All Blog
มะขามป้อม
//www.vcharkarn.com/varticle/41194

มะขามป้อม เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่เปี่ยมไปด้วยสรรพคุณมากมายมีผลิตภัณฑ์หลายชนิด นำสรรพคุณของมะขามป้อมไปใช้ทั้งเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับรับประทาน และผลิตภัณฑ์สำหรับเสริมความงามประเภทเครื่องสำอางสำหรับสาวๆ ที่รักความสวยงาม

ในอินเดียเชื่อว่าการรับประทานมะขาม ป้อมเป็นประจำจะช่วยบำรุงสายตา บำรุงผิว และบำรุงผม ส่วนคนไทยนอกจากจะใช้มะขามป้อมเป็นยาแก้หวัด แก้ไอ ละลายเสมหะแล้ว ยังใช้บำรุงผิวช่วยให้ผิวหน้าขาวแก้ฝ้า โดยการนำมะขามป้อมมาฝนกับฝาละมีแล้วเอาน้ำที่ได้มาทาฝ้า ใช้บำรุงผมโดยทอดมะขามป้อมกับน้ำมันมะพร้าว แล้วเอาน้ำมันมาหมักผมช่วยให้ผมนุ่มลื่น จัดทรงง่าย ป้องกันผมหงอก

จากการวิจัยในปัจจุบันพบว่า มะขามป้อมมีฤทธิ์ต้านไข้หวัดทั้งในหลอดทดลองและมนุษย์ ในผลของมะขามป้องมีสารโปรไซยานินที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับวิตามินซี แต่ทนความร้อนไม่ถูกออกซิไดซ์ง่าย จึงมีความคงตัวสูงซึ่งเป็นข้อดีกว่าวิตามินซีทั่วไป มะขามป้อมมีฤทธิ์ในการป้องกันการเกิดมะเร็ง โดยการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานได้ดีขึ้น

ในสหรัฐอเมริกามีการจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้มะขามป้อม เป็นส่วนประกอบใช้สำหรับป้องกันและรักษาภาวะของโรคเอดส์ ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค ตับแข็งและภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ซึ่งในผลิตภัณฑ์นี้ประกอบไปด้วย Phyllanthus nururi, บอระเพ็ด มะขามป้อม สมอพิเภกและสมอไทย นอกจากนั้น มะขามป้อมยังมีฤทธิ์ในการลดคอเลสเตอรอล และความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย

สรรพคุณมะขามป้อมตามตำรับยาไทยสามารถแก้หวัด ผลมะขามป้อมมีสรรพคุณแก้หวัด แก้ไอได้ดี เป็นที่รู้กันในทุกประเทศที่มีมะขามป้อม จนปัจจุบันมีสิทธิบัตรที่จดในประเทศสหรัฐอเมริกาของตำรับยาที่มีส่วนผสมของ มะขามป้อมอยู่ ระบุสรรพคุณในการแก้หวัด แก้ไข้ ซึ่งอาจเนื่องมาจากวิตามินซีหรือสารในกลุ่มแทนนิน อาการเป็นหวัด ไอ เจ็บคอ ปากคอแห้ง ให้ใช้ผลสด 15-30 ผล คั้นเอาน้ำมาจากผล หรือต้มทั้งผลแล้วดื่ม แทนน้ำเป็นครั้งคราว

ตามตำราไทยเชื่อว่าของที่มีรสเปรี้ยวทุกชนิดช่วยละลายเสมหะและหมอยา พื้นบ้านเชื่อว่ารสเปรี้ยวที่ละลายเสมหะและบำรุงเสียงได้ดีที่สุดคือมะขามป้อม ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่าในมะขามป้อมมีสารที่ละลายน้ำได้มีฤทธิ์ละลายเสมหะ และที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีการพัฒนายาแก้ไอมะขามป้อมขึ้นทะเบียนยาเป็นยาแผนโบราณเป็นที่นิยมของทั้ง ผู้ใช้ยาและแพทย์ โดยตำรับยาทำได้ง่ายๆ เพียงแต่นำมะขามป้อมแห้งมาต้มแล้วแต่งรส มะขามป้อมที่จะนำมากินแก้ไอ เจ็บคอ ควรเลือกลูกที่แก่จัดผิวออกเหลือง

เมื่อมีอาการเป็นหวัด ไอ ให้นำมะขามป้อมสดมาเคี้ยวอมกับเกลือทุกครั้งที่มีการไอถ้าไม่ไอแต่ยังมีไข้ อยู่ก็ควรอมมะขามป้อมเพื่อให้ชุ่มคอและขับเสมหะ เป็นการป้องกันการไอได้ด้วยการละลายเสมหะ แก้การกระหายน้ำ ใช้ผลแก่จัดมีรสขม อมเปรี้ยว อมฝาด เมื่อกินแล้วจะรู้สึกชุ่มคอ ใช้สำหรับช่วยละลายเสมหะ กระตุ้นให้เกิดน้ำลาย จึงช่วยแก้การกระหายน้ำได้ดี หรือใช้ผลแห้งประมาณ 6-10 กรัม ถ้าใช้ผลสดประมาณ 10 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม หรือคั้นเอาน้ำสำหรับดื่ม ขับเสมหะ หรือช่วยระบายของเสียให้ใช้ผลสด 5-15 ผล ต้มหรือคั้นน้ำมาดื่ม

มะขามป้อมมีรสเปรี้ยว ฝาด ขม เช่นเดียวกับสมอไทย จึงสามารถแก้โรคต่างๆ ได้มากเช่นเดียวกันสมอไทย ตำรายาอินเดียยกย่องมะขามป้อมไว้มากว่า เป็นผลไม้บำรุงร่างกายที่ดีมาก ตำราบางเล่มถึงกับกล่าวว่า ถ้าคนอินเดียไม่มองข้ามมะขามป้อม คือเอามะขามป้อมมากินเป็นประจำวันละ 1 ลูก ทุกวัน เขาเชื่อว่าคนอินเดียจะมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงกว่านี้มากนัก ทั้งนี้เพราะมะขามป้อมบำรุงอวัยวะแทบทุกส่วนของร่างกาย คือ บำรุงผม สมอง ดวงตา คอ หลอดลม ปอด หัวใจ กระเพาะ ฯลฯ แก้น้ำเหลืองเสีย ปรับประจำเดือนให้มาปกติ บำรุงเลือด บำรุงกำลัง ช่วยลดความดันเลือดสูง

ปัจจุบันมีการศึกษาพบประโยชน์มากมายของมะขามป้อมในการลดความดัน ลดน้ำตาลและลดไขมันในเลือด การกินมะขามป้อมช่วยควบคุมโรคเบาหวาน ทางอายุรเวท พบว่าการดื่มน้ำมะขามป้อมคั้นสด 1 ช้อนโต๊ะ (15 ซีซี) กับน้ำมะระขี้นกคั้นสด 1 ถ้วย ทุกวันเป็นเวลาสองเดือนสามารถกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินและลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ การกินยาตำรับนี้ต้องมีการควบคุมอาหารอย่างเข้มงวด และยาตำรับนี้ยังลดอาการแทรกซ้อนทางตาจากโรคเบาหวาน





มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ทดลองให้คนกินยาเม็ดวิตามินซีกับกินมะขามป้อมเปรียบเทียบกันพบว่า วิตามินซีจากมะขามป้อมถูกดูดซึมเร็วกว่าวิตามินซีเม็ด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในมะขามป้อมมีสารอื่นๆ ที่ช่วยพาวิตามินซีเข้าสู่ร่างกายได้รวดเร็ว มะขามป้อมที่ผ่านการต้ม หรือตากแห้งทำให้วิตามินซีลดลง แต่ก็ยังเพียงพอที่จะใช้รักษาโรคลักปิดลักเปิดได้ ถ้าเก็บไว้ไม่เกิน 1 ปี

ส่วนคนที่ท้องผูกเป็นประจำไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม ถ้าได้กินมะขามป้อมแล้วอาการท้องผูกจะหายไป เนื่องจากมะขามป้อมมีรสฝาด จะทำให้กินยากไปสักหน่อย ควรปรุงรสให้อร่อยด้วยการนำมะขามป้อมมาผ่าแคะเม็ดออก (กินแต่เนื้อ) ประมาณ 10 ลูก ใส่พริก เกลือ น้ำตาลตำพอแหลก กินต่างผลไม้ แต่ควรกินก่อนนอนหรือตอนตื่นใหม่ๆ ในขณะที่ท้องว่า วิธีลดความฝาดของมะขามป้อม ก็คือแช่น้ำเกลือ มีขั้นตอนดังนี้ ล้างมะขามป้อมให้สะอาด ลวกด้วยน้ำร้อน และนำไปแช่ในน้ำเกลือที่เค็มจัดแช่ไว้สัก 2 วัน รสฝาดก็จะลดลง ยิ่งแช่นานรสฝาดก็ยิ่งหมดไป

//www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_08_8.htm

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus emblica L.

ชื่อสามัญ : Emblic myrablan, Malacca tree

วงศ์ : Euphorbiaceae

ชื่ออื่น : กำทวด (ราชบุรี) กันโตด (เขมร-จันทบุรี) สันยาส่า มั่งลู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 10-12 เมตร เปลือกต้นสีเทาอมน้ำตาล แตกเป็นร่องตามยาว กิ่งก้านแข็ง เหนียว ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน รูปขอบขนาน กว้าง 1- 5 มม. ยาว 4-15 มม. ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบมนหรือเว้าเข้า ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ สีเขียว ดอก ออกเป็นช่อ เป็นกระจุกเล็กๆ ดอกสีเหลืองอ่อนออกเขียว กลีบดอกมี 5-6 กลีบ มีเกสรเพศผู้สั้นๆ 3-5 อัน ก้านดอกสั้น ผล รูปทรงกลม ขนาด 1.3-2 ซม. เป็นพูตื่นๆ 6 พู ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียวอมเหลือง พอแก่เป็นสีเหลืองออกน้ำตาล เมล็ดรูปรี เปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง
ส่วนที่ใช้ : น้ำจากผล ผลโตเต็มที่

สรรพคุณ :

น้ำจากผล - แก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ

ผล - แก้ไอ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ

วิธีและปริมาณที่ใช้ :
ผลโตเต็มที่ จำนวนไม่จำกัด รับประทานเป็นผลไม้



//www.medplant.mahidol.ac.th/poisonpr/docs/0496.htm#2

ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus emblica L.

วงศ์ Euphorbiaceae

ชื่อพ้อง Emblica officinalis Gaertn.

ชื่ออื่นๆ กันโตด กำทวด มั่งลู่ สันยาส่า Emblic, Emblic myrobalan, Indian gooseberry, Malacca tree, Myrobalan



หลักฐานความเป็นพิษและการทดสอบความเป็นพิษ

1. การทดสอบความเป็นพิษ

มีการศึกษาความเป็นพิษส่วนต่างๆ ของมะขามป้อม หลายรายงานดังนี้

สารสกัดผลด้วยเอทานอลและน้ำ (1:1) เมื่อป้อนให้กับหนูถีบจักร ทางสายยางสู่กระเพาะอาหารในขนาด 100 ก./กก. พบว่าไม่ทำให้เกิดพิษ แต่หากฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูถีบจักร พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่าเท่ากับ 4.8 ก./กก. (1) และเมื่อฉีดสารสกัดใบหรือลำต้นด้วยเมทานอลกับน้ำ (1:1) เข้าทางช่องท้องหนูถีบจักรเพศผู้ มีค่า LD50เท่ากับ 750 มก./กก. และ 185 มก./กก. ตามลำดับ (2) นอกจากนี้เมื่อฉีดสารสกัดใบด้วยน้ำเข้าช่องท้องหนูถีบจักรเพศผู้และเพศเมีย ค่า LD50เท่ากับ 0.415 ก./กก. และ 0.288 ก./กก. ตามลำดับ และเมื่อทดสอบพิษกึ่งเฉียบพลันโดยให้กินสารสกัดขนาด 0.1 และ 0.5 ก./กก. 10 สัปดาห์ พบว่าไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตของหนู แต่พบการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักอวัยวะภายใน ได้แก่ หัวใจ ปอด ตับ และมีการเพิ่มของระดับ SGPT ในกระแสเลือด และเมื่อให้สารสกัดแก่หนูถีบจักรทางปากในขนาด 20 ก./กก. ไม่เกิดอาการพิษในสัตว์ทดลอง (3) การทดลองพิษกึ่งเฉียบพลันของยาแผนโบราณตรีผลา (มีส่วนประกอบของสมุนไพร 3 ชนิด คือ ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย และลูกมะขามป้อม) ซึ่งอัตราส่วนของสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด จะแตกต่างกันตามกองสมุฏฐานโรค ในกรณีแก้ปิตตะสมุฏฐานสำหรับรักษาอาการป่วยด้วยธาตุไฟในฤดูร้อน อัตราส่วนของสมุนไพรจะเป็น 12:8:4 ส่วนตำรับแก้วาตะสมุฏฐานรักษาอาการป่วยด้วยธาตุลมในฤดูร้อน อัตราส่วนเท่ากับ 4:12:8 และตำรับแก้เสมหะสมุฎฐานรักษาอาการป่วยด้วยโรคธาตุในฤดูร้อน อัตราส่วนเท่ากับ 8:4:12 ซึ่งจากการทดสอบพิษกึ่งเฉียบพลันในหนูขาวพันธุ์วิสตาร์ โดยการป้อนสารสกัดด้วยน้ำในขนาด 0.36, 2.88 และ 23.04 ก./กก./วัน เป็นเวลา 10 วัน หรือคิดเป็น 1, 8 และ 64 เท่า ของขนาดที่ใช้ในคน พบว่าสารสกัดยาแผนโบราณตรีผลา ตำรับแก้วาตะและเสมหะสมุฏฐาน ทำให้หนูเกือบทุกกลุ่มมีน้ำหนักตัวในวันสุดท้ายที่ทำการทดลอง และการกินอาหารน้อยกว่ากลุ่มควบคุม ในขณะที่ตำรับแก้ปิตตะสมุฏฐานขนาดสูงในหนูเพศผู้มีน้ำหนักตัวในวันสุดท้ายน้อยกว่ากลุ่มควบคุม การตรวจค่าทางโลหิตวิทยาของหนูขาวพบว่าสารสกัดตำรับแก้วาตะสมุฏฐานทุกขนาดทำให้จำนวนเม็ดเลือดขาวในหนูเพศเมียลดลง แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับขนาดของสารสกัดที่ให้ ส่วนสารสกัดยาตรีผลา ตำรับแก้ปิตตะ และเสมหะสมุฏฐานไม่มีผลต่อค่าทางโลหิตวิทยาของหนูขาว พบการตรวจซีรั่มทางชีวเคมี พบว่าสารสกัดทุกตำรับในขนาดสูงทำให้ระดับโปรตีนรวม และ BUN ของหนูเพศผู้มีค่าน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ ในหนูเพศเมียสารสกัดตำรับแก้ปิตตะสมุฏฐานในขนาดสูงมีผลลดระดับโปรตีนรวม และ BUN เช่นกัน นอกจากนี้สารสกัดตรีผลาตำรับแก้ปิตตะและวาตะสมุฏฐานทุกขนาดทำให้ซีรั่มกลอบูลินในหนูเพศผู้ลดลงอย่างมีความสัมพันธ์กับขนาดที่ให้ ส่วนสารสกัดตำรับแก้เสมหะสมุฏฐานขนาด 2.88 และ 23.04 ก./กก./วัน มีผลลดระดับซีรั่มกลอบูลินในเพศผู้ และสารสกัดตำรับแก้ปิตตะสมุฏฐานในขนาดเดียวกันมีผลลดระดับซีรั่มกลอบูลินในเพศเมียเช่นกัน หนูทั้งสองเพศที่ได้รับสารสกัดตรีผลา ตำรับแก้ปิตตะและเสมหะสมุฏฐานขนาด 23.04 ก./กก./วัน มีค่าซีรั่มครีอาตินินต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ ผลการศึกษาทางจุลพยาธิวิทยาแสดงให้เห็นว่าตับและไตของหนูเพศเมียมีความไวต่อความเป็นพิษของสารสกัดมากกว่าหนูเพศผู้ โดยหนูเพศเมียที่ได้รับสารสกัดตำรับแก้ปิตตะสมุฏฐานในขนาด 23.04 ก./กก./วัน มีอัตราการเกิด fatty change ของตับและ nephrocalcinosis และ hydrocalyx สูงกว่าหนูกลุ่มควบคุม ส่วนหนูทั้งสองเพศที่ได้รับสารสกัดตำรับแก้เสมหะสมุฏฐานพบว่าอัตราการเกิดพยาธิสภาพต่างๆ ของตับและไต ไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม ซึ่งพิษต่อตับหรือไตของสารตรีผลาอาจเนื่องมาจากสารแทนนินในสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด ของตำรับนี้ (4) สารสกัดยาตำรับตรีผลาด้วยน้ำ ฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร ขนาดไม่เกิน 240 มก./กก. สังเกตอาการหลังจากนั้น 14 วัน ไม่พบพิษใดๆ ค่า LD50 เท่ากับ 280 มก./กก. ถ้าให้ขนาด 300 มก./กก. หนูถีบจักรจะตายทั้งหมด (5) เมื่อฉีดสารสกัดยาตำรับ Abana ด้วยเอทานอล (มีมะขามป้อมเป็นส่วนประกอบ 10 มก.) เข้าช่องท้องหนูถีบจักร ในขนาดไม่เกิน 1.6 ก./กก. สังเกตอาการหลังจากการทดลอง 14 วัน ไม่พบความผิดปกติ แต่ถ้าเพิ่มขนาดเป็น 1.7, 1.8, 1.9 และ 2 ก./กก. จะทำให้หนูตาย 20, 50, 60 และ 80% ตามลำดับ และหนูจะตายทั้งหมด 100% เมื่อได้รับสารสกัดขนาด 2.1 ก./กก. ค่า LD50 เท่ากับ 1.8 ก./กก. (6)

2. พิษต่อตับ
มีรายงานว่าหญิงอายุ 26 ปี รับประทานยาตำรับที่มีส่วนผสมของสารสกัดมะขามป้อม (Isabgol) ซึ่งใช้รักษาอาการท้องผูกเรื้อรัง แล้วมีผลทำให้เกิดความผิดปกติที่ตับ โดยเซลล์ตับมีขนาดใหญ่ขึ้นมากและอักเสบ (7)

3. พิษต่อเซลล์
สารสกัดผลมะขามป้อมด้วยเอทานอลและน้ำ (1:1) ทำการทดสอบในจานเพาะเลี้ยงเชื้อต่อเซลล์มะเร็ง CA-9KB พบว่าไม่เป็นพิษต่อเซลล์ CA-9KB ซึ่งขนาดที่มีผลทำให้เกิดพิษกับเซลล์จำนวนครึ่งหนึ่ง (ED50) มีค่ามากกว่า 20 มคก./มล. (8) สารสกัดผลมะขามป้อมด้วยน้ำ เมทานอล ในความเข้มข้น 100 มคก./มล. ต่อเซลล์ Vero พบว่าไม่เป็นพิษต่อเซลล์ (9) นอกจากนี้สารสกัดผลด้วยเอทานอล มาทำให้เจือจางในอัตราส่วนตั้งแต่ 1:1 ถึง 1:1,000 ทำการทดสอบกับเซลล์เม็ดเลือดแดงของแกะ พบว่าไม่เป็นพิษต่อเซลล์เม็ดเลือดแดงของแกะ (10) และสารสกัดน้ำของผลมะขามป้อม เมื่อทำการทดสอบกับ Cells-L929 พบว่ามีความเป็นพิษต่อเซลล์อย่างอ่อน โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 16.5 มคก./มล. (11)

4. พิษต่อระบบสืบพันธุ์

ยาตำรับซึ่งมีส่วนผสมของมะขามป้อม สมอไทยและสมอพิเภก เมื่อป้อนให้กับหนูขาวเพศเมียกิน พบว่ามีผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อน 50% (12)

5. ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์และต้านการก่อกลายพันธุ์

สารสกัดผลด้วยอะซิโตน คลอโรฟอร์ม น้ำ (13) ด้วยความเข้มข้น 0.1 มล./จานเพาะเชื้อ (14) ทำการทดสอบในจานเพาะเลี้ยงเชื้อ พบว่าสามารพต้านการก่อกลายพันธุ์ต่อเชื้อ Salmonella typhimurium TA97, TA100 ได้ ซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการก่อกลายพันธุ์ด้วยสาร sodium azide และ NPD (4-nitro-O-phenylenediamine) และส่วนสกัด tannin เมื่อทำการทดลองในจานเพาะเลี้ยงเชื้อ พบว่าสามารถต้านการก่อกลายพันธุ์ของเชื้อ Salmonella typhimurium TA100 ได้ (15) และสารสกัดผลด้วยน้ำเมื่อป้อนให้กับหนูถีบจักรที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดความผิดปกติของโคโมโซมไขกระดูกด้วย Nickel ทางสายยางสู่กระเพาะอาหารในขนาด 10 มล./กก. (16) และขนาด 685 มก./กก. (17) พบว่าสารสกัดจากผลมะขามป้อมสามารถลดจำนวนการผิดปกติของโครโมโซมไขกระดูกได้ และสารสกัดน้ำของผลมะขามป้อมเมื่อป้อนให้กับหนูถีบจักรขนาด 685 มก./กก. เป็นเวลานาน 7 วัน จากนั้นฉีดอะลูมิเนียมและตะกั่วเข้าทางช่องท้องหนู เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดความผิดปกติของโครโมโซมไขกระดูก พบว่าสารสกัดผลมะขามป้อมสามารถช่วยเพิ่มการแบ่งตัวของเซลล์ไขกระดูก และลดความผิดปกติของโครโมโซม



Create Date : 01 มีนาคม 2554
Last Update : 1 มีนาคม 2554 19:00:51 น.
Counter : 1609 Pageviews.

1 comments
  
มีประโยชน์มากมาย ขอบคุณที่เอาข้อมูลมาเผยแพร่นะคะ
โดย: ริมยมนา วันที่: 1 มีนาคม 2554 เวลา:19:24:54 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Nilz
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]








2 ก.พ.53 77.9
ปั่นอิลิปติคอล
และเวทเทรนนิ่ง

20 ส.ค.53 62.6
กีหลาด Work Out

1 ม.ค.54 62.0

5 ม.ค.55 63 Turbo
Jam ปั่นอิลิปติคอล ดัมเบล

11 ม.ค.56 65.7
Turbo Fire

1 ม.ค. 57 65.2
Turbo Fire

25 ก.พ.57 64.4
เริ่มเดินออกกำลังกาย
เวทแขน AB
31 ธ.ค.57 62.5