4 | | | ตำนานอาถรรพ์ อาชญากรโลกไม่ลืม ฆาตกรรมบันลือโลก ประวัติศาสตร์ทั่วมุมโลก | | |

Group Blog
 
All blogs
 
ซากาโมโต เรียวมะ

ตั้งแต่ต้นปี 2010 เรื่อยมา หากท่านใดได้ติดตามชมละครอิงประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ที่จัดสร้างโดยสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันดีว่า สถานี NHK ก็คงจะได้ชมละครอิงประวัติศาสตร์เรื่อง "ตำนานเรียวมะ" ซึ่งได้ดาราแสดงนำฝ่ายชาย คือ "ฟุกุยะมะ มะซะฮะรุ" มารับบทเป็น ซากาโมโต เรียวมะ ซึ่งแน่นอนว่า ละครเรื่องนี้กำลังเป็นละครยอดฮิตที่แฟน ๆ ติดกันงอมแงมไปทั่วทั้งบ้านทั้งเมือง (ญี่ปุ่น) 



ช่วงชีวิตของเรียวมะเกิดในยุคที่เป็นรอยต่อของยุคที่ระบบโชกุนล่มสลาย และยุคของการปฏิวัติพัฒนาสังคมและฟื้นฟูระบอบจักรพรรดิ และเรียวมะเองก็ถือเป็นตัวจักรสำคัญที่มีส่วนในการขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเลยทีเดียว เรียวมะเกิดในปี เทมโปที่ 6 เดือน 11 วันที่ 15 ตรงกับวันที่ 3 มกราคมปี ค.ศ. 1836 เป็นบุตรคนสุดท้องในครอบครัวพี่น้อง 5 คนของตระกูลนักรบชั้นสามัญของแคว้นโทสะ มีบันทึกกล่าวว่า ในคืนก่อนวันถือกำเนิดของเรียวมะ มารดาของเรียวมะฝันเห็นมังกรทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ส่วนบิดาก็ฝันเห็นม้ากระโจน ในวัยเด็กเรียวมะเป็นเด็กที่มีจิตใจอ่อนโยน จนดูเป็นเด็กที่อ่อนแอในสายตาของเด็กในชนชั้นเดียวกัน มารดาของเรียวมะป่วยกระเซาะกระแซะตั้งแต่หลังจากให้กำเนิดเรียวมะ และเสียชีวิตไปเมื่อเรียวมะอายุเพียง 12 ปี


ว่ากันว่า ความสนใจในทะเล การเดินทาง และโลกกว้าง ของเรียวมะนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากการไปเยี่ยมญาติข้างแม่เลี้ยงของเรียวมะ สำหรับสังคมยุคเอโดะซึ่งญี่ปุ่นทำการปิดประเทศ ไม่คบค้ากับชาติอื่นใด ยกเว้นเพียงแต่บางพื้นที่ที่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยสำหรับชนชั้นสูงอย่างเช่น นางาซากิ ที่นั่นเรียวมะได้พบเห็นของแปลกใหม่มากมาย และสิ่งที่น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเรียวมะมากที่สุดเห็นจะได้แก่ แผนที่โลก ซึ่งเรียวมะได้เห็นขนาดของญี่ปุ่นที่เล็กเพียงนิดเดียวเมื่อเทียบกับแผนที่โลกทั้งผืน ด้วยความที่เป็นเด็กที่มักถูกกลั่นแกล้งจากเด็กอื่นอยู่เสมอ พี่สาวคนที่ 3 โอโตเมะจึงเริ่มสอนการต่อสู้ให้กับเรียวมะ และเมื่ออายุ 14 ปี เรียวมะก็ได้เข้าเรียนวิชาดาบที่สำนักดาบฮิเนะโนะเบนยิ ใช้เวลาเรียน 5 ปี ก็สำเร็จวิชาดาบสายโองุริ และ ณ จุดนี้เรียวมะก็ได้กลายเป็นที่ยอมรับของเพื่อนในวัยเดียวกัน เรียวมะได้รับการแนะนำให้ไปศึกษาวิชาดาบต่อที่สำนักดาบโอเคะมะจิชิบะ ในสายดาบวิชาฮกชินอิตโต แล้วเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญในระหว่างที่เรียวมะศึกษาวิชาดาบที่เอโดะก็คือ นายพลจัตวาแมทธิว เปอร์รี่ แห่งกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาได้นำเรือดำสี่ลำมาทอดสมอที่นอกฝั่งอุรางะ ในอ่าวโตเกียว สร้างความแตกตื่นให้กับชาวเอโดะผู้ไม่เคยเห็นเรือของชาวต่างชาติเป็นอันมาก และแน่นอนว่าย่อมรวมไปถึงตัวเรียวมะเองด้วย 



การมาของเรือดำในครั้งนี้ ได้สร้างความสั่นคลอนให้กับระบอบการปกครองแบบโชกุน และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ถ้อยคำหนึ่งหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในจดหมายที่เรียวมะส่งถึงโอโตเมะพี่สาวต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า “ถ้าหากมีสงคราม เราจะเอาศีรษะคนต่างชาติเหล่านี้กลับบ้านไปด้วย” เรียวมะใช้เวลา 15 เดือน ก็สำเร็จวิชาดาบและเดินทางกลับแคว้นโทสะ เขาได้เป็นครูฝึกวิชาดาบที่สำนักดาบฮิเนะโนะ ในช่วงนี้เองที่เรียวมะได้พบกับ จอห์น มันจิโร ชาวประมงที่เรือแตกลอยข้ามมหาสมุทรแปซิฟิคไปแล้วได้รับการช่วยเหลือจากชาวอเมริกัน และได้รับการฝึกฝนให้สื่อสารภาษาอังกฤษได้ จนภายหลังได้มาเป็นล่าม และบุคคลอีกผู้หนึ่งที่เรียวมะได้พบปะก็คือ คาวาดะ โชเรียว ช่างวาดภาพผู้มีความสนใจศึกษาสภาพสังคมชาวต่างชาติ (ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในขณะนั้น) ตอนนั้นเรียวมะได้ซึมซับความเข้าใจระบบสังคมของชาวต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสิทธิและความเท่าเทียม

และเมื่อเรียวมะอายุได้ 22 ปี เขาก็ได้รับการส่งตัวให้ไปศึกษาวิชาดาบเพิ่มเติมที่เอโดะอีกครั้ง คราวนี้ได้ไปพร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่นอีก 2 คน คือ ทะเคจิ ฮัมเปตะ กับ โออิชิ ยาทะโร่ เรียวมะกลับไปศึกษาต่อที่สำนักดาบชิบะอีกครั้ง การศึกษาในครั้งนี้เรียวมะเต็มไปด้วยความสับสน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าที่ของซามุไร หรือสิทธิความมีส่วนร่วมในสังคม ซึ่งการมาเอโดะในครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้เรียวมะได้ศึกษาทั้งโลกใหม่และโลกเก่า จากเหตุการณ์เรือดำของกองทัพสหรัฐอเมริกาบุกรุกน่านน้ำยื่นข้อเสนอให้เปิดประเทศ ทำให้รัฐบาลโตกุกาว่าออกคำสั่งให้แว่นแคว้นหัวเมืองต่างๆระดมกำลังตระเตรียมความพร้อมเข้าสู่ภาวะสงคราม ญี่ปุ่นซึ่งห่างภาวะสงครามขนาดใหญ่มานานกว่าชั่วอายุคน อีกทั้งยังต้องเผชิญกับอาวุธที่มีอานุภาพสูงกว่า จึงทำให้การเตรียมยุทธการเป็นไปอย่างไม่คล่องแคล่วนัก อีกทั้งยังมีปัญหาการแย่งชิงตำแหน่งโชกุนให้กับตระกูลที่กลุ่มพวกของตนให้การสนับสนุน และบางกลุ่มก็มีการเอาใจออกห่างเมื่อโชกุนในตำแหน่งไม่ใช่โชกุนที่มาจากการสนับสนุนของกลุ่มพวกตน เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะระส่ำระสายทั้งทางอำนาจและทางสังคม 

ล้วเรียวมะได้กลับสู่มาตุภูมิแคว้นโทสะอีกครั้ง เพื่อน ๆ ร่วมรุ่นของเรียวมะต่างก็กระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกับกองกำลังของแคว้น แต่เรียวมะมีความเห็นที่ต่างออกไปจากเพื่อนของเขา เรียวมะพยายามจะอธิบายถึงวิธีการที่ชาวญี่ปุ่นต้องทำ การปรับตัวปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับโลกใหม่ แต่ความคิดของเรียวมะดูเหมือนจะใหม่และหลุดออกไปจากคนในยุคเดียวกัน ประกอบกับเพื่อนสนิทของเรียวมะที่ชื่อทะเคจิ ฮัมเปตะได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าชุดกองกำลังคนหนุ่มพิทักษ์แคว้นด้วย ชีวิตเรียวมะในช่วงนี้ช่างยากที่จะหาใครยืนข้างเคียง

ต่อมาในปีแรกของศักราชบุงคิว ตรงกับปี ค.ศ. 1861 ได้เกิดคดีทำร้ายร่างกายอิคุจิ มุระนินขึ้น เป็นคดีที่ได้บานปลายกลายเป็นความบาดหมางระหว่างซามุไรชั้นสูง กับซามุไรชั้นสามัญ ในบันทึกคำให้การในคดีนี้ มีชื่อของเรียวมะปรากฏในฐานะผู้แก้ต่าง แต่ในที่สุดซามุไรชั้นผู้น้อยก็ถูกบังคับให้คว้านท้อง ยิ่งเป็นการตอกย้ำความคับแค้นให้กับเรียวมะเพิ่มขึ้น ต่อมาเรียวมะได้เดินทางไปฝึกฝนวิชาดาบที่แคว้นมารุคาเมะ ที่เป็นไปตามสัญญาในกิจกรรมที่ซามุไรคนหนุ่มจากแคว้นต่างๆ ในละแวกใกล้เคียงร่วมกันร่างขึ้นซึ่งไม่เป็นที่พอใจกับซามุไรที่เป็นขุนนางชั้นปกครองมากนัก ในปีต่อมาซามุไรชั้นปกครองได้ออกกฎให้ซามุไรในแต่ละแคว้นต้องทำงานให้กับสังกัดในแคว้นของตนเท่านั้น หากซามุไรใดขัดต่อคำสั่งนี้ ต้องรับโทษขับออกจากแคว้นในทันที ซึ่งก็จะกลายเป็นโรนิน และเป็นผู้ผิดกฎหมายของแคว้น รวมถึงหากผู้ใดให้ที่พักพิงแก่ผู้ต้องโทษก็จะมีความผิดตามไปด้วย ต่อคำสั่งนี้ทำให้ซามุไรหลายคนที่เคลื่อนไหวในกิจกรรมดังกล่าวต้องกลายเป็นผู้ถูกขับออกจากแคว้น และเรียวมะเองก็ต้องโทษนี้ด้วยเช่นกัน



เมื่อถูกขับออกจากแคว้น เรียวมะก็เดินทางไปที่ต่างๆ มากมาย และในที่สุดก็ไปพำนักที่สำนักดาบชิบะที่เอโดะที่คุ้นเคย และระหว่างที่อยู่ที่เอโดะนี้ เรียวมะก็ได้มีโอกาสพบกับ คัตซึ ไคชู ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นกำลังสมองที่สำคัญของรัฐบาลโตกุกาว่า เพราะว่าคัตซึดูเหมือนจะรู้เท่าทันความคิดแนวใหม่นี้ไปเสียทั้งหมด

แรกสุดเรียวมะตั้งใจว่าเมื่อได้พบกับคัตซึแล้วจะสังหารเสีย แต่เมื่อได้พบและได้สนทนากับคัตซึแล้ว เรียวมะถึงกับต้องตกตะลึงกับวิธีคิดของคัตซึและของสมัครเป็นศิษย์ของคัตซึ ในจดหมายที่เรียวส่งถึงโอโทเมะพี่สาวของเขา เรียวมะบรรยายลักษณะของคัตซึไว่ว่า “เป็นที่สุดของคนญี่ปุ่นเลย” 

ต่อมาด้วยการเจรจาของคัตซึ เรียวมะได้รับการอภัยโทษขับออกจากแคว้น ทำให้เรียวมะได้กลับไปแคว้นโทสะอีกครั้ง คราวนี้เรียวมะได้ชักชวนเพื่อนร่วมรุ่นของเขาหลายคนเขาสู่โรงเรียนการเดินเรือของอาจารย์คัตซึ แล้วในที่สุดเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐบาล ก็ได้ก่อตั้งอู่ต่อเรือขึ้นที่เมืองโกเบ ช่วงนี้เรียวมะต้องวิ่งวุ่นหาเงินสนับสนุนอู่ต่อเรือจากผู้บริหารแคว้นต่าง ๆ



ในปี ค.ศ. 1864 เรียวมะถูกปฏิเสธการต่ออายุปฏิบัติงานนอกแคว้น แต่ด้วยงานของอู่ต่อเรือที่ต้องการความต่อเนื่อง เรียวมะจึงเพิกเฉยต่อการกลับแคว้น ส่งผลให้เรียวมะต้องโทษขับออกจากแคว้นอีกครั้ง แต่ก็ไม่ส่งผลอะไรกับชีวิตเรียวมะมากนัก ต่อมาเรียวมะได้ติดตามอาจารย์คัตซึไปที่นางาซากิ เรียวมะในวัย 30 ได้รู้จักเรื่องการค้าที่ท่าเรือมากขึ้น ในเดือน 5 ของปีนั้น เรียวมะได้เดินทางไปเกียวโต คราวนี้เรียวมะได้พบกับ
"โอเรียว" หญิงสาวที่ต่อมาได้กลายเป็นคู่ชีวิตของเขา และเรียวมะได้ให้เธอมาทำงานที่ร้านเทราดะของโอโทเซะผู้อุปถัมภ์เรียวมะระหว่างที่อยู่ที่เกียวโต 

ต่อมาอาจารย์คัตซึบอกว่ามีคำสั่งให้นำคนขึ้นไปบุกเบิกดินแดนเอโซจิ ซึ่งก็คือฮอกไกโดในปัจจุบัน แต่ทว่าระหว่างนั้นได้เกิดปัญหากรณีกวาดล้างผู้ไม่ภักดีต่อระบอบโชกุนที่ร้านอิเคะดะในเกียวโต ซึ่งกลุ่มที่ถูกกวาดล้างในครั้งนี้ก็คือกลุ่มเพื่อนของเรียวมะที่เคยร่วมกิจกรรมเมื่อครั้งก่อนถูกขับออกจากแคว้นครั้งแรก และกรณีร้านอิเคะดะได้นำไปสู่ความแตกหักระหว่างแคว้นโจชูกับรัฐบาลโชกุน ความขัดแย้งครั้งนี้ส่งผลกับกิจกรรมต่างๆ ของอู่ต่อเรือ ท้ายสุดอาจารย์คัตซึก็ถูกปลดออกจากผู้อำนวยการอู่ต่อเรือ และอู่ต่อเรือถูกสั่งปิดลงในเดือน 3 ของปีต่อมา

เรียวมะเดินทางไปซาซึมะด้วยคำแนะนำของอาจารย์คัตซึ คราวนี้เรียวมะได้พบกับ ไซโก้ ทากาโมริ ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในบุคคลแห่งยุค ไซโก้ได้ให้การสนับสนุนเรียวมะและพรรคพวกนักเรียนที่อู่ต่อเรือมาเปิดบริษัทการค้าคาเมะยามะ ขึ้นที่นางาซากิ และด้วยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในญี่ปุ่น แต่ละแคว้นต่างก็มีความต้องการอาวุธที่มีอานุภาพสูงจากต่างประเทศ และด้วยที่เรียวมะได้เคยรู้จักกับบุคคลชั้นสูงเมื่อครั้งทำหน้าที่วิ่งเต้นสร้างอู่ต่อเรือ ทำให้เรียวมะต้องทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ปกครองแคว้นที่ต้องการอาวุธ แต่ความขัดแย้งหนึ่งที่เป็นที่ลำบากใจแก่เรียวมะก็คือความขัดแย้งระหว่างแคว้นโจชูผู้เป็นเหมือนเพื่อนเก่า กับแคว้นซาซึมะผู้ให้การสนับสนุนเปิดบริษัทคาเมะยามะ เรียวมะต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากในการชักจูงให้สองแว่นแคว้นนี้เกิดความปรองดองกัน ซึ่งในที่สุดก็ได้เกิดสัญญาสมานฉันท์ระหว่างสองแคว้นนี้ แต่ก็เป็นความสงบที่ไม่ค่อยมั่นคงนัก และการปรองดองในครั้งนี้ก็ไม่เป็นที่พอใจของใครหลายคน



โอเรียว

เรียวมะถูกลอบทำร้ายที่ร้านเทราดะ คราวนี้เรียวมะหนีออกมาด้วยสภาพที่บอบช้ำมาก ไซโก้เสนอให้ไปพักฟื้นที่แคว้นซาซึมะ คราวนี้เรียวมะได้พาโอเรียวภรรยาเดินทางไปด้วย 83 วันของการเดินทางครั้งนี้ เรียวมะและโอเรียวท่องเที่ยวไปตามแหล่งเที่ยวที่มีชื่อเสียงในหลายแห่ง สำหรับผู้นิยมเรียวมะว่ากันว่า นี่เป็นการเที่ยวแบบฮันนี่มูนครั้งแรกในญี่ปุ่นเลยทีเดียว

ครึ่งหลังของปีเคย์โอที่ 2 ตรงกับปี ค.ศ.1866 ได้เกิดสงครามระหว่างแคว้นโจชูกับรัฐบาลโตกุกาวะ ในครั้งนี้บริษัทการค้าคาเมะยามะของเรียวมะได้ใช้เรือลำสุดท้ายที่มีไปช่วยรบในครั้งนี้ ทำให้คาเมะยามะไม่มีเรือเพื่อการขนส่ง ท้ายสุดแคว้นซาซึมะหนึ่งในผู้สนับสนุนเรียวมะได้จัดหาเรือลำใหม่ให้กับคาเมะยามะเพื่อให้ดำเนินกิจกรรมต่อไปได้



ในช่วงนั้นเอง รัฐบาลโตกุกาวะเกิดการผลัดเปลี่ยน โชกุนอิเอะโมจิ 
ถึงแก่พิราลัย เหล่าขุนนางจึงได้เชิญท่านฮิโตสึบาชิโยชิโนบุ (ขึ้นดำรงตำแหน่งโชกุนลำดับที่ 15 ของตระกูลโตกุกาวะ ซึ่งการเลือกครั้งนี้เป็นไปอย่างไม่ค่อยจะเป็นเอกฉันท์นัก หลังจากที่ทหารฝ่ายโตกุกาวะล่าถอยไปในสงครามโจชูกับรัฐบาล เรียวมะได้เริ่มออกดำเนินกิจกรรมขยายความคิดถวายคืนอำนาจบริหารสู่พระราชสำนัก โดยไปเริ่มต้นที่เมืองนางาซากิ แต่ความคิดนี้ถูกปฏิเสธที่จะนำเสนอต่อรัฐบาลโตกุกาวะ อันที่จริง ชุดความคิดคืนอำนาจสู่พระราชสำนักนี้เรียวมะได้รับฟังมาจากขุนนางโอคุโบะอิจิโอ อีกที 

ในจังหวะที่การสงครามต้องการยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ ทางแคว้นโทสะก็เกิดการตื่นตัว จึงมอบหมายให้โกโต้ โซจิโร่ เดินทางไปติดต่อซื้อดินปืนที่นางาซากิ และให้ศึกษาเรื่องการค้าและการเดินเรือจากแคว้นซาซึมะ ซึ่งสำหรับแคว้นซาซึมะแล้ว ผู้รู้เรื่องการเดินเรือและการค้าในแคว้นย่อมไม่มีใครที่จะเก่งเกินไปกว่าเรียวมะผู้ที่แคว้นให้การสนับสนุนนั่นเอง เพียงแต่เรียวมะเป็นคนที่ถูกขับออกจากแคว้นโทสะและลึกๆแล้วก็มีความบาดหมางกับพวกซามุไรชั้นสูงอย่างโกโต้  ดังนั้นเรียวมะจะให้ความร่วมมือหรือไม่ก็ให้เรียวมะเป็นผู้ตัดสินใจเอง เรียวมะจึงขอพูดคุยและดูท่าทีของโกโต้ก่อน เกิดเป็นการเจรจา "เซย์ฟูเทย์" ที่นางาซากิ ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1867 ในการเจรจาครั้งนี้ท่าทีของโกโต้เปลี่ยนไปมาก ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยมากขึ้น และในที่สุดก็ได้ตกลงรับปากกับเรียวมะว่าจะนิรโทษขับออกจากแคว้นให้กับเรียวมะและพรรคพวก รวมถึงจะให้การสนับสนุนกิจการเดินเรือให้กับกลุ่มคาเมะยามะด้วย เรียวมะเล็งเห็นว่านี่เป็นนิมิตหมายที่ดีจึงเปลี่ยนชื่อบริษัทการค้าคาเมะยามะไปเป็นไคเอ็นไต (海援隊) มีวัตถุประสงค์ให้กลุ่มดำเนินกิจกรรมทางด้านการค้า การขนส่ง และการบุกเบิกเส้นทาง โดยใช้คนที่ต้องโทษถูกขับจากแว่นแคว้นต่างๆมาร่วมดำเนินกิจกรรม ในครั้งนี้เรียวมะรวบรวมผู้คนได้ประมาณ 50 คน

แต่ไคเอ็นไตดำเนินกิจการไปได้เพียง 3 เดือน เรืออิโรฮะมารุ ได้เกิดอุบัติเหตุชนกันจนอัปปางไป ถึงแม้ว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เรียวมะจะเรียกร้องค่าเสียหายได้ถึง 70,000 เรียวก็ตาม แต่ในระหว่างดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายนั้น ความเป็นอยู่ของสมาชิกในกลุ่มไคเอ็นไตเป็นไปอย่างขัดสนมาก มีการค้นพบในบันทึกของอิวาซากิยาทาโร่ ผู้ก่อตั้งบริษัทมิตซูบิชิว่า มีบางครั้งที่คนในกลุ่มไคเอ็นไตได้มาขอความช่วยเหลือเรื่องการเงิน โดยเรียกคนพวกนี้ว่า “เจ้าตัวยุ่งยาก”  

ในกลางปีนั้น โกโต้ได้รับคำสั่งให้ไปรายงานตัวกับยามาอุจิโยโด เจ้าแคว้นโทสะในงานประชุมสี่ขุนนางที่เกียวโต เรียวมะเห็นเป็นโอกาสที่ดีในคืนหนึ่งระหว่างการเดินทางในเรือเรียวมะได้ร่างข้อเสนอ 8 ประการแล้วมอบให้กับโกโต้ไปเสนอต่อเจ้าแคว้น ข้อเสนอ 8 ประการนี้ถูกเรียกว่า แปดข้อเสนอกลางนาวา (船中八策)

เนื้อหาของข้อเสนอทั้ง 8 มีอยู่ว่า
1.   ถวายคืนอำนาจบริหารต่อพระราชสำนัก คำสั่งบังคับใช้กฏหมายให้เป็นอำนาจของพระราชสำนัก
2.   จัดตั้งสภาบนและสภาล่าง แต่งตั้งสมาชิกสภาจากความหลากหลาย เพื่อใช้พิจารณากฏหมาย
3.   แต่งตั้งข้าราชการจากขุนนางและสามัญชนลงในหน่วยงาน และให้ยกเลิกหน่วยงานเก่าที่ไม่เป็นประโยชน์
4.   รับความคิดเห็นด้านการต่างประเทศอย่างเปิดกว้าง และสร้างข้อตกลงที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย
5.   ยกเลิกกฏหมายบังคับใช้แบบเก่า ให้คงไว้เฉพาะข้อที่มีผลบังคับใช้อย่างเสมอภาค
6.   พัฒนาศักยภาพของกองทัพเรือ
7.   จัดตั้งกองกำลังรักษาพระองค์เพื่อปกป้องเมืองหลวง
8.   ราคาสินค้าและมูลค่าของทองคำและเงิน ให้คำนวณบนค่าเฉลี่ยเทียบเท่าการค้าในต่างประเทศ

ตามบันทึกของนางาโอกะเคนคิจิ ซามุไรชาวโทสะระบุไว้ว่า โยโกอิโชนัง ได้ใช้ข้อเสนอ 8 ประการนี้เป็นต้นแบบในการร่างมติ 7 ข้อใช้บริหารรัฐบาลปฏิรูปเมจิ




โกโต้ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากในการอธิบายให้เจ้าแคว้นเข้าใจในวัตถุประสงค์ของข้อเสนอ 8 ประการนี้ ซึ่งวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามกลางเมือง ปรับปรุงประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติเมื่อเปิดประเทศแล้ว ทางด้านเรียวมะ ได้ออกตระเวณหาแนวร่วมกับแว่นแคว้นต่าง ๆ ในระหว่างนั้นได้เกิดคดีฆาตกรรมกลาสีเรือชาวอังกฤษขึ้นที่นางาซากิ ในคำให้การได้กล่าวหาว่าคนงานของกลุ่มไคเอ็นไตเป็นฆาตกร ทำให้ทั้งเรียวมะและโกโต้ต้องกลับมาแก้ต่างที่นางาซากิ จนกระทั่งผ่านไปเดือนเศษ ผลพิสูจน์ปรากฏว่าคนงานของไคเอ็นไตเป็นผู้บริสุทธิ์ 

ในที่สุด ยามาอุจิโยโดได้นำข้อเสนอ 8 ประการนี้เข้าที่ประชุมที่ปราสาทนิโจในเกียวโต ในการนี้เรียวมะได้มีจดหมายถึงโกโต้มีใจความว่า “หากโชกุนปฏิเสธข้อเสนอทั้ง 8 นี้ ท่านก็จงคว้านท้องต่อหน้าที่ประชุมนั้น ส่วนเราและกลุ่มไคเอ็นไตจะรอสังหารโยชิโนบุที่นอกปราสาทนั้นเอง แล้วเราเจอกันในโลกหน้า” 

ไม่มีบันทึกชัดเจนว่าในวันนั้นโชกุนตอบรับหรือปฏิเสธแต่อย่างไร เพียงแต่ในอีก 10 วันถัดมา โชกุนโยชิโนบุได้มีคำสั่งเรียกโกโต้ชี้แจงเพิ่มเติมในที่ประชุม แล้วในวันรุ่งขึ้นก็ทูลเกล้าต่อองค์พระจักรพรรดิ และในวันถัดมา จึงมีราชโองการรับข้อเสนอกลับมาที่รัฐบาลโชกุน ในขณะเดียวกัน โจชูและซาซึมะได้เตรียมกำลังเพื่อการยึดอำนาจจากรัฐบาลโตกุกาวะอยู่แล้ว ในขณะที่เคลื่อนพลเข้าบุกเมืองหลวง ได้มีคำประกาศถวายอำนาจคืนราชสำนักก่อน การยึดอำนาจจากรัฐบาลจึงไม่มีความหมายและต้องยกเลิกไปในที่สุด

หลังจากที่การถวายคืนอำนาจบริหารประเทศของเรียวมะเป็นผลสำเร็จแล้ว ต่อไปก็เป็นการร่างรายชื่อสมาชิกคณะรัฐบาลใหม่ ครั้งแรกที่ไซโก้ทากาโมริเห็นรายชื่อก็เกิดความรู้สึกประหลาดใจว่า เค้าได้เห็นชื่อของบุคคลที่มาจากกลุ่มต่าง และได้เห็นชื่อของเขาในร่างรายชื่อนั้น แต่ทว่าไม่เห็นชื่อของเรียวมะแม้แต่น้อย พอถามไปที่เรียวมะว่าจะไม่มาร่วมเป็นรัฐบาลหรือ เรียวมะกลับตอบว่า “เราจะออกท่องโลกกับไคเอ็นไต” 

ก่อนจะถึงวันสุดท้ายของเรียวมะไม่กี่วัน เรียวมะได้ร่างนโยบายบริหารประเทศ 8 ข้อขึ้นมา โดยใช้ 8 ข้อเสนอกลางนาวาเป็นต้นแบบ ในบันทึกนั้นเรียวมะเขียนถึงตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐบาลว่า “ให้....เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล” จนถึงตอนนี้ยังไม่รู้ว่าเรียวมะตั้งใจจะใส่ชื่อใครลงในช่องว่างนี้

ในช่วงนี้ได้เกิด จลาจลเอย์จะไนกะ (ええじゃないか: หมายถึงจะเป็นอะไรก็ช่าง) ขึ้นในเกียวโต เกิดขึ้นเมื่อเห็นวี่แววว่าระบอบการปกครองแบบโชกุนล่มสลาย ผู้คนส่วนใหญ่เหมือนสูญเสียจุดยืน ไม่เห็นช่องทางในอนาคต ในที่สุดกลายเป็นความเสียจริต ชายคว้าชุดกิโมโนผู้หญิงมาใส่ ดื่มสุราเมามาย ตีเกราะเคาะกลองไปพลางร้อง “เอย์จาไนกะ” ไปพลาง เจออะไรที่อยากได้ก็แย่งเอามาเสียดื้อๆ จราจลนี้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวางตั้งแต่เอโดะไปจนถึงเกาะชิโกกุ เป็นช่วงเวลาประมาณ 4 เดือน  

เรียวมะกลับจากการเดินทางชักจูงแนวร่วมที่เอจิเซ็น มาถึงเกียวโตในวันที่ 3 เดือน 11 ของปีเคย์โอที่ 3 ตรงกับวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ.1867 คราวนี้เรียวมะย้ายที่พักจากร้านเทราดะ ที่ถูกบุกโจมตีเมื่อคราวก่อน มาอยู่ที่ชั้น 2 ของร้านโชยุชื่อโอมิ ก่อนหน้าจะถึงวันสุดท้ายของเรียวมะ 2 วัน อิโตคาชิทาโร่ อดีตสมาชิกกลุ่มชินเซ็นกุมิ ได้มาบอกเตือนเรียวมะว่าขณะนี้ พวกชินเซ็นฯ ได้ออกตามล่าตัวเรียวมะอยู่ เรียวมะควรจะย้ายไปอยู่ที่บ้านพักของแคว้นโทสะที่อยู่ไม่ไกลกันนัก แต่เรียวมะก็ยืนยันว่าจะอยู่ที่ร้านโอมินี่ต่อ


วันที่ 15 เดือน 11 (ตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.1867) เย็นนั้น นากาโอกะชินทาโร่ เพื่อนร่วมอุดมการณ์ได้มาเยี่ยมเยียนพูดคุยกับเรียวมะ จนกระทั่ง 2 ทุ่ม มีคนกลุ่มหนึ่งอ้างตัวว่าเป็นทหารจากโทซึกาว่าจะมาขอพบเรียวมะ ยามะดะโทคิจิ คนรับใช้ซึ่งเป็นอดีตนักกีฬาซูโม่ได้บอกให้รอ แล้วตนจะขึ้นไปแจ้งเรียวมะก่อน ขณะที่โทคิจิหันหลังกลับเพื่อที่จะขึ้นบันได หนึ่งในคนกลุ่มนั้นก็ฟาดฟันดาบคมกริบเข้าที่หลังของโทคิจิส่งเสียงร้องลั่นด้วยความเจ็บปวด ทั้งเรียวมะและชินทาโร่สะดุ้งด้วยความตกใจ ก่อนที่เรียวมะจะพูดออกมาว่า “อย่าเอะอะไป!” พลางจะคว้าดาบที่ถอดวางไว้ห่าง ๆ แต่ทว่าช้าไปเสียแล้ว พวกมือสังหารได้บุกประชิดถึงตัวเรียวมะ ฟันดาบแรกเข้าที่เหนือหน้าผากของเรียวมะ มือสังหารอีกพวกหนึ่งเข้าโจมตีชินทาโร่ เรียวมะพยายามที่จะยืนขึ้นแต่ก็ถูกฟันจนล้มลุกคลุกคลาน เมื่อเห็นว่าเรียวมะไม่รอดแน่แล้วมือสังหารก็หลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ ทิ้งเรียวมะที่เหลือเพียงลมหายใจรวยระรินกับชินทาโร่ที่มีสภาพไม่ดีไปกว่าเรียวมะนักไว้

“อิชิกาวะ ดาบอยู่ไหน” เรียวมะเรียกชินทาโร่ด้วยชื่อปลอมที่ใช้ตอนเคลื่อนไหวหาแนวร่วม แล้วอีกสักพักเรียวมะก็พูดกับชินทาโร่อีกว่า “สมองเราไหลออกมาเลย เห็นท่าจะไม่ไหวแล้วหล่ะ” ขณะที่เกิดเหตุ เจ้าของร้านโอมิได้รีบไปแจ้งเหตุที่บ้านพักของแคว้นโทสะ คาโมดะผู้ดูแลซามุไรสามัญจึงรีบรุดมา ก่อนที่จะเข้าไปในที่เกิดเหตุ คาโมดะก็ได้พบกับคิคุยะที่เรียวมะใช้ให้ไปซื้อต้มไก่ชนของโปรดเรียวมะกลับมาพอดี แต่กว่าที่ทั้งสองจะเข้าไปถึงที่เกิดเหตุเหล่ามือสังหารก็ออกไปหมดแล้ว แล้วข่าวการสังหารเรียวมะก็แพร่กระจายไปในค่ำคืนนั้น



เรียวมะเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ โทคิจิเสียชีวิตในวันต่อมา คำให้การในที่เกิดเหตุส่วนใหญ่มาจากคำให้การของชินทาโร่ ผู้ซึ่งเสียชีวิตในอีก 2 วันหลังจากเกิดเหตุ และในวันที่ 3 หลังจากเกิดเหตุ คาชิทาโร่ผู้แจ้งเหตุก็ถูกฆาตกรรม มีคำบอกเล่าว่า ขณะที่คาชิทาโร่ถูกสังหารได้มีคนได้ยินเสียงของคาชิทาโร่ร้องว่า “เจ้าคนทรยศ” ก่อนที่จะมาพบเป็นศพในเวลาถัดมา

ฆาตกรในคดีสังหารเรียวมะนี้ จวบจนวันนี้ก็ยังคงเป็นปริศนาอยู่ มีการสันนิษฐานตัวฆาตกรไว้หลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการสังหารโดยกลุ่มผู้ภักดีต่อระบบโชกุน เช่น ชินเซ็นกุมิ หรือเป็นการแก้แค้นจากลุ่มที่ต้องจ่ายสินไหมให้กับกรณีเรืออิโรฮะมารุ หรือเป็นการว่าจ้างสังหารจากกลุ่มผู้ค้าอาวุธที่เสียประโยชน์จากการที่ไม่มีสงครามโค่นตระกูลโตกุกาวะ นอกจากนี้ในหน้าบันทึกประวัติศาสตร์ยังพบว่ามีบุคคลหลายกลุ่มอ้างความรับผิดชอบในการสังหารเรียวมะครั้งนี้ แต่ก็มักจะมีหลักฐานหักล้างไปเสียทุกครั้ง

ซากาโมโต เรียวมะได้ล่วงลับจากโลกที่เขาวาดหวังไปแล้ว จากเด็กขี้แยไม่สู้คนในตระกูลซามุไรที่ไร้ซึ่งโอกาสที่จะมีบทบาทขับเคลื่อนสังคมแม้แต่ในแว่นแคว้นของตัวเอง ได้กลายเป็นตัวจักรสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม คุณูปการของเขายังคงส่งผลอยู่ถึงปัจจุบัน ทุกคนในสังคมได้รับโอกาสในการทำงานราชการอย่างเท่าเทียม กิจการการค้ากับต่างประเทศขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง เป็นรากฐานการพัฒนาประเทศญี่ปุ่นให้เจริญรุ่งเรือง 
ทุกวันนี้เรียวมะและชินทาโร่พักผ่อนอย่างสงบอยู่กับพรรคพวกชาวไคเอ็นไตที่ สุสานศาลเจ้าโกคกคุ ที่เกียวโต




เรื่องโดย : BiX mOUTh www.marumura.com









Create Date : 15 พฤศจิกายน 2557
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2557 13:32:23 น. 0 comments
Counter : 3863 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

hathairat2011
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]










Google

ขอบคุณที่แวะมา
อย่าลืมคอมเม้นท์นะจ้ะ

Flag Counter

ส่งอีเมล์

Facebook ของ Hathairat



New Comments
Friends' blogs
[Add hathairat2011's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.