พระพุทธพจน์กิเลสอ้าง[1]
พระพุทธพจน์กิเลสอ้าง [1]


พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว เรามักเรียกกันสั้นๆว่า "พระพุทธพจน์" หรือ "พระพุทธวจนะ" นั้น เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนา ดังพระดำรัสที่ทรงตรัสไว้กับพระอานนท์ว่า

"โยโว อานนฺท ธมฺโม จ เทสิโต วินโย จ ปญฺญตฺโต โส มม อจฺจเยน สตฺถา
ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย
ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาแทนเรา ปกครองท่านแทนเมื่อเราล่วงลับไปแล้ว"


ครั้นวันเวลาได้ล่วงเลยมาอย่างยาวนาน มักมีการนำเอา "พระพุทธพจน์" หรือ "พระพุทธวจนะ" มาแอบอ้างสร้างภาพให้กับตนเอง ทั้งๆ ที่มีพระพุทธโอวาทกล่าวไว้ เพื่อป้องกันการนำเอามาใช้เป็น "พระพุทธพจน์กิเลสอ้าง"

โดยให้อาศัยหลักเกณฑ์ที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ใน "มหาประเทศ ๔" และ "กาลามสูตร" มาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียง แล้วจึงนำเอาสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้ศึกษามานั้น มาสมาทาน แล้วลงมือปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง เพื่อเป็นการพิสูจน์ทราบความจริง โดยตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียง กับ "ผล" ที่ได้ ให้รอบคอบเสียก่อน จงอย่าเพิ่งรีบเชื่ออะไรโดยขาดการพิสูจน์

ด้วยพระพุทธปัญญาอันชาญฉลาด เพื่อป้องกันรักษาพุทธบุตร ให้อยู่รอดปลอดภัยจากสิ่งปลอมปน หรือสิ่งที่เพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นมาในภายหลัง ซึ่งมีอยู่มากมายให้พบเห็นในปัจจุบัน...



เมื่อกล่าวถึง "ศีล" ซึ่งเป็นข้อธรรมอันงดงามในเบื้องต้น พอสรุปได้ว่า "ศีล" เป็นความงดงาม ณ ภายในจิตใจของตน ไม่ใช่เป็นสิ่งภายนอกตน สามารถปรากฏให้เห็นได้ ประจักษ์ได้ เมื่อได้อยู่ร่วมกันเท่านั้น...

ในปัจจุบันมักมีการแอบอ้างถึงสิ่งที่ตนมีตนได้ว่า เป็นผู้มีศีลอันบริสุทธิ์ เพียงเพื่อต้องการไดัรับการยอมรับ ให้ผู้รับฟังไปคิดกันเอง เพราะเป็นเรื่องพิสูจน์ได้ยาก

บุคคลจำพวกนี้ มักมีบุคคลิกภาพโดยรวมที่ดูดี มีความสุภาพอ่อนน้อม ชวนหลงใหล แถมมีวาจานุ่มนวลไพเราะ สนทนาด้วยน้ำคำที่เป็นกันเอง ชวนให้รู้สึกสนิทชิดใกล้ นั่นแหละเป็นยาพิษอย่างร้ายแรง ที่เคลือบอาบฉาบทาไปด้วยน้ำผึ้งที่แสนหวาน เพื่อไม่ให้มองเห็นพิษร้ายที่ทำให้หลงเชื่อ ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจ

ปัจจุบันกลุ่มบุคคลที่ว่ามานี้ ยังมีมากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหตุเพราะบุคคลเหล่านี้ "ขาดความซื่อสัตย์ต่อตนเอง" และไม่รับผิดชอบต่อพระพุทธศาสนาที่กำลังถูกบิดเบือนไป เพียงเพื่อการได้มาซึ่งลาภสักการะเท่านั้น ไม่มีภูมิรู้ภูมิธรรมนั้นอยู่จริง มีเพียงภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างจงใจ ทำให้เชื่อว่าเป็นอย่างนั้น

เรื่องความซื่อสัตย์ต่อตนเองเป็นรากฐาน เป็นพื้นฐานอันสำคัญ ในการปฏิบัติธรรมกรรมฐานให้ลุล่วงไปด้วยดี

สำหรับสิ่งที่จะมาป้องกันบุคคลเหล่านี้ พร้อมวิธีแก้ไขไม่ให้ถูกบุคคลเช่นนี้หลอกลวงเอาได้ง่ายๆ คือการค้นคว้าหาหลักสัจธรรมความจริงใน "จิตใจ" ของตน ด้วยการปฏิบัติธรรมตาม "พุทธโอวาท" ที่ทรงสั่งสอนไว้ดีแล้ว ใน "โอวาทปาฏิโมกข์"

"สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ
การชำระจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย"

โดย "การปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา" หรือที่เรียก "สัมมาสมาธิ" ในอริยมรรค ๘ เพื่อชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายนั่นเอง



เมื่อบุคคลดังกล่าวมานั้นขาด "ศีล" มารองรับตน ย่อมต้องขาด "ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง" ไปด้วย พอถามถึงเรื่อง การทำ "สมาธิ" หรือ "ภาวนามยปัญญา" แล้ว มักเป็นปัญหายาขมสำหรับบุคคลเหล่านี้

จึงเกิดมีพวกที่ฉลาดแกมโกง เจ้าเล่ห์ เพทุบาย มีปัญญาทางโลกมาก มีจิตวิทยาสูง รู้ได้ถึงความต้องการ หรือกิเลสอ้างของบุคคลทั่วๆ ไป ได้คิดค้นเพื่อสรรหา วิธีง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้น ในการปฏิบัติธรรม โดยไม่ต้องผ่านการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาเลย

โดยอาศัยช่องว่างจากตำรา(ปิฎก) ที่พอรอดได้มาอ้างบ้างล่ะ จากบุคคลที่น่าเชื่อถือบ้างล่ะ หรือจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ฝ่ายอรัญญวาสีผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบบ้างล่ะฯ นำมาแอบอ้างรับรองภาพลักษณ์ของตนเองที่ได้สร้างสรรไว้ เพราะรู้ดีว่าปัจจุบันนี้ "สังคมชาวพุทธอ่อนแอ" คนทั่วไปยังขาดที่พึ่งที่อาศัย เนื่องจากสัจธรรมความจริงแท้ เริ่มหายากเข้าไปทุกที

จึงปรากฏ "อริยะนาโน" ขึ้นมา ที่ชอบใช้ "พระพุทธพจน์กิเลสอ้าง" โดยนำเอาคำสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มาบังหน้า หนุนเสริม ให้ตนเองดูน่าเชื่อถือ จนผู้คนหลงใหลได้ปลื้ม แห่แหนไปกราบไหว้บูชา โดยไม่รู้ว่า นั่นมีการซ่อนกลอุบายด้วยวิชาการตลาดที่แยบยลไว้ในคำสอนนั้น



ได้มีการแอบอ้างหลักสูตร "อริยะนาโน" ขึ้น เป็นของทันสมัยแบบไม่ต้องเหนื่อยยากลำบากกาย-ใจ ในการเพียรเพ่ง หรือเดินจงกรม "ปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา" เพื่อให้เข้าถึง "ความจริงอันประเสริฐ" ที่ทำให้จิตของตนเข้าสู่สภาวะธรรมอันละเอียดอ่อน ตั้งมั่น ควรแก่การงาน

มักสอนให้คอยรู้สึกที่กาย-ที่ใจของตนไปเรื่อยๆ เหตุใกล้จะทำให้สติเกิดขึ้นเอง ไม่ต้องผ่านขั้นตอนการฝึกฝนอบรม "จิตของตน" ด้วยการ "ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา" แล้วสติ สมาธิ จะเกิดขึ้นมาได้เองโดย "อัตโนมัติ" (ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย) โดยอาศัยความเจ้าเล่ห์เพทุบายซ่อนเงื่อนซ้อนกล ด้วยคำพูดที่ว่า แค่ "รู้สึกอยู่ที่กายที่ใจของตน" ก็พอ

บุคคลทั่วๆ ไปทุกคน ล้วนรู้สึกอยู่ที่กายที่ใจของตนเมื่อมีเหตุปัจจัยอันควรเกิดขึ้นทั้งสิ้น และมักจะเชื่อในความรู้สึกที่เกิดขึ้นของตน เพราะเชื่อในความรู้สึกที่เข้ามาครอบงำ ไม่ว่าจะเป็นกุศล หรืออกุศลก็ตาม ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพียง สัญญาอารมณ์ ที่ตนเองยังหลงอยู่ ไม่ใช่สติปัฏฐาน

เมื่อเป็นยาขม ก็คือ "ยาขม" เพราะไม่มีใครชอบในเรื่องความเหนื่อยยากลำบากกาย-ใจ ถึงแม้จะรู้อยู่ว่า "หวานเป็นลม ขมเป็นยา" ก็ตาม เมื่อมีคนมาเสนอวิธีการที่ง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้นให้แล้ว มีหรือจะปล่อยให้โอกาสอันงามเหล่านั้นผ่านพ้นไปง่ายๆ

ถึงแม้ว่าเมื่อปฏิบัติตามหลักสูตร "อริยะนาโน" แล้ว ยังรู้สึกได้ว่า "ยังมีความหวั่นไหว ต่ออารมณ์บางอย่าง ได้ง่ายๆ" อันปรากฏให้รู้สึกได้อยู่ตลอดเวลาก็ตาม แต่เพราะกลัวเสียหน้า เนื่องจากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ภายในจิตของตนที่ไม่มีใครรู้เห็นได้ เพียงแค่ตนรู้จักเก็บอารมณ์ข่มกิเลสเอาไว้ด้วย "ถิรสัญญา" ที่ตนเองดูกาย-ดูใจจนชิน จดจำอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นได้อย่างแม่นยำ เพียงเท่านี้ก็สำเร็จ คุยอวด โม้เป็น "อริยะนาโน" ได้อย่างไม่ต้องอายใครแล้ว



ในปัจจุบัน น่ากลัวยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ มีการแอบอ้างนำเอา "พระพุทธพจน์ ในมหาสติปัฏฐานสูตร" มาแอบอ้างว่า พระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้วนั้น ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากการปฏิบัติธรรมกรรมฐานที่หมวดกายก็ได้

แต่เป็นความโชคดีที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักเกณฑ์ไว้ด้วยความรัดกุมรอบคอบชัดเจน จนสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ เพื่อเป็นการป้องกันพวกเจ้าเล่ห์เพทุบายที่ "ไม่รู้จักรับผิดชอบ" หรือที่เรียกว่า "ขาดความซื่อสัตย์ต่อตนเอง"

พระพุทธองค์ทรงยก "อานาปานสติ" ออกมาเป็น "บรรพะ" หนึ่ง ต่างหาก ใน หมวดกาย เพื่อรองรับและเชื่อมโยงกับพระสูตรอื่นๆ ที่ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว อาทิใน "สมาธิสูตร" และพระสูตรอื่นๆอีกมากมาย มีพระบาลีดังนี้

"อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว

มหปฺผลา โหติ มหานิสํสาฯ
ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่

อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว

จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปูเรติฯ
ย่อมทำสติปัฏฐานทั้งสี่ ให้บริบูรณ์

จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา
สติปัฏฐานทั้งสี่ อันบุคคลเจริญให้มากแล้ว

สตฺต โพชฺฌงฺเค ปริปูเรนฺติฯ
ย่อมทำโพชฌงค์ทั้งเจ็ดให้บริบูรณ์

สตฺต โพชฺฌงฺคา ภาวิตา พหุลีกตา
โพชฌงค์ทั้งเจ็ด อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว

วิชฺชาวิมุตฺตึ ปริปูเรนฺติฯ
ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์"


พระบาลีที่มาจากพระสูตรชัดเจนแจ่มแจ้งว่า
การเจริญอานาปานสติ หรือสัมมาสมาธินั้น ย่อมทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ ... ย่อมทำให้โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์ ... เกิดวิชชา วิมุตติ จิตหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

เมื่อพิจารณาจากพระบาลีแล้ว จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ทรงเน้นเป็นนัยยะสำคัญใน "อานาปานสติ บรรพะ" ไว้อย่างชัดเจน สอดคล้องกับพระสูตรอื่นอีกหลายพระสูตร ... และมีคำว่า "ภิกฺขเว คือ ภิกษุทั้งหลาย" กำกับ ไม่มียกเว้นให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเลย

แต่พวกนักดัน...ทั้งหลาย ก็มีความพยายามอย่างยิ่งจริงๆ โดยอ้างว่า พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงกล่าวไว้อย่างชัดเจน ไม่มีตรงไหนเลยในมหาสติปัฏฐานสูตร ที่ว่า ต้องเริ่มอย่างนี้ ๑ ๒ ๓ ตามลำดับ

ต้องถือว่าเป็นความแยบยลอย่างร้ายกาจ ซ่อนกลไว้ในกมล...ของตน ใช่!!! คงไม่มีใครเถียงได้ที่อ้างมาแบบนั้น ว่าเป็น "อีกข้อหนึ่ง" หรือ "บรรพะหนึ่ง" ที่มีอยู่ในหมวดกายเท่านั้น

ถ้าหมวดกายในบรรพะอื่นๆ มีความสำคัญแยบคาย ที่ทำให้มหาสติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ได้เช่นเดียวกับ "อานาปานสติ" แล้ว พระพุทธองค์ควรจะมีพระบาลีกำกับไว้อย่างชัดเจน

เมื่อพระพุทธองค์มิได้ทรงตรัสหรือบัญญัติอะไรไว้ ก็อย่าพยายามบัญญัติกันเอาเองเลย เพราะ "อานาปานสตินั้น เป็นพื้นฐาน เป็นรากฐานอันสำคัญ" สำหรับผู้ปฏิบัติสามารถเชื่อมโยงเข้าถึงบรรพะอื่นได้อย่างถูกต้อง รู้ชัดว่า นี่เวทนา นี่จิต นี่ธรรม


เมื่อการปฏิบัติธรรมเป็นไปอย่างที่ได้มีการแอบอ้างไว้ แบบง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้นแล้ว จะไปแตกต่างอะไรกับศาสนาอื่น หรือบุคคลทั่วๆ ไป ที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมล่ะ เพราะที่กล่าวมานั้น ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนดีทั้งหลาย ก็ล้วนต้องรู้สึกอยู่ที่กายรู้สึกที่ใจของตนเช่นกันไม่ใช่หรือ? แล้วทำไมจึงไม่รู้เห็นกาย-ใจของตนตามความเป็นจริงล่ะ? ทั้งนี้เพราะเป็นการดูไปตามความรู้สึกนึกคิดที่กิเลสอ้างครอบงำอยู่ ว่าให้แค่รู้สึกอยู่ที่กาย-ที่ใจก็พอแล้ว

อย่าได้ใช้ "พระพุทธพจน์กิเลสอ้าง" อีกเลย เพราะจะทำให้พระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้วนั้น เกิดความเสียหายไปจากความจริงในอริยมรรคได้

พระพทุธองค์ทรงตรัสรู้ "ความจริงแท้ ๔ ประการ สู่ความเป็นอริยะ" หรือเรียกว่า "อริยสัจ ๔" พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ทั้งหมดนั้น ล้วนสามารถนำมาตริตรอง พิสูจน์ทราบด้วยการลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานให้รู้เห็นตามความเป็นจริงได้


เรามาพิจารณาตริตรอง เพื่อให้รู้เห็นตามจริงว่า ทำไมจึงต้องปฏิบัติธรรมกรรมฐานด้วยการเริ่มต้นที่ "อานาปานสติ" หรือ "สัมมาสมาธิ" อันเป็นใหญ่เป็นประธานใน "องค์แห่งอริยมรรค" เพื่อให้รู้เห็นตามความเป็นจริง

ทำไมจึงต้องให้เริ่มต้นที่นี่ คือ "อานาปานสติกรรมฐาน" ก่อน ในเมื่อ "บรรพะ" อื่นๆ ก็อยู่ในหมวดกายเช่นกัน

เราจะเห็นได้ว่า บุคคลทั่วไปนั้น ก็ล้วนดูกายดูใจของตนเป็นปกติเช่นกัน แต่ก็ไม่เคยรู้เห็นกายใจที่แท้จริงของตน นั่นเพราะยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นเพียงการดูกายใจที่เต็มไปด้วยความรู้สึกนึกคิดกิเลสอ้าง เป็นสัญญาอารมณ์ล้วนๆ ยังขาดสติคอยกำกับคอยระลึกรู้อยู่ที่กายสังขารอย่างต่อเนื่องเนืองๆ ยังไม่เป็นสติปัฏฐาน เนื่องจากผู้ปฏิบัติยังไม่รู้จักนามกายหรือกายทิพย์ที่ซ่อนอยู่ ณ ภายในกาย อันเป็นธรรมภายใน ที่เรียกว่า "จิต"

การปฏิบัติ "อริยมรรค" นั้น เป็นการฝึกฝนอบรมจิตในการสร้างสติให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเนืองๆ ที่ฐานที่ตั้งของสติ การฝึกหัดสร้างสติให้เกิดขึ้น ให้กำกับที่จิตของตนได้อย่างชัดเจนที่สุด คือ "อานาปานสติกรรมฐานภาวนา" เป็นการฝึกจิตให้มีสติกำหนดรู้อยู่ทุกลมหายใจที่เข้า-ออก เป็นกายสังขารที่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ แต่สัมผัสได้ ที่เรียกว่า การพิจารณากายในกายเป็นภายใน

เป็นวิธีการฝึกฝนอบรมจิต สร้างสติให้เกิดขึ้น ที่ต้องอาศัยความพากเพียร เพียรเพ่งพยายาม เพื่อให้เกิดความชัดเจน และแม่นยำ "รู้ชัดว่า" อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติ

เป็นการฝึกหัดให้รู้จักจิต ทำให้จิตมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เมื่อย้อนมาดูกาย-ดูใจของตน ย่อม "รู้ชัดว่า" กำลังกระทำอะไรอยู่ ไม่โดน กิเลสอ้าง ลากเอาไปกินได้ง่ายๆ

เมื่อพิจารณากายในกายเป็นภายในสำเร็จ รู้เห็น "จิต" ตามความเป็นจริงได้ชัดเจนแล้ว ย่อมรู้ชัดถึง "เวทนา กับ ธรรม" ตามความเป็นจริงเช่นกัน

*[...ลองมาดูหมวดกายในกายที่ให้พิจารณาซากศพ ทำไมต้องพิจารณาซากศพอยู่เหนือลม เพราะอะไร? เพราะถ้าพิจารณาอยู่ใต้ลมแล้ว เมื่อลมพัดพาเอากลิ่นที่ไม่พึงประสงค์มารบกวน จะทำให้จิตใจไม่สงบตั่งมั่นได้ และหวั่นไหวไปกับกลิ่นของซากศพนั้นได้...]


สรุปได้ว่า เมื่อจิตรู้จักสร้างสติแบบต่อเนื่องเนืองๆ (สติปัฏฐาน) แล้ว การฝึกฝนอบรมให้รู้จักประคองจิตของผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา "อานาปานสติ" ให้มีสติสงบตั้งมั่นได้ ในขณะหลับตาภาวนานั้น สามารถนำมาใช้ในระหว่างวัน เพื่อช่วยให้เกิดประโยชน์ในการพิจารณากายในกาย ในบรรพะอื่นๆ ให้เกิดประโยชน์ได้สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้น ดีกว่าผู้ปฏิบัติที่ไม่เคยผ่านการฝึกฝนอบรม "จิตของตน" มาก่อน ซึ่งก็จะเหมือนคนทั่วๆไป ที่ดูกายดูใจไปวันๆ ตาม กิเลสอ้าง นั่นเอง

มีพระสูตรที่เชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน ในเรื่อง "ภาวนา" มาให้พิจารณาเพื่อตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงกับบทความที่อ้างถึง

"ดูก่อนอานนท์ กิจใดอันศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์ เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์
อาศัยความอนุเคราะห์พึงทำแก่สาวกทั้งหลาย
กิจนั้นเราได้ทำแล้วแก่พวกเธอ

ดูก่อนอานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง
เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท
อย่าได้เป็นผู้เดือนร้อนในภายหลัง
นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ"


(อาเนญชสัปปายสูตร)


เจริญในธรรมที่สมควรแก่ธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต




Create Date : 24 กันยายน 2556
Last Update : 22 มกราคม 2558 9:24:05 น.
Counter : 763 Pageviews.


ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์