บ้านฟางหลังน้อยนี่คือรางวัล หนังสือกองนั้นเพิ่มพูนปัญญา
Group Blog
 
All blogs
 
'รงค์ วงษ์สวรรค์ พญาอินทรีบินเหนือดอยสูง



'รงค์ วงษ์สวรรค์ พญาอินทรีบินเหนือดอยสูง
อุปนิสัยในการทำงานบางด้านของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นสิ่งที่น่าใคร่ครวญเพื่อการเรียนรู้สำหรับหลายคนที่ปรารถนาจะทำงานเขียนให้เป็นที่ยอมรับของสาธารณชน...
ผมมีความเชื่ออย่างนั้น
จากเมื่อ 30 กว่าปีก่อนที่เขาผละจากร้านกาแฟย่านบางลำพู จากถนนนักเลงวัยรุ่นมาสู่ถนนนักเขียนตัวหนังสือของเขามีอิทธิพลต่อคน หนุ่มในแต่ละช่วงวัย จำนวนมากรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่เปลี่ยนหน้ากันเข้ามารับผลสะเทือนทางความคิด จากสำนวนภาษาปรัชญาการดำเนินชีวิต ซึ่งในจำนวนนั้นบางคนก็ก้าวล่วงพ้นมาสู่ความเป็นตัวของตัวเองที่ยืนหยัดได้อย่างสวยงามในเวลาต่อมา แต่บางคนก็ถูกกลืนหายไปในห้วงเวลาที่ผ่านพ้น แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มี 'รงค์ วงษ์สวรรค์ คนที่ 2 บน ถนนสายนี้
ในความรู้สึกส่วนตน หลังจากผ่านประสบการณ์การอ่านตัวหนังสือของเขามายาวนานผมแบ่งงานเขียนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ออกเป็น 4 ช่วงคือ ยุคแรกอันเรียได้ว่า "บนถนนของความเป็นหนุ่ม" หนังสือเล่มแรกของเขาที่แหวกแนวกว่าใครในยุคนั้นชื่อ หนาวผุ้หญิง อันเป็นการรวมงานเบ็ดเตล็ดจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาวิจารณ์ จัดพิมพ์เป็นหนังสือปกแข็งโดยสำนักพิมพ์ผดุงศึกษา เมื่อปี 2503 และได้รับการพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในเวลาที่ผานไปเพียงไม่กี่เดือน
ความสำเร็จของหนังสือเล่มนี้ เนื่องจากความแปลกของสำนวนภาษาที่ช็อคผู้อ่านเพราะไม่เคยมีใครเขียนหนังสือ "สำนวนเพรียวนม" (ไม่ใช่ "เพรียวลม") แบบนี้มาก่อน
'รงค์เล่าว่า อีกส่วนหนึ่งเพราะ "คุณชายคึกฤทธิ์เขียนเชียร์ในคอลัมน์ของเขาในสยามรัฐรายวัน ทำให้ผู้อ่านตื่นเต้นกันมาก"
งานรวมกลุ่มชุดอื่นของเขาที่ตามมา เช่นไฟอาย รวมบทรำพึงรำพัน ใช้นามปากกา 'ลำพู' เขียนคำนำโดยประหยัด ศ.นาคะนาท, รวมเรื่องสั้นชุด ปักเป้ากับจุฬา, รวมงานสารคดี เช่น บนถนนของความเป็นหนุ่ม, เถ้าอารมณ์, เสเพลบอยบันทึก
นวนิยายอันเป็นความพยายามที่จะพิสูจน์ว่า นักเขียนผู้ชายก็เขียนนวนิยายได้น่าอานในขณะที่นักเขียนหญิงครองตลาด คือสนิมกรุงเพทฯ ลงพิมพ์ในเดลิเมล์วันจันทร์ ซึ่งมานิต ศรีสาครเป็นบรรณาธิการ และสันต์ เทวรักษ์เป็นที่ปรึกษา ก่อนพิมพ์รวมเล่มโดยสำนักพิมพ์ก้าวหน้า
มาสเตอร์พีชของเขาที่เกิดขึ้นด้วยค่านิยมใหม่ของช่วงนั้น ตามคำบอกเล่าของเขาที่ว่าเป็นการเกื้อกูลกันระหว่างนักเขียนกับสำนักพิมพ์ คือทำความตกลงกันให้นักเขียนส่งเรื่องมาเป็นตอน ๆ เพื่อพิมพ์เป็นเล่มโดยไม่ต้องผ่านสนามนิตยสาร
เขาเล่าว่า "สนิมสร้อยลงพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ก่อนเพียงไม่กี่บท จากนั้นก็เขียนขายไอ้ชิว (สุพล เตชะธาดา ทายาทแห่งผดุงศึกษา) ต้นฉบับทีละบท เบิกเงินทีละตอนถ้าให้เขียนรวดเดียวก็คงเขียนไม่จบ ตอนเขียนเรื่องนี้ไปนอนซ่องกะหรี่แถวบางกะปิ (ย่านถนนสุขุมวิท) อยู่เป็นเดือน"
งานเขียนนวนิยายแบบแปลบ้างเขียนเองบ้างของเขาอีก 2 เล่มคือ คืนรักกับบางลำภูสแควร์ ก็ทยอยเขียนส่งสำนักพิมพ์แบบเดียวกัน แต่เล่มหลังนี้เขียนให้สำหนักพิมพ์ก้าวหน้าของสุเทพ ชูเชื้อ และอีกเล่มคือ พ่อบ้านหนีเที่ยว ก็เขียนให้สำนักพิมพ์เช่นเดียวกัน
จากปี 2503 ถึง 2506 เขามีหนังสือพิมพ์เป็นเล่มปกแข็งนับได้จำนวน 11 เล่ม แล้วเขาก็นิราศจากเมืองไทยไปอเมริกา ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นกว่าสี่ปีครึ่งจึงบินกลับมา
ในช่วงนั้นแม้จะมีงานของเขาปรากฎอยู่ตามนิตยสารต่าง ๆ ทั้งในนามนี้และนามอื่นอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็ไม่มีหนังสือเล่มของเขาพิมพ์ออกมาให้ผู้อ่านได้คลายความคิดถึงกันบ้างเลย
เขากลับมาพร้อมกับพกพาความเป็นบุปผาชนมาด้วยเต็มตัว สำนวนการเขียนก็เปลี่ยนไปจากยุคแรก ลูกเล่นทางภาษาแพรวพราวยิ่งกว่าเดิม ที่พิเศษสุดก็คือ การมีวงเล็บต่อท้ายนามปากกาด้วยคำว่า "หนุ่ม"
เขากลายเป็น 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
และตำนานของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์กับเพื่อนหนุ่มก็เริ่มต้นมาจากช่วงนี้
นอกเหนือจากงานประจำที่สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์แล้ว เขายังมีกิจการของตัวเองที่เขาหุ้นกับสำนักพิมพ์ประพันธสาส์น ทำหนังสือรายเดือนมีนามสุกลชุด เฟื่องนคร ซึ่งออกมาได้ 19 เล่ม จากเดือนพฤษภาคม อุไรของปี 2512 ถึงเดืนอพฤศจิการยน ชารี ก็ฆ่าตัวตายในปี 2513 แต่เพื่อนหนุ่มของเขาจำนวนมากมายเดินขึ้นมาบนถนนหนังสือย่างครึกครื้นหลายคนกลายเป็นพี่ใหญ่ของวงการนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ในยุคนี้อาทิ ขรรค์ชัย บุนปาน, สุจิตต์ วงษ์เทศ, เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์, เถกิง พันธุ์เถกิงอมร, ประเสริฐ สว่างเกษม (เสียชีวิตแล้ว), ศรีศักดิ์ นพรัตน์ (เสียชีวิตแล้ว), มนัส สัตยารักษ์, ประภัสสร เสวิกุล ฯลฯ
ในด้านงานเขียน เขาหอบหิ้วต้นฉบับใหม่เอี่ยม นวนิยามขนาดสั้น หอมดอกประดวนมาจากอเมริกา เพื่อมอบให้สำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้วของอาจินต์ ปัญจพรรค์ แต่ด้วยเหตุผลอันขัดต่อธรรมจริยาของสำนักพิมพ์ซึ่งบางคนสัพยอกว่า "ห่มจีวร" ต้นฉบับจึงถูกส่งต่อให้กับสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น
ขณะเดียวกัน ด้วยพิมพ์ดีดเครื่องเดิมที่เขียนเรื่องเมืองไทยด้วยความคิดถึงเมื่อตอนอยู่อเมริกา ก็เร่งผลิตสารคดีเชิงนวนิยายประจานชีวิตคนไทยในอเมริกา ในชื่อใต้ถุนป่าคอนกรีท คราวนี้สำนักพิมพ์ของอาจินต์ ปัญจพรรค์จัดพิมพ์เป็นเล่มพิเศษแบบเปเปอร์แบคต่างกว่าทุกเล่ม ด้วยยอดพิมพ์ชั้นต้น 15,000 เล่ม รับค่าลิขสิทธิ์ครั้งแรก 15,000 บาท ประวัติการใช้เงินจำนวนนี้ของเขาคือ 5,000 บาที่สองเก็บไว้สำหรับเพื่อนฝูงหยิบยืมในยามจำเป็นและอีก 5,000 บาท สำหรับเตร็ดเตร่ดื่มกินเพื่อทำความรู้จักกับกรุงเทพฯ หลังจากที่ห่างเหินไปนาน
ใต้ถุนป่าคอนกรีทขายดีมาก จนอาจินต์ต้องพิมพ์ซ้ำอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 3,000 เล่ม ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นยุคเฟื่องสุดขีดของเขา งานเขียนที่พิมพ์ในช่วงนี้ส่วนมากเป็นหนังสือปกอ่อน ทุกเล่มได้รับการต้อนรับอย่างอื้อฉาวจากผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็น ใต้ถุนป่าคอนกรีท ทั้ง 4 เล่ม 3 ขบวน หรือสารคดีกึ่งนิยายเก็บเกี่ยวจากอเมริกา เช่น หลงกลิ่นกัญชา, อเมริกันตาย, นิราศดิบ, ดอกไม้ดอลล่าร์
และงานรำพึงรำพันในนามของ 'ลำพู' ที่เขียนส่งมาจากแอลเอ. ก็ได้รับการรวมพิมพ์เป็นเล่ม เช่นเสเพลบอยชาวไร่, ผู้มียี่เกในหัวใจ, หัวใจที่มีตีน, ไอแมลงวันที่รัก
ช่วงนี้นเขาเขียนคอลัมพน์ประจำในเดลินิวส์ฉบับวันพุธ ยุคที่สนิท เอกชัยเป็นกัปตันและเขียนเรื่องสั้นในไทยรัฐ ฉบับสารพัดสี-วันอาทิตย์เป็นครั้งคราว มีผลลัพธ์เป็นหนังสือปกอ่อน 2 เล่ม คือ ปีนตลิ่ง และกรุงเทพฯรจนา
อีกสนามที่เขามีความผูกพันฉันท์เพื่อนต่อกันอย่างล้ำลึกและยาวนาน คือสนามฟ้าเมืองไทยของอาจินต์ ซึ่งเขาประเดิมด้วย "ใต้ถุนป่าคอนกรีท ขบวน 2' แล้วสลับด้วยคอลัมน์ '00.00น.' จากนั้นจึงต่อด้วยขบวน 3 และขบวนจบ
ลุล่วงจนถึงปี 2515 เขาผันตัวเองจากอาคาร 6 ถนนราชดำเนิน มาเป็นนักเขียนอิสระอยู่กับบ้านโคนต้นไม้ริมคลอง นนทบุรี ชีวิตการทำงานของเขาช่วงนี้ถูกบันทึกไว้โดยตัวเขาเองใน พูดกับบ้าน, จากโคนต้นไม้ริมคลองถึงป่าคอนกรีท ซึ่งเป็นขบวนต่อเนื่องกัน นับตั้งแต่บ้านบางซ่อนเมื่อครั้งเขายังเป็นโสดแต่ไม่สดกระทั่งบ้านริมคลองที่มี "พี่ติ๋ม" มาลี วงษ์สวรรค์ เป็นคู่ชีวิต และมี "บักหำน้อย" วงษ์ดำเริง วงษ์สวรรค์ หนุ่มอายุเก้าขวบในขณะนั้น
เขาก็เช่นเดียวกับนักเขียนอาชีพคนอื่น ๆ ที่ต้องทำงานหนักเพื่อแบกรับภาระของครอบครัว รายได้ของนักเขียนไม่เคยเพียงพอกับความแพงของค่าครองชีพและการลงทุนด้านประสบการณ์เพื่อแปรสภาพเป็นงานเขียน เขาจึงต้องเป็นทั้งนักเขียนนวนิยาย นักหนังสือพิมพ์ และคอลัมนิสต์ในช่วงเวลาเดียวกัน
เขาเขียนนวนิยายอย่าง ผู้ดีน้ำครำ, นักเลงโกเมน, ดลใจภุมริน, นาฑีสุดท้ายทับทิมดง และอีกบางเรื่องลงพิมพ์ต่อเนื่องทุกสัปดาห์ในนิตยสารจักรวาลของพนมเทียน ขณะเดียวกันก็เขียนรายงานเชิงข่าวให้กับสยามรัฐรายวัน เป็นที่มาของหนังสือเล่ม ตาคลี น้ำตาลไม่มีเสียงร้องไห้, สัตหีบ ยังไม่มีลาก่อน และต่อมาก็เขียนคอลัมน์ประจำในเสียงปวงชน
งานเขียนยุคปัจจุบันของเขา แม้พลังในตัวหนังสือจะไม่อ่อนล้า แต่รูปแบบการเขียนก็เปลี่ยนไป เสมือนย้อนกลับไปสู่การเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง คือการเขียนคอลัมน์ในรูปแบบของ 'รำพึงรำพัน' กระนั้นความคมคายในการมองปัญหาชีวิตและสังคมก็คมเข้มขึ้นตามวัย เหมือนอย่างที่ลาว คำหอมเคยเอ่ยถึงเข้าไว้ว่า "นักเขียนผู้ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักมองชีวิตที่ชื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ตนเห็นยิ่งคนหนึ่ง"
คำกล่าวนี้พิสูจน์ได้จากงานรวมเล่มชุด ครูสีดา และขุนนางป่า
งานเขียน 3 ขบวนที่ไม่ใช่ใต้ถุนป่าคอนกรีท หากแต่เป็นจากโคนต้นไม้ริมคลองถึงป่าคอนกรีท ขบวน 1 พูดกับบ้าน ขบวน 2 และขุนนางป่า ขบวนสุดท้าย ทั้ง 3 ขบวนนี้มีบางอย่างเกี่ยวเนื่องกัน และเกี่ยวเนื่องกับความเป็นชีวิตและงานเขียนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ที่น่าใคร่ครวญ เพื่อการเรียนรู้สำหรับคนที่อยากเป็นนักเขียน ซึ่งส่วนนี้อยู่นอกเหนือจากการอ่านเพื่อสาระและความเพลิดเพลินตามเป้าหมายการทำงานปกติของนักเขียนคนนี้ ซึ่งเขายึดถือเสมอมาว่า "การบำเรอผู้อ่านคือเป้าหมายสูงสุดในการทำงาน"
ต้นเดือนมกราคม 2518 'รงค์ วงษ์สวรรค์เริ่มต้นคอลัมน์ประจำชุดใหม่ของเขาในนิตยสารฟ้าเมืองไทย ชื่อ ''รงค์ วงษ์สวรรค์ 518' ตามตัวเลขเลขท้ายของปี พ.ศ.นั้น ซึ่งเขาบอกว่าต่างจาก ''รงค์ วงษ์สวรรค์ 28' เพราะ "ข้าพเจ้า 28 เป็นการเดินทางจากมดลูกขอแม่ออกมาพบกับโลกด้วยความแข็งโดก ขนความเศร้า เหยียบบนความรื่นเริง และนอนลงบนความร่าน เหน็ดเหนื่อยและพักผ่อน เพื่อจะเดินทางต่อไปบนความสงสัยของชีวิต เพื่อค้นหาคำตอบ ข้าพเจ้าชอบความเป็นหนุ่ม 28 ด้วยความจริงใจ"
และเป็นการค้นหาคำตอบของคำถามที่ว่า งานเขียนหนังสือจะทำให้มีชีวิตอยู่ได้ไหม? หาข้อสรุปจากความจัดเจนในการทำงานเขียนมายาวนานกว่าค่อนชีวิตของเขาว่า "มันเป็นความจริงของนักเขียนในประเทศที่ซึ่งงานทางศิลปะได้รับการประเมินราคาไว้ต่ำ ศิลปินแขนงอื่นก็คงไม่แตกต่างกันนักในอัตราแห่งความระทมขมขื่น ข้าพเจ้าทำงานอย่างจริงจัง แต่สะเพร่ากับชีวิต มันค่อนข้างอันตรายกับอาชีพซึ่งไม่มีหลักประกันความมั่นคง บำเหน็จที่จะได้รับอย่างเดียว คือบางอย่างซึ่งเรียกมันว่า 'ความสุข'"
โดยสถานการณ์ของเวลา การทำงานของเขาเป็นเสมือนไทม์เมชีน ย้อนจากต้นปี 2518 กลับไปสู่อดีตเท่าที่ความทรงจำของเขาจะอำนวยให้ ควบคู่กับเหตุการณ์ปัจจุบันของพ.ศ.นั้น เล่าถึงการก่อสร้างรังนอน เพื่อเป็นหลักแหล่งและความเป็นพ่อนกแห่งครอบครัว ที่บ้านโคนต้นไม้ริมคลอง ละแวกตำบลท่าทราย นนทบุรี ซึ่งตอนนั้นยังเป็นเพียงผืนดินรกร้างเพื่อนหนุ่มหลายคนของเขาซึ่งกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงในยุคนี้นัดชุมนุมกันที่นั่น บางคนเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักร้อง ศิลปิน
งานชุดนี้ของเขาจึงเป็นทั้งเบื้องหลังงานเขียน และตำราการประพันธ์ฉบับพิสดารที่มีของจริงเป็นตัวเปรียบเทียบ แล้วแต่ว่าใครจะหยิบยกเอาแง่มุมใดมาศึกษา แต่ตัวเขาเองเรียกมันว่า "งานเขียนที่ยังไม่มีคำจำกัดความ" เป็นเรื่องราวของการเขียนแบบถวิลถึง
ผู้อ่านได้รับรู้เบื้องหลังการทำงานหลายชิ้นของเขา เริ่มจากพ่อบ้านหนีเที่ยว ซึ่งเขียนเพื่อหาเงินค่าตั๋วเครื่องบินไปอเมริกาเมื่อปี 2505 จนถึงคำถามและคำตอบเกี่ยวกับงานเขียนที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้หลายร้อยประโยค และเรื่องสั้นบางเรื่องซึ่งเขียนขณะใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ใต้ถุนป่าคอนกรีท แล้ววูบความคิดนั้นก็ถูกปรุงใหม่เป็นนวนิยายในเวลาต่อมา
นอกเหนือจากนั้น ผู้อ่านยังได้รับรู้ถึงอุปนิสัยการทำงานบางด้านของเขาด้วย ว่าความเป็นนักเขียนแบบ 'รงค์ วงษ์สวรรค์นั้น กว่าตัวหนังสือแต่ละประโยคของเขาจะหลุดออกมาจากก้อนสมองเพื่อบำเรอผู้อ่าน มันช่างเต็มไปด้วยความยุ่งยาก
เขาพูดถึงวิธีการทำงาของตัวเองว่า "ข้าพเจ้าทำงานช้าและยุ่งยาก เขียนดินสอก่อนขีดฆ่า ลบทิ้ง หรือฉีกทิ้ง ไขว้เขวในความคิดมันเป็นเหตุการณ์ปกติถ้าตื่นขึ้นกลางดึกเพื่อเปลี่ยนบางประโยค มันโดนแก้อีกหลายหนเพื่อบางคนเย้ยหยันว่า ทำไมมึงไม่เอา (ต้นร่าง) ไปฝากเซฟธนาคารไว้ก่อน แล้วไปเที่ยวปารีสสักสองเดือน ค่อยกลับมาแก้ให้เป็นต้นฉบับสมบูรณ์"
สาเหตุที่มาของงานเขียนชุดนี้เพราะว่า "ผมอยากเขียนถึงตัวเองไว้บ้าง ถึงอย่างไรมันก็ไม่คลาดเคลื่อนจากความจริงโดยการเขียนของผู้อื่น หลังจาก... ใช่ พรุ่งนี้ผมอาจฆ่าตัวตาย!"
ต่อมาในช่วงเดือนมิถุนายนของปี 2525 เขาเริ่มงานเขียนอีกขบวนในสนามเดียวกัน ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่าเป็นเรื่องราวในทำนองเดียวกันและเกี่ยวเนื่องกัน คือพูดกับบ้าน
เขาปรารภในการเริ่มต้นว่า "ผม- ผมไม่เคยใช้สรรพนามนี้มาก่อนในงานเขียน และบรรณาธิการไม่ระบุว่าควรเขียนอะไรบ้าง ผมครุ่นคิดในอุณหภูมร้อนคลั่งของเดือนพฤษภาคมหลายวัน หลายคำถาม ผมพบคำตอบว่าทำไมไม่พูดกับบ้าน ผม-บนถนนนานและไกลของชีวิต-เคยพูดกับคนมากมายหลายระดับในสังคม... ผมเคยพูดกับใครมาแล้วเกือบทั้งนั้น โดยหลายสรรพนามแตกต่างกัน แต่ยังไม่เคยพูดกับบ้าน"
ในงานเขียนขบวนนี้เสมือนการย้อนไปสู่ความตั้งใจเดิมที่เคยแสดงความปรารถนาไว้ตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งเขาเคยบอกว่า สิ่งที่อยากเขียนถึงเป็นที่สุด คือนวนิยายชีวิตและการำงานบนอาคาร 6 ถนนราชดำเนิน
ซึ่งเขาได้เขียนไว้แล้วในงานขบวนนี้ แม้จะไม่ใช่รูปแบบนวนิยาย แต่ก็เป็นแบบถวิลหาความหลัง จากชีวิตวัยรุ่นสู่การเริ่มต้นบนถนนช่างภาพและนักเขียน บรรยากาศของบ้านที่บางซ่อน ชีวิตของผู้อาวุโสในแวดวงน้ำหมึก ซึ่งเขามีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องรับรู้ และเข้ามามีส่วนในการอุ้มชูในเบื้องต้นแห่งการเป็นนักเขียนของเขา ทั้งบรรณาธิการสายตาสั้นที่สุดในโลก คุณชายเจ้าของหนังสือพิมพ์ที่เขาสังกัด ผู้คนในแวดวงละครเวทียุคอดีต เพื่อนร่วมงานทั้งคนที่เขารักชอบและไม่ชอบ และที่ขาดไม่ได้ก็คือบรรยากาศของร้านเหล้าในกรุงเทพฯ ของ พ.ศ.นั้น รวมทั้งผู้หญิงที่เคยเป็นของเขาและเขาเป็นของหล่อน
หากจะเรียกว่าเป็นงานเขียนเชิงอัตชีวประวัติเขาอาจปฏิเสธ แม้โดยความเป็นจริงนั้นยากที่จะเรียกเป็นอื่น หากแต่ไม่ได้เป็นเพียงชีวประวัติของคนคนหนึ่งเท่านั้น หากเป็นบันทึกปรากฎการณ์ของสังคมไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ในยุคหนึ่งไว้ด้วย
เขาจบบทสุดท้ายของ พูดกับบ้านในเดือนสิงหาคม 2526 และวางเป้าหมายสำหรับงานเขียนทำนองนี้ไว้ในอนาคตว่า "ขบวน 3 บ้านบนภูเขา บ้านดง-โป่งแยง-แม่ริม-บนเลี้ยวถนนสู่อำเภอสะเมิง บ้านและอารมณ์โรแมนติกของสู่อำเภอสะเมิง บ้านและอารมณ์โรแมนติกของป่า ลำธารและก้อนหิน นกและดอกเล็บมือนาง น้ำค้างและไฟ ผมคงเหน็ดเหนื่อยอย่างมีความสุขกับบ้านหนังนี้เป็นสุท้าย วันปลายสัปดาห์ ผมเตรียมเดินทางโดยรถยนต์กับเหล็กฉาก ลูกดิ่งและระดับหยดน้ำ เลื่อนลันดา เลื่อยอก มีด ขวาน ค้อน ตะปู เชือก และแบบที่เขียนไว้ แล้วบนอากาศ"
หลังจากฟ้าเมืองไทยปิดตัวเองลง ผู้อ่านก็พบเขาเป็นประจำในมติชนสุดสัปดาห์ ในท่วงทำนองของ'รำพึงรำพัน' ที่เคยโงดังในอดีตในรูปแบบของความคิดที่สุขุมลุ่มลึกตามวัยของความเป็นผู้อาวุโสคนหนึ่งแห่งวงการ
เดือนกรกฎาคม 2529 เขาเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงอาจินต์ ปัญจพรรค์ บอกว่า "รอเวลาไม่นาน ถ้าสามาถเรียบเรียงเหตุการณ์ได้อย่างเป็นโครงสร้างแน่นหนาของความคิด เราคงเขียนพูดกับตูบ นับเนื่องเป็นขบวนถัดมาของพูดกับบ้าน"
จากนั้นอีกไม่นาน ตัวละครแห่งชีวิตของป่าและบ้านบนดอยของเขา ก็เรียงหน้ากันมาแสดงบทบาทบนหน้ากระดาษของมติชนสุดสัปดาห์ จากสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ทั้งบุนนางป่าและเสนาเมืองต่างยกขบวนกันมามากมายและมาชุมนุมกันพร้อมหน้าเมื่อรวมพิมพ์เป็นเล่มในชื่อ ขุนนางปี่ บุนนางแห่งชีวิตภายในบ้านและรอบบ้านอันเป็นรังนอนสุดท้ายของชีวิต ตามที่เขาวางเจตนาไว้อย่างนั้น...

สมรม สทิงพระ (ตัดทอนจากงานเขียน 2 ขบวน 'บันทึกจากก้นครัวของโคนต้นไม้ริมคลอง' และ 'จากพูดกับบ้านถึงพูดกับตูบ' รวมเล่ม เส้นทางนักเขียน สนพ.ไรเตอร์, สิงหาคม 2537)

อ่านบทสัมภาษณ์จากเล่มเดียวกัน





Create Date : 27 กรกฎาคม 2551
Last Update : 27 กรกฎาคม 2551 16:23:06 น. 1 comments
Counter : 176 Pageviews.

 
จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่ได้อ่านงานของท่านเสียที


โดย: คนขับช้า วันที่: 13 สิงหาคม 2551 เวลา:22:31:57 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

THEMADDOG
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add THEMADDOG's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.