บ้านฟางหลังน้อยนี่คือรางวัล หนังสือกองนั้นเพิ่มพูนปัญญา
Group Blog
 
All blogs
 

ลุงฟาง

เป็นกระท่อมฟาง ไม่ร้าง ไม่ไร้ผู้คน
ห่างไกลชุมชน สับสนแย่งชิง
หลังคาหญ้าแฝก แตกฝอย หิ่งห้อยอ้อยอิ่ง
ใบไม้ไหวติง คนนั่งผิงไฟ

ที่แนวไพรช่างเงียบสงบ ฤดูกาลผ่านมารับใช้
หน้าฝนขุดหาหน่อไม้ หน้าหนาวติดไฟคั่วชา

เสียงไก่ป่าขัน ตะวันโผล่พ้นภูผา
แหวกกอข้าวกล้า ถั่วงางอกแซง
ไม่ไถไม่พรวน ไม่วางยาฆ่าแมลง
คนพืชมดแมง ร่วมมือทำนา

พอฝนโปรย ฟ้าโรยร่วมแรง ผลผลิตงดงามก็ตามมา
ทำนาโดยไม่ต้องทำนา เก็บเวลาไว้คุยกับตะวัน

หลายปีผ่านไป หัวใจหลงผิด
ชีวิตพอเพียงกับสิ่งเหล่านั้น
บ้านฟางหลังน้อย นี่คือรางวัล
หนังสือกองนั้น เพิ่งพูนปัญญา

* ลุงฟางสร้างโลกนี้ด้วยฟางข้าว
สายตาทอดยาวด้วยความเมตตา
ดำเนินชีวิตตามหลักธรรมมะ
ค้นหาตัวตนบนความสันโดษ









 

Create Date : 27 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 27 กรกฎาคม 2551 20:13:26 น.
Counter : 274 Pageviews.  

'รงค์ วงษ์สวรรค์ พญาอินทรีบินเหนือดอยสูง



'รงค์ วงษ์สวรรค์ พญาอินทรีบินเหนือดอยสูง
อุปนิสัยในการทำงานบางด้านของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นสิ่งที่น่าใคร่ครวญเพื่อการเรียนรู้สำหรับหลายคนที่ปรารถนาจะทำงานเขียนให้เป็นที่ยอมรับของสาธารณชน...
ผมมีความเชื่ออย่างนั้น
จากเมื่อ 30 กว่าปีก่อนที่เขาผละจากร้านกาแฟย่านบางลำพู จากถนนนักเลงวัยรุ่นมาสู่ถนนนักเขียนตัวหนังสือของเขามีอิทธิพลต่อคน หนุ่มในแต่ละช่วงวัย จำนวนมากรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่เปลี่ยนหน้ากันเข้ามารับผลสะเทือนทางความคิด จากสำนวนภาษาปรัชญาการดำเนินชีวิต ซึ่งในจำนวนนั้นบางคนก็ก้าวล่วงพ้นมาสู่ความเป็นตัวของตัวเองที่ยืนหยัดได้อย่างสวยงามในเวลาต่อมา แต่บางคนก็ถูกกลืนหายไปในห้วงเวลาที่ผ่านพ้น แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มี 'รงค์ วงษ์สวรรค์ คนที่ 2 บน ถนนสายนี้
ในความรู้สึกส่วนตน หลังจากผ่านประสบการณ์การอ่านตัวหนังสือของเขามายาวนานผมแบ่งงานเขียนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ออกเป็น 4 ช่วงคือ ยุคแรกอันเรียได้ว่า "บนถนนของความเป็นหนุ่ม" หนังสือเล่มแรกของเขาที่แหวกแนวกว่าใครในยุคนั้นชื่อ หนาวผุ้หญิง อันเป็นการรวมงานเบ็ดเตล็ดจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาวิจารณ์ จัดพิมพ์เป็นหนังสือปกแข็งโดยสำนักพิมพ์ผดุงศึกษา เมื่อปี 2503 และได้รับการพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในเวลาที่ผานไปเพียงไม่กี่เดือน
ความสำเร็จของหนังสือเล่มนี้ เนื่องจากความแปลกของสำนวนภาษาที่ช็อคผู้อ่านเพราะไม่เคยมีใครเขียนหนังสือ "สำนวนเพรียวนม" (ไม่ใช่ "เพรียวลม") แบบนี้มาก่อน
'รงค์เล่าว่า อีกส่วนหนึ่งเพราะ "คุณชายคึกฤทธิ์เขียนเชียร์ในคอลัมน์ของเขาในสยามรัฐรายวัน ทำให้ผู้อ่านตื่นเต้นกันมาก"
งานรวมกลุ่มชุดอื่นของเขาที่ตามมา เช่นไฟอาย รวมบทรำพึงรำพัน ใช้นามปากกา 'ลำพู' เขียนคำนำโดยประหยัด ศ.นาคะนาท, รวมเรื่องสั้นชุด ปักเป้ากับจุฬา, รวมงานสารคดี เช่น บนถนนของความเป็นหนุ่ม, เถ้าอารมณ์, เสเพลบอยบันทึก
นวนิยายอันเป็นความพยายามที่จะพิสูจน์ว่า นักเขียนผู้ชายก็เขียนนวนิยายได้น่าอานในขณะที่นักเขียนหญิงครองตลาด คือสนิมกรุงเพทฯ ลงพิมพ์ในเดลิเมล์วันจันทร์ ซึ่งมานิต ศรีสาครเป็นบรรณาธิการ และสันต์ เทวรักษ์เป็นที่ปรึกษา ก่อนพิมพ์รวมเล่มโดยสำนักพิมพ์ก้าวหน้า
มาสเตอร์พีชของเขาที่เกิดขึ้นด้วยค่านิยมใหม่ของช่วงนั้น ตามคำบอกเล่าของเขาที่ว่าเป็นการเกื้อกูลกันระหว่างนักเขียนกับสำนักพิมพ์ คือทำความตกลงกันให้นักเขียนส่งเรื่องมาเป็นตอน ๆ เพื่อพิมพ์เป็นเล่มโดยไม่ต้องผ่านสนามนิตยสาร
เขาเล่าว่า "สนิมสร้อยลงพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ก่อนเพียงไม่กี่บท จากนั้นก็เขียนขายไอ้ชิว (สุพล เตชะธาดา ทายาทแห่งผดุงศึกษา) ต้นฉบับทีละบท เบิกเงินทีละตอนถ้าให้เขียนรวดเดียวก็คงเขียนไม่จบ ตอนเขียนเรื่องนี้ไปนอนซ่องกะหรี่แถวบางกะปิ (ย่านถนนสุขุมวิท) อยู่เป็นเดือน"
งานเขียนนวนิยายแบบแปลบ้างเขียนเองบ้างของเขาอีก 2 เล่มคือ คืนรักกับบางลำภูสแควร์ ก็ทยอยเขียนส่งสำนักพิมพ์แบบเดียวกัน แต่เล่มหลังนี้เขียนให้สำหนักพิมพ์ก้าวหน้าของสุเทพ ชูเชื้อ และอีกเล่มคือ พ่อบ้านหนีเที่ยว ก็เขียนให้สำนักพิมพ์เช่นเดียวกัน
จากปี 2503 ถึง 2506 เขามีหนังสือพิมพ์เป็นเล่มปกแข็งนับได้จำนวน 11 เล่ม แล้วเขาก็นิราศจากเมืองไทยไปอเมริกา ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นกว่าสี่ปีครึ่งจึงบินกลับมา
ในช่วงนั้นแม้จะมีงานของเขาปรากฎอยู่ตามนิตยสารต่าง ๆ ทั้งในนามนี้และนามอื่นอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็ไม่มีหนังสือเล่มของเขาพิมพ์ออกมาให้ผู้อ่านได้คลายความคิดถึงกันบ้างเลย
เขากลับมาพร้อมกับพกพาความเป็นบุปผาชนมาด้วยเต็มตัว สำนวนการเขียนก็เปลี่ยนไปจากยุคแรก ลูกเล่นทางภาษาแพรวพราวยิ่งกว่าเดิม ที่พิเศษสุดก็คือ การมีวงเล็บต่อท้ายนามปากกาด้วยคำว่า "หนุ่ม"
เขากลายเป็น 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
และตำนานของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์กับเพื่อนหนุ่มก็เริ่มต้นมาจากช่วงนี้
นอกเหนือจากงานประจำที่สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์แล้ว เขายังมีกิจการของตัวเองที่เขาหุ้นกับสำนักพิมพ์ประพันธสาส์น ทำหนังสือรายเดือนมีนามสุกลชุด เฟื่องนคร ซึ่งออกมาได้ 19 เล่ม จากเดือนพฤษภาคม อุไรของปี 2512 ถึงเดืนอพฤศจิการยน ชารี ก็ฆ่าตัวตายในปี 2513 แต่เพื่อนหนุ่มของเขาจำนวนมากมายเดินขึ้นมาบนถนนหนังสือย่างครึกครื้นหลายคนกลายเป็นพี่ใหญ่ของวงการนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ในยุคนี้อาทิ ขรรค์ชัย บุนปาน, สุจิตต์ วงษ์เทศ, เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์, เถกิง พันธุ์เถกิงอมร, ประเสริฐ สว่างเกษม (เสียชีวิตแล้ว), ศรีศักดิ์ นพรัตน์ (เสียชีวิตแล้ว), มนัส สัตยารักษ์, ประภัสสร เสวิกุล ฯลฯ
ในด้านงานเขียน เขาหอบหิ้วต้นฉบับใหม่เอี่ยม นวนิยามขนาดสั้น หอมดอกประดวนมาจากอเมริกา เพื่อมอบให้สำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้วของอาจินต์ ปัญจพรรค์ แต่ด้วยเหตุผลอันขัดต่อธรรมจริยาของสำนักพิมพ์ซึ่งบางคนสัพยอกว่า "ห่มจีวร" ต้นฉบับจึงถูกส่งต่อให้กับสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น
ขณะเดียวกัน ด้วยพิมพ์ดีดเครื่องเดิมที่เขียนเรื่องเมืองไทยด้วยความคิดถึงเมื่อตอนอยู่อเมริกา ก็เร่งผลิตสารคดีเชิงนวนิยายประจานชีวิตคนไทยในอเมริกา ในชื่อใต้ถุนป่าคอนกรีท คราวนี้สำนักพิมพ์ของอาจินต์ ปัญจพรรค์จัดพิมพ์เป็นเล่มพิเศษแบบเปเปอร์แบคต่างกว่าทุกเล่ม ด้วยยอดพิมพ์ชั้นต้น 15,000 เล่ม รับค่าลิขสิทธิ์ครั้งแรก 15,000 บาท ประวัติการใช้เงินจำนวนนี้ของเขาคือ 5,000 บาที่สองเก็บไว้สำหรับเพื่อนฝูงหยิบยืมในยามจำเป็นและอีก 5,000 บาท สำหรับเตร็ดเตร่ดื่มกินเพื่อทำความรู้จักกับกรุงเทพฯ หลังจากที่ห่างเหินไปนาน
ใต้ถุนป่าคอนกรีทขายดีมาก จนอาจินต์ต้องพิมพ์ซ้ำอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 3,000 เล่ม ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นยุคเฟื่องสุดขีดของเขา งานเขียนที่พิมพ์ในช่วงนี้ส่วนมากเป็นหนังสือปกอ่อน ทุกเล่มได้รับการต้อนรับอย่างอื้อฉาวจากผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็น ใต้ถุนป่าคอนกรีท ทั้ง 4 เล่ม 3 ขบวน หรือสารคดีกึ่งนิยายเก็บเกี่ยวจากอเมริกา เช่น หลงกลิ่นกัญชา, อเมริกันตาย, นิราศดิบ, ดอกไม้ดอลล่าร์
และงานรำพึงรำพันในนามของ 'ลำพู' ที่เขียนส่งมาจากแอลเอ. ก็ได้รับการรวมพิมพ์เป็นเล่ม เช่นเสเพลบอยชาวไร่, ผู้มียี่เกในหัวใจ, หัวใจที่มีตีน, ไอแมลงวันที่รัก
ช่วงนี้นเขาเขียนคอลัมพน์ประจำในเดลินิวส์ฉบับวันพุธ ยุคที่สนิท เอกชัยเป็นกัปตันและเขียนเรื่องสั้นในไทยรัฐ ฉบับสารพัดสี-วันอาทิตย์เป็นครั้งคราว มีผลลัพธ์เป็นหนังสือปกอ่อน 2 เล่ม คือ ปีนตลิ่ง และกรุงเทพฯรจนา
อีกสนามที่เขามีความผูกพันฉันท์เพื่อนต่อกันอย่างล้ำลึกและยาวนาน คือสนามฟ้าเมืองไทยของอาจินต์ ซึ่งเขาประเดิมด้วย "ใต้ถุนป่าคอนกรีท ขบวน 2' แล้วสลับด้วยคอลัมน์ '00.00น.' จากนั้นจึงต่อด้วยขบวน 3 และขบวนจบ
ลุล่วงจนถึงปี 2515 เขาผันตัวเองจากอาคาร 6 ถนนราชดำเนิน มาเป็นนักเขียนอิสระอยู่กับบ้านโคนต้นไม้ริมคลอง นนทบุรี ชีวิตการทำงานของเขาช่วงนี้ถูกบันทึกไว้โดยตัวเขาเองใน พูดกับบ้าน, จากโคนต้นไม้ริมคลองถึงป่าคอนกรีท ซึ่งเป็นขบวนต่อเนื่องกัน นับตั้งแต่บ้านบางซ่อนเมื่อครั้งเขายังเป็นโสดแต่ไม่สดกระทั่งบ้านริมคลองที่มี "พี่ติ๋ม" มาลี วงษ์สวรรค์ เป็นคู่ชีวิต และมี "บักหำน้อย" วงษ์ดำเริง วงษ์สวรรค์ หนุ่มอายุเก้าขวบในขณะนั้น
เขาก็เช่นเดียวกับนักเขียนอาชีพคนอื่น ๆ ที่ต้องทำงานหนักเพื่อแบกรับภาระของครอบครัว รายได้ของนักเขียนไม่เคยเพียงพอกับความแพงของค่าครองชีพและการลงทุนด้านประสบการณ์เพื่อแปรสภาพเป็นงานเขียน เขาจึงต้องเป็นทั้งนักเขียนนวนิยาย นักหนังสือพิมพ์ และคอลัมนิสต์ในช่วงเวลาเดียวกัน
เขาเขียนนวนิยายอย่าง ผู้ดีน้ำครำ, นักเลงโกเมน, ดลใจภุมริน, นาฑีสุดท้ายทับทิมดง และอีกบางเรื่องลงพิมพ์ต่อเนื่องทุกสัปดาห์ในนิตยสารจักรวาลของพนมเทียน ขณะเดียวกันก็เขียนรายงานเชิงข่าวให้กับสยามรัฐรายวัน เป็นที่มาของหนังสือเล่ม ตาคลี น้ำตาลไม่มีเสียงร้องไห้, สัตหีบ ยังไม่มีลาก่อน และต่อมาก็เขียนคอลัมน์ประจำในเสียงปวงชน
งานเขียนยุคปัจจุบันของเขา แม้พลังในตัวหนังสือจะไม่อ่อนล้า แต่รูปแบบการเขียนก็เปลี่ยนไป เสมือนย้อนกลับไปสู่การเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง คือการเขียนคอลัมน์ในรูปแบบของ 'รำพึงรำพัน' กระนั้นความคมคายในการมองปัญหาชีวิตและสังคมก็คมเข้มขึ้นตามวัย เหมือนอย่างที่ลาว คำหอมเคยเอ่ยถึงเข้าไว้ว่า "นักเขียนผู้ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักมองชีวิตที่ชื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ตนเห็นยิ่งคนหนึ่ง"
คำกล่าวนี้พิสูจน์ได้จากงานรวมเล่มชุด ครูสีดา และขุนนางป่า
งานเขียน 3 ขบวนที่ไม่ใช่ใต้ถุนป่าคอนกรีท หากแต่เป็นจากโคนต้นไม้ริมคลองถึงป่าคอนกรีท ขบวน 1 พูดกับบ้าน ขบวน 2 และขุนนางป่า ขบวนสุดท้าย ทั้ง 3 ขบวนนี้มีบางอย่างเกี่ยวเนื่องกัน และเกี่ยวเนื่องกับความเป็นชีวิตและงานเขียนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ที่น่าใคร่ครวญ เพื่อการเรียนรู้สำหรับคนที่อยากเป็นนักเขียน ซึ่งส่วนนี้อยู่นอกเหนือจากการอ่านเพื่อสาระและความเพลิดเพลินตามเป้าหมายการทำงานปกติของนักเขียนคนนี้ ซึ่งเขายึดถือเสมอมาว่า "การบำเรอผู้อ่านคือเป้าหมายสูงสุดในการทำงาน"
ต้นเดือนมกราคม 2518 'รงค์ วงษ์สวรรค์เริ่มต้นคอลัมน์ประจำชุดใหม่ของเขาในนิตยสารฟ้าเมืองไทย ชื่อ ''รงค์ วงษ์สวรรค์ 518' ตามตัวเลขเลขท้ายของปี พ.ศ.นั้น ซึ่งเขาบอกว่าต่างจาก ''รงค์ วงษ์สวรรค์ 28' เพราะ "ข้าพเจ้า 28 เป็นการเดินทางจากมดลูกขอแม่ออกมาพบกับโลกด้วยความแข็งโดก ขนความเศร้า เหยียบบนความรื่นเริง และนอนลงบนความร่าน เหน็ดเหนื่อยและพักผ่อน เพื่อจะเดินทางต่อไปบนความสงสัยของชีวิต เพื่อค้นหาคำตอบ ข้าพเจ้าชอบความเป็นหนุ่ม 28 ด้วยความจริงใจ"
และเป็นการค้นหาคำตอบของคำถามที่ว่า งานเขียนหนังสือจะทำให้มีชีวิตอยู่ได้ไหม? หาข้อสรุปจากความจัดเจนในการทำงานเขียนมายาวนานกว่าค่อนชีวิตของเขาว่า "มันเป็นความจริงของนักเขียนในประเทศที่ซึ่งงานทางศิลปะได้รับการประเมินราคาไว้ต่ำ ศิลปินแขนงอื่นก็คงไม่แตกต่างกันนักในอัตราแห่งความระทมขมขื่น ข้าพเจ้าทำงานอย่างจริงจัง แต่สะเพร่ากับชีวิต มันค่อนข้างอันตรายกับอาชีพซึ่งไม่มีหลักประกันความมั่นคง บำเหน็จที่จะได้รับอย่างเดียว คือบางอย่างซึ่งเรียกมันว่า 'ความสุข'"
โดยสถานการณ์ของเวลา การทำงานของเขาเป็นเสมือนไทม์เมชีน ย้อนจากต้นปี 2518 กลับไปสู่อดีตเท่าที่ความทรงจำของเขาจะอำนวยให้ ควบคู่กับเหตุการณ์ปัจจุบันของพ.ศ.นั้น เล่าถึงการก่อสร้างรังนอน เพื่อเป็นหลักแหล่งและความเป็นพ่อนกแห่งครอบครัว ที่บ้านโคนต้นไม้ริมคลอง ละแวกตำบลท่าทราย นนทบุรี ซึ่งตอนนั้นยังเป็นเพียงผืนดินรกร้างเพื่อนหนุ่มหลายคนของเขาซึ่งกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงในยุคนี้นัดชุมนุมกันที่นั่น บางคนเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักร้อง ศิลปิน
งานชุดนี้ของเขาจึงเป็นทั้งเบื้องหลังงานเขียน และตำราการประพันธ์ฉบับพิสดารที่มีของจริงเป็นตัวเปรียบเทียบ แล้วแต่ว่าใครจะหยิบยกเอาแง่มุมใดมาศึกษา แต่ตัวเขาเองเรียกมันว่า "งานเขียนที่ยังไม่มีคำจำกัดความ" เป็นเรื่องราวของการเขียนแบบถวิลถึง
ผู้อ่านได้รับรู้เบื้องหลังการทำงานหลายชิ้นของเขา เริ่มจากพ่อบ้านหนีเที่ยว ซึ่งเขียนเพื่อหาเงินค่าตั๋วเครื่องบินไปอเมริกาเมื่อปี 2505 จนถึงคำถามและคำตอบเกี่ยวกับงานเขียนที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้หลายร้อยประโยค และเรื่องสั้นบางเรื่องซึ่งเขียนขณะใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ใต้ถุนป่าคอนกรีท แล้ววูบความคิดนั้นก็ถูกปรุงใหม่เป็นนวนิยายในเวลาต่อมา
นอกเหนือจากนั้น ผู้อ่านยังได้รับรู้ถึงอุปนิสัยการทำงานบางด้านของเขาด้วย ว่าความเป็นนักเขียนแบบ 'รงค์ วงษ์สวรรค์นั้น กว่าตัวหนังสือแต่ละประโยคของเขาจะหลุดออกมาจากก้อนสมองเพื่อบำเรอผู้อ่าน มันช่างเต็มไปด้วยความยุ่งยาก
เขาพูดถึงวิธีการทำงาของตัวเองว่า "ข้าพเจ้าทำงานช้าและยุ่งยาก เขียนดินสอก่อนขีดฆ่า ลบทิ้ง หรือฉีกทิ้ง ไขว้เขวในความคิดมันเป็นเหตุการณ์ปกติถ้าตื่นขึ้นกลางดึกเพื่อเปลี่ยนบางประโยค มันโดนแก้อีกหลายหนเพื่อบางคนเย้ยหยันว่า ทำไมมึงไม่เอา (ต้นร่าง) ไปฝากเซฟธนาคารไว้ก่อน แล้วไปเที่ยวปารีสสักสองเดือน ค่อยกลับมาแก้ให้เป็นต้นฉบับสมบูรณ์"
สาเหตุที่มาของงานเขียนชุดนี้เพราะว่า "ผมอยากเขียนถึงตัวเองไว้บ้าง ถึงอย่างไรมันก็ไม่คลาดเคลื่อนจากความจริงโดยการเขียนของผู้อื่น หลังจาก... ใช่ พรุ่งนี้ผมอาจฆ่าตัวตาย!"
ต่อมาในช่วงเดือนมิถุนายนของปี 2525 เขาเริ่มงานเขียนอีกขบวนในสนามเดียวกัน ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่าเป็นเรื่องราวในทำนองเดียวกันและเกี่ยวเนื่องกัน คือพูดกับบ้าน
เขาปรารภในการเริ่มต้นว่า "ผม- ผมไม่เคยใช้สรรพนามนี้มาก่อนในงานเขียน และบรรณาธิการไม่ระบุว่าควรเขียนอะไรบ้าง ผมครุ่นคิดในอุณหภูมร้อนคลั่งของเดือนพฤษภาคมหลายวัน หลายคำถาม ผมพบคำตอบว่าทำไมไม่พูดกับบ้าน ผม-บนถนนนานและไกลของชีวิต-เคยพูดกับคนมากมายหลายระดับในสังคม... ผมเคยพูดกับใครมาแล้วเกือบทั้งนั้น โดยหลายสรรพนามแตกต่างกัน แต่ยังไม่เคยพูดกับบ้าน"
ในงานเขียนขบวนนี้เสมือนการย้อนไปสู่ความตั้งใจเดิมที่เคยแสดงความปรารถนาไว้ตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งเขาเคยบอกว่า สิ่งที่อยากเขียนถึงเป็นที่สุด คือนวนิยายชีวิตและการำงานบนอาคาร 6 ถนนราชดำเนิน
ซึ่งเขาได้เขียนไว้แล้วในงานขบวนนี้ แม้จะไม่ใช่รูปแบบนวนิยาย แต่ก็เป็นแบบถวิลหาความหลัง จากชีวิตวัยรุ่นสู่การเริ่มต้นบนถนนช่างภาพและนักเขียน บรรยากาศของบ้านที่บางซ่อน ชีวิตของผู้อาวุโสในแวดวงน้ำหมึก ซึ่งเขามีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องรับรู้ และเข้ามามีส่วนในการอุ้มชูในเบื้องต้นแห่งการเป็นนักเขียนของเขา ทั้งบรรณาธิการสายตาสั้นที่สุดในโลก คุณชายเจ้าของหนังสือพิมพ์ที่เขาสังกัด ผู้คนในแวดวงละครเวทียุคอดีต เพื่อนร่วมงานทั้งคนที่เขารักชอบและไม่ชอบ และที่ขาดไม่ได้ก็คือบรรยากาศของร้านเหล้าในกรุงเทพฯ ของ พ.ศ.นั้น รวมทั้งผู้หญิงที่เคยเป็นของเขาและเขาเป็นของหล่อน
หากจะเรียกว่าเป็นงานเขียนเชิงอัตชีวประวัติเขาอาจปฏิเสธ แม้โดยความเป็นจริงนั้นยากที่จะเรียกเป็นอื่น หากแต่ไม่ได้เป็นเพียงชีวประวัติของคนคนหนึ่งเท่านั้น หากเป็นบันทึกปรากฎการณ์ของสังคมไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ในยุคหนึ่งไว้ด้วย
เขาจบบทสุดท้ายของ พูดกับบ้านในเดือนสิงหาคม 2526 และวางเป้าหมายสำหรับงานเขียนทำนองนี้ไว้ในอนาคตว่า "ขบวน 3 บ้านบนภูเขา บ้านดง-โป่งแยง-แม่ริม-บนเลี้ยวถนนสู่อำเภอสะเมิง บ้านและอารมณ์โรแมนติกของสู่อำเภอสะเมิง บ้านและอารมณ์โรแมนติกของป่า ลำธารและก้อนหิน นกและดอกเล็บมือนาง น้ำค้างและไฟ ผมคงเหน็ดเหนื่อยอย่างมีความสุขกับบ้านหนังนี้เป็นสุท้าย วันปลายสัปดาห์ ผมเตรียมเดินทางโดยรถยนต์กับเหล็กฉาก ลูกดิ่งและระดับหยดน้ำ เลื่อนลันดา เลื่อยอก มีด ขวาน ค้อน ตะปู เชือก และแบบที่เขียนไว้ แล้วบนอากาศ"
หลังจากฟ้าเมืองไทยปิดตัวเองลง ผู้อ่านก็พบเขาเป็นประจำในมติชนสุดสัปดาห์ ในท่วงทำนองของ'รำพึงรำพัน' ที่เคยโงดังในอดีตในรูปแบบของความคิดที่สุขุมลุ่มลึกตามวัยของความเป็นผู้อาวุโสคนหนึ่งแห่งวงการ
เดือนกรกฎาคม 2529 เขาเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงอาจินต์ ปัญจพรรค์ บอกว่า "รอเวลาไม่นาน ถ้าสามาถเรียบเรียงเหตุการณ์ได้อย่างเป็นโครงสร้างแน่นหนาของความคิด เราคงเขียนพูดกับตูบ นับเนื่องเป็นขบวนถัดมาของพูดกับบ้าน"
จากนั้นอีกไม่นาน ตัวละครแห่งชีวิตของป่าและบ้านบนดอยของเขา ก็เรียงหน้ากันมาแสดงบทบาทบนหน้ากระดาษของมติชนสุดสัปดาห์ จากสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ทั้งบุนนางป่าและเสนาเมืองต่างยกขบวนกันมามากมายและมาชุมนุมกันพร้อมหน้าเมื่อรวมพิมพ์เป็นเล่มในชื่อ ขุนนางปี่ บุนนางแห่งชีวิตภายในบ้านและรอบบ้านอันเป็นรังนอนสุดท้ายของชีวิต ตามที่เขาวางเจตนาไว้อย่างนั้น...

สมรม สทิงพระ (ตัดทอนจากงานเขียน 2 ขบวน 'บันทึกจากก้นครัวของโคนต้นไม้ริมคลอง' และ 'จากพูดกับบ้านถึงพูดกับตูบ' รวมเล่ม เส้นทางนักเขียน สนพ.ไรเตอร์, สิงหาคม 2537)

อ่านบทสัมภาษณ์จากเล่มเดียวกัน





 

Create Date : 27 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 27 กรกฎาคม 2551 16:23:06 น.
Counter : 176 Pageviews.  


THEMADDOG
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add THEMADDOG's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.