ดูจิตให้เข้าถึงจิตตามพระโอวาทปาฏิโมกข์
หัวใจพระพุทธศาสนา คือ อะไร ???

เราชาวพุทธทั่วทุกตัวคน ย่อมรู้ดีว่า หัวใจพุทธศาสนานั้นมีอะไรบ้าง
พวกเราท่องจำกันจนขึ้นใจ แต่กลับนำไปปฏิบัติได้ไม่ครบทั้ง ๓ ข้อ

ส่วนใหญ่แล้วมักจะปฏิบัติกันเพียงข้อ ๑ และข้อ ๒ เท่านั้น
แล้วก็คิดเองเออเองว่าพอเพียงแล้ว แค่นี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนดีของสังคมแล้ว
แถมบางคนยังหลงภูมิอกภูมิใจในความดีนั้น
ถึงกับมองคนที่ไม่ได้ทำเหมือนตน ว่ามีภูมิธรรมต่ำกว่าตนเสียอีก

พากันเมินข้อ ๓ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา เพราะอะไร?

เพราะเกียจคร้านที่จะลงมือปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาอย่างจริงจังนั่นเอง
จิตจึงไม่มีพลังพอที่จะควบคุมอารมณ์ต่างๆ ที่เป็นอุปกิเลสที่เข้ามาเป็นแขกจร
ทำให้จิตหลงใหลไปตามอุปกิเลสต่างๆได้ง่าย
หลงใหลได้ปลื้มในภูมิธรรมที่ไม่มีในตน
หลงใหลได้ปลื้มเฉพาะกับธรรมที่ตนรู้ตนเข้าใจเท่านั้น
โดยไม่เคยพิจารณาเปรียบเทียบผลที่ได้กับพระสูตรและพระวินัยเลย ...ฯลฯ...



พระพุทธองค์ทรงตรัสกับพระอรหันต์ที่ทรงผนวชให้ด้วยพระองค์เอง
ที่มาประชุมพร้อมเพียงกันโดยมิได้นัดหมายนั้น จำนวน ๑,๒๕๐ รูป
ในวันโอวาทปาฏิโมกข์ ดังนี้ คือ

๑.สพฺพปาปสฺส อกรณํ คือ การไม่ทำบาปให้เกิดขึ้นด้วยประการทั้งปวง
๒.กุสลสฺสูปสมฺปทา คือ การทำกุศลให้ถึงพร้อม
๓.สจิตฺตปริโยทปนํ คือ การชำระจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว
เอตํ พุทฺธาน สาสนํ นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกๆพระองค์



เมื่อลงมือปฏิบัติตามโอวาทปาฏิโมกข์อย่างจริงจังแล้ว
สำหรับผู้ปฏิบัติ ย่อมพอที่จะแยกออกมาได้ว่า
เป็นเรื่องของ “จิตกับอารมณ์” เท่านั้น
ในพระพุทธศาสนา ไม่มีอะไรอื่นนอกเหนือไปจากนี้เลย

ผู้ปฏิบัติจะเห็นได้เองว่า หัวใจพุทธศาสนาในข้อ ๑ และข้อ ๒ นั้น
พูดถึงอารมณ์ที่เป็นฝ่ายอกุศล (อกุศลจิต)
และอารมณ์ที่เป็นฝ่ายกุศล (กุศลจิต) ตามลำดับ

ส่วนในข้อ ๓ นั้นพระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า
"จิต" นั้นสามารถชำระให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ปราศจากกิเลสทั้งหลาย(กุศลและอกุศล)ได้จริง

ปัญหาหลักจึงอยู่ตรงที่ว่า
ทำอย่างไร? จึงจะชำระจิตที่ถูกครอบงำด้วยอวิชชา ที่ทำให้จิตเศร้าหมองได้
เพราะจิตชอบแส่ส่ายออกไปรู้รับอารมณ์เข้ามาสู่จิตจนเกิดความเศร้าหมองขึ้นที่จิต
การชำระจิตให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองได้มากขึ้นเพียงไร
จิตก็จะมีพลังอำนาจมากขึ้นเพียงนั้น อันนี้คือผลที่จะได้จากการปฏิบัติข้อที่ ๓


มีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า เดิมทีนั้น จิตมีสภาพประภัสสรผ่องใส
ที่เศร้าหมองไป เหตุเพราะมีกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง

จะทำอย่างไร ให้จิตไม่เศร้าหมองเพราะกิเลสเป็นแขกจร ???



ในปัจจุบันนี้ อาจารย์แต่ละสำนัก อบรมสั่งสอนศิษย์ แตกต่างกันออกไป
จนกระทั่ง เป็นที่ถกเถียงกันในหมู่ของลูกศิษย์ลูกหาว่า
ของพวกตนที่รู้มาจากท่านอาจารย์ของตนนั้นถูกต้องที่สุด
ของท่านอื่นนั้นถึงไม่ผิดแต่ก็ไม่ถูกต้องนักเพราะทำให้เนิ่นช้า เพ่งเพียร แข็งทื่อฯลฯ
สู้ของพวกตนไม่ได้ทั้งง่ายๆ สบายๆและลัดสั้น ทำแต่วิปัสสนาอย่างเดียวก็พอแล้ว
ไม่ต้องลำบากลำบนนั่งหลังขดหลังแข็ง เพ่งบำเพ็ญเพียรภาวนาเพื่อให้เนิ่นช้าไปทำไม

ซึ่งพระพุทธองค์ท่านทรงสั่งไว้ว่า เมื่อพระองค์ทรงล่วงลับไปแล้ว
ให้พระธรรมวินัยนี้ เป็นศาสดาแทนพระองค์ พวกเธอจงจำไว้
มีอะไรสงสัยให้นำมาเทียบเคียงว่าลงกันกับ พระสูตร พระวินัยหรือไม่



การสอนดังกล่าวที่เป็นมีอยู่ในปัจจุบัน
เป็นการสอนแบบข้ามขั้นตอน โดยไม่นำพาสิ่งที่ถูกต้อง
เพียงแค่ต้องการเอาสิ่งที่ตนเองรู้เนื่องจากคิดขึ้นมาเองว่า
สิ่งที่คิดขึ้นมานั้นถูกต้องและง่ายแก่การปฏิบัติตาม ไม่ลำบากลำบนอะไรเลย
ไม่ต้องเพ่งบำเพ็ญเพียรภาวนาใดๆทั้งสิ้นเลย

โดยจะนำเอาคำสั่งสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์บางส่วน
ที่กล่าวถึงผลของการปฏิบัติที่ผ่านการเพ่งบำเพ็ญเพียรภาวนาได้มาแล้วนั้น
โดยไม่นำพาในส่วนของการเริ่มต้น ที่ต้องปฏิบัติเพ่งบำเพ็ญเพียรภาวนาให้เกิดขึ้นในตนก่อน
อันเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ขาดไปเสียไม่ได้เลยในพระพุทธศาสนา
ซึ่งเป็นการต่อยอดในการ “ดูจิต” ที่มีคุณภาพโดยไม่ติดความคิด หรือ ไม่ติดดีในดี(หลง)


การปฏิบัติที่มีสืบต่อเนื่องกันมายาวนานโดยมีต้นแบบคือพระบรมครูจอมศาสดา
และบรรดาพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ขานนาคเข้ามาเพื่อสืบต่อพระศาสนา
ตั้งแต่อดีตกาลมากระทั่งปัจจุบัน เดินตามรอยพระพุทธบาท
ยังมีหลงเหลือให้จับเค้าเงื่อนได้ ซึ่งยังไม่ถึงกับหมดไปเลยทีเดียว

ผู้ที่ได้ศึกษาพุทธศาสนามาพอสมควรนั้น ย่อมรู้ดีว่า มีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า
ทางอันเอกเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์(ผู้ติดข้องในอารมณ์)ทั้งหลาย
ทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔ หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นเอง
เมื่อมีผู้เดินตามทางนี้อยู่ โลกย่อมไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์


และในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น ที่ทรงกล่าวไว้ในมหาจัตตารีสกสูตร
ทรงเชิดสัมมาสมาธิเป็นใหญ่เป็นประธานในมรรคทั้งหลาย
และที่เหลือจากนั้นอีก ๗ องค์ ทรงให้สัมมาทิฐิ(รู้เห็นตามความเป็นจริง)เป็นใหญ่เป็นประธาน

นั่นคือ สัมมาทิฐิ รู้เห็นตามความเป็นจริงหรือรู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงนั้น
ต้องเกิดจากการปฏิบัติสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นชอบ
จึงจักรู้เห็นตามความเป็นจริงได้



จึงเป็นเหตุผลที่ให้เราจับเค้าเงื่อนได้ว่า
เพราะอะไร??? ท่านถึงได้ยกให้สัมมาสมาธิเป็นใหญ่เป็นประธาน
ในการเริ่มต้นขององค์อริยมรรค


เราชาวพุทธฝ่ายสายปฏิบัติ ย่อมรู้ดีกันทั่วทุกตัวคนว่า
องค์แห่งสมาธินั้นประกอบไปด้วย สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
เมื่อทั้ง ๓ องค์ทำหน้าที่ร่วมกัน จิตย่อมรวมลงตัวเป็น สมาธิ ตั้งมั่นโดยลำพังตนเอง
โดยไม่ต้องอิงอาศัยอารมณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น



เมื่อได้พิจารณาองค์ประกอบแห่งองค์สมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)
เทียบเคียงกับโอวาทปาฏิโมกข์ (ละชั่ว ทำดี ทำจิตให้ผ่องแผ้ว)
ด้วยความรอบคอบแล้ว จะเห็นว่าลงกันได้เป็นอย่างดี ดังรายละเอียด ต่อไปนี้

สัมมาวายามะ
ย่อมยังความพอใจให้เกิดขึ้น
ย่อมพยายาม
ย่อมปรารภความเพียร
ย่อมประคองตั้งจิตไว้เพื่อที่จะ
-ละบาปที่ยังไม่เกิดขึ้น-ไม่ให้เกิด
-ละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
-ยังกุศลที่ยังไม่เกิด-ให้เกิดขึ้น
-ยังกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว-ให้เจริญงอกงาม.


เราพอจะเห็นเค้าเงื่อนได้ว่า
องค์แห่งสัมมาวายามะนั้น เป็นการปฏิบัติตามหัวใจพุทธศาสนา
ในข้อ ๑ ละบาปทั้งปวง (ละชั่ว)
และข้อ ๒ สร้างกุศลให้เกิดขึ้น (ทำดี)


สัมมาวายามะเป็นสิ่งที่นักปฏิบัติต้องมีเป็นองค์ประกอบ เพื่อให้จิตเกิดเป็นสมาธิขึ้น
และเพื่อจะได้เข้าถึงหัวใจพระพุทธศาสนาในข้อที่ ๓ การชำระจิตให้ผ่องแผ้ว
ซึ่งต้องอาศัยองค์ธรรมอีกสองข้อประกอบด้วย คือ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ


สัมมาสติ
ตั้งสติไว้ ณ ที่ฐานกาย เวทนา จิต ธรรมหรือที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔
คือฐานที่ตั้งของสติที่ต้องเจริญให้เกิดขึ้นที่จิตอย่างต่อเนื่อง เนืองๆไม่ขาดสาย ในที่สุด.
โดยต้องเริ่มต้นด้วยการนั่งปฏิบัติสมาธิภาวนา อานาปานสติ
พิจารณาจากกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า


เพื่อให้เข้าถึงจิตที่เป็นธรรมอันเอก ณ.ภายใน ผุดขึ้นมาให้ประจักษ์ชัด



สัมมาสมาธิ การเจริญฌาน ๔
สัมมาสมาธิ เป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่
เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลาย สรรเสริญว่า
ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มี”สติ”อยู่เป็นสุข
เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส
โทมนัสก่อนๆได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ ฯ



มีพระพุทธพจน์รับรองไว้อย่างชัดเจนว่า
“สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถา ภูตํ ปชานาติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว(สัมมาสมาธิ) ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง(สัมมาทิฐิ) ดังนี้”


พวกเรานักปฏิบัติ เมื่อได้อ่านพระพุทธพจน์นี้แล้ว พอที่จะทำความเข้าใจได้ว่า
“พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด”
ก็แสดงว่าสมาธิที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้นั้น เป็นองค์สมาธิในอริยมรรคมีองค์ ๘
ซึ่งมีองค์ประกอบที่ทรงตรัสไว้คือ
สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑ สัมมาสมาธิ ๑ จิตจึงจะรวมลงเป็นสมาธิ

เพียงองค์สัมมาวายามะในองค์อริยมรรคองค์เดียว
ก็เป็นการสังวรอินทรีย์ กาย วาจา ใจ
เพื่อให้จิตเหมาะสมที่จะลงมือปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาให้ได้ผลเกิดขึ้นที่จิต

สัมมาวายามะนั้นเป็นการเพียรประคองจิตให้ระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติ(สัมมาสติ)
จิตจึงจะรวมลงเป็นสมาธิได้ง่ายขึ้น
ผลที่ได้ก็คือจิตสงบรวมตัวลงตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างรวดเร็วขึ้น

ซึ่งต้องเพียรพยายามฝึกฝนอบรมให้จิตคุ้นชินจนเป็นความชำนาญคล่องแคล่ว
เพียงนึกน้อมเท่านั้น(ลืมตา) จิตก็สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้อย่างรวดเร็ว
โดยไม่ต้องตั้งท่า ให้เสียเวลาเลย ใช้งานได้ทันที

ผู้ปฏิบัติต้องจดจำสภาวะในขณะที่จิตสงบตั้งมั่นนั้นไว้อย่างแม่นยำ
เพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ขณะที่ต้องทำหน้าที่การงานอยู่

เมื่อกระทบอารมณ์กิเลสต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
จิตใจมักจะหวั่นไหวไปตามอารมณ์กิเลสที่เข้ามากระทบเหล่านั้น

ให้นำผลที่เคยปฏิบัติได้แล้ว ขณะนั่งหลับตาทำสมาธิ
นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ที่ต้องประสบพบเจออยู่ทุกวัน
โดยหัดปล่อยวางอารมณ์กิเลสต่างๆเหล่านั้น
เพื่อทำจิตให้สงบอย่างรวดเร็วเท่าที่จะทำได้

ใหม่ ๆ นั้นคงทำไม่ได้ง่ายนัก เพราะมีกำลังของสมาธิยังไม่มากพอ
จึงต้องมีเพียรพยายามเจริญกรรมฐานให้เกิดขึ้นให้ได้...


เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 28 กุมภาพันธ์ 2553
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:35:54 น.
Counter : 874 Pageviews.

การดูจิตตามแบบอริยมรรคมีองค์๘นั้น แตกต่างกับการดูจิตที่ปล่อยไปตามยถากรรม
ในปัจจุบันนั้น การดู(อาการของ)จิต ที่เรียกกันว่า ดูจิต(ที่ปล่อยไปตามยถากรรม)
เริ่มแพร่หลายเข้ามาสู่ยุวชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นชาวพุทธมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

จนกระทั่งเข้าใจกันผิดๆไปว่า พระพุทธศาสนานั้นมีวิธีง่ายๆและมีวิธีลัดสั้น
ที่จะทำให้บรรลุมรรคผลได้อย่างรวดเร็ว

โดยความเป็นจริงแล้ว ไม่มีวิธีเช่นนั้นเลย

ถ้าลัดสั้นและง่ายขนาดนั้น พระบรมศาสดาของเราชาวพุทธผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงปัญญา
จะต้องเสียเวลาออกผนวชไปทำไมมี
พระองค์ทรงอยู่ศึกษาในพระราชวัง โดยไม่จำเป็นต้องออกผนวชเลย
ก็น่าจะบรรลุได้ด้วยวิธีง่ายๆและลัดสั้นนั้นเช่นกันครับ

เป็นการหลงเข้าใจแบบผิดๆ ที่ร้ายแรงมากๆ ต่อพระพุทธศาสนา
อาจถึงขั้นทำให้พระพุทธศาสนาหมดไปได้


ยิ่งในทุกวันนี้ ยุวชนชาวพุทธคนรุ่นใหม่
ไม่คิดที่จะศึกษาธรรมะจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อนเลยว่า
ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ต้องใช้ความเพียรเพ่งในการฝึกฝนอบรมจิตให้มีสติ
(การให้จิตมีสติระลึกรู้อยู่ที่ฐานอย่างต่อเนื่องเนืองๆไม่ขาดสาย)
โดยการลงมือปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาอย่างจริงจัง
จนกระทั่งจิตเป็นอิสระจากอารมณ์ทั้งหลาย ไม่ยึดมั่นถือมั่น
จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ที่มากระทบ


เพราะอะไรเล่า ที่ทำให้ยุวชนเหล่านั้นหลงผิดไปได้
เพราะความเชื่อที่เกิดขึ้นในครั้งแรกที่รู้จัก หรือถูกชักชวนให้เชื่อถือตัวบุคคลว่า
ท่านนั้นๆที่ได้กล่าวถึงอยู่เป็นอเสขบุคคลไปแล้ว ...ฯลฯ...
จึงหลงเชื่อได้โดยง่ายดาย และหลงใหลได้ปลื้มกับวาจาที่ไพเราะเสนาะหู

ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยครับ ที่มีความรู้ทางธรรมะเพียงแค่นั้น
โดยไม่ได้ศึกษาเพิ่มเติมจากพระสูตรซึ่งเป็นพระพุทธวจนะ
หรือจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อนทั้งหลาย

แล้วนำคำสอนที่รู้มาเหล่านั้น มาเปรียบเทียบว่าลงกันได้ไหม
กับพระพุทธวจนะ และของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย
ฝ่ายปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาที่เดินตามรอยพระบรมศาสดา

ในพระสูตรที่เป็นพระพุทธวจนะนั้น
พระองค์ทรงตอบคำถามของท่านพระอาจารย์มหากัสสปที่ทูลถามต่อพระองค์
ถึงเรื่องความเสื่อมไปของพระสัทธรรมเกิดขึ้นได้อย่างไร
พระพุทธองค์ทรงตอบว่า


[๕๓๓] ดูกรกัสสป ธาตุดินยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้
ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็ยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้

ที่แท้โมฆบุรุษในโลกนี้ต่างหาก เกิดขึ้นมาก็ทำให้พระสัทธรรมเลือนหายไป
เปรียบเหมือนเรือจะอัปปาง ก็เพราะต้นหนเท่านั้น

พระสัทธรรมยังไม่เลือนหายไปด้วยประการฉะนี้ ฯ

[๕๓๔] ดูกรกัสสป เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นไปพร้อม
เพื่อความฟั่นเฟือน
เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม

เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรง
ในพระศาสดา ๑ ในพระธรรม ๑ ในพระสงฆ์ ๑ ในสิกขา ๑ ในสมาธิ ๑


เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน
เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม ฯ


เราท่านทั้งหลาย เห็นหรือยังครับ
แม้แต่ในครั้งพระพุทธกาลก็ยังมีการกล่าวถึงเหตุแห่งพระสัทธรรมปฏิรูปเพราะอะไร
มีถึง ๕ ข้อ

ข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ นั้น ทุกคนย่อมให้ความเคารพอยู่แล้วถ้าเป็นชาวพุทธ
เว้นแต่ก็มีอาจารย์บางท่านที่สอนว่าเมื่อพบพระพุทธเจ้าให้ฆ่าเสีย
แสดงถึงความอกตัญญูอย่างชัดเจน ยังมีผู้หลงเชื่อเข้าไปได้


ส่วนข้อ ๔ และข้อ ๕ ในปัจจุบันนั้น
เริ่มมีพุทธบุตรที่ขานนาคเข้ามาเพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนา
ได้พยายามที่จะมองข้ามข้อ ๔ และข้อ ๕ โดยไม่ใยดี

ไม่รู้ว่าเพราะความเข้าใจผิดหรือหลงตัวเองกันแน่
ที่มองข้ามข้อ ๔ ที่กล่าวถึงสิกขา๓ (ศีล สมาธิ ปัญญา)
และข้อ ๕ ที่กล่าวถึง สมาธิ ซึ่งเป็นองค์หนึ่งในสิกขา ๓ นั้นเอง


พระพุทธองค์ย่นย่อธรรมะที่ทรงตรัสสั่งสอนไว้ลงเหลือเพียง
ศีล เป็นความงามในเบื้องต้น
สมาธิ เป็นความงามในท่ามกลาง
ขอเน้นย้ำนะครับว่า สมาธิเป็นความงามในท่ามกลางนะครับ
ปัญญา เป็นความงามในบั้นปลาย


พระพุทธองค์ทรงกล่าวกับภิกษุที่พระองค์ทรงบวชให้เองในครั้งกระนั้น ๖๐ รูป
ซึ่งล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา รวมพระองค์ด้วยเป็น๖๑ รูป
ให้ออกไปเผยแผ่พระศาสนา ให้ไปทิศละรูป อย่าไปในทิศเดียวกันสองรูป
เรื่องที่พระองค์ทรงให้เผยแผ่ ก็เรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง

เมื่อเราชาวพุทธรู้เห็นเช่นนี้แล้ว ยังจะมองเมินโดยไม่เคารพในสมาธิที่อยู่ในข้อ ๔ อีกหรือ???

เรามาพิจารณากันให้ดีๆจะเห็นว่าสมาธิ ที่เป็นความงามในท่ามกลางนั้น งามยังไง???

ศีลนั้นเป็นเครื่องมือควบคุมกาย วาจา ให้แสดงออกมาในทางที่เป็นกุศล
แต่หลักใหญ่ใจความนั้น ขึ้นอยู่กับจิตที่มีสมาธิตั้งมั่นไม่กระสับกระส่ายซัดส่ายไปตามอารมณ์นั้นๆ
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นการรักษาศีลด้วยสติปัญญาที่รู้เห็นตามความเป็นจริง(ดูจิตที่ถูกต้อง)

เมื่อเรานำสิกขา ๓ นี้ มาเทียบลงในอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว จะเห็นว่าลงกันได้พอดี
ดังมีพระพุทธวจนะว่าไว้ดังนี้

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะอันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ (ปัญญา)
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ (ศีล)
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ (เป็นสมาธิ) เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล
เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ


เมื่อนำมาเปรียบกับการดู(อาการของ)จิต
หรือการดูจิตที่ปล่อยไปตามยถากรรม ในปัจจุบัน
จะเห็นได้ว่าแตกต่างกับ
การดูจิตตามแบบอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่ทรงสั่งสอนโดยสิ้นเชิง

เพราะว่าการดู(อาการของ)จิตในปัจจุบันนั้น
เป็นการดูจิตที่ไม่เคยมีใครผ่านการอบรมสัมมาสมาธิให้สำเร็จมาก่อนเลย

เมื่อไม่รู้จักสัมมาสมาธิ ก็จะไม่รู้จักจิตที่แท้จริง
ซึ่งเป็นธรรมอันเอกผุดขึ้นมาในขณะที่ฝึกฝนอบรมภาวนาจิตให้เป็นสมาธิ
เมื่อจิตเป็นสมาธิตั้งมั่นไม่หวั่นไหวย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง (มีพระบาลีรับรองไว้)



เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต






Create Date : 10 กันยายน 2552
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:36:11 น.
Counter : 716 Pageviews.

ดูจิตแบบอบรมบังคับบัญชาได้ แบบพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายปฏิบัติ
ในปัจจุบันนี้มีการสอนดูจิตกันแบบผิดๆ
ไม่เป็นไปตามแบบแผนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อน

จนกระทั่งมีผู้ศึกษาธรรมใหม่ เข้าใจผิดไปว่า
เมื่ออกุศลจิตเกิดขึ้นที่จิตนั้น เราไม่สามารถบังคับบัญชาจิตได้

เท่ากับว่า จิตต้องตกเป็นทาสของอกุศลโดยไม่สามารถเป็นอิสระได้เลย

เข้าใจว่าจิตเป็นสิ่งเหลวไหลเกิด-ดับๆอยู่ตลอดเวลา
พึ่งพาอาศัยไม่ได้ จนต้องพึ่งพาอาศัยร่างกายนี้เท่านั้น
แม้แต่ศีลที่รักษาอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นหน้าที่ของกาย

จนลืมพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริง
ไม่ว่ากาย วาจานั้นตกอยู่ในอำนาจของจิตเป็นผู้บงการให้ทำอะไรก็ได้


เช่นให้ทำความดี พูดจาไพเราะ หรือทำความชั่ว พูดจาหยาบคาย
จะดีจะชั่วขึ้นอยู่กับจิตเป็นผู้ชักนำบงการ

สิ่งที่จิตชักนำและบงการไม่ได้นั้น
ก็เรื่องความเก่าคร่ำคร่า ความแก่ชรา ความเจ็บไข้ของร่างกายเท่านั้น
นอกนั้นสามารถจะควบคุมได้ สามารถบังคับกายวาจา
ที่แสดงออกสู่สาธารณะชนให้เป็นไปตามความต้องการของจิต
ที่ได้ผ่านการฝึกฝนอบรมมาก่อน ให้แสดงในรูปแบบไหนก็ได้

คนที่เคยอบรมฝึกฝนให้รู้จักสะกดอดกลั้นนั้น
ย่อมแสดงออกมาให้ดูดีในสายตาสาธารณะ

ส่วนคนที่ไม่เคยฝึกฝนอบรมมา
ย่อมปล่อยจิตปล่อยใจทำอะไรสบายๆไม่รู้จักวิธีสะกดกลั้นความอยากไว้
การแสดงออกมาย่อมไม่เป็นที่พอใจของสาธารณะชน

เพียงแค่เรื่องที่เกิดขึ้นในสังคม ก็ทำให้เราเห็นได้ว่า
จิตนั้นสามารถบังคับบัญชาได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องทางโลก



ทุกวันนี้ที่โลกเรายุ่งวุ่นวายอยู่ก็เพราะเจ้าตัวความคิดนี้เอง
รัก โลภ โกรธ หลง ล้วนเกิดจากเจ้าความคิดนี้ทั้งนั้น
เราจึงต้องมาฝึกฝนอบรมสมาธิกรรมฐานภาวนาก็เพื่อปรามความคิด

แต่มีอาจารย์บางท่านสอนไว้ว่า
“เราไม่ได้ฝึกเพื่อจะไม่คิดนะ แต่เราฝึกเพื่อว่า เวลามันไปคิด เรารู้ทัน
มันจะได้ไม่คิดสะเปะสะปะเป็นอกุศลไป มีธุระจะต้องคิดเราก็คิดได้
ถ้าไม่มีธุระเราก็ไม่ปล่อยให้มันคิดอกุศลไป
เวลาที่ใจไหลไปคิด ก็คือจิตขาดสติแล้ว พอรู้ทันจิตก็เกิดสติ
เราก็จะเห็นเลย จิตจะไปคิด ห้ามไม่ได้
และเห็นว่าทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับ บังคับไม่ได้ เหมือนๆกันหมดเลย”


เราลองมาพิจารณาคำสอนของท่านดูดีๆนะครับว่า
พูดขัดแย้งกันเองในประโยคตลอด เช่น
“จิตจะไปคิด ห้ามไม่ได้”
แต่ในขณะเดียวกัน ก็พูดว่า
“ถ้าไม่มีธุระอะไรเราก็ไม่ปล่อย(หยุด)ให้มันคิดอกุศลไป”

เป็นที่ชัดเจนว่า การสอนแบบนี้เป็นการสร้างความสับสน
ให้เกิดขึ้นกับผู้ศึกษาได้ว่า ตกลงจิตบังคับอบรมได้หรือไม่ได้กันแน่
ความลังเลสงสัยในลักษณะนี้ ทำให้ไม่ก้าวหน้าในทางปฏิบัติ


บางประโยคยังบอกว่า พอรู้ทันจิตก็เกิดสติ
แสดงว่าที่รู้ทันนั้นเพราะมีสติ

สตินั้นเกิดเองไม่ได้ ต้องฝึกฝนอบรมเพียรสร้างขึ้นครับ

แต่ท่านกลับบอกว่า ต้องให้สติเกิดเอง
ถ้าสติเกิดเองได้แล้ว ในโลกนี้คงไม่มีโจรผู้ร้ายหรือคนที่ทำความชั่วอีกเลย
ซึ่งเป็นไปไม่ได้ครับ


แถมยังสอนว่า สติเป็นอนัตตาเสียอีก
อะไรที่เป็นอนัตตานั้น สิ่งนั้นย่อมพึ่งพาอาศัยไม่ได้ครับ

แต่แท้ที่จริงแล้ว สติคือมรรค ต้องเจริญต้องทำให้เกิดขึ้นครับ
ซึ่งเราสามารถฝึกฝนอบรมจิต สร้างสติให้เกิดขึ้นมาได้

เมื่อจิตมีสติย่อมเป็นที่พึ่งพาอาศัยได้ครับ
มีสติที่ไหนย่อมมีปัญญาที่นั้น มีปัญญาที่ไหนย่อมมีสติที่นั้น


ทุกท่านลองพิจารณาดูให้ดีๆนะครับว่า
ถ้าจิตอบรมบังคับบัญชาไม่ได้เลยจริงๆ โลกนี้จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท่านลองพิจารณาดูสิครับว่า
ถ้าคนที่มีจิตชั่วคิดร้าย ทุจริตคิดมิชอบอยู่และบังคับไม่ได้ด้วยแล้ว
อะไรจะเกิดขึ้น โลกคงวุ่นวายน่าดูไม่ใช่เล่นเลยทีเดียว ใช่มั้ยครับ
ต้องมีการฆ่ากัน ทำร้ายร่างกาย ตีชิงวิ่งราวฯลฯกันอย่างมากมาย
ชนิดที่มีกฎหมายก็ช่วยอะไรไม่ได้

ฉะนั้นโดยความเป็นจริงแล้ว ทุกคนที่เกิดมานั้นย่อมรู้ดีว่า
กิเลส กรรม วิบาก กดดันให้มาเกิด

จิตมีอวิชชาครอบงำชอบออกไปรับรู้อารมณ์
และยังชอบตอบสนองต่ออารมณ์ในทุกๆเรื่องที่รู้อีกต่างหาก


เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่อยู่กับโลกส่วนใหญ่แล้ว
ยังมีชอบและไม่ชอบเมื่อกระทบกับอารมณ์
ยังมีความรู้สึก เย็น ร้อน อ่อน แข็ง รัก ชอบ ชัง

เราจึงต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ต่างๆเหล่านั้นให้ได้
ซึ่งวิธีที่จะควบคุมได้นั้น ก็คือการเพียรพยายามสร้างสติให้เกิดขึ้นที่จิตให้ได้


โดยที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านเพียรพร่ำสอนเสมอๆว่า
ต้องอบรมจิตด้วยการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา “พุทโธ” ให้สติเกิดขึ้น


เพื่อเป็นการให้รู้จักจิตว่า โดยปรกติแล้วจิตอยู่เฉยๆแทบไม่ได้เลย
ต้องคิดโน้นคิดนี้เพื่อเสพอารมณ์ที่รักที่ชัง ที่ชอบที่ไม่ชอบอยู่ตลอดทั้งวัน
ขนาดเวลาหลับก็ยังนำเอาอารมณ์เหล่านั้นไปฝันอีกด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านจึงสั่งสอนให้ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา
เพื่อผูกจิตให้อยู่แต่ภายในกายไม่ให้ออกไปคิดเรื่องราวต่างๆ ณ ภายนอก


ขณะเดียวกันนั้น เมื่อสามารถสลัดเรื่องราวจากภายนอกได้แล้ว ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น
ยังต้องต่อสู้กับอารมณ์ที่เกิด ณ ภายใน ซึ่งเป็นอนุสัยที่นอนเนื่องอยู่อีก

การที่จิตออกจากฐานนั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายในก็ตาม
ถ้าเราสามารถอบรมฝึกฝนจิตให้รู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติ(กรรมฐาน)
ย่อมเป็นการละเหตุแห่งทุกข์ได้

เมื่อจิตไม่ส่งออก จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิอยู่กับองค์กรรมฐานภาวนา จะเอาอะไรมาทุกข์หละ???
ที่ทุกข์เพราะจิตเผลอ ออกจากองค์กรรมฐานภาวนา นี้สิจึงจะเกิดทุกข์ขึ้นได้

เมื่อฝึกฝนอบรมบังคับบัญชาจิตจนชำนิชำนาญในการระลึกรู้อยู่ที่องค์กรรมฐาน
เพียงแค่นึกน้อมจิตก็ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเป็นสมาธิแล้ว จะเอาอะไรมาทุกข์
ในเมื่อจิตไม่เผลอสติหลุดออกจากฐานเพื่อปรุงแต่งอารมณ์ต่อไป


ที่ฝ่ายดูจิตติดคิดบอกว่า “จิตจะไปคิด ห้ามไม่ได้” นั้น ไม่เป็นความจริงหรอกครับ

เมื่อจิตจะออกไปคิด เราย่อมห้ามได้
โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นอกุศลนั้น เรายิ่งต้องห้ามจิตไม่ให้ไปคิดสิ
ให้จิตมารู้อยู่กับองค์กรรมฐานภาวนาซะอย่าง ก็หมดเรื่องแล้วครับ......



เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 03 กันยายน 2552
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:36:28 น.
Counter : 708 Pageviews.

ทำไมต้องดูจิต การดูจิตนั้นสำคัญไฉน???
ก่อนอื่นนั้น พวกเราต้องยอมรับกันว่า
คนเราทุกคนนั้นย่อมมีธาตุรู้(จิต) ประจำตนของแต่ละคน
ซึ่งยืนตัวรู้อยู่ตลอดเวลา


ไม่ว่าเราจะทำอะไรไปนั้น เราย่อมระลึกรู้ได้ในภายหลัง
เร็วบ้างช้าบ้าง แล้วแต่กำลังการระลึก(สติ)ของแต่ละคน

เมื่อรู้แบบนี้แล้ว เราย่อมพูดได้ว่า
ธาตุรู้ของแต่ละคนนั้น เป็นของๆ ตน
จะเป็นของคนอื่นไปไม่ได้ ต้องเป็นของแต่ละคน
เพราะเป็นของตน เราจึงรู้ได้เฉพาะตนเท่านั้น


ในสิ่งที่เรารู้ ถ้าเราไม่บอกออกไปแล้ว
ใครก็รู้สิ่งที่เรารู้ไม่ได้หรอกว่าเรารู้อะไร
ที่เรียกว่ารู้เฉพาะตน ไม่ใช่เรียกว่าปัจจัตตัง

ทุกวันนี้คนทั่วไปนั้น มีความนึกคิดถึงเรื่องราวต่างๆอยู่ตลอดเวลา
มีบ้างบางเวลาเท่านั้นที่วางจากความนึกคิด
ก็จะเป็นความว่างที่มีอารมณ์เฉยๆอยู่เท่านั้น
โดยแทบจะไม่เคยว่างเว้นจากอารมณ์ได้เลย

จนมีอาจารย์บางท่าน ที่สอนลูกศิษย์ลูกหาอยู่ในปัจจุบันนี้ว่า
เมื่อมีจิต ย่อมต้องมีอารมณ์อยู่ประจำจิตเสมอ

จนกระทั่งลูกศิษย์ลูกหาเหล่านั้น เข้าใจผิดๆไปว่า
จิตนั้นเป็นของเหลวไหล ย่อมเกิดดับไปตามอารมณ์ต่างๆ


โดยหารู้ไม่เลยว่าตัวเองนั้น ก็รู้เห็นไปตามความเชื่อถือศรัทธาเท่านั้น
โดยที่ไม่เคยได้พิจารณาตริตรองให้รู้เห็นตามความเป็นจริงเลยว่า

ที่เห็นไปว่าจิตเกิดดับนั้นใครเป็นผู้เห็น
ถ้าไม่ใช่จิตซึ่งเป็นธาตุรู้เป็นผู้รู้เห็นแล้ว ใครเล่าจะรู้เห็นได้อีกหละ


เอาความเชื่อถือศรัทธานำหน้า โดยขาดเหตุผลไตร่ตรองให้รอบคอบ

พุทธศาสนาของเรานั้น เป็นศาสนาที่เต็มไปด้วยเหตุและผล
มีพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นหัวใจพุทธศาสนาว่า

๑.สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปให้เกิดขึ้น
๒.กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม
๓.สจิตฺตปริโยทปนํ การชำระจิตให้บริสุทธิ์


พวกเราทุกๆท่านที่เป็นชาวพุทธ
ย่อมต้องเคยได้ยินได้ฟังคำสอนหัวใจพุทธศาสนากันมาแล้วเกือบทั้งนั้น

การที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนเรื่องชำระจิตให้บริสุทธิ์นั้น
ก็เป็นที่แน่ชัดอยู่แล้วว่า เรื่องจิตนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ในพุทธศาสนา

ไม่เช่นนั้นแล้ว พระองค์ท่านจะทรงสอนให้ชำระจิตให้บริสุทธิ์ไปเพื่ออะไร???

การชำระจิตให้บริสุทธิ์นั้น
ก็เพื่อให้จิตมีสติกำกับอยู่ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
จนกระทั่งกิเลสไม่สามารถเป็นแขกจรเข้ามาทำให้จิตเศร้าหมองได้


ส่วนวิธีการนั้นพระองค์ทรงตรัสสอนไว้ในมหาสติปัฏฐาน๔
(สติที่ตั้งอยู่ที่ฐานอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย)
มีฐานกาย ฐานเวทนา ฐานจิต ฐานธรรม

ท่านทรงตรัสว่าทางนี้เพียงทางเดียวเท่านั้น ทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว

เมื่อพูดถึงทางแล้ว เราย่อมต้องนึกถึงอริยมรรค๘(ทางอันเอก)
ซึ่งเป็นทางเดินของจิตเพื่อให้ถึงความเป็นอริยะบุคคล
ไม่ใช่เพียงแค่คิดๆนึกๆดูจิตเอาเท่านั้น แล้วจะชำระจิตให้บริสุทธิ์ได้

ในปัจจุบันนี้นั้น ถึงกับมีการสอนโดยความเข้าใจผิดๆของตัวเองว่า
จิตนั้นเป็นสิ่งเหลวไหล ไม่เที่ยง บังคับบัญชาไม่ได้

แต่แล้วกลับสอนให้ตามดูจิตที่เหลวไหลนั้น
เมื่อให้ตามดูแต่เรื่องเหลวไหล โดยไม่แทรกแซง
ทุกวันนี้จึงมีพวกดูจิตที่พูดจาแต่เรื่องเหลวไหล ไร้สาระ


ส่วนจิตที่ไม่เหลวไหลนั้น กลับไม่รู้จัก
เพราะไม่เคยลงมือปฏิบัติสัมมาสมาธิกรรมฐานภาวนา


ซึ่งเป็นการกระโดดข้ามขั้นตอนที่สำคัญยิ่ง
โดยไม่เอะใจสักนิดเลยว่า ถ้าจิตเป็นของเหลวไหลแล้ว
พระองค์ทรงตรัสให้ชำระจิตให้บริสุทธิ์ไปเพื่ออะไร

การจะดูจิตให้ได้ผลจริงๆนั้น
เราต้องมาฝึกฝนอบรมจิตตามหลักอริยมรรค ๘

โดยให้เริ่มที่สัมมาสมาธิ และประกอบด้วยมรรคอีก ๒ องค์ คือ
สัมมาวายามะ(เพียรประคอง)
สัมมาสติ(ระลึกชอบอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายที่ฐาน)
ซึ่งเป็นฐานที่เราอุปโลกน์ขึ้นมาเพื่อดูจิตที่ฐานกาย
เพื่อให้รู้จักจิตที่ไม่เหลวไหลเป็นจิตที่มีสติกำกับสงบตั้งมั่น


เมื่อรู้จักจิตที่สงบตั้งมั่น ย่อมทำให้เรามีข้อเปรียบเทียบ
ระหว่างจิตที่สงบตั้งมั่นกับจิตสังขารนั้นว่ามีความแตกต่างกันยังไง

จิตที่แท้จริงนั้น มีปกติรู้ว่าง วางเฉย(ปล่อยวางอารมณ์)
ส่วนจิตสังขารนั้นรู้อารมณ์เป็นต้องยึดอย่างเหนียวแน่น
เกิดตายไปตามอารมณ์ที่เข้าไปยึดโดยปล่อยวางอารมณ์ไม่เป็น


เริ่มเห็นแล้วนะครับว่า ดูจิตต้องเห็นจิตในจิตให้ชัดเจน
กับการดูจิตที่ติดคิด เห็นเพียงจิตสังขารมาตลอด

โดยไม่รู้ตัวว่าที่วางเฉยได้นั้น เกิดจากการที่จิตคุ้นชินต่ออารมณ์เหล่านั้น
โดยคิดเองเออเองไปว่าสามารถวางเฉยได้
ไม่ใช่เกิดจากการเฉยเพราะปล่อยวางอารมณ์ออกไปได้


การเริ่มดูจิตนั้นต้องเริ่มด้วยการปฏิบัติสัมมาสมาธิเท่านั้น
เป็นการฝึกฝนอบรมให้รู้จักจิตที่สงบตั้งมั่นอย่างแท้จริง


ทำอย่างไรนั้น
เริ่มจากต้องรู้จักจิต ที่ไม่มีรูปร่างกายให้เราจับต้องได้ก่อน

การที่จะเห็นจิตได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย
ต้องเริ่มหลับตานั่งสมาธิเพ่งดูจึงจะเห็นจิตได้

โดยใช้วิธีที่พระองค์ทรงสอนไว้ในมหาสติปัฏฐาน๔
หาสิ่งมาผูกจิตให้ได้ก่อนเป็นลำดับแรก

สิ่งที่จะผูกจิตได้นั้นต้องเป็นสิ่งที่จิตมีความสัมพันธ์อยู่ด้วย
ไม่ใช่อื่นไกลที่ไหน ก็ ลมหายใจเข้าออก(กายสังขาร)นี่เอง

เราเอาปลายข้างหนึ่งผูกที่จิต(ธาตุรู้)
ส่วนอีกข้างนั้นต้องหาหลักมาตรึงจิตไว้
ถ้าให้สะดวกควรเป็นจุดที่ลมหายใจเข้าออกกระทบถูกชัดเจนที่สุดเป็นหลัก
เพื่อสะดวกในการดูจิตที่ดิ้นรนกลับกลอก ซัดส่ายไปมา
เพื่อผูกจิตให้สงบนิ่งตั้งมั่นอยู่ที่ฐานที่จุดลมกระทบที่เราอุปโลกน์ไว้

เริ่มจาก นั่งคู้บัลลังก์ดูลมหายใจเข้าออก โดยไม่ต้องตามลม
จิตก็จะดิ้นรน(จิตสังขาร)เป็นระยะๆให้เรา(จิตที่มีสติกำกับ)เห็น

พอระยะเวลานานเข้าๆ จิตก็จะเริ่มดิ้นรนน้อยลงๆ
เพราะเชือกที่ผูกจิตอยู่นั้นพันหลักเข้ามาจนกระทั่งจิตติดอยู่กับหลัก

ขณะเดียวกันนั้นลมหายเข้าออกก็จะสงบลงโดยลำดับ
เป็นอัญญะมัญญะปัจจัยกับจิตที่สงบนิ่งตั้งมั่นลงด้วยเช่นกัน
เข้าสู่ฌาน(ความเพ่ง) การที่จิตจะเข้าสู่ฌานได้นั้น
จิตจะต้องสงัดจากกามารมณ์ และอกุศลธรรมทั้งหลาย จิตจึงจะเข้าสู่ฌานได้

เห็นกันแล้วนะครับว่า เมื่อเดินตามวิธีปฏิบัติของจอมศาสดานั้น
การฝึกฝนอบรมสัมมาสมาธินั้นเป็นการปฏิบัติที่รวมวิปัสสนาไปด้วยในตัว
มิฉะนั้นแล้วจิตไม่สามารถปล่อยวางกามารมณ์และอกุศลธรรมได้หรอกครับ


เราต้องฝึกฝนอบรมจิตให้ชำนาญคล่องแคล่วจนเป็นวสี
เพียงแค่จิตเกิดการไหวตัวเมื่อกระทบกับอารมณ์เท่านั้น
ก็สามารถประคองจิตสู่ความสงบตั้งมั่นได้อย่างรวดเร็ว
เป็นการฝึกปล่อยวางอารมณ์ได้อย่างคล่องแคล่วชำนาญ

มีอาจารย์บางท่านสอนว่า
อย่าไปแทรกแซงจิตเพื่อต้องการรู้ความจริงของอารมณ์


มีความจริงอะไรอีกหละที่ต้องรู้ หรือว่ารู้ทุกข์ที่มีมายังไม่พอ

ขึ้นชื่อว่าอารมณ์ สัมผัสเข้าล้วนเป็นทุกข์เพราะยึดทั้งนั้น
ขึ้นชื่อว่าปุถุชนพบอารมณ์แล้วไม่ยึดเป็นไม่มี


การปฏิบัติสัมมาสมาธิในอริยมรรค๘ นั้น
เพื่อทางเดินไปสู่ความเป็นอริยะ

ดังพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า
ตราบใดที่ยังมีการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์๘
โลกย่อมไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์



ฉะนั้นพอสรุปได้ว่า
การที่จะดูจิตให้ได้ผลนั้น ห้ามข้ามขั้นตอน
ควรมีหลักคือกรรมฐาน(ฐานที่ตั้งเพื่อการงานทางจิต)ให้มั่นคง
เป็นที่ๆจิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เมื่อมีอารมณ์มากระทบ
ทำให้ปล่อยวางอาการของจิตหรือจิตสังขาร(อารมณ์)ได้อย่างรวดเร็ว


แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับการดูจิตในปัจจุบัน
ที่สอนให้เพิกเฉยต่อการฝึกฝนอบรมสัมมาสมาธิ
ซึ่งเป็นหลักใหญ่ใจความในการเห็นสัมมาทิฐิได้ชัดเจน


เมื่อขาดซึ่งพื้นฐานที่สำคัญเสียแล้วนั้น
ย่อมทำให้เกิดความผิดพลาดในขณะดูจิต
ทำให้รู้เห็นเฉพาะจิตสังขารที่ปรวนแปรไปตามสิ่งที่ปรุงแต่งอยู่นั้น

พอนานวันเข้า ทำให้รู้เร็วขึ้นเนื่องจากจิตคุ้นชินต่ออารมณ์เหล่านั้น
จึงสามารถดูเฉยเพราะคุ้นชินและกระด้างต่ออารมณ์เหล่านั้น

ที่ดูเฉยได้นั้นไม่ใช่เกิดจากการปล่อยวางอารมณ์ออกไปได้
เกิดจากการบอกตัวเองว่าให้ดูเฉยๆ
จนกระทั่งจิตเคยชินคุ้นชินกับการดูเฉยๆเท่านั้น

จนกว่าจะมีอารมณ์ใหม่เข้ามา ก็ว่ากันใหม่ ปล่อยวางไม่ได้สักที
ทำได้เพียงรู้อารมณ์เร็วขึ้นและสามารถดูเฉยๆได้โดยไม่แทรกแซง
เพื่อรออารมณ์ใหม่เข้ามาแทนที่เท่านั้น หมุนวนเวียนเป็นวัฏฏะ
แกะออกยากมากๆ เพราะเนื่องจาก “ติดดี(ในการดูเฉย)ในดี”เสียแล้ว

ซึ่งเป็นการหลงอย่างไม่น่าให้อภัยเลยจริงๆ
เพราะเมื่อถึงคราวทำกาละมาถึงนั้น จิตย่อมปล่อยวางอารมณ์ไม่เป็น
ถูกอารมณ์(ดูเฉย)พาไปในภพภูมิที่จิตติดอารมณ์เหล่านั้นอยู่

ซึ่งแตกต่างจากการที่จิตรู้เห็นตามความเป็นจริงตามขั้นตอนว่า
การฝึกฝนอบรมจิตให้สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวได้นั้นเพราะ
เกิดจากการที่จิตปล่อยวางอารมณ์ต่างๆออกไปจากจิตโดยสิ้นเชิงนั่นเอง


เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 03 กรกฎาคม 2552
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:36:44 น.
Counter : 591 Pageviews.

ดูจิตแบบ สมาธินำปัญญา หรือปัญญานำสมาธิ
จากหัวข้อนี้ ในปัจจุบันนั้น มีการนำมาถกกันเป็นที่กว้างขว้าง
เกิดจากข้ออ้างง่ายๆ แต่กลับไร้เหตุผลสิ้นดีครับ

ทำสมถะ ก็เคยทำค่ะ ก็ได้ปีติชั่วครู่ชั่วยาม สลับกับความฟุ้งซ่านและความปวดหัว
เพราะเพ่งอารมณ์ หรือเพ่งลมหายใจ


จากข้ออ้างดังกล่าว ทำให้เกิดการเอาปัญญานำสมาธิ
โดยอ้างว่าการดูจิตคือการเอาปัญญานำสมาธิ
เป็นการแอบอ้าง โดยนำคำของครูบาอาจารย์มารับรองความถูกต้อง

ทั้งที่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายเหล่านั้น
ท่านก็สอนของท่านโดยจากฝึกฝนอบรมจิต(สัมมาสมาธิ)
จนจิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวทั้งนั้น

การที่จิตจะสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวได้นั้น
เพราะจิตเกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงว่า
นั่นไม่ใช่เรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา

สำหรับนักดูจิตที่ชอบอ้างนักอ้างหนาว่าปัญญานำสมาธินั้น
ตอบให้กระจ่างด้วยครับว่า สติปัญญาเกิดขึ้นที่ไหน
ถ้าไม่ใช่เกิดขึ้นที่จิต


สติปัญญาเกิดขึ้นเองลอยๆไม่ได้หรอกครับ
ทั้งสติปัญญานั้นล้วนต้องเพียรสร้างให้เกิดขึ้นมีขึ้น
เกิดขึ้นเองหรือมีขึ้นเองนั้นไม่ได้แน่นอนครับ

ถ้าคิดว่าได้ โปรดบอกด้วยว่าเกิดขึ้นมีขึ้นเองตอนไหน
อย่าบอกนะว่า เกิดขึ้นเองมีขึ้นเองโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว(ฟลุ๊คๆขึ้นมาเอง)


ถ้ายังมีแนวคิดเช่นนี้ ศาสนาพุทธของเราชาวพุทธ
คงกลายเป็นเรื่องตลกชวนหัวไป สำหรับผู้คนที่ได้ยินได้ฟังไม่น้อย

มีพุทธพจน์ใน สมาธิสูตร กล่าวรับรองไว้ว่า

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ.
ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง.

ก็ภิกษุย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงอย่างไร.
ย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิดและความดับแห่งรูป
ความเกิดและความดับแห่งเวทนา
ความเกิดและความดับแห่งสัญญา
ความเกิดและความดับแห่งสังขาร
ความเกิดและความดับแห่งวิญญาณ
.

ในพระสูตรก็เป็นที่ชัดเจนแล้วนะครับว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ.(ภาเวตัพพะ)

พระบรมครูก็เน้นย้ำให้ชัดว่า จงเจริญสมาธิ จงเจริญสมาธิ จงเจริญสมาธิ

พระองค์ท่านทรงกล่าวต่อว่า
“ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง”

รู้ชัดตามความเป็นจริง
อันนี้คือปัญญาชัดๆ นะครับ
ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น(เป็นสมาธิ) จะรู้ชัดตามความเป็นจริงได้ไหม...ย่อมไม่ได้

แต่ทุกวันนี้เกิดความเข้าใจแบบผิดๆของนักดูจิตรุ่นใหม่ว่า
การที่ตัวเองวางเฉยต่ออารมณ์ได้นั้น เป็นเพราะรู้เห็นตามความเป็นจริง

ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่เลย
สืบเนื่องมาจากความคุ้นชินต่อการที่จิตรู้รับอารมณ์(ความคิด)มาโดยตลอด
แต่พยายามที่จะรู้เฉยๆอยู่ โดยคิดว่าไม่ได้แทรกแซงอะไร
จนกลายเป็นความกระด้างคุ้นชินกับความคิดดังกล่าวที่เกิดขึ้น

เมื่อเวลาเกิดรอบใหม่อีก ก็เป็นแบบนี้ รอบแล้วรอบเล่า
จนจิตติดคิด ปล่อยวางความคิดไม่เป็น

โดยเฉพาะความคิดที่คิดว่าเฉยๆที่ติดอยู่อย่างเหนียวแน่นนั้น
จนหลงเข้าใจผิดๆว่าตัวเกิดปัญญา ... แท้ที่จริงแล้วเกิดสัญญา

แล้วสัญญาที่ไหนที่จะนำสมาธิได้

จากหัวข้อดังกล่าวข้างต้น เราพอจะสรุปได้ว่า

ทั้งปัญญานำสมาธิหรือสมาธินำปัญญานั้น
ล้วนเป็นอัญญะมัญญะปัจจัย ที่จะต้องเกื้อหนุนกันและกันให้เกิดขึ้น

แต่ต้องเริ่มต้นที่เจริญสมาธิให้ได้ก่อน
เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว จึงเกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นดังนี้

เมื่อจิตมีปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงว่า
ขันธ์๕ไม่ใช่เรา(จิต) เรา(จิต)ไม่เป็นขันธ์๕ ขันธ์๕ไม่ใช่ตนของเรา(จิต)

ย่อมเกื้อหนุนให้จิตตั้งมั่นได้รวดเร็วขึ้นโดยลำดับ
จิตที่ตั้งมั่นก็กลับมาเกื้อหนุนให้ปัญญาเฉียบคมมากขึ้น
เป็นอัญญะมัญญะปัจจัยซึ่งกันและกันครับ



เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 22 มิถุนายน 2552
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:36:59 น.
Counter : 883 Pageviews.


ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์