คู่แฝด คู่ร้าย
“Good things come in pair” ดังวลีฝรั่งนี้ที่บอกว่าของทุกอย่างมีคู่แฝดอยู่เสมอ อาจเป็นแฝดเหมือนหรือแฝดต่างก็ได้ ซึ่งก็พ้องกับทางพระที่ว่า กุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา และโลกธรรมแปดที่เล่าถึงคู่แห่งสัจธรรมในโลกนี้ มีสุขแล้วก็มีทุกข์ มีสรรเสริญก็ย่อมมีนินทา มีลาภก็ย่อมมีเสื่อมลาภได้ดังนี้เป็นต้น

ดังนั้น ในเรื่องของโอสถรักษาโรคก็ย่อมต้องมีคู่แฝดของมัน ที่ต้องมีทั้งแฝดที่ดีและแฝดที่ร้ายคล้ายเทวากับซาตานซึ่งเคยมีกรณีที่ถึงแก่ชีวิตมาแล้ว ซึ่งโดยมากมักเกิดจาก “ความไม่รู้” ในฤทธิ์อันไพศาลของยาแต่ละเม็ดที่กินอยู่ โดยเราจะค่อยมาดูกันไปทีละแฝดครับ
แฝดที่ดี

เสมือนคู่บุญยิ่งรู้จักกินให้เสริมกันก็จะยิ่งช่วยเสริมสุขภาพหรือทำการรักษาโรคให้ท่านได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น และที่จริงก็ควรกินคู่กันเสียด้วยเพราะเรื่องของยาอาหารเสริมนี้มีหลักคือทำงานร่วมกัน โดยกลุ่มที่ควรกินร่วมกันช่วยเสริมให้ดีมีดังต่อไปนี้ครับ

1) วิตามินซีกับคอลลาเจน จะช่วยกันสร้างเนื้อเยื่อใหม่ให้ใสปิ๊งปั๊งไม่เหี่ยวหย่อนย้อย

2) ธาตุเหล็กกับวิตามินซี กินธาตุเหล็กให้ดีดูดซึมเข้าไปใช้ได้ ไม่ใช่กินเข้าไปอย่างไรถ่ายออกมาหน้าตาเหมือนเดิมนั้น ต้องกินคู่กันอย่างเช่นถ้าจะกินเลือดหมูให้ได้ธาตุเหล็กก็ควรกินกับผักที่มีวิตามินซีสูงเช่นใบตำลึงก็จะดีไม่น้อยครับ

3) แคลเซียมกับแมกนีเซียม แคลเซียมจะดูดซึมได้ดีต้องมี “ตัวช่วย” พามันเข้าไปได้แก่แมกนีเซียม, วิตามินดีและวิตามินเคด้วยซึ่งอยู่ในแสงแดดและผักเขียวจัดตามลำดับ

4) วิตามินเอ,ซีและอี พยายามกินไปด้วยกันเป็นดี หรือสูตรที่ดีคือกินซีเพียงตัวเดียวส่วนเอกับอีนั้นกินเอาจากผักคะน้าและถั่วลิสงสักวันละกำมือ

5) น้ำมันปลา(ไม่ใช่น้ำมันตับปลา)ขอให้เลือกชนิดที่มี ดีเอชเอคู่กับกับอีพีเอ ยิ่งมากหน่อยยิ่งดีอย่างน้อยกินให้ได้ค่า ดีเอชเอ+อีพีเอ = 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน โดยมีเคล็ดไว้ว่าถ้าอยากบำรุงสมองต้องเลือกชนิดที่มีดีเอชเอเด่น แต่ถ้าจะให้บำรุงส่วนอื่นเป็นหลักเช่นข้ออักเสบให้เลือกชนิดที่มีอีพีเอสูงด้วยครับ

แฝดที่ร้าย

แฝดตัวนี้ถือเป็นระดับ “ตัวแม่” ที่น่ากลัวกว่าเยอะมากครับ เพราะอาจทำให้เกิดเลือดออกในสมองจนเป็นอัมพาตหรือหัวใจวายแน่นิ่งไปได้ จึงอยากชวนให้ท่านที่รักมาสนใจในยาที่ไม่ควรกินร่วมกันสักนิดดังนี้ครับ

1) น้ำมันปลากับแอสไพริน คู่ร้ายอันดับแรกโดยน้ำมันปลานี้มีฤทธิ์ช่วยให้เลือดใสไม่หนืดเหนียว ส่วนแอสไพรินก็มีฤทธิ์เดียวกันคือช่วยให้ไม่เกิดลิ่มเลือดจับแข็งเป็นก้อนตัน เมื่อกินคู่กันเลยกลายเป็นคู่สังหารพาลให้เลือดไหลพรวดพราดไม่หยุด แม้การกรอฟันเพียงนิดก็อาจทำให้เลือดออกได้ราวกับผ่าตัดใหญ่แล้วครับ

2) วิตามินอีและอีฟนิ่งพริมโรส มีคนไข้ที่อยากผิวสวยมาหาพร้อมบอกว่ามีคนแนะให้กินวิตามินอีแต่บ้างก็ให้เลือกเป็นอีฟนิ่งพริมโรสแทนจะเลือกอย่างไรดี จึงได้บอกไปให้เลือกอย่างหนึ่งก็พอเพราะล้วนแต่มีวิตามินอีทั้งนั้นซึ่งถ้าได้มากไปอาจทำให้เกิดหัวใจพิบัติแทน

3) แคลเซียมเสริมกับแคลเซียมสด ถ้าท่านกินงาดำได้วันละ 4 ช้อนโต๊ะหรือเต้าหู้ขาวแข็งวันละ 3 ขีดก็จะได้แคลเซียมราว 1,000 มิลลิกรัมอยู่แล้ว ซึ่งถ้าไปหาแคลเซียมเม็ดมากินเติมอีกจะทำให้แคลเซียมเกินและไปจับกับหลอดเลือดทำให้ตีบแข็งได้

4) กาแฟกับแคลเซียม ขอให้เลี่ยงกินแคลเซียมร่วมกับกาแฟเพราะกาแฟจะไปยับยั้งการดูดซึมแคลเซียมนอกจากนั้นยังไปดึงแคลเซียมออกจากกระดูกอีกด้วย

5) ธาตุเหล็กกับเลือดจางธาลัสซีเมีย เป็นไม้เบื่อไม้เมากันทีเดียว ขอให้ลืมความเชื่อที่ว่าถ้าเลือดจางต้องกินธาตุเหล็ก ไม่เสมอไปครับ หากท่านเป็นเลือดจางชนิดธาลัสซีเมียแล้วไปกินธาตุเหล็กเสริมจะเท่ากับเติมยาพิษให้กับหัวใจและตับตัวเองครับ

ทั้งแฝดดีแฝดร้ายนี้ที่จริงมีอีกมากซึ่งผมได้เคยเขียนไว้ในหนังสือแล้วและก็ตั้งใจจะเขียนไว้เรื่อยๆเป็นตอนต่อไปในคอลัมนี้ แต่สำหรับที่เลือกมาให้เห็นนั้นเป็นตัวอย่างที่พบบ่อยหน่อยครับและท่านจำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที

เมื่อถึงตอนนี้ขอให้ท่านหยิบเอาร่วมยาออกมาสังคายนาแยกวางเป็นชนิดไปบนโต๊ะแล้วจัดเป็นกลุ่มไว้ว่ากลุ่มใดรักษาโรคไหนแล้วบางทีจะเกิดพุทธิปัญญาทีเดียวว่าตูข้ากินยามากเกินความจำเป็นไปเพียงใด แต่นั่นก็ยังไม่ร้ายเท่ากินยาที่ดันไปเสริมฤทธิ์กันให้เป็นพิษเข้าไปเสียอีก

ดังนั้น ท่านจะเห็นว่าการกินยานั้นมีข้อหยุมหยิมอยู่มากเมื่อเทียบกับกินอาหารธรรมชาติที่โอกาสเกิดการผสมกันเป็นพิษน้อย เพราะมีส่วนประกอบสำคัญอยู่ในปริมาณที่ไม่เข้มข้นมากเท่ายาเคมี แต่อย่างไรก็ดีคงต้องยึดหลักที่ว่าหูไวตาไวถ้ารู้สึกว่า “ไม่ใช่” แล้วก็ให้รีบเร่งบอกอย่าปล่อยให้เลยตามเลยไว้นานเลยครับ

*** นพ.กฤษดา ศิรามพุช, พบ.(จุฬาฯ) ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ drkrisda@gmail.com




Create Date : 16 ตุลาคม 2552
Last Update : 16 ตุลาคม 2552 23:05:29 น.
Counter : 219 Pageviews.

0 comment
คิวเทน กินเพื่อสุขภาพหรือความงาม
สารอาหาร “คิวเทน” นอกจากช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังส่งให้เรา “สวย” ได้อีกด้วย นักวิชาการยืนยันจากการเสวนาในงานมหิดลวิชาการเรื่อง “การกินเพื่อสุขภาพและความงาม” ของสถาบันวิจัย ที่สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเร็วๆนี้

ดร.เอกราช เกตวัลห์ อาจารย์ประจำฝ่ายเคมีทางอาหาร สถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดล กล่าวว่า โคเอนไซม์คิวเทน หรือที่คนทั่วไปนิยมเรียกย่อๆว่าคิวเทน เป็นสารที่มีอยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกายของมนุษย์และสัตว์ มีอยู่มากในอวัยวะภายในโดยเฉพาะหัวใจ, ตับ และไต ซึ่งเป็นอวัยวะที่ต้องทำงานหนักตลอดเวลา โดยมีหน้าที่สำคัญคือ ทำให้เกิดพลังงานสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ประมาณ 95% ของพลังงานในร่างกาย และเป็นภูมิคุ้มกันของร่างกายจากสารอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคมะเร็งต่างๆ และเป็นต้นเหตุของเซลล์เสื่อมสภาพหรือความแก่นั่นเอง

ดร.เอกราชกล่าวต่อว่า ปกติร่างกายเราได้รับคิวเทน 2 ทาง จากอาหารที่เรากินทั่วไป และจากการสังเคราะห์ ของร่างกาย อาหารที่มี “คิวเทน” สูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ปลาทะเล หัวใจ ตับ ถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันงา ส่วนการสังเคราะห์นั้น ร่างกายจะสังเคราะห์ “คิวเทน” ได้ดีตอนช่วงอายุน้อยๆ และจะลดลงหลังจากอายุ 21 ปี นอกจากนี้การได้รับยาบางชนิด เช่น ยาในกลุ่ม HMG-CoA reductase inhibitors ซึ่งเป็นยาที่ใช้ลดคอเลสเทอรอลและไขมันในเลือด ยังมีผลยับยั้งการสังเคราะห์ “คิวเทน” ด้วย และการเจ็บป่วยก็จะทำให้ร่างกายมีระดับ “คิวเทน” ต่ำมาก ดังนั้นการได้รับ “คิวเทน” โดยตรงจากอาหาร จึงมีความจำเป็นมากขึ้น




สำหรับประโยชน์ของ “คิวเทน” ต่อสุขภาพและความงามนั้น ดร.เอกราช เปิดเผยว่า ด้วยเหตุที่ “คิวเทน” ทำหน้าที่ในกระบวนการเสริมสร้างพลังงานให้แก่ทุกๆเซลล์ และต่อต้านอนุมูลอิสระไม่ให้ทำลายเซลล์เนื้อเยื่อของร่างกาย จึงมีการนำมาใช้ในด้านความสวยความงาม “คิวเทน” ที่ได้รับจากอาหารจะถูกดูดซึมได้ดีกว่าการดูดซึมเข้าสู่ผิวหนัง ดังนั้นผลในด้านสุขภาพโดยรวมจะมีมากกว่าในด้านผิวพรรณ ส่วนที่มีการนำ “คิวเทน” ไปผสมในเครื่องสำอางที่ใช้ภายนอกนั้น จะสามารถซึมผ่านผิวหนังชั้นนอกได้ประมาณ 20% และซึมผ่านผิวหนังแท้ได้ประมาณ 3% จากผลวิจัยที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้พบว่า “คิวเทน” ช่วยป้องกันเซลล์จากการถูกทำลายโดยรังสียูวีจากแสงแดด และช่วยลดริ้วรอยเหี่ยวย่นได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของ “คิวเทน” ที่มีในผลิตภัณฑ์และความสามารถของพาหะหรือตัวกลางที่จะพา “คิวเทน” เข้าสู่ผิวหนังด้วย หากตัวกลางหรือตัวทำละลายมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ จึงควรทดสอบการแพ้ก่อนนำไปใช้ และยังไม่พบผลโดยตรงที่ช่วยให้ขาวขึ้น

สุดท้าย ดร.เอกราชได้แนะนำถึงการบริโภคว่า แต่ละวันควรบริโภคอาหารให้ได้รับคิวเทน 20-30 มิลลิกรัม โดยกินร่วมกับอาหารที่มีไขมัน เพราะ “คิวเทน” ละลายได้ดีในไขมัน หากได้รับ “คิวเทน” น้อยเกินไปอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย จากการที่เซลล์ไม่สามารถสร้างพลังงานอย่างเพียงพอทั้งภายนอกและภายในร่างกาย และมีผลให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง “คิวเทน” ถือว่ามีความปลอดภัยสูง ไม่พบผลข้างเคียงใดๆที่รุนแรงจากการบริโภค ปริมาณสูงถึง 300-600 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากอาการคลื่นไส้ไม่สบายท้อง อย่างไรก็ตาม การกินในปริมาณนี้ไม่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีสุขภาพดี การกินต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ และไม่ควรกินต่อเนื่องกันเป็นเวลานานโดยไม่มีระยะพักอีกด้วย.



Create Date : 15 ตุลาคม 2552
Last Update : 15 ตุลาคม 2552 21:14:09 น.
Counter : 166 Pageviews.

0 comment
คอลลาเจน
คอลลาเจนคืออะไร ??
คอลลาเจนคือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่อยู่ใต้ชั้นหนังแท้ โปรตีนแห่งความงามที่ว่านี้ มีชื่อเรียกว่า คอลลาเจนโปรตีน เป็นโปรตีนสำคัญของผิวหนัง เพราะเป็นส่วนสปริงของผิวหนัง ในการสร้างความตึงให้กับผิวหนังชั้นหนังแท้ หากอยากลองสัมผัสความตึงของคอลลาเจนโปรตีน ลองจับแก้มเด็กตัวเล็ก ๆ ดู จะสัมผัสได้ทันที ถึงความใส ตึง ที่ผิวแก้ม หรือ ดูเด็กวัยรุ่นที่กำลังแตกเนื้อหนุ่มสาว จะเห็นว่าผิวพรรณตึงเปรี๊ยะทีเดียว ปัจจุบันนี้จะมีการพูดถึง คอลลาเจน กันอย่างกว้างขวางในวงการเครื่องสำอาง และ ความงาม เป็นภาษากรีก

คอลลาเจน เป็นภาษากรีก แปลว่า กาว ทำหน้าที่เป็นกาวเชื่อมเซลล์แต่ล่ะเซลล์เข้าด้วยกัน คอลลาเจนโปรตีนมีปริมาณมากถึง 1 ใน 3 ของโปรตีนในร่างกาย คอลลาเจนใต้ผิวหนังของเรา จะอยู่ในผิวหนังชั้นหนังแท้ คอลลาเจนทำหน้าที่เสริมความเรียบตึงของผิวหนัง ทำให้ผิวแข็งแรง และเรียบเนียน และอยู่คู่กับโปรตีนที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ "อิลาสติน" ในขณะที่คอลลาเจนมีหน้าที่เสมือนโครงสร้างของผิว และทำให้ผิวเต่งตึง อิลาสตินจะมีหน้าที่สร้างความยืดหยุ่นให้กับผิว และทำให้ผิวไม่มีริ้วรอย

น่าเสียดายที่ภายหลังอายุ 20 ปี คอลลาเจนโปรตีนจะเสื่อมสภาพลง ทำให้ชั้นผิวหนังมีการยุบตัวลง ต้นเหตุของความเหี่ยวย่น ริ้วรอย และความชราของผิวพรรณ ริ้วรอยแรกจะเป็นรอยตีนกา เพราะผิวหนังรอบดวงตา มีความบอบบางมาก อีกทั้งกล้ามเนื้อรอบดวงตาก็เป็นกล้ามเนื้อวงกลม ไม่มีอะไรยึด ผิวรอบดวงตาก็เลยจะเหี่ยวง่ายกว่าที่อื่น การรับประทานคอลลาเจนโปรตีน จะช่วยชะลอความเหี่ยวตรงนี้ และลดริ้วรอยที่เกิดขึ้นแล้วได้ คอลลาเจนมีคุณสมบัติ ทำให้กล้ามเนื้อกระชับไม่หย่อนยาน ผิวหนังไม่เหี่ยวย่น อีกทั้งยังบำรุงเล็บ และเส้นผมให้มีสุขภาพดีอีกด้วย

การเสริมสร้างคอลลาเจนด้วยการรับประทาน

มีการนำสารสกัดโปรตีนจากปลาทะเลบางประเภท ซึ่งมีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายกับโครงสร้างของคอลลาเจนของผิวคน โดยวิธีการ (Enzymatic Hydrolysis) ,มาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แล้วพบว่าภายหลังการรับประทานไประยะหนึ่ง จะสามารถช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน และช่วยให้ริ้วรอยต่าง ๆ จางหาย การนำสารสกัดโปรตีนคอลลาเจน เข้าสู่ร่างกายเพื่อผลในการบำรุงผิว และลดริ้วรอยนั้น ปกติทำได้ 2 วิธีคือ โดยการรับประทานในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือ โดนการฉีดเข้าใต้ผิวหนังชั้นหนังแท้ วิธีการรับประทานจึงเป็นวิธีการที่สะดวกกว่า ผลที่ได้รับจากการบริโภคคอลลาเจนอย่างต่อเนื่อง จะช่วยในการสร้างเนื้อเยื่อคอลลาเจนใต้ผิวหนัง ลดริ้วรอยเหี่ยวย่นของผิวหนังอย่างได้ผล และทำให้ผิวมีความชุ่มชื้น นุ่มเนียนขึ้น

คอลลาเจนโปรตีน เป็นโปรตีนที่มีโครงสร้างโมเลกุลใหญ่มาก ดังนั้นคอลลาเจนไม่สามารถซึมผ่านผิวหนังได้ด้วยการทา ส่วนครีมต่าง ๆ ที่มีขายตามท้องตลาด ที่มีส่วนผสมของคอลลาเจน ก็จะเป็นการผลักคอลลาเจนให้อยู่ได้แค่ชั้นหนังกำพร้า แต่เนื่องจากคอลลาเจนมีคุณสมบัติอุ้มน้ำได้ประมาณ 30 เท่าของน้ำหนักตัวมัน ทำให้ผิวหนังกำพร้าชุ่มชื้นขึ้น แต่ไม่สามรถแก้ไขปัญหาริ้วรอยได้อย่างแท้จริง เพราะการเสริมสร้างคอลลาเจน จะต้องเข้าสู่ด้วยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และการรับประทานเท่านั้น

การใช้คอลลาเจน

ระยะเวลาเห็นผล 30 - 60 วัน
ริ้วรอยตื้นขึ้น 50%
ผิวที่หย่อนยานกระชับขึ้น 60%
ผิวชุ่มชื้นมากขึ้น 45%
ผม และ เล็บ แข็งแรง และ หนาขึ้น



Create Date : 15 ตุลาคม 2552
Last Update : 15 ตุลาคม 2552 21:10:47 น.
Counter : 209 Pageviews.

2 comment
สังกะสีคืออะไร
แร่ธาตุ สังกะสี

สังกะสีคืออะไร
ปกติทั่วไปร่างกายมนุษย์ต้องการสารอาหารหลัก 5 หมู่ คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามินและเกลือแร่ ในสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อให้การทำงานของร่างกายเป็นปกติ โดยเกลือแร่หรือแร่ธาตุนั้นเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายรองจาก น้ำ ไขมัน และโปรตีน ซึ่งแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับองค์ประกอบที่ดีของชีวิตสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทแรกคือ แร่ธาตุปริมาณมาก (Macro Minerals) ใช้เรียกแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการมากกว่า 100 มิลลิกรัมต่อวัน เช่นแคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม เป็นต้น โดยจะพบแคลเซียมในร่างกายมากที่สุด รองลงมาเป็นฟอสฟอรัส ส่วนแร่ธาตุประเภทที่สอง คือ แร่ธาตุปริมาณน้อย (Trace Minerals) โดยแร่ธาตุกลุ่มนี้ร่างกายต้องการเพียงเล็กน้อย แต่ไม่สามารถขาดได้เลย เพราะมีความสำคัญต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย กล่าวคือ ถ้าขาดสารอาหารพวกนี้ไป ร่างกายก็จะผิดปกติไป ทั้งๆ ที่ปริมาณที่จำเป็นต่อสุขภาพต่อวันมีจำนวนเล็กน้อยเท่านั้นเอง

สังกะสี จัดเป็นแร่ธาตุในกลุ่มแร่ธาตุปริมาณน้อย (Trace Minerals) มีชื่ออีกอย่างว่า ซิงค์ (Zinc) สัญลักษณ์ทางเคมี คือ Zn ประมาณร้อยละ 90 ของสังกะสี ในร่างกายอยู่ที่กระดูกและกล้ามเนื้อ อีกร้อยละ 10 อยู่ที่ ตับอ่อน ตับ เลือด โดยส่วนที่อยู่ในเม็ดเลือดนั้น ร้อยละ 80 อยู่ในเม็ดเลือดแดง และร้อยละ 20 อยู่ในน้ำเลือด ส่วนใหญ่ของ สังกะสี ที่รับประทานเข้าไปจะถูกขับถ่ายออกทางอุจจาระ ซึ่งเป็นผลรวมของ สังกะสี ที่บริโภคเข้าไปแล้วไม่ถูกดูดซึมจากน้ำย่อยของลำไส้เล็ก นอกจากนี้ร่างกายยังขับถ่าย สังกะสี ออกทางปัสสาวะโดยจับกับ กรดอะมิโน ได้อีกด้วย ซึ่งในคนปกติจะขับถ่าย สังกะสี ออกประมาณวันละ 300 – 600 ไมโครกรัม

ประโยชน์ของสังกะสี
สังกะสี มีลักษณะเหมือนกับแร่ธาตุและ วิตามิน อื่นๆ คือ เป็นสารอาหารทีไม่ให้พลังงาน แต่ทำหน้าที่เป็นเพียงตัวกำกับการทำงานของร่างกาย มีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์กรดนิวคลิอิก และโปรตีนเอนไซม์ในร่างกายมากกว่า 100 ชนิด อาจกล่าวได้ว่าเอนไซม์ที่เป็นสารสำคัญในการเกิดปฏิกิริยาภายในร่างกายเกือบทุกชนิดต้องการ สังกะสี เป็นส่วนประกอบจึงจะทำหน้าที่ได้ดี ดังนั้น สังกะสี จึงมีความสำคัญต่อการทำงานของทุกอวัยวะในร่างกายเรา โดยอาจสรุปขบวนการที่ สังกะสี มีส่วนร่วมในการทำงานในร่างกายมนุษย์ได้ดังต่อไปนี้

1. สังกะสี เป็นส่วนหนึ่งของเอ็นไซม์แอลกอฮอล์ดีไฮโดรจีเนส (Alcohol Dehydrogenase) ซึ่งเอ็นไซม์นี้มีหน้าที่ในการกำจัดแอลกอฮอล์ ซึ่งถือเป็นสารพิษในตับ (Liver)

2. สังกะสี ร่วมทำงานกับ เอ็นไซม์ แลคเตตและมาเลตดีไฮโดรจีเนส (Latate and Malate Dehydrogenase) ซึ่งเป็นเอ็นไซม์ที่ร่างกายใช้ในขบวนการสร้างกำลังงาน

3. สังกะสี มีส่วนร่วมทำงานกับเอ็นไซม์ อัลคาไลน์ ฟอสฟาเตส (Alkaline Phosphatase) ซึ่งจำเป็นในขบวนการสร้างกระดูกและฟัน

4. สังกะสี เป็นส่วนหนึ่งของเอ็นไซม์ซูเปอร์อ๊อกไซด์ ดิสมิวเทส (Superoxide Dismutase; SOD) ซึ่งเป็นสารต้านปฏิกิริยาอ๊อกซิเดชั่น (Potent Anti-oxidants) ที่มีอยู่ในร่างกาย

5. สังกะสี เป็นส่วนหนึ่งของเอ็นไซม์ คาร์บอร์นิคแอนไฮเดรส (Carbonic Anhydrase) ซึ่งพบว่าเอ็นไซม์นี้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำงานอย่างสมดุลของระบบประสาทสมอง

6. สังกะสี จำเป็นสำหรับการสังเคราะห์โปรตีนและสร้าง คอลลาเจน มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเจริญเติบโตของเด็ก

7. สังกะสี ช่วยให้เซลล์สามารถจับกับวิตามิน เอ (Vitamin A) ไว้ได้ดีขึ้น และช่วยให้เซลล์สามารถนำเอาวิตามินเอไปใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้นด้วย ซึ่งช่วยทำให้เซลล์ผิวพรรณที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ๆ มีสุขภาพดี และพบว่ายังเกี่ยวข้องกับการรักษาสมดุลของปริมาณไขมันในผิวหนัง และควบคุมปัญหาการเกิดสิวจากการอุดตันของไขมันได้ด้วย

8. สังกะสี มีส่วนสำคัญในขบวนการสร้างกรดนิวคลีอิค (Nucleic acid) ทั้งดีเอ็นเอ (DNA) และอาร์เอ็นเอ (RNA) ซึ่งพบว่าในระยะที่ร่างกายต้องการสร้างเซลล์ใหม่ๆ ไม่ว่าหลังผ่าตัด, เป็นแผลต่างๆ ยิ่งจำเป็นต้องมีขบวนการนี้มากขึ้นเสมอ

9. สังกะสี ยังช่วยในการปรับปรุงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยเฉพาะควบคุมการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิด ทีลิมโฟไซต์ (T-lymphocyte) ให้ทำงานป้องกันเชื้อโรคแปลกปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

10. สังกะสี มีความสำคัญต่อการควบคุมการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) และควบคุมการทำงานของอวัยวะรับสัมผัส (Taste Sensation) ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

11. สังกะสี จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตและการเจริญของระบบสืบพันธุ์ และช่วยให้ต่อมลูกหมากทำหน้าที่ได้ถูกต้อง ป้องกันการเป็นหมัน

ปริมาณความต้องการสังกะสี
จากคุณสมบัติของ สังกะสี ข้างต้น แสดงให้เห็นว่าในกระบวนการทำงานเกือบทุกระบบในร่างกายล้วนแต่ต้องการ สังกะสี เป็นส่วนประกอบในการทำงานด้วยกันทั้งนั้น จึงนับได้ว่า สังกะสี เป็นแร่ธาตที่ร่างกายต้องการเป็นประจำไม่สามารถขาดได้เลย โดยปริมาณความต้องการ สังกะสี ของแต่ละคนจะแตกต่างกันตามเพศ วัย และภาวะของร่างกาย ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริการได้ทำการวิจัยและกำหนดความต้องการ สังกะสี (Zinc) ปกติของมนุษย์ไว้ตามตารางข้างล่างนี้

ปริมาณ สังกะสี ที่แนะนำให้รับประทานในแต่ละวัน (Daily RDAs For Zinc)

อายุน้อยกว่า 1 ปี ปริมาณที่แนะนำ 3 – 5 มิลลิกรัม/วัน

อายุ 1 –10 ปี ปริมาณที่แนะนำ 10 มิลลิกรัม/วัน

อายุ 11 ปีขึ้นไป ปริมาณที่แนะนำ 15 มิลลิกรัม/วัน

สตรีในระยะตั้งครรภ์ ปริมาณที่แนะนำ 20 – 25 มิลลิกรัม/วัน

สตรีในระยะให้นมบุตร ปริมาณที่แนะนำ 25 – 30 มิลลิกรัม/วัน

แหล่งของสังกะสี
สำหรับร่างกายมนุษย์แล้วไม่สามารถสร้างหรือสังเคราะห์ สังกะสี ได้ขึ้นเอง จำเป็นต้องบริโภคอาหารเพื่อให้ได้รับสารดังกล่าว ซึ่งแหล่งอาหารตามธรรมชาติที่มีปริมาณ สังกะสี สูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ อาหารทะเลโดยเฉพาะหอยนางรม เป็นแหล่ง สังกะสี ที่ดี เพราะดูดซึมง่ายกว่าพวกพืชผัก โดยมีการวิจัยพบว่าอาหารจำพวกเนื้อเมื่อถูกย่อยเป็น กรดอะมิโนจะมีส่วนช่วยให้ร่างกายดูดซึม สังกะสี ได้ดีขึ้น โดยธัญพืชประเภท ข้าว ข้าวโพด มี สังกะสี อยู่ปริมาณน้อย ส่วนผัก ผลไม้แทบไม่มีปริมาณ สังกะสี อยู่เลย ซึ่งปริมาณ สังกะสี ในอาหารที่บริโภคประจำวันมีดังนี้

เนื้อสัตว์ อาหารทะเล 1.5 – 4 มิลลิกรัม/100 กรัม
หอยนางรม 75 มิลลิกรัม/100 กรัม
ตับ 4 – 7 มิลลิกรัม/100 กรัม
ไข่แดง 1.5 มิลลิกรัม/100 กรัม
น้ำนมวัว 0.4 มิลลิกรัม/100 กรัม
น้ำนมแม่ 0.1 – 0.4 มิลลิกรัม/100 กรัม
ธัญพืช 0.4 – 1 มิลลิกรัม/100 กรัม
ถั่ว 0.6 - 3 มิลลิกรัม/100 กรัม

โดยในการบริโภคอาหารประจำวัน เราควรเลือกรับประทานอาหารที่ให้ปริมาณ สังกะสี เพียงพอต่อร่างกายในแต่ละวัน อย่างไรก็ตามในการดำเนินชีวิตประจำวันปกติของเราทุกวันนี้ ยังมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้ร่างกายได้รับปริมาณ สังกะสี ไม่เพียงพอได้ตลอดเวลา ปัจจัยดังกล่าว ได้แก่

1. การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง เช่น อาหารที่มีปริมาณ สังกะสี ต่ำ, อาหารที่มีแร่ธาตุทองแดง (Copper) มากเกินไป, พวก ไฟเบอร์, ไฟเตต (Phytates), แอลกอฮอล์ (Alcohol), ฟอสเฟต (Phosphate) เพราะสารเหล่านี้จะไปลดการดูดซึม สังกะสี ผ่านผนังลำไส้ของคนเราได้

2. อายุที่มากขึ้น (Aging) ประสิทธิภาพการดูดซึม สังกะสี ลดลง

3. หญิงในระยะตั้งครรภ์ (Pregnant) ต้องการ สังกะสี มากเป็นพิเศษ

4. การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นเวลานาน ทำให้ขาดธาตุ สังกะสี ได้

5. ภาวะโรคต่างๆ ที่ต้องการแร่ธาตุ สังกะสี เป็นพิเศษ เช่น การติดเชื้อเรื้อรัง (Chronic infections) พิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) ผิวหนังอักเสบ (Psoriasis) ตับแข็ง (Cirrhosis)

6. โรคพันธุกรรม ที่ทำให้การดูดซึม สังกะสี ไม่ดี พบในเด็กเล็ก เรียกว่า Acrodermatitis Enteropathica (โรคผิวหนังอักเสบ และผิดปกติทางจิตใจ)

อาการขาดสังกะสี
ซึ่งถ้าร่างกายมีอาการขาดแร่ธาตุ สังกะสี เป็นเวลานาน จะเป็นผลให้เกิดอาการต่างๆ มากมาย ดังนี้

1. การเจริญเติบโตในเด็กล่าช้า ตัวเล็ก แคระแกรน หรือหยุดชะงักเป็นหนุ่มเป็นสาว

2. ผิวหนังมีการอักเสบ โดยระยะแรกจะเป็นรอบปาก และอวัยวะเพศ ต่อมาจะลามไปที่แขนและขา เริ่มแรกอาจเป็นแค่ผื่นแดง ต่อมาจะมีลักษณะเป็นเม็ดพุพอง

3. ระบบทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการเบื่ออาหาร การรู้รสลดน้อยลง

4. ระบบประสาท อาจมีอาการซึมเศร้า หงุดหงิด ขาดสมาธิ เหม่อลอย และมีอาการตาบอดแสงได้

5. ระบบต่อมไร้ท่อ คือ ทำให้อวัยวะเพศเด็กเล็ก ไม่โตขึ้นตามวัย

6. มีอาการผมร่วง แตกปลาย เล็บเปราะ ผิวแห้ง

สรุปประโยชน์ของสังกะสี
ในขณะที่ถ้าร่างกายได้รับปริมาณ สังกะสี ที่เหมาะสม เพียงพอต่อความต้องการตามแต่ละสถานะของแต่ละคนแล้ว นอกจากไม่ต้องเผชิญกับอาการขาดธาตุ สังกะสี ดังกล่าวแล้ว กลับเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของเราอย่างมากมาย ซึ่งสามารถสรุปประโยชน์จากแร่ธาตุ สังกะสี ได้ดังนี้

1. ช่วยเสริมสร่างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ช่วยต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บที่จะมาแผ้วพานร่างกายคนเรา จากการศึกษาหลายชิ้นให้ผลว่า ถ้าร่างกายได้รับ สังกะสี ปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการแล้ว จะมีผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราอยู่ในสภาพสมบูรณ์

2. ป้องกัน มะเร็ง พบว่าผู้ป่วย มะเร็งต่อมลูกหมาก จะมีปริมาณ สังกะสี ต่ำกว่าคนปกติ จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สังกะสี สามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์ มะเร็งต่อมลูกหมาก ได้

3. ป้องกันไม่ให้ตาบอดในผู้สูงอายุ การสูญเสียการมองเห็นในผู้สูงอายุที่เรียกว่า macular degeneration นั้นพบว่า เกิดจากการขาดธาตุ สังกะสี

4. ป้องกันและรักษาโรคหวัด พบว่าเมื่อเริ่มเป็นหวัด ถ้ารีบรับประทานธาตุ สังกะสี ทันทีจะ ช่วยให้อาการหวัดรุนแรงน้อยลงและจำนวนวันที่ป่วยก็ลดลงด้วย

5. ช่วยคงสภาพการรับรู้รส กลิ่น และสายตา คนเราเมื่อมีอายุมากขึ้น การรับรู้รอาหารมักจะเปลี่ยนไป บางคนอาจไม่เจริญอาหารและบอกว่า "อาหารไม่อร่อย" นั้น อาจมาจากการรับรู้รสของอาหารเปลี่ยนไปเพราะขาดธาตุ สังกะสี ก็ได้

6. กระตุ้นให้แผลหายเร็วขึ้น คนที่มีบาดแผลต่างๆ หรือเป็นแผลในกระเพาะอาหาร การให้ธาตุ สังกะสี จะทำให้แผลหายเร็วขึ้นกว่าคนที่ไม่ได้รับธาตุ สังกะสี

7. เพิ่มความรู้สึกทางเพศในผู้ชาย การผลิตสเปิร์มของผู้ชายต้องการธาตุ สังกะสี มาก จะเห็นได้ว่า ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่มี สังกะสี มาก การสร้างฮอร์โมนเพศชาย ก็ต้องการธาตุ สังกะสี เช่นกัน

8. ช่วยรักษาและป้องกันการเป็นหมันในผู้ชาย สังกะสี มีส่วนสำคัญในการสร้างสเปิร์มและฮอร์โมนเพศชาย การให้ธาตุ สังกะสี วันละ 50 มก. จะทำให้ปริมาณน้ำเชื้อเพิ่มมากขึ้นได้

9. ป้องกันต่อมลูกหมากโต คนสูงอายุมักประสบปัญหาต่อมลูกหมากโต แพทย์จึงให้ สังกะสี ในการรักษาซึ่งก็ได้ผลดี

10. รักษาสิว คนหนุ่มสาวมีปัญหาเรื่องสิว ฝ้า เวลาสิวอักเสบจะไม่น่าดู มีการให้ธาตุ สังกะสี แก่คนที่ขาดธาตุสังกะสีและเป็นสิว ปรากฏว่าได้ผลดี สิวจะหายไป

11. ป้องกันผมร่วง สังกะสี จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแบ่งเซลล์ของร่างกายของเส้นผม บางรายผมหลุดร่วงไปและกิน สังกะสี ก็จะช่วยให้เส้นผมใหม่งอกขึ้นได้เร็วขึ้น แต่ในรายหัวล้านตามอายุนั้นใช้ไม่ได้ผลเพราะไม่มีรากผม

12. เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานมักเป็นแผลและติดเชื้อง่าย สังกะสี จะช่วยให้ แผลที่เป็นนั้นหายเร็วขึ้นและช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานต่อโรคด้วย

13. ลดอาการอักเสบและช่วยรักษาโรครูมาตอยด์อาไทรลิส พบว่าคนเป็นโรคนี้จะมีปริมาณ สังกะสี ในเลือดน้อยกว่าคนทั่วไป จากการทดลองให้ธาตุ สังกะสี ไปพบว่า อาการดีขึ้นมากในเรื่องข้อต่อต่างๆ ที่บวม, ข้อแข็งหรือยึดติด

จะเห็นได้ว่าประโยชน์ของธาตุ สังกะสี มีมากมายต่อร่างกายคนเรา แต่อย่างไรก็ตามในการบริโภค สังกะสี ควรกระทำในขนาดพอดี เหมาะสมแก่วัยและสภาวะ โดยถ้าร่างกายคนเราได้รับปริมาณ สังกะสี ที่มากเกินพอดี จะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้ ซึ่งโทษของการได้รับ สังกะสี มากเกินไปจะก่อให้เกิดอาการต่างๆ ดังนี้

1. ภูมิคุ้มกันร่างกายเสื่อม และ สังกะสี ยังขัดขวางไม่ให้ร่างกายใช้ธาตุทองแดงได้เต็มที่เป็นผลให้ระดับทองแดงในเลือดต่ำ ทำให้เกิดอาการซีด เม็ดเลือดขาวต่ำ

2. โดยถ้าร่างกายได้รับ สังกะสี เกินกว่า 2 กรัมขึ้นไป จะเกิดอาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารแบบเฉียบพลัน ทำให้ปวดท้อง และอาเจียนได้

3. ในกรณีที่บริโภคมากกว่าวันละ 100 มก. เป็นเวลานานจะทำให้ระดับไขมัน HDL (High-density lipoprotein) ซึ่งเป็นไขมันชั้นดีลดลง

โดยสรุปแล้วถึงแม้ว่า สังกะสี จะเป็นแร่ธาตุกลุ่มที่ร่างกายต้องการเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับแร่ธาตุอื่น แต่ความสำคัญต่อร่างกายมิได้มีเพียงเล็กน้อยแต่อย่างใด กลับเป็นแร่ธาตุที่สำคัญยิ่งต่อกระบวนการทำงานทุกๆ ระบบของร่างกาย โดยแหล่งอาหารธรรมชาติที่มีปริมาณ สังกะสี สูง คือ อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ และอาหารทะเล เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายได้รับ สังกะสี ไม่เพียงพอก็จะก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยหรือโรคต่างๆ ได้มากมาย ในขณะเดียวกันถ้าร่างกายได้รับ สังกะสี เป็นปริมาณที่เกินพอดีก็จะก่อโทษให้กับร่างกายได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นควรเลือกเดินทางสายกลาง บริโภคอาหารที่ให้แร่ธาตุ สังกะสี ในปริมาณที่พอเพียงเหมาะสมต่อร่างกาย นอกจากจะไม่ต้องเผชิญกับโรคที่เกี่ยวกับการขาดธาตุสังกะสีแล้ว ยังมีประโยชน์ช่วยป้องกันโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย



Create Date : 13 ตุลาคม 2552
Last Update : 13 ตุลาคม 2552 20:50:46 น.
Counter : 268 Pageviews.

0 comment
วิตามินซี
วิตามินซีมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่ากรดแอสคอบิค เป็นสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย วิตามินซีจะพบอยู่ทั่วไปในเซลล์ต่างๆของร่างกาย รวมถึงในเลือดและเม็ดเลือดขาว มีหน้าที่ในการ
- กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวและแอนตี้บอดี้ เพิ่มภูมิคุ้มกันป้องกันโรคหวัด ภูมิแพ้ ติดเชื้อง่าย เป็นยาปฏิชีวนะจากธรรมชาติตลอดจนต้านทานฤทธิ์ของสารพิษในสภาพแวดล้อม
- ต่อต้านอนุมูลอิสระ (แอนตี้ออกซิแดนท์) สาเหตุการเสื่อมของเซลล์และอวัยวะต่าง ๆ เช่น ต้อกระจก หลอดเลือดอุดตัน โรคไขข้อความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ รวมถึงมะเร็ง
- ช่วยให้ผิวพรรณยืดหยุ่น กระชับ บำรุงรักษาเหงือก ฟัน และกระดูกให้แข็งแรง
- ช่วยทำให้อสุจิแข็งแรง และเคลื่อนไหวได้ดี
- เพิ่มการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย และเสริมสร้างคอลลาเจนในกระดูก
เนื่อง จากร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์วิตามินซีได้ต้องบริโรคเข้าไปเท่านั้น การบริโภควิตามินซีควรจะเพิ่มขึ้นหากร่างกายเข้าสู่ภาวะเครียด อาหารที่อุดมด้วยวิตามินซี ได้แก่ ผัก และผลไม้สด โดยเฉพาะผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว อาทิ ส้ม ฝรั่ง มะเขือเทศ สตรอเบอรี่ โรสฮิป อะซีโรล่าเบอรี่ และมันฝรั่ง ซึ่งวิตามินที่มีอยู่ในผัก ผลไม้ จะอยู่ในรูปของสารประกอบธรรมชาติที่เรีกยว่า ไบโอฟลาวโวนอยด์ มีคุณสมบัติพิเศษที่เหนือกว่าวิตามินซีสังเคราะห์




วิตามินซีที่มีส่วนผสมของไบโอฟลาวโวนอยด์ วิตามินซีสังเคราะห์
1. ได้รับวิตามินซีจากธรรมชาติ ได้แก่ รูดิน, โรสฮิบ, อะซีโรล่า และเฮสเพริดิน ทำให้พบ กรดน้อยกว่า 1. วิตามินซีสังเคราะห์จะมีสภาพความเป็นกรดสูงจึงอาจระคายเครืองกระเพาะอาหารมากว่า
2. ร่างกายดูดซึมวิตามินซีไปใช้ประโยชน์ได้ มากกว่า 2. ร่างกายอาจดูดซึมไปใช้ได้น้อยกว่า เนื่องจาก ถูกทำลายได้ง่าย และดูดซึมเข้าร่างกายได้ น้อยกว่า
3. วิตามินซีธรรมชาติจะมีประสิทธิภาพสูงกว่า ในการ สร้างโปรตีนคอลลาเจนและเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย 3. พบคุณสมบัตินี้ได้น้อยกว่าในวิตามินซี สังเคราะห์


คำแนะนำในการรับประทาน
• ป้องกันหวัด ภูมิแพ้ และทำหน้าที่เป็นแอนตี้ออกซิแดนท์ วันละ 1000-2000 มก.
• รักษาอาการหวัดและภูมิแพ้ ครั้งละ 1000 มก. 3 เวลา หลังอาหารเช้า กลางวัน เย็น
• เครียดวันละ 1000-8000 มก. – ผู้สูบบุหรี่ วันละ 1000-2000 มก.
• ผู้ช่วยที่มีบุตรยากวันละ 1000 มก.



หมายเหตุ : วิตามินซีไม่แนะนำให้รับประทานในผู้มี่มีประวัติเป็นนิ่วที่ไต และมีโรคประจำตัว
ได้โรค G-6PD. Thalassimia เป็นต้น



Create Date : 13 ตุลาคม 2552
Last Update : 13 ตุลาคม 2552 20:47:31 น.
Counter : 334 Pageviews.

1 comment

numpawan
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]