Group Blog
 
All Blogs
 

กริยา 5 รูปในภาษาอังกฤษ

คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า กริยาภาษาอังกฤษมีทั้งหมด 3 รูป (3 ช่อง) มีไรมั่งเอ่ย???????

ช่อง 1 ปัจจุบัน
ช่อง 2 อดีต
ช่อง 3 อนาคต (-*-)

ไม่ได้ล้อเล่นอะ มีคนตอบจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่คนเดียวด้วย

จริงๆ แล้วกริยาภาษาอังกฤษมี 5 รูปนะครับ

Infinitive - กริยาตัวต้นแบบ เป็นกริยารูปแรกสุด ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าใจกันว่าเป็นกริยาช่อง 1 ความจริงไม่ใช่นะครับ เพียงแค่ส่วนใหญ่จะเขียนเหมือนกริยาช่องที่ 1 เท่านั้นเอง ยกเว้นกริยา BE ตัวเดียวที่ Infinitive (BE) กับ ช่อง 1 (am is are) ไม่เหมือนกัน

Present Form - กริยาช่อง 1 มีอยู่สองรูปด้วยกันคือ รูปที่ไม่ได้ลงท้ายด้วย s กับรูปที่ลงท้ายด้วย s โดยดูจากประธานว่า ถ้าเป็นเอกพจน์ บรุษที่ 3 จะใช้รูปที่มี s แต่ถ้าไม่ใช่จะใช้รูปธรรมดา (ไม่ได้ลงท้ายด้วย s)

Past Form - กริยาช่อง 2 มีอยู่รูปเดียว

Past Participle - กริยาช่อง 3 มีอยู่รูปเดียวเช่นกัน บางครั้งจะเขียนเหมือนกริยาช่อง 2 แต่ดูว่า ถ้าหากกริยาตัวนั้นอยู่ติดกับประธานเลยจะเป็นช่อง 2 ถ้ามี verb BE หรือ HAVE คั่นอยู่ มันจะเป็นช่อง 3

Present Participle - กริยาเติม ing มีอยู่รูปเดียวเช่นกัน

กริยาแต่ละรูปจะใช้ใน Tense และ Mode ที่แตกต่างกันไป สรุปสั้นๆ (ซึ่งจริงแล้วอาจจะมีข้อยกเว้นบ้างนะครับ) ว่า

Infinitive จะใช้ใน

1. ประโยค ปฏิเสธ และ คำถามของ Present Simple (เมื่อมี do หรือ doest อยู่ในประโยค)
I don't like my job.
2. ประโยค ปฏิเสธ และ คำถามของ Past Simple (เมื่อมี did อยู่ในประโยค)
We didn't watch television last night.
3. เมื่อตามหลังกริยาช่วยแบบ Auxiliary verbs เช่น can, will, may, must
All Thai men have to do mlitary services.

กริยาช่องที่ 1
จะใช้ในประโยคบอกเล่าของ Present Simple
She works at weekends.
They work at weekends.

กริยาช่องที่ 2
จะใช้ในประโยคบอกเล่าของ Past Simple
Alan went to Spain yesterday.

กริยาช่องที่ 3
ถ้าใช้คู่กับ verb HAVE จะใช้ใน Tenses ที่มีคำว่า Perfect ทั้งในประโยค บอกเล่า ปฏิเสธ และ คำถาม
He has gone out.
He hasn't gone out yet.
Has he gone out yet?

แต่ถ้าใช้คู่กับ verb BE จะเป็นประโยครูป Passive Voice ที่ประธานถูกกระทำ
The office was cleaned yesterday.

กริยาเติม ing
จะใช้คู่กับ verb BE ใน Tenses ที่มีคำว่า Continuous ทั้งในประโยค บอกเล่า ปฏิเสธ และ คำถาม
It's raining.
It's not raining.
Is it raining?

ยกตัวอย่างนะครับ
Verb BE
Infinitive = be
Present Form = am is are
Past Form = was were
Past Participle = been
Present Participle = being

Verb HAVE
Infinitive = have
Present Form = have has
Past Form = had
Past Participle = had
Present Participle = having

Verb DO
Infinitive = do
Present Form = do does
Past Form = did
Past Participle = done
Present Participle = doing

Verb LISTEN
Infinitive = listen
Present Form = listen listens
Past Form = listened
Past Participle = listened
Present Participle = listening

Verb DRINK
Infinitive = drink
Present Form = drink drinks
Past Form = drank
Past Participle = drunk
Present Participle = drinking

ส่วนเรื่อง Tense นั้นจะมาว่ากันอีกทีนะครับ อย่าเพิ่งเบ้หน้าดิ ไม่ยากหรอกครับ ถ้าเข้าใจโครงสร้างของมันแล้ว บอกได้เลยว่า it's piece of cake!!!




 

Create Date : 20 พฤษภาคม 2548    
Last Update : 20 พฤษภาคม 2548 3:05:19 น.
Counter : 14047 Pageviews.  

ออกเสียงคำง่ายๆ ในภาษาอังกฤษให้ถูก

ผมสอนภาษาอังกฤษมา 6 ปีแล้วครับ

ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ผมได้พบเจออยู่บ่อยๆ คือความผิดพลาดในการออกเสียงคำง่ายๆ ที่ใช้กันเป็นประจำ

ไม่ทราบว่าทำไมถึงฝังหัวกันได้ถึงขนาดนี้....

อย่างคำว่า I

ไม่ใช่ ไอ นะครับ ภาษาอังกฤษไม่มีเสียง ไอ ต้องออกเป็น อ้าย

(ปกติแล้วการออกเสียงภาษาอังกฤษแบบเป็นคำๆ นั้น เสียงลงท้ายจะใกล้เคียงกับวรรณยุกต์ "โท" ของภาษาไทย ส่วนถ้าพูดออกมาเป็นประโยค เสียงสุดท้ายก็จะลงท้ายด้วยเสียงที่ใกล้เคียงกับวรรณยุกต์ "โท" เหมือนกัน ยกเว้นในประโยคคำถาม yes/no ที่เสียงจะขึ้นสูงเป็นระดับ "จัตวา")

พอเติม 'm เข้าไป เป็น I'm

มันจะออกเสียงว่า แอม ได้อย่างไร เพราะ am ก็ออกเสียงว่า แอ้มม อยู่แล้ว ที่ถูกต้อง ออกเป็น อ้าย..อึ่ม พูดติดกันเร็วๆ ให้กลายเป็นพยางค์เดียว นี่คือเสียงที่ถูกต้องนะครับ

อีกคำคือ don't

ถ้ายังอ่านว่า ด้อนท์ ละก็ ไปลองคุยกับฝรั่งดูนะครับ ร้อยทั้งร้อย จะอ่านว่า โด้น.ทึ ทั้งนั้นแหละครับ

ไอ้ 3 คำข้างต้นนี่เป็นคำที่ต้องพูดอยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้น อย่าลืมละครับ อ้าย อ้าย.อึ้ม โด้น.ทึ ไม่ใช่ ไอ แอม ด้อนท์

นอกจากนี้ คำที่มี -en, es, et อยู่ข้างหลัง อย่าไปอ่านเป็นเสียง เอะ เข้าละครับ มันจะออกเป็นเสียง อิ หรือ อึ เป็นส่วนใหญ่ เช่น

chicken - ชิคขิ่น.หนึ
student - เซอะตยู้ดึ้น.ทึ
ticket - ทิคคิ.ทึ
watches ว้อทชิส.สึ

ยกเว้นกรณีที่เป็นคำพยางค์ เดียวถึงจะออกเป็นเสียง เอะ เช่น
pen - เพ่น.หนึ
แต่ open - โอ๊พพึ่น.หนึ
met - เม็ท.ทึ
แต่ comet - ค้อมมิท.ทึ
chess - เชส.สึ
แต่ matches แม้ทชิส.สึ

ส่วนคำที่ลงท้ายด้วย age จะออกเป็นเสียง อิจ นะครับ
village - ฟวิลลิจ.จึ
damage - แด๊มมิจ.จึ
manage - แม้นนิจ.จึ
language - แล้งกวิจ.จึ

รวมทั้ง
orange - เอ๊าะหริ่น.จึ ไม่ใช่ ออเรนจ์

ยกเว้นคำที่มาจากภาษาฝรั่งเศส
garage - เกอะราจ.จึ
camouflage - แค้มเหมอะฟลาจ.จึ

แต่ถ้าเป็นคำพยางค์เดียวจะออกเป็นเสียง เอจ เช่น
age - เอจ.จึ
rage - รุ-เอจ.จึ

เสียง อึ ที่ท้ายคำนั้นไม่ต้องออกมาดังๆ นะครับ ออกค่อยๆ ในลำคอก็พอ แต่ต้องมีนะครับ

อันนี้เป็นเรื่องของ nature ของเสียงภาษาอังกฤษที่จะออกเสียงตัวสะกดทุกตัวที่มี (อาจจะมียกเว้นเป็นบางคำเช่น climb อ่านว่า คลาย.อึ่ม หรือ debt อ่านว่า เด็ท.ทึ) ซึ่งต่างกับภาษาไทยเราซึ่งตัวสะกดจะออกเพียงให้รู้ว่าอยู่ในแม่ไหน (กด กบ เกย) เท่านั้น

สุดท้าย ดูตัวอักษรเจ้าปัญหา k(c, ch) p และ t

ตัวอักษรพวกนี้จะมีการเปลี่ยนเสียงเมื่ออยู่ตามหลังพยัญชนะ s f x
คือ

ถ้าไม่มี s f x อยู่ข้างหน้า
k/c/ch จะออกเป็นเสียง ค (ข)
p จะออกเป็นเสียง พ (ผ)
t จะออกเป็นเสียง ท (ถ)
แต่ถ้ามี s f x อยู่ข้างหน้า
k/c/ch จะออกเป็นเสียง ก
p จะออกเป็นเสียง ป
t จะออกเป็นเสียง ต

cry - คุ-ร่าย
scry -เซอะกุ-ร่าย
school -เซอะกูล(เหลอะ)

port - โพ่ท.ทึ
sport - เซอะโป้ต.ทึ

tar - ท่าร
star - เซอะต้าร

เพราะฉะนั้น
shopping = ช้อพผิ่ง ไม่ใช่ ช้อปปิ้ง
experience = อิกเซอะปี๊เหรียน.ซึ ไม่ใช่ เอกพีเหรียน
extended = อิกเซอะเตนดิด.ดึ ไม่ใช เอกเทน
sitting = ซิททิ่ง ไม่ใช่ ซิตตี้ง
city = ซิทที่ ไม่ใช่ ซิตี้


ที่ยกตัวอย่างมานี่เอาไว้ใช้พูดในประโยคภาษาอังกฤษเท่านั้นนะครับ ถ้าพูดภาษาไทยแล้วมีคำพวกนี้อยู่ด้วยก็ใช้ตามสะดวกเถอะครับ ถ้าไปออกเสียงแบบนี้เค้าจะหาว่าดัดจริตเอา




 

Create Date : 17 พฤษภาคม 2548    
Last Update : 17 พฤษภาคม 2548 23:37:51 น.
Counter : 3054 Pageviews.  

4 คำถามเพื่อการเรียนภาษาอังกฤษให้รู้เรื่อง

เคยแว่บเข้าไปอ่านกระทู้ในเว็บบอร์ดต่างๆ มักจะเจอคนโพสต์ทำนองว่า

“เรียนภาษาอังกฤษมาตั้งนานแล้วแต่ยังไม่รู้เรื่องเลย ทำไงดีคะ”

“อยากทราบวิธีการเรียนภาษาอังกฤษให้รู้เรื่อง ใครช่วยตอบที”

โห ครูก็อยากตอบอะนะ แต่ตอบยาวอะ จะให้ไปตามตอบทั้งหมดคงไม่ไหว เอาเป็นว่าครูจะมา update บล็อกบ่อยๆ ละกัน

ก่อนอื่นเลย การเรียนภาษาอังกฤษ (รวมถึงวิชาอื่นด้วย) ในหัวข้อต่างๆ ให้รู้เรื่องนั้น เราต้องถามคำถามตัวเองแล้วตอบมันให้ได้ซะก่อนว่า

WHAT are we learning about at the moment? เรากำลังเรียนอะไรอยู่เนี่ย

WHY do we have to know it? ทำไมต้องเรียนมันด้วย

HOW can we use it properly? ทำยังไงถึงจะเอาไอ้ที่เรียนนี่ไปใช้ได้อย่างถูกต้อง

และ
DOES it connect to what we have learnt before? สิ่งนี้มันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราเรียนมาก่อนหน้านี้หรือไม่

ยกตัวอย่างแล้วกัน

เรื่องการใช้ BE นั้น เรียนกันมาตั้งแต่อนุบาล แต่จวนจะจบมหาวิทยาลัยรอมร่อแล้วยังใช้ไม่ได้ซักที มาลองตอบคำถามกันดีกว่า

What are we learning about at the moment?
เรียนเรื่องการใช้ BE จ้า มันเป็นกริยาที่พิเศษที่สุดในภาษาอังกฤษ มีอยู่ด้วยกัน 5 รูปคือ be (infinitive) am/is/are (กริยาช่องที่ 1) was/were (กริยาช่องที่ 2) been (กริยาช่องที่ 3) และ being (รูป present participle)

Why do we have to know BE?
เพราะมันเป็นกริยาที่ใช้กันมากนะสิ เป็นได้ทั้งกริยาแท้ (ที่หลายคนชอบแปลว่าเป็น/อยู่/คือ นะแหละ) และกริยาช่วย

How can we use BE properly?
ก้อต้องแยกให้ออกก่อนละว่ามันเป็นกริยาแท้หรือกริยาช่วย ถ้าเป็นกริยาแท้จะมีมันอยู่เพียงแค่ตัวเดียวในประโยค และจะตามด้วยคำ 3 ประเภทคือ บุพบท (Preposition) นาม (Noun) และ คุณศัพท์ (Adjective) เช่น

She is at home at the moment – หลัง is คือคำว่า at ซึ่งเป็นบุพบท อันนี้ is จะแปลว่า อยู่

She was a nurse last year. – หลัง was คือ a nurse ซึ่งเป็นคำนามทั่วไป อันนี้ was จะแปลว่า เป็น

She is Sue. – หลัง is คือ Sue ซึ่งเป็นคำนามเฉพาะ อันนี้ is จะแปลว่า คือ

She is angry. – หลัง is คือ angry ซึ่งเป็นคุณศัพท์ อันนี้ is ไม่ต้องแปลจ๊ะ แต่ระวังตอนแปลกลับจากไทยเป็นอังกฤษแล้วกัน อย่าลืมใส่ verb BE ที่เหมาะสมด้วยนะ เช่น อาทิตย์ที่แล้วพวกเราไม่สบายทั้งอาทิตย์เลย อย่าลืมใส่คำว่า were ไปด้วยละ ไม่ใช่ we sick เฉยๆ ต้องเป็น We were sick all week last week.

แต่ BE ก็นำมาใช้เป็นกริยาช่วยได้ ถ้าในกรณีนี้มันจะไม่มีความหมายอะไร แต่ก็ต้องอย่าลืมใส่มันละ ถ้า BE เป็นกริยาช่วยมันจะตามหลังด้วยกริยา 2 แบบคือ กริยาเติม ing (Present Participle) หรือไม่ก็กริยาช่อง 3 (Past Participle)

ถ้าตามหลังด้วยกริยาเติม ing มันจะเป็นเรื่องของพวก Continuous Tenses ซึ่งส่วนใหญ่จะหมายถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เช่น

Our friends are playing football at the moment. ตอนนี้เพื่อนเรากำลังเล่นฟุตบอลอยู่

Our friends were playing football at 5 p.m. yesterday. เมื่อวานตอน 5 โมงเย็นนะ เพื่อนเรากำลังเล่นฟุตบอลอยู่

ถ้าตามหลังด้วยกริยาช่อง 3 มันจะเป็น Passive form ซึ่งประธานเป็นผู้ ถูก กระทำ

The door has been painted.

My bedroom was cleaned last night.

Does BE connect to what we have learnt before? สิ่งนี้มันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราเรียนมาก่อนหน้านี้หรือไม่

ชัวร์สิครับ ก็ไอ้เรื่องที่พูดถึงมาทั้งหมดนะแหละคือ

Parts of Speech (ประเภทของคำ)
Present Continuous
Past Continuous
Passive Voice

แต่ส่วนใหญ่เรื่องพวกนี้จะเรียนทีหลัง BE ทั้งนั้น เอาเป็นว่าถ้ามีโอกาสเรียนเรื่องพวกนี้ก็อย่าลืมกลับมาทบทวนการใช้ BE อีกทีละ

ถ้าสนใจเรื่องอะไร ลองตั้งคำถามเหล่านี้กับตัวเองก่อน แล้ว comment มานะครับ




 

Create Date : 13 พฤษภาคม 2548    
Last Update : 13 พฤษภาคม 2548 0:20:04 น.
Counter : 805 Pageviews.  


senseibob
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add senseibob's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.