะทะกันทางการเมืองมันรุนแรง เราเล่นเรื่องสถาบันกันเยอะ เราจะอัดแต่เรื่องสถาบันอย่างเดียว สถาบันในที่นี้หมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ คนอาจจะชอบว่า...เฮ้ย..คุณกล้า แต่ผลกระทบมันตกไปอยู่ที่นักเขียนเยอะ มันต้องหาความพอดีว่า..สถาบันวิจารณ์ได้มั้ย? พระเจ้าอยู่หัวบอกว่าวิจารณ์ได้ ..King can do wrong ..แต่ก็ไม่ใช่ว่าคุณซัดแหลกเลย คุณก็ต้องรู้ว่าประเทศไทยยังปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระมหากษัตริย์บอกว่าวิจารณ์ได้..จริง..แต่ถ้าคุณวิจารณ์ คุณก็ถูกฟ้องได้ กฎหมายมันมีอยู่ ก็ต้องดูว่าเส้นที่มันพอดีมันอยู่ตรงไหน ถ้าคุณข้ามเส้นเค้าก็จับคุณ ก็แค่นั้น ยิ่งมันมีความละเอียดอ่อนในเรื่องพวกนี้ มันก็ต้องรู้ว่าความพอดีอยู่ตรงไหน ในเรื่องที่มันอ่อนไหว ถ้าเรื่องทั่วๆไปก็ไม่มีปัญหา
ถาม : เรื่องอ่อนไหว นี่ เช่น...มีอะไรบ้างครับ ? การเมือง...?
ภิญโญ : การเมืองไม่ใช่เรื่องอ่อนไหว แต่มันเรื่องที่เป็นการวิจารณ์ที่มันเลยเส้นกฎหมาย เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีอย่างนี้ คุณวิจารณ์ได้แต่คุณอย่าข้ามเส้น ข้ามเส้นเมื่อไหร่เค้าก็จับคุณ ถ้าคุณพร้อมโดนจับก็โอเค แต่ถ้าคุณไม่พร้อมโดนจับ ก็อย่าข้ามเส้น แต่ว่าวิจารณ์ได้ ไม่ใช่ว่าวิจารณ์ไม่ได้ วิจารณ์รัฐบาลได้นะ ไม่ต้องกลัว กฎหมายไม่ได้คุ้มครองรัฐบาล กฎหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์เท่านั้น

ถาม : ครับ อย่างหนังสือของ OPEN ส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาหนัก มีกลยุทธ์อย่างไรให้
เข้าถึงคนอ่านได้ง่ายครับ ? ด้วยเนื้อหาที่มันหนัก
ภิญโญ : เนื้อหามันหนักอยู่แล้ว ถ้าเราทำรูปแบบให้มันหนักอีก มันก็จะตายกันหมด คนอ่านก็จะอ่านกันไม่
ค่อยไหว ฉะนั้นศิลปกรรมที่เข้ามาใช้ในการทำให้รูปแบบมันดูง่ายขึ้น มันก็จะช่วยให้คนเสพเนื้อหาที่ยากได้ง่ายขึ้น ฉะนั้นการจัดวางรูปเล่ม การออกแบบปก การdesignของมันมีส่วนช่วยได้เยอะส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็คือ ต้องพยายามหาวิธีบอกเล่าเนื้อหาหนักๆให้มันง่ายขึ้น แล้วก็ทำให้มันชัดเจน ว่านี่เราพูดเรื่องอะไร หนังสือเล่มนี้จะพูดว่าอะไร ให้รู้กันไปเลยว่าคนซื้อหนังสือเล่มนี้จะโดนอะไร คนเค้าก็จะได้ชัดๆกันไปเลยว่า ถ้าคุณซื้อคุณจะเจอเรื่องนี้นะ คุณไม่ต้องมาผิดหวังว่า..โห ทำไมมันหนักจังเลย ก็เพราะว่ามันหนักไง

ถาม : ก็คือ ทำให้ชัดเจนไปเลย
ภิญโญ : ใช่..ก็ทำให้มันชัด หากลุ่มให้เจอ

ถาม : แล้วอย่าง OPEN นี่ มองกลุ่มคนซื้อแบบไหนไว้ครับ?
ภิญโญ : เราไม่ได้จำกัดกลุ่มการตลาดหรอก จริงๆแล้วเวลาทำหนังสือหรือว่าทำสินค้าวัฒนธรรม คือแค่ทำสิ่ง
ที่ชอบ ทำไปเรื่อยๆเดี๋ยวมันก็จะเจอกลุ่มเอง มันก็บอกยาก เพราะตอนทำเราไม่คิดหรอก เช่นว่า..เราจะจับกลุ่มผู้ชาย หน้าขาว อายุ24-25 ..26เราไม่เอานะ มันไม่ได้คิดอย่างนั้นเวลาทำสินค้าวัฒนธรรม คือเราทำไปเรื่อยๆชอบแบบไหนก็ทำ ใครอ่านก็อ่าน แต่มันคงไปสร้างกลุ่มคนอ่านของมันขึ้นมาเอง ด้วยกระบวนการของมันเอง ไม่ใช่เราไปเลือกแล้วก็สร้าง มันกลับด้านกัน เราไม่ทำสินค้าแบบพวกนักการตลาดที่ว่าจะเจาะกลุ่มนั้น กลุ่มนี้ ไม่ว่าจะกลุ่มไหน เราก็ทำของเราอย่างนี้ล่ะ เพียงแต่ว่าถ้าอ่าน..ก็ขอบคุณ มันก็เกิดการอ่านขึ้นมาของกลุ่มคน อาจจะตั้งแต่นักเรียนไปจนถึงมหาวิทยาลัย เลื่อนไปถึงคนที่จบทำงานแล้ว คนสูงอายุก็อ่านได้เพราะมันไม่ได้คิดในเชิงสินค้าการตลาด

ถาม : แล้วอย่างสำนักพิมพ์อื่น หรือนิตยสารอื่น เค้าคิดอย่างนี้หรือเปล่าครับ?
ภิญโญ : คือไปตอบแทนเค้าไม่ได้น่ะ แต่เราคิดอย่างนี้ เราก็ทำแบบที่เราเชี่อ สมัยก่อนสมมติคุณปลูกข้าว คุณ
คิดมั้ยว่ากลุ่มผู้บริโภคเป็นใคร..ข้าวหอมมะลิจากเสาไห้เจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ชายอายุ20ปี ที่ใช้โฟม ล้างหน้า อย่างนี้หรอ? หรือว่าคุณปลูกข้าวก็เพราะคุณปลูกข้าว ..หรือว่าเคยคิดไหมสมมติคุณทำอ้อย ปลูกอ้อยหรือปลูกสับปะรด คิดมั้ยว่ากลุ่มเป้าหมายคุณเป็นใคร? คุณก็ปลูกมันไปน่ะ ยิ่งถ้าคุณทำสวน พวกสวนผลไม้เนี่ย หรือว่าเลี้ยงปลา คุณเคยคิดมั้ยว่า กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร? ก็ไม่เคยหรอก เค้าก็ทำๆกันไป บางทีเช่นพวก mass media อย่างทีวีเนี่ย ละครหลังข่าวนี่กลุ่มเป้าหมายเป็นใครหรอ? พวกคุณดูมั้ย? มันก็ตลกนะ กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร เป็นยาย? เป็นแม่นั่งดูอยู่ที่บ้าน ลูกเรามันก็ดูด้วย ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายแต่ได้ดูทุกที เพราะว่ามันเชื่อมโยงกันอย่างนี้ไง กลุ่มเป้าหมายพวกละครทีวีหลังข่าวนี่ ตั้งแต่5ขวบ ยัน60เลยน่ะ

ถาม : ย้อนถามถึงหนังสือทั้ง2เล่มนะครับ อย่างหนังสือFoolstop พี่มีแนวคิดอย่างไรในการทำ
หนังสือเล่มนี้ขึ้นมา?
ภิญโญ : Foolstop นี่เขียนตั้งแต่ตอนลงใน GM ตอนนั้นเค้าอยากได้คอลัมน์ใหม่ๆเอาคนหนุ่มๆมา
เขียนหลายๆคน พี่ก็เลยเขียนให้เค้าเป็นตอนๆ ทีนี้พอเขียนไปได้ซัก1ปี ทางสำนักพิมพ์อิมเมจเค้าอยากลงเต็ม ก็เลยให้เค้าพิมพ์ไป ก็รวมมามันก็พอขายได้ ผ่านไป4-5ปี มันขายหมดมีเหลือบ้างเล็กน้อย คุณเป้ ตอนนั้นเค้าอยู่สำนักพิมพ์บูรพาเค้าก็อยากจะรวม เค้าคงคิดว่ามันขายได้ก็เลยรวมๆไป มันก็เป็นงานเขียนของวัยนึง แสวงหาว่าชีวิตจะไปทางไหนดี แค่นั้นเอง

ถาม : ตอนนั้นที่เขียน มีอยู่ช่วงหนึ่งพี่ไปอยู่ที่ประเทศจีนใช่หรือเปล่าครับ?
ภิญโญ : ใช่ เป็นช่วงที่ไปเดินทาง ท่องเที่ยว

ถาม : ไปเรียนหรือไปเที่ยวเฉยๆครับ?
ภิญโญ : เรียนเป็นข้ออ้าง..เพราะถ้าไม่เรียนเค้าไม่ให้วีซ่า ก็เรียนซักสองสามเดือนแล้วที่เหลือก็เที่ยวๆ

ถาม : ทำไมพี่เลือกประเทศจีนครับ?
ภิญโญ : เมืองจีนมันน่าสนใจ คอนนั้นปี1997 เดือนกรกฎาคมวันที่ 1 เค้าจะคืนเกาะฮ่องกงให้กับประเทศจีน
ก็อยากไปอยู่ที่เทียนอันเหมินในวันที่เค้าคืนเกาะ เลยเตรียมตัวไปล่วงหน้า5เดือน เพื่อวันที่1กรกฎาจะได้ไปยืนอยู่ตรงนั้น อยากไปอยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เอาว่าขี้เกียจไปอเมริกา คือมีเงินอยู่ก้อนนึงก็คิดว่าจะไปไหนดี ตอนนั้นคนก็ยังไม่ตื่นจีนเมื่อ10ปีที่แล้ว จีนยังไม่มีอะไร คนยังไม่พูด ไม่เรียนภาษาจีนกันมาก จีนมันน่าสนใจ คือรากเหง้าเราเป็นคนจีนกันใช่มั้ย? วัฒนธรรมไทยก็รับจากจีนมาเยอะ แต่เราไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นและประเทศนั้นจริงๆแล้วมันหน้าตาเป็นยังไง ผู้คนเป็นยังไง บ้านเมืองเค้าเป็นยังไง แล้วมันก็ไม่แพงมากแล้วก็เดินทางได้ ก็เลยคิดว่าลองดูซักรอบก่อน ก่อนที่จะคิดว่าจะทำอะไรต่อ ทำงานมาซักพัก ก็พอมีเงินเก็บก็เลย..ไปเลยละกัน ก็มีโรงเรียนที่เค้าพอจัดการให้ได้ก็ไป ไม่รู้ภาษาจีนเลย..ก็ไปเลย..ไปเรียน..สนุกดี ได้หนังสือมาเล่มหนึ่ง

ถาม : แล้วอย่างหนังสือ “คุรุ ผีเสื้อและลมตะวันตก” ล่ะครับ
ภิญโญ : คุรุผีเสื้อฯ มันเป็นงานที่เขียนลงมติชน อันนั้นยังหนุ่มอีกเหมือนกัน ก็ฟูมฟายไป คิดอะไรก็เขียนลงไป
เด็กๆมันดีอย่างนึงคือมันไม่ต้องระมัดระวังอะไรมาก ไม่ต้องคิดเยอะ ลองผิดลองถูก สนใจเรื่องอะไรก็ไปคุยกับคนนั้น อยากรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงก็ไปคุยกับพระ อยากรู้เรื่องเกี่ยวกับความคิดก็ไปคุยกับผู้ใหญ่วิบูลย์ ช่วงนั้นเพิ่งเริ่มทำนิตยสารใหม่ๆ สนใจใครก็ขับรถไปเลย หรือไม่ก็นั่งรถไฟไป ตอนไปคุยที่สันติอโศกก็นั่งรถไฟไป อยากสนใจอะไรก็ไป เดินทางไปทั่วประเทศเลย สนุกมากเลยช่วงนั้น

ถาม : อยากทราบเรื่องวิธีเขียนและการหาข้อมูลครับ อย่างบ่อยครั้งที่พี่เคยบอกว่ามีการอ้างอิงข้อมูลมาจากพวกหนังสือหรือนิตยสารภาษาอังกฤษ คือจำเป็นไหมครับที่ต้องมีข้อมูลมาจากหนังสือต่างประเทศ? หรือไม่จำเป็นก็ได้?
ภิญโญ : คือ..ถ้าทุกอย่างที่เป็นความรู้ในโลกนี้มันเขียนไว้เป็นภาษาไทย ..ก็ไม่ต้องอ่านภาษาอังกฤษ ปัญหา
คือ..ไอ้ความรู้ที่มันเก็บไว้ในโลกนี้ส่วนใหญ่ มันไม่ได้อยู่ในรูปแบบภาษาไทย จริงไหม? ความรู้มันถูกเก็บไว้ในรูปของภาษาอื่น จริงๆนอกจากภาษาอังกฤษมันยังมีภาษาอื่นอีกนะ เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจะเข้าถึงคลังความรู้ใหม่ๆที่มันไม่ได้อยู่ในภาษาไทยเนี่ย..มันมีอยู่ไม่กี่วิธี คือถ้าไม่จ้างฝรั่งมาไว้ข้างตัวที่พูดภาษาไทยได้ ก็ควรจะรู้ภาษาอังกฤษเอง เพื่อที่ว่าเราจะได้เจาะไปสู่คลังข้อมูล ภาษาไทยมัน..ถ้าเราว่ากันตามประวัติศาสตร์ที่เค้าว่าๆกันมานะมันอาจจะมีมา700ปี แต่ว่าสมัยที่เราตั้งกรุงสุโขทัย มหาวิทยาลัยแรกของโลกเค้าตั้งแล้วนะ พวกOxford ฉะนั้นพวกนั้นเค้าเก็บหนังสือมานาน เค้าคิดค้นการพิมพ์ตั้งแต่ปีค.ศ.1500กว่าๆ กี่ปีล่ะ..5-6ร้อยปีไม่นับถึงสมัยก่อนที่พระเริ่มคัดลายมือ หนังสือสำคัญๆของโลก..ความรู้มันอยู่ตรงพวกนั้น นี่คือความรู้โบราณสะสมมา5-6ร้อยปี ความรู้สมัยใหม่ที่คนมาทำงาน ค้นคว้ารายงานกันก็เกิดจากนักข่าวต่างประเทศที่ดีๆ นักเขียนที่เก่งๆ คอลัมนิสต์ที่ดีๆเค้าผลิตได้เยอะกว่าเรา ประเทศเราเงินสนับสนุนทางด้านความรู้มันน้อย งั้นการที่คุณได้ความรู้ภาษาที่ดีๆมา จริงๆภาษาเราไม่ดีมาก พวกที่เรียนเมืองนอกเก่งกว่าเราเยอะ แต่หมายถึงว่ามันจำเป็นต้องให้เราอ่าน เพื่อที่ว่าเราจะได้เข้าสู่องค์ความรู้นั้น ไม่งั้นความรู้คุณก็จำกัด ทีนี้ถ้าความรู้คุณจำกัด คุณจะอธิบายโลกยังไง เช่นจะเขียนเรื่องเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จะเขียนบทความเรื่องเนี้ย แต่คุณไม่อ่านภาษาอังกฤษ ..คุณจะอ่านจากไหน? คือมันกว้างกว่ามหาศาล หรือเช่นจะเขียนเรื่องประธานาธิบดีจีน ถ้าคุณรู้ภาษาจีน..จะดีมากเพราะว่าsourceเป็นภาษาจีนหมดเลย ยิ่งถ้าคุณรู้ภาษาสันสกฤต..จะอ่านคัมภีร์มันมากเลย นี่ถ้าเรารู้ลาตินนะ เราคงไปอ่านพวกBibleโบราณแล้ว..สนุกนะ เราอยากรู้ภาษาบาลีน่ะ จะได้รู้ว่าคนสมัยพุทธเจ้าคุยกันว่าอะไร

ถาม : อย่างเวลาเขียนบทความ มีบ้างไหมครับที่คิดประเด็นไม่ออก มีวิธีหาประเด็นยังไง?
ภิญโญ : ถ้าคุณยังเด็กๆน่ะ ถ้าคุณรู้น้อย อ่านหนังสือน้อย เดินทางน้อย แต่พอคุณใช้ชีวิตมาถึงเรื่อยๆ อ่าน
หนังสือเยอะ เห็นโลกเยอะ เห็นอะไรมันก็เขียนได้ เพียงแต่คุณจะเขียนมันรึเปล่าเท่านั้นเอง วันเวลาน่ะ...ไอ้พวกนักเขียนเก่งๆมันเลยเหมือนหยิบใบไม้ในอากาศแล้วเขียนเป็นเรื่องได้ ในวันที่ตันที่สุดในชีวิต..ก็หยิบอะไรมาเขียนได้ ความตันอาจจะเกิด 1.คุณเหนื่อยล้า 2.คุณเขียนงานเยอะไป เหมือนเขียนลงหลายๆที่ มันต้องเร่งสปีดในการผลิตงานแล้วร่างกายมันรับไม่ไหวคิดประเด็นใหม่ไม่ทัน แต่ถ้าคุณไม่ได้เขียนหนังสือเยอะมาก ประเด็นมันไม่ตันหรอก เพราะว่า โลก..มันเต็มไปด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ทุกๆวัน คุณเสพข้อมูลพอรึเปล่า? ปัญญาคุณแข็งแรงพอที่จะย่อยข้อมูลพวกนั้นแล้วเอามาเป็นประเด็นรึเปล่า? แต่ที่มันตันเพราะบางที..ข้อมูลน้อยไง อ่านหนังสือน้อย ช่วงที่แบบเขียนคอลัมน์เยอะๆ หรือว่าไอ้ช่วงที่ต้องเร่งผลิตออกไป อ่านน้อย..แต่เขียนเยอะ มันก็ตาย แต่ถ้าคุณอ่านสิบเท่าของสิ่งที่คุณเขียน..มันรอด แต่ถ้าคุณอ่านหนังสืออย่างเนี้ยเพื่อเขียนเป็นคอลัมน์..คุณตาย แป๊บเดียวมันก็หมด ความคิดที่เราสะสมมาในหนึ่งปีหมดไปละ... มันก็ต้องพักแล้วอ่านหนังสือเพิ่มเติม..เดินทาง..เดินทางเยอะมันก็รู้ เวลาจะเล่าเรื่องที่เห็นจากของจริงที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่เราไม่เคยเห็นเลย มันเล่าแล้วคนละอารมณ์กัน..ความมั่นใจในการเล่า..ถ้าเขียนเรื่องกินน้ำชาที่อังกฤษ กินกาแฟที่อิตาลีก็เขียนได้..ใช่มั้ย? แต่ถ้าคุณไม่เคยไปนั่งกิน..ความมั่นใจในการที่คุณจะเขียนเนี่ยมันยังไง? หรือจับคุณไปกินอาหารอิตาเลี่ยนให้เขียนถึงรสชาติของมันให้บอกว่าอร่อย หรือไม่อร่อย..แต่ถ้าเป็นการไปกินครั้งแรกในชีวิตมันจะบอกได้ยังไงว่ามันเค็มไปรึเปล่า..จะรู้ได้ยังไงว่าความเค็มมันอยู่แค่ไหนที่มันพอดี

ถาม : เวลาจะช่วยใช่ไหมครับ?
ภิญโญ : ใช่..ไม่ว่าจับฝรั่งมากินน้ำพริกปลาทูทีแรก..มันคงบอกว่าเหม็นและเผ็ด แต่เราบอกว่าอร่อย ถ้ามัน
กินอยู่ห้าปี มันอาจจะบอกว่าอันนี้เผ็ดน้อยไป หรือว่าเผ็ดมากไป หรือว่ากะปิอันนี้หอมหรือไม่หอม มันยังแยกไม่ออกเลย ทุกอย่างมันอยู่ที่ประสบการณ์

ถาม : มีกำแพงหรืออุปสรรคอะไรบ้างครับในการเขียนหนังสือ?
ภิญโญ : คือนักเขียนสมัยนี้ มันไม่สามารถเขียนหนังสือเรื่องเดียว อย่างเดียวแล้วสามารถมีชีวิตอยู่ได้
เพราะว่า ผลตอบแทนมันน้อย ถ้าอยากจะมีชีวิตอยู่ได้ในเศรษฐกิจปัจจุบัน..คุณต้องทำงานหลายอย่าง ทำนู่นทำนี่ เขียนหลายที่ ทำงานหลายอย่าง ทีนี้พอคุณทำงานหลายอย่างในเวลาที่มันคาบเกี่ยวกัน..คุณไม่มีทางทำได้ดีหรอก คุณภาพงานเขียนของคนยุคนี้มันจะตกลง เพราะว่าสมาธิมันไม่อยู่กับที่ คุณไม่สามารถอยู่บ้านแล้วเขียนนิยายเล่มหนึ่งตลอดทั้งปีโดยไม่ทำอย่างอื่น อย่างนั้นคุณทำไม่ได้ คุณต้องไปทำอะไรเยอะมาก เรื่องวุ่นวายในชีวิตคุณมันเยอะ พอมันเป็นอย่างนี้มันก็ทอนพลังในการเขียนของคุณ งานของนักเขียนยุคนี้หรือว่างานที่จะออกมาในยุคนี้ความลึกซึ้งมันจะน้อย แต่มันก็จะสะท้อนความเป็นไปในยุคนี้ว่า..ยุคนี้มันฉาบฉวย มันจะไม่มีอะไรที่ลึกๆ ไม่มีนิยายที่ดีๆออกมา เพราะมันยาก ทุกคนทำอะไรหลายอย่างมาก..

ถาม : เหมือนจะเป็นงานอดิเรกไปแล้ว?
ภิญโญ : คล้ายๆอย่างนั้น ทุกๆคนต้อง..ไม่สามารถยึดเป็นอาชีพได้จริงๆ ต้องคนใจเด็ดมากถึงจะยึดเป็น
อาชีพได้..ต้องมีชีวิตที่อยู่ด้วยความวิริยะ-อุตสาหะมาก อย่างเราไม่ได้เป็นนักเขียนจริงๆไง เราแค่ทำมันเป็นองค์ประกอบหลายๆอย่างของสิ่งที่ทำในชีวิต การเขียนหนังสือเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความคิดเห็น แต่ไม่ใช่ว่า..เรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนนะ ไม่ได้ยึดการเขียนเป็นอาชีพ ..พิมพ์หนังสือเป็นอาชีพมากกว่า จริงๆเป็นแค่ผู้พิมพ์ บรรณาธิการนี่..เป็นสนุกๆ เอามัน

ถาม : ในช่วงแรกๆ เวลาไปสัมภาษณ์คนที่เก่งๆ หรือคนที่มีประสบการณ์มากๆ รู้สึกอย่างไร?
ภิญโญ : มันเริ่มจากความอยากรู้อยากเห็นก่อน ช่วงที่ทำสัมภาษณ์ใหม่ๆคือ..เราก็ชื่นชมคนที่เราเลือกไง เรา
ก็ไปคุยกับเค้า มันสนุกที่ได้เจอเค้านะ ได้ฟังความคิดเห็นเค้า ได้นั่งสัมภาษณ์เค้ายาวๆ ทำไปเรื่อยๆๆๆ..มันสนุก มันตื่นเต้น ..ช่วงแรกๆ แต่พอทำไปเรื่อยๆหลายๆปี มันกลายเป็นเหมือนเรื่องปกติน่ะ เหมือนไปเยี่ยมเยียนกัน ไปนั่งคุยกัน มันไม่ได้เป็นความตื่นเต้นละ เหมือนนั่งคุยกันไปเรื่อยๆ ไม่มีคำถามอะไรที่แหลมคมเช่น เป็นไงมั่งพี่ ?สบายดี? ถามทื่อๆไปเรื่อยๆ จะไม่มีคำถามเท่ๆนึกออกมั้ย? คำถามแบบ..อะไรคือ5อย่างในชีวิตที่พี่เกลียดที่สุด?..มันจะไม่มีคำถามประดิษฐ์ๆแบบเนี้ย ส่วนใหญ่จะแบบ แล้วพี่ว่าไง? อ้าว..หรอ? อืม..แบบเนี้ย กลับเข้าสู่อะไรที่ง่ายๆ เหมือนคนแก่คุยกัน

ถาม : แล้วครั้งแรกที่ไปสัมภาษณ์รู้สึกประหม่า หรือตื่นเต้นอะไรบ้างมั้ยครับ?
ภิญโญ : มันก็ตื่นเต้นหน่อย..ตอนเด็กๆมากๆ แต่นี่มันผ่านมาเป็นเวลา 10 ปีแล้วนะ เวลาคุยกับใครมันก็ไม่
ตื่นเต้นแล้วล่ะ มันก็เหมือนการไปคุยกับคนปกติ จะตื่นเต้นเรื่องเวลามากกว่า จะตรงเวลารึเปล่า? รถจะติดมั้ย?จะไปไม่ทัน..อย่างนี้มากกว่า แต่เวลานั่งคุยปุ๊บ..ก็คุยกันได้ เพราะว่ามันทำมาเยอะไง สัมภาษณ์ตั้งแต่นายกรัฐมนตรียันคนจน จนถึงผู้นำศาสนา คิดไม่ออกว่ามันจะตื่นเต้นในการสัมภาษณ์ใคร

ถาม : มีฮีโร่ในดวงใจไหมครับ?
ภิญโญ : มันไม่มีอะไรที่ชัดๆแบบนั้นน่ะ แต่ส่วนใหญ่ชอบผู้นำศาสนา

ถาม : ใครครับ?
ภิญโญ : ถ้าเป็นคนที่เกี่ยวกับศาสนาน่ะ ..ชอบ ชอบพระพุทธเจ้า ..มหาตมะ คานธี อะไรแบบนี้ ..ดาไลลามะ
เพราะว่าศาสนามันค่อนข้างบริสุทธิ์กว่าพวก..นักการเมือง หรือคนทั่วไปนะ มันเป็นความจริง ความ ดี ความงามที่มันค่อนข้างจะสมบูรณ์กว่าไอ้ความเป็นคนโลภๆอย่างพวกเรา ถ้าถามว่าชื่นชมแบบไหน..ใจมันค่อนข้างจะไปทางนั้น ชื่นชมคนที่เค้าเป็นอุดมคติน่ะ เพราะว่าเราไม่คิดว่าเราเป็นได้ไง ไอ้คนชั่วๆนี่..เราคิดว่าเราเป็นได้(55)...ไปชั่วแข่งกับเค้า แต่ดีแข่งกับเค้าที่มัน..เป็นยากนะ

ถาม : นอกจากที่ทำอยู่ตอนนี้ พี่สนใจที่จะทำอย่างอื่นมั้ยครับ? สมมติว่าถ้าไม่ได้ทำสำนักพิมพ์
ภิญโญ : อยากปลูกต้นไม้...อยากทำสวน....อยากไม่ต้องทำอะไรน่ะ ไม่ค่อยมีความทะเยอทยานทางการงาน
เท่าไหร่ รู้สึกที่ทำอยู่ก็รำคาญเต็มทีละ(55)

ถาม : แล้วหมายถึงในอนาคตข้างหน้า..อยากใช้ชีวิตอย่างไรครับ..แบบเก็บเงินก้อนนึง แล้ว..ปลูก
ข้าวอะไรแบบนั้นหรือเปล่า?
ภิญโญ : ไอ้พวกเราเนี่ย ร่างกายมันบอบบาง โดนแดดซะหน่อยผิวก็จะเสีย มันยากที่จะไปใช้ชีวิตแบบ
เกษตรกรจริงๆ แต่มันใช้ชีวิตอย่างสงบได้..อยู่ธรรมชาติ อย่างวันนึง คนที่เค้าเบื่อๆเมือง ไม่ได้อยากสนุกสนานอย่างที่มันเป็นอยู่ทุกวัน ก็สามารถปลีกตัวไปใช้ชีวิตที่สงบของตัวเองได้ แต่ก็คงต้องเตรียมการดี คงไม่สามารถจะไปพึ่งพารายได้จากเกษตรกรรมแล้วจะมาเลี้ยงวิถีชีวิตอย่างพวกเรา เพราะขนาดวิถีชีวิตอย่างนี้ ทำงานแบบนี้ยังเอาตัวเองไม่ค่อยจะรอดเลย(555) ยังจะไปปลูกข้าวคงไม่รอด(555).. มันก็แค่เตรียมการ อยากใช้ชีวิตแบบไหนเราก็เลือก มันไม่ต้องไปบ้าจี้เลือกตามเค้าไง ไม่ใช่ว่า อยากทำหนังสือพิมพ์..เอ๊ะ!..ต่อไปก็ทำหนังสือพิมพ์รายวัน ..ต่อไปก็ทำออนไลน์..ทำรายชั่วโมง.... คือมันไม่ต้องไปทำให้มันเร่งขึ้น ๆ.. สรุปจะไปทางไหนกันแน่ถ้าถึงจุดๆนี้ จะไปทางไหนดี...จะเดินทางนี้..หรือทางนี้ ..คิดสิ ว่าคุณจะเอายังไงกับชีวิต คุณก็เลือกไป ไม่จำเป็นต้องเชื่อเค้า ไม่จำเป็นต้องไปแบบที่เค้าอยากจะเป็น แล้วมานั่งวางว่าคุณอยากได้แบบไหนในชีวิต คือชีวิตคุณเลือกได้..เป็นของคุณ บางที..มันเหมือนไม่มีใครบอกหรอกว่าชีวิตเป็นของเรา..เราเลือกได้นะ แต่ไอ้กรอบสังคมมันบอกว่า จบมาก็ต้องทำงานอย่างนี้..จากผู้จัดการก็ต้องเป็นผู้อำนวยการ แล้วไล่ไอ้ประธานออกแล้วยึดตำแหน่งมัน(555) หรือว่าต้องขยายเพื่อว่าจะไปกินคู่แข่ง อะไรแบบนั้น..ปีนี้มีบ้านหลังนึง ปีหน้ามีบ้าน2หลัง

ถาม : คือพี่จะบอกว่า..เดี๋ยวนี้เหมือนเราวิ่งตามสิ่งที่เรามีอยู่แล้วมากเกินไป?
โดยที่ไม่ได้คิดถึงตัวเรา
ภิญโญ : มันเหมือนชีวิตที่เป็นกันอยู่ทุกๆวันนี้ มันมี “Pattern”มากเกินไป ..patternของการใช้ชีวิต..
ในการทำงานแล้วก็ดำเนินต่อไป แล้วปัญหาก็คือ พวกเราส่วนใหญ่ที่เรียนหนังสือมาเยอะๆ..คิดว่าตัวเองฉลาดเนี่ย..ดันเชื่อ! โดยไม่สามารถคิดเลยว่า..มันเป็นชีวิตของคุณที่ดีหรือเปล่า? ถ้ามันดีก็โอเค มันก็ดีไป ว่ากันไม่ได้คือคุณเลือกได้ แต่ปัญหาก็คือว่า..ถ้ามันคิดว่ามันไม่ดี..ทำไมเราต้องเดินจากที่คนอื่นเค้าเลือก ? ทำไมเราต้องขยัน ? ความขยันนี่มันเริ่มจากตรงไหน? ความขี้เกียจมันเป็นบาปรึเปล่าเนี่ย (555) ฉะนั้นอะไรมันคือความพอเหมาะของแต่ละคน แต่ละคนมันไม่จำเป็นต้องขยันเท่ากันไง ..เพราะคุณใช้ไม่เท่ากัน คุณใช้เวลาไม่เท่ากัน คุณใช้ของแพงไม่เท่ากัน ..คุณเลือกได้ว่าชีวิตคุณจะเอาจังหวะแค่ไหน.. คุณจะขยันแค่ไหน..แล้วคุณจะเดินยังไง ปัญหาคือ เรามีความเชื่อนี้เหลืออยู่รึเปล่า? หรือว่าเราถูกไอ้ patternพวกนี้ครอบงำ เราก็เลยเดินตามในสิ่งที่เราคิดว่า..มันดีเนอะ แล้วถ้าเราไม่ทำตาม เราก็คิดว่า..เดี๋ยวเราจะมีปมด้อยรึเปล่า ..เช่น หน้าเราไม่ขาวเท่าเค้า? ..แล้วทำไมต้องขาว? ทำไมต้องผอม?



ถาม : อย่างเรื่องเกี่ยวกับสื่อทีวีเช่นตอนนี้ที่มีประเด็นเกี่ยวกับละครเรื่อง
..สงครามนางฟ้าล่ะครับ?
ภิญโญ : ไม่เคยดูเลย ..ไม่สนใจด้วย ..แต่ว่าเค้าว่าไง?


ถาม : ที่ตอนนี้เค้ามีประเด็นขึ้นมาระหว่างผู้จัดละคร ทะเลาะกับการบินไทยน่ะครับ คือทางฝ่าย
ละครเค้าก็บอกว่า คนดูชอบ แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่งเค้าบอกว่ามันเป็นการสอนบทบาททางสังคมที่มันผิด พี่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรครับ?
ภิญโญ : ทีวีไม่ใช่โบสถ์..จะได้มีหน้าที่คอยสอนศาสนา ปัญหาคือ คนทำทีวี..ไม่ต้องไปปกต้องตัวเองด้วยวิธี
บอกว่า เพราะคนดูชอบ..เราเลยทำ ถ้าบอกอย่างนั้นมันก็มีปัญหาชีวิตเหมือนกันนะ คนทำทีวี..สิ่งที่ควรบอกคือเรื่องเสรีภาพในการทำงานศิลปะ..ถ้าคุณคิดว่ามันเป็นงานศิลปะจริงนะ ศิลปะมีหน้าที่นำเสนอเรื่องราวที่ตัวเองคิดว่ามันสร้างสรรค์ หรือว่าสะท้อนกลับมาติติงสังคมหรือว่าเรื่องอะไรก็สุดแท้แต่คุณจะเชื่อ อะไรคือความเชื่อของคุณ คุณก็ทำไป ส่วนความเชื่อของเรานั้นมันจะถูกต้องตามวัตรปฎิบัติของอาชีพคุณรึเปล่า..ไม่เกี่ยวกับเรา เพราะฉะนั้นเราก็ไม่มีสิทธิ์ทำอะไรใดๆทั้งสิ้น พระเตะตะกร้อก็ทำหนังไม่ได้..อย่างอภิชาติพงศ์อย่างเนี้ย พระเล่นกีต้าร์ใช่มั้ย?ยังไม่ได้ดูเลย ซึ่งพระจริงๆก็มีทำอย่างนี้ไง..แล้วก็มีคนมาบอกว่า..ไม่ได้!..ทำลายศาสนา เค้าไม่ได้ทำลายศาสนา เค้ากำลังวิจารณ์คุณ..ไม่เห็นเหรอว่ามีพระเพียบเลยที่ทำแบบนี้น่ะ แล้วบอกว่าสื่อเอามาลงไม่ได้เป็นการทำลายเรา..แล้วสุดท้ายมันจะเหลือพื้นที่อะไรให้สร้างสรรค์กันอีกล่ะ? อย่างนี้ทุกคนก็เดินมาบอกว่า..ไม่ได้! ทำลายเรา กันหมดสิ..ก็ไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว.. คือคุณก็แย้งผิดประเด็นน่ะ มันเป็นเรื่องตลกไปเลย ที่ประเทศอื่นที่เค้าเจริญๆแล้ว เค้าไม่มานั่งเถียงกันด้วยเรื่องแบบนี้หรอก แอร์โฮสเตทเค้าก็ไม่น่ามาเถียงแบบนี้ ตราบใดที่เค้าไม่ได้เอาบริษัทคุณมาเป็นโลโก้..แล้วบอก..เนี่ย..พวกแอร์การบินไทยมันตบกัน อย่างนั้นน่ะ..ฟ้องได้ เพราะว่ามันเสียหายในเชิงการตลาดหรือว่าภาพลักษณ์ของเค้า แต่ถ้าละครเค้าทำว่าเป็นแอร์เฉยๆ เป็นสจ๊วต มันฟ้องกันได้ยังไง? เอาอะไรมาฟ้อง? เค้าไม่ได้บอกว่าเป็นคุณนี่ อะไรกัน สงครามนางฟ้าเนี่ยนะ! ปัญญาอ่อนด้วยกันทั้งคู่นะ(55) ไอ้คนทำละครอยากโปรโมท เค้าก็ชอบเวลามีข่าวทำให้เรทติ้งดี เป็นวิธีการตลาดที่ตื้นเขิน..ไปจุดกระแส แล้วทุกฝ่ายก็แฮปปี้กันไป แบบมีข่าวขึ้นมา ยอมนู่นนิดนี่หน่อย ..ละครก็ดังสิ..แล้วก็ขอโทษพอเป็นพิธีแล้วเดี๋ยวก็จบไป ..แล้วก็เงียบไป แอร์ก็พอให้ดูประท้วงๆให้ดูว่าแอร์มีบทบาท แอร์มีหน้าที่ประท้วงอะไรหรอ?ไปเสริพน้ำให้ได้เยอะๆเหอะ!ใช่มั้ย! อย่าสับสนๆ ถ้าทำให้ผลประกอบการมันดีก็ว่าไปอย่าง..ไม่ใช่มาประท้วงว่า..อุ๊ย!มาทำลายภาพลักษณ์ของแอร์ อย่างนี้เค้าเรียกว่าบ้าจี้ (55) อย่าไปสนใจมันมาก อย่าไปยุ่งกับเรื่องพวกนี้มาก มันเปลืองเวลา เปลืองเซลล์สมอง ไม่ควรดูและไม่ควรวิจารณ์ด้วย..เสียเวลา

ป.ล.สัมภาษณ์ตอนต้นปี เพื่อส่งงานในวิชาเขียนบทวิจารณ์และบทบก.-ขอบคุณมากๆครับ




 

Create Date : 19 มีนาคม 2551    
Last Update : 27 มกราคม 2552 2:15:17 น.
Counter : 674 Pageviews.  

การอ่าน..ในทัศนะของคนๆหนึ่ง

หยดหมึกทุกหยด บนเยื่อกระดาษทุกแผ่น
จะไม่มีความหมายเลย...
ถ้าเราไม่รู้จัก “การอ่าน”

การอ่านทุกตัวหนังสือ ในทุกๆประโยค
จะไม่มีความหมายเลย...
ถ้าเราไม่รู้จักที่จะ “เข้าใจ”

และการเข้าใจในทุกสิ่ง และการเข้าใจในทุกอย่าง
จะไม่มีความหมายเลย...
ถ้าเราไม่เข้าใจ “ตัวเอง”

เมื่อพูดถึงการอ่าน..
ผมมีความคิดและความรู้สึกต่างๆมากมายจากคำๆนี้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสื่อสาร เรื่องของสัญลักษณ์ การเขียน การนำเสนอ
ประเภทหนังสือ ข้อมูลดิบ ความรู้ ประโยชน์และผลประโยชน์จากการอ่าน
ความถูกต้อง จริยธรรม วิจารณญาณ จินตนาการ การมองโลกในแง่ดี ความพอใจ ความหวัง ความสุข รวมไปถึงสถานที่ และบรรยากาศในการอ่าน ฯลฯ

แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากเป็นพิเศษ
คือเรื่องของ ‘ความเข้าใจ’

ผมเคยลองมองและตั้งคำถามต่อความเข้าใจอย่างกว้างๆและอย่างเล่นๆว่า..
ถ้าเราไม่มีสัญลักษณ์ในการเชื่อมความเข้าใจกัน
เราจะอยู่กันได้ไหม ..?

เช่น ไม่ต้องมีสัญญาณไฟจราจร ไม่ต้องมีป้ายแบ่งเพศหน้าห้องน้ำ ไม่ต้องมียี่ห้อสินค้าให้เลือกสรร ไม่ต้องมีเงินตราเพื่อบอกมูลค่า หรือแม้แต่ไม่ต้องมีภาษาเพื่อให้เข้าใจกัน..

คำถามต่อมาคือ เราสื่อสารไปเพื่ออะไร..?

บ้างบอกว่า เพื่อความสะดวก สบาย
บ้างบอกว่า เพื่อประหยัดเวลา และความปลอดภัย
บ้างบอกว่าเพื่อการศึกษา และความเจริญก้าวหน้า
และที่น่าสนใจที่สุดคือ...
บ้างก็บอกว่าเพื่อ ‘ความเข้าใจกัน’

แต่ถ้าลองมองย้อนดูจากอดีต สู่ปัจจุบัน
ในยุคนี้.. ในยุคโลกาภิวัฒน์
ในยุคที่การสื่อสารไร้กำแพง
ในยุคที่เราสื่อสารกันได้เพียงปลายเล็บมือ

แล้วยังไงล่ะครับ...
สงครามเอย
ความเหลื่อมล้ำเอย
การเมืองน้ำเน่าเอย
สังคมเสื่อมทรามเอย
ฯลฯเอย

ผมจึงยังไม่เห็นว่าเราจะเข้าใจกันมากขึ้นเลย
และผมก็ยังไม่เห็นเลยว่าเราจะเข้าใจกันมากขึ้น

ผมเลยสงสัยต่อไปอีกว่า
มันเป็นเพราะอะไร..?
เหตุไฉนสัญลักษณ์และช่องทาง(ที่มีมากขึ้น)ไม่ได้ช่วยให้ความเข้าใจสัมฤทธิ์ผล..?
หรือว่าเราเดินไปผิดทาง..?
ไม่ได้เป็นเพราะสัญลักษณ์และการสื่อสารหรอก
แต่หากเกิดจากการที่เราเข้าใจอะไรผิดกันไปเองรึเปล่า...?

“เราพยายามเดินทางออกไปนอกอวกาศ ระยะทางเป็นแสนล้านไมล์ เพื่อไปให้ถึงดวงจันทร์ แต่ในที่สุดแล้วผมก็ไม่เข้าใจว่าเราจะไปทำไม หรือไปเพื่ออะไร
ในเมื่อเรายังไม่เข้าใจจิตใจของเราเองเลยทั้งๆที่มันห่างจากสมองเราแค่ไม่กี่เซ็น ”
- อ.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา


พักหลังๆนี้ผมชอบมองอะไรเป็นสองด้านเสมอ..
นึกไปถึงตอนเด็กๆ
ผมชอบมองสัญลักษณ์ของเต๋า(หยิน-หยาง)ในหนังจีน
ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมชอบมอง
แต่มองแล้วรู้สึกสบายตาดี
รู้ถึงความสมดุล รู้สึกถึงความกลมเกลียวกันดี
ซึ่งนั่นเป็นการมองด้วยตา
เป็นการมองจากภายนอก

และเมื่อโตขึ้นผมจึงเริ่มมองอะไรจากภายในบ้าง
มองจากตัวเองบ้าง คิดด้วยตัวเองบ้าง
คุยกับตัวเองบ้าง และบางครั้งก็หัดโทษตัวเองบ้าง

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมเห็น
ผมจึงคิดว่ามันมีมุมของมัน มันมีด้านของมันเสมอ
เหมือนมันมีดำ มันก็ต้องมีขาว
มันมีภายนอก มันก็ต้องมีภายใน
มันมีรูปธรรม มันก็ต้องมีนามธรรม

มันมีเกิด มันก็ต้องมีตาย
มันมีร่างกาย มันก็ต้องมีจิตใจ
สิ่งต่างๆบนโลกนี้อย่างที่ว่ามันมีมุมของมันอยู่
ไม่เว้นแม้แต่การอ่าน...
ซึ่งก็แล้วแต่ว่าเราจะมองการอ่านในแง่ไหน
อย่างที่กล่าวไป..
ผมชอบการอ่านในเรื่องของความเข้าใจ
และอย่างที่กล่าวไป..
ผมจึงขอมองการอ่านและความเข้าใจในสองมุม

มุมที่หนึ่ง..

บางคนหรือแม้แต่ผมก็เคยอ่านแบบที่สักแต่ว่าอ่าน เหมือนอ่านตามตัวหนังสือ อ่านเหมือนหุ่นยนต์ อ่านแล้วไม่คิด อ่านแล้วไม่ประมวลผล อ่านแล้วไม่จับใจความ เลยเถิดไปถึงอ่านแล้วไม่มีวิจารณญาณ อ่านจบแล้วก็ลืม สุดท้ายก็ไม่เข้าใจ
เหมือนเวลาสอบ ผมนั่งอ่านหนังสือกับเพื่อนคนหนึ่ง
นั่งอ่านด้วยกัน ในห้องเดียวกัน หนังสือเล่มเดียวกัน เวลาเดียวกัน อ่านจบพร้อมกัน และพอไปสอบก็ตื่นพร้อมกัน เดินไปสอบด้วยกัน เวลาเดียวกัน ห้องสอบเดียวกัน และก็สอบด้วยข้อสอบเดียวกัน
แต่สุดท้ายคะแนนสอบต่างกัน(กว่าสิบคะแนน)
พอกลับมานั่งคิดคงเป็นเพราะการอ่านมันต้องอ่านแล้วหยุดคิด หยุดเปรียบเทียบ หยุดไตร่ตรอง หยุดจินตนาการ หยุดจดจำ หรือบางทีก็อ่านซ้ำตรงนั้นเลยเพราะอ่านแล้วรู้สึกว่าสำคัญหรือไม่ก็อ่านแล้วจับใจจนฉ่ำปอดดีเหลือเกิน(อ่านแล้วมันโดน)
สุดท้ายพอเวลาสอบแต่ละครั้งก็มานั่งอ่านด้วยกันเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนมาเป็นช่วยกันย่อใจความสำคัญ ช่วยกันหยุดคิด ช่วยกันหยุดจำ เอากันเรื่องต่อเรื่อง บทต่อบท แล้วแลกกันอ่าน ถกเถียงถึงความสำคัญและความเข้าใจของกันและกัน เติมเต็มส่วนที่ตกหล่นของแต่ละคนกันไป
สุดท้ายพอคะแนนสอบออกมาอีก..
คะแนนก็ยังต่างกันเหมือนเดิม
(แต่คราวนี้ต่างกันนิดเดียว)






มุมที่สอง..

บางคนหรือหลายคนที่สักแต่เรียนหนังสืออาจจะเรียนแก้บน พ่อแม่จ้างเรียน หรือแม้แต่เรียนไปเรื่อย.. เดี๋ยวจบนั่น เดี๋ยวจบนี่ เดี๋ยวจบนี่แล้วเรียนนั่นต่อ สุดท้ายเรียนจนจบด็อกเตอร์ ถ้ามีโคตรด็อกเตอร์คงเรียนโคตรด็อกเตอร์ต่อ
และพอจบ.. ก็ไม่รู้จะไปทำอะไร หรือพอมีอะไรให้ทำก็ไม่พอใจกับงานที่มี เป็นคนไม่มีเป้าหมาย หาอะไรในชีวิตไม่เจอ รู้ทุกเรื่องแต่ไม่รู้ตัวเอง

“เมื่อเราอ่านหนังสือ เราจะรู้ว่าสิ่งแรกที่จะต้องปฏิวัติคือข้างในตัวเอง”
- จักรภพ เพ็ญแข


ผมเคยกลัวที่จะเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน..
กลัวว่าจะเรียนในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเอง
กลัวจะต้องไปทำสิ่งที่เราไม่อยากทำ
ผมไม่อยากเป็นนักมัณฑนศิลป์ ที่ตกแต่งภายใน แต่ภายในใจกลับว่างเปล่า
ผมไม่อยากเป็นอาจารย์ที่เอาแต่สอนคนอื่น แต่ภายในใจกลับสอนตัวเองไม่เป็น
ผมไม่อยากเป็นนักโฆษณาที่ทำให้คนอื่นเชื่อ แต่ภายในใจกลับไม่เชื่ออะไรเลย

“งานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราต้องทำ เพราะฉะนั้นงานไม่ควรจะเป็นภาระ หรือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราไม่อยากทำ” – วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์

ผมจึงเชื่อว่าการอ่านจะทำให้เราเข้าใจตัวเอง
ช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น
ไม่หนีจากตัวเอง...
ทำให้เรารู้ว่าเราเป็นคนอย่างไร
ชอบอะไร ชอบเรื่องไหน
ควรเรียนอะไร ควรศึกษาเรื่องไหน
ควรทำอะไร และควรจะเป็นอย่างไรในอนาคต
เพราะเมื่อเราอ่านหนังสือมันเหมือนกับเราได้คุยกับผู้เขียน
และที่สำคัญเราได้คุยกับตัวเอง
เราได้เห็นความคิดของเราเอง
เราได้สัมผัสเสียงจากภายใน ( Inner voice )
เสียงจากตัวเราเอง
ว่าเราคิดเห็นอย่างไร เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย
รู้สึกดี รู้สึกแย่ รู้สึกชอบ รู้สึกไม่ชอบ

“งานเขียนนอกจากเหมือนการแสดงก็ยังคล้ายๆการพูดกับตัวเอง... จะคิดดีหรือคิดห่วยก็อยู่ตรงช่วงนี้.. ช่วงที่พูดกับตัวเอง” – วิรัตน์ โตอารีย์มิตร

เหมือนเวลาผมอ่านหนังสือ
บ่อยครั้งที่ผมจะนึกย้อนถามตัวเองว่าเราคิดอย่างไร.. รู้สึกอย่างไร
ทำให้เห็นตัวตนของเรา ในความคิดของเราชัดเจนขึ้น
ทำให้เรามีเป้าหมายในชีวิต ไม่หลงทาง เพราะเราเรียนรู้ที่จะรู้จักตัวเอง
อย่างผม.. ผมเป็นคนชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบรับข้อมูลข่าวสาร
ชอบประวัติศาสตร์ ชอบประวัติคน ชอบสารคดี ชอบความคิด ปรัชญาชีวิต
ตอนแรกเลือกไปเรียนสายโฆษณา
คิดงานโฆษณาอยู่พักนึง คิดไม่ค่อยออก ถึงคิดออกก็รู้สึกไม่พอใจกับสิ่งที่ตัวเองคิด
เลยมีอยู่วันหนึ่งผมได้คุยกับพี่ถึงเรื่องการเรียน
คุยไปสักพักพี่ผมและผมก็รู้ว่าผมไม่ได้ชอบโฆษณาจริงๆ
เพราะผมเรียนไปแล้วมันไม่อิน เรียนแล้วแค่รู้สึกว่าก็เรียนได้
แต่ไม่ได้เรียนแล้วรู้สึกชอบจริงๆ เรียนไปเรื่อยๆ ฝีนๆไปบ้าง ผ่านๆไปบ้าง
ผมจึงนึกถึงทัศนคติที่สะสมมาจากการอ่านแล้วเอามาถามตัวเองว่า..เราควรทำในสิ่งที่ชอบ ในสิ่งที่ใช่ มากกว่าจะทำในสิ่งที่ไม่ใช่ แล้วฝืนไปให้รู้สึกว่าชอบ..รึเปล่า?
ถ้าทำในสิ่งที่ไม่ใช่และเราไม่ชอบ.. เราจะไม่มีความสุข เราจะขาดแรงบัลดาลใจ เราจะอยู่ไปวันๆและที่สำคัญเราจะไม่เข้าใจอะไรเลย – ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด.. แต่ผมคิดอย่างนี้จริงๆ ทัศนคติมันเป็นอย่างนี้จริงๆ
“ถ้าเราจะไปพิจิตรแต่ตอนนี้เรารู้ตัวว่าเรากำลังขับรถลงใต้ เราจะหันรถกลับไหม..?”
- พี่ผม(ถาม?)


หลังจากที่คุยกับพี่ผมวันนั้น
อีกไม่กี่วันผมก็กลายมาเป็นเด็กวารสาร
เพราะหนังสือสังคมสอนผมว่า..
พิจิตรไม่ได้อยู่ภาคใต้!

“เราออกเดินทางเพื่อหาคนๆหนึ่ง เพื่อจะฟังคำๆนั้น คำที่เปลี่ยนชีวิตเรา”
- ภิญโญ ไตรสุริยะธรรมา

ตัวหนังสือสอนให้ผมคิด
ตัวหนังสือสอนให้ผมตัดสินใจ
และหนึ่งในตัวหนังสือของคุณภิญโญก็สอนผมไว้เช่นกัน

อย่างอ่านมรดกธรรมของหลวงพ่อปัญญาก็เหมือนกัน
ท่านสอนไว้ห้าข้อ..
คิดดี,พูดดี,ทำดี,คบคนดีและไปในสถานที่ที่ดี

ก็ลองเอามาเปรียบกับตัวเอง บางเรื่องก็ดี บางเรื่องก็ยังไม่ดี
มันเหมือนเป็นการทำความเข้าใจกับตัวเอง
สังเกตพฤติกรรมตัวเอง เรียนรู้ความคิดตัวเอง
ว่าทำไมเราทำอย่างนั้น ทำไมเราคิดอย่างนี้
คิดไปคิดมาเลยรู้ว่าเป็นเพราะ ‘ใจ’
ตามความคิดตัวเองให้ทัน
ตาม‘ใจ’ตัวเองให้ทัน
ไม่ใช่ตามใจเพราะปล่อยให้ใจนำ(ไปทางอกุศล)
เหมือนที่เค้าๆพูดกันไว้ว่า ดูละคร ให้ย้อนดูตัว (และดูใจ)
เพราะฉะนั้น..ถ้าอ่านหนังสือ ก็ให้ย้อนอ่านใจแล้วเราจะเป็นคนที่ถูกเข้าใจด้วยตัวของเราเอง

สุดท้ายถ้าอ่านตัวเองเป็นแล้ว ก็อ่านคนอื่นให้เป็นด้วย..
จะได้ไม่ต้องเข้าใจไปเองอยู่ฝ่ายเดียว แต่เข้าใจคนอื่นไปด้วยพร้อมๆกัน
อย่าเอาแต่ตัวเองเป็นที่ตั้ง เหมือนเอาอัตตามาบดบัง
กลายเป็นคนโง่ที่คิดว่าตัวเองฉลาดมันไม่ดีหรอก
สู้กลายเป็นคนฉลาดแล้วคิดว่าตัวเองโง่สม่ำเสมอจะดีกว่า
จะได้เป็นคนที่เข้าใจคนอื่น
จะได้เป็นคนที่เข้าใจตัวเอง
จะได้เป็นคนที่เข้าใจทุกอย่างจริงๆ
...แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม

ป.ล. Long live the king ครับ
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=tee34835&month=01-08-2007&group=3&gblog=1























 

Create Date : 04 ธันวาคม 2550    
Last Update : 4 ธันวาคม 2550 2:13:07 น.
Counter : 413 Pageviews.  

พอดีเค้าเลือกให้ หรือเค้าควรเลือกให้พอดี..?

เมื่อหลายดึกที่ผ่านมา
ดูรายการหน้าหนึ่งทางช่อง๕
เห็นพิธีกรคุ้นหน้าคุ้นตา
เหมือนเนื้อหาที่จะต้องคุ้นหูเหมือนเดิม
มีทั้งอาจารย์ที่เป็นหมอหัวล้านๆจำชื่อไม่ได้(ขอโทษ),
หมอพันธ์ศักดิ์,อี้ แทนคุณ(พิธีกรอัจฉิยะข้ามคืน)
แล้วก็พิธีกรหญิงอีกคนหนึ่ง

ซึ่งรายการนี้ผมได้ดูประมาณ๒-๓ครั้ง
คือแค่เปลี่ยนช่องผ่านไปมาเลยมาพักหยุดดู
เป็นรายการที่พูดสอนเรื่องการดำเนินชีวิต
ความคิด การทำความดี ความกตัญญู ฯลฯ
ทั้งต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อสังคม และต่อประเทศชาติ
โดยมีการยกเอาธรรมมะมาพูด มาอ้างอิงบ่อยครั้ง

ซึ่งเหมาะให้เด็กดู วัยรุ่นดู ผู้ใหญ่ดู และทุกคนดู
เพราะเดี๋ยวนี้รายการดีๆมีน้อย หาสาระยาก
ไม่ใช่ว่าผมทำตัวเป็นพวกชอบมีสาระนะครับ
เพราะรายการไร้สาระ เฮฮา พาเพลิน ผมก็ชอบดู
อย่างรายการชิงร้อยชิงร้าน หรือชิทคอมอย่างเป็นต่อ

แต่ที่มันน่าบ่นก็ตรงความซ้ำซากจำเจ
ที่ผมทนดูไม่ค่อยจะได้
อย่างละครน้ำเน่า
อันนี้รับไม่ได้จริงๆ

ตัวละครแบบเดิมๆ
พระเอกแสนซื่อ(บื่อ)
นางเอกแสนดี(เหลือเกิน)
นางร้ายแปดหลอด(ที่วันๆไม่เห็นจะทำการทำงาน),
(เอาแต่เดินลอยชายจ้องจับพระเอกลูกเดียว)
และด้วยพล็อตเรื่องเดิมๆที่ไม่ต้องดูก็เดาออก
ว่าสุดท้ายนางเอกก็ดองกับพระเอกอยู่ดี

ยิ่งมีนางเอกเจนเนอเรชันใหม่
ที่เข็มเล่นเป็นนางเอก
ชื่อเรื่องบัวๆ.. อะไรสักอย่าง -อ่อ..เรื่องบัวปริ่มน้ำ
ที่ดูไปดูมาแล้วงงๆว่า
นางเอกในเรื่องดองกับผู้ชายทั้งเรื่อง
แล้วก็ตบตีอย่างเมามัน
กับนางร้าย แล้วก็แม่พระเอก

ดูแล้วอึ้งไปเลย
ว่าเดี๋ยวนี้จะบ้ากันไปใหญ่แล้ว
เป็นการสอนบทบาททางเพศที่ผิดๆให้กับสังคม
ทำให้ผู้หญิงดูด้อยค่า
ไม่มีศักดิ์ศรี
ไม่ว่าจะตัวนางร้าย หรือแม้แต่นางเอกเอง

อยากให้กองcensorที่ชอบทำเบลอทั้งหลาย
หรือแม้แต่เจ๊เบียบรวมทั้งคนจัดเรต
ออกมาดูแลเนื้อหาละครหน่อย
ไม่ใช่เน่ายังไงก็ปล่อยให้เน่าอย่างนั้น
แล้วมาแก้กันที่ปลายเหตุ
..มันไร้ประโยชน์

ก็ไม่รู้ว่าจะได้ดูละครน้ำดีตอนไหน
อย่างว่านะครับละครดีๆที่สร้างจิตสำนึก
จะมีก็ตอนวันพ่อกับวันแม่

อย่างรายการหน้าหนึ่ง
เป็นรายการที่ดีแต่ต้องมาตอนดึกๆ
แทนที่เด็กจะได้ดู
กลับต้องมาดูหนังน้ำเน่าแทน

โดยพิธีกรก็พูดบ่นถึงเรื่องเวลาเหมือนกัน
และเรียกร้องอยากให้ออกอากาศ
ในเวลาที่ไม่ดึกจนเกินไป
เพื่อที่จะได้มีประโยชน์ในวงกว้าง
ถึงขนาดทำฟรีก็ยอม

เพราะเดี๋ยวนี้ทีวีบ้านเรา
เน้นแต่บันเทิง เน้นแต่ผลกำไร
จนขาดความพอดี..

อารมณ์เหมือนโรงหนังบ้านเราในปัจจุบัน
ถ้าหนังฟอร์มใหญ่ อย่าง แฮรี่ พอตหม้อ หรือสไปเดอแมนเข้าโรงทีไร
ไม่ต้องดูหนังเรื่องอื่นอีกเลยเป็นเดือน
เพราะที่โรงหนังพี่แกล่อซะทุกที่นั่ง ทุกรอบ ทุกวัน ทุกเวลา
เลยไม่รู้ว่าไอที่ๆเค้าไปดูกัน
เป็นเพราะเค้าชอบคุณพ่อมด หรือไอแมงเม่าจริงๆ
หรือเค้าไปดูเพราะมันไม่มีไรให้ดูแล้ว
รอบมันเต็มไปหมด
โรงหนังมันเลือกให้เอง
ไม่ต้องคิดไรมาก
เสียตังแล้วก็ดูๆไป
ไม่มีทางเลือก
นั่งดูกันตาปริ๊บๆ
แล้วเดี๋ยวมีภาคต่อออกมาอีก
ก็มาเสียตังค์(แพงขึ้นเรื่อยๆ)กันอีกนะครับ
อย่าเอาไรมากครับ ..แค่ดูหนัง

ทุกอย่างมันเลยเถิดไปกันหมด
เอาเปรียบกันไปหมด
เหมือนมัดมือชก
ปากก็พูดแต่เอาผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง
แต่จริงๆแล้วตั้งจะเอาแต่เงินผู้บริโภค
หรือไม่ก็ทีวีเพื่อคุณ
หรือทีวีเเพื่อเงินของคุณ?
มันไม่น่าจะเป็นอย่างนี้..

ความพอดีจะอยู่ตรงไหน?

โทรทัศน์เลยกลายเป็นแหล่งศูนย์รวมความบันเทิง
ที่หาสาระไม่ได้(หาได้น้อย)
อีกทั้งยังใช้ทุกวิถีทางในการเนียนโฆษณา
เพื่อจะหลอกให้เราเสียตังค์กันอยู่ทุกวัน
ไม่ว่าจะเนียนในชิทคอม เนียนในเกมโชว์
เนียนในเคเบิลทีวี
แรกๆผมเห็นก็เฉยๆ
อยากจะขายก็ขายไป
แต่พักหลังมันเนียนกันบ่อยไป
จนมันเหมือนมุขที่เอามาเล่นกันซ้ำบ่อยๆ
ดูแล้วก็อดรู้สึกเขื่องๆไม่ได้

ตอนท้ายรายการ
อี้ แทนคุณจึงได้พูดถึงเรื่องความพอดี
ที่ผมรู้สึกชอบว่า
"มีความสัมพันธ์อยู่๔ส่วน คือ
ส่วนตัว/ครอบครัว/การงาน/สังคม
ซึ่งต้องจัดสรรเวลาให้สมดุล ให้พอดีกัน
อย่ามากไป อย่าน้อยไป"

"เหมือนพ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยเงิน
ให้เวลางานมากกว่าครอบครัว
สุดท้ายลูกกลายเป็นเด็กมีปัญหา
เพราะลูกต้องการความรักจากพ่อแม่
ไม่ใช่เงินของพ่อแม่"

ไอ้เรื่องที่พูดอยู่นี่ก็เหมือนกัน
ถ้าคิดแต่ธุรกิจมากเกินไป
สังคมคงต้องหาชิบกันไปหมด

แล้วความพอดีจะอยู่ตรงไหน?
สุดท้ายทุกอย่างเลยต้องอยู่บนเพื่อนฐานของความพอดี
ความพอเพียง..

ไม่ว่าจะอย่างไร..
หรือไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม

ป.ล.รายการหน้าหนึ่ง ช่อง๕ มาห้าทุ่มกว่าๆ ของวันอาทิตย์







 

Create Date : 13 กันยายน 2550    
Last Update : 6 ตุลาคม 2550 19:40:43 น.
Counter : 427 Pageviews.  

1  2  3  

โฉมสมัย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add โฉมสมัย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.