อะไรคือความสำเร็จในแวดวงวรรณกรรม?
เกือบสิบปีในแวดวงวรรณกรรมของผู้เขียน ตั้งแต่อายุ 12 จนถึงทุกวันนี้ยังไม่เคยมีคำว่าประสบความสำเร็จ! กระทั่งวันนี้จึงได้ย้อนกลับมาถามตัวเองว่าแท้จริงแล้วคำว่าประสบความสำเร็จในแวดวงวรรณกรรมนั้นหมายถึงสิ่งใดกันแน่?

ขอยอมรับโดยดุษฎีว่าผู้เขียนนั้นเป็นคนใจคอไม่หนักแน่น และความตั้งใจต่ำมาแต่ไหนแต่ไร เมื่อครั้งที่เริ่มงานเขียนชิ้นแรกๆ ด้วยความที่พบว่าเรทติ้งต่ำ ไม่มีผู้ติดตาม จึงทำให้หยุดเขียนไปโดยปริยาย เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนเพิ่งได้ตามหางานเขียนชิ้นแรกๆของตัวเองที่เคยโพสทิ้งๆเอาไว้ตามบอร์ดนักเขียนต่างๆ เมื่อได้อ่านจนคบแล้วรู้สึกประหลาดใจอยู่ไม่น้อยเช่นกัน เพราะงานเขียนเหล่านั้นไม่ถึงกับดูไม่ได้เสียทีเดียวในเชิงสำนวนภาษา เพียงแต่เนื้อหานั้นค่อนข้างจะเป็นไปในทางที่ไม่เป็นที่นิยม ทำให้จำนวนผู้อ่านจำกัด จนหมดกำลังใจเขียนไป

ในจำนวนนักเขียนนิยายอินเทอร์เน็ตหลายหมื่นคน (หรืออาจจะมากกว่านั้น) ผู้เขียนคาดว่าคงมีนักเขียนจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาแบบเดียวกัน ซึ่งถ้าหากนักเขียนเพื่อนร่วมชะตากรรมทั้งหลายหันมาย้อนถามผู้เขียนว่า ‘แล้วต้องทำอย่างไรยอดผู้อ่านจึงจะเพิ่มขึ้น ทำอย่างไรนิยายจึงจะติดตลาด’ ผู้เขียนเองก็คงไม่สามารถตอบได้ การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การชักชวนเพื่อนนักเขียน นักอ่านที่มีความสนใจในแนวเดียวกัน อาจจะสามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่สำหรับตัวผู้เขียนนั้นเห็นว่าการพยายามวางเฉยต่อเรตติ้งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างสรรผลงานการประพันธ์ ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่ว่าผู้เขียนจะไม่สนใจยอดผู้อ่าน แต่ความหมาย ณ ที่นี้คือ ยินดีที่มีผู้อ่าน แต่ก็ไม่ได้มุ่งหวังให้ล้นหลามมากกมายนัก จุดสำคัญคือมุ่งความสนใจไปที่เนื้องานมากกว่า

อะไรคือความสำเร็จของงานเขียน? ยอดผู้อ่าน? คำวิจารณ์? หรือ การได้รับการตีพิมพ์? ผู้เขียนขอตอบ ง.งู ถูกทุกข้อ ในยุคที่วรรณกรรมทางอิทเทอร์เน็ตเฟื่องฟูเช่นนี้ ผู้เขียนรู้สึกดีใจที่อย่างน้อยชาวไทยทุกเพศทุกวัยก็มีความกระตือรือร้นในด้านการอ่าน และ การเขียนมากยิ่งขึ้น ยิ่งได้เข้าไปสำรวจในร้านหนังสือแล้วยิ่งปลื้มใจที่มีนวนิยายจากอินเทอร์เน็ตจำนวนไม่น้อยได้รับการตีพิมพ์ แต่รู้สึกเสียใจที่งานเขียนที่ได้รับการเผยแพร่นั้นยังไม่มีความหลากหลาย

‘การพิมพ์’ คือธุรกิจชนิดหนึ่ง การจะทำธุรกิจได้ต้องนำเสนอในสิ่งที่ตลาดตอบรับ ดังนั้นนิยายที่จะได้รับการเผยแพร่ย่อมต้องเป็นนิยายที่มีเรตติ้งดี มีเนื้อหาในแบบที่ผู้อ่านส่วนใหญ่ต้องการ เพื่อสร้างยอดขาย ไม่จำเป็นว่านิยายที่ได้รับการตีพิมพ์จะต้องมีเนื้อหาดี มีการใช้สำนวนภาษาที่เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง หรือมีการนำเสนอที่ชาญฉลาด ฉนั้น ในฐานะที่ผู้เขียนเรียกตนเองว่านักวิจารณ์หัวรุนแรงคนหนึ่ง จึงขอสรุปรวบรัดว่างานเขียนส่วนมากที่ได้รับความนิยม และ ได้รับการเผยแพร่ในปัจจุบันคือ ‘นิยายป๊อปปูล่า’

นิยายป็อปปูล่านั้นก็ไม่ต่างไปจากเพลงป็อปปูล่าที่โด่งดังขึ้นมาในช่วงเวลาหนึ่งแล้วก็เสื่อมความนิยมไปเมื่อมีเพลงใหม่ๆเข้ามาแทนที่ นิยายป็อปปูล่าอาจมีเนื้อเรื่องที่ตอบรับกระแสนิยม แต่เมื่ออ่านจบแล้วน้อยเรื่องนักที่จะสามารถทำให้ผู้เขียนหวนนึกถึงในแง่ที่มีสำนวนภาษาที่ดี มีเนื้อเรื่องที่แปลกใหม่ มีความฉลาดในการนำเสนอแง่คิด จุดยืนภายใน (ไม่ว่าจะเป็นแง่คิด จุดยืนด้านใดก็ตาม) คุณสมบัติเหล่านี้เองที่จะยกระดับงานเขียน ให้เป็นวรรณกรรม ซึ่งเปรียบได้กับเพลงคลาสสิคที่ถึงเวลาผ่านมานับร้อยๆปี ก็ยังไม่คลายความนิยม เพราะคุณค่าในแง่การประพันธ์ร้อยเรียงอย่างละเอียดละออ

ถ้าหากเปรียบวรรณกรรม หรือ งานเขียนที่เขียนขึ้นด้วยความปราณีตโดยไม่อิงกระแสนิยมกับดนตรีคลาสสิคแล้วคงต้องเท้าความถึงคีตกวีที่มีชื่อเสียงโด่งดังตลอดกลางหลายท่านยกตัวอย่าง เช่น บาร์ค บีโธเฟน โชแปง ว่าในช่วงเวลาที่บทเพลงที่ได้รับการยกย่องเชิดชูมาจนถึงทุกวันนี้หลายเพลงไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดี และ ไม่ได้รับความนิยมในช่วงชีวิตของท่าน แต่ด้วยคุณค่าของการร้อยเรียงเสียงประสานอันละเอียดละออนั้นเองที่ทำให้บทเพลงเหล่านั้นได้รับการยกย่องในยุคหลังตลอดมากระทั่งปัจจุบัน และ จะไม่มีวันสูญเสียคุณค่าในตัวของมันไป

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาจะเจาะจงโจมตีงานเขียนชนิดใดๆทั้งสิ้น เพราะทั้งผู้เขียนและผู้อ่านทุกคนนั้นล้วนแต่มีเสรีภาพในการเลือกเขียนและเลือกอ่านตามความชอบส่วนบุคคล แต่สิ่งที่ผู้เขียนคาดหวังว่าจะได้เห็นนั้นคือการเติบโตของงานเขียนในรูปแบบใหม่ๆ ที่มีความหลากหลาย และอยากจะส่งเสริมให้นักเขียนที่กำลังมีงานเขียนในรูปแบบที่ไม่เป็นไปตามกระแสนิยมมุ่งมั่นสร้างสรรผลงานต่อไปโดยไม่ย่อท้อ แม้ว่าจะไม่ได้รับการตอบรับมากมายนัก และถ้าหากว่าท่านผู้อ่านคือหนึ่งในนักเขียนเหล่านั้น ผู้เขียนก็ขอเป็นกำลังใจให้ และหวังว่าวันหนึ่งงานเขียนที่สร้างขึ้นด้วยความปราณีตละเอียดละออของท่านจะกลายเป็น ‘วรรณกรรม’ ชิ้นงดงามเปี่ยมด้วยคุณค่าที่อยู่คู่กับสังคมไทยตลอดไป



Create Date : 03 ธันวาคม 2553
Last Update : 3 ธันวาคม 2553 19:07:55 น.
Counter : 548 Pageviews.

2 comment
วิจารณ์หนังสือ ตอนที่ ๒ Devil’s Bride เจ้าสาวของแวมไพร์ ประพันธ์โดย คาซี
Devil’s Bride เจ้าสาวของแวมไพร์
ประพันธ์โดย คาซี

หนังสือเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งในสังกัด สนพ. แจ่มใส ที่แรกเห็นปกเป็นภาพกราฟฟิคโทนฟ้าๆ เขียวๆ และจัดวางขายอยู่ในชุดพวกนิยายแฟนตาซี เลยไม่ได้สนใจอะไรเป็นพิเศษ แต่พอได้หยิบอ่านจากห้องสมุดของ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้แห่งชาติ (TK Park) ถึงได้รู้ว่าจริงๆแล้วหนังสือเล่มนี้มีอะไรมากกว่าที่คิด ทีแรกนึกว่าเรื่อง Devil’s Bride หรือ เจ้าสาวชองแวมไพร์ นี้จะเป็นแนวคล้ายๆแบบเรื่อง Vampire Twilight หรืออะไรคล้ายๆอย่างนั้น แต่พอเปิดอ่านก็ยอมรับว่าผิดคาดจริงๆ

ความจริงชื่อเรื่องภาษาไทยไม่น่าใช้ชื่อว่า เจ้าสาวของแวมไพร์ เพราะรู้สึกว่าตัว Devil ในเรื่องนี้เป็นผีดิบอีกประเภทหนึ่งที่ผู้เขียนสร้างขึ้นมาเอง มีลักษณะเฉพาะเป็นของตัวเอง อาจจะคล้ายๆกับแวมไพร์บ้างนิดหน่อย แต่ก็ไม่น่าเรียกว่าแวมไพร์ เนื้อเรื่องของเรื่องนี้ความจริงแล้วจะบอกว่าเป็นแนวพีเรียดก็ได้เหมือนกัน เพราะผู้เขียนอ้างอิงในเนื้องเรื่องว่าไล่ๆกันกับยุคที่แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ออกอาละวาด และมีบรรยากาศ สังคม ค่านิยมแบบวิคตอเรียนตอนปลายซึ่งจัดว่าเป็นอีกยุคหนึ่งที่มีบรรยากาศแบบหวานๆ และมีสเนห์อยู่เข้มข้นมาก โดยต้นเรื่องเปิดด้วยคดีฆาตกรรมเขย่าขวัญกลางกรุงลอนดอน ก่อนจะตามด้วยตำนานที่แปลกประหลาดน่าระทึกใจ ของผีดิบซึ่งถือกำเนิดมาจากพืชกินสัตว์ชนิดหนึ่งในป่าลึก ซึ่งถูกเก็บมาเลี้ยงด้วยกิเลสของมนุษย์ กระทั่งสามารถพัฒนาตัวเองเพื่อความอยู่รอด ด้วยการถอดจิตไปเข้าสิงในสัตว์อื่นได้ และดำรงชีงวิตอยู่ด้วยการผลัดเปลี่ยนร่างไปเรื่อยๆมาเป็นเวลา 500 ปี (เทียบเวลาแล้วคาดว่าน่าจะมีกำเนิดในช่วงยุคกลาง ซึ่งก็ถือเป็นความเฉียบคมของผู้เขียนอีกที่เลือจะให้ผีดิบตนนี้ มีจุดกำเนิดในยุคที่มีความมืดมน และลึกลับเป็นพื้นหลัง)

ในเนื้อเรื่องมีการสะท้อนแง่มุมหลายอย่างเกี่ยวกับด้านมืดของมนุษย์ กิเลส และความลุ่มหลงในวัตถุ ส่วนตัวละครถึงแม้จะมุ่งความสำคัญไปที่พระนางเป็นส่วนมาก เช่นเดียวกับหนังสือเรื่องอื่นๆ แต่โดยทั่วไป ตัวละครทุกตัวก็มีความโดดเด่นในด้านบุคลิก เช่นน้องสาวของนางเอก และ ไมเคิล คีย์ นักหนังสือพิมพ์หนุ่มผู้มีจิตในอ่อนไหว

อาจจะบอกได้ว่าพระเอกในเรื่องนี้มี 2 คน ในเร่างเดียว คือ วิลเบิร์ก เวสตั้น นายตำรวจหนุ่มเจ้าของร่างก่อนจะถูกปีศาจเข้าสิง ซึ่งมีบุคลิกชาๆ มีความซับซ้อนในจิตใจสูง ในด้านหนึ่งเป็นคนเห็นแก่ผลประโยช์ และ ร้ายลึก อยู่พอควร แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นคนที่เข้าอกเข้าใจ และ มีความจริงใจต่อ แอนนาเบล ไพรด์ ผู้เป็นคู่หมั้น ได้ด้วยวิธีเงียบๆในแบบฉบับของตัวเอง กับอีกคนหนึ่งที่ถูกปีศาจเข้าสิงแล้ว ยังคงความร้ายลึกไว้เช่นเดิม แต่ เลห์เหลี่ยมจัดจ้านแพรวพราวกว่า มีการกระทำที่โผงผางกว่า ไม่สุขุมลุ่มลึกเท่าเจ้าของร่าง โดยเฉพาะในแง่การแสดงความรักต่อ แอนนาเบล ไพรด์ ที่เรียกได้ว่าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง (แต่โดยส่วนตัวแล้วผู้วิจารณ์ชอบพระเอกคนแรกมากกว่า ;-) )

ส่วน แอนนาเบล ไพรด์นางเอกนั้นดูเหมือนว่าจะมีความเป็นวิคตอเรียนอยู่มาก ในแง่ความมีจิตใจอ่อนโยน มั่นคง ดีงาม ตามอุดมคติของสุภาพสตรียุควิคตอเรียน (ถ้าใครเคยอ่านหนังสือเรื่องวิมานลอยมาก่อน คงจะนึกถึงภาพเมลานีขึ้นมาได้ไม่ยาก)

การดำเนินเรื่องมาจนถึงตอนจบไม่ช้าและไม่เร็วจนเกินควร ให้ความลุ้นระทึกได้เป็นอย่างดี เป็เรื่องแรกที่เดาตอนจบไม่ถูกจริงๆ เพราะตอนแรกอ่านแล้วคิดถึงเรื่อง Meet Joe Black ที่แบรต พิต เล่นไว้เมื่อหลายปีที่แล้ว ซึ่งมีอะไรคล้ายๆกัน คือพระเอกโดนรถชนตาย แล้วยมฑูตมาใช้ร่าง จนตกหลุมรักกับนางเอกที่เป็นคนรู้จักของเจ้าของร่างเดิม แต่สุดท้ายก็ต้องละร่างไป แล้วคืนให้เจ้าของร่างเดิม เลยคิดว่าเรื่องนี้ก็น่าจะจบโดยที่ปีศาจเป็นฝ่ายพ่ายแพ้แล้วคืนร่างให้พระเอกคนเดิม เป็นแนวโศกนาฏกรรมนิดๆ แต่พอเอาเข้าจริงๆแล้วก็หักให้จบเป็นสุขนาฏกรรม ปีศาจก็กลับใจได้ด้วยอานุภาพแห่งความรัก อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข กระทั่งกลับกลายเป็นพืชเช่นในกำเนิด โดยยังไม่ลืมทิ้งท้ายไว้ว่าปีศาจตนนี้ไม่ได้ตายไปเสียทีเดียว แต่พร้อมจะกลับมาได้ทุกเมื่อ ตราบใดที่ถูกคุกคามด้วยกิเลสของมนุษย์ ซึ่งผู้วิจารณ์ขอปรบมือให้ในการทิ้งท้ายที่เฉียบคมนี้

โดยรวมทั้งการใช้ภาษาและวิธีเดินเรื่องจัดว่าอยู่ในระดับที่ไม่แพรวพราวจนเลี่ยน หรือหวือหวาจนโอเวอร์ ลงตัวกับเนื้องเรื่องอย่างเหมาะเจาะ อีกทั้งมีแง่คิดดีๆแฝงอยู่ไม่น้อย เรียกได้ว่าเป็นความแปลกใหม่บนความคลาสสิค จัดเป็นหนังสือดีที่น่าติดตามอีกเล่มเช่นกัน




Create Date : 09 ตุลาคม 2552
Last Update : 9 ตุลาคม 2552 14:33:33 น.
Counter : 828 Pageviews.

1 comment
วิจารณ์หนังสือ ตอนที่ ๑ นางบำเรอหลวง ประพันธ์โดย สาลิกา
นางบำเรอหลวง
ประพันธ์โดย สาลิกา

แม้ว่าผู้วิจารณ์จะคลุกคลีอยู่ในวงการนิยายอินเทอร์เน็ต แต่ก็มีน้อยเรื่องจริงๆที่จะติดตามอ่านจนหยดสุดท้ายในหน้าเว็บบอร์ด ซึ่งหนึ่งในนั้นย่อมมีเรื่อง นางบำเรอหลวง ของ สาลิการวมอยู่ด้วยโดยไม่ต้องสงสัย

เรื่องนางบำเรอหลวงนี้เป็นนิยายจีนแนวโรแมนติก ดราม่า ในรั้วในวัง ผสมกำลังภายในนิดๆ (แต่ไม่มีอิธิฤทธิเซียน) แบบที่คนไทยคุ้นเคยกันดี ซึ่งถ้าหากหยิบมาอ่านโดยไม่ได้ใส่ใจ ก็แทบจะไม่รู้เลยทีเดียวว่าที่แท้แล้วหนังสือเรื่องนี้เป็นนิยายจีน ที่เขียนขึ้นโดยฝีมือคนไทยแท้ๆ ไม่ใช่นิยายแปลจากนักเขียนจีนที่ไหน

เนื้อเรื่องของ นางบำเรอหลวง อาศัยกลิ่นอายของราชสำนักจีนโบราณ (ถ้าเดาไม่ผิดคงในราวสมัยราชวงศ์ซ้อง หรือ ไม่ก็หมิง) แต่ผู้เขียนมีเจตนาให้เมืองในเรื่องเป็นเมืองที่สมมุติขึ้นคล้ายๆกับประเทศจีนมากกว่าที่จะเขียนอิงประวัติศาสตร์ โดยมีองค์จักรพรรดิหนุ่มพระองค์หนึ่งปกครอง แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ขึ้นต้นมาทื่อๆ หากแต่มีการสืบสาว อ้างอิงประวัติศาสตร์ของเมืองสมมุตินั้นขึ้นมาอย่างแยบยน จนแทบจะสามารถทำให้ผู้อ่านเผลอนึกไปได้ว่านครดังกล่าวนี้มีตัวตนอยู่จริงในโลก ซึ่งตามโบราณราชประเพณี เมื่อจักรพรรดิขึ้นเถลิงถวัลราชสมบัติแล้ว ก็ต้องมีการคัดเลือกนางสนม ซึ่งก็เป็นเหตุให้พระเอกของเรื่องคือองค์พระจักรพรรดิ ได้พบกับ อิงผิง ลูกสาวขุนนางผู้หนึ่ง ซึ่งในเรื่องได้เล่าไว้ว่าเป็นเสมือน Puppy Love ของจักรพรรดิหนุ่มเมื่อครั้งยังเยาว์วัย จนคัดเลือกเข้ามาเป็น นางบำเรอหลวง ในที่สุด แต่เรื่องราวก็ไม่จบแค่นั้น เพราะเส้นทางในวังหลวงของอิงผิงก็เต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการ ให้ได้คอยลุ้นเอาใจช่วยอยู่เสมอ

โดยรวมแล้ว เนื้อเรื่องของ นางบำเรอหลวง จัดว่าไม่ค่อยจะฉูดฉาดนัก แต่ก็เป็นเรื่องยาวที่มีความแยบคายในการนำเสนอ ทั้งการใช้สำนวนภาษาอันละเมียดละไม รับกับบรรยากาศของเรื่อง และการช่วยหนุนของตัวละครอื่นๆ ซึ่งต่างก็มีบุคลิกเป็นเอกเทศ คงเส้นคงวา ไม่สับสน ซึ่งสามารถเติมเต็มช่องว่างระหว่างการเทความสนใจไปที่ พระเอก นางเอก และ ตัวละครอื่นๆ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเสมอในนิยายหลายๆเรื่อง แต่ก็เป็นที่น่าเสียใจที่เมื่อไม่นานมานี้ ได้ข่าวเกี่ยวกับคุณ สาลิกา ผู้ประพันธ์ ว่าเกิดอุบัติเหตุ ไปไหม้บ้าน ซึ่งก็ทำให้ข่าวคราวของ นางบำเรอหลวง เล่ม 2 ที่เคยมีกำหนดจะตีพิมพ์พลอยหายไปด้วย แต่ด้วยคุณภาพของเนื้องานเขียนที่ได้ปรากฏ ก็คงจะทำให้ผู้วิจารย์และใครอีกหลายๆคนยังรอคอยกันได้เสมอ...





Create Date : 09 ตุลาคม 2552
Last Update : 9 ตุลาคม 2552 14:32:06 น.
Counter : 1830 Pageviews.

3 comment

The Marriage Of Figaro
Location :
Queensland  Australia

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ศึกษาด้านดนตรีที่ Queensland Conservatorium
มีความสนใจพิเศษด้าน ดนตรี ศิลปะ วรรณกรรม และ ประวัติศาสตร์